ชุมชนที่มีวิถีชีวิตที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทใหญ่และปกาเกอะญอที่อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน มีวิวทะเลหมอกยามเช้า พระพุทธรูปศิลปะพม่าผสมไทยใหญ่ การเกษตรในวิถีพอเพียง และผลิตภัณฑ์ OTOP ของชุมชน
ชื่อ "ป่าปุ๊" อาจมาจากตอนที่กลุ่มคนชุดแรกเข้ามาตั้งรกราก ในหมู่บ้านมีต้นพลูเจริญเติบโตขึ้นไปทั่ว จากคำว่า "ป่าพลู" อาจเรียกเพี้ยนตามสำเนียงชาวเหนือว่า "ป่าปุ๊" ไปในที่สุด
ชุมชนที่มีวิถีชีวิตที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทใหญ่และปกาเกอะญอที่อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน มีวิวทะเลหมอกยามเช้า พระพุทธรูปศิลปะพม่าผสมไทยใหญ่ การเกษตรในวิถีพอเพียง และผลิตภัณฑ์ OTOP ของชุมชน
จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่เล่าว่าหมู่บ้านป่าปุ๊ก่อตั้งขึ้นมานานแล้วตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือเมื่อราว 80 กว่าปีมาแล้ว โดยชุมชนดั้งเดิมเป็นชาวไทใหญ่ ต่อมาประมาณ 50-60 ปีที่แล้ว ชาวปกาเกอะญอย้ายเข้ามาตั้งรกรากอยู่ด้วย ปัจจุบันหมู่บ้านแห่งนี้มีมากกว่า 200 หลังคาเรือน และมีประชากรประมาณ 2,000 คน
บ้านป่าปุ๊ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีพื้นที่ราบระหว่างหุบเขา อยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำ แม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่าน เช่น แม่น้ำปาย แม่น้ำแม่สะมาด ฯลฯ
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับบ้านแม่สะกึด ตำบลผาบ่อง
- ทิศใต้ ติดต่อกับบ้านผาบ่องเหนือ ตำบลผาบ่อง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านห้วยฮี้ ตำบลห้วยปูลิง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านผาบ่อง ตำบลผาบ่อง
ภูมิอากาศ โดยทั่วไปมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ในฤดูร้อนจะมีอากาศร้อนจัด ในฤดูฝนฝนจะตกชุก ในฤดูหนาวจะมีอากาศหนาวจัด และมีหมอกปกคลุมตลอดทั้งปี เนื่องจากมีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาสูง ตั้งอยู่บนที่สูงเหนือระดับน้ำทะเล ทำให้มีอุณหภูมิสูงในตอนกลางวันเนื่องจากถูกแสงแดด ส่วนในตอนกลางคืนจะได้รับอิทธิพลจากลมภูเขาทำให้อากาศเย็นลงอย่างรวดเร็ว เมื่อความร้อนในตอนกลางวันลอยตัวขึ้นปะทะกับความชื้นของอากาศจึงทำให้เกิดหมอกปกคลุม โดยภูมิอากาศของบ้านป่าปุ๊แบ่งเป็น 3 ฤดู ดังนี้ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่ช่วงระหว่างกลางเดือนกุมภาพันธ์-กลางเดือนพฤษภาคม ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม-กลางเดือนกุมภาพันธ์
คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และทำงานหัตถกรรมทอผ้าพื้นเมืองเป็นอาชีพเสริม นอกจากนี้มีกลุ่มอาชีพ 13 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มคั่วถั่วลายเสือ กลุ่มหัตถกรรม (ตุ๊กตาชนเผ่า) กลุ่มปักผ้าฝ้าย กลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยง กลุ่มนวดแผนไทย กลุ่มดนตรีพื้นเมือง กลุ่มผักปลอดสารพิษ กลุ่มจักสานพลาสติก กลุ่มโฮมสเตย์ กลุ่มเย็บผ้าไทใหญ่ และกลุ่มประดิษฐ์ต้นไม้หยก และกลุ่มสตรีแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านป่าปุ๊ ซึ่งทำผลิตภัณฑ์น้ำอ้อยอินทรีย์
ชาวปกาเกอะญอในหมู่บ้านป่าปุ๊มีการทอผ้า (ต่ากี๊ย่ะ) สันนิษฐานว่าการทอผ้าเข้ามาสู่บ้านป่าปุ๊ โดยชาวปกาเกอะญอชุดแรก ๆ ที่อพยพเข้ามาทำมาหากินแถบนี้ เมื่อประมาณ 50-60 ปีที่แล้ว การทอผ้าของชาวป่าปุ๊เป็นการนำทรัพยากรจากธรรมชาติ ทั้งเปลือกไม้ ใบไม้ และผลไม้มาย้อมสีผ้า เช่น สีน้ำตาลอ่อนจากใบสมอ สีเทาเข้มจากลูกสมอ สีน้ำเงินจากใบห้อม สีเทาจากลูกมะขามป้อม สีเขียวอ่อนจากเปลือกเพกาผสมใบถั่ว สีโอรสจากเปลือกเงาะป่า สีชมพูจากเปลือกต้นมะขาม สีเลือดหมูจากเปลือกมังคุด สีเหลืองจากขมิ้นและเปลือกมะม่วง ฯลฯ รวมถึงใช้สีธรรมชาติมาทำลวดลายบนผ้าด้วย
ในปี พ.ศ. 2542 ทางหน่วยงานราชการได้เข้ามาส่งเสริมความรู้เพิ่มเติมให้กับชาวบ้านให้รู้จักการย้อมสีธรรมชาติ ทำให้งานทอผ้าที่เคยมีแต่ลายสีขาวและแดงตามธรรมเนียมของชาวกะเหรี่ยง มีสีสันและลวดลายที่สวยงามและร่วมสมัย นอกจากนี้ยังใช้เมล็ดธัญพืช เช่น ลูกเดือย ในการปักตกแต่งบนลายผ้า
ลวดลายการทอและลวดลายปักของชาวป่าปุ๊มีทั้งลายดั้งเดิมที่นิยมทำกันมาตั้งแต่สมัยก่อน เช่น ลายเชอกอพอ (ลายดอกมะเขือ) ลายเกอแนเดอ (ลายรังผึ้ง) ลายทีข่า (ชื่อแมลงบนผิวน้ำ) ฯลฯ โดยนำมาสร้างลวดลายให้กับผลิตภัณฑ์ เช่น เสื้อ ผ้าซิ่น กระโปรง ผ้าพันคอ ผ้าห่ม ผ้าปูโต๊ะ ผ้ารองจาน กระเป๋า ฯลฯ ซึ่งเป็นสินค้า OTOP ของหมู่บ้าน
บ้านป่าปุ๊ได้รับการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากสำนักงานพัฒนาชุมชน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จังหวัดแม่ฮ่องสอน นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตผสมผสานทางวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่และปกาเกอะญอ ชมวิวทะเลหมอกยามเช้า นมัสการพระพุทธรูปศิลปะพม่าผสมไทใหญ่ และรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา ชมวัดป่าปุ๊ที่มีศิลปะแบบไทใหญ่ตกแต่งด้วยปานซอย (สังกะสีหรืออะลูมิเนียมฉลุลาย) ชมพิพิธภัณฑ์บ้านไทใหญ่ ศึกษาการทำเกษตรวิถีพอเพียงที่สะพานก้าวเพื่อสุข เยี่ยมชมโฮมสเตย์บ้านไทใหญ่ ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และเลือกซื้อของฝากจากชุมชน เช่น ตุ๊กตากะเหรี่ยงคอยาวจากกลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้านป่าปุ๊ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติจากกลุ่มทอผ้าตากีญะ ถั่วลายเสือคั่วจากสวนเกษตรอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์จากน้ำอ้อยอินทรีย์ ซึ่งการทำน้ำอ้อยเป็นภูมิปัญญาที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยใช้วัตถุดิบจากต้นอ้อยที่ปลูกไว้ในบริเวณหมู่บ้าน
ภาษาไทใหญ่และภาษาปกาเกอะญอ
กองบรรณาธิการอนุสาร อ.ส.ท. (ม.ป.ป.). “ถั่วลายเสือ” ของดีแม่ฮ่องสอนที่เพลิดเพลินจนหยุดไม่ได้. https://osotho.co/lifestyle/
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.). (ม.ป.ป.). ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านป่าปุ๊. https://thai.tourismthailand.org/Attraction/
ข่าวสด. (8 กุมภาพันธ์ 2565). ชวนเที่ยววิถีชีวิตบ้านป่าปุ๊ ชิมน้ำอ้อยแผ่น สด สะอาด ของฝากขึ้นชื่อเมืองสามหมอก. ข่าวสด https://www.khaosod.co.th/lifestyle/travel/
น้าป๋อง ณ ผาบ่อง. (14 พฤศจิกายน 2551). บ้านป่าปุ๊. https://baankruaeed.wordpress.com/
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน. (22 ตุลาคม 2563). การจัดเก็บองค์ความรู้หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวบ้านป่าปุ๊. https://maehongson.cdd.go.th/
บ้านป่าปุ๊. (4 ธันวาคม 2564). การท่องเที่ยววิถีชุมชนบ้านป่าปุ๊. https://www.facebook.com/papuucity/
ผ้าทอกะเหรี่ยงบ้านป่าปุ๊. (11 ธันวาคม 2565). ผ้าทอกะเหรี่ยงบ้านป่าปุ๊. https://www.facebook.com/pooklookja1237/