Advance search

บ้านตาลเจ็ดต้นเป็นหมู่บ้านที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาควบคู่ไปกับการก่อตั้งเมืองปาย เป็นชุมชนชาวไทใหญ่ที่มีแม่น้ำปาย ท่าแพตาลเจ็ดต้น และเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาที่มีการจัดการโดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

หมู่ที่ 3
ตาลเจ็ดต้น
เวียงเหนือ
ปาย
แม่ฮ่องสอน
ชนม์ชนก สัมฤทธิ์
15 มิ.ย. 2024
ชนม์ชนก สัมฤทธิ์
15 มิ.ย. 2024
ชนม์ชนก สัมฤทธิ์
15 มิ.ย. 2024
ตาลเจ็ดต้น

ชื่อของบ้านตาลเจ็ดต้นตั้งตามต้นตาลจำนวน 7 ต้นที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้าน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 1 ต้น เท่านั้น ที่ปลูกไว้เป็นอนุสรณ์ สาเหตุที่ต้นตาลถูกโค่นล้มไปหมดนั้น เนื่องจากบ้านตาลเจ็ดต้นเป็นบ้านที่เก่าแก่ ชาวบ้านจึงเชื่อว่าในหมู่บ้านมีสมบัติฝังอยู่ เลยขุดหาของเก่า ตามลายแทงว่า “ตาลเจ็ดต้น ตันต้นใดขุดต้นนั้น” และพากันโค่นล้มต้นตาลจนหมดไม่เหลือ มีกลุ่มสุดท้ายที่มาขุดหาของใต้ต้นพุทรา (ชาวเหนือเรียกว่าต้นมะตัน) และได้ของเก่าไปเป็นจำนวนมาก


บ้านตาลเจ็ดต้นเป็นหมู่บ้านที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาควบคู่ไปกับการก่อตั้งเมืองปาย เป็นชุมชนชาวไทใหญ่ที่มีแม่น้ำปาย ท่าแพตาลเจ็ดต้น และเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาที่มีการจัดการโดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

ตาลเจ็ดต้น
หมู่ที่ 3
เวียงเหนือ
ปาย
แม่ฮ่องสอน
58130
19.399714521452324
98.44865551501576
องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ

บ้านตาลเจ็ดต้น ตั้งขึ้นหลังจากบ้านเวียงเหนือ แต่เดิมตั้งอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำปาย ซึ่งในฤดูน้ำหลากมักจะถูกแม่น้ำปายท่วม ปี พ.ศ. 2507 น้ำท่วมกัดเซาะตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำปายเสียหาย ชาวบ้านจึงย้ายที่อยู่ใหม่ไปอยู่ทางทิศตะวันออก ห่างจากที่เดิมประมาณ 300 เมตร และเป็นที่ราบเชิงเขาที่อยู่สูงกว่าเดิม ส่วนที่อยู่เดิมนั้นชาวบ้านใช้เป็นที่ทำกิน

บ้านตาลเจ็ดต้นเป็นหมู่บ้านที่มีประวัติศาสตร์ของชุมชนควบคู่ไปกับการก่อตั้งเมืองปาย ในอดีตเป็นเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ คนในชุมชนตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนใกล้ริมฝั่งแม่น้ำปายและบริเวณเชิงเขา ชาวบ้านประกอบอาชีพด้านการเกษตรเป็นหลัก ต่อมามีผู้คนจากต่างถิ่นทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่มากขึ้น เป็นผลมาจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอปาย ประกอบกับการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำการเกษตร การก่อสร้างรีสอร์ท เกสท์เฮาส์ริมแม่น้ำปาย การขุดลอกแม่น้ำปาย ทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป สัตว์น้ำไม่มีที่อยู่ ส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้และแม่น้ำปายลดลง นอกจากนี้ยังส่งผลให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนเริ่มสูญหาย เช่น การถักใบตองตึงมุงหลังคา 

อย่างไรก็ดี ต่อมาคนในชุมชนตาลเจ็ดต้นและองค์กรท้องถิ่นจึงได้ร่วมกันพัฒนาหมู่บ้าน เช่น การจัดการป่าชุมชน การจัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำในแม่น้ำปาย การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วังปลาบริเวณท่าแพ การออมทรัพย์ ฯลฯ นอกจากนี้ บ้านตาลเจ็ดต้นมีการพัฒนาหมู่บ้านตามหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” และพัฒนาชุมชนจนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่น สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ

วัดตาลเจ็ดต้น

ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2400 แต่ถูกทิ้งร้างมา 122 ปี จากนั้นมีพระภิกษุและชาวบ้านเข้ามาบูรณะวัดในปี พ.ศ. 2522 และมีพระภิกษุจำพรรษาเรื่อยมา กระทั่งปี พ.ศ. 2552  ได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัดโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รูปแบบสถาปัตยกรรมของวัดตาลเจ็ดต้น รวมถึงพระพุทธรูปเป็นแบบไทใหญ่ โดยได้รับอิทธิพลมาจากประเทศพม่า นอกจากนี้ยังมีกำแพงโบราณที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2400  

สภาพทางภูมิศาสตร์

บ้านตาลเจ็ดต้นตั้งอยู่ที่ราบเชิงเขา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีป่าไม้หลายชนิดคิดเป็นร้อยละ 90 ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่ราบใช้สำหรับเป็นแหล่งเพาะปลูกและที่อยู่อาศัย แหล่งน้ำที่สำคัญคือ แม่น้ำปาย เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค เส้นทางสัญจรในหมู่บ้านและติดต่อกับหมู่บ้านอื่นเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กและถนนดินลูกรังติดต่อกับหมู่บ้านอื่น 

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับแม่น้ำปาย และประเทศเมียนมา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ต.แม่ฮี้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง และ ต.กึ๊ดช้าง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับแม่น้ำปาย และ ต.แม่นาเติง รวมถึง ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน

ภูมิอากาศ

บ้านตาลเจ็ดต้นมีสภาพภูมิอากาศเหมือนกับสภาพอากาศทั่วไปของอําเภอปาย ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ฤดู และเนื่องจากภูมิประเทศส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนเขาสูง และห่างไกลจากอิทธิพลของลมทะเลจึงทําให้สภาพอากาศแตกต่างจากจังหวัดอื่น

  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม โดยมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,200-1,700 มิลลิเมตรต่อปี
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยได้รับอิทธิพลจากความกดอากาศสูงในประเทศจีน มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 20.7 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดถึง 2 องศาเซลเซียส
  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงกลางเดือนพฤษภาคม โดยมีอุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายนถึง 43 องศาเซลเซียส และด้วยลักษณะภูมิประเทศภูมิอากาศดังกล่าว จึงทำให้เกิดหมอกปกคลุมตลอดทั้งปี

ประชากรในบ้านตาลเจ็ดต้นเป็นชาวไทใหญ่ มีจำนวนประชากรรวม 204 คน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ไทใหญ่
ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านประกอบอาชีพทำเกษตรกรรม เช่น ทำไร่ ทำสวน และรับจ้างทั่วไป นอกจากนี้มีบางส่วนที่ประกอบอาชีพอิสระ

ประเพณีและวัฒนธรรมของบ้านตาลเจ็ดต้นคล้ายคลึงกับหมู่บ้านชาวไทใหญ่อื่น ๆ ในภาคเหนือ โดยประเพณีที่ทำเป็นประจำส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา มีดังนี้

  • วันเข้าพรรษา
  • วันออกพรรษา
  • วันวิสาขบูชา
  • วันมาฆบูชา
  • ประเพณีถวายข้าวมธุปายาท
  • ประเพณีถวายสลากภัตต์
  • ประเพณีรับลูกแก้ว
  • ประเพณีวันสงกรานต์
  • ประเพณีถ่อมลีก
  • ประเพณีแต่งงาน
  • ประเพณีลงแขก
  • ประเพณีดับไฟเทียน
  • ประเพณียี่เป็ง (ลอยกระทง)
  • ประเพณีจะก๊ะ (เชิญผู้เฒ่าผู้แก่ไปที่บ้านเลี้ยงอาหาร และถวายจตุปัจจัยแด่พระสงฆ์)

ปราชญ์ชาวบ้านด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นของบ้านตาลเจ็ดต้น มีดังนี้

  • ช่างไม้ คือ นายเจริญ ไหมนวล และนายถนอม โณทัย
  • ช่างปูน คือ นายเสถียร หนานคำ
  • ช่างจักสาน มีเกือบทุกบ้าน

บ้านตาลเจ็ดต้น ประกอบด้วยทุนชุมชนทั้งในด้านทรัพยากรธรรมชาติ คือ ทรัพยากรป่าไม้ และแม่น้ำปาย รวมถึงทุนชุมชนในด้านวัฒนธรรม คือ แหล่งโบราณคดี วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่นต่าง ๆ ชาวบ้านตาลเจ็ดต้นและองค์กรท้องถิ่นได้ร่วมกันพัฒนาหมู่บ้านจนเกิดเป็นโครงการต่าง ๆ โดยมีกฎระเบียบชุมชนในการควบคุม ดูแลและทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการของชุมชนมีดังนี้

  • การจัดการป่าชุมชน
  • การจัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำในแม่น้ำปาย
  • การพัฒนาท่าแพหรือซุ้มวังปลา ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวชุมชน
  • การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” โดยผู้นำหมู่บ้านส่งเสริมให้ประชาชนเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มอาชีพของหมู่บ้าน เพื่อพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น โดยประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับเป็นกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ การถักใบตองตึง ฯลฯ
  • การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วังปลาบริเวณท่าแพ
  • การออมทรัพย์ 

ประชากรในบ้านตาลเจ็ดต้นสื่อสารกันด้วยภาษาไทใหญ่ ภาษาไทยถิ่นเหนือ และภาษาไทยกลาง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
  • ห่างจากบ้านตาลเจ็ดต้นไปทางทิศใต้ ประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีสำนักพระพุทธบาทตำบลเวียงเหนือ 
  • แหล่งโบราณคดีในชุมชน คือ คูเมืองโบราณบ้านตาลเจ็ดต้น 

คณะกรรมการหมู่บ้านตาลเจ็ดต้น. (2561). เอกสารข้อมูลประกอบการบรรยายสรุปข้อมูลการประกวดกิจกรรมพัฒนาชุมชนประจำปี 2561. สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน.

รัศมี ชูทรงเดช. (2552). คูเมืองโบราณบ้านตาลเจ็ดต้น. ฐานข้อมูลจดหมายเหตุมานุษยวิทยา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. https://db.sac.or.th/anthroarchives/

ศูนย์ข้อมูลทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2555). บ้านตาลเจ็ดต้น. http://www.m-culture.in.th

องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐานขององค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ. http://www.wiangnuepai.go.th/

อาทิตยา บุญมาดำ, สหัทยา วิเศษ, ทิพาภรณ์ เยสุวรรณ์, และพระมหากิตติพงษ์ กิตติญาโณ. (2566). การพัฒนาพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ของชุมชนลุ่มน้ำปาย ตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน. วารสารบัณฑิตแสงโคมคำ, 8(3), 620-639.