พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนและภาคเหนือของประเทศไทย ในอดีตเป็นย่านการค้าที่สำคัญ จำหน่ายสินค้าจากเมียนมา และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างเชียงใหม่กับเมียนมา ป๊อกกาดเก่าจึงเป็นสถานที่แห่งความทรงจำของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เล่าขานสืบต่อกันมา ปัจจุบันเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมไทใหญ่ของเมืองแม่ฮ่องสอน
ป๊อกกาดเก่าเป็นภาษาไทยถิ่นเหนือ โดย "ป๊อก" หมายถึง หย่อมหรือย่าน และ "กาด" หมายถึง ตลาด ดังนั้นป๊อกกาดจึงหมายถึงย่านตลาดหรือย่านการค้า ในอดีตเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างเชียงใหม่กับเมียนมา คนจึงเรียกชุมชนนี้ว่า "ป๊อกกาดเก่า"
พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนและภาคเหนือของประเทศไทย ในอดีตเป็นย่านการค้าที่สำคัญ จำหน่ายสินค้าจากเมียนมา และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างเชียงใหม่กับเมียนมา ป๊อกกาดเก่าจึงเป็นสถานที่แห่งความทรงจำของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เล่าขานสืบต่อกันมา ปัจจุบันเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมไทใหญ่ของเมืองแม่ฮ่องสอน
ป๊อกกาดเก่าเป็นหนึ่งในชุมชนเก่าแก่ที่อยู่ในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ได้แก่ บริเวณระหว่างถนนมรรคสันติกับผดุงม่วยต่อ ในอดีตเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้าและติดต่อค้าขายระหว่างเมืองเชียงใหม่และเมียนมาทั้งทางเรือ (เรือต่อ) ม้าต่าง วัวต่าง เกวียน คนหาบ โดยนำสินค้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนบริเวณโหย่งกาดนี้ และเรียกชุมชนนี้ว่า ป๊อกกาดเก่า ตั้งแต่นั้นมา
ปัจจุบันทางจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้พัฒนาป๊อกกาดเก่าให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมไทใหญ่ของเมืองแม่ฮ่องสอน โดยมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวไทใหญ่ เช่น การตำข้าวปุก ประเพณีหลู่ข้าวยากู๊ ประเพณีวานปะลีก ประเพณีปอยส่างลอง ฯลฯ และพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน
เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนและวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน ได้ร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ของป๊อกกาดเก่าให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตของเมืองแม่ฮ่องสอน โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน นอกจากนี้ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานพิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งตั้งอยู่บน ถ.สิงหนาทบำรุง ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อให้บริการข้อมูลพิพิธภัณฑ์และข้อมูลการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้แก่ผู้เยี่ยมชม
นอกจากนี้ พ.ศ. 2552-2553 เกิดชมรมบ้านเก่าเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันระหว่างเจ้าของบ้านไม้เก่า ริมถนนสิงหนาทบำรุง และเจ้าของบ้านไม้เก่าในเขตอำเภอเมือง กลุ่มชุมชนในเขตเมืองเก่าแม่ฮ่องสอนทั้ง 6 ป๊อก เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน การเคหะแห่งชาติ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) เพื่ออนุรักษ์อาคารเก่าในชุมชนป๊อกกาดเก่า รวมถึงป๊อกอื่น ๆ อีก 5 ป๊อก และเป็นแหล่งเรียนรู้ สืบทอด รักษาศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของเมืองแม่ฮ่องสอน
ป๊อกกาดเก่าตั้งอยู่บนพื้นที่ราบในหุบเขาทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน มีลำคลองน้ำปุ๊ไหลพาดผ่าน สภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่โดยทั่วไปของชุมชนนี้เป็นชุมชนเมือง มีการตั้งถิ่นฐานถาวร อาคารบ้านเรือนเก่าที่สร้างด้วยไม้ ตลาด เช่น กาดคำ โหย่งกาด ฯลฯ และร้านค้าต่าง ๆ ทั้งสองฟากถนน มีวัดวาอารามหลายแห่ง เช่น วัดม่วยต่อ วัดพระนอน วัดก้ำก่อ ฯลฯ สถานที่ราชการและหน่วยงานในชุมชน ได้แก่ โรงเรียนเทศบาล ธนาคาร สนามกีฬากลาง ฯลฯ ทางด้านเหนือของชุมชนมีป่าช้าหรือเมรุเผาศพ ถนนภายในชุมชนและถนนที่เชื่อมต่อกับชุมชนอื่นส่วนใหญ่เป็นถนนลาดยาง
แหล่งน้ำ แหล่งน้ำหลักของชุมชนที่ใช้อุปโภคและบริโภคเป็นน้ำประปา ซึ่งใช้น้ำจากแม่น้ำแม่่ฮ่องสอน โดยมีอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ฮ่องสอนเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับป๊อกดอนเจดีย์
- ทิศตะวันออก ติดกับป๊อกปางล้อ ป๊อกกลางเวียง และป๊อกตะวันออก
- ทิศใต้ ติดกับป๊อกหนองจองคำ
- ทิศตะวันตก ติดกับวัดพระธาตุดอยกองมู
ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ที่อพยพเข้ามานานแล้ว ข้อมูลจากเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนล่าสุด ปี พ.ศ. 2564 ระบุว่าประชากรในชุมชนกาดเก่ามีจำนวนทั้งหมด 1,684 คน แบ่งเป็นชาย 839 คน และหญิง 845 คน ซึ่งมีจำนวนประชากรสูงที่สุดในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน แต่มีจำนวนครัวเรือนรวม 695 ครัวเรือน ซึ่งน้อยกว่าชุมชนหนองจองคำและชุมชนปางล้อที่มีจำนวนประชากรมากกว่า
ไทใหญ่- ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (ภาษาไทใหญ่เรียกว่าเหลินสามเดือนสาม) ชุมชนป๊อกกาดเก่าจะจัดประเพณี "หลู่ข้าวหย่ากู๊" เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวไทใหญ่ให้คงอยู่สืบไป หลู่ข้าวหย่ากู๊เป็นประเพณีของชาวไทใหญ่ที่สืบทอดกันมาช้านาน โดยมีความเชื่อว่าหลังฤดูการเก็บเกี่ยว ต้องมีการระลึกถึงบุญคุณของข้าวหรือพระแม่โพสพที่คุ้มครองไร่นาหรือให้ชาวนามีข้าวไว้หล่อเลี้ยงชีวิต เมื่อได้ข้าวใหม่มาก็จะนำไปถวายวัด เพื่อความเป็นสิริมงคล ชาวไทใหญ่จึงจัดงานประเพณีถวายข้าวหย่ากู๊
- ในช่วงก่อนวันเข้าพรรษาของชาวไทใหญ่ของทุกปี จะมีการจัดประเพณีที่ชื่อว่า "วานปะลีก" เป็นการทำบุญหมู่บ้านหรือประเพณีทำบุญสี่มุมเมืองของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นการทำพิธีสวดมนต์เจริญพระพุทธมนต์ในชุมชน 4 มุมเมือง ได้แก่ ศาลเจ้าพ่อเมืองแข่ (ทิศเหนือ) ชุมชนหนองจองคำ (ทิศใต้) ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก (ทิศตะวันออก) สำหรับชุมชนป๊อกกาดเก่าจะเป็นตัวแทนของทิศตะวันตก โดยเจ้าของบ้านจะนำถังน้ำใส่น้ำและทราย ตะแหลว 7 ชั้น ใบไม้มงคลที่มีชื่อที่มีความหมายเกี่ยวกับการกั้น กีดขวาง และหนาม มาทำพิธีเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย และการเลี้ยงเจ้าเมืองจะทำให้หมู่บ้านได้รับการคุ้มครองและอยู่เย็นเป็นสุข
- ทุกวันอังคารและพุธ ในช่วงเย็นตั้งแต่ประมาณ 18.00 น. เป็นต้นไป ที่ลานวัฒนธรรมของชุมชนกาดเก่ามีการจัดกาดกองจุ๊ หรือตลาดวัฒนธรรมไทใหญ่ ซึ่งพ่อค้าแม่ขายจะรวมตัวกันนำสินค้ามาจำหน่าย เช่น อาหารพื้นเมือง สินค้าท้องถิ่น ฯลฯ รวมทั้งมีการแสดงท้องถิ่นด้วย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน
ชุมชนป๊อกกาดเก่าประกอบด้วยมรดกทางสถาปัตยกรรมของวัฒนธรรมไทใหญ่หลายแห่ง ได้แก่ วัดพระธาตุดอยกองมู วัดพระก้ำก่อ วัดพระนอน วัดม่วยต่อ ฯลฯ
ภาษาไทใหญ่ ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) และภาษาไทยกลาง
ในชุมชนมีแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมชุมชนป๊อกกาดเก่า (โหย่งกาด) ตั้งอยู่ที่เลขที่ 2/2 ถ.ผดุงม่วยต่อ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีกิจกรรมหลัก ๆ 3 อย่างด้วยกัน คือ
- เป็นศูนย์ฝึกอบรมอาชีพของชุมชน
- จัดกิจกรรมวันสำคัญต่าง ๆ ของชุมชน
- เป็นแหล่งพบปะและประชุมและประสานงานของเครือข่ายชุมชนเมืองแม่ฮ่องสอน
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (สืบค้น 19 มิถุนายน 2567). แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน. http://art.culture.go.th/culturemap/
จตุพร ภูมิพิงค์. (2557). การศึกษาเพื่อจัดการเส้นทางการเรียนรู้มรดกทางศิลปะสถาปัตยกรรมวัฒนธรรมไทใหญ่สำหรับเยาวชนในท้องถิ่นโดยกระบวนการศึกษาเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมของกลุ่มเยาวชนในเขตเมืองแม่ฮ่องสอน. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาการจัดการศิลปะและวัฒนธรรม) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
จังหวัดแม่ฮ่องสอน. (2566). จังหวัดแม่ฮ่องสอนจัดงานประเพณีทำบุญสี่มุมเมือง หรือประเพณีวานปะลีกของชาวไทใหญ่ ประจำปี 2566. https://www.maehongson.go.th/
งานวิชาการและแผน สำนักปลัดเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน. (2564). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570) เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน. เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน. https://www.mmhs.go.th
มิวเซียมไทยแลนด์. (2562.) พิพิธภัณฑ์มีชีวิตเมืองแม่ฮ่องสอน. https://www.museumthailand.com/th/museum/Maehongson-Living-Museum
สามารถ สุวรรณรัตน์. (ม.ป.ป.) ชมรมบ้านเก่าเมืองแม่ฮ่องสอน. เอกสารประกอบการบรรยายเรื่องชมรมบ้านเก่าเมืองแม่ฮ่องสอน. แผนงานนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาอนาคตของเมือง ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต.
สยามรัฐ. (2565). ชุมชนป๊อกกาดเก่า ทม.แม่ฮ่องสอน จัดงานประเพณีหลู่ข้าวหย่ากู๊. https://siamrath.co.th/
Sanook. (2566). เปิดอีกครั้ง "กาดกองจุ๊" ตลาดวัฒนธรรมไทยใหญ่ แห่งเมืองแม่ฮ่องสอน. https://www.sanook.com/travel/