สบป่องเป็นพื้นที่ชุมทางของคนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากเป็นทางผ่านระหว่างอำเภอปาย-อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ติดต่อค้าขายของคนในอำเภอปางมะผ้า มีกาดนัดวันอังคารซึ่งเป็นตลาดที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ออกมาซื้อขายสินค้าอุปโภคและบริโภค
คำว่า “สบป่อง” เป็นภาษาไทใหญ่ คำว่า “สบ” แปลว่า “ปาก” และคำว่า “ป่อง” แปลว่า “ทะลุหรือบรรจบ” ดังนั้น “สบป่อง” จึงหมายถึงจุดที่มีแม่น้ำหรือลำห้วยสองสายไหลมาบรรจบกัน ในที่นี้คือจุดที่ลำห้วยแม่อูมองไหลมาบรรจบกับน้ำลาง
สบป่องเป็นพื้นที่ชุมทางของคนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากเป็นทางผ่านระหว่างอำเภอปาย-อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ติดต่อค้าขายของคนในอำเภอปางมะผ้า มีกาดนัดวันอังคารซึ่งเป็นตลาดที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ออกมาซื้อขายสินค้าอุปโภคและบริโภค
หมู่บ้านสบป่องเป็นชุมชนของคนพื้นเมืองภาคเหนือ หรือคนเมือง หรือคนล้านนา ผสมกับชาวไทใหญ่ (ไต) และคนไทยภาคกลาง แต่เดิมพื้นที่บ้านสบป่องเป็นบริเวณที่มีป่าไม้สมบูรณ์มาก ไม่มีบ้านเรือนหรือผู้คนอาศัยอยู่ แต่เป็นทางผ่านหรือจุดพักแรมของผู้คนที่เดินทางจากอำเภอปายไปยังอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
กลุ่มผู้บุกเบิก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 ได้มีชาวบ้านจากอำเภอปายเดินทางเข้ามาล่าสัตว์และหาของป่า ทำให้ได้พบว่าพื้นที่บริเวณนี้มีภูมิประเทศที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกและอยู่อาศัย เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบกว้างและอยู่ใกล้แหล่งน้ำ โดยกลุ่มอพยพกลุ่มแรก คือ กลุ่มของนายตั๋น ใหม่ฟู นายชื่น สุรินทร์ นายหวานตี๊ นายอินตา และนายจองจาย ซึ่งอพยพมาจากบ้านทุ่งโป่ง อำเภอปาย เข้ามาตั้งบ้านเรื่อนและบุกเบิกที่ทำกิน ทำไร่ ทำนา ทำสวน และเลี้ยงสัตว์ ในปีเดียวกันมีการตั้งสถานีตำรวจภูธรอำเภอปางมะผ้า ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านสบป่อง ห่างออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร
พ.ศ. 2509 มีชาวบ้านจากบ้านแม่เย็น บ้านแม่ฮี้ อำเภอปาย ซึ่งประกอบด้วยครอบครัวนายติ๊บ นวนคำ นายหลู่ คำฟู นายจายหลวง คำฟู นางใบ มะลิดวง อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนและบุกเบิกที่ทำกิน ไร่ นา สวน และเลี้ยงสัตว์ที่บริเวณ “ปากไม้แดง”
ชุมทางของผู้คน
ในระหว่างนั้น ชาวบ้านสบป่อง ชาวบ้านปากไม้แดง รวมทั้งชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง ได้แก่ บ้านเมืองแพม (ชุมชนกระเหรี่ยง) บ้านดอยอ้น บ้านน้ำริน (ชุมชนลีซู) ต่างก็ต้องเดินทางไปหาซื้อเครื่องอุปโภค-บริโภคกันที่อำเภอปายซึ่งใกล้ที่สุด การเดินทางสัญจรในช่วงนั้นต้องอาศัยการเดินเท้าเป็นหลัก และใช้วัวต่างและม้าต่าง หรือคนในการขนส่งสัมภาระต่าง ๆ เนื่องจากยังไม่มีถนน
ต่อมาครอบครัวของนายติ๊บ นวนคำ พร้อมญาติพี่น้อง ย้ายออกจากบ้านปากไม้แดงมาอยู่ที่บ้านเด่นผา เนื่องจากอยู่ใกล้ที่ทำกินของตนเอง จึงตั้งชื่อว่าบ้านเด่นผา
ช่วงขยายชุมชนและสร้างถนน
พ.ศ. 2512 สถานีตำรวจภูธรปางมะผ้า ได้ย้ายเข้ามาตั้งสถานีที่บ้านสบป่อง เนื่องจากที่บ้านปางมะผ้าเป็นบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ ถูกน้ำท่วมทุกปี เจ้าหน้าที่ตำรวจและครอบครัวก็ต้องย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านสบป่องด้วย คือ ครอบครัวของ จสต.อินสอน ทาคำมา และจสต.ผิน นากน้อย
วันที่ 5 ธันวาคม 2517 ได้ทำการก่อสร้างวัดสบป่อง (เดิมชื่อวัดปางมะผ้า) โดยการริเริ่มของนายอ่อง อินนุ่ม และเพื่อน โดยนำเงินของตนเองจำนวน 100 บาท เป็นทุนในการตั้งองค์ผ้าป่า และขอรับบริจาคสมทบจากชาวบ้าน รวบรวมได้เงินประมาณ 500-700 บาท เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง โดยมีจ่าสีมุ่ยเป็นสล่าหรือช่าง และชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีจนแล้วเสร็จ
ในปีเดียวกัน อุตสาหกรรมป่าไม้ กรมป่าไม้ ได้รับสัมปทานป่าไม้ในพื้นที่ จึงนำคนและช้างเข้ามาตัดไม้และชักลากเพื่อรวมหมอนหรือรวบรวมท่อนซุง ต่อมาจึงมีการตัดถนนจากอำเภอปายเข้ามาถึงบ้านสบป่อ
พ.ศ. 2519 ชาวบ้านปากไม้แดงและบ้านเด่นผาย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านสบป่อง เนื่องจากมีวัดและโรงเรียน สะดวกต่อการทำบุญ และบุตรหลานได้มีโอกาสเรียนหนังสือ หลังจากนั้นมีผู้คนอพยพย้ายเข้ามาจากที่ต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นทั้งชาวบ้าน มีการจัดตั้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงสถานประกอบการและร้านค้าต่าง ๆ เป็นเหตุให้ชุมชนขยายพื้นที่ออกไปเพิ่มมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน
สภาพแวดล้อมรอบ ๆ หมู่บ้านสบป่องเป็นภูเขาสลับซับซ้อนและป่า ป่าไม้ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ ส่วนที่เหลือเป็นที่ราบระหว่างหุบเขา และเป็นพื้นที่เมืองซึ่งประกอบด้วยตลาด สถานที่ราชการต่าง ๆ เช่น ที่ว่าการอำเภอปางมะผ้า สถานีตำรวจภูธรอำเภอปางมะผ้า โรงพยาบาลอำเภอปางมะผ้า โรงเรียนปางมะผ้าพิทยาสรรพ์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอปางมะผ้า ฯลฯ วัดสบป่อง ท่ารถสบป่อง สถานประกอบการ ร้านค้าต่าง ๆ และเกสต์เอ้าส์ ชุมชนมีถนนลาดยางและถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่เชื่อมติดต่อกันภายในชุมชนกับชุมชนใกล้เคียง
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ต.ปางมะผ้า อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ต.ถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
แหล่งน้ำ สบป่องมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำลาง มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบริเวณหัวลาง หมู่ที่ 6 ตำบลถ้ำลอด ไหลผ่านบ้านแอโก๋-บ้านแสนคำลือ บ้านถ้ำลอด บ้านวนาหลวง บ้านสบป่อง จนกระทั่งไปบรรจบกับแม่น้ำของในเขตอำเภอเมือง เป็นแม่น้ำที่อำนวยประโยชน์แก่พื้นที่อำเภอปางมะผ้ามากที่สุด
ลำห้วยแม่อูมอง มีต้นกำนิดจากเทือกเขาซึ่งอยู่เหนือบริเวณบ้านแม่อูมอง หมู่ที่ 5 ตำบลสบป่อง ขึ้นไปไหลผ่านบ้านน้ำริน บ้านสบป่อง จนกระทั่งมาบรรจบกับแม่น้ำลาง ที่บริเวณบ้านสบป่อง จึงเรียกบ้านสบป่องกันติดปากว่า “บ้านสบป่อง-แม่อูมอง” นอกจากนี้มีลำน้ำอื่น ๆ เช่น ลำน้ำของ น้ำแพม และห้วยน้ำโป่ง
ภูมิอากาศ สบป่องมีสภาพภูมิอากาศที่แบ่งได้ 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ประมาณเดือนมีนาคม-พฤษภาคม มีอากาศร้อนจัด ฤดูฝน ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม-กันยายน มีอากาศเย็นและชื้น และฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-ปลายเดือนกุมภาพันธ์ มีอากาศหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนมกราคมของทุกปี
บ้านสบป่องมีจำนวนประชากรรวม 1,260 คน (ข้อมูลในปี พ.ศ. 2567 จากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข) ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนบ้านสบป่องเป็นคนพื้นเมืองภาคเหนือ หรือคนเมือง ผสมกับชาวไทใหญ่ (ไต) และคนไทยภาคกลาง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เช่น กะเหรี่ยง ลีซู ลาหู่ เข้ามาติดต่อค้าขาย จับจ่ายซื้อของที่ตลาดสบป่องและกาดนัดวันอังคาร (ตลาดกลุ่มชาติพันธุ์) อยู่เป็นประจำ
ไทใหญ่ประชาชนในชุมชนสบป่องมีหลากหลายอาชีพ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ค้าขาย เกษตรกร และรับจ้างทั่วไป
ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนสื่อสารกันด้วยภาษาไทใหญ่ ภาษาไทยถิ่นเหนือ และภาษาไทยกลาง
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข. (ม.ป.ป.). รายงานข้อมูลตำบลสบป่อง. https://3doctor.hss.moph.go.th/
ศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอน. (ม.ป.ป.). อำเภอปางมะผ้า. https://www.maehongson.go.th/new/pang-mapha/
องค์การบริหารส่วนตำบลสบป่อง ตำบลสบ่อง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน. (ม.ป.ป.). ประวัติตำบลสบป่อง. https://www.soppong.go.th/