Advance search

ชุมชนคนเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ โป่งน้ำร้อนเมืองแปง

หมู่ที่ 1
เมืองแปง
เมืองแปง
ปาย
แม่ฮ่องสอน
ชนม์ชนก สัมฤทธิ์
14 มิ.ย. 2024
ชนม์ชนก สัมฤทธิ์
14 มิ.ย. 2024
ชนม์ชนก สัมฤทธิ์
14 มิ.ย. 2024
เมืองแปง

มาจากพระนามของพระนางสุวรรณคำแปง โดยพระนางและนางบริวารชอบไปเล่นน้ำที่แม่น้ำสายหนึ่งซึ่งอยู่ในอาณาเขตของเมืองอยู่เป็นประจำ ต่อมาพระนางสุวรรณคำแปงต้องจากลาบ้านเมืองไปเมืองสิงหล พระนางจึงโศกเศร้าเสียใจและได้ประกาศไว้แก่ชาวเมืองว่า แม่น้ำสายที่พระนางชอบไปเล่นน้ำนี้มีชื่อว่า “แม่น้ำแปง” และเมืองนี้ถูกตั้งชื่อว่า “เมืองแปง” จนถึงปัจจุบัน


ชุมชนคนเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ โป่งน้ำร้อนเมืองแปง

เมืองแปง
หมู่ที่ 1
เมืองแปง
ปาย
แม่ฮ่องสอน
58130
19.2115913
98.36837277
องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแปง

จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2245-2345 บ้านเมืองแปงเดิมมีชื่อว่า "เมืองทาผาน้อย" คำว่า "ผาน้อย" มาจากคำว่า "ผาบาท" คือผาที่มีรอยพระพุทธบาท โดยเมืองทาผาน้อยมีพระยานุเวเป็นพระยากะเหรี่ยงเจ้าผู้ปกครองเมือง ในสมัยพระยานุเวมีประชากรอยู่หลายกลุ่ม ได้แก่ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ และขมุปะปนกัน เมื่อสิ้นสมัยพระยานุเว เมืองทาผาน้อยได้กลายเป็นเมืองร้างเพราะภัยสงคราม

ต่อมาได้มีพระนางสุวรรณคำแปง พร้อมด้วยขุนคำเมืองใหม่ มาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ที่บริเวณเมืองทาผาน้อยอยู่ประมาณ 3 ปี (ไม่ปรากฏว่าสร้างปีใด) กล่าวกันว่าพระนางสุวรรณคำแปงมีสิริโฉมงดงามมาก ผิวกายของพระนางยามเมื่อต้องแสงแดดตอนเช้าจะเป็นสีชมพูระเรื่อ ยามกลางวันผิวกายของพระนางจะเป็นสีขาวนวล ยามเย็นผิวกายของพระนางจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน

พระนางสุวรรณคำแปงและนางบริวารชอบไปเล่นน้ำที่แม่น้ำสายหนึ่งซึ่งอยู่ในอาณาเขตของเมืองทาผาน้อยเป็นประจำ แม่น้ำสายนี้มีความงดงามและน้ำใสมาก ต่อมาพระนางสุวรรณคำแปงมีความจำเป็นบางอย่างที่จะต้องเดินทางไปยังเมืองสิงหล ทำให้พระนางสุวรรณคำแปงเศร้าโศกเสียใจเป็นอันมาก พระนางจึงได้ประกาศไว้แก่ชาวเมืองว่าแม่น้ำสายที่พระนางชอบไปเล่นน้ำนี้มีชื่อว่า “แม่น้ำแปง” และเมืองนี้ถูกตั้งชื่อว่า “เมืองแปง” ตามชื่อของพระนาง ซึ่งเรียกมาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อสิ้นสมัยพระนางเมืองแปง เมืองแปงก็กลายเป็นเมืองร้างอีกครั้ง เนื่องจากชาวเมืองต้องหลบหนีภัยสงครามกับเมียนมา แต่ไม่ปรากฏว่าเป็นเวลานานเท่าใด จึงมีผู้คนที่อื่นอพยพมาตั้งถิ่นฐานอีกครั้งเมื่อประมาณ พ.ศ. 2415 ครั้งนี้เป็นชาวกะเหรี่ยง โดยเป็นสายตระกูลของนายคำเลา มูโยม นายพอ เฮิมนาง และนายทูล เฮิมนาง มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ขุนแปง และต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2475 มีผู้อพยพมาจากที่อื่นเพิ่มเติมอีก 3 ตระกูล ดังนี้ ตระกูลมูลสุข ได้แก่ นายดา มูลสุข นายตา มูลสุข นายสม มูลสุข นายคำ มูลสุข และนายแสง มูลสุข ซึ่งเป็นพี่น้องกัน 5 คน ตระกูลสุขก๋าย้ายมาจากอำเภอสะเมิง คือ นายก๋อง สุขก๋า และนายคำ สุขก๋า และตระกูลโนจาย้ายมาจากอำเภอสันป่าตอง คือนายติ๊บ โนจา และได้สืบลูกหลานมาจนถึงทุกวันนี้

บ้านเมืองแปงมีหย่อมบ้านบริวาร 1 แห่ง คือ บ้านห้วยบอง ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวปกาเกอะญอ ส่วนหมู่บ้านเมืองแปงเป็นหมู่บ้านคนเมือง

จากข้อมูลทางโบราณคดี

จากหลักฐานทางโบราณคดีทำให้ทราบว่าบ้านเมืองแปงมีผู้คนตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมหินกะเทาะ (10,000-5,000 ปีมาแล้ว) ถึงสมัยล้านนา (ช่วงพุทธศตวรรษที่ 21-22)

  • แหล่งโบราณคดีโป่งน้ำร้อนเมืองแปง โครงการสืบค้นและจัดการมรดกทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนในอำเภอปาย-ปางมะผ้า-ขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน นำโดยศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช ได้ขุดค้นและศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองแปง ทำให้ทราบว่าคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ในสมัยวัฒนธรรมหินกะเทาะมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การเลือกที่อยู่อาศัย การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ (การผลิตและใช้เครื่องมือหินกะเทาะ) การเลือกที่ตั้งถิ่นฐาน โดยคนก่อนประวัติศาสตร์มักจะเลือกอยู่อาศัยในทำเลที่มีความปลอดภัย และใกล้แหล่งทรัพยากร ทั้งวัสดุสําหรับทําเครื่องมือหินกะเทาะ หรือ อาหาร และทำให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ชุมชนเมืองแปงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน เช่น การอยู่ที่อาศัยชั่วคราว การใช้เป็นแหล่งผลิตเครื่องมือหิน การทำอาหารให้สุกก่อนรับประทาน การสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายในฤดูหนาว ฯลฯ
  • แหล่งโบราณคดีสมัยล้านนา นอกจากในหมู่บ้านอื่น ๆ ในแอ่งที่ราบเมืองแปง อำเภอปาย เช่น บ้านใหม่ดอนตัน บ้านสบสา ฯลฯ จะพบแหล่งโบราณคดีสมัยล้านนาเป็นจำนวนมากแล้ว บ้านเมืองแปงก็เป็นอีกที่หนึ่งที่พบร่องรอยของผู้คนในสมัยล้านนาเช่นเดียวกัน ได้แก่ แหล่งโบราณสถานดอยต๊อกป๊อก แหล่งโบราณสถานพระเจ้าหัวกุด และแหล่งโบราณสถานห้วยพระนอน โดยมักปรากฏแนวอิฐที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นโบราณสถานตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน ผลการสํารวจพบโบราณวัตถุประเภทชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเป็นจํานวนมากทั้งเครื่องถ้วยจีนราชวงศ์หมิง ราชวงศ์ชิง และภาชนะจากแหล่งเตาล้านนา เช่น เตาสันกำแพง เตาเวียงกาหลง ฯลฯ

บ้านเมืองแปงตั้งอยู่ในแอ่งที่ราบเมืองแปง ซึ่งเหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรม และยังมีโป่งน้ำร้อนและน้ำพุร้อนอีกด้วย มีสภาพแวดล้อมรอบ ๆ หมู่บ้านเป็นภูเขา แหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชน คือ แม่น้ำปาย แม่น้ำแปง คลองพระบาท ระบบน้ำประปา หมู่บ้าน และฝาย

ภูมิอากาศของบ้านเมืองแปงแบ่งออกเป็น 3 ฤดู ดังนี้ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้อากาศชุ่มชื้นฝนจะตกชุกมาก ซึ่งจะมีปริมาณมากที่สุดในเดือนสิงหาคม และฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และความกดอากาศสูงจากประเทศจีน อากาศจะหนาวเย็นมาก

โป่งน้ำร้อนเมืองแปง

ตั้งอยู่บริเวณบ้านเมืองแปง ตำบลเมืองแปง เป็นบ่อน้ำพุร้อนขนาดใหญ่ท่ามกลางภูเขา และใจกลางพื้นที่ทุ่งนาของชุมชนเมืองแปง ใกล้กับหน่วยพิทักษ์ป่าแม่ปิง ห่างจากอำเภอปายประมาณ 29 กิโลเมตร อุณหภูมิของน้ำอยู่ที่ประมาณ 95 องศาเซลเซียส จึงไม่สามารถลงแช่น้ำได้ และเดือดพุ่งขึ้นเป็นระยะ โป่งน้ำร้อนเมืองแปงมีลักษณะเด่นไม่เหมือนโป่งอื่น ๆ เพราะมีสายน้ำเล็ก ๆ ไหลออกมาจากบ่อคล้ายลำธารขนาดเล็ก และจะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำแปงซึ่งเป็นน้ำเย็น โป่งน้ำร้อนเมืองแปงมีไอร้อนและไอน้ำที่ลอยคลุ้งผสมกับกลิ่นกำมะถัน ในช่วงฤดูหนาว ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวนิยมมานั่งรับไออุ่นกันที่ริมโป่งน้ำร้อนแห่งนี้

ประชากรของหมู่บ้านเมืองแปงเป็นคนเมืองหรือคนพื้นเมืองภาคเหนือ ส่วนหย่อมบ้านบริวารที่ชื่อว่าบ้านห้วยบองมีประชากรเป็นชาวปกาเกอะญอ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
  • แอ่งที่ราบเมืองแปงเป็นพื้นที่ซึ่งมีแหล่งโบราณคดีจํานวนมาก และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะโป่งนํ้าร้อน ซึ่งสภาพแวดล้อมโดยรอบยังไม่มีการรุกล้ำจากการท่องเที่ยวมากนัก
  • ชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความเคารพต่อสถานที่และพยายามหลีกเลี่ยงการรบกวนแหล่งโบราณสถาน เนื่องมาจากความเชื่อของชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมโดยอ้อม ช่วยให้โบราณสถานยังคงอยูในสภาพที่สมบูรณ์ทั้งบริเวณเนินของโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่อยู่รอบ ๆ แหล่งโบราณคดี

ประชากรของหมู่บ้านเมืองแปงสื่อสารด้วยภาษาไทยถิ่นเหนือหรือคำเมือง ส่วนประชากรในบ้านห้วยบองสื่อสารด้วยภาษากะเหรี่ยงเป็นหลัก

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). โป่งน้ำร้อนเมืองแปง. สืบค้น 24 มิถุนายน 2567, https://thai.tourismthailand.org/

รัศมี ชูทรงเดช และคณะ. (2552). โครงการสืบค้นและการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนในอำเภอปาย-ปางมะผ้า-ขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน (เล่มที่ 2: ด้านโบราณคดี). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

รัศมี ชูทรงเดช และคณะ. (2556). โครงการสืบค้นและการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนในอำเภอปาย-ปางมะผ้า-ขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะที่ 3 (เล่มที่ 2: ภาพรวมโบราณคดี). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแปง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน. (ม.ป.ป.). ประวัติและข้อมูลสภาพทั่วไป. สืบค้น 24 มิถุนายน 2567, https://muangpang.go.th/