Advance search

ชุมชนชาวไทใหญ่ที่มีต้นสักอุดมสมบูรณ์ตามชื่อของหมู่บ้าน มีที่ราบท้องทุ่งนาเขียวขจีและทะเลหมอกยามเช้าในหน้าหนาว รวมถึงมี "ซูตองเป้" สะพานบุญที่เกิดแรงกาย แรงใจ และแรงศรัทธาของพระภิกษุสามเณรและชาวบ้าน

หมู่ที่ 2
กุงไม้สัก
ปางหมู
เมืองแม่ฮ่องสอน
แม่ฮ่องสอน
ชนม์ชนก สัมฤทธิ์
15 มิ.ย. 2024
ชนม์ชนก สัมฤทธิ์
15 มิ.ย. 2024
ชนม์ชนก สัมฤทธิ์
15 มิ.ย. 2024
กุงไม้สัก

ชื่อหมู่บ้านตั้งตามสภาพของพื้นที่ที่เป็นเนินเขาเตี้ย ๆ และมีต้นสักขึ้นอุดมสมบูรณ์ โดยคำว่า "กุง" เป็นภาษาไทใหญ่ หมายถึง เนินเขาที่มีความชันไม่มาก "ไม้สัก" หมายถึง ต้นสัก ซึ่งเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มีไม้เนื้อแข็ง


ชุมชนชาวไทใหญ่ที่มีต้นสักอุดมสมบูรณ์ตามชื่อของหมู่บ้าน มีที่ราบท้องทุ่งนาเขียวขจีและทะเลหมอกยามเช้าในหน้าหนาว รวมถึงมี "ซูตองเป้" สะพานบุญที่เกิดแรงกาย แรงใจ และแรงศรัทธาของพระภิกษุสามเณรและชาวบ้าน

กุงไม้สัก
หมู่ที่ 2
ปางหมู
เมืองแม่ฮ่องสอน
แม่ฮ่องสอน
58000
19.38801599
97.9513818
องค์การบริหารส่วนตำบลปางหมู

บ้านกุงไม้สักก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2374 โดยในช่วงเวลานั้นชาวไทใหญ่จากประเทศเมียนมา นำโดยนายซื้อและนายจะกานได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่บริเวณที่ราบริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำปาย (บ้านปางหมูในปัจจุบัน) ซึ่งมีญาติพี่น้องอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาเห็นว่าที่ราบบริเวณเนินเขาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้านปางหมูมีที่ราบและแหล่งน้ำธรรมชาติเหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรม จึงชวนกันชาวบ้านย้ายมาบุกเบิกพื้นที่ ตั้งที่อยู่อาศัยประมาณ 20 หลังคาเรือน และต่อมาได้ขยายหมู่บ้านใหญ่มากขึ้น 

พ.ศ. 2555 พระภิกษุ สามเณร และชาวบ้านกุงไม้สัก ได้ร่วมมือกันสร้างสะพานซูตองเป้ ทอดยาวจากสวนธรรมภูสมะถึงหมู่บ้านกุงไม้สัก ผ่านลำน้ำแม่สะงาและทุ่งนาของชาวบ้าน เพื่อให้พระภิกษุสามเณรใช้เดินทางออกรับบิณฑบาต รวมถึงชาวบ้านและเกษตรกรในบริเวณได้ใช้เดินทางสัญจร สะพานซูตองเป้นี้ถือว่าถูกสร้างขึ้นจากแรงศรัทธาของพระภิกษุ สามเณร และชาวบ้าน เนื่องจากคนในชุมชนร่วมมือร่วมใจกันสร้างขึ้นมา โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ และใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ได้แก่ เสาจากไม้เก่าของชาวบ้าน และไม้ไผ่ที่นำมาปูพื้นสะพาน ต่อมาสะพานซูตองเป้ได้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของบ้านกุงไม้สักด้วย และมีการจัดกิจกรรมตักบาตรบนสะพานในวันออกพรรษา

ในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2566 ฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน รวมถึงพื้นที่ตำบลปางหมู ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากซัดสะพานซูตองเป้พังเสียหาย รวมไปถึงนาข้าวและพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่ก็ได้รับความเสียหายเช่นเดียวกัน หลังจากนั้นชาวบ้านและทหารได้ช่วยกันนำเศษซากไม้ ดิน และขยะที่ถูกพัดมาติดค้างออกจากสะพาน รื้อ ซ่อมแซม และสร้างสะพานใหม่ ซึ่งระหว่างการสร้างใหม่นั้นก็มีฝนตกและน้ำไหลหลากอยู่เป็นระยะ จนบูรณะแล้วเสร็จในช่วงเดือนตุลาคม โดยวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นวัน “นวมินทรมหาราช” ทาวัดได้จัดให้มีพิธีสวดมนต์ตอนเย็นพร้อมจุดประทีป 1,000 ดวงตลอดแนวของสะพานซูตองเป้ที่บูรณะใหม่ จากนั้นวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2566 มีพิธีตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งถวายเป็นพระราชกุศลและเพื่อความเป็นสิริมงคลต่องานบุญใหญ่ในครั้งนั้นด้วย

ลักษณะทางภูมิศาสตร์

ชุมชนบ้านกุงไม้สักตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นที่ราบเชิงเขาในลุ่มน้ำแม่สะงา พื้นที่ตั้งชุมชนมีความสูงประมาณ 232 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งลาดเอียงจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสังเกตจากการไหลของน้ำในลำห้วย พื้นที่ชุมชนเป็นเขตป่าสงวนลุ่มน้ำปาย ตั้งแต่ฝั่งขวาของหมู่บ้านไปจนถึงเขากุงกาดผี ห้วยโป่งจัน และเขาห้วยอื้น ซึ่งมีพืชพรรณตามธรรมชาติ ได้แก่ ไม้สัก ต้นรัง ต้นตะแบก และต้นไผ่  บ้านกุงไม้สักมีอาณาเขตติดต่อกับตำบลและหมู่บ้านใกล้เคียง ดังนี้

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านบ้านแม่สะงา หมู่ 5 ต.หมอกจำแป่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านสบสอย หมู่ 7 ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านปางหมู หมู่ 1 ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน 
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านในสอย หมู่ 4 ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

แหล่งน้ำ แหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชน ได้แก่ ลำน้ำแม่สะงา ลำห้วยอื้น อ่างเก็บน้ำห้วยโป่งจันทร์ และประปาหมู่บ้าน

ประชากรส่วนใหญ่ในบ้านกุงไม้สักเป็นชาวไทใหญ่ โดยมีจำนวนประชากรรวมทั้งหมด 716 คน (ข้อมูลในปี พ.ศ. 2567 จากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข) 

ไทใหญ่

ชาวบ้านในชุมชนกุงไม้สักประกอบอาชีพทำเกษตรกรรม ได้แก่ ปลูกข้าวและกระเทียม ทำสวน และรับจ้างทั่วไป  

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

แกนนำชุมชนบ้านกุงไม้สัก มีดังนี้

  1. นายศิริ เข่งภักดี
  2. นายประพาส อินฺธิปวง
  3. นางนงพะงา วงศ์เผือก

สำหรับปราชญ์ทางด้านการเกษตรของชุมชน คือ นายณัฐพล มั่นใจ ที่ทำการเกษตรตามหลักทฤษฎีโคก หนอง นา โมเดล ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ทำงานร่วมกับโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์ สู่ โคก หนอง นา โมเดล ของสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่สื่อสารกันด้วยภาษาไทใหญ่ ภาษาไทยถิ่นเหนือ และสามารถสื่อสารภาษาไทยกลางได้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
  • สะพานซูตองเป้ เป็นสะพานไม้ไผ่ขนาดกว้าง 2 เมตร ยาวประมาณ 600 เมตร คำว่า “ซูตองเป้” เป็นภาษาไทใหญ่ แปลว่า อธิษฐานสำเร็จ สะพานแห่งนี้จึงเป็นเหมือนตัวแทนแห่งคำอธิษฐานสำเร็จ

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2563). 10 เท่...น่าเที่ยวของ จ.แม่ฮ่องสอน. https://thai.tourismthailand.org/

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข. (2567). รายงานข้อมูลตำบลปางหมู. https://3doctor.hss.moph.go.th/

ไทยพีบีเอส. (2566). น้ำป่าหลากซัด "สะพานซูตองเป้" พังเสียหาย. https://www.thaipbs.or.th/

ฐานข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับไทใหญ่ ศูนย์วิจัยวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านกุงไม้สัก. http://www.taiyai.org/taiyaidata/

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน. (2565). สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์ สู่ โคก หนอง นา โมเดล”. https://district.cdd.go.th/muangmaehongson/

MGR Online. (2566). “ซูตองเป้” คืนสภาพแล้ว! พลังศรัทธาระดมซ่อม-เสร็จ หลังโดนน้ำป่าพัดพังราบ. https://mgronline.com/