ชุมชนที่พบใบเสมาในสมัยทวารวดีในพื้นที่ต่าง ๆ ของชุมชนเป็นจำนวนมาก
บ้านกุดโง้งเป็นหมู่บ้านที่มีสภาพเป็นเหมือนเกาะที่มีน้ำล้อมรอบ กล่าวคือทิศเหนือและทิศตะวันออกติดกับลำปะทาว ทิศใต้ติดลำห้วยกอก ทิศตะวักตกติดลำห้วยหลัว ชาวบ้านเรียกพื้นที่บริเวณดังกล่าวว่า กุดโง้ง เป็นที่มาของการตั้งชื่อชุมชนตามลักษณะภูมิประเทศที่เป็นกุด (หนองน้ำด้วยหรือแม่น้ำสายเก่า) ว่า "กุดโง้ง"
ชุมชนที่พบใบเสมาในสมัยทวารวดีในพื้นที่ต่าง ๆ ของชุมชนเป็นจำนวนมาก
ปี พ.ศ. 2450 ตอนปลายสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีราษฎรจากจังหวัดอุบลราชธานีสองครอบครัวอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านผือ หัวหน้าสองครอบครัวนี้ได้พากันสืบค้นหาที่ทำกิน จนมาพบสถานที่แห่งหนึ่งมีสภาพพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีลำห้วยหลายสายคดเคี้ยววกวนโอบล้อมบริเวณนี้เอาไว้ มีพื้นที่เป็นบริเวณกว้างขวาง จึงจับจองบริเวณนี้เป็นที่ทำกิน ซึ่งต่อมาบริเวณนี้ก็คือบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านกุดโง้งในปัจจุบัน เมื่อได้เนื้อที่พอต่อการเพาะปลูกแล้วจึงได้อพยพครอบครัวย้ายจากบ้านผือ มาปลูกกระท่อมเป็นที่พักอาศัยอยู่บริเวณดังกล่าว จำนวน 2 หลัง หลังแรกคือ ครอบครัวของนายจุ ไม่ทราบนามสกุล ประกอบด้วยนายจุ และนางบู่ พร้อมลูก ๆ หลังที่ 2 คือ ครอบครัวของนายเหมือน ภรรยาและลูก ๆ อยู่ทางด้านทิศเหนือของหนองน้ำ (กุดในปัจจุบัน) ขณะเดียวกันยังมีชาวบ้านต่างถิ่นกลุ่มอื่น ๆ มาค้นหาจับจองแหล่งทำกินเช่นเดียวกัน ตามบริเวณใกล้เคียงของลำห้วยก็มีอยู่ประปราย ปี พ.ศ. 2456 มีครอบครัวหนึ่งอพยพมาจากบ้านหนองบัวบาน อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ คือ ครอบครัวของนายหมา บุตรศรี และญาติจำนวนหนึ่ง ได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่กับญาติที่บ้านบุ่งคล้า
ปี พ.ศ. 2459 นายหมา บุตรศรี ได้แยกตัวเองจากบิดา มารดา ที่บ้านบุ่งคล้า มาตั้งครอบครัวใหม่อย่างถาวรที่บ้านกุดโง้งเมื่อมาถึงก็ไม่พบกับครอบครัวนายจุและนายเหมือน ทั้งสองครอบครัวได้อพยพไปอยู่ที่อื่นปล่อยให้ที่ทำกินและกระท่อมร้างอยู่อย่างเดียวดาย นายหมาจึงตั้งรกรากอยู่บริเวณบ้านกุดโง้งนั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งหลังจากปี พ.ศ. 2459 ได้มีราษฎรจากหมู่บ้านใกล้เคียงต่าง ๆ อาทิ บ้านผือ บ้านกุดตุ้ม บ้านหนองไผ่น้อย บ้านบุ่งคล้า เริ่มทยอยเข้ามาจับจองที่ดินเพื่อทำกิน ผู้ที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเนินกุดโง้ง ก็ได้เริ่มทยอยมาปลูกบ้านเป็นที่พักอาศัยอย่างถาวรบริเวณเนินกุดโง้ง แต่ยังไม่มีการสร้างบ้านเรือนเป็นที่พักอาศัยอย่างมั่นคงแข็งแรงมากนัก มีลักษณะเป็นกระท่อมพอได้พักอาศัยเป็นที่หลบแดดหลบฝนและหลับนอนในที่ทำกินของตนเองเท่านั้น บริเวณสร้างที่พักอาศัยนั้นเป็นเนินดิน มีลักษณะเป็นพื้นที่สูงกว่าบริเวณอื่น เนินดินบริเวณนี้ เหมาะกับการสร้างที่พักอาศัย น้ำท่วมไม่ถึง คนกลุ่มนี้ได้แบ่งที่ดินเพื่อปลูกบ้านให้กันและกัน จากปี พ.ศ. 2459-2477 ขณะนั้นมีประชากรจำนวน 10 ครัวเรือนเศษ และได้มีชื่อเรียกในกลุ่มตนเองว่า " บ้านกุดโง้ง" นายหมา บุตรศรี ผู้ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดและเป็นประชากรรุ่นที่ 2 ที่เข้ามาสัมผัสดินแดนแห่งนี้ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ในปี พ.ศ. 2486 บ้านกุดโง้งจึงได้เกิดขึ้นเป็นทางการ เป็นหมู่ 12 ตำบลหนองนาแซง มีชื่ออยู่ในสารบบของทางราชการ
บ้านกุดโง้งเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก มีสภาพเป็นเหมือนเกาะมีน้ำล้อมรอบทั้งลำปะทาว ห้วยกอก ห้วยหลัว มีสะพานข้ามลำปะทาวเป็นทางเข้าชุมชน มีอาณาเขตมีดังนี้
- ทิศเหนือ จรด พื้นที่บ้านสระไข่น้ำ ตำบลกุดตุ้มและลำปะทาว
- ทิศใต้ จรด พื้นที่บ้านบุ่งคล้า ตำบลบุ่งคล้าและลำห้วยกอก
- ทิศตะวันออก จรด บ้านหนองไผ่น้อย ตำบลกุดตุ้มและลำปะทาว
- ทิศตะวันตก จรด บ้านโนนแดง ตำบลบุ่งคล้าและลำห้วยหลัว
ประชากรของบ้านกุดโง้งมีจำนวนไม่มาก เพราะเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก ประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนในวัฒนธรรมลาว
ชุมชนรักษาฮีตคองตามรูปแบบของคนอีสานคือมีประเพณีตามฮีตสิบสอง
- เดือนมกราคม การทำบุญสู่ขวัญข้าว การทำบุญปีใหม่
- เดือนกุมภาพันธ์ ข้าวจี่
- เดือนมีนาคม ประเพณีบุญผะเหวด
- เดือนเมษายน เทศกาลสงกรานต์
- เดือนพฤษภาคม บุญบั้งไฟ
- เดือนมิถุนายน บุญเลี้ยงบ้าน
- เดือนกรกฎาคม วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา
- เดือนสิงหาคม บุญข้าวประดับดิน
- เดือนกันยายน บุญข้าวสาก
- เดือนตุลาคม บุญออกพรรษา
- เดือนพฤศจิกายน บุญกฐิน บุญลอยกระทง
- เดือนธันวาคม เทศกาลปีใหม่
พิพิธภัณฑ์ใบเสมาบ้านกุดโง้ง จุดเริ่มต้นของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เริ่มจากแต่เดิมพื้นที่ชุมชนบ้านกุดโง้งเป็นชุมชนในวัฒนธรรมทวารวดีจึงมีการพบใบเสมาจำนวนมาก แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักจนเมื่อปี พ.ศ. 2512 ได้มีชาวต่างชาติมาขโมยใบเสมาที่นับได้ว่ามีลวดลายสวยที่สุดไปทำให้คนในชุมชนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของใบเสมามากขึ้นประกอบกับในปี พ.ศ. 2513 นายอมร ฤาชา ซึ่งเป็นศึกษาธิการอำเภอสมัยนั้น ได้เดินทางมาเยี่ยมชมและพบว่ามีใบเสมามากมายวางกระจัดกระจายไม่ได้รับการดูแลจากคนในชุมชนเท่าที่ควร จึงแนะนำให้ชาวบ้านนำใบเสมาเหล่านั้นไปจัดเก็บไว้ที่วิหารของวัด เพื่อเป็นการเก็บรักษาและดูแลเบื้องต้น ชาวบ้านจึงนำช้าง 2 ตัวมาลากใบเสมามาเก็บไว้ที่วัดศรีปทุมคงคาราม (บ้านกุดโง้ง) และปล่อยไว้อยู่อย่างนั้นเป็นเวลา 19 ปี จนกระทั่งก่อนปี พ.ศ. 2531 ก่อนที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จะเสด็จมาทอดพระเนตรใบเสมาบ้านกุดโง้ง กรมศิลปากรจึงให้งบประมาณมาสร้างอาคารเก็บใบเสมา แล้วจึงได้ย้ายใบเสมาจากอาคารที่เป็นวิหารหลังเก่าขึ้นมาจัดแสดงที่อาคารจัดแสดงหลังปัจจุบัน
คนในชุมชนส่วนใหญ่ใช้ภาษาลาว (อีสาน) ในการสื่อสาร
พระครูปลัดพีระพันธ์ ธมฺมวุฑฺโฒ(ตรีศรี). (2561). การศึกษาวัฒนธรรมสัมพันธ์ระหว่างใบเสมาหินกับวิถีชีวิตชุมชนชาวพุทธในจังหวัดชัยภูมิ. ดุษฎีนิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
เสกสันต์ ศรีประทุม. (2562). โครงการรูปแบบการพัฒนาพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรมเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย: กรณีศึกษาบ้านกุดโง้ง ตำบลบุ่งคล้า อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ. รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.