Advance search

การผสมผสานระหว่างความเป็นชาติพันธุ์ การชูจุดเด่นของชุมชนด้วยเกลือสินเธาว์ภูเขา แหล่งต้นน้ำที่สำคัญ อีกทั้งประเพณีและความเชื่อในการต้มเกลือที่หล่อเลี้ยงชาวบ้านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้บ้านนากึ๋นกลายเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญในจังหวัดน่าน

หมู่ที่ 5 ถนนหลวงหมายเลข 1081
นากึ๋น
บ่อเกลือเหนือ
บ่อเกลือ
น่าน
องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อเกลือเหนือ โทร. 054-059564
เจษฎากร ชาวด่าน
7 มิ.ย. 2024
26 มิ.ย. 2024
เจษฎากร ชาวด่าน
7 มิ.ย. 2024
บ้านนากึ๋น

"บ้านนากึ๋น" แรกเริ่มเดิมทีมีเพียงบ้านเรือนตั้งอยู่ไม่กี่หลัง แต่หลังจากมีการอพยพเพื่อหาพื้นที่ทำกินของคนต่างถิ่น ส่งผลให้เริ่มมีการตั้งบ้านเรือน และในขณะเดียวกันก็มีประชากรที่เพิ่มมากขึ้น จนในที่สุดจึงถูกจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน โดยมีการใช้ภาษาถิ่นคำว่า "กึ๋น" ซึ่งแปลว่า "เพิ่มมากขึ้น" เพื่อบ่งบอกว่าบริเวณนี้หลาย ๆ สิ่งกำลังเพิ่มมากขึ้น


การผสมผสานระหว่างความเป็นชาติพันธุ์ การชูจุดเด่นของชุมชนด้วยเกลือสินเธาว์ภูเขา แหล่งต้นน้ำที่สำคัญ อีกทั้งประเพณีและความเชื่อในการต้มเกลือที่หล่อเลี้ยงชาวบ้านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้บ้านนากึ๋นกลายเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญในจังหวัดน่าน

นากึ๋น
หมู่ที่ 5 ถนนหลวงหมายเลข 1081
บ่อเกลือเหนือ
บ่อเกลือ
น่าน
55220
19.3192053434578
101.173945963383
องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อเกลือเหนือ

ก่อนที่จะมาเป็นชุมชนบ้านนากึ๋น เดิมทีมีบ้านเรือนเพียงไม่กี่หลังตั้งอยู่ตามภูเขา จนต่อมาเริ่มมีการย้ายถิ่นฐานของคนต่างถิ่น เช่น นายหาญ ธิยาวงศ์ ซึ่งอพยพมาจากฝั่งประเทศลาว นายศรีวงศ์ อุดเต็น และนายเขียน ปันอิน อพยพมาจากบ้านเวร (ทัสพงษ์ พจน์ธีรสถิต, 2539, น. 23) โดยเป็นการอพยพเพื่อมองหาพื้นที่ทำกินจนเริ่มมีการตั้งบ้านเรือนเพิ่มมากขึ้น  

จนเมื่อปี พ.ศ. 2530 เกิดการแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปากเปื่อยจนส่งผลให้ชาวบ้าน วัวและควาย เริ่มล้มป่วยและเสียชีวิต ทำให้ชาวบ้านเชื่อกันว่าการแพร่ระบาดในครั้งนั้นเกิดขึ้นจากการกระทำของผี จึงทำการปรึกษากับหมอดูทางไสยศาสตร์ จึงได้ข้อสรุปว่า เนื่องจากเข้าจ้ำ(หมอผี)คนก่อนเสียชีวิตจึงทำให้ไม่มีผู้สืบทอดต่อจนหมู่บ้านไม่มีเข้าจ้ำ และทำให้เจ้าแก้วยอดน่าน ซึ่งเป็นผีประจำหมู่บ้านที่คอยปกปักรักษาตามความเชื่อ ไม่มีที่อยู่ จึงทำให้ไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองหมู่บ้าน จนในที่สุดก็มีการแต่งตั้งเข้าจ้ำคนใหม่

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เดิมทีจากที่ชาวบ้านอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม กระจายออกมาเป็น 4 หมู่บ้านย่อย ได้แก่ นากึ๋นบน นากึ๋นเหนือ นากึ๋นกลาง นาปง และในที่สุดบ้านนากึ๋นถูกประกาศจัดตั้งขึ้นเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. 2534 โดยมีนาย ศรีวงศ์ อุดเต็น เป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และบ้านนากึ๋นบนได้ย้ายออกมาและเรียกชื่อว่า บ้านใหม่ ในปี พ.ศ 2544

โดยหลังจากหมู่บ้านได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ ทำให้ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เริ่มถูกนำเข้ามาหลังจากที่แต่ก่อนที่ชาวบ้านไม่มีไฟฟ้า หรือระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ  

  • พ.ศ. 2535 สภาตำบลบ่อเกลือเหนือ เข้ามาติดตั้งระบบประปาภูเขาให้กับทางหมู่บ้าน เพื่อสำหรับการอุปโภคและบริโภค อีกทั้งยังการติดตั้งระบบไฟฟ้าร่วมด้วย โดยการติดตั้งระบบไฟฟ้าในแต่ละครัวเรือนจำเป็นต้องเสียค่าติดตั้ง
  • พ.ศ. 2538 มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านนากึ๋นขึ้นมาเพื่อสำหรับให้เยาวชนในชุมชนได้รับการศึกษาอย่างครอบคลุม
  • พ.ศ. 2548 มีการเข้ามาติดตั้งระบบตู้โทรศัพท์สาธารณะแบบหยอดเหรียญ

ชุมชนบ้านนากึ๋น ตั้งอยู่ที่ หมู่ 5 ถนนหลวงหมายเลข 1081 ตำบลบ่อเกลือเหนือ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน มีขนาดพื้นที่ประมาณ 3,256 ไร่ และตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคาทำให้บริเวณดังกล่าวยังมีความอุดมสมบูรณ์ของพรรณไม้ และสัตว์ต่าง ๆ โดยมีระยะห่างจากตัวเมืองน่านประมาณ 131 กิโลเมตร บริเวณโดยรอบของหมู่บ้านส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นหุบเขาสลับซับซ้อน และมีที่ลาดลุ่มแม่น้ำน่าน ลักษณะการตั้งบ้านเรือนจึงเป็นกลุ่มเล็ก ๆ กระจายอยู่ตามซอกหลืบหุบเขา ซึ่งสามารถระบุขอบเขตหมู่บ้านได้ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านเวร หมู่ 1 ตำบลบ่อเกลือเหนือ
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านสะเละ หมู่ 10 ตำบลบ่อเกลือเหนือ 
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านห้วยลึก ซึ่งเป็นบริวารของบ้านสะไลหมู่ที่ 2 ตำบลบ่อเกลือเหนือ 
  • ทิศตะวันตก ติดกับบ้านห้วยป๋อ หมู่ 8 ตำบลบ่อเกลือเหนือ 

อีกทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ลาดชันมากกว่า 30 องศา และอยู่สูง 850 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศของหมู่บ้านมีดังนี้ 

  • ฤดูฝน จะมีฝนตกชุกตลอดทั้งฤดูฝนซึ่งก่อให้เกิดแหล่งน้ำตามธรรมชาติ คือ ห้วยต่าง ๆ และต้นแม่น้ำน่าน โดยในช่วงฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่เดือน พฤษภาคม-กันยายน 
  • ฤดูหนาว พบว่าอากาศมักจะมีความเย็นอยู่ตลอดเกือบทั้งปี แต่จะมีความหนาวเย็นมากขึ้นในช่วงของเดือน ตุลาคม-กุมภาพันธ์  
  • ฤดูร้อน พบว่ามีระยะเวลาที่สั้นเนื่องจากอิทธิพลของฤดูก่อนหน้า และสภาพแวดล้อมที่ตั้ง ส่งผลให้ฤดูร้อนมีเพียงระยะเวลาสั้น ๆ คือ ระหว่างช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน

ในบริเวณชุมชนบ้านนากึ๋น ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาว "ลัวะ" อ้างอิงจากสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร โดยเป็นการสำรวจในพื้นที่ของบ้านนากึ๋น ประจำเดือนพฤษภาคม 2567 พบว่า มีประชากรทั้งสิ้นจำนวน 186 คน โดยแบ่งเป็น เพศชาย 97 คน หญิง 89 คน 

ในประเทศไทยชาวลัวะกระจายตัวอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ เช่น น่าน เชียงใหม่ อุทัยธานี และตาก โดยดำรงชีพด้วยการทำไร่ ทำนา และเก็บของป่าล่าสัตว์ร่วมด้วย ในชุมชนสามารถแบ่งตระกูลออกมาเป็น 3 ตระกูลหลักด้วยกัน คือ ตระกูล ปันอิน อุดเต็น อักขระ และมีการแต่งงานข้ามสกุลกันในหมู่บ้าน โดยรูปแบบวัฒนธรรมการแต่งงานของคนในชุมชนคือ จะไม่แต่งกับญาติของตนเองและเป็นการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว หลังจากเสร็จสิ้นพิธีแต่งงาน ฝ่ายชายจำเป็นต้องย้ายเข้าไปอาศัยอยู่ที่บ้านฝ่ายหญิง

เนื่องจากกลุ่มชาวลัวะในพื้นที่จังหวัดน่านจะมีการนับถือผีบรรพบุรุษฝ่ายแม่ ซึ่งจะแตกต่างจากชาวลัวะในแถบเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอนที่จะนับถือผีบรรพบุรุษฝั่งพ่อ โดยแรกเริ่มจะเป็นการอาศัยอยู่แบบครอบครัวขยาย และเมื่อเริ่มมีฐานะจึงค่อยขยับขยายไปตั้งบ้านเรือนของตนเอง ในบริเวณใกล้เคียงกับบ้านพ่อแม่ของฝ่ายหญิง เพื่อให้ฝ่ายหญิงยังอยู่ในสายตา และเป็นการให้เกียรติฝ่ายหญิง 

ลัวะ (ละเวือะ)

ในชุมชนบ้านนากึ๋น มีลักษณะทางสังคมแบบฉันเครือญาติ กล่าวคือ ทุกคนมีความเป็นพี่น้องกัน มีความรักใคร่สามัคคี ผ่านการร่วมมือกันในสังคม หรือในงานพัฒนาชุมชนอื่น ๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีเรื่องค่าใช้จ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องจึงส่งผลให้สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดความแน่นแฟ้นในแง่ของความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างคนในชุมชนกันเอง โดยในชุมชนสามารถแบ่งกลุ่มได้ดังนี้

กลุ่มธรรมชาติ เป็นกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านในแง่ของการช่วยเหลือซึ่งกันและกันผ่านกิจกรรมที่เกิดขึ้นในชุมชน

  • กลุ่มลงแขก (กลุ่มเอามื้อเอาแรง) เป็นกลุ่มทางสังคมรูปแบบหนึ่งที่มีในหมู่บ้าน โดยเป็นการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันในช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร หรืองานในชุมชนที่จำเป็นต้องพึ่งพาคนจำนวนมาก เช่น การลงแขกเกี่ยวข้าว หรือการสร้างบ้านเรือน โดยหลังจากช่วยเหลือกันเสร็จสิ้น ผู้ที่เคยได้รับการช่วยเหลือก็จะใช้วิธีเดียวกันในการตอบแทน
  • กลุ่มรับจ้าง เป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านเพื่อไปทำงานต่างถิ่น ซึ่งเกิดจากการที่นายจ้างมีความต้องการแรงงานเพิ่มจึงบอกชาวบ้านและเกิดการบอกต่อชักชวนระหว่างชาวบ้านกันเองจนเกิดเป็นการรวมตัวเพื่อไปทำงาน เช่น การไปเป็นลูกจ้างที่กรุงเทพมหานคร หรือการออกไปรับจ้างทำไร่ที่ต่างอำเภอ โดยรูปแบบการรวมตัวดังกล่าวมีความสำคัญต่อระบบความสัมพันธ์ในกลุ่ม เนื่องจากการไปทำงานต่างถิ่นมักมีความแตกต่างจากชุมชนที่อาศัย การรวมตัวระหว่างคนในชุมชนกันเองเปรียบเสมือนการอยู่รวมกันของคนที่มาจากที่เดียวกัน จนเกิดความเป็นกลุ่มและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้น 

กลุ่มที่จัดตั้งโดยหน่วยงานรัฐ เป็นกลุ่มที่ถูกจัดตั้งโดยหน่วยงานของภาครัฐ โดยมีเป้าหมายสำหรับการช่วยเหลือชุมชน และมีหน้าที่เป็นตัวกลางในการติดต่อกับหน่วยงานภายนอก อีกทั้งยังมีหน้าที่ในการนำข้อมูลข่าวสาร นโยบายจากส่วนกลางมาประชาสัมพันธ์แก่คนในชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (เงินล้าน) กลุ่มโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน หรือกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นต้น 

อีกทั้งในชุมชนยังสามารถแจกแจงกลุ่มอาชีพของชาวบ้านได้ดังนี้ 

ทำไร่หมุนเวียน เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชาวบ้านมานาน ทุกครัวเรือนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำไร่ โดยจะใช้วิธีการหมุนเวียน หาที่ดินผืนใหม่และทิ้งที่ดินผืนเดิมไว้เพื่อให้พืชพรรณต่าง ๆ ที่เคยเก็บเกี่ยวไปได้งอกเงยขึ้นมาใหม่ อีกทั้งยังช่วยให้หน้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ช่วยให้เกิดความยั่งยืนในการทำไร่ครั้งต่อ ๆ ไป

ปลูกข้าวไร่ จะมีช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่การเคลียร์พื้นที่จนไปถึงช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนเริ่มตกจึงจะทำการเริ่มหยอดเมล็ดข้าว โดยจะมีฝ่ายชายคอยทำหลุมและฝ่ายหญิงจะคอยหยอดตามหลังและอาจมีการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ผสมกันไป จนถึงเดือนตุลาคมจึงจะเป็นช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวข้าว

เลี้ยงสัตว์ จะเป็นการเลี้ยงเพื่อนำไปใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ และเพื่อสำหรับการค้าขายแลกเปลี่ยน พบว่าสัตว์ที่ชาวบ้านนิยมเลี้ยงมีดังนี้  

  • วัว เป็นสัตว์ที่ชาวบ้านนิยมเลี้ยงกันมากที่สุด เนื่องจากเลี้ยงง่ายและทนต่อสภาพแวดล้อม อีกทั้งยังเปรียบเสมือนว่าการครอบครองวัวเป็นทรัพย์สินรูปแบบหนึ่ง โดยจะให้ลูก 1 ตัวต่อปี การเลี้ยงวัวของชาวบ้านจะเป็นวิธีการปล่อยวัวให้หากินอยู่ริมน้ำ หรือบางครั้งเจ้าของวัวมักจะพกเกลือไปให้วัวกิน แต่มักพบว่ามีปัญหาคือ สัตว์เหล่านี้มักจะตกเขาตาย หรือมักจะถูกฝูงหมาไนล่า จึงทำให้เจ้าของจำเป็นต้องไปตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ
  • สุนัข เป็นการเลี้ยงเพื่อใช้สำหรับการเข้าป่าของนายพรานในการล่าสัตว์ โดยมักจะมีธรรมเนียมปฏิบัติ คือ หากสุนัขได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้ นายพรานต้องเชือดไก่สำหรับเซ่นไหว้เลี้ยงผี หรือหากสุนัขตัวนั้นตายก็มีการประกอบพิธีทางความเชื่อ แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่าสุนัขนอกจากจะเป็นสัตว์ที่ไว้ใช้ในการออกล่า พวกมันก็มักจะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องเซ่นในการไหว้ผีอีกด้วย
  • ไก่ เป็นสัตว์ที่ชาวบ้านมักจะเลี้ยงไว้เกือบทุกหลังคาเรือน เนื่องจากไก่เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อใช้ในการประกอบพิธีเซ่นไหว้ จึงทำให้ให้ไก่ในหมู่บ้านมักจะเพียงไม่พอต่อความต้องการ ส่งผลให้บางทีจำเป็นต้องไปซื้อไก่มาจากหมู่บ้านอื่น
  • หมู มักถูกนำไปใช้ในพิธีกรรมเช่นเดียวกับไก่ เพราะราคาที่ไม่สูง โดยหมูที่นิยมใช้จะเป็นหมูพันธ์ุพื้นเมือง มีลักษณะคือ ตัวสีดำ มักจะเลี้ยงไว้ในเล้าไม่ได้ปล่อยเหมือนสัตว์ชนิดอื่น และจะมีอาหารจำพวกแกลบ ข้าวโพด หยวกกล้วย มาเลี้ยง 

อาชีพค้าขาย เป็นอาชีพเสริมรูปแบบหนึ่งที่มีในชุมชนนอกเหนือจากการเลี้ยงสัตว์ ในชุมชนจะมีร้านค้าอยู่สองแห่ง ส่วนใหญ่ขายของใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป เช่น สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม หรือสินค้าที่มีกลุ่มเป้าหมาย เช่น ขนมสำหรับเด็กและเหล้า เบียร์ บุหรี่ ที่ขายดีในหมู่ผู้ใหญ่

เดิมทีชาวบ้านในชุมชนนับถือผีกันมาอย่างยาวนาน แต่เนื่องด้วยการเข้ามาของอิทธิพลศาสนาพุทธ ส่งผลให้ระบบความเชื่อของชาวบ้านกลายเป็นการผสมผสานระหว่างพุทธและผี โดยมีเพียงสำนักสงฆ์เท่านั้นที่เป็นสถานที่ในการประกอบศาสนพิธี ส่วนใหญ่จะมีเยาวชนในหมู่บ้านที่มาบวชเรียนเเละไปศึกษาต่อนอกหมู่บ้าน ถึงแม้ชาวบ้านมีการนับถือศาสนาพุทธ แต่พิธีกรรมและความเชื่อส่วนใหญ่ยังคงยึดโยงกับความเชื่อเรื่องผีที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างแนบแน่น โดยในชุมชนสามารถแบ่งผีออกได้ตามความเชื่อดังนี้ 

  • ผีดี เป็นผีที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าจะคอยปกปักรักษาให้ชาวบ้านอยู่ดีมีสุข ป้องกันภัยอันตรายและช่วยให้พืชผลทางการเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์ เช่น ผีประจำหมู่บ้าน ที่ชาวบ้านเรียกันว่า "เจ้าแก้วยอดน่าน" โดยจะมีการทำพิธีเซ่นสรวงประจำทุกปี หรือผีบรรพบุรุษของฝ่ายหญิงที่จะให้ทั้งคุณและโทษแก่คนในบ้านเท่านั้น 
  • ผีที่ทำให้เกิดอันตราย ชาวบ้านจะเชื่อกันว่า ผีเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยทางกาย เช่น ผีป่า ผีน้ำ ผีตายโหง ผีเร่ร่อน ตามคำบอกเล่าว่ากันว่า สิ่งเหล่ามีลักษณะคล้ายกับคนและมีดวงตาอีกสองข้างอยู่บริเวณท้ายทอยเพิ่มขึ้นมา 

ชาวบ้านมักจะมีความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติ ส่งผลให้ในชุมชนจะต้องทำพิธีบวงสรวงประจำเพื่อให้ผีเกิดความพึงพอใจจนเป็นผลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ โดยจะมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนดังนี้ 

พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต

ในการทำไร่ชาวบ้านจะมีการประกอบพิธีเซ่นไหว้หลายครั้งในช่วงของการเพาะปลูก เริ่มตั้งแต่ 

  • ธันวาคม-มกราคม จะเป็นช่วงของการเลือกพื้นที่ในการทำไร่ด้วยการทำพิธีเสี่ยงทาย จนเมื่อได้ที่จึงทำการสร้างศาลเล็ก ๆ แล้วทำการเชือดไก่เพื่ออัญเชิญให้ผีมาอยู่ในศาล เนื่องจากชาวบ้านเชื่อกันว่า การถางหญ้าเพื่อทำไร่เปรียบเสมือนการไล่ที่อยู่ของผี จึงต้องทำการสร้างที่อยู่ทดแทน 
  • เมษายน-พฤษภาคม เป็นช่วงของการหยอดข้าวไร่ แรกเริ่มจะทำการเซ่นไหว้ผีเพื่อให้ทราบว่าชาวบ้านกำลังจะเริ่มทำการปลูกข้าว หากไม่ทำการเซ่นไหว้อาจทำข้าวในไร่เกิดความเสียหาย 
  • มิถุนายน เมื่อข้าวในไร่เริ่มเจริญเติบโต ชาวบ้านจะเริ่มทำการเชือดไก่ หรือหมู เพื่อเลี้ยงผีให้อิ่ม และจะได้ไม่ทำลายข้าวเสียหาย
  • สิงหาคม เป็นช่วงที่ข้าวเริ่มออกรวง จึงมีการทำพิธีสู่ขวัญข้าวด้วยการเซ่นด้วยหมูหรือไก่ เพราะเชื่อว่าเมื่อข้าวมีขวัญแล้วจะทำให้อุดมสมบูรณ์ 
  • พฤศจิกายน เป็นช่วงที่หลังจากเก็บเกี่ยวข้าว เมื่อนำข้าวมาตีเรียบร้อย ก็จะทำพิธีเซ่นไหว้ผีอีกเช่นเคย โดยใช้ดอกไม้สีแดง 4 ดอก เทียน 4 เล่ม หมาก 4 ชิ้น และข้าวเหนียวนึ่งสุกใหม่ ๆ ปั้นก้อน 4 ก้อน สำหรับการเป็นเครื่องเซ่น และจะใช้ตาแหลวปักปลายไม้ไว้ที่มุมทั้งสี่ด้านของลานตีข้าว เพื่อป้องกันไม่ให้ผีมาขโมยข้าวที่เพิ่งเกี่ยวใหม่

การเลี้ยงผี

บ้านนากึ๋นมี "เจ้าแก้วยอดน่าน" ซึ่งเป็นผีประจำหมู่บ้านที่ใหญ่ที่สุดในบริเวณขุนน้ำน่าน (ที่ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำน่าน) การเซ่นสรวงจะเกิดขึ้นทุกปี โดยกรรมการหมู่บ้านจะทำการเรี่ยไรเพื่อใช้เป็นทุนซื้อเครื่องเซ่น ได้แก่ หมูหรือควาย ไก่ และเหล้า อีกทั้งสัตว์ที่ใช้ในการเป็นเครื่องเซ่นต้องเป็นตัวผู้เท่านั้น และจะจัดในขึ้นในช่วงเดือน 5 (เดือนไทยภาคเหนือ) ซึ่งจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ตามปฏิทินสากล โดยพิธีกรรมจะเริ่มจากการไปเซ่นไหว้ที่ หอใหญ่ (ศาลผีประจำหมู่บ้าน) เป็นอันดับแรกแล้วจึงไปที่ หอเจ้าด่าน และบ่อหอน่าน ซึ่งเป็นบ่อต้มเกลือของเจ้าของยอดน่านอีกทีหนึ่ง 

ความเชื่อเรื่องกำ (ผิดผี)

เช่นเดียวกับชาวลัวะในพื้นที่อื่น ว่าด้วยความเชื่อเรื่องกำของชาวบ้านในบ้านนากึ๋น เชื่อกันว่าหากทำการละเมิด ผีจะทำให้เกิดการเจ็บป่วย นอกจากนั้นแล้วความเชื่อดังกล่าวยังส่งผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันของชาวบ้านอย่างชัดเจน เช่น ใน 10 วันจะมีวันกำใหญ่ ทำให้ทุกคนในหมู่บ้านต้องหยุดงาน แต่นอกจากการวันกำใหญ่แล้วยังมีการนับถือกำของแต่ละสายตระกูลที่แตกต่างกันไปทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านแต่ละตระกูลจะมีการหยุดงานที่แตกต่างกัน แต่หากบ้านไหนกำลังถือกำ ถึงแม้จะไม่ได้ไปทำไร่แต่ยังสามารถไปช่วยบ้านอื่น ซึ่งเป็นการช่วยกันไว้ก่อนแล้วสามารถได้รับการช่วยเหลือย้อนหลังได้ และที่สำคัญชาวบ้านจะมีการนับถือ "กำคนตาย" โดยหากมีคนในหมู่บ้านเสียชีวิต ทุกคนในหมู่บ้านจำเป็นต้องหยุดงานเพื่อไปช่วย ซึ่งเชื่อกันว่าหากไม่หยุดงานไปช่วยอาจทำให้พืชพรรณเสียหาย ไม่เจริญงอกงาม

พิธีกรรมการต้มเกลือ

เมื่อเข้าใกล้ช่วงฤดูต้มเกลือ เข้าจ้ำจะนำไก่ 1 ตัว เหล้า 1 ขวด และสลวย 1 คู่ เพื่อเป็นการบอกกล่าวเจ้าแก้วยอดน่านล่วงหน้าว่าจะทำการต้มเกลือ และในช่วงของการต้มเกลือ เข้าจ้ำจะทำพิธีสู่ขวัญ โดยใช้ไข่ต้ม 1 ใบ ข้าวเหนียวนึ่ง  1 ปั้น และดอกไม้ โดยมีวิธีการคือ การนำดอกไม้ไปวางบนขอบเตาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แกะเปลือกไข่และบิข้าวลงไป ทั้งบอกกล่าวว่า ขอให้การต้มผ่านไปด้วยดี 

ผู้นำทางการ คณะกรรมการหมู่บ้าน 

  • นายทนุศักดิ์ อุดเต็น ดำรงตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน 
  • นางสาวนงนุช ธิยาวงศ์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 
  • นายเกษม อุดเต็น ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 

ผู้นำธรรมชาติ เป็นผู้นำที่มีบทบาทในด้านประเพณีและพิธีกรรมความเชื่อที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ 

  • นายอ้วน ปันอิน : เลี้ยงผีบ่อ หมอสู่ขวัญ หมอตำแย หมอเป่า หมอสมุนไพร 
  • นายเขียน ปันอิน : เลี้ยงผีบ่อ เข้าจ้ำ 
  • นายเสริฐ ธิยาวงศ์ : หมอสู่ขวัญ เลี้ยงผีไร่ ผีนา ผีเจ้าบ้าน 
  • นายสมพร อุ่นถิ่น : หมอสู่ขวัญ เลี้ยงผีไร่ ผีนา ผีเจ้าบ้าน 
  • นางเด็ด อุดเต็น : หมอตำแย 

หมายเหตุ 

หมอสู่ขวัญ : ผู้อาวุโสในตระกูล มีหน้าที่ทำขวัญให้แก่คนที่ถือผีตระกูลเดียวกัน 

หมอตำแย : มีหน้าที่ทำคลอดในอดีต ปัจจุบันมีหน้าที่ในด้านพิธีกรรมแรกเกิด 

หมอเป่า : รักษาอาการเจ็บป่วยด้วยการเป่าคาถาอาคม 

ทุนธรรมชาติ

ป่าไม้ เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่บริเวณเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา มีลักษณะเป็นป่าดิบชื้น ทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวยังคงมีความอุดมสมบูรณ์  โดยสามารถจำแนกป่าในชุมชนได้ดังนี้ 

  • ป่าผีเมือง เป็นป่าอนุรักษ์ของชุมชน โดยมีข้อห้ามในการตัดต้นไม้เพื่อผลประโยชน์ใด ๆ ก็ตาม หากฝ่าฝืนอาจทำให้มีอาการเจ็บป่วยหรือเกิดอันตราย อีกทั้งในพื้นที่ป่าดังกล่าวจะมีการเลี้ยงผีของชาวบ้านทุกปีเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล
  • ป่าช้า ชาวบ้านใช้เป็นสถานที่ฝังศพตามประเพณีและความเชื่อของคนในชุมชนชาวลัวะ แต่ละชุมชนจะมีป่าช้าแยกกันไปโดยของบ้านนากึ๋นจะตั้งอยู่บริเวณด้านเหนือของชุมชน
  • ป่าชุมชน เป็นป่าที่อยู่บริเวณต้นน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยต่าง ๆ เช่น ห้วยเปิบ ห้วยซาว อีกทั้งในบริเวณต้นน้ำป่าชุมชนยังถูกใช้เป็นระบบประปาภูเขา ชาวบ้านในชุมชนจึงเกิดระเบียบที่ว่า ห้ามมีการทำไร่ในบริเวณดังกล่าว แต่ยังสามารถเก็บของป่าสัตว์ได้ตามสมควร

น้ำ บริเวณลำห้วยเปิบและลำห้วยซาวซึ่งอยู่บริเวณป่าชุมชนเป็นลำห้วยที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากลำห้วยดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นระบบน้ำประปาให้แก่ชุมชน อีกทั้งลำห้วยทั้ง 2 ไหลไปรวมกับแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่ชาวบ้านใช้ในการดำรงชีพ

เกลือ ปัจจุบันการผลิตเกลือในบ้านนากึ๋นยังคงเป็นการผลิตเพื่อสำหรับการบริโภคเท่านั้น โดยในชุมชนมีบ่อเกลืออยู่สองแห่ง คือ บ่อกึ๋นและบ่อน่าน แต่เนื่องด้วยการเกิดดินถล่ม ส่งผลให้บ่อกึ๋นถูกปิดไป เหลือเพียงแต่บ่อน่านเท่านั้นที่ยังคงใช้งานตามปกติ และตั้งอยู่บริเวณริมน้ำน่าน ในป่าทึบ ทางตอนใต้ของชุมชน

ทุนทางเศรษฐกิจ

เครื่องจักสาน การทำงานศิลปหัตถกรรมจำพวกเครื่องจักสานของชาวลัวะเป็นสิ่งที่ถูกส่งต่อ และสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยงานส่วนใหญ่เป็นการทำเครื่องจักสานไม้ไผ่ การสานฟาก การทำฝาบ้าน สาดเสื่อ และมักเป็นผู้ชายเท่านั้นที่ทำ

การตีเหล็ก ถึงแม้ในชุมชนชาวบ้านส่วนใหญ่จะไม่รู้วิธีการตีเหล็ก แต่ก็ยังมีผู้ที่มีความรู้จากการตีเหล็กอยู่บ้าง ทำให้สามารถผลิตเครื่องมือจำพวก มีด จอบ เสียม ซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพของชาวบ้านในการใช้สำหรับการเกษตร ทำให้ชาวบ้านในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเอง

ภาษาที่ชาวบ้านใช้โดยส่วนใหญ่เป็นภาษาลัวะ ซึ่งเป็นภาษาพูดแต่ไม่มีภาษาเขียน สำหรับการติดต่อกับคนภายนอกชุมชนจะเป็นการใช้คำเมืองหรือภาษาเหนือแทน ส่วนคนที่ได้รับการศึกษาหรือออกไปทำงานต่างถิ่นเป็นเวลานานจะสามารถพูดภาษากลางได้ปกติ


ภายในชุมชนมีกฎระเบียบที่สำคัญจากการช่วยกันออกแบบของชาวบ้านในชุมชน เพื่อเป็นแนวทางในลดการเกิดปัญหาและเป็นการสร้างความร่วมมือแก่กิจกรรมภายนอกชุมชน โดยมีระเบียบดังนี้ 

  • การทะเลาะวิวาท ปรับ 500 บาท
  • การลักเล็กขโมยน้อย ปรับ 500 บาท 
  • การยิงปืนภายในหมู่บ้าน 500 บาท/นัด 
  • การขาดประชุม ปรับ 50 บาท 
  • ห้ามยุ่งเกี่ยวกับยาสเพติด 
  • การปล่อยสัตว์เลี้ยงเข้าพื้นที่ทำกิน ปรับ 500 บาท
  • การขาดพัฒนาหมู่บ้าน ปรับ 100 บาท 

ในอดีตเมื่อมีชาวบ้านมีอาการเจ็บป่วย วิธีการรักษาอาจไม่ใช้วิธีแพทย์สมัยใหม่แบบคนพื้นราบทั่วไป เนื่องจากการคมนาคมที่ไม่สะดวก ทำให้เกิดความยากลำบากในการเดินทาง ส่งผลให้หลายครั้งชาวบ้านต้องรักษากันเองด้วยการใช้สมุนไพร แต่หากจำเป็น ชาวบ้านจะต้องช่วยกันพาไปโรงพยาบาล

แต่ปัจจุบันการมีอยู่ของ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านนากึ๋น มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการรักษาคนในชุมชนที่มีอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น เช่น แผลจากการบาดเจ็บ มีไข้ เป็นต้น อีกทั้งอาการเจ็บป่วยส่วนใหญ่ที่พบในชุมชน คือ อาการท้องเสีย ไข้หวัด ซึ่งจะพบมากในกลุ่มของเด็ก และในกลุ่มของผู้ใหญ่ คือ อาการเจ็บปวดตามร่างกาย เบาหวาน ความดัน เป็นต้น 

จนต่อมาชาวบ้านเริ่มให้ความสำคัญกับการแพทย์สมัยใหม่ รูปแบบการรักษาจึงถูกเปลี่ยนเป็นการไปที่สถานีอนามัย โรงพยาบาลบ่อเกลือ หรือโรงพยาบาลน่าน เพื่อให้ครอบคลุมกับอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ มากขึ้น 


เนื่องด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของชาวบ้าน ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อสภาพแวดล้อมของป่าที่เป็นพื้นที่หลักในชุมชน หรือกระทั่งปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ส่งผลอย่างยิ่งต่อภาพรวมของชุมชน โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นมีดังนี้ 

  • ปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนลดลงจนเกิดเป็นปัญหาภัยแล้ง 
  • สภาพผืนป่าที่ลดลง การเพิ่มขึ้นของประชากรและความต้องการในการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผืนป่าลดลง ชาวบ้านจึงเริ่มขยายพื้นที่ออกไปเรื่อย ๆ จนกระทบไปถึงแหล่งน้ำโดยรอบ
  • การใช้สารเคมีในการทำเกษตร ความต้องการข้าวโพดในอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านเริ่มหันมาใช้เคมีภัณฑ์เพื่อให้พืชผลทางการเกษตรไม่เสียหาย จนทำให้สารเคมีไหลลงไปตามลำห้วยต่าง ๆ จนชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำในลำห้วยเพื่อการอุปโภคบริโภค

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทนุศักดิ์ อุดเต็น และคณะ. (2558). โครงการ การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อปรังปรุงคุณภาพน้ำในระบบประปาภูเขาของชุมชนลัวะบ้านนากึ๋น หมู่5 ตำบลบ่อเกลือเหนือ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.

ทัศพงษ์ พจน์ธีรสถิต. (2539). ความสำคัญของเกลือสินเธาว์ที่มีต่อชุมชน กรณีศึกษา : บ้านนากึ๋น ตำบลบ่อเกลือเหนือ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน. สารนิพนธ์ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Doctor 2 go. (2565). กิจกรรมมุงหลังคาโรงต้มเกลือบ้านนากึ๋น ต.บ่อเกลือเหนือ จ.น่าน. สืบค้นเมื่อ 7 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/

องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อเกลือเหนือ โทร. 054-059564