ชุมชนที่มีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่สำคัญ เช่น โป่งน้ำร้อนเมืองแปง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นแหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมหินกะเทาะ
ชุมชนที่มีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่สำคัญ เช่น โป่งน้ำร้อนเมืองแปง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นแหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมหินกะเทาะ
หมู่บ้านใหม่ดอนตันมีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยล้านนา เนื่องจากนักโบราณคดีพบแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ (10,000-5,000 ปีมาแล้ว) คือ โป่งน้ำร้อนเมืองแปง ซึ่งพบเครื่องมือหินกะเทาะเป็นจำนวนมาก และพบแหล่งโบราณคดีสมัยล้านนา (พุทธศตวรรษที่ 21-22) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ แหล่งที่พักชั่วคราว (แหล่งโบราณคดีบ้านใหม่ดอนตัน-โป่งน้ำพุร้อน) พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง และภาชนะดินเผาจากเตาเวียงกาหลง และแหล่งโบราณสถานสมัยล้านนา (แหล่งโบราณคดีบ้านใหม่ดอนตัน 2) พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดิน เนื้อแกร่ง และเนื้อกระเบื้อง รวมทั้งพบภาชนะดินเผาจากเตาเวียงกาหลง เตาพาน และเตาหริภุญไชย (รัศมี ชูทรงเดช และคณะ 2556, 114) ปัจจุบันบ้านใหม่ดอนตัน เป็นชุมชนคนเมืองหรือคนพื้นเมืองภาคเหนือ
บ้านใหม่ดอนตันตั้งอยู่ในตำบลเมืองแปง อำเภอปาย โดยหมู่บ้านตั้งอยู่ในแอ่งที่ราบเมืองแปง ซึ่งเหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรม และยังมีโป่งน้ำร้อนเมืองแปงด้วย มีสภาพแวดล้อมรอบ ๆ หมู่บ้านเป็นภูเขา แหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชน คือ แม่น้ำปาย แม่น้ำแปง คลองพระบาท ระบบน้ำประปา หมู่บ้าน และฝาย
ภูมิอากาศของบ้านใหม่ดอนตันมีด้วยกัน 3 ฤดู คือ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้อากาศชุ่มชื้นฝนจะตกชุกมาก ซึ่งจะมีปริมาณมากที่สุดในเดือนสิงหาคม และฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และความกดอากาศสูงจากประเทศจีน อากาศจะหนาวเย็นมาก
ประชากรของบ้านใหม่ดอนตันเป็นคนเมืองหรือคนเหนือ
คนส่วนใหญ่ในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างทั่วไป
ประชากรของบ้านใหม่ดอนตันสื่อสารด้วยภาษาไทยถิ่นเหนือหรือคำเมืองเป็นหลัก
รัศมี ชูทรงเดช และคณะ. (2556). โครงการสืบค้นและการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนในอำเภอปาย-ปางมะผ้า-ขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะที่ 3 (เล่มที่ 2: ภาพรวมโบราณคดี). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแปง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน. (ม.ป.ป.). ประวัติและข้อมูลสภาพทั่วไป. สืบค้น 24 มิถุนายน 2567, https://muangpang.go.th/