ชุมชนชาวกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอที่มีประวัติศาสตร์ว่าเคยเป็นเมืองที่ชาวลัวะและไทใหญ่เคยอยู่อาศัยมาก่อน ในชุมชนพบหลักฐานทางโบราณคดีของสมัยล้านนา ได้แก่ โบราณสถาน และกล้องยาสูบดินเผาที่เป็นของใช้ของชาวลัวะ ปัจจุบันคนในชุมชนยังคงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และสืบทอดการทำงานหัตถกรรมดั้งเดิม ได้แก่ การทอผ้ากี่เอว การแกะสลักไม้ และการทำเครื่องจักสาน ซึ่งผ้าฝ้ายทอมือจากบ้านเมืองแพมเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว
มีเรื่องเล่าว่าหลังจากชาวลัวะอพยพออกไปแล้ว ได้มีชาวไทใหญ่อพยพเข้ามาอยู่แทนที่ และได้สร้างเมืองซึ่งปกครองโดยเจ้าฟ้า เมืองแพมในสมัยนั้นเป็นเมืองขนาดเล็ก ชาวบ้านไทใหญ่ได้สร้างวัดที่ก่อด้วยอิฐไว้หลายแห่ง ต่อมาเจ้าฟ้าได้สิ้นพระชนม์ ซึ่งตามประเพณีไทใหญ่จะเรียกเจ้าฟ้าองค์ก่อนที่สิ้นพระชนม์ว่า "เจ้าฟ้านอนแพร" เมื่อเรียกเมืองนี้ต่อ ๆ กันมาจึงเรียกกันว่าเมืองที่เจ้าฟ้านอนแพร และเพี้ยนเป็น "เมืองแพม"
ชุมชนชาวกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอที่มีประวัติศาสตร์ว่าเคยเป็นเมืองที่ชาวลัวะและไทใหญ่เคยอยู่อาศัยมาก่อน ในชุมชนพบหลักฐานทางโบราณคดีของสมัยล้านนา ได้แก่ โบราณสถาน และกล้องยาสูบดินเผาที่เป็นของใช้ของชาวลัวะ ปัจจุบันคนในชุมชนยังคงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และสืบทอดการทำงานหัตถกรรมดั้งเดิม ได้แก่ การทอผ้ากี่เอว การแกะสลักไม้ และการทำเครื่องจักสาน ซึ่งผ้าฝ้ายทอมือจากบ้านเมืองแพมเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว
เรื่องเล่าจากชาวบ้าน
มีเรื่องเล่าแต่เดิมเมืองแพมเคยเป็นที่อยู่ของชาวลัวะ เนื่องจากเคยพบชิ้นส่วนและกล้องยาสูบดินเผาที่แกะสลักลวดลายสวยงามเป็นจำนวนมากตามท้องนา นอกจากนี้มีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับเมืองแพมด้วยกัน 3 เรื่อง เรื่องแรกเล่าเกี่ยวกับที่มาของชื่อชุมชนเมืองแพม สำหรับเรื่องที่ 2 และ 3 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของชุมชน สรุปได้ดังนี้
ตำนานเจ้าปู่ฮ้อยสาม มีเรื่องเล่าว่านักรบผู้เก่งกาจนามว่า "เจ้าปู่ฮ้อยสาม" ได้เดินทางมาสร้างบ้านเมืองและที่นาต่าง ๆ ตั้งแต่บ้านไม้ฮุง บ้านแม่ละนา เมืองแพม เมืองน้อย และเมืองแหง (เวียงแหง) เจ้าปู่ฮ้อยสามได้สร้างนาและเหมืองฝายที่บ้านเมืองแพมและให้คนมารับช่วงทำต่อ ส่วนตนเองเดินทางไปสร้างเมืองอื่นต่อไป
ปางไม้และปางช้าง สมัยก่อนเมืองแพมมีชาวไทใหญ่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อมีฝรั่งมาทำปางไม้และปางช้างแถวบ้านท่าไคร้ อ.ปางมะผ้า (รวมถึงปางช้างที่บ้านถ้ำลอด อ.ปางมะผ้าด้วย) โดยมีคนงานเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม พื้นที่ตัดไม้นั้นครอบคลุมในหลายหมู่บ้าน ได้แก่ บ้านแม่อุมอง บ้านถ้ำลอด บ้านห้วยโป่ง บ้านผามอน และบ้านเมืองแพม เวลาชักลากไม้จะลากข้ามภูเขาแถวบ้านท่าไคร้ (เรียกว่า กิ่วจอง) ไปลงแม่น้ำที่โป่งแสนปิ๊กและห้วยน้ำโป่งที่ในตอนนั้นเป็นหมู่บ้านของชาวไทใหญ่ (ปัจจุบันเป็นที่อยู่ของชาวลัวะ) เมื่อชาวไทใหญ่ไปขโมยช้างที่ปางช้างไปขายให้คนที่บ้านห้วยปูลิง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน บ้านวัดจันทร์ และบ้านหนองแดง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ฝรั่งชาวอังกฤษขึงให้คนมาโจมตีบ้านไทใหญ่ คนในหมู่บ้านจึงหนีไปอยู่ที่บ้านซามู่และบ้านหนองปะหลำ ประเทศเมียนมา หลังจากนั้นก็ไม่มีการทำปางไม้และปางช้างกันแล้ว แต่มีเรื่องเล่าว่าบริเวณที่คนไทใหญ่อยู่นั้นมีร่องรอยของปางไม้และปางช้างหลงเหลืออยู่บนที่นาของคนบ้านเมืองแพม
อย่างไรก็ดี คนเฒ่าคนแก่ของหมู่บ้านเล่าว่าสมัยเด็ก ๆ เคยพบเห็นคนไทใหญ่กลุ่มนี้อยู่บ้าง แต่ตอนหลังเหลืออยู่เพียง 2-3 หลังคาเรือน คนไทใหญ่เหล่านี้จึงย้ายไปอยู่กับญาติที่บ้านแม่ละนา ปาย และอื่น ๆ ที่ไม่ทราบแน่ชัด กระทั่งปี พ.ศ. 2504 ชาวกะเหรี่ยงได้อพยพย้ายมาอยู่บ้านเมืองแพม
บ้านเมืองแพมถูกก่อตั้งขึ้นโดยชาวกะเหรี่ยงเมื่อประมาณ พ.ศ. 2504 แต่ก่อนที่ชาวบ้านที่จะย้ายมาตั้งรกรากที่นี่ ก็มีชาวบ้านอพยพเคลื่อนย้ายมาจากหมู่บ้านต่าง ๆ หลายแห่ง ซึ่งการอพยพของชาวบ้านในแต่ละครั้ง ส่วนใหญ่ไม่ได้ย้ายมาพร้อมกันทีเดียวทั้งหมด โดยการอพยพเคลื่อนย้ายของประชากรบ้านเมืองแพม สรุปตามช่วงเวลาได้ดังนี้
- ประมาณ พ.ศ. 2467-2468 มีชาวบ้านประมาณ 16-17 ครัวเรือน อพยพจากบ้านหนองขาวกลาง ต.ห้วยปูลิง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ย้ายมาอยู่ที่บ้านแม่ยาง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งในขณะนั้นบ้านแม่ยางยังเป็นป่าทึบ ไม่มีบ้านเรือนตั้งอยู่มาก่อน
- พ.ศ. 2570 พ่อเฒ่าตะเลาะ วงศ์กะเหรี่ยง ผู้นำชุมชนในขณะนั้น ได้พาชาวบ้านย้ายมาอยู่ที่บ้านห้วยแม่หมู อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน และอพยพขึ้นไปอยู่บริเวณหัวน้ำแม่หมู
- พ.ศ. 2473 ชาวบ้านย้ายมาอยู่ที่บ้านแม่อุมอง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน
- พ.ศ. 2475 ชาวบ้านย้ายมาอยู่ที่บ้านผามอน และยังคงย้ายไป ๆ มา ๆ ระหว่างหมู่บ้านเดิมกับบ้านผามอน รวมทั้งได้ตั้งหมู่บ้านขึ้นอีก 3 แห่ง ซึ่งอยู่รอบ ๆ บ้านผามอน ก่อนที่จะย้ายออกจากเขตตำบลผามอน
- พ.ศ. 2478 ชาวบ้านมาตั้งถิ่นที่บ้านห้วยไร่ โดยชาวบ้านบางคนอยู่ต่อในหมู่บ้านอีกหลายสิบปี และบางคนย้ายกลับไปอยู่บ้านแม่ยางและที่อื่น ๆ
- พ.ศ. 2487 ชาวบ้านตั้งถิ่นฐานที่บ้านห้วยโป่ง
- พ.ศ. 2493 ชาวบ้านย้ายมาอยู่ที่บ้านห้วยผาตึ๊ บ้านปางควาย และบ้านผักห้า
- พ.ศ. 2496 ก่อตั้งหมู่บ้านหัวน้ำแพม
- พ.ศ. 2500 ชาวบ้านย้ายไปอยู่อีกหมู่บ้าน แต่ยังคงอยู่ในบริเวณหัวน้ำแพม
- พ.ศ. 2504 ก่อตั้งหมู่บ้านเมืองแพม โดยพ่อเฒ่ากะเดอได้ชักชวนให้ชาวบ้านที่อพยพมาจากบ้านหนองขาวกลางด้วยกัน รวมถึงชาวบ้านจากบ้านวัดจันทร์ ซึ่งเป็นเครือญาติกันจากการแต่งงาน ย้ายมาอยู่ด้วยกันที่บ้านเมืองแพม โดยครั้งแรกที่มานั้นมีชาวบ้านจำนวน 18 ครัวเรือน หลังจากนั้นจึงมีญาติพี่น้องจากหมู่บ้านอื่น ๆ อพยพตามมาเพิ่มขึ้น
ข้อมูลทางโบราณคดี
บ้านเมืองแพมมีโบราณสถานตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบใกล้กับหมู่บ้าน จำนวน 3 แห่ง จึงสันนิษฐานว่าบ้านเมืองแพมเคยเป็นชุมชนโบราณสมัยประวัติศาสตร์ร่วมสมัยกับอาณาจักรล้านนา
หมู่บ้านเมืองแพมตั้งอยู่บริเวณเนินเขาเตี้ย ๆ ริมลำน้ำแพม ซึ่งทั้งสองฝั่งของลำน้ำเป็นที่ราบขนาดใหญ่ ที่ใช้ทำนาที่ลุ่มได้ ที่ตั้งของหมู่บ้านเป็นหุบเขาขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำลางตอนบน และเป็นที่ลำน้ำหลายสาขาไหลมาบรรจบกัน หมู่บ้านตั้งอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 700 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
แหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชน ได้แก่ ลำน้ำแพม ลำน้ำแพมน้อย ห้วยปลามุง ห้วยโป่ง ห้วยไร่ และห้วยฮิ ซึ่งกระจายอยู่รอบหมู่บ้าน และชาวบ้านใช้ในการทำเกษตรกรรม ในอดีตชาวบ้านนิยมใช้น้ำจากลำน้ำแพม เนื่องจากอยู่ใกล้หมู่บ้านมากที่สุด นอกจากนี้มีแหล่งน้ำที่เป็นน้ำประปาซึ่งต่อท่อมาจากห้วยฮิ ซึ่งอยู่ทางเหนือของหมู่บ้าน
ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอ กลุ่มสะกอว์ (Sgaw) ซึ่งประชากรของหมู่บ้านอพยพเคลื่อนย้ายมาจากพื้นที่หลัก 2 แห่ง คือ บ้านหนองขาวกลาง ต.ห้วยปูลิง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน และบ้านวัดจันทร์ ต.กองแขก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เมื่อมีการแต่งงานข้ามกลุ่มกันบ่อยครั้ง ประชากรดังกล่าวจึงกลายเป็นกลุ่มเครือญาติเดียวกัน
ปกาเกอะญอวิถีชีวิตของคนในชุมชนส่วนใหญ่ยังคงเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมเป็นหลัก เลี้ยงสัตว์และทำงานหัตถกรรมเป็นอาชีพเสริม
การทำเกษตรกรรม รูปแบบการเพาะปลูกของชุมชนแบ่งได้ 3 รูปแบบ คือ การทำไร่ การทำนา และการทำสวน
การทำไร่ ยังคงเป็นการทำเกษตรแบบดั้งเดิม คือ ไร่หมุนเวียน เช่น ข้าว ข้าวโพด เผือก มัน ฯลฯ โดยหนึ่งครอบครัวมีไร่อย่างน้อย 5-6 แห่ง อยู่กระจายรอบ ๆ หมู่บ้าน ซึ่งจะเพาะปลูกเวียนสลับกันไป ในรอบหนึ่งปีจะถางที่เพื่อทำไร่เพียงที่เดียวแล้วจึงย้ายไปทำไร่ในของตนอีกที่หนึ่ง เนื่องจากที่ดินต้องใช้เวลาในการพักฟื้นและสร้างสารอาหารอย่างน้อย 5-6 ปี ช่วงเวลาของการเพาะปลูกคือฤดูฝน
การทำนา การทำนาของชาวกะเหรี่ยงบ้านเมืองแพมได้รับความรู้มาจากชาวไทใหญ่ โดนหันมาทำนาเนื่องจากสามารถทำได้ทุกปีและได้ผลผลิตข้าวมากกว่าการทำไร่ ในขณะที่การทำไร่ต้องทำแบบหมุนเวียนและต้องถางไร่ทุกปี ที่นาของชุมชนมีด้วย 3 แห่งหลัก ๆ คือ 1) ที่นาที่ขุดสร้างต่อเนื่องมาจากที่นาของพ่อเฒ่ากะเดอและพ่อเฒ่าส่าปุ๊ ซึ่งเป็นผู้อาวุโสของชุมชนและเป็นที่นาเก่าของชาวไทใหญ่ และใช้ลำน้ำแพมในการทำนาเป็นหลัก 2) ที่นาในหุบเขา ซึ่งใช้น้ำจากห้วยน้ำปลามุงเป็นหลัก 3) ที่นาที่ขยับขยายออกไปทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านมาก เนื่องจากมีประชากรอพยพเข้ามาในชุมชนมากขึ้น และพื้นที่ดังกล่าวมีหุบเขาเพียงพอต่อการทำนาขั้นบันได โดยชาวบ้านจะใช้น้ำจากห้วยฮิในการทำนา
หลังจากฤดูกาลทำนาแล้ว ชาวบ้านจะใช้ประโยชน์จากที่นาในการเพาะปลูกพืชผักต่าง ๆ เช่น ผักกาด กระเทียม หัวหอมแดง ฯลฯ ในช่วงฤดูหนาว เพื่อบริโภคในครัวเรือนและสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว.
การทำสวน เป็นการทำเกษตรที่มาในภายหลัง และไม่ได้ทำกันมากเท่ากับการทำไร่และทำนา พืชที่ปลูก เช่น มะม่วง ฯลฯ โดยปลูกไว้เพื่อบริโภคเองและจำหน่าย
การเลี้ยงสัตว์ สัตว์ที่ชุมชนนิยมเลี้ยง คือ หมูและไก่ โดยใช้บริโภคเป็นอาหารในชีวิตประจำวัน และใช้เป็นเครื่องเซ่นสำหรับการไหว้ผี และพิธีกรรมสำคัญต่าง ๆ ชาวบ้านจึงไม่นิยมเลี้ยงเพื่อจำหน่าย นอกจากนี้การเลี้ยงวัวและควายด้วยเช่นกัน
การทอผ้า ผู้หญิงบ้านเมืองแพมจะทอผ้าหลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยว โดยสมัยก่อนจะเก็บฝ้ายที่ปลูกไว้ตามไร่ในหมู่บ้านมากรอเป็นเส้นด้าย แต่ปัจจุบันชาวบ้านไม่ได้ปลูกฝ้ายและทำเส้นด้ายเองแล้ว เนื่องจากมีกระบวนการผลิตที่ยุ่งยากและใช้เวลานาน อีกทั้งสามารถหาซื้อด้ายได้จากตลาดในตัวอำเภอ (ตำบลสบป่อง) และจังหวัดเชียงใหม่ การทอผ้าจะทำในหมู่ผู้หญิง ซึ่งลูกสาวจะได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคนิคการทอผ้ามาจากแม่ ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มสตรีทอผ้า และมีการประยุกต์รูปแบบ ลวดลาย และสีสันให้มีความร่วมสมัยและเหมาะสมต่อการใช้สอยในปัจจุบันมากขึ้น เช่น ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าห่ม ผ้าปูโต๊ะ ย่ามสะพายขนาดเล็ก ฯลฯ ซึ่งสามารถรองรับตลาดและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว
การทำเครื่องจักสาน ผู้ชายบ้านเมืองแพมจะทำงานจักสานหลังจากช่วงการทำเกษตรกรรม เช่น เสื่อ กระจาดสำหรับตากพริกหรือของแห้ง ตะกร้าที่มีสายสะพายไหล่และศีรษะ สำหรับใส่ของเวลาออกไปหาของป่าหรือจับปลา ฯลฯ
ประชากรในชุมชนใช้ภาษาปกาเกอะญอเป็นหลัก แต่ประชากรบางส่วนสามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยถิ่นเหนือ และภาษาไทยกลางได้
อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล. (2550). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะที่สอง (เล่มที่ 6: การศึกษชาติพันธุ์วรรณาทางโบราณคดี). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.