Advance search

ชุมชนกะเหรี่ยงที่ยังคงสืบทอดประเพณีและวิถีชีวิตดั้งเดิมไว้อย่างเคร่งครัด สืบทอดภูมิปัญญาดังเดิม คือ ผ้าทอกระเหรี่ยง เช่น การทอผ้าด้วยกี่เอว  งานจักสาน เช่น ซอชิหรือกรงขังไก่ ไหน่หรือตระกร้าใส่ของ

หมู่ที่ 3
บ้านทิพุเย
ชะแล
ทองผาภูมิ
กาญจนบุรี
อบต.ชะแล โทร. 0-3451-0770
รัฐนันท์ เผือกหอม
31 พ.ค. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
ปวินนา เพ็ชรล้วน
31 พ.ค. 2024
บ้านทิพุเย

"ชุมชนทิพุเย" มาจากภาษากะเหรี่ยง หมายถึง ลำห้วยเล็ก ๆ ที่มีต้นเยหรือต้นเต่าร้างขึ้นอยู่


ชุมชนชาติพันธุ์

ชุมชนกะเหรี่ยงที่ยังคงสืบทอดประเพณีและวิถีชีวิตดั้งเดิมไว้อย่างเคร่งครัด สืบทอดภูมิปัญญาดังเดิม คือ ผ้าทอกระเหรี่ยง เช่น การทอผ้าด้วยกี่เอว  งานจักสาน เช่น ซอชิหรือกรงขังไก่ ไหน่หรือตระกร้าใส่ของ

บ้านทิพุเย
หมู่ที่ 3
ชะแล
ทองผาภูมิ
กาญจนบุรี
71180
14.9539216
98.6951738
องค์การบริหารส่วนตำบลชะแล

ชุมชนบ้านทิพุเยตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี นายจองเผ่ ไทรสังขคีรี อายุ 66 ปี มัคนายกของชุมชน เล่าว่าหมู่บ้านทิพุเยในปัจจุบันเพิ่งมีการตั้งรกรากถาวรเมื่อประมาณ 54 ปีมานี้เอง โดยเริ่มต้นมีเพียงบ้านของบิดามัคนายกและญาติรวม 4 หลังคาเรือนเท่านั้น ต่อมาได้มีการย้ายมาอยู่อาศัยและทำกินเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันหมู่บ้านทิพุเย มีประชากรตามหลักฐานทะเบียนราษฎร จำนวน 61 หลังคาเรือน 67 ครอบครัว 335 คน ชาย 178 คน หญิง 157 คน จากคำบอกเล่าของชาวบ้านและผู้เฒ่าในชุมชนยืนยันว่าบรรพบุรุษของตนตั้งรกรากอยู่ในป่าแถบตำบลชะแล และป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในปัจจุบันมาเป็นเวลาหลายชั่วอายุคนแล้ว "หลวงปู่" หรือบิดาของมัคนายกซึ่งมรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2537 ขณะอายุได้ 94 ปี เคยเล่าให้ฟังว่าเคยได้เลี้ยงดูช้างเผือกที่นำไปถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวเสด็จประพาสไทรโยค ซึ่งกำนันตำบลชะแลและปลัดอำเภอทองผาภูมิในขณะนั้นได้เป็นตัวแทนของชาวกะเหรี่ยงตำบลชะแลนำช้างเผือกซึ่งชาวบ้านเลี้ยงไว้ไปถวาย ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตอบแทนชาวบ้าน โดยยกเว้นการเกณฑ์ทหารชายชาวกะเหรี่ยงในตำบลชะแลซึ่งมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน คือ ผู้ชายที่เกิดในตำบลชะแลและเป็นคนดั้งเดิมไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหารมีหลักฐานเป็นเอกสารที่อยู่อำเภอทองผาภูมิ หลักฐานอีกประการหนึ่งที่ยืนยันว่าชุมชนกะเหรี่ยงมีถิ่นฐานอยู่ในแถบตะวันตกของประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 100 ปี ก็คือ งานพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองกาญจนบุรีหลายครั้ง แต่ละครั้งทรงพระราชนิพนธ์ในลักษณะการบันทึกการเดินทางไว้ มีหลักฐานเป็นงานพระราชนิพนธ์ในคราวเสด็จพระราชดำเนินไทรโยคเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2420 การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้นพระองค์ได้ทรงเยี่ยมชุมชนกะเหรี่ยงจำนวนมากของเมืองไทรโยคและเมืองใกล้เคียงที่มาเฝ้ารับเสด็จหลายพื้นที่รวมทั้งกะเหรี่ยงจากทองผาภูมิ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 ทางราชการได้ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม โดยได้ประกาศเขตอุทยานฯ ทับพื้นที่หมู่บ้านและที่ทำกินของชาวบ้านทิพุเยทั้งหมด ทั้งที่ชาวบ้านยืนยันว่าชุมชนกะเหรี่ยงในแถบตำบลชะแลมีอายุมากกว่า 100 ปี รวมทั้งชุมชนทิพุเยด้วย ปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการกันเขตที่ดินทำกินและหมู่บ้านทิพุเยออกจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม อย่างเป็นทางการ ชาวบ้านจึงยังอยู่ในฐานะของผู้บุกรุกและกระทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ในช่วงก่อนที่จะประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมพื้นที่ของชุมชนทิพุเย ถูกรวมอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวน ในช่วงนั้นชาวบ้านยังพอจะทำไร่หมุนเวียนอยู่ได้บ้างโดยหมุนเวียนอยู่ในพื้นที่ไร่ซากเดิม แต่ไม่สามารถบุกเบิกพื้นที่ป่าใหม่ได้เพราะถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุม แต่หลังจากมีการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติฯ มีการเปลี่ยนชุดของเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาดูแลพื้นที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดโดยที่ชาวบ้านไม่มีความเข้าใจมาก่อนก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนจิตใจและเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตของชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากชาวบ้านไม่สามารถฟันไร่ซากถางไร่หรือเผาไร่ซากเพื่อปลูกข้าวไร่ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนกะเหรี่ยงได้ ต้องคอยหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัวและไม่เป็นสุข ต่อมาเพื่อพระบาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จเยี่ยมชาวเขาที่หมู่บ้านทิพุเยเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2540 แล้วหมู่บ้านทิพุเยก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นในฐานะที่เป็นหมู่บ้านเน้นหนักในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับการส่งเสริมด้านการพัฒนาจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานทหารพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ และเป็นหมู่บ้านเน้นหนักในการพัฒนาของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีเจ้าหน้าที่อยู่ที่หน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาบ้านทิพุเยในพื้นที่ และสืบเนื่องจากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ปัจจุบันได้มีการกำหนดแนวเขตพื้นที่ของชุมชนและพื้นที่ทำกินของชาวบ้านทั้งหมดอย่างชัดเจน รวมทั้งการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินในอนาคตด้วย ซึ่งทำให้ชุมชนมีความรู้สึกมั่นคงในชีวิตและที่ดินทำกินมากขึ้น

หมู่บ้านทิพุเยตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ชุมชนตั้งอยู่บนที่ราบเทือกเขาพระฤๅษีบ่อแร่ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม หมู่บ้านและที่ดินทำกินส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนที่ราบ สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นป่าเขาต้นน้ำลำธาร ล้อมรอบด้วยป่าเขาน้อยใหญ่ซับซ้อน มีที่ราบบริเวณหุบเขา ที่ราบเชิงเขา ที่ราบเนินเขาดินลักษณะเป็นลูกคลื่นรอนตื้นรอนลึก มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติตลอดปี มีลำห้วยไหลผ่านหมู่บ้าน 3 สาย คือ ห้วยทิพุเย ห้วยจองกวะ ห้วยทิไร่ป้า ลำห้วยไหลผ่านที่ทำกินของชาวบ้านคือ ห้วยโปตาน่า ห้วยทิยาหลุ่ง ห้วยแห้ง ห้วยแหว่งฉะชูว ห้วยแม่กลองโผ่ว เป็นต้น สภาพป่าไม้และสัตว์ป่ารอบหมู่บ้านยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มากเป็นแหล่งอาหารและรายได้เสริมของชุมชน

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อ เขตทุ่งใหญ่นเรศวร
  • ทิศใต้ ติดต่อ เขตป่าสงวน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อ เขตบ้านทุ่งนางครวญ
  • ทิศตะวันตก ติดต่อ เขตบ้านเกริงกระเวีย

ประชากรในชุมชนเดิมเป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงโปว์ทั้งหมด ลักษณะเด่นของความสัมพันธ์ทางสังคมของชุมชนทิพุเย ก็คือความเป็นกลุ่มเครือญาติในหมู่บ้านทิพุเย เรียกได้ว่าเกือบทั้งหมดเป็นเครือญาติเดียวกัน คือ กลุ่มครอบครัวกลุ่มแรก ๆ ที่มาตั้งชุมชนที่ทิพุเย คือ พ่อของกำนันชัชวาล เกรียงแสนภู พ่อของนายจองเผ่ ไทรสังขคีรี มัคนายก และยายของนายจำนง ทองผาไฉไล (สมาชิก อบต.) ทั้ง 3 คนนี้เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน แล้วสืบลูกหลานแยกเป็น 3 สายตระกูล ซึ่งเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ของชุมชน นอกจากนี้ยังมีอีก 2 กลุ่ม ซึ่งย้ายเข้ามาอยู่ในเขตชุมชนหลังจาก 3 กลุ่มแรกคือ กลุ่มสายตระกูลทองผาสุทธิ และสายตระกูลรักษ์กาญจนวัฒน์ ซึ่งในรุ่นต่อ ๆ มาได้มีการแต่งงานข้ามกลุ่มระหว่างคนที่อยู่ดั้งเดิมและกลุ่มที่ย้ายเข้ามาใหม่ภายหลังแตกแขนงออกไปอีก ดังนั้น แต่ละครอบครัวจึงมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติซ้อนกันหลายชั้น แต่ในปัจจุบันมีบุคคลต่างวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนเพิ่มมากขึ้น ทั้งโดยการเข้ามาซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตร ประกอบอาชีพรับจ้างทางการเกษตรให้นายทุนจากภายนอก และการแต่งานกับคนในชุมชนแล้วย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชน นอกจากนี้ยังมีบุคคลภายนอกชุมชนซึ่งเป็นคนกะเหรี่ยงจากที่อื่นและคนพื้นราบเข้าไปอยู่อาศัยและทำมาหากินอยู่ในชุมชน

โพล่ง

โดยชาวบ้านทิพุเยทั้งหมดประกอบอาชีพด้วยการทำไร่ข้าวแบบไร่หมุนเวียน โดยจะปลูกพืชใช้สอยและพืชอาหารต่าง ๆ เช่น พริก ฟักทอง แฟง เผือก มัน กลอย ฯลฯ รวมอยู่ในไร่ข้าวด้วย และชาวบ้านบางส่วนจะเลี้ยงสัตว์ โดยปัจจัย 4 ในการดำรงชีพล้วนหาได้จากในไร่และป่ารอบ ๆ ชุมชนทั้งสิ้น เงินมีความจำเป็นน้อยมากในชีวิตประจำวันของชาวบ้านเพราะของจำเป็นที่ชาวบ้านต้องซื้อมีเพียงกะปิ และเกลือเท่านั้น เนื่องจากการเดินทางติดต่อกับตลาดและสังคมภายนอกเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะชุมชนอยู่ในป่า การเดินทางจะต้องใช้การเดินเท้าเป็นหลัก เช่น การเดินทางมาตลาดทองผาภูมิจะต้องเดินทางอย่างน้อย 1 วัน จึงจะถึง ในขณะที่ปัจจุบันใช้เวลาเพียงไม่เกิน 1 ชั่วโมง ชาวบ้านเล่าว่า หัวหน้าหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาชื่อ นายทะแก้ว เสตะพันธ์ ซึ่งมาทำงานอยู่ในหมู่บ้านช่วงปี พ.ศ. 2521 ป่วยเป็นโรคมาลาเลีย ชาวบ้านต้องทำแคร่หามเพื่อพาไปโรงพยาบาลที่ทองผาภูมิแต่ไปได้เพียงครึ่งทางก็เสียชีวิตลง ด้วยข้อจำกัดในเรื่องการเดินทางและขนส่งดังกล่าววิถีการผลิตและเศรษฐกิจของชุมชนจึงยังคงลักษณะของเศรษฐกิจเพื่อการยังชีพและพึ่งตนเองตามแบบของวิถีกะเหรี่ยงมาเป็นระยะเวลายาวนาน

ชาวบ้านในชุมชนบ้านทิพุเยจะมีการเข้าวัดทำบุญในทุก ๆ วันพระ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่ไม่สะดวกในการการเข้าวัดจะกินเจแทน และถือวันพระเป็นวันหยุดพักผ่อน โดยชาวบ้านจะละจากการทำงานในไร่ แต่อาจจะมีการนัดหมายเพื่อทำงานสาธารณะในชุมชน เช่น ดายหญ้า พัฒนาพื้นที่ส่วนรวมในชุมชน โดยประเพณีที่ชาวบ้านชุมชนบ้านทิพุเยสืบทอดต่อกันมา ได้แก่ งานปีใหม่กะเหรี่ยง (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ช่วงเดือนเมษายน ก่อนวันสงกรานต์) หรือวันสำคัญทางพุทธศาสนา เช่น เข้าพรรษา ชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญสวดมนต์ไหว้พระที่วัดเป็นเวลา 3 วัน ในช่วงปีใหม่ของคนกะเหรี่ยงจะมีพิธีก่อเจดีย์ทรายสะเดาะเคราะห์ มีพิธีไหว้ต้นไม้ใหญ่ (มักใช้ ต้นโพ ต้นไทร) ชาวบ้านจะใช้น้ำขมิ้นล้างต้นไม้และพรมด้วยแป้งหอม แต่ละคนจะมีลำไม้ไผ่มาคนละ 1 กำ เพื่อค้ำต้นไม้นั้นเป็นการสืบชะตาชีวิตและขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข นอกจากนี้ยังมีพิธีไหว้สะพานข้ามลำห้วยชาวบ้านจะล้างสะพานด้วยน้ำขมิ้นและปล่อยเต่าเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองเช่นเดียวกัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วัดทิพุเยโดวิทยาราม เดิมวัดคือศูนย์กลางของชุมชน เนื่องจากเกือบทั้งชุมชนมีความเกี่ยวพันกับทางเครือญาติ เจ้าอาวาสคนแรกของวัดทิพุเยพร้อมด้วยครอบครัวของพี่สาวและน้องชายคนเล็กเป็นกลุ่มแรกที่มาตั้งชุมชนทิพุเย ซึ่งในปัจจุบันและแตกออกเป็นสามสายตระกูลหลักในชุมชนทิพุเยในปัจจุบัน เนื่องจากมีลูกหลานมากเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านจึงมีฐานะเป็นทั้งผู้อาวุโสเป็นที่ปรึกษาและเป็นหลักยึดเหนี่ยวของคนในชุมชน 

ภาษาที่ใช้คือภาษากะเหรี่ยงและภาษาไทยกลาง ภาษาเขียนเดิมใช้ตัวอักษรมอญอ่านเป็นภาษากะเหรี่ยง คนที่อ่านและเขียนภาษากะเหรี่ยงได้มีเพียงไม่กี่คน ส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุและพระ ชาวบ้านทั่วไปจะพูดคุยสื่อสารกันเองด้วยภาษากะเหรี่ยงเป็นหลัก เด็กและวัยรุ่นจะใช้ภาษากะเหรี่ยงปนกับภาษาไทยกลาง เวลาสื่อสารกับคนภายนอกจะใช้ภาษาไทย ภาษากะเหรี่ยงมีระดับความลึกซึ้ง เช่น ภาษาที่ใช้ในการร้องเพลงลำตง ภาษาที่ใช้ในการเล่านิทานกะเหรี่ยงโบราณ เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่จะฟังไม่ค่อยเข้าใจ ต้องอาศัยผู้เฒ่าช่วยอธิบายให้ฟัง


เดิมชาวบ้านไม่ได้เรียนหนังสือไทย หน่วยงานแรกที่เข้าไปทำงานในชุมชนเมื่อปี พ.ศ. 2521 คือ ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาโดยมีการจัดตั้งหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาบ้านทิพุเยและสร้างโรงเรียนชั่วคราวขึ้นในชุมชน มีล่ามชาวเขาและเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาอยู่ในชุมชนโดยทำหน้าที่สอนหนังสือไทยแก่ชาวบ้านด้วย ต่อมาได้ยุบโรงเรียนชั่วคราวไป เนื่องจากเด็กไปเรียนที่โรงเรียนบ้านเกริงกระเวีย ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้าน 4 กิโลเมตร มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 แห่ง การศึกษาระดับมัธยมศึกษาสามารถเรียนต่อได้ในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ ได้แก่ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์พนมทวน โรงเรียนบ้านดินโส และโรงเรียนศรัทธามงคลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ปัจจุบันมีครู กศน.ประจำในหมู่บ้าน 1 คน เด็กและเยาวชนในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะได้รับการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจ จปฐ.ปี 2544 เด็กที่เรียนจบชั้นประถมศึกษา จำนวน 12 คน ได้รับการศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาจำนวน 11 คน ส่วนผู้สูงอายุอ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ แต่สามารถสื่อสารและฟังภาษาไทยได้รู้เรื่อง


เขาแหลม
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วัลย์ลิกา สรรเสริญชูโชติ. (2545). การศึกษาการเปลี่ยนแปลงในวิถีการผลิตและระบบความสัมพันธ์ทางสังคม ในมิติหญิงชายของชุมชนกะเหรี่ยง : ศึกษาเฉพาะกรณีบ้านทิพุเย หมู่ที่ 3 ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี. วิทยานิพนธ์พัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

บุษบา ทองอุปการ. (2562). เฉ่อซียะ: ความรู้ วิถีชีวิต และโลกทัศน์ของชาวไทยกะเหรี่ยงบ้านทิพุเย จังหวัดกาญจนบุรี. วารสารศรีนครินทรวิโรฒวิจัยและพัฒนา, สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 11 (21, January-June), 54–73.

อบต.ชะแล โทร. 0-3451-0770