ชุมชนปกาเกอะญอที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญคือ วนอุทยานน้ำตกไม้ซางหนาม
คำว่า "ไม้ซางหนาม" หมายถึง ไม้ไผ่ที่มีหนาม บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านเต็มไปด้วยป่าไผ่ที่มีหนาม ชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านไม้ซางหนาม
ชุมชนปกาเกอะญอที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญคือ วนอุทยานน้ำตกไม้ซางหนาม
เดิมหมู่บ้านไม้ซางหนาม ตั้งอยู่หลักกิโลเมตรที่ 6 ถนนสายไม้ซางหนาม-บ้านกลาง (ถนน ร.พ.ช.) ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีถนนตัดผ่าน หมู่บ้านมีผู้นำชาวกะเหรี่ยงชื่อ นายเถ่อเหล่อ พะโลบา เป็นผู้ใหญ่บ้านและมีลูกบ้านจำนวน 40 ครัวเรือน และจำนวนประชากรร้อยกว่าคน
ต่อมา พ.ศ. 2511 เกิดกรณีพิพาทขึ้นในหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านแยกกลุ่มเป็น 2 หย่อมบ้าน คือ บ้านไม้ซางหนามเหนือ ตั้งหมู่บ้านอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 3 และบ้านไม้ซางหนามใต้ ตั้งอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 6 ปัจจุบันมีหย่อมบ้านห้วยเชือกซึ่งตั้งอยู่กิโลเมตรที่ 4 ถนนไมโครเวฟ จำนวน 7 ครัวเรือน เพิ่มอีกเป็น 3 หย่อมบ้าน นอกจากนี้มีชาวบ้านจากบ้านไม้ซางหนามไปตั้งหมู่บ้านไปอยู่ที่บ้านทุ่งมะกอก ซึ่งอยู่ในตำบลห้วยโป่งเช่นเดียวกัน
ลักษณะภูมิประเทศ มีสภาพพื้นที่ราบระหว่างหุบเขาสูง มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 200-1,300 เมตร ซึ่งสามารถแบ่งพื้นที่ออกได้ 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ราบระหว่างหุบเขา ซึ่งมีความลาดชัน และพื้นที่ราบที่มีความลาดชันน้อยลงมา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้แต่ไม่หนาทึบมากนัก นอกจากนี้ในหมู่บ้านมีวนอุทยานน้ำตกไม้ซางหนาม ซึ่งตั้งอยู่เขตป่าสงวนแห่งชาติ
ป่าไม้ ป่าไม้ของบ้านไม้ซางหนามมีหลายชนิด ดังนี้ ป่าเบญจพรรณ โดยมีลักษณะเป็นป่าโปร่งขึ้นอยู่ตามที่ราบ เชิงเขา และสันเขา พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น สัก แดง ประดู่ เสลา ตะแบก สมพง อ้อยช้าง ยอมทอม ไผ่ซาง ไผ่ข้าวหลาม ฯลฯ ป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น พลวง สน เพียง เต็ง รัง เก็ดดำ รกฟ้า ฯลฯ ป่าหญ้าซึ่งพบพันธุ์ไม้ขนาดเล็ก และป่าดิบเขาตามหุบเขา ร่องห้วย และบนภูเขาสูง ซึ่งมีสภาพเป็นป่ารกทึบ พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น จำปีป่า ก่อ มะเดื่อ หวาย กล้วยป่า เฟิร์น เถาวัลย์ พืชสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ฯลฯ สำหรับสัตว์ป่าที่พบ เช่น เก้ง เลียงผา หมูป่า อีเห็น ตะกวด นิ่ม กระรอก ลิง ค่าง นกชนิดต่าง ๆ งูชนิดต่าง ๆ ค้างคาว แมลงชนิดต่าง ๆ ฯลฯ
ภูมิอากาศ ฤดูกาลของบ้านไม้ซางหนามแบ่งออกได้เป็น 3 ฤดู ดังนี้
- ฤดูร้อน กลางเดือนกุมภาพันธ์-กลางเดือนพฤษภาคม มีอากาศร้อนอบอ้าวทั่วไป โดยเฉพาะในเดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนอบอ้าวมากที่สุดในรอบปี
- ฤดูฝน เริ่มประมาณกลางเดือนพฤษภาคม-กลางเดือนตุลาคม อากาศจะเริ่มชุ่มชื้นและมีฝนตกชุกตั้งแต่ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือเดือนสิงหาคม
- ฤดูหนาว เริ่มประมาณกลางเดือนตุลาคม-กลางเดือนกุมภาพันธ์ อากาศโดยทั่วไปจะหนาวเย็นและแห้ง เดือนที่มีอากาศหนาวที่สุดคือเดือนมกราคม
แหล่งน้ำใช้ในครัวเรือน ชุมชนส่วนใหญ่ในตำบลได้ใช้น้ำจากระบบน้ำประปา (ประปาภูเขา) ทั้ง 15 หมู่บ้าน มีระบบประปาภูเขาใช้และมีปัญหาในช่วงหน้าแล้งน้ำคือจะไม่เพียงพอ
แหล่งน้ำ แหล่งน้ำของชุมชนประกอบด้วย แหล่งน้ำธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำและระบบประปาหมู่บ้าน
ประชากรของชุมชนไม้ซางหนามเป็นชาวปกาเกอะญอ
ปกาเกอะญอประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนทำเกษตรกรรม ได้แก่ ปลูกกระเทียม ส้มเขียวหวาน ข้าวโพดที่ใช้เลี้ยงสัตว์ ข้าว ถั่วเหลือง และถั่วลิสง
ในชุมชนมีแหล่งมรดกทางธรรมชาติที่สำคัญ คือ วนอุทยานน้ำตกไม้ซางหนาม ซึ่งมีป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน
ประชากรของชุมชนสื่อสารกันด้วยภาษาปกาเกอะญอ และมีบางส่วนที่สื่อสารภาษาไทยกลางได้
สถานีพัฒนาที่ดินแม่ฮ่องสอน. (2562). แผนการใช้ที่ดินตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน. สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 กรมพัฒนาที่ดิน.
สำนักอุทยานแห่งชาติ. (ม.ป.ป.). วนอุทยานน้ำตกไม้ซางหนาม. สืบค้น 28 กรกฎาคม 2567. https://portal.dnp.go.th/