ชุมชนห้วยสะพานสามัคคี พื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ ป่าชุมชน แหล่งภูมิปัญญา มรดกทางวัฒนธรรม และการจัดการท้องถิ่นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพชุมชน
ชุมชนห้วยสะพานสามัคคี พื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ ป่าชุมชน แหล่งภูมิปัญญา มรดกทางวัฒนธรรม และการจัดการท้องถิ่นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพชุมชน
การเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บริเวณชุมชนมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่การพบหลักฐานในพื้นที่บริเวณวัดคงคา ซากอุโบสถเก่า เจดีย์โบราณ พระพุทธรูป โอ่งหิน เครื่องทองเหลืองโบราณ ซึ่งมีการค้นพบในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ทราบว่าเป็นชุมชนเก่าแก่โบราณที่มีผู้คนอยู่อาศัยกันเรื่อยมา ต่อมามีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มเติมทำให้ความเป็นชุมชนเริ่มกลับมาอีกครั้ง โดยพื้นที่ชุมชนมีลำห้วยไหลผ่านแบ่งชุมชนออกเป็นสองฝั่งลำห้วยเรียก บ้านเหนือและบ้านใต้ มีต้นไม้ขนาดใหญ่พาดข้ามกลางลำห้วยเชื่อมชุมชนทั้งสองฝั่ง และในภายหลังจึงมีการเปลี่ยนชื่อชุมชนเป็น บ้านห้วยสะพาน
ในระยะต่อมามีผู้คนอพยพถิ่นฐานมาจากพื้นที่อื่น ๆ เข้ามาสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยภายในชุมชนเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และมีประชากรอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น เมื่อจำนวนประชากรและครัวเรือนในชุมชนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการยื่นขออนุมัติขยายเขตการปกครอง โดยแบ่งพื้นที่บ้านห้วยสะพานเดิมออกเป็น 4 ชุมชน ประกอบด้วย หมู่ที่ 1 บ้านหนองกระจันทร์ หมู่ที่ 2 บ้านห้วยสะพาน หมู่ที่ 9 บ้านใหม่ และหมู่ที่ 11 บ้านดอนเจริญ ในเขตพื้นที่ตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
โดยชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้านยังมีการติดต่อสื่อสารไปมาหาสู่กันอย่างสันติตามวิถีชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง ต่อมาเมื่อมีความเจริญก้าวหน้าและพัฒนาการทางสังคมเพิ่มมากขึ้น มีการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง และการเข้ามาของนายทุนเพื่อซื้อที่ดินของชาวบ้านที่ติดกับพื้นที่ป่า เพื่อปลุกพืชไร่ส่งให้กับโรงงานอุตสาหกรรม รวมไปถึงการตัดไม้ในพื้นที่บริเวณป่าใกล้กับชุมชน จนเกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม และชาวบ้านได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว แหล่งน้ำและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่เริ่มเสื่อมสภาพลง ทำให้เกิดการรวมตัวของแกนนำชุมชนเพื่อต่อต้าน และผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาดังกล่าว จนในปี พ.ศ. 2517 นายทุนก็ได้ออกจากพื้นที่ชุมชนไป ชาวบ้านจึงมีมติร่วมกันในการสงวนและอนุรักษ์ผืนป่า และสามารถกันพื้นที่ไว้ได้กว่า 1,008 ไร่ ในปี พ.ศ. 2529 ชาวบ้านเข้าร่วมการฝึกอบรมอาสาพัฒนาป้องกันตนเอง (อพป.) เป็นผู้ดูแลป่าชุมชน เรียกชื่อว่า ป่ารังหนา มีการจัดชุดลาดตระเวนด้วยตนเอง ปี พ.ศ. 2540 มีการจัดการป่าชุมชนอย่างเป็นระบบมากขึ้นและมีหน่วยงานรัฐเข้ามาส่งเสริมร่วมด้วย จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2543 ชาวบ้านทั้ง 4 ชุมชน ร่วมกันประชุมชนและลงมติให้เป็นพื้นที่ป่าชุมชนใช้ชื่อว่า “ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี” จัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชน และส่งเสริมการจัดกิจกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยกันดูแลระบบนิเวศชุมชนเรื่อยมา
บ้านห้วยสะพาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ในเขตความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองโรง อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเป็นระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ลักษณะทางกายภาพของภูมิศาสตร์ท้องถิ่นเป็นพื้นที่ราบเชิงเขา ที่ราบสลับกับพื้นที่เนิน และพื้นที่ราบลุ่ม มีพื้นที่ติดต่อกับป่าชุมชน สภาพดินมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย ทำให้พื้นที่ป่ามักพบพืชในระบบนิเวศของป่าประประเภทป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง โดยที่ตั้งชุมชนมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านดอนตาเพชร
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ทุ่งหนองกระจันทร์
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านดอนสระ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านหนองโรง
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 2 บ้านห้วยสะพาน ตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,172 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 592 คน ประชากรหญิง 580 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 807 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนประกอบอาชีพเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยชาวบ้านจะทำนา ทำไร่ พื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านกระจายอยู่ในรอบพื้นที่บริเวณชุมชน และพื้นที่ตำบลสำโรง ซึ่งในการทำเกษตรกรรมชาวบ้านอาศัยน้ำจากคลองชลประทาน และแหล่งน้ำตามธรรมชาติเพื่อใช้ในการเพาะปลูก ชาวบ้านมีการทำนาข้าว และไร่มันสำปะหลัง ฯลฯ นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีการประกอบอาชีพอื่น ๆ อีก ได้แก่ การแปรรูปอาหารส่งขาย ค้าขายทั่วไป อาชีพเกี่ยวกับงานช่างงานฝีมือ อาชีพรับราชการ รวมไปถึงอาชีพรับจ้างทั่วไป
ชุมชนบ้านห้วยสะพานเป็นชุมชนพุทธศาสนา มีวัดห้วยสะพานเป็นวัดประจำชุมชน เป็นศูนย์กลางทางความเชื่อ และพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกันของชุมชน โดยวิถีชีวิตของชาวบ้านจะผูกพันกับวัฒนธรรมความเชื่อท้องถิ่น ประเพณี วันสำคัญทางศาสนา และวิถีเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรม ซึ่งจะยึดโยงกันและถูกจัดขึ้นในช่วงต่าง ๆ ในแต่ละรอบปี ทั้งตามปฏิทินทางจันทรคติ และปฏิทินการเพาะปลูกตามฤดูกาล ตัวอย่างประเพณีและวัฒนธรรมชุมชนที่จัดขึ้น ได้แก่ ประเพณีทำขวัญแม่โพสพ ประเพณีแรกเกี่ยวข้าว ประเพณีแห่นางแมว ประเพณีทำบุญศาลตาปู่ ประเพณีการทำบุญกระดูก ประเพณีการทำยาย (การรับยายหรือผีบรรพบุรุษ) ประเพณีการแห่พ่อขุนด่าน การทำบุญเลี้ยงพระ ประเพณีสารทเดือนสิบ ฯลฯ
ทรัพยากรธรรมชาติ
ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ของชุมชน มีพื้นที่ประมาณ 1,800 ไร่ อาณาเขตพื้นที่ป่าทางด้านทิศเหนือจรดแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทิศใต้ติดพื้นที่บ้านห้วยสะพาน ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกทอดไปตามแนวพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร สภาพพื้นที่ป่าเป็นป่าพื้นราบเชิงเขา เดิมมีลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณ แต่หลังจากที่กลุ่มนายทุนเข้ามาทำให้ต้นไม้ใหญ่ดั้งเดิมหายไปเป็นจำนวนมาก สภาพป่าปัจจุบันจึงเป็นป่าไม้รุ่นที่สองที่เกิดจากการแทงหน่อจากตอเดิม และจากลูกไม้ที่งอกขึ้นมาใหม่ และมีสภาพเป็นป่าเต็งรัง โดยมีทั้งป่าธรรมชาติและป่าปลูกเพิ่มเติม
แหล่งน้ำธรรมชาติ พื้นที่ชุมชนมีแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่หลายแห่งกระจายอยู่ทั่วบริเวณ ทั้งลำห้วยธรรมชาติและหนองน้ำ ประกอบด้วย คลองตูม สระวัดเก่า สระแม่บ้าน สระศาลตาปู สระวังงู สระบัวหรือสระวัดห้วยสะพาน
ทรัพยากรดิน ระบบนิเวศพื้นที่ในพื้นที่ชุมชนบ้านห้วยสะพานจะมีดินอยู่สองประเภทหลัก คือ ดินทราย และดินร่วนปนทราย ดินทรายจะพบในพื้นที่ราบและพื้นที่ราบเชิงเขาในบริเวณป่าชุมชนบ้านห้วยสะพาน ซึ่งเกิดจากการชะล้างจากภูเขาในบริเวณโดยรอบ คือ เขาเปล้ง เขากำแพง และเขาจำศีล ในส่วนของดินร่วนปนทราย พบได้ในพื้นที่ราบและพื้นที่ดอน ทางด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และด้านทิศใต้ของชุมชน มีความเหมาะสำคัญต่อการเพาะปลูก ทำนา และปลูกพืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง
ปาณพัฒน์ รอดลมูล. (2552). การพัฒนาเว็บไซต์เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน กรณีศึกษาป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สายยนต์ ศิริรัตน์. (2549). กระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพเด็กและเยาวชนในการสืบทอดดูแลรักษาป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
อาณัติ ชุมเจริญ. (2550). การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้: กรณีศึกษา ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี ต. หนองโรง อ. พนมทวน จ. กาญจนบุรี. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
กิติชัย รัตนะ. (ม.ป.ป.). ใช้ป่าชุมชนเป็นสะพานสู่การพัฒนาแบบมีส่วนร่วม. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2567, จาก https://fivein.co.th/576/doforgreen-trip1/