Advance search

ป๊อกดอนเจดีย์, ป๊อกจ่าตี่

ชุมชนดอนเจดีย์ถือว่าเป็นชุมชนชาวไทใหญ่ที่เก่าแก่และยืดมั่นในขนบประเพณีและวัฒนธรรมชาวไทใหญ่อย่างเหนียวแน่น ที่ชุมชนมีการสืบทอดปอยหมั่งกะป่า หรือประเพณีเขาวงกต ซึ่งเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวไทใหญ่ที่นับวันจะสูญหายไปจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน 

หมู่ที่ 1
ดอนเจดีย์
จองคำ
เมืองแม่ฮ่องสอน
แม่ฮ่องสอน
ชนม์ชนก สัมฤทธิ์
15 มิ.ย. 2024
ชนม์ชนก สัมฤทธิ์
15 มิ.ย. 2024
ชนม์ชนก สัมฤทธิ์
15 มิ.ย. 2024
ดอนเจดีย์
ป๊อกดอนเจดีย์, ป๊อกจ่าตี่

ที่มาของชื่อชุมชนมาจากชื่อวัดดอนเจดีย์ ซึ่งแต่เดิมมีชื่อว่าวัดกุงเปา ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาทางทิศตะวันตกของตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ต่อมาวัดกุงเปาถูกไฟไหม้เสียหายจึงถูกทิ้งเป็นวัดร้าง พระญาณวีรคามเจ้าอาวาสวัดกุงเปาจึงก่อตั้งวัดใหม่ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "วัดกุงจาตี่" แต่ทางราชการเรียกว่า "วัดดอนเจดีย์" 


ชุมชนดอนเจดีย์ถือว่าเป็นชุมชนชาวไทใหญ่ที่เก่าแก่และยืดมั่นในขนบประเพณีและวัฒนธรรมชาวไทใหญ่อย่างเหนียวแน่น ที่ชุมชนมีการสืบทอดปอยหมั่งกะป่า หรือประเพณีเขาวงกต ซึ่งเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวไทใหญ่ที่นับวันจะสูญหายไปจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน 

ดอนเจดีย์
หมู่ที่ 1
จองคำ
เมืองแม่ฮ่องสอน
แม่ฮ่องสอน
58000
19.3100000336
97.960000009
เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน

ป๊อกดอนเจดีย์เป็น 1 ใน 6 ชุมชนไทใหญ่ที่เก่าแก่ของเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีวัดดอนเจดีย์เป็นมรดกทางศิลปะและสถาปัตยกรรมไทใหญ่ที่สำคัญ โดยวัดดอนเจดีย์มีประวัติความเป็นมาว่าในสมัยเจ้าฟ้าโกหล่าน เมื่อประมาณ พ.ศ. 2451 เดินทางมาเมืองแม่ฮ่องสอน ได้สร้างวัดไว้ 4 มุมเมืองของเมือง ได้แก่ วัดผาอ่าง (ทิศเหนือ) วัดกุงเปา (ทิศตะวันตก) วัดกุงตึง (ทิศใต้) และวัดพระธาตุดอยกิ่วขมิ้น (ทิศตะวันตก) ต่อมาเกิดไฟป่าทำให้วัดกุงเปาได้รับความเสียหายและถูกทิ้งร้าง พระญาณวีรคามหรือพระสีลวโรซึ่งเป็นเจ้าอาวาส พร้อมด้วยลูกศิษย์จึงย้ายมาก่อตั้งวัดขึ้นใหม่ ชื่อ "วัดจ่าตี่" หรือ "วัดดอนเจดีย์" ในปี พ.ศ. 2481

นอกจากนี้มีประวัติศาสตร์ของชุมชนดอนเจดีย์ เกี่ยวกับศาลเจ้าพ่อเมืองแข่ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2477-2487 โดยลุงส่วยคำ หมอผีและหมอสมุนไพรชาวจีนฮ่อที่อพยพมาจากรัฐฉานตอนเหนือ ลุงส่วยคำได้สร้าง "เข่งครู" หรือ "หอครู" ไว้ 1 หลัง และไม่ให้ใครมาตัดไม้ที่บริเวณนั้นเป็นอันขาด ลุงส่วยคำจะจุดธูปเทียนบูชาเข่งครูทุกครั้งก่อนออกจากบ้านไปรักษาคนเจ็บคนป่วย จนที่เป็นรู้กันของชาวบ้านในละแวกนั้น ต่อมาเมื่อชาวบ้านมีเจ็บไข้ได้ป่วยหรือของหายก็จะขอให้ลุงส่วยคำทำพิธีบนบานต่อเข่งครูให้ช่วยเหลือ เมื่อหายจากการเจ็บป่วยหรือได้ของคืนกลับมาแล้ว ชาวบ้านก็จะแก้บน เลี้ยงผีที่เข่งครู ต่อมาลุงส่วยคำเสียชีวิต ป้ากั่นโหย่งซึ่งเป็นภรรยาก็รับช่วงทำหน้าที่ต่อ จนกระทั่งป้ากั่นโหย่งเสียชีวิตลง ชาวบ้านจึงได้ร่วมใจกันสร้างเข่งครูขนาดใหญ่หรือศาลเจ้า และยกย่องขึ้นเป็นศาลเจ้าเมือง และเรียกชื่อศาลว่า "ศาลเจ้าเมืองเข่" ตามชื่อที่คนไตเรียกคนจีนว่า "เข่" แต่ภายหลังเพี้ยนเป็น "ศาลเจ้าเมืองแข่"    

ปัจจุบันเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนและวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน ได้ร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ของป๊อกดอนเจดีย์ให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตของเมืองแม่ฮ่องสอน โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน นอกจากนี้ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานพิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งตั้งอยู่บน ถ.สิงหนาทบำรุง ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อให้บริการข้อมูลพิพิธภัณฑ์และข้อมูลการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้แก่ผู้เยี่ยมชม 

ชุมชนดอนเจดีย์ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบในหุบเขาทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน มีลำคลองน้ำปุ๊ไหลพาดผ่าน สภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่โดยทั่วไปของชุมชนนี้เป็นชุมชนเมือง มีการตั้งถิ่นฐานถาวร มีวัดดอนเจดีย์เป็นสถานที่สำคัญ โรงเรียนห้องสอนศึกษา โรงเรียนอบจ.บ้านจองคำ และโรงเรียนอนุบาลเมืองแม่ฮ่องสอน และโรงฆ่าสัตว์ ถนนภายในชุมชนและถนนที่เชื่อมต่อกับชุมชนอื่นส่วนใหญ่เป็นถนนลาดยาง 

ชุมชนดอนเจดีย์มีอาณาเขตตั้งแต่สามแยกร้าน พ.ชยานนท์ ถนนขุนลุมประพาสด้านตะวันตก ถนนขุนลุมประพาสซอย 1 ทั้งสองฝั่ง ขัวแดง 2 ถึงบริเวณห้าแยกจ่าสำเริง ถนนปางล้อนิคม-สี่แยกโรงพักด้านทิศเหนือ-สามแยกลงไปทางกองอนามัยฯ และสะพานขัวแดง มีลำน้ำปุ๊ไหลผ่านพาดชุมชน ภายในพื้นที่มีโรงเรียน และวัดดอนเจดีย์ รวมถ

แหล่งน้ำ แหล่งน้ำหลักของชุมชนที่ใช้อุปโภคและบริโภคเป็นน้ำประปา ซึ่งใช้น้ำจากแม่น้ำแม่ฮ่องสอน โดยมีอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ฮ่องสอนเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • ทิศตะวันออก ติดกับป๊อกปางล้อ ป๊อกกลางเวียง และป๊อกตะวันออก
  • ทิศใต้ ติดกับป๊อกกาดเก่า และป๊อกหนองจองคำ 

ประชากรในป๊อกดอนเจดีย์ส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ที่อพยพมานานแล้ว ข้อมูลจากเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนล่าสุด ปี พ.ศ. 2564 ระบุว่าประชากรในชุมชนดอนเจดีย์มีจำนวนทั้งหมด 958 คน แบ่งเป็นชาย 478 คน และหญิง 480 คน ซึ่งมีจำนวนประชากรและครัวเรือนน้อยกว่าชุมชนอื่น ๆ ในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน แต่มากกว่าชุมชนกลางเวียง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
  • ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (ภาษาไทใหญ่เรียกว่าเหลินสามเดือนสาม) ชุมชนดอนเจดีย์จะจัดประเพณี "หลู่ข้าวหย่ากู๊" พร้อม ๆ กับชุมชนเก่าของเมืองแม่ฮ่องสอนอีก 5 ชุมชน (ชุมชนกาดเก่า ชุมชนหนองจองคำ ชุมชนตะวันออก ชุมชนปางล้อ และชุมชนกลางเวียง) เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวไทใหญ่ให้คงอยู่สืบไป หลู่ข้าวหย่ากู๊เป็นประเพณีของชาวไทใหญ่ที่สืบทอดกันมาช้านาน โดยมีความเชื่อว่าหลังฤดูการเก็บเกี่ยว ต้องมีการระลึกถึงบุญคุณของข้าวหรือพระแม่โพสพที่คุ้มครองไร่นาหรือให้ชาวนามีข้าวไว้หล่อเลี้ยงชีวิต เมื่อได้ข้าวใหม่มาก็จะนำไปถวายวัด เพื่อความเป็นสิริมงคล ชาวไทใหญ่จึงจัดงานประเพณีถวายข้าวหย่ากู๊ 
  • ก่อนวันเข้าพรรษาหรือเดือนเจ็ดของทุกปี ชาวบ้านจะจัดพิธีเลี้ยงเขตเจ้าเมือง พร้อมกับพิธีวานปะลีกหรือทำบุญหมู่บ้าน
  • ในเดือนสิบสอง ช่วงขึ้น 13 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ ของทุกปี วัดดอนเจดีย์และชุมชนดอนเจดีย์จะจัดงานปอยหมั่งกะป่า หรืองานประเพณีเขาวงกต "หมั่งกะป่า" แปลว่า เขาวงกต ซึ่งนำมาจากเรื่องราวตอนหนึ่งในมหาเวสสันดรชาดก ตอนที่พระเวสสันดรได้ออกจากเมืองไปบำเพ็ญบารมีในป่าเขาวงกต ในช่วงเดือนสิบสอง ชาวบ้านจะสร้างประสาท 9 หลัง ตั้งไว้บริเวณเขาวงกตที่สร้างขึ้น ซึ่งมีความหมายว่าประสาทหลังใหญ่ 1 หลังที่ตั้งไว้ตรงกลางแทนอาศรมของพระเวสสันดร สำหรับประสาทอีก 8 หลัง สร้างจำลองตามประวัติและความเชื่อตั้งแต่สมัยพุทธกาล 
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

มรดกทางสถาปัตยกรรม

  • ในวัดดอนเจดีย์มีศาลาการเปรียญและอุโบสถแบบไทใหญ่ มีหลังคาซ้อนชั้น ประดับชายหลังคาด้วยสังกะฉลุลายไต สร้างโดยช่างไทใหญ่ และได้รับการบูรณะอยู่เป็นระยะ
  • ศาลเจ้าเมืองแข่ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่ ภายในศาลประกอบด้วยเครื่องบูชาตามธรรมเนียมของไทใหญ่ เช่น ที่นอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม เชี่ยนมาก ผ้าม่าน รูปปั้นจำลอง แจกันดอกไม้ แท่นบูชาเซ่นไหว้สำหรับประกอบพิธีเลี้ยงเมือง ฯลฯ 

มรดกทางประเพณีและความเชื่อ

  • งานประเพณีเขาวงกต ซึ่งเป็นประเพณีที่พบเห็นได้ยากในปัจจุบัน

ภาษาไทใหญ่ ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) และภาษาไทยกลาง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

งานวิชาการและแผน สำนักปลัดเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน. (2564). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570) เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน. เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน. https://www.mmhs.go.th/

จตุพร ภูมิพิงค์. (2557). การศึกษาเพื่อจัดการเส้นทางการเรียนรู้มรดกทางศิลปะสถาปัตยกรรมวัฒนธรรมไทใหญ่สำหรับเยาวชนในท้องถิ่นโดยกระบวนการศึกษาเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมของกลุ่มเยาวชนในเขตเมืองแม่ฮ่องสอน. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาการจัดการศิลปะและวัฒนธรรม) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ฐานันดร พรหมปัญญา. (2557). วัฒนธรรมทางการเมืองของชาวไต (ไทใหญ่) ในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน. การศึกษาค้นคว้าอิสระ ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

มิวเซียมไทยแลนด์. (2562). พิพิธภัณฑ์มีชีวิตเมืองแม่ฮ่องสอน. https://www.museumthailand.com/

สยามรัฐ. (2566). 6 ชุมชน เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน สืบสานประเพณีหลู่ข้าวหย่ากู๊ ประจำปี 2566. https://siamrath.co.th/