หมู่บ้านร่มเย็น รักสามัคคี มีวิถีพอเพียง
คำว่า "บาโงย" เป็นภาษามลายู หมายถึง เขาเตี้ย ๆ หรือ เนิน สาเหตุที่ได้ตั้งชื่อนี้เนี่องจากกลางหมู่บ้านมีพื้นที่ลักษณะเป็นเนินขนาดกลาง
หมู่บ้านร่มเย็น รักสามัคคี มีวิถีพอเพียง
คำว่า "บาโงย" เป็นภาษามลายู หมายถึง เขาเตี้ย ๆ หรือ เนิน สาเหตุที่ได้ตั้งชื่อนี้เนื่องจากกลางหมู่บ้านมีพื้นที่เป็นเนินขนาดกลาง น้ำไม่ท่วม ตามปกติคนแก่เล่าให้ฟังว่า เดิมมีสามีภรรยาคู่หนึ่งเป็นผู้ที่มาตั้งครอบครัว สามีเป็นชาวจีนสันนิษฐานว่า มาจากเมืองปัตตานี มาค้าขายกับเมืองรามัน (โกตาบารู) โดยขนสินค้าจากเมืองโกตาบารูไปส่งท่าเรือปัตตานี และขนสินค้าจากปัตตานีมาส่งที่เมืองโกตาบารู เมื่อมีครอบครัวจึงมาสร้างบ้านเรือนบนเนินนี้ เรียกคนเมืองโกตาบารูคนนี้ว่า “โต๊ะบาโง” ซึ่งเป็นต้นตระกูล "เด็งระกีนา" ต้นตระกูลนี้เป็นผู้นำสืบทอดกันในตำบลบาโงยจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับคำว่า "บาโง" หรือ "บาโงย" เป็นชื่อเรียกหมู่บ้านและตำบลกระทั่งปัจจุบัน
บาโงย เป็นหมู่ที่ 4 ของตำบลบาโงย อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ห่างจาก อำเภอรามัน 12 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดยะลา ประมาณ 15 กิโลเมตร เนื้อที่ประมาณ 2,223 ไร่
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อ บ้านมีดิง ตำบลเนินงาน อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศใต้ ติดต่อ บ้านปาโล๊ะ ตำบลโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อ บ้านบือดอง ตำบลเนินงานและตำบลกาลูปัง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันตก ติดต่อ บ้านลูโบ๊ะลาบี ตำบลบาโงย อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
ลักษณะภูมิประเทศของหมู่ 4 เป็นเนินเขาบริเวณกลางหมู่บ้าน ความสูงระดับน้ำทะเล 165-170 เมตร และค่อยลาดต่ำลงไปจนเป็นที่ราบลุ่มทางทิศตะวันตก ส่วนพื้นที่ที่เป็นที่ราบลุ่มประมาณร้อยละ 40 เหมาะแก่การทำนาข้าว มีแหล่งน้ำธรรมชาติประเภทคลองลำห้วย บึงและสระน้ำ เหมาะแก่การทำการเกษตร
ลักษณะภูมิอากาศ
- ฤดูร้อน ประมาณ เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน
- ฤดูฝน ประมาณ เดือนพฤษภาคม – มกราคม (ฝนตกเกือบตลอดปี) อุณหภูมิในหมู่บ้านบาโงย มีอุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน 36.3 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดในเดือนมกราคมเท่ากับ 21.8 องศาเซลเซียส
- ฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม – มกราคม
จากข้อมูลที่สำรวจโดย จปฐ. ระบุจำนวนครัวเรือนมีทั้งหมด 176 ครัวเรือน (ข้อมูลปี 2565) จำนวนประชากร 554 คน (ข้อมูลปี 2565) ชาย 274 คน หญิง 280 คน ส่วนใหญ่อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่
มลายูการประกอบอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้แก่ สวนยางพารา สวนผลไม้ ทำนา ทำไร่ และตัดเย็บเสื้อผ้าอาชีพเสริม ทำขนมพื้นบ้านจำหน่าย เป็นต้น
การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ผักสด ของใช้ในครัวเรือน ผ่านร้านขายของชำในชุมชน โดยมีร้านค้าภายในชุมชนจำนวน 4 ร้าน โดยนำสินค้าจากในพื้นที่และภายนอกมาจำหน่ายการซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก ส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้จากการทำเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลองกอง มังคุด หรือ ซื้อสินค้าจากรถกับข้าว (รถพุ่มพวง) ที่เข้ามาในชุมชนหรือตลาดนัดภายในชุมชนในช่วงเย็นและพื้นที่ตลาดนัดรอบนอก
การออกไปทำงานนอกชุมชน แรงงาน ในวัยแรงงานของประชากร ร้อยละ 85 เป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นแรงงานครัวเรือน เช่น แรงงานในการทำนา ทำสวน ส่วนแรงงานร้อยละ 25 เป็นแรงงานประเภทต่าง ๆ เช่น การรับจ้าง ค้าขาย ลูกจ้างในภาครัฐ และการทำงานต่างประเทศ โดยมักจะเป็นประเทศใกล้เคียง เช่น ประเทศมาเลเซีย เนื่องจากมีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ใกล้เคียงกัน การทำงานเป็นที่นิยม คือ การเปิดร้านอาหาร และรับจ้างกรีดยาง
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นกลุ่มตามโซนพื้นที่ ส่วนมากจะดูแลกันเป็นโซนพื้นที่ เป็นชุมชนที่มีพื้นที่ว่างจากการปลูกสร้างที่พักอาศัยน้อยมาก และมีพื้นที่ทำนาร้อยละ 50 หรือละแวกใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย ทำให้คนในชุมชนสามารถเข้าได้ทุกกลุ่ม โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติที่ตามมาอยู่ในชุมชน
โครงสร้างอำนาจภายในชุมชน ตามโครงสร้างการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ทำงานร่วมกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ส่วนภายในชุมชนมีการทำโครงการต่าง ๆ จากภายนอกและงานขับเคลื่อนชุมชน โดยมีนายรอซาลี มาหะมะยูโซะ เป็นแกนนำชุมชน
การรวมกลุ่ม การตั้งบ้านเรือนของประชาชนในตำบลบาโงยมีลักษณะตั้งบ้านเรือนขนานไปตามแนวทางของถนนเป็นส่วนมากและมีส่วนเล็กน้อยที่กระจายออกไปตามพื้นที่ราบสูง ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มกันตามครอบครัวและกลุ่มที่สนิทกันหรือมีช่วงวัยเดียวกัน เช่น กลุ่มแกนนำชุมชนที่ทำงานชุมชนด้านต่าง ๆ กลุ่มเด็กและเยาวชน รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมทางศาสนา และทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน
วัฒนธรรม ประเพณี
ชาวบ้านตำบลบาโงย ยึดมั่นในหลักศาสนา นับถือศาสนาอิสลาม 100% มีการประกอบศาสนกิจรวมกันทุกคืน ทำให้เกิดผลดีในด้านการปฏิบัติศาสนกิจแล้วยังเกิดผลดี คือการสร้างความสามัคคีและการแลกเปลี่ยนทัศนคติ ข่าวสาร กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา มีดังนี้
- เมาลิดนบี เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาแห่งมนุษยชาติ ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม มีการรำลึกถึงคุณงามความดีหรือประวัติของท่านในอดีตกาล ในบรรยากาศแห่งความรักและรำลึกถึงท่านอย่างแท้จริง ซึ่งจะจัดในเดือน เราะบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นเดือนที่ 3 ในปฏิทินอิสลาม
- วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า “วันรายอปอซอ” เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือศีลอดมาตลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงามและมีการจ่าย “ซะกาตฟิตเราะฮ์”
- วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย มีการทำกุรบานหรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือน 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การถือศีลอด เป็นหลักปฏิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอด ในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่าง ที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า “ละหมาดตะรอเวียะห์”
- การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา
- การทำฮัจญ์ อัลลอฮ์ทรงบังคับให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้งชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไร ต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน การทำฮัจญ์จะจัดขึ้นในเดือน ซุลฮิจญะฮ์ ซึ่งเป็นเดือน 12 ของอิสลาม
- การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือ การขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อความสะดวกในการรักษาความสะอาด
- ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมไว้ร่อยหรอลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลือเอามารวมกันแล้วกวนกิน จึงกลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ
คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมชน
- ประเพณีการกินนาซิบารู คำว่า "นาซิบารู" หมายถึง ข้าวสารใหม่ที่ได้ผ่านกรรมวิธีจากการลงแขกเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงฤดูทำนา เมื่อเสร็จการทำนา ข้าวเปลือกที่ได้จะนำไปโรงสีข้าวเพื่อเปลี่ยนมาเป็นข้าวสาร หลังจากนั้นชาวบ้านจะเชิญผู้รู้ทางศาสนาและคนในชุมชนมาร่วมรับประทานอาหาร การทำงานส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรมทั้งในพื้นที่ของตัวเอง และพื้นที่ที่เป็นของสมาชิกชุมชน รวมถึงการออกไปรับจ้างทำงานภายนอกชุมชนในบางช่วงเวลา
1. นายอับดุลอาซิ เบ็ญดือราแม มีความชำนาญ ให้ความรู้เรื่อง การทำน้ำหมักชีวภาพ การทำน้ำยาปราบศัตรูพืช ได้ความรู้จากการศึกษาในอินเตอร์เน็ตแล้วนำมาทดลองในสวนของตัวเองจนประสบความสำเร็จ
2. นางบีเด๊าะ สามะ มีความชำนาญ ให้ความรู้เรื่อง การทำจักสานให้ความรู้ในชุมชน ได้รับความรู้จากตระกูลซึ่งได้สืบทอดมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น
อาหาร ชาวบาโงยมีการปลูกผักกางมุ้ง ซึ่งเป็นการปลูกผักโดยใช้วิธีการทางธรรมชาติร่วมกับวิธีการอื่น ๆ ที่ปลอดภัย โดยหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีและยาปราบศัตรูพืช ทั้งยังสามารถป้องกันในเรื่องของแมลงได้เป็นอย่างดี ซึ่งเหมาะสำหรับพื้นที่ที่ปลูกหลายรุ่นหรือพื้นที่ที่มีการปลูกอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีอีกด้วย
นายอับดุลวาฮับ เจ๊ะแม เล่าว่า เดิมทีโครงการนี้เกิดจากการรวมกลุ่มเพื่อปลูกและแปรรูปข้าวไรซ์เบอร์รีเพื่อส่งขาย หลังจากที่เกษตรกรหลายรายต้องประสบกับปัญหาราคายางตกต่ำ ต่อมาจึงได้เริ่มมาทำตามรอยเท้าพ่อใต้ร่มพระบารมีฯ โดยจะเน้นทั้งการปลูกผักกางมุ้งอินทรีย์ในพื้นที่ควบคู่กันไป ส่วนเหตุผลที่เลือกปลูกผักอินทรีย์นั้น เพราะกำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ทั้งยังเชื่อว่าโครงการนี้จะสามารถสร้างทั้งอาชีพและรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ด้วย สำหรับการปลูกผักกางมุ้งอินทรีย์นั้น การเตรียมดินก็ถือเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมากขั้นตอนหนึ่ง ดังนั้น จึงต้องมีการปรุงด้วยปุ๋ยคอกก่อน แล้วจึงนำดินไปตากให้แห้งเพื่อรอนำต้นกล้าที่เพาะมาลงต่อไป นอกจากดินแล้วเรื่องปุ๋ยก็เป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง โดยปุ๋ยที่ใช้นั้นจะเป็นปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพที่ทางโครงการเป็นผู้ผลิตเอง ซึ่งการเลือกใช้ปุ๋ยที่ผลิตเองนอกจากจะเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีแล้ว ยังถือเป็นการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมในโครงการอีกด้วย
นอกจากการเตรียมดินและการให้ปุ๋ยแล้ว การให้น้ำก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยจะให้น้ำด้วยระบบสปริงเกลอร์ทั้งตอนเช้าและตอนเย็น ซึ่งที่เลือกใช้ระบบสปริงเกลอร์เพราะสะดวก ทั้งยังสามารถช่วยให้เกษตรกรประหยัดเวลาอีกด้วย และเนื่องจากเป็นโครงการผักกางมุ้ง มุ้งที่ใช้นั้นเป็นผ้าที่มีความหนาเป็นพิเศษจึงสามารถป้องกันปัญหาเรื่องศัตรูพืชและแมลงได้เป็นอย่างดี
ภาษาที่ใช้พูด : ภาษามลายูท้องถิ่น
ภาษาที่ใช้เขียน : ภาษาไทยกลาง
สถานการณ์การใช้ภาษาของผู้คนในชุมชนส่วนมากใช้ภาษามลายูท้องถิ่นและบางส่วนใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร
ส่วนใหญ่มีการประกอบอาชีพ การเกษตรกรรม รองลงมาได้แก่อาชีพรับจ้าง และค้าขายในวัยแรงงานเป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในครัวเรือน แรงงานในการทำนาทำสวนผลไม้ สวนยางพาราส่วนแรงงานเป็นแรงงานประเภทต่าง ๆ เช่น รับจ้าง ค้าขาย รับราชการ เป็นต้น
ประชาชนและเยาวชนบางกลุ่มติดยาเสพติด สาเหตุมาจากปัญหาทางครอบครัวเนื่องจากประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ออกไปอาชีพในประเทศเพื่อนบ้านเป็นระยะเวลานานจึงจะกลับทำให้บุตรหลานขาดการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครอง ขาดความรักและความอบอุ่น ความท้าทายในการปราบปรามที่มีอยู่มากในพื้นที่ยังคงเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ในปัจจุบัน และเมื่อถึงยุคที่มีการปลดล็อคกัญชาทำให้การดูแลบุตรหลานต้องมีความเข้มงวดในการจัดการปัญหาทั้งในครอบครัวและชุมชน การสร้างกำแพงในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ลดปัญหาในชุมชนได้เบื้องต้น
ชุมชนบ้านบาโงยมีความโดดเด่นในด้านการพัฒนาชุมชนพืชผักปลอดสารพิษ
นูรีย๊ะ สิระกราว. (18 กุมภาพันธ์ 2566). ข้อมูลชุมชนบ้านบาโงย. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
อับดุลอาซิ เบ็ญดือราแม. (18 กุมภาพันธ์ 2566). ภูมิปัญญา, ปราชญ์ชุมชน. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
ซากูราา หลงแซ. (18 กุมภาพันธ์ 2566). สภาพแวดล้อม, ประชากร. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
วอเยาะ ยามาลี . (18 กุมภาพันธ์ 2566). การประกอบอาชีพ. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
อับดุลอาซิ เบ็ญดือราแม. (18 กุมภาพันธ์ 2566). ภูมิปัญญา,ปราชญ์ชุมชน. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
ซากูรา หลงแซ. (18 กุมภาพันธ์ 2566). สภาพแวดล้อม, ประชากร. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
วอเยาะ ยามาลี . (18 กุมภาพันธ์ 2566). การประกอบอาชีพ. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)