หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่และยังคงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแบบชุมชนเกษตร มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รวมถึงอุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของชุมชน
ชื่อ "ทุ่งมะส้าน" มีที่มาจากหมู่บ้านมีไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งขึ้นตามริมห้วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวไทยใหญ่เรียกต้นไม้ชนิดนั้นว่า "โท้งหมากส้าน" (ภาษาเหนือเรียกส้านหรือมะส้าน ภาษาไทยภาคกลางเรียกมะตาด) เมื่อผลสุกเต็มที่จะมีสีส้ม กลิ่นหอม และเป็นอาหารของสัตว์น้ำ
หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่และยังคงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแบบชุมชนเกษตร มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รวมถึงอุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของชุมชน
บ้านทุ่งมะส้านก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2418 โดยพ่อเฒ่าคำกับพ่อเฒ่าตี้หลงเป็นคนกลุ่มแรกที่อพยพหนีภัยโจร ผู้ร้ายจากพม่า เข้ามาตั้งบ้านอยู่กับครอบครัวบริเวณนี้ เนื่องจากที่ตั้งมีความปลอดภัย มีพื้นที่ทำกิน และเป็นเส้นทางผ่านระหว่างแม่ฮ่องสอนกับพม่าที่ต่อการค้าขายระหว่างสองเมืองนี้ พ่อเฒ่าคำได้นำมะพร้าวติดตัวมาด้วยระหว่างอพยพมาบ้านทุ่งมะส้าน เมื่อมาถึงและตั้งบ้านเรือนเรียบร้อยแล้ว จึงปลูกมะพร้าวไว้ในบ้านของตนเอง มะพร้าวต้นนั้นเจริญเติบโตมาพร้อมกับการขยายหมู่บ้าน ชาวบ้านเรียกมะพร้าวต้นนี้ว่า “หมากป้าวเลา” เนื่องจากมีอายุมาก ลำต้นสูง ตั้งตรงมองเห็นแต่ไกล แต่ใน พ.ศ. 2548 มะพร้าวได้หักโค่นลง
เมื่ออยู่อาศัยได้ในระยะหนึ่งก็เริ่มมีชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่นทยอยย้ายสมทบเข้ามาเรื่อย ๆ เช่น บ้านหลุกตอง บ้านนาปูป้อม บ้านห้วยผา ฯลฯ รวมถึงหมู่บ้านอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เนื่องจากบ้านทุ่งมะส้านมีทำเลที่ดี ชุมชนจึงกลายเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้น ขยายพื้นที่ทำกิน
ต่อมาในปี พ.ศ 2461 มีการแต่งตั้งนายจ่าก่าตั๋นขึ้นเป็นผู้นำหมู่บ้านห้วยมะส้าน แต่ตอนนั้นห้วยมะส้านยังคงเป็นบ้านบริวารของบ้านห้วยผา เมื่อสิ้นนายจ่าก่าตั๋นแล้ว นายหลง นายออง และนายกุ่งหม่าได้ขึ้นเป็นผู้นำสืบต่อมา
พ.ศ. 2503 อำเภอประกาศยกฐานะขึ้นเป็นหมู่บ้านทุ่งมะส้าน หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
หมู่บ้านทุ่งมะส้านเคยประสบเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ 2 ครั้ง ครั้งแรกปี พ.ศ. 2516 ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งจังหวัดแม่ฮ่องสอน แม่น้ำแม่สะงีได้ท่วมที่นาและพื้นที่บางส่วนของหมู่บ้าน ทำให้ต้องใช้เวลาหลายปีในการฟื้นฟูพื้นที่นาให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
เมื่อปี พ.ศ. 2546 เกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง ทำให้หลายครอบครัวต้องสูญเสียทรัพย์สิน แต่ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ
บ้านทุ่งมะส้านเป็นชุมชนที่มีทำเลที่ดี เนื่องจากมีพื้นที่ราบไว้สำหรับทำนา มีแม่น้ำแม่สะงีไหลผ่านตลอดปี มีเนินเขาสำหรับปลูกข้าวไร่ ถั่ว พริกและงา มีภูเขาล้อมรอบทำให้โจรผู้ร้ายไม่สามารถสังเกตเห็นได้ในระยะไกล ชุมชนจึงกลายเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้นเพื่อขยายพื้นที่ทำกิน
ประชากรในชุมชนเป็นชาวไทใหญ่
ไทใหญ่ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม ได้แก่ ปลูกข้าวไร่ ถั่ว พริกและงา นอกจากนี้ค้าขายสินค้าและวัวควายกับพม่า เมื่อประมาณ พ.ศ. 2528 มีการส่งเสริมให้ปลูกกระเทียมเพื่อสร้างรายได้หลักให้กับชุมชน และมีคนในชุมชนส่วนหนึ่งออกไปทำงานนอกหมู่บ้านส่งเงินมาให้ครอบครัว
ผู้นำชุมชน
- ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านเป็นคนแรก : พ่อเฒ่าคำกับพ่อเฒ่าตี้หลง
- พ.ศ. 2461 นายจ่าก่าตั๋น จากนั้นเป็นนายจ่าก่าตั๋นแล้ว นายหลง นายออง และนายกุ่งหม่า
- พ.ศ. 2503 อำเภอประกาศยกฐานะขึ้นเป็นหมู่บ้านทุ่งมะส้าน หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และได้แต่งตั้งให้นายตี๊ แสงวารี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอย่างไม่เป็นทางการมาก่อน 6 ปี เป็นผู้ใหญ่บ้าน นายตี๊มีส่วนสำคัญในการสร้างโรงเรียนและวัด
- ต่อมานายวีระ ปฐมปัญญาดี ขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน และพัฒนาหมู่บ้าน เช่น สร้างถนนลาดยาง สร้างระบบประปา สร้างระบบไฟฟ้าในหมู่บ้าน ฝึกหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
- หลังจากนั้น นายคำเจ่ง แสงวารี ขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน และเป็นผู้ที่ขอติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะสำหรับใช้ในหมู่บ้าน
- ผู้ใหญ่บ้านคนต่อมาคือ นายพล จันทร์วิไลลักษณ์ เป็นผู้ที่มีฝีมือในงานช่างทุกรูปแบบ เป็นผู้ก่อสร้างเจดีย์วัดทุ่งมะส้าน และเคยร่วมกับกำนันบรรยงค์ ลอก๊ะ และอดีตนายก อบต.ห้วยผา เป็นผู้บุกเบิกพัฒนาถ้ำปลา (อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ บริเวณบ้านห้วยผาในปัจจุบัน) ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน จากที่ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ด้วยคำร่ำลือเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์และความศักดิ์สิทธิ์
ภาษาไทใหญ่
ฐานข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับไทใหญ่ ศูนย์วิจัยวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านทุ่งมะส้าน. http://www.taiyai.org/taiyaidata/
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน. (2564). กลุ่มชาติพันธุ์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).