ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อที่ย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศจีน เข้าสู่พื้นที่ประเทศไทยเพื่อแสวงหาที่อยู่ใหม่บนพื้นที่ทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ จนกลายเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น
บริเวณพื้นที่ชุมชนมีแหล่งน้ำสำคัญคือ ลำน้ำเปื๋อย ซึ่งมีต้นเลาอยู่เป็นจำนวนมาก จึงตั้งชื่อชุมชนว่า บ้านหนองเลา
ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อที่ย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศจีน เข้าสู่พื้นที่ประเทศไทยเพื่อแสวงหาที่อยู่ใหม่บนพื้นที่ทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ จนกลายเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น
การก่อตั้งหมู่บ้านเกิดขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2393 โดยกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่ในชุมชนคือชาวปัวที่อพยพมาจากจังหวัดน่าน จำนวน 8 ครอบครัว เนื่องจากต้องการหาพื้นที่อาศัยและพื้นที่ทำกินใหม่ จากนั้นจึงมีชาวบ้านจากบ้านหนองบัว บ้านสบหนอง บ้านดอนตัน จังหวัดน่าน เข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มเติม และมีชาวเชียงม่วนเข้ามาอาศัยในชุมชนในระยะต่อมา ตระกูลแรกที่เข้ามาอาศัย คือ ตระกูลยะมงคล และวิละแสง
พื้นที่บ้านหนองเลามีแม่น้ำเปื๋อยไหลผ่าน ขุนน้ำเปื๋อยมีต้นน้ำมาจากดอยผาหม่น ดอยหัวช้าง ไหลผ่านมาจากทางบ้านฮวก ซึ่งชื่อบ้านหนองเลานี้มีที่มาจากการที่บริเวณลำน้ำเปื๋อยมีต้นเลาเป็นจำนวนมาก จึงตั้งชื่อว่า บ้านหนองเลา ในปี พ.ศ. 2398 มีการก่อตั้งวัดบ้านหนองเลาขึ้นมา วัดเป็นทั้งสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและให้การศึกษากับคนในชุมชน จึงมีการก่อตั้งโรงเรียนในวัดขึ้นมาในสมัยนั้นด้วย โดยใช้ชื่อว่าโรงเรียนวัดบ้านหนองเลา ในช่วงปี พ.ศ. 2492 เกิดเหตุการณ์อหิวาตกโรคระบาดทำให้ผู้คนเจ็บป่วยล้มตาย
ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2550 มีการตั้งกิ่งอำเภอภูซางเป็นอำเภอภูซาง และมีการแบ่งเขตการปกครองชุมชนบ้านหนองเลาออกเป็น 2 หมู่บ้าน คือ บ้านหนองเลา หมู่ที่ 8 และบ้านธาตุภูซาง หมู่ที่ 10 ในช่วงปี พ.ศ. 2559 สังคมชุมชนบ้านหนองเลามีความหลากหลายมากขึ้น มีศาสนาคริสต์เข้ามาจากการที่คนในชุมชนแต่งงานกับชาวต่างชาติ และเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ และมีการก่อตั้งโรงเรียนคริสต์ ทำให้ชุมชนบ้านหนองเลาเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม มีความหลากหลายทางความเชื่อ แต่ยังคงความรักสามัคคีภายในชุมชนได้เป็นอย่างดี
บ้านหนองเลาหมู่ที่ 8 ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ตั้งอยู่ห่างจากจังหวัดพะเยา 50 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอภูซางประมาณ 9 กิโลเมตร และห่างจากอุทยานแห่งชาติภูซาง 3 กิโลเมตร บ้านหนองเลามีพื้นที่ทั้งหมด 85 ไร่ เป็นที่ราบเชิงดอยอยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติภูซาง รอบนอกหมู่บ้านมีแม่น้ำเปื๋อยไหลผ่าน และเป็นแม่น้ำสายหลักที่คนในชุมชนใช้ในการอุปโภค โดยพื้นที่ชุมชนบ้านหนองเลามีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านธาตุภูซาง หมู่ที่ 10
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านทุ่งแขม หมู่ที่ 9
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ป่าสงวนบ้านปงใหม่ หมู่ที่ 8 ตำบลทุ่งกล้วย และบ้านทุ่งแขมหมู่ที่ 9 ตำบลภูซาง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านทุ่งติ้ว หมู่ที่ 6
ลักษณะที่ดินบ้านหนองเลาเป็นที่ราบลุ่มติดกับลำน้ำเปื๋อยซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน การตั้งบ้านเรือนในอดีตมักจะเลือกอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในการอุปโภคและบริโภค ชุมชนมีถนนตัดผ่าน หมู่บ้านจึงมีการแบ่งบ้านเรือนออกเป็นฝั่งทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออก มีทั้งหมด 8 ซอย ซอย 1 เริ่มต้นจากทางทิศใต้ขึ้นมาจนถึงซอย 8 ซึ่งเป็นซอยที่ติดกับบ้านธาตุภูซาง หมู่ที่ 10 บ้านเรือนทางฝั่งทิศตะวันตกเป็นหมู่บ้านที่ต้นตระกูลดั้งเดิมอาศัยอยู่ ส่วนทางทิศตะวันออกเป็นหมู่บ้านขยาย อีกทั้งยังมีพื้นที่สาธารณะของชุมชนที่ใช้ร่วมกันระหว่างหมู่ 8 และหมู่ 10 ได้แก่ วัดบ้านหนองเลา โรงเรียนชุมชนบ้านหนองเลา ศูนย์เด็กเล็ก ดงชาวบ้าน และหอประชุมหมู่ที่ 8
ลักษณะทางภูมิอากาศในพื้นที่บ้านหนองเลา โดยปกติมี 3 ฤดู ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม มีฝนตกชุกและมีน้ำมาจากอุทยานแห่งชาติภูซาง ทำให้แหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ส่วนฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ มีอุณหภูมิต่ำสุดถึง 11 องศาเซลเซียส
สภาพสังคมบ้านหนองเลาเป็นชุมชนไทลื้อที่สืบเชื้อสายมาจากเมืองสิบสองปันนา สาธารณรัฐประชาชนจีน อพยพย้ายถิ่นฐานมาที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน ก่อนที่จะมาย้ายถิ่นฐานมาที่พะเยา ชุมชนบ้านหนองเลามีการตั้งบ้านเรือนของคนที่เป็นญาติกันจะตั้งอยู่ละแวกเดียวกันเนื่องจากบรรพบุรุษได้จับจองพื้นที่ไว้ ลูกหลานจึงได้รับมรดกตกทอดมาเป็นพื้นที่ที่ไม่ไกลกันนักลักษณะบ้านมีรั้วรอบขอบชิด บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านสองชั้น กึ่งปูนกึ่งไม้ บ้านไม้ยกใต้ถุนสูงมีประปราย ส่วนบ้านปูนสองชั้นพบได้น้อย เริ่มมีรูปแบบบ้านทรงทันสมัยเข้ามาในชุมชน บ้านเรือนส่วนใหญ่มีครัวทั้งในบ้านและนอกบ้าน ครัวนอกบ้านมักจะอยู่ติดกับเล้าข้าวแยกออกมาจากตัวบ้านใช้ฟืนและถ่านในการประกอบอาหารแทนแก๊สหุงต้มเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ในส่วนของครัวในบ้านเป็นการประกอบอาหารโดยใช้แก๊สหุงต้ม บริเวณรอบ ๆ บ้าน มีการปลูกผักสวนครัว ผลไม้ เช่น พริก กะหล่ำปลี ผักกาด มะม่วง ลำไย ข้าวโพด ขนุน มะละกอ เพื่อใช้ในการบริโภคในประจำวัน
ต้นตระกูลดั้งเดิมในชุมชนมี 2 นามสกุล ได้แก่ ยะมงคล และวิละแสง เป็นกลุ่มแรกที่อพยพมาจากน่านและตั้งรกรากมาจนถึงปัจจุบัน ยังมีนามสกุลอื่น ๆ ได้แก่ วงศ์ใหญ่ สุใจยา เลาเงิน ยอดใจ จันอิน แต่ละตระกูลเป็นลักษณะครอบครัวใหญ่ มีความเกี่ยวข้องทางเครือญาติเกือบทั้งหมู่บ้าน เนื่องจากในสมัยก่อนนิยมแต่งงานกับคนบ้านใกล้เรือนเคียงหรือหมู่บ้านใกล้เคียง ทำให้ความเป็นเครือญาติเชื่อมโยงกันทั้งหมู่บ้าน ซึ่งความสัมพันธ์ทางเครือญาติลักษณะนี้แสดงถึงความเข้มแข็งของชุมชน คือถ้าหากครอบครัวไหนที่ลําบากหรือมีปัญหา เครือญาติและคนในชุมชนที่สนิทสนมจะให้ความช่วยเหลือกันได้ตลอด ถ้าหากมีงานชุมชนสามารถมาช่วยเหลือกันได้ทุกเมื่อ ลักษณะเครือญาติแบบนี้ยังส่งผลถึงการเลือกผู้นำชุมชนอีกด้วย โดยฝ่ายใดที่เป็นครอบครัวใหญ่จะได้เปรียบในจำนวนเสียงของผู้สนับสนุนฝ่ายนั้น หลังจากหน่วยงานท้องถิ่นให้แบ่งแยกการปกครองออกเป็น 2 หมู่บ้าน จากชุมชนบ้านหนองเลาให้แบ่งออกไปเป็นบ้านธาตุภูซาง เหตุเกิดจากจำนวนครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น แต่ลักษณะความสัมพันธ์ของคนในชุมชนและความเป็นเครือญาติยังคงเหมือนเดิมเพราะยังมีการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ร่วมกัน
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 8 บ้านหนองเลา ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 493 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 248 คน ประชากรหญิง 245 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 201 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ไทลื้อประชากรในชุมชนบ้านหนองเลาส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมกันเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ปลูกข้าว ยางพารา ข้าวโพด กระเทียม หอมแดง ถั่วลิสง กล้วย ลำไย เงาะ ทุเรียน ข้าวที่ปลูกเป็นนาปีสำหรับรับประทานเท่านั้น เนื่องจากพื้นที่นามีน้อย จึงเน้นรายได้หลักจากการปลูกพืชอื่น ๆ ได้แก่ ยางพารา ถั่วลิสง ลำไย ข้าวโพด กระเทียม หอมแดง กล้วย ในอำเภอภูซางเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกยางพาราขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ในชุมชนมีผู้รับซื้อยางพาราเพื่อเอาไปขายให้โรงงานต่อไป นอกจากอาชีพเกษตรกรแล้ว มีการรับจ้างทั้งในชุมชนและนอกชุมชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร ได้แก่ เกี่ยวข้าว แกะเปลือกถั่วลิสง เก็บถั่วลิสง กรีดยางพารา หยดสารลำไย การรับจ้างนอกชุมชน ได้แก่ ขับรถโดยสารรับส่งนักเรียนของโรงเรียนนอกชุมชน ขับรถโดยสารจากเชียงคํา-บ้านฮวก และการทำงานรับจ้างทั่วไปตามเมืองต่าง ๆ อาชีพอื่นในชุมชน ได้แก่ ธุรกิจส่วนตัว ขายของชํา ขายน้ำพริกข่า ขายเบเกอรี่ ส่วนอาชีพด้านการรับราชการพบได้น้อย
อาชีพเสริมที่คนในชุมชนทำในช่วงว่างเว้นจากการทำการเกษตร ได้แก่ เลี้ยงปลา ขายอาหารพื้นเมือง ขนม ผลไม้ ผักที่คนในชุมชนปลูกพืชแบบไม่ใช้สารเคมี เพราะเอาไว้รับประทานเอง เมื่อเหลือจึงนําไปขายให้ผู้อื่น เป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจของชุมชนให้เข้มแข็งจากการแลกเปลี่ยนสินค้าด้วยกันเอง
ศาสนา คนในชุมชนนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ วัดบ้านหนองเลาเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชาวบ้าน นอกจากวัดบ้านหนองเลาแล้วยังมีวัดพระธาตุภูซาง เป็นวัดประจำตำบลภูซาง ตั้งอยู่ใกล้กับชุมชน และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนภูซางอีกสถานที่หนึ่ง ในชุมชนมีผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์เพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ศาสนาคริสต์เริ่มเข้ามาในชุมชน เนื่องจากสามีชาวต่างชาติของคนในชุมชนที่นับถือศาสนาคริสต์เข้ามาอาศัยในชุมชน ทำให้เกิดการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในชุมชนจนนํามาสู่ความต้องการสร้างโบสถ์ในชุมชนขึ้น แต่คนในชุมชนขัดขวางการสร้างจึงยุติลง รวมถึงเกิดการก่อตั้งโรงเรียนคริสต์อยู่ใกล้ชุมชน ส่งผลให้มีผู้คนให้ความสนใจในหลักคําสอนของศาสนาคริสต์มากขึ้น
ประเพณีสำคัญของชุมชน
ทานข้าวใหม่ วิถีชีวิตที่ผูกพันข้าวมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ทำให้เกิดประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติและศาสนา จึงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทางชุมชนที่ทราบกันดีว่า หลังเก็บเกี่ยวข้าวจะนำข้าวส่วนหนึ่งมารวบรวมไว้ที่วัด เพื่อทำบุญสร้างกุศลให้แก่ตนเองและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ทั้งยังเป็นการขอขมาพระแม่โพสพก่อนรับประทานข้าวรอบใหม่ที่ปลูกเสร็จ ประเพณีทานข้าวใหม่จัดขึ้นในวันเพ็ญเดือนสี่ตามปฏิทินล้านนาตรงกับเดือนมกราคม การเตรียมงานคนในชุมชนจะเอาข้าวมาบริจาคครอบครัวละ 1 กระสอบ หรือครอบครัวใดที่ไม่มีข้าว สามารถบริจาคเป็นเงินแทน ในวันงานเริ่มประกอบพิธีทางศาสนาตั้งแต่ช่วงเช้า เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป ชาวบ้านเตรียมดอกไม้และเทียนไปใส่ในขันแก้ว พร้อมกับนำข้าวสารใส่ในบาตรขนาดใหญ่ ทำให้ข้าวล้นบาตรออกมา จึงเรียกว่า “ข้าวล้นบาตร” จากนั้นพระสงฆ์จะทำพิธี เริ่มจากการทานขันข้าวไปหาบรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หลังจากทำพิธีจะบริจาคข้าวให้กับทางวัด วัดนำข้าวเหล่านี้ไปใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่อไป และแจกจ่ายให้กับพ่อหมื่น พ่ออาจารย์และภารโรงวัด ถ้าหากชาวบ้านคนไหนไม่ได้ปลูกข้าวสามารถซื้อข้าวเพื่อไปรับประทานภายในครอบครัวหรือเอาไปให้ลูกหลานที่ทำงานต่างจังหวัดได้
ประเพณีปี๋ใหม่เมือง วันปี๋ใหม่เมืองตรงกับเดือน 7 ตามปฏิทินล้านนาหรือเดือนเมษายน คนทั่วไปจะรู้จักในวันสงกรานต์ของไทย ซึ่งเป็นประเพณีที่สำคัญกับคนเหนือเป็นอย่างมาก เปรียบเสมือนการเริ่มต้นเข้าสู่ศักราชใหม่ เป็นโอกาสในการทำบุญให้แก่บรรพบุรุษ ให้กับตัวเอง ครอบครัว เริ่มต้นต้นปีด้วยสิ่งที่ดีและเป็นช่วงเวลาพบปะลูกหลานที่ไปทำงานต่างจังหวัด กลับมารวมตัวกันที่บ้านอีกครั้ง การประกอบพิธีกรรมเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายนจนถึงวันที่ 17 เมษายน ประกอบด้วย วันสังขานต์ล่อง วันเน่า วันพญาวัน และวันปากปี
ประเพณีส่งเคราะห์หมู่บ้าน ประเพณีส่งเคราะห์หมู่บ้านจะจัดขึ้นในวันที่ 13 เมษายน เป็นพิธีกรรมทางด้านพราหมณ์ การสืบชะตาหมู่บ้านมีความเชื่อว่าเป็นการขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไปจากหมู่บ้านให้พบเจอแต่สิ่งที่ดีในการประกอบพิธีกรรม คนในชุมชนจะนําถังน้ำขมิ้นใส่ฝักส้มป่อย ดอกไม้และสายสิญจน์ วางรวมกันที่ถนนตรงใจบ้านหรือสะดือหมู่บ้าน ซึ่งเป็นที่รวมจิตวิญญาณของคนในชุมชน พ่ออาจารย์เป็นผู้ทำพิธีกรรมดังกล่าว เริ่มจากการกล่าวส่งเคราะห์ในแต่ละทิศจนครบทุกทิศ หลังจากจบพิธีกรรมชาวบ้านนําน้ำส้มป่อยไปไว้ที่บ้านของตน โดยจะนําสายสิญจน์ผูกส้มป่อยไว้ แล้วมัดติดกับประตูหรือรั้วหน้าบ้าน ซึ่งจะมัดไว้ตลอดทั้งปี เมื่อได้ทำพิธีส่งเคราะห์บ้านครั้งต่อไปก็เอาส้มป่อยอันใหม่ที่ผ่านการทำพิธีมาเปลี่ยน และนำน้ำมนต์ไปพรมตามที่ต่าง ๆ ในบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล และยังมีการประกอบประเพณีสืบชะตาหมู่บ้าน ทำพิธีโดยพระสงฆ์ จัดขึ้นภายในวัดหลังจากเสร็จพิธีส่งเคราะห์หมู่บ้าน พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา และสวดพระปริตร เทศนาธรรมใบลานและเทศนาธรรมสืบชะตา เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายและเสนียดจัญไรหรือสิ่งอัปมงคลให้ออกไปจากหมู่บ้าน เมื่อจบพิธีแล้วก็จะประพรมน้ำมนต์แก่ผู้มาร่วมพิธีทุกคน
ประเพณียี่เป็ง ประเพณียี่เป็งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ ตามปฏิทินล้านนา วัดบ้านหนองเลาจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาตลอดทั้งวัน บริเวณโดยรอบของวัดและวิหารประดับประดา ด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุง ช่อประทีป และชักโคมยี่เป็งแบบต่าง ๆ ขึ้นเป็นพุทธบูชา และจุดประทีป (ผางประตี๊ป) เพื่อบูชาพระรัตนตรัย กิจกรรมในช่วงเช้าคนในชุมชนจะไปทำบุญตักบาตร (ทานขันข้าว) เพื่อทำบุญให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปและไหว้พระรับศีล จากนั้นจะมีการปล่อยโคมลอยเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พร้อมกับปล่อยทุกข์โศกและสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ออกจากตัวเรา โคมลอยมีลักษณะคล้ายบอลลูนทำมาจากผ้าเย็บต่อกัน การทำให้โคมลอยได้ต้องใช้ความร้อนจากควันปล่อยเข้าไปภายในโคม เมื่อมีความร้อนเพียงพอ จึงปล่อยโคมให้ลอยได้ในช่วงบ่ายมีการฟังเทศน์มหาชาติ ซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะได้มาประสูติและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในชาติต่อมา มีทั้งหมด 13 กัณฑ์ หลังจากนั้นทำพิธีจุดกองหลัว (จุดกองฟืน) ในช่วงเย็นชาวบ้านจะนำไม้ยาวประมาณ 1.5 เมตรมาที่วัด แล้วเขียนชื่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วติดกับไม้และเผากองฟืน ตามความเชื่อเป็นการเผากิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลงภายในใจให้ดับไป จากสภาพภูมิอากาศทางภาคเหนือในช่วงเดือนพฤศจิกายนจะมีอุณหภูมิต่ำ การเผาฟืนจึงเป็นวิธีการให้ความอบอุ่นด้วย ในช่วงเย็นชาวบ้านจะจุดประทีปตามบ้าน ตามความเชื่อว่าถวายเป็นพุทธบูชาพระเจ้าห้าพระองค์ตามตำนานแม่กาเผือก และจุดบูชาเพื่อตอบแทนบุญคุณผู้มีพระคุณ การบูชาแสงสว่างทำให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีแสงสว่างนำทางชีวิตดั่งแสงจากประทีป และสุดท้ายคือการลอยกระทงขอขมาพระแม่คงคาและจุดโคมไฟ ตัวโคมไฟทำจากกระดาษเป็นทรงกระบอก มีไม้พันด้ายเป็นก้อนกลม ชุบน้ำมันยางหรือน้ำมันขี้โล้แขวนปากโคม ต้องจุดไฟที่ก้อนน้ำมันนั้นให้มีควันร้อนภายในโคม แล้วจึงปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า พร้อมนิยมจุดประทัดให้เกิดเสียงดังตลอดทั้งคืนวันลอยกระทง
เลี้ยงผีดง ชาวบ้านชาวไทลื้อมีความเชื่อการนับถือผีมาตั้งแต่ก่อนมีการนับถือพระพุทธศาสนา เชื่อว่าผีจะช่วยปกป้องบ้านเมืองให้พ้นจากภัยอันตราย คุ้มครองคนในหมู่บ้าน ให้ทำการทำงานประสบความสำเร็จ สถานที่สำคัญในการประกอบพิธีกรรมคือ ดงชาวบ้าน เปรียบเสมือนวัด เป็นพื้นที่ของผีบ้านผีเมืองได้อยู่อาศัย ปกปักรักษาคนในชุมชน เป็นอีกสถานที่สำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจคนในชุมชน ในทุกปีจะมีพิธีกรรมการเลี้ยงผีดงชาวบ้านของหมู่บ้านปีละหนึ่งครั้ง ผู้ประกอบพิธี เรียกว่า “ข้าวจ้ำ”
เลี้ยงผีปู่ย่า การเลี้ยงผีปู่ย่า คือการเลี้ยงผีบรรพบุรุษให้คุ้มครอง ปกปักรักษาลูกหลาน ถ้าหากมีลูกเขยหรือลูกสะใภ้เข้ามาอยู่ในบ้าน ต้องทำพิธีเพื่อเป็นการบอกกล่าวและช่วยให้คุ้มครองคนที่เข้ามาอยู่ในครอบครัว การนับถือผีในชุมชนมีหลากหลายกลุ่ม ได้แก่ ผีหลวงเหมืองหล้า ผีบ่าง ผีแมน ซึ่งจะแบ่งไปตามต้นตระกูลแต่ละสาย บ้านที่เป็นบ้านดั้งเดิมจะสร้างศาลาไว้ทางหัวนอน สำหรับทำพิธีกรรมเลี้ยงผีโดยเฉพาะ ภายในศาลามีหิ้งสำหรับวางของ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน คนโท ชาวบ้านจะรวบรวมเงินเพื่อเป็นกองทุนในการใช้จ่ายซื้อวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ทำพิธีกรรม ทำโดยผู้ชายที่อาวุโสที่สุดและไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เริ่มพิธีกรรมโดยนำเนื้อควาย เหล้า ไปทำพิธีบอกกล่าว จากนั้นแม่ครัวประกอบอาหารนำไปไหว้โดยผู้ทำพิธีจะบอกกล่าวแก่ผี ขั้นตอนการนำอาหารไปถวายให้ผีกินจะมีอุปกรณ์เรียกว่า “ไม้วา” สำหรับวัดความยาวเทียบกับแขนของผู้ทำพิธี ถ้าผีกินอิ่มจะเอาไม้วามาวัดเทียบกับความยาวแขนทั้งสองข้าง ถ้าหากไม้วายาวเกินกว่าจะเอื้อมถึงแสดงว่าผีกินอิ่มแล้ว จากนั้นผู้ที่มาร่วมพิธีกรรมจะรับประทานร่วมกัน ร้องเพลง สังสรรค์ เป็นประเพณีหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของความเชื่อและวิถีชีวิตที่ยังคงปฏิบัติกันอย่างเข้มแข็งเรื่อยมา
บ้านหนองเลาแหล่งทรัพยากรที่มีความอุดมสมบูรณ์มากมาย อาทิ แหล่งน้ำ ป่าไม้ น้ำตก ซึ่งมีทรัพยากรที่สำคัญรอบชุมชนดังนี้ อุทยานแห่งชาติภูซางมีพื้นที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนติดเขตแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีความสูงตั้งแต่ 440-1,548 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยอดเขาที่สูงที่สุด คือ ยอดเขาดอยผาหม่น มีความสูงประมาณ 1,548 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำลาว น้ำหงาว น้ำเปื๋อย น้ำบง และน้ำญวน เพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชนทั้งในเขต อำเภอเชียงคำ อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา และอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
ป่าชุมชนมีพื้นที่ทั้งหมด 115 ไร่ เป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญของชุมชนอีกหนึ่งแห่งที่มีการรักษาต้นไม้ พืชท้องถิ่นไว้ให้คงอยู่ มีกฎห้ามตัดไม้ในป่าชุมชน ถ้าหากเข้าไปตัดก็จะต้องปลูกทดแทน และหากมีงานสำคัญของชุมชน ก็จะมีการนําไม้จากป่าชุมชนออกมาใช้ได้เช่นกัน แหล่งน้ำสำคัญในชุมชนคือ ลำน้ำเปื๋อย เนื่องจากเป็นลำน้ำสายยาวที่ใช้ในทำการเกษตร มีกำหนดห้ามจับปลาในลำน้ำเปื๋อยบริเวณฝายของหมู่บ้าน เพราะอนุรักษ์พันธุ์ปลาไว้ เนื่องจากมีปลาหลายชนิดที่สูญพันธุ์ไป เพราะชาวบ้านจับกันเป็นจำนวนมาก โดยใช้เครื่องช็อตไฟฟ้าทำให้ปลาเป็นหมันและหายไปจากบริเวณนี้ รวมถึงสภาพอากาศที่แห้งแล้ง น้ำในลำน้ำเปื๋อยที่ใช้ในการอุปโภคและบริโภคไม่เพียงพอ หมู่บ้านข้าง ๆ สูบน้ำไปใช้ในการอุปโภคจนน้ำแห้งขอด ทำให้สัตว์น้ำที่อยู่ตายไปและอาจสูญพันธุ์ไปในที่สุด
วัฒนธรรม คนในชุมชนเป็นกลุ่มคนไทลื้อที่อพยพมาจากน่าน วิถีชีวิตเกี่ยวข้องทั้งกับวัฒนธรรมล้านนาและวัฒนธรรมไทลื้อ อาหารการกินของคนในชุมชนจะนิยมรับประทานประเภท แกง ต้ม ย่าง นึ่ง น้ำพริก ผักลวก อาหารประจำท้องถิ่น เช่น แกงแค แกงขนุน ซุปมะเขือ แกงหน่อไม้ น้ำพริกข่า ผักกาดจอ เป็นต้น ทางด้านขนมของคนไทลื้อ คือ ขนมดอกซ้อ เกิดจากการเก็บดอกซ้อที่ออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคมจากต้นซ้อ นำดอกซ้อมาตากแห้งแล้วทำเป็นผงผสมกับแป้งข้าวเหนียวแล้วนึงจนสุก ขนมดอกซ้อชาวบ้านนิยมนำไปทำบุญในเทศกาลปี๋ใหม่เมือง การแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทลื้อคือการใส่ซิ่นลื้อลายน้ำไหลที่ทอเพื่อใส่เอง ลายน้ำไหลมีลักษณะเป็นลายไหวพลิ้วเหมือนสายน้ำ เรียกแต่ละช่องลายว่าเกาะ เกาะเยอะยิ่งทอยาก และมีค่ามาก นำมาทอร่วมกับลายอื่น ๆ เช่น ดอกผักแว่น ดอกมะลิ ดอกกูด ดอกมะพร้าว ดอกเก็ดเต่า และดอกเปาจากต้นที่คนเฒ่าคนแก่ชอบเก็บมาเสียบผม เวลานุ่งลายผ้าแต่ละลายมาจากชีวิตที่ใกล้ชิดธรรมชาติและสายน้ำของชาวไทลื้อ การนุ่งซิ่นไทลื้อจะเอาตีนพื้นสีดำไว้ด้านล่าง ลายตรงกลางเน้นให้รูปร่างโดดเด่น ใส่กับเสื้อปั๊ดพร้อมผ้าคาดหัวและย่ามลื้อที่มีสีแดงสลับสีเขียว นับว่าเป็นเอกลักษณ์ของคนไทลื้อ ปัจจุบันการแต่งกายแบบไทลื้อพบได้เฉพาะเทศกาลสำคัญทางด้านวัฒนธรรม จากการแต่งกายไปทำบุญที่วัด หรือพบเห็นได้ในคนเฒ่าคนแก่ยังคงยึดมั่นในวิถีชีวิตเดิมที่ยังคงสวยงาม
ชุมชนบ้านหนองเลาเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ ด้านวัฒนธรรมการสื่อสาร มีการใช้ภาษาลื้อในการสื่อสาร เปรียบเสมือนภาษาหลักของคนในชุมชน จากการประชุมหมู่บ้านหรือการประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย ผู้ใหญ่บ้านใช้ภาษาลื้อในการสื่อสาร เด็กในชุมชนบางคนสามารถสื่อสารภาษาลื้อได้เช่นกัน ทั้งนี้ก็ยังพบเห็นการใช้ภาษาถิ่นเหนือสลับกับภาษาไทลื้อตามแต่สถานการณ์
ปิยาพัชร บัวชุม. (2562). การศึกษากระบวนการพัฒนาเยาวชนกลุ่มละอ่อนโฮมมนการทำงานร่วมกับชุมชนบ้านหนองเลา ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา. ประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาบัณฑิตอาสาสมัคร วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
วัดหนองเลา ภูซาง. (2567). สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/