Advance search

ป่าโคกสำคัญของคนท้องถิ่นและมีการเปลี่ยนแปลงหลังการเข้ามาของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ขามเรียง
กันทรวิชัย
มหาสารคาม
วุฒิกร กะตะสีลา
28 พ.ค. 2024
ณัฐพล นาทันตอง
20 มิ.ย. 2024
วุฒิกร กะตะสีลา
26 มิ.ย. 2024
ป่าโคกหนองไผ่

เป็นพื้นที่ป่าโคกของชุมชนละแวกใกล้เคียงเนื่องจากมีต้นไผ่จำนวนมากในพื้นที่ประกอบกับมีหนองน้ำสำคัญบริเวณป่าโคกจึงตั้งชื่อว่า "ป่าโคกหนองไผ่"


ป่าโคกสำคัญของคนท้องถิ่นและมีการเปลี่ยนแปลงหลังการเข้ามาของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ขามเรียง
กันทรวิชัย
มหาสารคาม
44150
16.24184
103.24976
เทศบาลตำบลขามเรียง

ป่าโคกหนองไผ่ตามหนังสือ มท 0618/7020 วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2539 ระบุว่ามีเนื้อที่ 1,202 ไร่ 1 งาน 29.8 ตารางวา ลักษณะทั่วไปจัดเป็นป่าผลัดใบ (Deciduous Forest) ประเภทป่าเบญจพรรณแล้งหรือป่าแดง (Dry Dipterocarp Forest) โดยนิยมเรียกว่าป่าโคก ประกอบด้วยไม้พื้นเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะวงศ์ยาง ป่าโคกหนองไผ่ยังมีชื่อเรียกต่างกันไปในแต่ละหมู่บ้าน เช่น โคกสูง โคกผีป่าหลอก โคกแฝก โคกกกไฮ โคกหนองไผ่โคก โคกหนองไผ่บก โคกท่าขอนยาง โคกหนองขอนป้ง หรือเรียกสั้นๆว่าโคก กล่าวได้ว่าเป็นแหล่งป่าสำคัญที่หมู่บ้านตั้งรายรอบกว่า 10 หมู่บ้าน ได้อาศัยใช้ร่วมกันตั้งแต่อดีต ทั้งการแสวงหาปัจจัยสี่ เป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ เผาถ่าน พื้นที่ทำกินของชาวนาไร้ที่ดิน เช่น ทำนา ปลูกปอ ปลูกมัน รวมทั้งเป็นป่าช้าของหมู่บ้านรอบ ๆ ก่อนที่จะมีการสร้างเมรุซึ่งเริ่มแพร่หลายตามทั่วไปในช่วงทศวรรษที่ 2520  ในช่วงก่อนทศวรรษที่ 2480 ป่าโคกยังอุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ทั้งไม้ยืนต้นและไม้เถา โดยเฉพาะไผ่ป่า ไผ่โจด ขึ้นหนาทึบ จึงค่อนข้างลำบากในการเดินฝ่าเข้าไป ดังนั้นการสัญจรระหว่างหมู่บ้านฝั่งตะวันตกและตะวันออก (ของป่า) จึงมักเดินอ้อมป่าเดินลัดเลาะไปตามคันนาบ้านดอนนาเป็นหลัก และถ้าใครนำสัตว์เลี้ยงไปปล่อยต้องระวังดูแลอย่าให้คลาดสายตาเพราะมักมีขโมยที่อาศัยความรกทึบของป่าแอบต้อนวัวควายไปซ้อนไว้ในป่า ด้วยความที่เป็นป่าช้าและความรกทึบของป่าโคกในอดีตทำให้มีเรื่องเล่าขานมากมาย โดยเฉพาะเรื่องเล่าเกี่ยวกับปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ เหตุนี้ในช่วงเย็นโพล้เพล้ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงไม่กล้าล่วงผ่านอาณาเขตของป่าโคก ต้องเดินอ้อมเลาะไปตามริมคันนาแถบบ้านดอนนาแทน เล่ากันอีกว่าจุดอันน่าพรั่นพรึงของป่าโคกมีสองแห่งคือหน้าบริเวณที่ตั้งพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคามในปัจจุบัน กับบริเวณหน้าอาคารราชนครินทร์ซึ่งในอดีตมีต้นกระบกใหญ่ยืนต้นอยู่ แต่ปัจจุบันต้นกระบกที่เคยยืนต้นตายข้างศาลเพียงตาได้รับการรื้อถอนออกแล้วจากการปรับภูมิทัศน์ใหม่ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ความลึกลับน่ากลัวของป่าค่อยๆ ลดลงตามวันเวลาเมื่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้เริ่มเข้ามา ป่าโคกได้ถูกรุกล้ำมาเป็นลำดับทั้งจากคนในท้องถิ่นเอง เช่น ชาวบ้านบางส่วนเข้าไปตั้ง “เตาผี” เผาถ่านในป่า (ช่วงทศวรรษที่ 2510-2520) จนสภาตำบลขามเรียงต้องออกกฎหมายปิดป่าช่วง พ.ศ. 2521-2525 นอกจากนี้ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกินหรือมีน้อยยังเข้ามาอาศัยปลูกปอด้วย รวมทั้งการสร้างสถานีสูบน้ำคลองส่งน้ำรองรับการเกษตรผ่านเข้าไปในเขตป่า เช่น การสร้างสถานีสูบน้ำบ้านท่าขอนยาง 1 และ 2 ในปี พ.ศ. 2519 และ พ.ศ. 2532 ตามลำดับ รวมพื้นที่ทั้งสองแห่งประมาณ 3,900 ไร่ และยังมีการสร้างถนนตัดผ่านป่าโคกตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2488 และได้รับการปรับปรุงมาตามลำดับจนมหาวิทยาลัยมหาสารคามเข้ามาตั้ง

ก่อนการเข้ามาตั้งพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามปรากฏว่าพื้นที่โคกหนองไผ่มีการให้ทัณฑสถานหรือเรือนจำจังหวัดมหาสารคามขอใช้พื้นที่ โดยมีจุดประสงค์ว่าจะขออาศัยพื้นที่ดังกล่าวปลูกป่าให้ ภายหลังได้มีการตัดไม้พื้นเมืองลงแล้วนำยูคาลิปตัสเข้ามาปลูกแทนในช่วงปี พ.ศ. 2530 จากนั้นโรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคมที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาจึงได้มาตั้งในเขตป่าเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 หลังจากปี พ.ศ. 2539 มหาวิทยาลัยมหาสารคามเริ่มจัดการพื้นที่โคกหนองไผ่และดำเนินการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ บนพื้นที่ป่าโคกหนองไผ่มาตามลำดับ (ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลีและคณะ, 2553:77-80)

ปัจจุบันป่าโคกหนองไผ่เป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จำนวนป่าไม้ของป่าโคกหนองไผ่มีจำนวนลดลงและถูกแทนที่ด้วยตึกและอาคารต่างๆ สำหรับการเรียนการสอน ผู้คนในชุมชนละแวกใกล้เคียงป่าโคกหนองไผ่ที่เคยใช้สอยผืนป่าในอดีตเข้ามาใช้ป่าแห่งนี้น้อยลงจนแทบไม่มีการใช้งานในลักษณะดั้งเดิมอีกเลย มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้จัดทำเส้นทางสำรวจและศึกษาป่าโคกบริเวณหลังพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคามเพื่อเป็นการอนุรักษ์ป่าโคกหนองไผ่ผืนสุดไว้ให้คงเหลืออยู่ กล่าวได้ว่าป่าโคกหนองไผ่ผืนนี้ได้ถูกเปลี่ยนมือผู้ใช้งานจากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของคนท้องถิ่น สู่สถานศึกษาของนิสิตนักศึกษาทั่วทุกสารทิศ

พื้นที่ป่าโคกหนองไผ่ปัจจุบันเป็นพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม อาณาเขตและการใช้พื้นที่ป่าในอดีตจะแบ่งการใช้งานของพื้นที่ป่าดังนี้

  • ทิศเหนือ ป่าโคกหนองไผ่ชุมชนที่ใช้ประโยชน์คือ บ้านมะกอก บ้านแข้
  • ทิศใต้ ป่าโคกหนองไผ่ชุมนที่ใช้ประโยชน์คือ บ้านดอนหน่อง บ้านหนองขาม
  • ทิศตะวันออก ป่าโคกหนองไผ่ชุมชนที่ใช้ประโยชน์คือ บ้านดอนนา
  • ทิศตะวันตก ป่าโคกหนองไผ่ชุมชนที่ใช้ประโยชน์คือ บ้านขามเรียง บ้านเขียบ

แต่เดิมประชากรที่ใช้ประโยชน์ผืนป่าโคกหนองไผ่เป็นชุมชนใกล้เคียงละแวกนั้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัฒนธรรมลาว แต่ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการใช้ผืนป่าโคกหนองไผ่โดยการเข้ามาของมหาวิทยาลัยมหาสารคามผู้คนที่ใช้พื้นที่จึงเป็นประชากรแฝงที่เข้ามาศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุมชนบริเวณรอบป่าโคกหนองไผ่ยังคงรักษาฮีตคองตามรูปแบบของคนอีสานคือมีประเพณีตามฮีต 12

  • เดือนมกราคม การทำบุญสู่ขวัญข้าว การทำบุญปีใหม่
  • เดือนกุมภาพันธ์ ข้าวจี่
  • เดือนมีนาคม ประเพณีบุญผะเหวด
  • เดือนเมษายน เทศกาลสงกรานต์
  • เดือนพฤษภาคม บุญบั้งไฟ
  • เดือนมิถุนายน บุญเลี้ยงบ้าน
  • เดือนกรกฎาคม วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา
  • เดือนสิงหาคม บุญข้าวประดับดิน
  • เดือนกันยายน บุญข้าวสาก
  • เดือนตุลาคม บุญออกพรรษา
  • เดือนพฤศจิกายน บุญกฐิน บุญลอยกระทง
  • เดือนธันวาคม เทศกาลปีใหม่
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
  • เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติป่าโคกหนองไผ่
  • พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ชุมชนในละแวกใกล้เคียงป่าโคกหนองไผ่ส่วนใหญ่ใช้ภาษาลาว (อีสาน) ในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลีและคณะ. (2553). สารานุกรมประวัติมหาวิทยาลัยมหาสารคามหมวดอาคารสถานที่ โครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม. มหาสารคาม: สารคามการพิมพ์