Advance search

เกอแนปอคี, ห้วยผึ้ง

ชุมชนชาวปกาเกอะญอที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน

หมู่ที่ 2
ห้วยผึ้ง
ท่าผาปุ้ม
แม่ลาน้อย
แม่ฮ่องสอน
ชนม์ชนก สัมฤทธิ์
14 มิ.ย. 2024
ชนม์ชนก สัมฤทธิ์
14 มิ.ย. 2024
ชนม์ชนก สัมฤทธิ์
14 มิ.ย. 2024
ห้วยผึ้ง
เกอแนปอคี, ห้วยผึ้ง

"ห้วยผึ้ง" ในภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า "เกอแนปอคี" ซึ่งมีที่มาจากในสมัยก่อนหมู่บ้านมีป่าและสัตว์ป่าที่อุดมสมบูรณ์ และมีต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งมีผึ้งมาทำรังหลายพันรัง ชาวบ้านจึงช่วยกันรักษาไว้เพราะเชื่อว่ามีผี และต่อมาต้นไม้นี้ได้ตายไปเอง


ชุมชนชาวปกาเกอะญอที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน

ห้วยผึ้ง
หมู่ที่ 2
ท่าผาปุ้ม
แม่ลาน้อย
แม่ฮ่องสอน
58120
18.306832985271846
98.0346334805087
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าผาปุ้ม

เดิมชุมชนนี้มีชาวลั๊วะจากบ้านดงอาศัยอยู่ เรียกชื่อชุมชนว่า "ก่อสะลี" แปลว่า เขตติดต่อ มีเรื่องเล่าว่าหมู่บ้านมีเจ้าเมืองหรือผู้ปกครองชื่อ "โข่วีละกา" ในแต่ละปีเจ้าเมืองจะส่งตัวแทนมาเก็บส่วยจากทุกหย่อมบ้าน ส่วยที่เรียกเก็บนั้น เช่น ข้าวเปลือก สัตว์เลี้ยง ฯลฯ ข้าวเปลือก จะเรียกเก็บ 1 กาตี (กาตีเป็นภาชนะใส่ข้าวเปลือกมีขนาดใหญ่กว่า 1 ถัง) ส่วนสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ช้าง หมู เป็ด ไก่ ขึ้นอยู่กับเจ้าเมืองว่าต้องการอะไร เช่น หากต้องการไก่ 20 ตัว หย่อมบ้านนั้นต้องจัดหาให้ ถ้าไม่นำมาให้ คณะตัวแทนที่มาเก็บส่วยจะจับผู้คนในหย่อมบ้านนั้นมัดติดกับต้นไม้แล้วเฆี่ยนตีอย่างทรมาน ทำให้ทุกคนเกิดความกลัวเกรงเป็นอันมากจึงไม่กล้าขัดขืน

ในราวสมัยรัชกาลที่ 5 มีชายคนหนึ่งชื่อนายพาโล มาจากบ้าน "ปะน่อยโพคี" (บ้านขุนห้วยหมากหนุน ปัจจุบันไม่มีหมู่บ้านนี้แล้ว) นายพาโลมีชื่อที่เรียกขานกันว่า "พือข่าซู" (ข่าซู แปลว่า หนวดเครา) หรือลุงหนวด เนื่องจากเขาไว้หนวดเครายาวมากจนต้องมัดเก็บรวบไว้ที่คอ ต่อมานายพาโลแต่งงานกับหญิงสาวชื่อ "อิจา" เป็นชาวลั๊วะบ้านดง (บ้านดงในปัจจุบัน) เมื่อแต่งงานแล้วได้พากันมาสร้างครอบครัวในชุมชนนี้ (หมู่บ้านห้วยผึ้งปัจจุบัน) จนกระทั่งมีบุตรหลานสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน 

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 รัฐบาลได้ส่งเสริมการศึกษาให้ราษฎร นายพาโลได้ส่งหลานของตน 3 คนไปเรียนที่เมืองขุนยวม (อำเภอแม่สะเรียงในปัจจุบัน) คือนายเคอะเนอะ (นายเสนาะ วนาสถิตย์) นายจะตี (นายโชติ ถิ่นวนา) และนายพะจอ (นายจอ เรืองสวัสดิ์) จนกระทั่งจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และกลับมาเป็นครูจนเกษียณ ปัจจุบันบุคคลทั้ง 3 เสียชีวิตแล้ว

หมู่บ้านห้วยผึ้งในปัจจุบันมีหย่อมบ้าน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านกิ่ว บ้านสามหมอก บ้านแม่ปอถ่า และบ้านห้วยผึ้งใต้

เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนที่ราบระหว่างหุบเขา ภูมิประเทศส่วนใหญ่ของหมู่บ้านเป็นภูเขาสลับซับซ้อนและอยู่ในเขตพื้นที่สงวน บริเวณบ้านจะเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์เลี้ยง เช่น หมูดำ ไก่ สุนัข ฯลฯ แหล่งน้ำที่สำคัญคือแม่น้ำยวมและลำห้วยซึ่งไหลผ่านหมู่บ้านตลอดทั้งปี และระบบประปาของหมู่บ้าน ป่าไม้ของหมู่บ้านเป็นป่าเบญจพรรณ นอกจากนี้คนในชุมชนทำนาข้าวขั้นบันไดในพื้นที่ที่ใกล้กับลำห้วย และปลูกข้าวไร่บนภูเขา

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านแม่เตี๋ยะน้อย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านโกแป และบ้านสามหมอก
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านโกแป

ภูมิอากาศ แบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล ดังนี้

  • ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน
  • ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน
  • ฤดูหนาว ระหว่างเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์

ประชากรในชุมชนเป็นชาวปกาเกอะญอ 

ปกาเกอะญอ
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชาวปกาเกอะญอในบ้านห้วยผึ้งมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติ และมีความเชื่อเรื่อง "ผี" ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกสถานที่มีผีที่ปกปักษ์รักษาอยู่ทั้งป่าและน้ำ ในอดีตมีความเชื่อว่าในต้นไม้ใหญ่มีผีอาศัยอยู่จึงไม่มีใครกล้าไปตัดเผื่อมาใช้ประโยชน์ การสร้างบ้านของชาวปกาเกอะญอจึงใช้เพียงไม้ไผ่และใบตองตึง

ในการทำไร่ ชาวบ้านจะมีประเพณีการเลี้ยงบูชาผีในทุกขั้นตอน เช่น ก่อนจะถางไร่ชาวบ้านจะทำพิธีกรรมเลี้ยงผีเพื่อขอพื้นที่ในการทำการเกษตร เมื่อถึงระยะการเพาะปลูกก็จะทำพิธีกรรมในการเลี้ยงผีเพื่อให้ผีดูแลรักษาพืชผลทางการเกษตร จนถึงระยะการเก็บเกี่ยวก็จะทำพิธีกรรมเลี้ยงขอบคุณผีเป็นครั้งสุดท้ายที่ดูแลรักษาพืชผลทางการเกษตรให้ตลอดทั้งปี หากผู้ใดไม่ทำตามประเพณี คนในครอบครัวหรือคนในหมู่บ้านก็จะเจ็บป่วย ด้วยความเชื่อดังกล่าวส่งผลให้ชาวบ้านห้วยผึ้งมีการอนุรักษ์น้ำและป่าไม้ จนเกิดเป็นกฎกติกาและข้อห้ามต่าง ๆ ของชุมชน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาปกาเกอะญอ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เบญจมาศ เป็งเรือน. (2558). แนวทางการจัดการที่ดินของท้องถิ่น บ้านห้วยผึ้ง ตำบลท่าผาปุ้ม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน. การศึกษาเฉพาะเรื่องตามหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาบัณฑิตอาสาสมัคร วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอน. (ม.ป.ป.). อำเภอแม่ลาน้อย. https://www.maehongson.go.th/new/mae-la-noi/

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน. (2564). กลุ่มชาติพันธุ์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

องค์การบริหารส่วนตำบลท่าผาปุ้ม. (ม.ป.ป.). ประวัติความเป็นมาตำบลท่าผาปุ้ม. http://thaphapum.go.th/content/history