ชุมชนบ้านน้ำฮูเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เมืองปาย เป็นชุมชนของชาวไทใหญ่และชาวจีนฮ่อ มีวัดน้ำฮู วัดเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของอำเภอปายและอยู่คู่เมืองปายมายาวนาน โดยมีพระอุ่นเมือง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเมืองปายและนักท่องเที่ยวหลายคนต้องแวะเข้ามากราบสักการะ
มาจากชื่อวัดน้ำฮูซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของชุมชน ชื่อของวัดน้ำฮูมาจากน้ำที่ไหลออกมาจาก “รู” หรือ “ฮู” ในส่วนพระเศียรของ “หลวงพ่ออุ่นเมือง” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองปายที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดน้ำฮู
ชุมชนบ้านน้ำฮูเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เมืองปาย เป็นชุมชนของชาวไทใหญ่และชาวจีนฮ่อ มีวัดน้ำฮู วัดเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของอำเภอปายและอยู่คู่เมืองปายมายาวนาน โดยมีพระอุ่นเมือง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเมืองปายและนักท่องเที่ยวหลายคนต้องแวะเข้ามากราบสักการะ
บ้านน้ำฮูตั้งอยู่ในตำบลเวียงใต้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีบ้านสันติชลเป็นหมู่บ้านบริวาร และมีวัดน้ำฮู วัดเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองปาย ซึ่งมีประวัติความเป็นมาดังนี้
วัดน้ำฮู
วัดน้ำฮู ตั้งอยุ่ห่างจากตัวอำเภอปายไปทางทิศตะวันตกประมาณ 3 กม. เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่ออุ่นเมืองที่อยู่คู่มากับวัดน้ำฮู เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หลายคนสักการะนับถือ วัดน้ำฮูไม่มีประวัติบันทึกการสร้างอย่างชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พร้อมกับสถูปเจดีย์ที่อยู่หลังวิหาร และถูกทิ้งร้างอยู่เป็นเวลานาน
พ.ศ. 2468 ผู้ใหญ่ทอน และนายเห็งพงษ์ พงษ์คำเต็ม พร้อมด้วยชาวบ้านน้ำฮู ได้สร้างศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งอยู่โคนไม้พร้อมด้วยซากปรักหักพังของเจดีย์
พ.ศ. 2474 ครูบาศรีวิชัย นักบุญลานนาไทยนำคณะศิษยานุศิษย์เดินธุดงค์มายังอำเภอปาย ได้มาเห็นสภาพทรุดโทรมของวัดและได้พบพระพุทธรูปดังกล่าว จึงได้สร้างวิหารขึ้นหนึ่งหลังสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป พร้อมกับสร้างเจดีย์ขึ้นด้านหลังวิหาร 1 องค์
ด้านหลังวิหารหรือโบสถ์ของวัดน้ำฮู มีพระเจดีย์สีทองซึ่งไม่มีบันทึกประวัติการสร้างอย่างชัดเจน แต่เชื่อกันว่าสร้างโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยา ซึ่งได้เสด็จไปเป็นตัวประกันที่เมียนมาแทนสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่ต่อมาได้ถูกปลงพระชนม์ที่เมียนมา และภายในพระเจดีย์นี้ยังบรรจุเส้นพระเกศาของสมเด็จพระพี่นางฯ ไว้ด้วย
ส่วนหน้าวัดน้ำฮู มีศาลาปลาสำหรับให้ผู้คนมากราบไหว้ เนื่องจากศาลาปลาของวัดน้ำฮูนี้มีรูปปั้นของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และสมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยาไว้ให้สักการบูชา
หลวงพ่ออุ่นเมือง
เป็นเรื่องราวเล่าขานกันมาเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่ออุ่นเมือง โดยมีเรื่องเล่าว่า เมื่อปี พ.ศ. 2515 มีพระธุดงค์จากต่างจังหวัดมาพักที่วัด ได้สังเกตเห็นพระพักตร์ของพระพุทธรูปเป็นโพรง พระโมฬีถอดได้ และในโพรงนั้นมีน้ำขังอยู่เต็ม จึงสอบถามชาวบ้านและเจ้าอาวาส แต่ไม่มีใครทราบมาก่อน เรื่องนี้เป็นที่เล่าลือกันอยู่สักพักหนึ่ง แต่ไม่มีใครกล้าพิสูจน์ความจริง กระทั่ง พ.ศ. 2516 ร.อ.ประเสริฐ เรียมศรี นายอำเภอปายในตอนนั้น พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการอำเภอปาย ได้ร่วมทำการอธิษฐานขอพิสูจน์ข้อเท็จจริง โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าอาวาสและผู้ศรัทธา ได้ตักน้ำออกจากพระเศียรทั้งหมด ใช้สำลีเช็ดจนแห้งสนิท และปิดพระเศียรผูกเชือกประทับตราครั่ง ปิดหน้าต่าง ประตูทุกบาน ห้ามคนเข้าออกกำหนดเวลา 5 วัน เมื่อครบกำหนดได้ทำการเปิดต่อหน้าคณะทำการพิสูจน์ชุดเดิม ผลปรากฏว่ากลับมีน้ำขังอยู่ในพระเศียรของพระพุทธรูป นับแต่นั้นมาก็มีประชาชนจากที่ต่าง ๆ เข้ามากราบไหว้หลวงพ่ออุ่นเมืองอยู่เสมอ
ตำบลเวียงใต้รวมถึงชุมชนบ้านน้ำฮูมีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขาสูง รวมถึงมีที่ราบบริเวณหุบเขา และลำน้ำ พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนเป็นดินเหนียว ทำให้ในฤดูฝนมีน้ำขัง เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าวและพืชชนิดต่าง ๆ ส่วนในบริเวณหุบเขาเป็นดินร่วน เมื่อเกิดการสะสมของน้ำ ทำให้เกิดการพังทลายและยุบตัวของผิวดิน
ป่าไม้
เป็นป่าดิบ และป่าดิบแล้ง พบตามที่ลุ่ม ชื้น ริมห้วย ลำธาร และแม่น้ำใหญ่ จนถึงระดับสูง 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง นอกจากนี้มีป่าดิบเขาที่ระดับสูงกว่า 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
แหล่งน้ำ
มีแม่น้ำสายสำคัญคือ แม่น้ำปาย ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ระหว่างรอยต่อของเทือกเขาถนนธงชัยกับเทือกเขาแดนลาวในเขตตำบลเวียงเหนือ ไหลลงทางใต้ผ่านหุบเขาต่าง ๆ ในอำเภอปาย อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และไปบรรจบกับแม่น้ำสาละวินที่บ้านใหม่ รัฐกะยา ประเทศเมียนมา ซึ่งแม่น้ำปายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ในอำเภอปาย มีลำห้วยสาขามากมาย สำหรับชุมชนเวียงใต้มีลำห้วยม่วงกอนเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงผู้คน
สภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของชุมชน มี 3 ฤดู คือ ฤดูหนาว ฤดูหนาวอากาศหนาวจัดถึง 2 องศาเซลเซียส บางวันมีหมอกลงหนาทึบจนถึงเวลาประมาณ 11.00 น. ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายนของทุกปี ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนายน
ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนเป็นชาวไทใหญ่ และบางส่วนเป็นชาวจีนยูนนาน มีจำนวนประชากรรวมทั้งหมด 2,033 คน แบ่งเป็น ชาย 1,022 คน หญิง 1,011 คน (ข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงใต้ ปี พ.ศ. 2564) ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และบางส่วนนับถือศาสตร์อิสลาม และศาสนาคริสต์
ไทใหญ่, จีนยูนนาน(จีนฮ่อ)ชาวบ้านในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ปลูกข้าว กระเทียม ถั่วเหลือง ส้ม ลิ้นจี่ มะม่วง ฯลฯ และเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ไก่ เป็ด วัว ควาย ฯลฯ นอกจากนี้มีกลุ่มอาชีพจำหน่ายสินค้า OTOP คือ ถั่วลายเสือและถั่วเสือซ่อนลาย
ประชากรในชุมชนสื่อสารกันด้วยภาษาไทใหญ่ ภาษาไทยถิ่นเหนือ และภาษาไทยกลาง
- ผลิตภัณฑ์ของชุมชนเป็นถั่วชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ถั่วลายเสือ ถั่วเสือซ่อนลาย ถั่วแปยี และถั่วแปหล่อ รวมถึงป๊อบคอร์นดอย
- หลวงพ่ออุ่นเมืองเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง 24 นิ้ว สูง 30 นิ้ว ส่วนพระเศียรกลวงมีพระเมาฬีครอบ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). วัดน้ำฮู. https://thai.tourismthailand.org
องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงใต้. (2564). ประวัติและข้อมูลสภาพทั่วไป. https://wiangtai.go.th
องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงใต้. (2564). วัดน้ำฮู. https://wiangtai.go.th