Advance search

หมู่บ้านเล็ก ๆ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าน้ำยาวและป่าน้ำสวด ชุมชนชาวลัวะที่ยังคงมีการสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมดังเช่นการ "ตีพิ" ประเพณีการเรียกขวัญข้าวออกจากไร่เพื่อนำไปเก็บยังยุ้งฉาง ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของการทำเกษตรกรรมที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กับวิถีชีวิตชาวลัวะบ้านน้ำมีดมาอย่างยาวนาน

หมู่ที่ 14
บ้านน้ำมีด
เปือ
เชียงกลาง
น่าน
อบต.เปือ โทร. 0-5479-7497
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
31 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
1 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
1 มิ.ย. 2024
บ้านน้ำมีด

พื้นที่ชุมชนตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณลำห้วย คือ ห้วยน้ำมีดเมื่อมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนั้นจนกลายเป็นชุมชน จึงนำชื่อลำห้วยมาตั้งเป็นชื่อชุมชนว่า บ้านน้ำมีด


หมู่บ้านเล็ก ๆ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าน้ำยาวและป่าน้ำสวด ชุมชนชาวลัวะที่ยังคงมีการสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมดังเช่นการ "ตีพิ" ประเพณีการเรียกขวัญข้าวออกจากไร่เพื่อนำไปเก็บยังยุ้งฉาง ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของการทำเกษตรกรรมที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กับวิถีชีวิตชาวลัวะบ้านน้ำมีดมาอย่างยาวนาน

บ้านน้ำมีด
หมู่ที่ 14
เปือ
เชียงกลาง
น่าน
55160
19.3329730850443
100.834672003984
องค์การบริหารส่วนตำบลเปือ

ที่มาของบ้านน้ำมีดนั้นต้องกล่าวย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2510 จังหวัดทางภาคเหนือบริเวณชายแดนของไทย เช่น น่าน เชียงราย เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ รัฐไทยได้ใช้วิธีการมากมายเพื่อปราบปรามกลุ่มคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะการบุกเข้าทำลายหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์บริเวณชายแดน เนื่องจากต้องสงสัยว่ามีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เข้าไปอาศัยอยู่ ตลอดจนการบีบบังคับให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่เดิม ผู้ไม่ยอมย้ายออกให้ถือว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ส่งผลให้เกิดผู้ลี้ภัยกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมาก (ชูศักดิ์ วิทยาภัค และคณะ, 2546 : 28-29)

กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะในพื้นที่บ้านด่าน บ้านเปียงก่อ และบ้านห้วยกานต์ อำเภอบ่อเกลือ (ปัจจุบันเป็นอาณาเขตปกครอง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน) เป็นชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงจากการต่อสู้กับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์บริเวณแถวชายแดนจังหวัดเชียงรายที่ขยายความรุนแรงและสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านจนไม่สามารถดำรงชีวิตอย่างสงบ การอพยพของกลุ่มชาติพันธุ์บริเวณชายแดนได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐในด้านการอพยพโดยใช้เฮลิคอปเตอร์และหาแหล่งที่อยู่ใหม่ให้ชาวบ้าน มีการตั้งศูนย์ผู้อพยพในพื้นที่ราบ เขตอำเภอปัวและอำเภอเชียงกลาง แต่เมื่อจำนวนประชากรผู้อพยพลี้ภัยมีจำนวนมาก ทำให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐส่งไปไม่ทั่วถึง ชาวลัวะบ้านด่าน บ้านห้วยกานต์ และบ้านเปียงก่อส่วนหนึ่งจึงช่วยเหลือตนเองโดยการเดินเท้าลงมาจากดอยสูงมุ่งสู่อำเภอเชียงกลาง โดยจุดหมายปลายทางของการอพยพในครั้งนี้ คือ บ้านห้วยแก้ว ตำบลพระธาตุ อำเภอเชียงกลาง หมู่บ้านนี้เป็นพื้นที่ที่มีชาวบ้านพื้นราบได้ตั้งรกรากอยู่ก่อนแล้ว และมีการอพยพของชาวลัวะพื้นที่สูงมาอยู่อย่างต่อเนื่อง มีชาวลัวะอพยพมาสร้างกระท่อมอยู่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็ประสบปัญหาที่ทำกินไม่เพียงพอ การดำรงชีพเป็นไปอย่างยากลำบากเพราะจำนวนประชากรมากขึ้น ในช่วงปี 2518-2520 ชาวบ้านจำนวนหนึ่งจึงเริ่มหาพื้นที่อยู่อาศัยใหม่โดยมีครอบครัวซอง นายแก่น ใจปิง, นายเดซ ใจปิง, นายเต้า แปงอุด, นายอินตา แปงอุด นายต้น ใจปิง, และนายผาย แปงอุด เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการบุกเบิกพื้นที่ใหม่ ชาวบ้านเหล่านี้เข้าไปสร้างกระท่อมอยู่ในพื้นที่ป่าตำบลเปือ อำาเภอเชียงกลาง โดยชาวบ้านเรียกป่าบริเวณนั้นว่า "ป่าต้นซ่าน" ชาวบ้านได้รับการดูแลและอยู่ภายใต้การปกครองของนายเสาร์ โนราช ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ใหญ่บ้านดอนสบเปือ ตำบลเปือ อำเภอเชียงกลาง

แต่เนื่องจากการอยู่ในพื้นที่ "ป่าต้นซ่าน" มีความยากลำบากในการเดินทางไปติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย เมื่อเกิดพายุฝนหรือลูกเห็บตกกระท่อมที่อยู่อาศัยและเครื่องเรือนของใช้จะถูกพัดกระจัดกระจายเสียหายเป็นจำนวนมาก ประมาณปี 2521 นายเสาร์จึงชักชวนชาวบ้านออกมาตั้งบ้านเรือน (กระท่อม) อยู่ในบริเวณพื้นที่ที่ตั้งหมู่บ้าน ณ ปัจจุบัน ซึ่งอยู่ห่างจากป่าต้นซ่านประมาณ 7 กิโลเมตร ที่ดินที่ชาวบ้านใช้ปลูกสร้างกระท่อมอยู่ ได้จากการซื้อจากชาวบ้านพื้นราบที่แผ้วถางไว้ทำกินอยู่เดิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านดอนสบเปือ และบ้านล้อเด่นพัฒนา (ปัจจุบันแบ่งเป็นสองหมู่บ้านคือ บ้านล้อและบ้านเด่นพัฒนา) โดยมีหมู่บ้านเด่นพัฒนาเป็นเขตติดต่อกับบ้านน้ำมีด ด้วยสภาพพื้นที่ของหมู่บ้านที่มีลำห้วยไหลผ่าน และป่าที่อุดมสมบูรณ์ในขณะนั้นทำให้ชาวบ้านชักชวนเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้องทยอยเข้ามาอยู่จำนวนเพิ่มมากขึ้น จนมีจำนวนบ้านเรือนมากกว่า 15 หลังคาเรือน สามารถก่อตั้งเป็นหมู่บ้านได้ ปี พ.ศ. 2524 จึงได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน ชื่อหมู่บ้านน้ำมีด หมูที่ 14 ตำบลเบือ อำเภอเชียงกลาง 

หมู่บ้านน้ำมีด หมู่ที่ 14 ตำบลเปือ อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าน้ำยาวและป่าน้ำสวด มีระยะทางห่างจากตัวจังหวัดน่านประมาณ 85 กิโลเมตร หมู่บ้านน้ำมีดเป็นพื้นที่เนินเขาที่ถูกปรับสภาพให้สามารถสร้างบ้านเรือนอยู่ได้ในเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ พื้นที่โดยรอบหมู่บ้านแวดล้อมไปด้วยหุบเขา และมีห้วยน้ำมีดไหลผ่านจากทางทิศตะวันตกมายังทิศตะวันออก ที่สำคัญพื้นที่บริเวณใกล้ ๆ หมู่บ้านเป็นผืนป่าที่ชาวบ้านช่วยกันฟื้นฟูและกำหนดเป็นเขตป่าชุมชน โดยพื้นที่อาณาเขตติดต่อของหมู่บ้านทางทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก แวดล้อมไปด้วยภูเขาและผืนป่า ส่วนทางทิศใต้มีอาณาเขตติดต่อกับหมู่บ้านส้อเด่นพัฒนา

สภาพภูมิอากาศ ด้วยลักษณะทางกายภาพและทำเลที่ตั้งชุมชนที่แวดล้อมด้วยภูเขาและผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 300-1,000 เมตร จึงมีลักษณะภูมิอากาศคล้ายคลึงกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลเปือ คือเป็นแบบมรสุมเมืองร้อน 3 ฤดูในรอบปี

  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เดือนพฤษภาคม มีอากาศร้อนมาก อุณหภูมิสูงสุดเดือนเมษายนเฉลี่ยประมาณ 42 องศาเซลเซียส
  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-เดือนพฤศจิกายน
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์ จะมีอากาศหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุดช่วงเดือนธันวาคมเฉลี่ยประมาณ 5 องศาเซลเซียส

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 14 บ้านน้ำมีด ตำบลเปือ อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 179 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 87 คน ประชากรหญิง 92 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 50 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชากรในชุมชนส่วนมากแล้ว คือ ชาวลัวะ 

ชาวลัวะ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีระบบความสัมพันธ์ทางเครือญาติอย่างแนบแน่น โดยปกติแล้วมักจะแต่งงานกับคนในชุมชนด้วยกัน ความสัมพันธ์ต่างพึ่งพากันฉันท์พี่น้อง มีการไปมาหาสู่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การไปมาหาสู่กันตอนกลางวันและกลางคืน ช่วงฤดูหนาวก็จะมีการก่อกองไฟบริเวณลานบ้าน ผิงไฟด้วยกัน นั่งคุยกัน เป็นต้น นอกจากนี้ คนในชุมชนยังมีการช่วยเหลือกันทั้งกิจกรรมของครัวเรือนและเพื่อนบ้าน เช่น การลงแขกทำการเกษตร การสร้างที่พักอาศัย งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน และกิจกรรมส่วนรวมของหมู่บ้าน เช่น การทำถนน งานพัฒนาหมู่บ้าน งานประเพณีของชุมชน เป็นต้น กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้คนในชุมชนได้พบปะ แลกเปลี่ยนและปรึกษาหารือกัน ทั้งเรื่องครอบครัว สภาพดินฟ้าอากาศ การทำมาหากินและปัญหาต่างๆ ของชุมชน

ลักษณะบ้านเรือนของชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกสร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง มีทั้งบ้านชั้นเดียวแบบมีใต้ถุนบ้าน และบ้าน 2 ชั้น ที่มีชั้นล่างทำจากปูน ชั้นบนทำจากไม้เนื้อ บ้านแต่ละหลังตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ส่วนใหญ่จะไม่มีรั้วบ้านหรือกำแพง

ลัวะ (ละเวือะ)

ชุมชนบ้านน้ำมีดเป็นชุมชนเกษตรกรรมมาตั้งแต่แรกเริ่มตั้งชุมชน มีทั้งการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ โดยในอดีตการทำการเกษตรของชาวบ้านเป็นการผลิตเพื่อใช้สำหรับยังชีพในครัวเรือนในแต่ละรอบปี โดยมีการทำการเกษตรในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ชาวบ้านเข้าไปถากถางเพื่อเป็นแหล่งเพาะปลูก ซึ่งเป็นการทำนา ทำไร่ ตามพื้นที่ราบเชิงเขาและพื้นที่ลาดชัน การหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับขุดและปรับพื้นที่เพื่อการปลูกข้าวนา เป็นหนึ่งในความพยายามเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตของชาวบ้าน เมื่อเห็นว่าการปลูกข้าวนามีข้อได้เปรียบกว่าการปลูกข้าวไร่หลายประการ ประการแรก การปลูกข้าวนาให้ผลผลิตมากกว่าการปลูกข้าวไร่ในพื้นที่เท่ากัน ประการที่สอง ช่วยลดจำนวนการใช้พื้นที่การปลูกข้าวไร่และใช้พื้นที่นั้นปลูกพืชชนิดอื่นในเชิงพาณิชย์ทดแทน ประการที่สาม ช่วยลดภาพลักษณ์การเป็นผู้ทำลายป่าจากสายตาคนภายนอกเพราะเห็นว่าชาวบ้านน้ำมีดทำไร่เลื่อนลอย ดังนั้นระบบการผลิตข้าวจึงเป็นแบบผสมผสานระหว่างการปลูกข้าวไร่และข้าวนา โดยมีแนวโน้มของการผลิตข้าวไร่ลดลง อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเนินสูงและภูเขา การปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นผืนนาค่อนข้างลำบากและใช้เงินทุนสูง แม้จะซื้อที่ดินในราคาที่ถูกแต่กลับมีภาระค่าใช้จ่ายในการปรับพื้นที่ ซึ่งต้องใช้รถไถหรือรถแมคโครเป็นเครื่องทุ่นแรง

ข้าวโพด เป็นพืชอีกหนึ่งชนิดที่ชาวบ้านนิยมนำมาปลูกนอกเหนือจากข้าว ใน 1 ปี จะปลูกข้าวโพด 2 ครั้ง หรือ 2 ช่วง ช่วงแรกฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ตุลาคม เป็นการปลูกข้าวโพดในฤดูกาลปกติ จะปลูกในพื้นที่ไร่ ช่วงที่สองฤดูหนาวตั้งแต่เดือนธันวาคม-มีนาคม เป็นช่วงหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาและขายข้าวโพดรอบแรกเรียบร้อยแล้ว โดยพื้นที่ที่ใช้ปลูกข้าวโพดรอบสองจะมี 2 ลักษณะ ลักษณะแรกเป็นพื้นที่ไร่เดิมที่เก็บเกี่ยวข้าวโพดรอบแรกออกไปแล้ว ข้าวโพดลักษณะนี้เรียก "ข้าวโพดเหมย" แบบที่สอง พื้นที่นาหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาเสร็จแล้วลักษณะนี้เรียก ข้าวโพดหลังนา ซึ่งผลผลิตของข้าวโพดหลังนาจะดีกว่าข้าวโพดเหมย ทำให้ระยะหลังการปลูกข้าวโพดเหมยเริ่มลดลงเพราะได้ผลผลิตไม่คุ้มกับต้นทุนที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ อาชีพการเก็บหาของป่ายังเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่อยู่คู่กับวิถีชุมชนมาตั้งและอดีตและคงอยู่ถึงปัจจุบัน การหาของป่าช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับครัวเรือนในชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยทรัพยากรในพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านเข้าไปหามาเพื่อบริโภคและจำหน่ายมีความแตกต่างและหลากหลายในแต่ละช่วงฤดูกาล เช่น เห็ด หน่อไม้ หวาย น้ำผึ้ง รวมทั้งพืชและสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ อีกมาก

บรรพบุรุษของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะจะมีความเชื่อทางไสยศาสตร์และนับถือผี ซึ่งจะสืบทอดความเชื่อแก่รุ่นลูกรุ่นหลานเพื่อให้คนในชุมชนมีการดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของบรรพบุรุษ ตามระบบความคิดเรื่อง "ผี" ของชาวลัวะที่เชื่อว่า "ผี" สามารถบันดาลให้ทั้งคุณและโทษขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติของชาวบ้านที่มีต่อผี ถ้าลบหลู่และละเมิดต่อผี ซึ่งเรียกว่า "ผิดผี" จะทำให้ผีโกรธและลงโทษชาวบ้านในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ทำให้เจ็บป่วย เดือดร้อน ประสบความล้มเหลว จนถึงการลงโทษที่รุนแรงที่สุดคือทำให้เสียชีวิต การเซ่นไหว้ผีหรือการเลี้ยงผีก็เพื่อให้ผีบันดาลคุณประโยชน์ให้แก่ชาวบ้าน เช่น ช่วยให้ผ่านพ้นจากอุปสรรคต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตหรือทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเจริญงอกงาม เป็นต้น การผูกโยงเรื่องของธรรมชาติและอำนาจลึกลับเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ของชุมชน ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมให้ชุมชนยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกัน

ในด้านการเพาะปลูก ชาวลัวะจึงมีระบบความเชื่อเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจเหนือธรรมชาติกับการเกษตร กล่าวคือเชื่อว่าผลผลิตของพืชที่ปลูกได้นอกจากจะขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศแล้ว ยังขึ้นกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอำนาจเหนือธรรมชาติ ดังนั้น จึงมีการเซ่นไหว้ผีต่าง ๆ ในฤดูกาลผลิตหรือฤดูกาลเก็บเกี่ยว หรือในประเพณีต่าง ๆ ที่คนในชุมชนบ้านน้ำมีดปฏิบัติสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ เช่น ประเพณีการเลี้ยงผีไร่ ประเพณีการเลี้ยงผีเจ้าบ้าน ประเพณีการถือวันกรรม ประเพณีงานแต่งงาน ประเพณีงานศพ เป็นต้น ซึ่งต่างก็มีการผูกโยงเรื่องผีหรืออำนาจลึกลับเข้ามาเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมเหล่านี้

นอกจากนี้ ยังมีพิธี ตีพิ ซึ่งเป็นประเพณีดั้งเดิมของชนเผ่าลัวะ ซึ่งจะตีในระหว่างการแบกข้าวเปลือกกลับบ้าน เป็นการเรียกขวัญข้าวออกจากไร่เพื่อนำไปเก็บยังยุ้งฉางที่บ้านหรือพื้นที่ทำกินที่ใกล้กับไร่ของตน ชาวลัวะจะทำพิธีนี้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต สาเหตุที่ต้องมีการตีพิระหว่างการแบกกระสอบข้าวกลับบ้านนั้น ก็เพื่อให้เกิดความสบายใจไม่เหน็ดเหนื่อย อีกทั้งยังสร้างความเพลิดเพลินในขณะที่กำลังแบกข้าวเปลือกซึ่งมีน้ำหนักมากอีกด้วย ทำให้เกิดความรู้สึกว่าถึงที่หมายโดยเร็ว ปัจจุบันประเพณีนี้เริ่มเลือนหายไปจากชุมชนเพราะมีถนนพร้อมกับรถบรรทุกที่สามารถขนส่งผลผลิตจากไร่ได้สะดวก

การนับถือศาสนาของชาวบ้านน้ำมีด ปัจจุบันมี 2 ศาสนา ที่ชาวบ้านให้ความเคารพและศรัทธายึดถือปฏิบัติเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตคือ ศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ ศาสนาพุทธแผ่ขยายอิทธิพลจากชาวบ้านพื้นราบในละแวกหมู่บ้านใกล้เคียงโดยเฉพาะการสนับสนุนของนายอินทร์ชัย ฝีปากเพราะ ผู้ใหญ่บ้านหนองแดง ผู้มีบทบาทในการพยายามจัดกิจกรรมหรือพิธีกรรมทางศาสนาในชุมชนบ้านน้ำมีด โดยการนิมนต์พระสงฆ์จากวัดบ้านหนองแดงเข้าไปปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาพุทธในหมู่บ้านบ่อยครั้ง ในกรณีที่ทางวัดบ้านหนองแดงมีกิจกรรมทางศาสนาก็จะพยายามชักชวนให้ชาวบ้านน้ำมีดเข้าร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและศรัทธามากขึ้น

สำหรับศาสนาคริสต์ มีขาวบ้านส่วนน้อยในชุมชนให้ความศรัทธาและนับถือ โดยขยายมาจากชาวต่างชาติที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่นับถือศาสนาคริสต์ได้เลิกการนับถือผีที่ยึดถือกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ หลายคนให้เหตุผลที่สอดคล้องกันเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการนับถือผี เนื่องจากตามประเพณีการนับถือผีหากมีคนในครอบครัวเจ็บป่วยจะต้องมีการเซ่นไหว้ด้วยสัตว์ต่าง ๆ เช่น ไก่ หมู หมา นอกจากนี้ยังมีการจ่ายค่าหมอผีในการทำพิธี การเซ่นไหว้ผีแต่ละครั้งจึงมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ชาวบ้านหลายคนเห็นว่าเป็นแนวทางที่พวกเขาไม่สามารถปฏิบัติตามได้อีกต่อไป จึงเปลี่ยนความเชื่อและความศรัทธาไปที่พระเจ้าของศาสนาคริสต์แทนการนับถือผี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทรัพยากรธรรมชาติ

บ้านน้ำมีด มีลำห้วยสำคัญซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตของคนในหมู่บ้านที่ชื่อว่า "ลำห้วยน้ำมีด" อันเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน ลำห้วยนี้มีต้นกำเนิดจากขุนน้ำมีดซึ่งเป็นบริเวณป่าต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ อย่างมากโดยมีระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ลำห้วยน้ำมีดไหลเลาะตามล่องเขาเรื่อยมาและเลียบผ่านหมู่บ้านไหลไปรวมตัวกับแม่น้ำสายหลักของจังหวัดน่านนั่นก็คือ "แม่น้ำน่าน" ห้วยน้ำมีด นอกจากจะเป็นแหล่งสัตว์น้ำที่สำคัญของชาวบ้านแล้ว บริเวณริมห้วยยังเป็นแหล่งพืชผักริมห้วยที่ใช้เป็นอาหารของชาวบ้านจำนวนมาก เมื่อเดินทางลึกเข้าไปในป่าทางด้านทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน ห่างจากบริเวณขุนน้ำมีดไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะพบน้ำตกตาดหมอก ซึ่งเป็นแหล่งธรรมชาติอันสวยงามของป่าบ้านน้ำมีด ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวประจำอำเภอเชียงกลาง แต่ด้วยการเดินทางลำบากจึงยังไม่ได้รับความนิยม

พื้นที่ป่าหมู่บ้านน้ำมีด ยังมีแหล่งน้ำที่เป็นลำห้วยสายเล็กอีกมากมายไหลเลาะตามเทือกเขาหลายสาขา ซึ่งชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ในการเกษตรและบริโภค หนึ่งในนั้นคือ "ห้วยเฮี้ย" อันเป็นลำห้วยสำคัญของชุมชนเพราะได้ต่อท่อประปาภูเขาเอาน้ำจากห้วยเฮี้ยมาใช้เพื่อบริโภค ในอดีตบริเวณขุนต้นน้ำของลำห้วยแห่งนี้ เป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้านหลายราย ต่อมานายศุภสิน แปงอุด และเพื่อนบ้านจำนวนหนึ่ง เห็นว่าควรทำประปาภูเขาเอาน้ำมาใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค จึงมีการเจรจาขอร้องเพื่อนบ้านคนที่มีพื้นที่ทำกินในบริเวณนั้นให้หยุดทำการเกษตร โดยได้มีการจ่ายค่าชดเชยทดแทนการหยุดใช้พื้นที่ทำกิน ตลอดจนการหาพื้นที่ทำกินบริเวณอื่นทดแทน เพื่อกำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ป้องกันการปนเปื้อนสู่ลำห้วย

ชาวบ้านน้ำมีดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษาประจำชนเผ่าคือ "ภาษาลัวะ" ทำให้ในยุคก่อตั้งหมู่บ้านการติดต่อสื่อสารกับชาวบ้านพื้นราบในละแวกใกล้เคียงค่อนข้างลำบาก เพราะชาวบ้านน้ำมีดยังไม่สามารถพูดภาษาไทยหรือภาษาพื้นเมืองได้ หากพบเจอชาวบ้านพื้นราบจะแสดงความเกรงกลัวและเดินหนีหลีกเลี่ยงการพูดคุย ปัจจุบันชาวบ้านมีโอกาสได้เรียนหนังสือและสามารถพูดภาษาไทยและภาษาพื้นเมืองได้ การติดต่อสื่อสารกับคนภายนอกชุมชนจึงไม่มีอุปสรรค อย่างไรก็ตามวิถีชีวิตของชาวบ้านน้ำมีดยังมีการใช้ "ภาษาลัวะ" ในการพูดคุยกันระหว่างชาวบ้านในชุมชน แม้กระทั่งเด็กรุ่นใหม่ที่มีการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมตามสมัยนิยมก็ยังคงสื่อสารกันด้วยภาษาลัวะ เนื่องจากชาวบ้านน้ำมีดมีการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางภาษาของตนเพื่อสืบทอดแก่คนรุ่นใหม่

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จิรัฐติกาล ไชยา. (2557). พลวัตในสิทธิการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนลัวะอพยพ กรณีศึกษา บ้านน้ำมีด ตำบลปือ อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน. ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ชูศักดิ์ วิทยาภัค และคณะ. (2546). โครงการวิจัยประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อการเข้าถึงทรัพยากรของคนเมืองน่าน. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

รักป่าน่าน. (ม.ป.ป.). พลังความร่วมมือชุมชน-รัฐ ในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำน้ำมีด. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2567, จาก https://www.rakpanan.org/

อบต.เปือ โทร. 0-5479-7497