Advance search

บ้านถ้ำลอด, บ้านถ้ำ

ชุมชนที่มีผู้คนตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงปัจจุบัน มีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ 3 แห่ง คือ เพิงผาถ้ำลอด ถ้ำผีแมนโลงลงรัก และถ้ำลอด ปัจจุบันเป็นชุมชนของชาวไทใหญ่ บ้านถ้ำลอดจึงมีมรดกทางวัฒนธรรมทั้งในอดีตและร่วมสมัย รวมถึงมรดกทางธรรมชาติ คือ "ถ้ำน้ำลอด" ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและมีชื่อเสียง

หมู่ที่ 1
ถ้ำลอด
ถ้ำลอด
ปางมะผ้า
แม่ฮ่องสอน
ชนม์ชนก สัมฤทธิ์
14 มิ.ย. 2024
ชนม์ชนก สัมฤทธิ์
14 มิ.ย. 2024
ชนม์ชนก สัมฤทธิ์
14 มิ.ย. 2024
บ้านถ้ำลอด
บ้านถ้ำลอด, บ้านถ้ำ

ที่มาของชื่อหมู่บ้านมาจากถ้ำลอดหรือถ้ำน้ำลอดซึ่งอยู่ใกล้กับหมู่บ้าน ในอดีตชาวบ้านรู้จักและเรียกถ้ำแห่งนี้ว่า "ถ้ำโหลงหรือถ้ำหลวง" ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2520-2521 กรมป่าไม้ได้เข้ามาพัฒนาถ้ำโหลงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ถ้ำลอดหรือถ้ำน้ำลอด"  


ชุมชนที่มีผู้คนตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงปัจจุบัน มีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ 3 แห่ง คือ เพิงผาถ้ำลอด ถ้ำผีแมนโลงลงรัก และถ้ำลอด ปัจจุบันเป็นชุมชนของชาวไทใหญ่ บ้านถ้ำลอดจึงมีมรดกทางวัฒนธรรมทั้งในอดีตและร่วมสมัย รวมถึงมรดกทางธรรมชาติ คือ "ถ้ำน้ำลอด" ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและมีชื่อเสียง

ถ้ำลอด
หมู่ที่ 1
ถ้ำลอด
ปางมะผ้า
แม่ฮ่องสอน
58150
19.5768969177
98.2801480314
องค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำลอด

จากคำบอกเล่าของชุมชน

แต่เดิมบ้านถ้ำลอดเป็นทางผ่านที่ชาวบ้านเดินผ่านจากบ้านไม้ลันหรือหัวลางไปยังเมืองแม่ฮ่องสอนหรือเมืองปาย ต่อมามีชาวบ้านจากบ้านไม้ลันจำนวนประมาณ 30-40 ครัวเรือน อพยพเคลื่อนย้ายมาอยู่ที่บ้านหัวลาง เนื่องจากมีจำนวนประชาชนเพิ่มขึ้น สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ลาดชันและมีพื้นที่ทำกินไม่เพียงพอ

ประมาณ พ.ศ. 2512-2513 ชาวบ้านจากบ้านหัวลางอพยพมาอยู่ที่บ้านถ้ำลอด ต่อมาภายหลังมีชาวบ้านจากหมู่บ้านต่าง ๆ ได้แก่ บ้านปางคาม บ้านหนองหอย บ้านห้วยน้ำโป่ง และจากประเทศเมียนมา อพยพเข้ามาสมทบ 

จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ชาวไทใหญ่ในหลายหมู่บ้าน ทำให้ทราบว่ามีคนไทใหญ่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบ้านถ้ำลอดหลายช่วง ดังนั้นถ้ำลอดอาจตั้งอยู่บนเส้นทางการติดต่อระหว่างชุมชนบนพื้นที่สูงกับหัวเมืองสำคัญต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งเส้นทางน้ำและเส้นทางบกบนสันเขา ประกอบกับมีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นหินปูนและหินตะกอน ทำให้เกิดที่ราบระหว่างภูเขาหลายแห่ง และมีแหล่งน้ำ จึงเหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรม 

จากหลักฐานทางโบราณคดี

จากการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีโดย ศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช และคณะ ได้แก่ โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูง ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 โครงการการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กับสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงใน อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน และโครงการมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์และพลวัตทางวัฒนธรรมบนพื้นที่สูงใน อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ทำให้ทราบว่าบ้านถ้ำลอดมีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนดั้งเดิมมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคประวัติศาสตร์ ดังนี้

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

  • สมัยหินเก่าตอนปลาย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมหินกะเทาะ (32,000-10,000 ปีมาแล้ว) พบที่แหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด จากหลักฐานทางโบราณคดี ได้แก่ เครื่องมือแกนหินและเครื่องมือสะเก็ดหินจำนวนนับแสนชิ้น ทำให้ทราบว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งผลิตเครื่องมือหินกะเทาะและเครื่องมือหินเหล่านี้เป็นเครื่องมือสารพัดประโยชน์ของคนโบราณ นอกจากนี้พบหลุมฝังศพและโครงกระดูก 4 โครง ในจำนวนนี้มีโครงกระดูกเพศหญิงวัยราว 25-35 ปี 1 โครงที่ถูกฝังในท่างอเข่า มีอายุ 13,640 ปีมาแล้ว ซึ่ง ดร.ซูซาน เฮย์ส (Dr. Susan Hayes) ได้ขึ้นรูปใบหน้าของผู้หญิงคนดังกล่าวจากชิ้นส่วนกะโหลก โดยหน้าตาคล้ายคลึงกับคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้บริเวณเพิงผาถ้ำลอดยังเป็นที่พักชั่วคราวในสมัยอดีตอีกด้วย  
  • สมัยหินกลาง (9,720-7,660 ปีมาแล้ว) ที่เพิงผาถ้ำลอดพบเครื่องมือหินกะเทาะ ได้แก่ เครื่องมือแกนหินและสะเก็ดหิน รวมถึงกระดูกสัตว์ ในช่วงนี้อาจมีผู้คนตั้งถิ่นฐานไม่หนาแน่นหรือใช้พื้นที่น้อยกว่าสมัยที่ผ่านมา เนื่องจากพบหลักฐานจำนวนน้อยกว่า
  • สมัยหินใหม่ (5,360-2,995 ปีมาแล้ว) ที่เพิงผาถ้ำลอดพบข้าวของเครื่องใช้ที่เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยที่ผ่านมา โดยพบเครื่องมือหินขัด เครื่องมือหินลับส่วนปลาย หินเจาะรูตรงกลางคล้ายโดนัท โกลนหิน และชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดินลายเชือกทาบและลายขูดขีด อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ผู้คนอาจใช้เป็นที่พักชั่วคราวเช่นเดียวกัน
  • สมัยโลหะ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมโลงไม้ (2,120-1,250 ปีมาแล้ว) พบที่แหล่งโบราณคดีถ้ำลอด และถ้ำผีแมนโลงลงรัก จากหลักฐานทางโบราณคดี ได้แก่ โลงศพที่ทำจากไม้สักและกระดูกคน ทำให้ทราบว่าการฝังศพในโลงไม้เป็นวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นของอำเภอปางมะผ้าในช่วงสมัยโลหะ โดยคนโบราณได้นำโลงไม้ไปวางไว้ในถ้ำ ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช ได้สันนิษฐานว่า “การฝังศพในโลงไม้เป็นการฝังศพของครอบครัว” ถ้ำจึงเปรียบเสมือนสุสานประจำตระกูลหรือครอบครัว ส่วนเพิงผาถ้ำลอดพบหลักฐานในสมัยนี้ไม่มากนักและอาจเป็นที่พักพิงชั่วคราว ไม่ได้ถูกใช้เป็นที่ฝังศพเหมือนกับถ้ำลอดและถ้ำผีแมนโลงลงรัก
    • ถ้ำผีแมนโลงลงรัก เป็นแหล่งโบราณคดีแห่งแรกที่พบโครงกระดูกและชิ้นส่วนกระดูกคนในโลงไม้ที่ยังปิดสนิทอยู่ และเป็นแหล่งโบราณคดีที่พบหลักฐานของวัฒนธรรมโลงไม้ที่สมบูรณ์มากที่สุดในอำเภอปางมะผ้า ที่สุสานโบราณแห่งนี้มีจำนวนผู้ตายอย่างน้อย 154 คน ประกอบด้วย ผู้ใหญ่เพศชายและหญิง รวมทั้งเด็ก จากผลการวิเคราะห์ดีเอ็นเอโดย ศาสตราจารย์ ดร.วิภู กุตะนันท์ ทำให้ทราบว่ากลุ่มคนในสมัยวัฒนธรรมโลงไม้คล้ายคลึงกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่พบในภาคเหนือ ประเทศจีนตอนใต้และตอนเหนือ ในด้านภูมิปัญญาโบราณพบว่าคนในสมัยนั้นมีภูมิปัญญางานช่างฝีมือต่าง ๆ ได้แก่ การแกะสลักไม้ การทอผ้า การทำเครื่องจักสาน การลงรัก และการทำภาชนะดินเผา เนื่องจากพบโลงไม้ พานไม้ ถ้วยไม้ เครื่องมือเหล็กที่สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องมือทำงานไม้ ไม้ทอผ้า เศษผ้าใยกัญชง ชิ้นส่วนเครื่องจักสานทำจากไม้ไผ่และหวาย สิ่งของเครื่องใช้ที่เคลือบด้วยยางรัก (โลงศพ ภาชนะไม้ เครื่องจักสาน ภาชนะดินเผา) ภาชนะดินเผาเต็มใบ และชิ้นส่วนภาชนะดินเผา นอกจากนี้ยังพบข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ ได้แก่ ห่วงเหล็ก แหวนสำริด ลูกปัดแก้ว หอยเบี้ย และเส้นสีดำที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติคล้ายฝ้ายและเคลือบยางรัก ซี่งมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับเครื่องประดับของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือและเมียนมา เช่น หน่องว่องหรือห่วงหวายของดาระอั้ง กะยา ฯลฯ 
    • ถ้ำลอด เป็นแหล่งโบราณคดีที่ถูกเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว พบโลงไม้ในถ้ำหมายเลขสาม (ถ้ำสาม) ของถ้ำน้ำลอด ซึ่งตั้งอยู่ด้านทางน้ำออกและมีบันไดทางขึ้น ลักษณะและรูปแบบของโลงที่ถ้ำลอดคล้ายคลึงกับโลงที่ถ้ำผีแมนโลงลงรัก ที่สุสานแห่งนี้พบผู้ตายวัยผู้ใหญ่จำนวนอย่างน้อย 2 คน สำหรับสิ่งของเครื่องใช้ที่พบ ได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ห่วงเหล็ก และฟันตกแต่งซึ่งเป็นฟันคนเจาะรูฝังโลหะเงินและทองจำนวน 1 ซี่ 

ยุคประวัติศาสตร์

สมัยล้านนา (พุทธศตวรรษที่ 20-23) ที่เพิงผาถ้ำลอด พบชิ้นส่วนเครื่องเคลือบสีเขียวจากเตาห้วยน้ำหยวก จ.แม่ฮ่องสอน ก้านของกล้องยาสูบ ลูกปัดดินเผา สันนิษฐานว่าบริเวณเพิงผาถ้ำลอดในช่วงนี้ อาจเป็นที่พักแรมชั่วคราวระหว่างการเดินทางของผู้คน นอกจากนี้ในพื้นที่ใกล้เคียงกับบ้านถ้ำลอด เช่น บ้านเมืองแพม ฯลฯ พบกล้องยาสูบดินเผาและโบราณสถานสมัยล้านนา

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ หมู่บ้านตั้งอยู่บนเนินเขาริมน้ำลางจำนวน 2 ลูก แบ่งออกเป็นบ้านถ้ำลอดเหนือ และบ้านถ้ำลอดใต้ (หรือบ้านเหนือและบ้านใต้) มีห้วยแห้งอ่อนหรือห้วยแห้งน้อยอยู่ระหว่างเนินทั้งสอง แต่เป็นลำธารที่ไม่ไหลไม่ตลอดทั้งปี

ลักษณะทางธรณีวิทยา 

  • พื้นที่ของหมู่บ้านถ้ำลอดมีชุดหินด้วยกัน 2 ชุด คือ ชุดหินปูน และชุดหินตะกอน โดยพื้นที่หินปูนอยู่ทางบริเวณด้านตะวันตกของลำน้ำลาง ส่วนพื้นที่หินตะกอนอยู่ทางด้านตะวันออกของลำน้ำ หมู่บ้านตั้งอยู่ทางตะวันตกของรอยเลื่อน
  • ดังนั้นบ้านถ้ำลอดจึงมีธรณีสัณฐานเป็นแบบคาร์สต์ (karst) คือ ภูมิประเทศที่มีหินที่ผุกร่อนได้ง่ายด้วยน้ำ มักพบในเทือกเขาหินปูน ธรณีสัณฐานแบบนี้ประกอบด้วย ถ้ำ (cave) หลุมยุบ (sinkhole) และธารน้ำมุด และธรณีสัณฐานแบบไม่ใช่คาร์สต์ (non-karst) ซึ่งเป็นหินอัคนี หินตะกอนจำพวกหินทรายและหินโคลน ที่อยู่รอบ ๆ เทือกเขาหินปูน  
  • นอกจากนี้บริเวณรอบ ๆ ของหมู่บ้านมีที่ลานตะพักลำน้ำกระจายอยู่เป็นระยะตามริมน้ำลางทั้งสองฝั่ง แต่ไม่ได้มีขนาดกว้างใหญ่มากเพียงพอสำหรับการทำนาแบบพื้นที่ลุ่ม

แหล่งน้ำ น้ำลางเป็นลำน้ำหลักสายใหญ่ที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ซึ่งคนในชุมชนใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในการจับสัตว์น้ำมาบริโภคในชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพถ่อแพเพื่อการท่องเที่ยว นำนักท่องเที่ยวเข้าชมภายในถ้ำน้ำลอด รวมทั้งการนั่งแพยางล่องน้ำลาง สำหรับแหล่งน้ำหลักที่คนในชุมชนใช้เป็นน้ำประปาที่ต่อมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ คือ ห้วยแห่งอ่อน และห้วยปางช้าง ส่วนแหล่งน้ำที่ใช้ในการทำการเกษตร คือ น้ำลางและห้วยแห้งอ่อน อย่างไรก็ตามชาวบ้านจะนิยมใช้น้ำฝนในการทำไร่ทำนา เนื่องจากอยู่บนที่สูง  

ป่าไม้ ป่าไม้ในบ้านถ้ำลอดเป็นป่าผลัดใบ (deciduous forest) ซึ่งต้นไม้จะทิ้งใบหมดทั้งต้นในฤดูแล้งและผลิใบใหม่ในช่วงต้นฤดูฝน โดยประกอบด้วยป่าชนิดต่าง ๆ ดังนี้

  • ป่าเบญจพรรณ พบตามที่ราบเชิงเขา (300-800 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น ไม้สัก ไม้แดง ไม้ประดู่ รกฟ้า สมอไทย มะกอก ติ้ว ยอป่า ฯลฯ
  • ป่าเต็งรัง พบบริเวณสันเขาที่โล่งแจ้งและสูงชัน (800 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น เต็ง รัง พลวง ยาง มะเกลือ มะขามป้อม ก่อ ฯลฯ
  • ป่าไผ่ เป็นป่าขนาดเล็กที่ขึ้นปะปนกับป่าเบญจพรรณ พันธุ์ไม้ที่พบคือไผ่
  • ป่าบนเขาหินปูน พบในบริเวณพื้นที่หินปูน พันธุ์ไม้ที่พบเป็นไม้ผลัดใบ ไผ่ และพันธุ์ไม้ใบป่าดิบชื้น เช่น ไม้ในวงศ์ก่อ ยาง กล้วยป่า ผักกูด ฯลฯ รวมถึงเห็ด

ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนเป็นชาวไทใหญ่ และมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นบ้าง เช่น ชาวปะโอ ฯลฯ

ไทใหญ่, ปะโอ
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ประชากรในบ้านถ้ำลอดประกอบอาชีพทำเกษตรกรรมเป็นหลัก เช่น ปลูกกระเทียม ข้าวโพด งา ฯลฯ อาชีพอื่น ๆ เช่น รับราชการ ค้าขาย ประกอบธุรกิจส่วนตัว รับจ้างทั่วไป ฯลฯ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

คนในชุมชนส่วนใหญ่พูดภาษาไทใหญ่ ส่วนภาษาอื่น ๆ ที่ใช้ ได้แก่ ภาษาไทยถิ่นเหนือ (กำเมือง) และภาษาไทยกลาง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน. (2551). คู่มือการเรียนรู้แหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอดและเพิงผาบ้านไร่ อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน. กองทุนเอกอัครราชทูต เพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรม สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

รัศมี ชูทรงเดช และคณะ. (2550). รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะที่สอง (เล่มที่ 2:  ด้านโบราณคดี). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

รัศมี ชูทรงเดช และคณะ. (2564). รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์และพลวัตทางวัฒนธรรมบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน (เล่มที่ 2: ภาพรวมโบราณคดี). สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.).

อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล. (2550). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะที่สอง (เล่มที่ 6: การศึกษชาติพันธุ์วรรณาทางโบราณคดี). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.