เลโคะ หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงโปว์เล็ก ๆ ที่ยังคงประกอบอาชีพดั้งเดิม คือ การจักสานและทอผ้า ซึ่งช่างหัตถกรรมที่นี่มีฝีมือดี ต่อมาจึงได้พัฒนาหมู่บ้านเป็นหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของชุมชน นอกจากนี้ชาวบ้านยังปลูกกาแฟ ซึ่งเอกลักษณ์ของกาแฟบ้านเลโคะ คือ ต้นกาแฟปลูกในพื้นที่ที่ไม่สูงมากนักหากเทียบกับกาแฟของที่อื่น แต่เป็นต้นกาแฟที่ได้รับดิน น้ำ และอากาศที่อุดมสมบูรณ์ โดยจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟธรรมชาติบ้านเลโคะ
เดิมหมู่บ้านเลโคะเคยมีชื่อว่าหมู่บ้าน "เอควา" ซึ่งเป็นชื่อของนายเอควา ซึ่งเป็นคนก่อตั้งหมู่บ้าน ภายหลังที่นายเอควาเสียชีวิตลง จึงได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น "เลโคะ" ซึ่งเป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า บ้านบนยอดผา
เลโคะ หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงโปว์เล็ก ๆ ที่ยังคงประกอบอาชีพดั้งเดิม คือ การจักสานและทอผ้า ซึ่งช่างหัตถกรรมที่นี่มีฝีมือดี ต่อมาจึงได้พัฒนาหมู่บ้านเป็นหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของชุมชน นอกจากนี้ชาวบ้านยังปลูกกาแฟ ซึ่งเอกลักษณ์ของกาแฟบ้านเลโคะ คือ ต้นกาแฟปลูกในพื้นที่ที่ไม่สูงมากนักหากเทียบกับกาแฟของที่อื่น แต่เป็นต้นกาแฟที่ได้รับดิน น้ำ และอากาศที่อุดมสมบูรณ์ โดยจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟธรรมชาติบ้านเลโคะ
เดิมบ้านเลโคะตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ต่อมาปี พ.ศ. 2527 อำเภอแม่สะเรียงมีการแยกกิ่งอำเภอเพิ่ม คือ กิ่งอำเภอสบเมย บ้านเลโคะจึงได้เปลี่ยนมาตั้งที่หมู่ที่ 1 ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน
พ.ศ. 2487 นายเอควาซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้าน ก่อตั้งหมู่บ้านเอควา ต่อมาเมื่อนายเอควาเสียชีวิต ชื่อของหมู่บ้านจึงเปลี่ยนเป็นเลโคะ
ชุมชนเลโคะมีการอพยพย้ายหมู่บ้านทั้งหมด 3 ช่วงหลัก ๆ ในช่วงแรก ๆ หมู่บ้านมีจำนวนคนไม่มาก ประมาณ 10 หลังคาเรือน ต่อมามีประชากรเพิ่มมากขึ้นทำให้พื้นที่ทำกินไม่เพียงพอ ประกอบกับสภาพพื้นที่เป็นที่สูง (800-900 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ไม่สะดวกต่อการเดินขึ้นลงเขาของคนชราและเด็กเล็ก ชาวบ้านจึงพากันอพยพย้ายลงมายังพื้นที่ที่ต่ำกว่าเดิม (ประมาณ 700-800 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) แต่ไม่ห่างจากหมู่บ้านเดิมมากนัก บางครอบครัวก็มีลูกชายและลูกสาวที่แต่งงานและย้ายออกไปอยู่ในหมู่บ้านอื่น ส่วนบางกลุ่มรวมตัวกันแล้วออกไปตั้งหมู่บ้านใหม่ ต่อมาชาวบ้านย้ายหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบัน เนื่องจากมีทำเลที่ดีกว่า มีพื้นที่ราบมากกว่าที่เดิม มีลำธารไหลผ่านหมู่บ้านตลอดปี เป็นชุมทางสามารถเดินทางผ่านไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ ที่อยู่เรียงรายรอบ ๆ อีกหลายหมู่บ้าน และสามารถอยู่ได้หลายครอบครัว
จากคำบอกเล่าของชาวบ้านทำให้ทราบว่าสมัยก่อนหมู่บ้านเลโคะยังไม่เป็นหมู่บ้านที่ตั้งมั่นถาวร หากพื้นที่ทำกินไม่เพียงพอหรือขาดความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านก็จะอพยพเคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ ประกอบกับความเชื่อของบรรพบุรุษว่าหมู่บ้านนี้อาจอยู่ได้ไม่เกิน 30 หลังคาเรือน ถ้าเกินกว่านี้จะต้องแยกย้ายไปอยู่ที่อื่น ทำให้ชาวบ้านบางส่วนต้องไปอยู่ที่หมู่บ้านอื่น คือ บ้านทิยาพอ และบ้านกลอโคะ แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชนเห็นว่าหากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ หมู่บ้านอาจจะอยู่ไม่ยืนยาว จึงได้รวมตัวกันปรึกษาหมอผี และปฏิบัติตามคำแนะนำของหมอผี คือ สร้างศาลเจ้าที่ไว้นอกหมู่บ้าน 1 ที่ และทำพิธีเลี้ยงศาลปีละหนึ่งครั้ง จะทำให้หมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข หลังจากนั้นหมู่บ้านเลโคะจึงตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เดิมเรื่อยมา
สภาพแวดล้อมโดยทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเชิงเขา รอบ ๆ หมู่บ้านเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ซึ่งมีระดับความสูง 600-700 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ป่าไม้ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ พรรณไม้ที่พบ เช่น สัก แดง ประดู่ เต็ง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีของป่า เช่น กล้วยไม้ป่า น้ำผึ้ง ขี้ค้างคาว ฯลฯ แร่ธาตุที่สำคัญ เช่น ดีบุก ฟลูออไรท์ ฯลฯ
แหล่งน้ำ แหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชน คือ แม่น้ำยวม ซึ่งไหลมาจากอำเภอขุนยวมลงมาที่อำเภอแม่สะเรียง และไปบรรจบกับแม่น้ำเมยก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำสาละวินในประเทศเมียนมา
ภูมิอากาศ ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดเอาความชุ่มชื้นและเมฆฝนเข้ามาทำให้ฝนตกและลมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดจากประเทศจีน จะนำความเย็นและความแห้งแล้งเข้ามาทำให้เกิดฤดูกาลต่าง ๆ ลักษณะอากาศหนึ่งรอบมีอยู่ 3 ฤดู โดยจะมีฤดูร้อนในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ฤดูฝนในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน และฤดูหนาวในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์
ประชากรในชุมชนเป็นชาวกะเหรี่ยงโปว์
ประกอบอาชีพหลัก คือ ทำไร่หมุนเวียน เช่น ข้าว ข้าวโพด งา แตง กาแฟ ฯลฯ เลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ไก่ เป็ด วัว ควาย ฯลฯ ทำเครื่องจักสาน และทอผ้า
งานหัตถกรรม งานหัตถกรรมของบ้านเลโคะเป็นสินค้า OTOP ของหมู่บ้านด้วย ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนได้จัดตั้งหมู่บ้านเลโคะเป็นหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี ในโครงการท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เป็นการเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ในชุมชนจากผลิตภัณฑ์ของชุมชน และการท่องเที่ยว
กาแฟ สำหรับกาแฟของบ้านเลโคะได้มาจากชาวต่างชาติที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนา และมีกรมส่งเสริมการเกษตรและโครงการหลวงเข้ามาพัฒนาและส่งเสริมความรู้ในเรื่องการปลูก การดูแลรักษา และการแปรรูป รวมถึงหาตลาดรับซื้อ ชาวบ้านจึงนิยมปลูกกาแฟกัน โดยเป็นการปลูกผสมผสานกับไม้ชนิดอื่น เช่น ลูกเนียง ลิ้นจี่ ลำไย ฯลฯ
คนในชุมชนส่วนใหญ่สื่อสารกันด้วยภาษากะเหรี่ยง นอกจากนี้มีหลายคนพูดภาษาไทยถิ่นเหนือหรือคำเมือง และภาษาไทยกลางได้
เมืองพล เมฆเมืองทอง. (2518). กะเหรี่ยงที่บ้านเลโคะ ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน [สารนิพนธ์การศึกษาขั้นประกาศนียบัตรขั้นสูงบัณฑิตอาสาสมัคร]. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ. (2558). ข้อมูลทั่วไปของอำเภอสบเมย. https://www.oic.go.th
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน. (2564). กลุ่มชาติพันธุ์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
Coffee Traveller. (2021). Baan Le Ko บ้านเลโคะ กาแฟที่รอใครสักคนเข้าไปช่วยกันพัฒนา. https://www.coffeetravelermagazine.com
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง. (ม.ป.ป.). โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริบ้านเลโค๊ะ. https://dnp16mr.com/โครงการพัฒนาป่าไม้ตามฯ