หมู่บ้านชาวไทใหญ่ที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์
เดิมบ้านแม่สะงาชื่อ "บ้านไม้สักงา" เนื่องจากชุมชนเป็นพื้นที่ที่มีต้นสักขนาดใหญ่ที่มีกิ่งก้านสาขาเหมือนงาช้างขึ้นอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งมีลำน้ำไหลผ่านชุมชนตลอดทั้งปี จึงเรียกชื่อลำน้ำดังกล่าวว่าลำน้ำแม่สะงา
หมู่บ้านชาวไทใหญ่ที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์
หมู่บ้านแม่สะงามีอายุเก่าแก่เกือบหนึ่งร้อยปี โดยหมู่บ้านก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2470 เมื่อก่อนบ้านแม่สะงาเคยมีชื่อว่าบ้านไม้สะงา เนื่องจากในอดีตบ้านแม่สะงามีป่าต้นสักและน้ำอุดมสมบูรณ์ ชาวไทใหญ่จากเมียนมามักเข้ามาทำสวนและทำไร่ในหมู่บ้านและสร้างที่พักชั่วคราวในบางฤดูกาล ต่อมาในปี พ.ศ. 2399 นายจองตะก่าและนายจองสิ่ง ชาวไทใหญ่จากเมียนมาเข้ามาตั้งถิ่นฐานใกล้แม่น้ำแม่สะงา ซึ่งบ้านสะงามีผู้นำชุมชนในอดีต เช่น นายอุตตมะ จิตอารีย์, นายทุนแหล่ง เชาว์พิกุล, นายกั๋นนะ จิตประสงค์, นายทา กันทาหอม, นายกอหลิ่งต๊ะ รักทอง, นายอาทิตย์ นิมงคล ฯลฯ
วัดแม่สะงา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2399 คนในชุมชนเรียกว่า "วัดจองแม่งา" ซึ่งถูกสร้างพร้อมกับหมู่บ้านแม่สะงา โดยมีพ่อจองตะก่า จองสิ่ง เป็นผู้นำในการก่อตั้ง ในช่วงเริ่มแรกนั้นวัดสร้างจากไม้สักทั้งหลัง ต่อมาได้ทรุดโทรมลง กระทั่ง พ.ศ. 2521 คนในชุมชนได้ร่วมกันรื้อวัดหลังเก่าและสร้างหลังใหม่ขึ้น ซึ่งสร้างโดยนายทุนแหล่ง เชาว์พิกุล อดีตผู้ใหญ่บ้านแม่สะงา วัดแม่สะงาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2535 อาคารเสนาสนะที่สำคัญของวัด ได้แก่ ศาลาการเปรียญ ปูชนียวัตถุมี พระพุทธรูปพระประธาน ปางมารวิชัย ศิลปะพม่า สมัยมัณฑะเลย์ จำนวน 2 องค์ ซึ่งสร้างจากไม้ไผ่สาน จารึกฐานพระประธานองค์ใหญ่ระบุว่าผู้สร้างคือพ่อเฒ่าสึ่งโหลง แต่ไม่ปรากฏปีที่สร้าง
ชุมชนนี้อยู่ในลุ่มน้ำแม่สะงาและตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น สัก แดง เต็ง รัง ยาง ฯลฯ แหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชน ได้แก่ แม่น้ำแม่สะงา และประปาภูเขาจากอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งอ่อน
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านหมอกจำแป่ ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านกุงไม้สัก หมู่ 2 ตำบลปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านห้วยผา หมู่ 1 ตำบลห้วยผา อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านห้วยโป่งอ่อน หมู่ 7 ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน
ภูมิอากาศ แบ่งเป็น 3 ฤดู คือ
- ฤดูร้อน เริ่มประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม มีอากาศร้อนอบอ้าวทั่วไป โดยเฉพาะในเดือนเมษายนมีอากาศร้อนอบอ้าวมากที่สุด
- ฤดูฝน เริ่มประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นระยะที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าสู่ประเทศไทยทางตอนเหนือ อากาศจะเริ่มชุ่มชื้นและมีฝนตกชุกตั้งแต่ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือสิงหาคม
- ฤดูหนาว เริ่มประมาณกลางเดือนตุลาคมถึง กลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย อากาศโดยทั่วไปจะหนาวเย็นและแห้ง เดือนที่มีอากาศหนาวที่สุดคือมกราคม
ประชากรในชุมชนเป็นชาวไทใหญ่
ไทใหญ่ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนทำเกษตรกรรม ทำไร่ เช่น ข้าวโพด รา ถั่วเหลือง ทำนาข้าว และรับจ้างทั่วไป
ชุมชนมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ คือ น้ำตกแม่สะงากลาง ตั้งอยู่ในบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ถผ.2 (น้ำตกผาเสื่อ) และตั้งอยู่เหนือเขื่อนแม่สะงาที่ผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นน้ำตกขนาดกลางที่สวยงาม มีน้ำไหลตลอดทั้งปี น้ำตกแม่สะงากลางจะไหลลงสู่เขื่อนแม่สะงา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เหมาะสำหรับเดินป่า ศึกษาธรรมชาติ การล่องแพหรือพายเรือ
คนในชุมชนส่วนใหญ่สื่อสารด้วยภาษาไทใหญ่ ส่วนภาษาอื่น ๆ เช่น คำเมือง ภาษาไทยภาคกลาง ฯลฯ
ฐานข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับไทใหญ่ ศูนย์วิจัยวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านแม่สะงา. http://www.taiyai.org/taiyaidata/
ฐานข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับไทใหญ่ ศูนย์วิจัยวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน. (ม.ป.ป.). วัดแม่สะงา. http://www.taiyai.org/taiyaidata/
สำนักอุทยานแห่งชาติ. (ม.ป.ป.). น้ำตกแม่สะงากลาง - อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา - น้ำตกผาเสื่อ. https://portal.dnp.go.th/Content