กลุ่มชนชาติพันธุ์ผู้อพยพมจากภัยสงคราม กับการแสวงหาพื้นที่ทำกินสู่ชุมชนท่ามกลางพื้นที่ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และภูมิปัญญาการอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่น
กลุ่มชนชาติพันธุ์ผู้อพยพมจากภัยสงคราม กับการแสวงหาพื้นที่ทำกินสู่ชุมชนท่ามกลางพื้นที่ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และภูมิปัญญาการอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่น
กลุ่มผู้ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านแม่เตี๋ยกลุ่มแรกนั้น เป็นผู้คนที่ได้อพยพหนีจากการทำสงครามมาจากพม่า และได้ข้ามมาทางอำเภอสบเมยในปี พ.ศ. 2314 โดยมีนายเส่ฆ่อเจ เป็นผู้นำ และนางหน่อแนแหน่ ภรรยาพร้อมบุตรอีกหลายคน รวมทั้งนายส่าแนแหน่ น้องชายพร้อมภรรยาและบุตร เมื่อเดินทางมาในพื้นที่บ้านแม่เตี๋ยพบลำห้วยที่มีความอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยป่าไม้ที่เป็นป่าทึบและสัตว์ป่านานาชนิด จึงได้ตัดสินใจลงหลักปักฐานในบริเวณนี้ ทั้งยังได้ตั้งชื่อลำห้วยว่า “แม่แป-แอโกล” หมายถึง ลำห้วยที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “ฮีละบู” หมายถึงหมู่บ้านที่มีอาถรรพ์ เนื่องจากในสมัยนั้นไม่สามารถอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ได้ ถ้าหากอาศัยอยู่ครบ 30 ครอบครัว จะมีเภทภัยเกิดขึ้นในหมู่บ้านทันที โดยเฉพาะการตายอย่างไม่รู้สาเหตุในคืนเดือนเพ็ญ ในเวลากลางคืนจะต้องยกบันไดขึ้นบ้านเพราะกลัวเสือมาทำร้าย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะไม่ให้ลงจากบ้านในเวลากลางคืน พบสัตว์เลี้ยงถูกเสือกัดกินทุกวัน ทำให้อยู่อย่างไม่มีความสุข เพราะต้องย้ายเข้าย้ายออกไปมาเพื่อความอยู่รอด ทำให้ไม่มีใครอยากสร้างบ้านถาวรเพราะเสียดายไม้ในการสร้าง ชาวบ้านชุมชนบ้านแม่เตี๋ยมีความเคารพต่อหัวหน้าหมู่บ้านเป็นอย่างมาก ด้วยความเชื่อว่าถ้าหากใครไม่ปฏิบัติตามผู้นำหมู่บ้าน จะมีเภทภัยเกิดขึ้น ผู้นำในที่นี้หมายถึง ผู้นำทางจิตวิญญาณ ทำหน้าที่ตามประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการนับถือผี เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยชาวบ้านได้พึ่งพาตามความเชื่อ และดำเนินชีวิตตามขนบความเชื่อท้องถิ่นมาโดยตลอด
ต่อมีผู้นำทางศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์เข้ามาเผยแผ่ศาสนา นำโดยอาจารย์โค-สระโค มิชชันนารีชาวอเมริกัน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายประการ เช่น การเปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน “ฮีบูละ” เป็น “เหม่เตะโกล๊ะ” หรือบ้านแม่เตี๋ย ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน มีการแบ่งการปกครองระหว่างกลุ่มผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์กับกลุ่มประเพณีความเชื่อดั้งเดิม กลุ่มผู้เผยแผ่ศาสนาและชาวบ้านที่นับถือศาสนาคริสต์มีการช่วยเหลือสงเคราะห์เครื่องนุ่งห่มและช่วยเหลือชาวบ้านยามเจ็บป่วย จึงทำให้มีกลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์มีสมาชิกเพิ่มขึ้น หลังจากนั้นนิกายคาทอลิกเข้ามาในปี พ.ศ. 2507 โดยมิชชันนารีชาวฝรั่งเศส ชื่อ คุณพ่อมีร์โก ครุสนัค และมีนายต่อโพ ใจเลิศฤทธิ์ เป็นผู้เชื่อคนแรก และในปี พ.ศ. 2536 คริสตจักรชีวิตใหม่เข้ามาเผยแพร่และนางจันทร แย้มสุขแสง เป็นสมาชิกครอบครัวแรก ปัจจุบันศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่คนส่วนใหญ่ในชุมชนนับถือมาจนถึงปัจจุบัน
บ้านแม่เตี๋ย หมู่ที่ 5 ตำบลท่าผาปุ้ม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่สุดในตำบลท่าผาปุ้ม หมู่บ้านตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขาทางทิศใต้ของตำบลท่าผาปุ้ม มีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ผ่านหมู่บ้านจากอำเภอแม่สะเรียง ไปยังอำเภอแม่ลาน้อย บ้านแม่เตี๋ยตั้งอยู่ห่างจากองค์การบริหารส่วนตำบลท่าผาปุ้ม เป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอแม่ลาน้อย เป็นระยะทาง 12 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นระยะทาง 146 กิโลเมตร โดยอำเภอแม่ลาน้อยห่างจากอำเภอเมืองเป็นระยะทาง 134 กิโลเมตร สภาพทั่วไปของหมู่บ้านเป็นภูเขาและพื้นที่ราบบางส่วน ภายในหมู่บ้านมีถนนคอนกรีตเสริมเหล็กและถนนดินแดงบางส่วน ในขณะที่เส้นทางไปพื้นที่เกษตรส่วนใหญ่เป็นถนนดินแดง มีลำน้ำสำคัญ คือ แม่น้ำยวม ลำห้วยแม่เตี๋ยน้อย และห้วยตะลาน บ้านเรือนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในชุมชนห่างจากพื้นที่การเกษตร ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินดำซึ่งเกิดจากการย่อยสลายของใบไม้ บริเวณบ้านจะเลี้ยงหมูดำ ไก่บ้าน และสุนัข รอบบริเวณบ้านปลูกไม้ยืนต้น ได้แก่ มะขาม มะม่วง มะเฟือง มะพร้าว หมาก สัก เป็นต้น และปลูกพืชผักสวนครัว ได้แก่ ตำลึง ผักกาดจอ พริก มะเขือ ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด กล้วย มะละกอ เป็นต้น พื้นที่รอบๆ หมู่บ้านเป็นภูเขาขนาดเล็กใหญ่สลับซับซ้อน ทำให้มีพื้นที่ราบสำหรับทำการเกษตรค่อนข้างน้อย พื้นที่ชุมชนบ้านแม่เตี๋ยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับกับ บ้านท่าผาปุ้ม อำเภอแม่ลาน้อย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบ้านกาศ อำเภอแม่สะเรียง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านแม่กวางเหนือและบ้านแม่สะกึ๊ด
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลบ้านกาศ อำเภอแม่สะเรียง
สภาพภูมิอากาศของชุมชน เป็นชุมชนบนพื้นที่สูงที่มีป่าไม้และต้นไม้มาก ทั้งยังมีน้ำจากลำน้ำยวม และลำห้วยแม่เตี๋ยไหลผ่านหมู่บ้านตลอดทั้งปี ทำให้มีหมอกทุกวันทุกฤดูตามสมญานาม “เมืองสามหมอก” ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แก่ หมอกควันจากไฟป่าในฤดูร้อน หมอกไอความชื้นในฤดูฝน และหมอกน้ำค้างที่เกิดจากอากาศหนาวเย็นและมีความชื้นสูงในฤดูหนาว ลักษณะภูมิอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ช่วงเดือนมีนาคม-เดือนเมษายน ฤดูฝน ช่วงพฤษภาคม-กันยายน และฤดูหนาว ช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ลักษณะอุณหภูมิอากาศจะร้อนที่สุดในเดือนเมษายน อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 40 องศาเซลเซียส และอากาศหนาวเย็นที่สุดในเดือนธันวาคม อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 10 องศาเซลเซียส
บ้านแม่เตี๋ย ตำบลท่าผาปุ้ม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ มีลักษณะการตั้งบ้านเรือนส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบอยู่ห่างจากพื้นที่การเกษตร นิยมตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่มก้อน มีวัด และโบสถ์เป็นศูนย์กลางของชุมชน ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่ยกพื้นสูง มีชานบ้าน นิยมสร้างด้วยไม้มุงหลังคาด้วยใบตองตึง ใช้ไม้สัก ไม้แดงหรือไม้ไผ่เป็นผนังบ้าน อย่างไรก็ตาม มีการสร้างบ้านกึ่งไม้กี่งปูนหลังคามุงด้วยกระเบื้องตามสมัยนิยมอยู่บ้าง บริเวณบ้านเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เช่น หมูไก่ สุนัข วัว ควาย ฯลฯ และมีพื้นที่ปลูกผักสวนครัวและไม้ผล เช่น หมาก มะพร้าว มะนาว มะกรูด มะม่วง มะละกอ ขมิ้น ใบเตย เป็นต้น
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 5 บ้านแม่เตี๋ย ตำบลท่าผาปุ้ม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 923 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 436 คน ประชากรหญิง 487 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 311 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ปกาเกอะญอประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ชุมชนบ้านแม่เตี๋ยจะประกอบอาชีพหลักเกี่ยวกับเกษตรกรรม การทำเกษตรจะทำในพื้นที่ราบ และที่ราบเชิงเขา มีการเปลี่ยนหมุนเวียนปลูกพืชตามฤดูกาล ได้แก่ ปลูกข้าวนา ปลูกข้าวไร่ เมื่อหมดฤดูทำนา จะปลูกถั่วเหลือง ถั่วลิสง (ถั่วดิน) หอม และกระเทียม มีอาชีพรอง คือ รับจ้าง เลี้ยงสัตว์ทำสวน ฯลฯ นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีการแลกเปลี่ยนแรงงานกันภายในชุมชน หรือการ “เอาแรง” โดยจะนัดวันไปเป็นแรงงาน เช่น ถางไร่ หยอดข้าว เกี่ยวข้าว เกี่ยวถั่วเหลือง เป็นต้น การเอาแรงนี้จะหมุนเวียนกันไปตามไร่นาของแต่ละครอบครัวในหมู่บ้าน อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านสามารถเปลี่ยนจากการเอาแรงเป็นการแลกข้าวได้ด้วย โดยแลก 1 วันกับข้าวเปลือก 1 ถัง เป็นการตอบแทน ทำให้ครอบครัวที่ไม่มีที่นาทำกินสามารถมีข้าวบริโภคได้ตลอดทั้งปีโดยการแลกแรงงานกับข้าว นอกจากนี้การแลกเปลี่ยนแรงงานยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้มีความเอื้อเฟื้อต่อกัน ผู้ที่มาเอาแรงจะเตรียมข้าวเปล่ามาจากบ้าน และเจ้าของไร่นาจะทำอาหารไว้เลี้ยงผู้มาเอาแรงทุกคน
นอกจากนี้สมาชิกในชุมชนยังมีการทำปศุสัตว์ คือ ชาวบ้านจะเลี้ยงวัว หรือควายแบบปล่อยในป่าต้นน้ำห้วยแม่เตี๋ยฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายนของทุกปี เพื่อให้ได้กินอาหารตามธรรมชาติ โดยจะเข้าไปดูแลวัว ควายเหล่านั้นเดือนละครั้ง และในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมสัตว์จะเดินกลับมาไร่นาด้วยตนเอง เพราะชาวบ้านได้ฝึกวัวควายเดินไปป่าต้นน้ำ และกลับไร่นาทุกปีจนเกิดความเคยชิน อย่างไรก็ตาม มีกรณีวัวควายหายบ้างและอุบัติเหตุตกเหวบ้าง ทั้งนี้ ถ้าหากวัวควายไม่กลับมาภายในเดือนพฤศจิกายน ชาวบ้านจะเข้าป่าไปหาโดยการตีไม้เรียก เมื่อวัวควายได้ยินเสียงจะร้องหาเจ้าของ
ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม
เดิมชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือผีและเปลี่ยนเป็นศาสนาพุทธและคริสต์ ปัจจุบันนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ประมาณร้อยละ 80 และมีผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ประมาณร้อยละ 20 มีโบสถ์คริสต์ 3 แห่ง ได้แก่ คริสตจักรบ้านแม่เตี๋ย โบสถ์นักบุญมัทธิว และคริสตจักรของพระคริสต์ และมีวัด 1 แห่ง คือ สำนักสงฆ์บ้านแม่เตี๋ย โดยชุมชนมีประเพณีวัฒนธรรมตามความเชื่อ ดังนี้
ประเพณีแต่งงาน ตามหลักประเพณีปกาเกอะญอ ฝ่ายหญิงจะต้องเป็นฝ่ายไปขอฝ่ายชาย โดยพ่อแม่และญาติพี่น้องของฝ่ายหญิงจะส่งคนไปหาฝ่ายชาย เพื่อสอบถามให้แน่ใจว่าฝ่ายชายรักและยินดีที่จะแต่งงานกับฝ่ายหญิงจริงหรือไม่ หากฝ่ายชายรักชอบพอกัน และยินยอมที่จะแต่งงานกับฝ่ายหญิง จะมีการนัดหมายวันเวลาทำพิธีแต่งงานกันซึ่งเจ้าสาวจะต้องทอเสื้อผ้า กางเกง ย่ามไว้ให้เจ้าบ่าว และทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องฆ่าหมู ฆ่าไก่เพื่อทำพิธีกรรมบอกต่อผีบรรพบุรุษและอาหารเลี้ยงแขก เมื่อฝ่ายชายได้วันเวลาแต่งงานที่แน่นอนแล้ว ฝ่ายชายจะส่งเถ้าแก่ไปทำพิธีหมั้นหมายฝ่ายหญิงก่อนวันแต่งงาน ซึ่งในพิธีฝ่ายหญิงจะฆ่าไก่ 2 ตัว เพื่อทำอาหารเลี้ยงรับรองเถ้าแก่ของฝ่ายชายและวันรุ่งขึ้นจะนัดหมายวันเวลาที่ฝ่ายชายและเพื่อน ๆ จะมาหาฝ่ายหญิงเพื่อทำพิธีแต่งงาน
ประเพณีงานศพ จะจัดพิธี 3 วัน โดยชาวบ้านต้องนำข้าวสาร บ้านละ 1 ลิตร บวกเงิน 20 บาท ไปช่วยงาน แต่ถ้าไม่มีข้าวสาร ต้องให้เงิน 50 บาท เจ้าภาพและชาวบ้านจะช่วยกันทำอาหารเลี้ยงผู้มาร่วมงาน ในวันสุดท้าย ชาวบ้านจะช่วยกันนำศพไปฝังที่ป่าช้าของหมู่บ้าน มีพิธีกรรมทางศาสนา และเมื่อฝังศพเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะนำเงิน ข้าวสาร ข้าวเปลือกโปรยบนหลุมศพและวางหมากพลู ต้นกล้วย ต้นมะพร้าววางไว้บนหลุมตามความเชื่อจากบรรพบุรุษว่า คนตายจะได้มีกินมีใช้ในชาติหน้า พิธีกรรมฝังศพจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง หลังจากนั้น ญาติของผู้ตายจะนำต้นไม้ไปปลูกในบริเวณป่าช้าต่อไป
เทศกาลวันคริสต์มาส ในวันที่ 25 ธันวาคม ของทุกปีชาวคริสต์จะเข้าโบสถ์นมัสการขอพร มีการแสดง การร้องเพลงนมัสการ มีการทำขนมแจกตามบ้าน และการรับประทานอาหารร่วมกัน ทั้งนี้มีการแบ่งเวรเลี้ยงหมูโดยนำเนื้อหมูมาช่วยงาน 30 กิโลกรัม และนำข้าวสารมาร่วมครอบครัวละ 1 ลิตร เพื่อใช้ประกอบอาหาร ทั้งนี้ชาวบ้านจะส่งตัวแทนครอบครัวมาช่วยทำอาหารก่อนวันงาน 1 วัน เป็นการช่วยกันทำอาหารเลี้ยงผู้เข้าร่วมงานวันคริสต์มาส
พิธีกรรมและความเชื่อในชุมชน
เดิมชาวบ้านนับถือผี มีการบวงสรวงและเซ่นไหว้อย่างเคร่งครัด ภายหลังหันมานับถือศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์มากขึ้น แต่ยังคงมีความเชื่อเดิมอยู่ เช่น การเลี้ยงผีการมัดมือ การเซ่นเจ้าที่เจ้าทาง เป็นต้น โดยเชื่อว่าจะทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า เกษตรกรรมได้ผลผลิตดีและปกป้องคุ้มครองดูแลให้อยู่เย็นเป็นสุข ได้แก่
การเลี้ยงผี จะทำเฉพาะเวลาเจ็บป่วย หรือคนในครอบครัวจะแยกห่างกันไปต่างถิ่น ด้วยความเชื่อว่า เมื่อเวลาไม่สบายเพราะเจ้าป่าหรือผีมาขอของกินจึงต้องทำพิธีเลี้ยงผีเพื่อให้ผีคุ้มครองคนในหมู่บ้าน บ้านแม่เตี๋ยจะทำพิธีเลี้ยงผีในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี
การมัดมือ เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากบรรพบุรุษมีความเชื่อว่าก่อนการทำไร่ ทำนา จะต้องบอกกับเจ้าที่ เจ้าป่า ที่ดูแลป่า เพื่อให้เจ้าป่ารับรู้และดูแลผลผลิต เพื่อความเป็นสิริมงคลและความสบายใจ บ้านแม่เตี๋ยจะมีพิธีมัดมือในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี
ตานข้าวใหม่ หลังการเก็บเกี่ยวข้าวระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมของทุกปี ชาวบ้านจะนำข้าวใหม่พร้อมกับข้าว ได้แก่ ไข่ ปลา เนื้อหมู ฯลฯ นำไปให้พ่อแม่และผู้ใหญ่ที่นับถือในหมู่บ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคล
ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์และหลากหลาย เนื่องจากสมาชิกในชุมชนมีกฎระเบียบในการใช้พื้นที่ และมีแนวทางการอนุรักษ์ร่วมกัน โดยพื้นที่แหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติของชุมชนประกอบด้วย
- ป่าอนุรักษ์ (ป่าสัก) พื้นที่ 1,220 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของบ้านแม่เตี๋ย
- ป่าใช้สอย พื้นที่ 50 ไร่ เป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้ตัดไม้ได้และต้องปลูกทดแทนในวันสำคัญต่าง ๆ
- ป่าช้า มี 2 แห่ง ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับฝังศพของผู้นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธ ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา ติดกับพื้นที่สำนักสงฆ์บ้านแม่เตี๋ยทางทิศตะวันตก และตั้งอยู่บนภูเขาใกล้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านแม่เตี๋ย
- ทรัพยากรน้ำ แหล่งน้ำที่สำคัญมี 3 แห่ง ได้แก่ แม่น้ำยวม จำนวน 1 แห่ง และลำห้วย 2 แห่ง คือ ลำห้วยแม่เตี๋ยน้อย และลำห้วยตะลาน
ชุมชนมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้วยความเชื่อและวิถีชีวิตดั้งเดิม โดยนายเส่ฆ่อเจ ผู้นำชุมชนรุ่นก่อนเริ่มอนุรักษ์ด้วยการตั้งกฎกติกาหมู่บ้านเพื่อเป็นข้อบังคับ ข้อห้ามในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ด้วยการห้ามเบิกนาในลำห้วยแม่เตี๋ย ห้ามตัดไม้ในลำห้วยแม่เตี๋ย ห้ามตัดไม้ใหญ่หรือตัดไม้โดยไม่มีเหตุผล ฯลฯ ชุมชนบ้านแม่เตี๋ย มีความเชื่อในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน มีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และยึดถือเป็นกฎศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนรับรู้ร่วมกัน มีความเชื่อเรื่องผีเจ้าที่ ป่าพิธีกรรม และมีภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างคุ้มค่า เช่น ใบตองตึงเพื่อมุงหลังคาหรือห่ออาหาร เมล็ดไม้แดงคั่วเพื่อบริโภค ฯลฯ ผู้นำและชาวบ้านมีจุดร่วมอย่างเดียวกัน คือ การเอื้อให้ชุมชนสามารถจัดการทรัพยากรได้อย่างสอดคล้องกับระบบนิเวศอย่างยั่งยืน ด้วยการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำในลำห้วยแม่เตี๋ย และลำน้ำแม่ยวม ป่าต้นน้ำมีพื้นที่ประมาณ 1,220 ไร่ และมีแผนที่การบันทึกชัดเจน ทั้งนี้จุดเริ่มต้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเริ่มจากในปี พ.ศ. 2515 บริษัทสหายร่วมรบเกาหลีเข้ามาทำไม้บริเวณลำห้วยแม่เตี๋ย ทำให้ป่าไม้ถูกทำลายจนเป็นสาเหตุให้น้ำแห้ง ในปี พ.ศ. 2516 นายก่าเจและชาวบ้านร่วมกันต่อต้านการทำไม้ และในปี พ.ศ. 2518 มีการปลูกป่าทดแทนในบริเวณลำห้วยแม่เตี๋ย หลังจากนั้นมีการประชุมและตั้งคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงระเบียบข้อบังคับบ้านแม่เตี๋ย ซึ่งได้มีการปรับปรุงแก้ไขโดยคณะกรรมการหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ป่าชุมชนของบ้านแม่เตี๋ย ได้รับรางวัลดีเด่นจากการประกวดป่าระดับจังหวัด ทำให้ชุมชนมีกำลังใจที่จะปกป้องรักษาต่อไป ในปี พ.ศ. 2547 ได้เขียนโครงการเพื่อเสนอขอจัดทำโครงการป่าชุมชน หมู่ 5 บ้านแม่เตี๋ย ส่งไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอน และในปี พ.ศ. 2548 ได้เขียนโครงการของบประมาณมาดำเนินการในส่วนของป่าชุมชน เพื่อวางแผนทำกิจกรรมต่าง ๆ ทุกปีต่อไป
กฎระเบียบข้อบังคับของหมู่บ้านแม่เตี๋ย ในสมัยนายเส่ฆ่อเจ ได้แก่- ไม่ให้ใครทำไม้ในห้วยแม่เตี๋ย
- มิให้ผู้ใดเบิกนาในห้วยแม่เตี๋ย
- มิให้ผู้ใดถางไร่ในห้วยแม่เตี๋ย
- ผู้ใดละเมิดกฎระเบียบจะถูกไล่ออกจากหมู่บ้าน
- ผู้ใดฝ่าฝืนหรือกระทำการใดโดยมิได้ขออนุญาตจะถูกลงโทษ หรือปรับ 3 ครั้ง ถ้าไม่ฟังจะถูกไล่ออกจากหมู่บ้าน
กฎระเบียบหมู่บ้านแม่เตี๋ยซึ่งปรับปรุงโดยคณะกรรมการหมู่บ้านในปัจจุบัน ได้แก่
- บุคคลใดเข้าไปตัดไม้ในห้วยแม่เตี๋ย ปรับต้นละ 5,000 บาท
- บุคคลใดนำช้างชักลากไม้ในห้วย ปรับ 15,000 บาท
- ระเบียบตามข้อ 1-2 ผู้ใดฝ่าฝืนคณะกรรมการจะให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ
- บุคคลใดยิงปืนในหมู่บ้านไม่ว่ากรณีใด ๆ โดยฝ่าฝืน ปรับ 500 บาท
- บุคคลใดช็อต เบื่อ ระเบิด ในเขตอนุรักษ์ปรับตัวละ 500 บาท (สัตว์น้ำ)
- บุคคลใดลักทรัพย์หรือรับซื้อของโจร คณะกรรมการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ
- บุคคลใดดื่มสุราอาละวาดเสียงดังสร้างความเสียหาย ปรับ 500 บาท
- บุคคลใดจำหน่ายยาเสพติดในหมู่บ้านจับได้ส่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ
- ห้ามซื้อ ขาย ขนย้ายไม้ หรือบ้านโดยเด็ดขาดไม่ว่ากรณีใด
- บุคคล/ครอบครัวใดจะย้ายออก โปรดแจ้งให้กรรมการหมู่บ้านทราบ
- ห้ามเคลื่อนย้ายไม้ทุกชนิดออกนอกหมู่บ้านโดยเด็ดขาด ฝ่าฝืนไล่ออกจากหมู่บ้าน
- ห้ามบุคคลดื่มของมึนเมาเข้าที่ประชุมทุกแห่งในหมู่บ้าน
ระเบียบของหมู่บ้านและการอนุรักษ์ป่าบ้านแม่เตี๋ย มีรายละเอียด ดังนี้
- บุคคลใดเข้าไปตัดไม้ในห้วยแม่เตี๋ย ปรับต้นละ 5,000 บาท
- บุคคลใดนำช้างชักลากไม้ในห้วยปรับ 15,000 บาท
- ระเบียบตามข้อ 1-2 ผู้ใดฝ่าฝืนคณะกรรมการจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ
- บุคคลใดล่าสัตว์ในป่าอนุรักษ์ฝ่าฝืนปรับ 500 บาท
- บุคคลใดยิงปืนในหมู่บ้านไม่ว่ากรณีใด ๆ โดยฝ่าฝืนปรับ 500 บาท
- บุคคลใดช็อต เบื่อ ระเบิดปลา ในเขตห้ามของหมู่บ้าน ฝ่าฝืนปรับ 500 บาท
- บุคคลใดเผาป่า ถ้าจับได้ปรับ 500 บาท
- ห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาตัดไม้ เช่น ไม้ไผ่ โดยเด็ดขาด
- บุคคลใดลักทรัพย์หรือรับของโจร คณะกรรมการจะทำการส่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อไป
- บุคคลใดดื่มสุราอาละวาดเสียงดัง สร้างความเสียหายให้กับผู้อื่นฝ่าฝืนปรับ 500 บาท
- บุคคลใดจำหน่ายยาเสพติดในหมู่บ้าน หากจับได้ส่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ
- ห้ามซื้อ-ขาย ขนย้ายบ้านโดยเด็ดขาดไม่ว่ากรณีใด
- บุคคล/ครอบครัวจะย้ายออก โปรดแจ้งให้กรรมการหมู่บ้านทราบ
- ทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทุกปีและทุกครอบครัวต้องไปถ้าไม่ไป ปรับ 200 บาท
- ในลำห้วยแม่เตี๋ยและแม่น้ำยวม ห้ามจับปลาโดยเด็ดขาด ฝ่าฝืนปรับครั้งละ 500 บาท
- ห้ามจำหน่ายไม้แปรรูปให้กับบุคคลภายนอก ฝ่าฝืนปรับครั้งละ 2,000 บาท
- มีการจัดเวรยาม/ตรวจป่าในหน้าแล้ง วันละ 10 คน เพื่อตรวจดูว่ามีการเผาป่าหรือไม่
ภูมิปัญญาท้องถิ่น
การทอผ้ากะเหรี่ยง มีการทอชุดคลุมสีขาว (เชวา) เสื้อของผู้หญิง เสื้อของผู้ชาย ผ้าถุง และย่าม เพื่อเก็บไว้ใช้ในครัวเรือน โดยใช้เวลาว่างหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าว โดยใช้ผลผลิตจากป่าในการย้อมผ้า เช่น ยอดต้นสักให้สีเขียวอ่อน เปลือกไม้แดงให้สีแดง เปลือกไม้ปลาดุกให้สีน้ำตาล เป็นต้น
การแต่งกาย ปัจจุบันชาวบ้านในชุมชนจะแต่งกายแบบสมัยใหม่โดยการใส่เสื้อยืด กางเกง และรองเท้าแตะ การแต่งกายแบบดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของเด็กและหญิงสาว จะเป็นชุดทรงกระสอบยาว ทอด้วยผ้าฝ้ายพื้นสีขาวและปักประดับลวดลายสวยงาม เรียกว่า “เชวา” และหญิงทุกวัยที่ยังไม่ได้แต่งงานจะต้องสวมชุดนี้ ส่วนหญิงที่มีครอบครัวแล้วจะสวมเสื้อสีดำ น้ำเงิน ตกแต่งด้วยลูกเดือย หรือทอยกดอก ยกลาย เรียกว่า “เช โม่ ซู” และผ้านุ่งสีแดงคนละท่อน ห้ามกลับไปสวมใส่ชุดเชวาอีก สำหรับผู้ชายกะเหรี่ยงส่วนมากจะสวมเสื้อตัวยาวถึงสะโพก ตัวเสื้อจะมีการตกแต่งด้วยแถบสีไม่มีการปักประดับเหมือนเสื้อผู้หญิง และนุ่งกางเกงสะดอ เครื่องประดับจะนิยมใช้สร้อยลูกปัดเป็นเครื่องประดับ และสวมกำไลเงินหรือใส่ต่างหู การแต่งกายลักษณะนี้จะเหลือเพียงผู้สูงอายุและในโอกาสพิเศษ เช่น พิธีปีใหม่ พิธีแต่งงาน และพิธีกรรมสำคัญ เป็นต้น
การจักสาน การนำวัสดุท้องถิ่นมาจักสานเพื่อทำภาชนะเครื่องใช้ในครัวเรือน ได้แก่ ไม้ไผ่ ในการทำกระด้ง กระบุง และเปลสาน เพื่อใช้และจำหน่าย
การนำใบตองตึงมาสานกับไม้ไผ่ เพื่อใช้ในการมุงหลังคา ซึ่งอายุการใช้งานขึ้นอยู่กับความถี่และความลาดชันในการมุง กล่าวคือ ความถี่หรือความลาดชันมากจะยิ่งทำให้ใช้งานได้นานขึ้น ใช้ได้ประมาณ 3-10 ปี การเก็บใบตองตึงเพื่อสาน โดยจะเก็บเฉพาะใบแห้งภายในหมู่บ้าน ป่าใช้สอย และป่าอนุรักษ์เริ่มเก็บในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมของทุกปีขึ้นอยู่กับการเผาป่า หากมีไฟไหม้เร็วใบตองตึงหล่นเร็ว ทำให้มีเวลาเก็บนานมากขึ้น ใบตองเก็บแล้วจะแช่น้ำ 1 นาที เพื่อให้เกิดความเหนียว และไม่แตกเวลาพับสานกับไม้ไผ่และใช้ตอกมัด
ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ดังนั้น ภาษาหลักที่ใช้สื่อสาร คือ ภาษาปกาเกอะญอ และคำเมือง มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง 2 แบบ คือ แบบที่ใช้ตัวหนังสือจากภาษาพม่า และแบบที่มิชชันนารีเป็นผู้คิดค้นดัดแปลงมาจากตัวหนังสือพม่าผสมอักษรโรมัน
จุฎาพร แซ่หลี. (2557). การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่าของชุมชนอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา บ้านแม่เตี๋ย ตำบลท่าผาปุ้ม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน. ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร) สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
บ้านแม่เตี๋ย อ.แม่ลาน้อย. (2558). สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าผาปุ้ม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน. (2565). สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/