Advance search

ป๊อกหนองจองคำ

ป๊อกหนองจองคำเป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวไทใหญ่ในเมืองแม่ฮ่องสอน มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน มีจุดแลนด์มาร์คของชุมชน คือ "หนองจองคำ" รวมถึง "วัดจองคำ" และ "วัดจองกลาง" ที่เปรียบเสมือนเป็นวัดฝาแฝดที่อยู่คู่เมืองแม่ฮ่องสอนมาแต่แรกเริ่ม

หมู่ที่ 1 ถนนขุนลุมประพาส
จองคำ
เมืองแม่ฮ่องสอน
แม่ฮ่องสอน
ชนม์ชนก สัมฤทธิ์
15 มิ.ย. 2024
ชนม์ชนก สัมฤทธิ์
15 มิ.ย. 2024
ชนม์ชนก สัมฤทธิ์
15 มิ.ย. 2024
หนองจองคำ
ป๊อกหนองจองคำ

เรียกตามสถานที่สำคัญที่อยู่ในชุมชนนั่นคือวัดจองคำ ซึ่งชื่อของวัดจองคำมีที่มาจากเสาของวัดที่ประดับด้วยทองคำเปลว


ป๊อกหนองจองคำเป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวไทใหญ่ในเมืองแม่ฮ่องสอน มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน มีจุดแลนด์มาร์คของชุมชน คือ "หนองจองคำ" รวมถึง "วัดจองคำ" และ "วัดจองกลาง" ที่เปรียบเสมือนเป็นวัดฝาแฝดที่อยู่คู่เมืองแม่ฮ่องสอนมาแต่แรกเริ่ม

หมู่ที่ 1 ถนนขุนลุมประพาส
จองคำ
เมืองแม่ฮ่องสอน
แม่ฮ่องสอน
58000
19.2993
97.9679
เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน

ป๊อกหนองจองคำ

สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองแม่ฮ่องสอนมีชาวไทใหญ่อาศัยอยู่ตามรอยต่อระหว่างประเทศไทยและเมียนมา ซึ่งพื้นที่ส่วนนี้เป็นช่องทางที่กองทัพเมียนมาผ่านเข้ามายังประเทศไทยเพื่อเข้ามาสู้รบกับกรุงศรีอยุธยาและหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทย

กระทั่ง ปี พ.ศ. 2399 เกิดการสู้รบในเมียนมา ทำให้ชาวไทใหญ่จากเมืองจ๋ามก่าและเมืองหมอกใหม่อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำกิน ณ หมู่บ้านปางหมู และเมืองแม่ฮ่องสอนเพิ่มขึ้น ผู้อพยพครั้งนั้นมีบุคคลสำคัญ 2 คน คือ เจ้าฟ้าโกหร่าน และชาวชานกาเล

หลังจากเข้ามาอยู่ในไทย ชานกาเลได้ช่วยงานจนเป็นที่รักของพะกาหม่อง จึงได้ยกบุตรสาวคนรองชื่อนางใสให้เป็นภรรยา ชานกาเลได้นำครอบครัวลงใต้มาอยู่กุ๋มลมหรือขุนยวมในปัจจุบัน และได้เป็นผู้ปกครองเมืองกุ๋มลมเป็นคนแรก ต่อมานางใสถึงแก่กรรม เจ้าฟ้าโกหร่านจึงยกหลานสาวชื่อเจ้านางเมี้ยะให้เป็นภรรยา

ชานกาเลปกครองเมืองกุ๋มลมจนเจริญรุ่งเรือง ทำการค้ากับชาวเมียนมาจนสามารถส่งค้าไม้ให้เจ้านครเชียงใหม่ได้เป็นจำนวนมาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2417 เจ้าอินทรวิชยานนท์ได้แต่งตั้งให้ชานกะเลเป็นพญาสิงหนาทปกครองเมืองแม่ฮ่องสอนจนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2443

สมัยราชการที่ 5 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองแม่ฮ่องสอน เมืองขุนยวม เมืองขุนยวมใต้ (แม่สะเรียง) และเมืองปาย ตั้งเป็นเชียงใหม่ตะวันตก

พ.ศ. 2446 เปลี่ยนเป็นบริเวณพายัพเหนือขึ้นตรงต่อมณฑลพายัพและตั้งที่ว่าการเมืองแม่ฮ่องสอนในปี พ.ศ. 2453 จนถึงสมัยราชการที่ 6 ทรงโปรดให้ตั้งเป็นจังหวัดแม่ฮ่องสอนและโปรดเกล้าให้พระศรสุราชเป็นผู้ว่าราชการคนแรกของแม่ฮ่องสอนจนถึงปี พ.ศ. 2476 สำหรับชุมชนป๊อกหนองจองคำปัจจุบันตั้งอยู่ทิศใต้ของเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน แต่ก่อนรวมกับป๊อกตะวันออก แต่ต่อมา พ.ศ. 2537 นายสมเจตน์ วิริยะดำรง ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอนันต์ วงศ์วาณิชย์ นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอนขณะนั้น ได้มีการประกาศตั้งชุมชนเป็นทางการ จึงได้จัดตั้งชุมชนหนองจองคำ

หนองจองคำ

หนองจองคำเป็นหนองน้ำใหญ่ใจกลางเมืองแม่ฮ่องสอน เรียกชื่อตามสถานที่สำคัญที่อยู่ใกล้เคียงคือ วัดจองคำ หนองจองคำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ตามเขตเมือง จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเมืองแม่ฮ่องสอน คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาช้านาน

จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ กล่าวว่าหนองจองคำไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หากแต่เกิดขึ้นโดยฝีมือของมนุษย์โดยไม่ตั้งใจ เนื่องจากสมัยก่อนซึ่งเป็นยุคสร้างบ้านแปงเมือง ได้มีการขุดดินบริเวณหนองจองคำไปปั้นอิฐเพื่อสร้างกองมูสี่สู่ หรือเจดีย์สี่องค์ในบริเวณทางขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยกองมู แต่ปัจจุบันเหลือเพียงร่องรอยบางส่วนเท่านั้น และสร้างทางเดินขึ้นดอยจากวัดพระนอนจนถึงยอดต่อหมู่ หรือบริเวณพระยืนกลางดอยกองมูในปัจจุบัน

บริเวณที่ขุดเอาดินไปปั้นอิฐก็กลายเป็นหลุมใหญ่ ประกอบกับเป็นพื้นที่ต่ำอยู่แล้ว น้ำจากทุกทิศทั้งน้ำฝน น้ำใช้ น้ำจากบ่อน้ำที่รายรอบหนองน้ำ และน้ำแม่ฮ่องสอนบางส่วนก็ไหลลงมารวมกัน โดยเฉพาะด้านทิศเหนือที่ชาวบ้านเรียกว่า “กุงแกบ” ซึ่งเป็นที่สูงมีบ่อน้ำที่เป็นตาน้ำจำนวนมาก เมื่อล้นจากหนองจองคำก็ไหลลงไปทางใต้ผ่านหน้าเรือนจำเก่าไปสู่ถ้ำพัศดี พวกพัศดีในสมัยนั้นก็ได้ทำครกน้ำเทคโนโลยีชาวบ้านสำหรับตำข้าวเพื่อเอาไว้กินและเลี้ยงคนคุก ชาวบ้านเรียกว่า “ครกน้ำพัศดี” ปัจจุบันคือบริเวณอาคารที่ทำการป๊อกหนองจองคำ บริเวณด้านทิศใต้ซึ่งเป็นด้านหน้าของหนองจองคำ คือด้านที่ติดกับวัดจองคำมีการสร้างเข่งผี หรือศาลสำหรับเซ่นไหว้ผีเจ้าที่ที่ดูแลหนองน้ำ เรียกว่า “เข่งนายขาวแขนปุ๊ด” ตามความเชื่อของชาวไตที่มักให้ความสำคัญกับแหล่งน้ำ ป่า ที่ทำกิน หรือแม้แต่เครื่องมือทำกิน สัตว์เลี้ยงไว้ใช้งาน

ตามจารีตดังกล่าวพอถึงวันพระ โดยเฉพาะวันเดือนเพ็ญหรือวันเดือนดับชาวบ้านมักจะนำก๊อกซอมต่อ หรือสะตวงไปเซ่นไหว้ด้วยความเคารพ ยำเกรง การที่เชื่อว่ามีผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยดูแลคุ้มครองนั้น ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าจับสัตว์น้ำในหนองไปรับประทาน เพราะเชื่อว่าหากฝ่าฝืน อาจจะมีอันเป็นไป ปัจจุบันความเชื่อนี้ได้ลดน้อยลง 

วัดจองคำ วัดจองกลาง

วัดจองคำและวัดจองกลาง เป็นวัดฝาแฝดที่สร้างขึ้นเป็นวัดแห่งแรกของจังหวัดแม่อ่องสอน ตั้งอยู่บริเวณหนองจองคำ

วัดจองคำ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2370 โดยพญาสิงหนาทราชา และเจ้านางเมี้ยะ ได้รับพระราชทานให้เป็นพระรามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 มีรูปแบบสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมไทใหญ่ ภายในวัดมีองค์พระเจดีย์สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2458 ความสูง 32 ศอก ฐานสี่เหลี่ยมมีมุข 4 ด้าน ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานพระพุทธรูป และมีสิงห์ประดับอยู่ด้านละหนึ่งตัว และมีวิหารหลวงพ่อโต รูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างไทใหญ่กับตะวันตก ภายในประดิษฐานหลวงพ่อโต สร้างโดยช่างชาวเมียนมา ซึ่งจำลองแบบพระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต) จากวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร ตัววิหารก่ออิฐฉาบปูน ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นรูปทรงโค้ง หลังคามุงด้วยสังกะสี เชิงชายมีฉลุลูกไม้แบบขนมปังขิงที่นิยมสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากตะวันตก

วัดจองกลาง เดิมเป็นศาลาการเปรียญที่ชาวบ้านสร้างถวายให้แก่พระภิกษุชาวเมียนมาที่มาร่วมงานศพเจ้าอาวาสวัดจองใหม่ ด้วยความศรัทธาชาวบ้านจึงนิมนต์ให้ท่านมาอยู่ประจำศาลาต่อ จนเกิดเป็นวัดจองกลางขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2410 โดยมีพิพิธภัณฑสถานวัดจองกลาง ซึ่งจัดแสดงวัตถุโบราณจำนวนมาก เช่น ตุ๊กตาไม้แกะสลักชุดมหาเวสสันดรชาดก โดยช่างฝีมือชาวพม่า พระพุทธรูปหินอ่อน เครื่องถ้วยลายครามจีน อาวุธโบราณ หนังสือธรรมภาษาไทใหญ่ ฯลฯ

ป๊อกหนองจองคำตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน มีภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบติดลำน้ำแม่น้ำแม่ฮ่องสอน และมีเขตที่อยู่อาศํยและพื้นที่การเกษตรบางส่วน สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของชุมชนเป็นพื้นที่เมืองและสถานที่ราชการต่าง ๆ เช่น ศาลากลางจังหวัด สถานีวิทยุ วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีแม่ฮ่องสอน โรงเรียน สำนักงานขนส่ง ฯลฯ สถานประกอบการต่าง ๆ วัดจองคำ-วัดจองกลาง และสวนสาธารณะหนองจองคำ ชุมชนมีถนนลาดยางและถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่เชื่อมติดต่อกันตลอดทุกสายในชุมชนกับชุมชนใกล้เคียง

แหล่งน้ำ แหล่งน้ำหลักของชุมชนที่ใช้อุปโภคและบริโภคเป็นน้ำประปา ซึ่งใช้น้ำจากแม่น้ำแม่ฮ่องสอน โดยมีอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ฮ่องสอนเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ 

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับป๊อกกลางเวียง และป๊อกตะวันออก
  • ทิศใต้ ติดต่อกับบ้านไม้แงะ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านใหม่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับป๊อกกาดเก่า และบ้านสบป่อง

สภาพภูมิอากาศ แบ่งออกเป็น 3 ฤดู ได้แก่

  • ฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนายน
  • ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน
  • ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ของทุกปี

ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ที่อพยพเข้ามานานแล้ว ข้อมูลจากเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนล่าสุด ปี พ.ศ. 2564 ระบุว่าประชากรในชุมชนกาดเก่ามีจำนวนทั้งหมด 1,192 คน แบ่งเป็นชาย 574 คน และหญิง 618 คน ซึ่งมีจำนวนครัวเรือนมากที่สุดในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน แต่มีจำนวนประชากรน้อยกว่าชุมชนกาดเก่า ชุมชนตะวันออก และชุมชนปางล้อ 

ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมานับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม

ไทใหญ่

ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ รองลงมา คือ อาชีพค้าขายและรับจ้างทั่วไป และมีการตั้งกลุ่มอาชีพเกี่ยวกับสินค้า OTOP 

  • ในช่วงก่อนวันเข้าพรรษาของชาวไทใหญ่ของทุกปี จะมีการจัดประเพณีที่ชื่อว่า "วานปะลีก" เป็นการทำบุญหมู่บ้านหรือประเพณีทำบุญสี่มุมเมืองของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นการทำพิธีสวดมนต์เจริญพระพุทธมนต์ในชุมชน 4 มุมเมือง ได้แก่ ศาลเจ้าพ่อเมืองแข่ (ทิศเหนือ) ชุมชนหนองจองคำ (ทิศใต้) ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก (ทิศตะวันออก) สำหรับชุมชนป๊อกกาดเก่าจะเป็นตัวแทนของทิศตะวันตก โดยเจ้าของบ้านจะนำถังน้ำใส่น้ำและทราย ตะแหลว 7 ชั้น ใบไม้มงคลที่มีชื่อที่มีความหมายเกี่ยวกับการกั้น กีดขวาง และหนาม มาทำพิธีเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย และการเลี้ยงเจ้าเมืองจะทำให้หมู่บ้านได้รับการคุ้มครองและอยู่เย็นเป็นสุข
  • ในช่วงก่อนวันเข้าพรรษาของชาวไทใหญ่ของทุกปี จะมีการจัดประเพณีที่ชื่อว่า "วานปะลีก" เป็นการทำบุญหมู่บ้านหรือประเพณีทำบุญสี่มุมเมืองของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นการทำพิธีสวดมนต์เจริญพระพุทธมนต์ในชุมชน 4 มุมเมือง ได้แก่ ศาลเจ้าพ่อเมืองแข่ (ทิศเหนือ) ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก (ทิศตะวันออก) ชุมชนป๊อกกาดเก่า (ทิศตะวันตก) สำหรับชุมชนหนองจองคำจะเป็นตัวแทนของทิศใต้ โดยเจ้าของบ้านจะนำถังน้ำใส่น้ำและทราย ตะแหลว 7 ชั้น ใบไม้มงคลที่มีชื่อที่มีความหมายเกี่ยวกับการกั้น กีดขวาง และหนาม มาทำพิธีเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย และการเลี้ยงเจ้าเมืองจะทำให้หมู่บ้านได้รับการคุ้มครองและอยู่เย็นเป็นสุข
  • ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 มีงานประเพณีลอยกระทง หรือทางภาคเหนือเรียกว่า “ยี่เป็ง” ประชาชนจะทํากระทงไปลอยตามแม่น้ำ มีการประกวดกระทงใหญ่ที่สวนสาธารณะหนองจองคําและมีมหรสพรื่นเริง นอกจากนี้ยังมีการลอยกระทงสวรรค์ที่วัดพระธาตุดอยกองมู โดยนํากระทงที่จุดประทีปโคมไฟผูกติดกับลูกโป่งลอยขึ้นไปในอากาศ กล่าวกันว่าการลอยกระทงสวรรค์นี้มีขึ้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นแห่งแรก
  • ในช่วงหน้าร้อน วันศุกร์และเสาร์ เวลา 17.00-22.00 น. และในช่วงหน้าหนาว วันอาทิตย์-จันทร์ มีถนนคนเดินแม่ฮ่องสอนซึ่งจัดที่ฝั่งริมวัดจองกลาง-จองคำ เป็นถนนคนเดินสายเล็ก ๆ แบ่งเป็น 2 บริเวณ คือ บริเวณขายอาหารที่ริมหนองจองคำ และบริเวณขายสินค้าทั่วไป จุดเด่นของถนนคนเดินที่นี่คือชาวไทใหญ่และคนเมืองนำสินค้าพื้นบ้านของจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาจำหน่าย เช่น อาหารไทใหญ่ ชุดพื้นเมือง ผ้าทอ กระเป๋า งานไม้แบบพม่า ฯลฯ นอกจากนี้สามารถเข้าไปทำบุญในวัดจองคำ-จองกลางในยามค่ำคืนได้ และมีกิจกรรมปล่อยโคม
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาไทใหญ่ ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) และภาษาไทยกลาง 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

งานวิชาการและแผน สำนักปลัดเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน. (2564). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570) เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน. เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน. https://www.mmhs.go.th/

จังหวัดแม่ฮ่องสอน. (2566). จังหวัดแม่ฮ่องสอนจัดงานประเพณีทำบุญสี่มุมเมือง หรือประเพณีวานปะลีกของชาวไทใหญ่ ประจำปี 2566. https://www.maehongson.go.th

วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน. (ม.ป.ป.). ชุมชนป๊อกหนองจองคำ. ฐานข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับไทใหญ่. http://www.taiyai.org/taiyaidata

ศูนย์ข้อมูลกลางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2011). หนองจองคำhttp://www.m-culture.in.th