ชุมชนเล็ก ๆ ที่มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ 2,120-1,250 ปีมาแล้ว หรือในสมัยวัฒนธรรมโลงไม้ พบแหล่งโบราณคดีถ้ำผีแมน ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านของชาวลาหู่แดง ซึ่งประเพณีของชาวลาหู่แดงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ
ชุมชนเล็ก ๆ ที่มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ 2,120-1,250 ปีมาแล้ว หรือในสมัยวัฒนธรรมโลงไม้ พบแหล่งโบราณคดีถ้ำผีแมน ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านของชาวลาหู่แดง ซึ่งประเพณีของชาวลาหู่แดงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ
หมู่บ้านวนาหลวงมีผู้คนมาตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เนื่องจากพบแหล่งโบราณคดี 3 แห่งดังนี้
- แหล่งโบราณคดีสันดอยวนาหลวง เป็นที่พักชั่วคราวในสมัยหินใหม่
- แหล่งโบราณคดีโรงเรียนราชประชา 34 เป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวในยุคก่อนประวัติศาสตร์ พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผา เครื่องมือหินกะเทาะแบบสุมาตราลิธ เครื่องมือหินแบบขูด และสะเก็ดหิน
- แหล่งโบราณคดีถ้ำหลังโรงเรียนราชประชา เป็นถ้ำผีแมน มีอายุอยู่ในสมัยวัฒนธรรมโลงไม้หรือสมัยโลหะ (2,120-1,250 ปีมาแล้ว) พบโลงไม้หรือโลงผีแมน
นอกจากนี้ในสมัยก่อน (สมัยรัตนโกสินทร์) หมู่บ้านวนาหลวงเป็นเส้นทางผ่านของกลุ่มคนที่เดินทางจากบ้านถ้ำลอดไปเมืองปาย นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่ชาวกะเหรี่ยงจากบ้านเมืองแพม อำเภอปางมะผ้า มารอรับสินค้าและของกินของใช้จากเมืองแม่ฮ่องสอน เช่น ข้าวสาร เกลือ น้ำตาล เสื้อผ้า ฯลฯ
หมู่บ้านวนาหลวงตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอปางมะผ้า มีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน ในหมู่บ้านประกอบด้วยพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำการเกษตร ป่าไม้ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ ส่วนที่เหลือเป็นที่ราบระหว่างหุบเขา มีแม่น้ำลางไหลผ่าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของชุมชน นอกจากนี้หมู่บ้านใช้น้ำจากการประปาส่วนภูมิภาคเพื่อการอุปโภคบริโภค ในขณะที่หมู่บ้านอื่นในตำบลถ้ำลอดส่วนใหญ่ใช้น้ำประปาภูเขา
ภูมิอากาศของบ้านวนาหลวง แบ่งเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม มีอากาศร้อนอบอ้าวทั่วไป โดยเฉพาะในเดือนเมษายนมีอากาศร้อนอบอ้าวมากที่สุด ฤดูฝนเริ่มประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นระยะที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าสู่ประเทศไทยทางตอนเหนือ อากาศจะเริ่มชุ่มชื้นและมีฝนตกชุกตั้งแต่ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือสิงหาคม และฤดูหนาวเริ่มประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย อากาศโดยทั่วไปจะหนาวเย็นและแห้ง เดือนที่มีอากาศหนาวที่สุดคือ มกราคม
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านถ้ำลอด ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านผามอน ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลสบป่อง อำเภอปางมะผ้า
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลสบป่อง อำเภอปางมะผ้า
ปัจจุบันบ้านวนาหลวงเป็นหมู่บ้านของชาวลาหู่แดง มีประชากรทั้งหมด 1,086 คน (ข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2567)
ลาหู่คนในชุมชนบ้านวนาหลวงทำเกษตรกรรมเป็นหลัก เช่น ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ไก่ วัวหรือควาย ฯลฯ วัฒนธรรมของลาหู่ต้องใช้หมูและไก่ในพิธีกรรม เช่น ในงานเลี้ยงวันปีใหม่จะใช้หมูดำเป็นของเซ่นให้กับเจ้าที่และเป็นอาหารในงานเลี้ยงของในหมู่บ้าน โดยจะใช้ส่วนหัวและเนื้อหมู
ประเพณีกินวอ เป็นการเฉลิมฉลองปีใหม่ ในภาษาลาหู่เรียกว่า ประเพณีเขาะเจ๊าเว แปลว่า ปีใหม่การกินวอ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บรรดาญาติมิตรได้กลับมาร่วมงานกันที่บ้านอย่างพร้อมหน้า ประเพณีนี้สำคัญต่อชาวลาหู่มาก เพราะเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ปีใหม่ของลาหู่ไม่ได้กำหนดวันที่เฉพาะเจาะจงแต่จะตกลงร่วมกันในหมู่บ้าน โดยจะจัดในช่วงที่สมาชิกในหมู่บ้านส่วนใหญ่เสร็จสิ้นจากงานที่ทำหรือเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว ดังนั้นการกินวอของลาหู่ในหมู่บ้านต่าง ๆ อาจจะจัดไม่พร้อมกัน แต่ก็อยู่ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม หรือเมษายน และจะจัดงานนานถึง 12 วัน ซึ่งแบ่งการฉลองเป็น 2 ช่วง คือ ช่วง "เขาะหลวง" หรือ "ปีใหญ่" คือ ช่วง 6 วันแรก เป็นการฉลองสำหรับผู้หญิง และช่วง "เขาะน้อย" หรือ "ปีเล็ก" คือ ช่วง 6 วันหลังเป็นการฉลองสำหรับผู้ชาย โดยทั้งสองช่วงจะมีเวลาว่างหรือหยุดกิจกรรมในช่วงระหว่างกลาง 1-2 วัน ปัจจุบันนี้ยังจัดประเพณีกินวอ 2 ช่วงเหมือนเดิม แต่ทั้งผู้หญิงและผู้ชายสามารถฉลองร่วมกันได้
ในวันปีใหม่ นอกจากจะใช้หมูดำเป็นเครื่องเซ่นและใช้เป็นอาหารในงานเลี้ยงแล้ว ยังมีข้าวปุ๊กหรืออ่อผุ ซึ่งทำมาจากข้าวเหนียวนึ่งที่ตำให้เหนียวคล้ายกับโมจิของญี่ปุ่น แล้วก็จะปั้นให้เป็นก้อนกลม ๆ นอกจากนี้ตอนกลางคืนจะมีการเต้นรำบนลานจะคึทุกคืน ตั้งแต่หัวค่ำไปจนถึงรุ่งสาง ตอนกลางวันมีการรดน้ำดำหัวผู้อาวุโส
ภาษาลาหู่และภาษาไทยภาคกลาง
องค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำลอด. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน. https://www.thumlodsao.go.th/
อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล. (2550). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะที่สอง (เล่มที่ 6: การศึกษาชาติพันธุ์วรรณาทางโบราณคดี). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.