
ชุมชนที่มีชาวไทยพวนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่และเคยมีภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำหัตถกรรมพื้นบ้านเครื่องจักสาน
ชุมชนที่มีชาวไทยพวนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่และเคยมีภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำหัตถกรรมพื้นบ้านเครื่องจักสาน
บ้านหนองปาตองมีชาวไทยพวนอพยพมาจากเวียงจันทร์เข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทย ซึ่งแต่เดิมเคยตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองพวน แขวงเชียงขวาง จนกระทั่งเมื่อเกิดสงครามต่อเนื่องกันระหว่าง ไทย ลาว เวียดนาม ทำให้ชาวพวนมักจะถูกกวาดต้อนไปด้วยทุกครั้ง โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ชนะเมืองพวนในสงครามเวียงจันทน์ก็ได้กวาดต้อนชาวพวนเข้ามา รวมถึงสงครามกับญวนก็ได้กวาดต้อนผู้คนเข้ามา รวมทั้งมีการอพยพเข้ามาเองบ้าง และในช่วงปี พ.ศ. 2378 หลังสงครามเจ้าอนุวงศ์ถึง 6 ปี ชาวพวนก็ได้มีการอพยพเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง จึงมีการให้อพยพชาวพวนที่กวาดต้อนมาได้ไว้ที่หนองคาย แล้วควบคุมชาวพวนให้มาตั้งถิ่นฐานในฉะเชิงเทรา ซึ่งมีชาวพวนเก่าอยู่ก่อนหน้าแล้ว โดยเดินทางผ่านหนองหาร นครราชสีมา ปราจีนบุรี มาถึงบ้านท่าหร่าน ฉะเชิงเทรา และได้ไปตั้งหมู่บ้านที่ตลิ่งชัน บ้านนาเหล่าน้ำ และบ้านเมืองแมด จนกระทั่งชาวพวนได้ย้ายไปตั้งบ้านเรือนแถวตำบลหนองยาว เรียกหมู่บ้านว่า นาเหล่าบก เพื่อให้รู้ว่าแยกจากบ้านนาเหล่าน้ำ จากนั้นได้มีการอพยพไปที่บ้านหนองปาตองเพื่อจับจองที่ดินในการทำมาหากิน เพราะมีประชากรเพิ่มขึ้น อีกทั้งบริเวณหนองปาตองมีพื้นที่หนองน้ำใหญ่ มีปลาฉลาดชุกชุม และได้มีการนำวิถีการดำรงชีวิตเข้าไปในบ้านหนองปาตอง เช่น วัฒนธรรม ประเพณี ภาษา หัตถกรรมพื้นบ้าน
บ้านหนองปาตองอยู่ในหมู่ที่ 2 ตำบลหนองยาว อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลกระทุ่มแพ้ว อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านหนองทราย บ้านอ่าวสีเสียด ตำบลหนองยาว
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านแหลมไผ่ศรี ตำบลหนองยาว
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านดงตาล ตำบลหนองยาว
สภาพภูมิประเทศ เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงประมาณ 86% ของพื้นที่จึงได้ทำเป็นนา อีกส่วนที่น้ำไม่ท่วมถึงจะใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำการเกษตรในครัวเรือน
สภาพแวดล้อม บ้านหนองปาตองเป็นชุมชนที่มีไม้ไผ่เป็นทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านที่ทำนาจะใช้ไม้ไผ่มาจักสานเป็นของใช้ เช่น สานกระพ้อม กระบุงใส่ข้าว ชาวบ้านที่ทำสวนทำไร่ จะสานเป็น เข่ง ชะลอม เพื่อบรรจุสิ่งของ และมีการสานเป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำเช่น ลอบ ไซ สุ่ม
บ้านหนองปาตองมีประชากรจำนวนทั้งหมด 653 คน เป็นผู้ชายจำนวน 309 คน เป็นผู้หญิงจำนวน 344 คน และมีจำนวนครัวเรือน 202 หลังคาเรือน
ไทยพวนชาวไทยพวนมีความศรัทธายึดมั่นในศาสนาพุทธและเคร่งครัดในขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งประเพณีทางพุทธศาสนาและประเพณีที่ผสมผสานกับความเชื่อ เช่น ประเพณีสงกรานต์ สารทพวน บุญพระเวส เป็นต้น
ประเพณีสงกรานต์
ชาวไทยพวนมีการทำบุญในวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ คล้ายสงกรานต์ไทย เช่น ก่อพระเจดีย์ทราย แต่สิ่งที่แตกต่างคือจะมี พิธีกรรมสูดเสื้อสูดผ้าในวันใดวันหนึ่งของสงกรานต์ โดยจะมีการนำเสื้อผ้าของทุกคนในครอบครัว กระบุงที่มีข้าวสารและหญ้าคาปิดปากกระบุงด้วยกล้วยที่หั่นเป็นแว่น ข้าวปั้นเป็นก้อน และจุดเทียนปักผลไม้ พระสงฆ์จะสวดไซ (สวดชัย) เพื่อเจริญพุทธมนต์ มีโอ่งน้ำมนต์ เทียนที่ใช้ทำน้ำมนต์จะเรียกว่า เทียนเวียนหัวและเทียนศอกก้อย รวม 3 เล่ม แล้วจะนำมารวมเป็นเกลียวอีกที เจ้าของเทียนจะหยิกเล็บบนเทียนเท่าอายุเพื่อทำการต่ออายุข้ามปีใหม่ เมื่อเสร็จพิธีจะนำน้ำมนต์ไปพรมที่บ้าน เอาข้าวสารไปโปรยรอบบ้านเพื่อกันผี หญ้าคานำไปเสียบหลังคาเพื่อกันผี รุ่งเช้าจะฉลองพระทรายและเลี้ยงพระเช้า
ประเพณีสารทพวน
ประเพณีสารทพวนจะเอาวันสิ้นเดือน 9 เป็นวันสารท ก่อนที่จะถึงวันสารทนั้น ชาวบ้านจะกวนกระยาสารทด้วยส่วนผสมข้าวเม่าคั่ว ข้าวตอก ถั่วลิสง น้ำตาลปีบ แบะแซ แล้วใส่กระบุงไว้ เมื่อวันสารทมาถึงจะนำอาหารคาวหวาน ข้าวปุ้น กระยาสารทไปถวายที่วัด แล้วนำกระยาสารทมาแจกจ่ายตามบ้านญาติ
บุญพระเวส
บุญพระเวสจะตรงกับการเทศน์มหาชาติของชาวไทยภาคกลาง โดยชาวไทยพวนจะทำบุญพระเวสในกลางเดือน 11 จะเริ่มตั้งแต่วัน 14 ค่ำ โดยจะมีการสร้างบรรยากาศในวัดให้เป็นป่าตามเนื้อเรื่องในมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งจะนำต้นกล้วยมาตกแต่งศาลาเพื่อเป็นป่าสำหรับธรรมาสน์ตั้งอยู่ระหว่างเสา 4 ต้น ซึ่งตกแต่งและประดับด้วยหน่อกล้วย หน่ออ้อย มีทุงไซ (ธงที่ตัดเป็นรูปคน) ปักในแต่ละเสา เครื่องไหว้ครูจะนำมาวางตรงหน้าธรรมาสน์ในตอนเช้าขึ้น 15 ค่ำ เรื่องราวที่เทศน์ในงานบุญพระเวส แบ่งเป็น 2 ตอน คือ กลางคืน 14 ค่ำ จะเทศน์มาลัยหมื่นและมาลัยแสน กับวันขึ้น 15 ค่ำ จะเทศน์ประวัติพระเวสสันดรหรือมหาชาติ ซึ่งชาวไทยพวนเชื่อว่า ผู้ที่ฟังธรรมเทศนา มาลัยหมื่น เชื่อว่าเมื่อตายไปแล้วจะได้เกิดที่สวรรค์ และมาลัยแสน ผู้ที่ฟังเชื่อว่าจะได้ไปเกิดในตระกูลอันประเสริฐ เช่น กษัตริย์และพราหมณ์ ส่วนผู้ที่ฟังเทศน์มหาเวสสันดรชาดกจะได้อานิสงส์แรงกว่า
ทุนภูมิปัญญาท้องถิ่น
หัตถกรรมเครื่องจักสานของบ้านหนองปาตอง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรานั้น มีต้นกำเนิดมาจากชาวไทยพวนที่อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนในบริเวณดังกล่าว แล้วได้นำความรู้ที่มีอยู่มาแก้ปัญหาการดำเนินชีวิต ทำเครื่องมือทำมาหากิน เครื่องใช้ต่าง ๆ โดยมีความจำเป็นที่ทำให้เกิดเครื่องจักสานที่บ้านหนองปาตอง 3 ประการ ดังนี้
1.ความจำเป็นในการดำเนินชีวิต ประกอบด้วย การประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน จะผลิต กระบุง ตะกร้า เข่ง ปุ้งกี๋ การทำเป็นเครื่องใช้สอย จะผลิตเป็น หวด กระชอน กระด้งในการใช้บริโภค กระจาด กระด้งใช้เป็นภาชนะ กระบุงในการใช้เป็นเครื่องตวง หมวกในการใช้เป็นเครื่องแต่งกาย ลอบ ไซ สุ่มใช้ในการดักสัตว์น้ำ
2.ความจำเป็นจากสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เนื่องจากมีแหล่งไม้ไผ่จำนวนมาก กับสภาพภูมิศาสตร์เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำการเกษตรกรรม รวมถึงมีหนองน้ำใหญ่ และอำนวยความสะดวกในการเดินทาง เช่น ทำแผงเกวียน เพื่อไม่ให้ของตกหล่นตอนเดินทาง
3.ความจำเป็นจากความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี และศาสนา โดยใช้ในการประกอบพิธีกรรม เช่น ประเพณีหลอกผี การปักเฉลวในที่นาเพื่อสิริมงคล การปักเฉลวในหม้อยา เพื่อไม่ให้ยกสิ่งอื่นข้าม การใช้ไซในการยกเสาเอกตอนขึ้นบ้านใหม่ และใช้การประเพณีต่าง ๆ เช่น ประเพณีสงกรานต์ ใช้กระบุง ตะกร้าใส่เสื้อผ้าไปประกอบพิธีกรรม ประเพณีบุญข้าวห่อใช้กระบุง ตะกร้าใส่อาหารไปถวายพระ ประเพณีบุญพระเวสและประเพณีบุญข้าวหลามใช้ใส่สิ่งของไปวัด
รูปแบบของเครื่องจักสาน ประกอบด้วย กระบุง กระจาด ลอบยืน ลอบนอนหรือลอบมุด สุ่ม ไซ เข่ง ฝาชี กระด้ง หวด ตะข้อง ตะแกรง สุ่มไก่ หมวก กระชอน ชะลอม ตะกร้า พัด ลำแพน ซึ่งในแต่ละรูปแบบจะมีระยะเวลาในการทำที่แตกต่างกันออกไปตามความยากง่าย
ชาวบ้านหนองปาตองมีการพูดภาษาพวนในชีวิตประจำวัน
พยุงพร ไตรรัตน์สิงหกุล. (2538). ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการถ่ายทอดหัตถกรรมพื้นบ้านเครื่องจักสาน บ้านหนองปาตอง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา : การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์. ครุศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.