
ชุมชนชนบทที่โดดเด่นเรื่องผ้าทอและงานหัตถกรรมท้องถิ่น
เป็นชื่อแหล่งน้ำในพื้นที่ตั้งชุมชน
ชุมชนชนบทที่โดดเด่นเรื่องผ้าทอและงานหัตถกรรมท้องถิ่น
ชุมชนบ้านน้ำเที่ยงเป็นชุมชนที่มีพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ใกล้แหล่งน้ำห้วยแอ่ง และมีหนองน้ำสำคัญในชุมชนคือ หนองจันทาหรืออีกชื่อคือหนองน้ำเที่ยง คนในชุมชนบ้านน้ำเที่ยงเป็นกลุ่มคนที่มาจากบ้านหนองตุ ต.ธัญญา อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เนื่องจากในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2440 เกิดเหตุการณ์โรคระบาดฝีดาษหรือที่ชุมชนท้องถิ่นเรียกกันคือ "โรคบักห่าง" ทำให้มีการย้ายบ้านออกจากชุมชนเดิมที่หนาแน่นเพื่อหนีโรคระบาด และเกิดเป็นหมู่บ้านหรือชุมชนใหม่เกิดขึ้น บ้านน้ำเที่ยงเป็นชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าโคก แหล่งน้ำ ส่งผลให้การเลือกตั้งชุมชนของกลุ่มแรก ๆ เห็นว่ามีความเหมาะสม
"คนที่มาตั้งบ้านน้ำเที่ยงทีแรกเป็นคนมาจากบ้านหนองตุ กมลาไสย ย้อนเพิ้นหนีโรคบักห่างสมัยแต่กี้ เลยมาเห็นหม่องนี้มีหนองน้ำ มีโนน มีป่า อุดมสมบูรณ์ เลยพากันตั้งหลักแหล่งเป็นบ้านเป็นชุมชน"
เหตุการณ์ที่ส่งผลต่อชุมชนบ้านน้ำเที่ยงในสมัยต่อมา คือ ในช่วงปี พ.ศ. 2505 มีการเข้ามาของพืชเศรษฐกิจในช่วงหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติที่มีนโยบายให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ปอ ฝ้าย ข้าว แต่พืชเศรษฐกิจที่ทำให้ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนคือ "ปอ" เนื่องจากป่าโคกใกล้ชุมชน 2 แห่ง คือ ป่าโคกโสกทรายและป่าโคกหลุบบก ถูกถากถางเพื่อปลูกปอ ส่งผลให้สภาพของป่าโคกทั้งสองกลายเป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันพื้นที่ป่าโคกทั้งสองผืนจึงกลายมาเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่และทำนาของคนในชุมชน
"ตอนที่บ้านเฮาปลูกปอหลายๆนี่ ป่าโคกโสกทรายกับโคกหลุบบกไทบ้านเฮากะพากันไปถางปลูกปอ ป่ากะเลยแปนเอิดเติดคือจั่งเห็นทุกมื้อนี้หละ พอได้ปอมาเฮากะตัดมาแช่อยู่ในห้วยแอ่ง แช่ปอจนว่าน้ำห้วยแอ่งเหม็นขึ้นมาฮอดในบ้าน"
การปลูกปอไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบในทรัพยากรป่าโคกของชุมชนหากแต่ต้องใช้แหล่งน้ำเพื่อแช่และลอกปออีกด้วย การปลูกปอทำให้เศรษฐกิจของครัวเรือนดีขึ้นสามารถเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนเป็นจำนวนมาก
ปี พ.ศ. 2535 มีการแยกชุมชนออกเป็น 2 หมู่ คือชุมชนบ้านจันทาและบ้านน้ำเที่ยง ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของชุมชนและความหนาแน่นของประชากร ชุมชนขยายตัวไปทางฝั่งทิศเหนือและทิศตะวันตกเพิ่มขึ้น อีกทั้งงบประมาณและการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
ในปี พ.ศ. 2540 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมหาสารคามมีนโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์และมีการตั้งกลุ่มของชุมชนขึ้น บ้านน้ำเที่ยงมีการตั้งกลุ่มทอผ้าบ้านน้ำเที่ยงขึ้นเพื่อผลิตสินค้า เช่น ผ้าไหม ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง สมาชิกในกลุ่มทอผ้าบ้านน้ำเที่ยงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและมีรายได้เสริมจากการขายผลิตภัณฑ์ของชุมชน ผ้าทอของกลุ่มทอผ้าบ้านน้ำเที่ยงได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 4 ดาว ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทอผ้าบ้านน้ำเที่ยงไม่เพียงแต่สร้างรายได้ให้คนในชุมชนเท่านั้นยังสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนและทำให้ชุมชนเป็นที่รู้จักมากขึ้น
นอกจากการพัฒนากลุ่มอาชีพของชุมชนแล้ว ด้านสาธารณูปโภคก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2560 มีการสร้างแก้มลิงขึ้นบริเวณทิศใต้ของชุมชน ส่งผลให้ชุมชนมีน้ำเพียงพอต่อการทำนาปีและนาปรัง คนในชุมชนมีการทำนาปรังเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดรายได้ให้กับคนในชุมชนเพิ่มขึ้นจากการเกษตร ทั้งปลูกผักสวนครัวและข้าวนาปรัง (โครงการวิจัยจากต้นทุนแหล่งน้ำสู่กลุ่มศิลปวัฒนธรรมหนองแกดำ)
ชุมชนบ้านน้ำเที่ยงตั้งอยู่บริเวณใกล้กับอ่างเก็บน้ำห้วยแอ่งและเป็นเขตติดต่อระหว่างจังหวัดมหาสารคามกับจังหวัดร้อยเอ็ด การตั้งถิ่นที่อยู่เหนืออ่างเก็บน้ำส่งผลให้ขาดน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้งเพราะน้ำในอ่างเก็บน้ำจะแห้งขอดและบริเวณตอนบนของอ่างนั้นจะขาดแคลนน้ำ คนในชุมชนจึงมีการจัดการน้ำโดยการขุดบ่อน้ำในชุมชน
ประชากรของชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนในวัฒนธรรมไทย-ลาว ซึ่งอพยพมาจากพื้นที่อำเภอกมลาไสยจังหวัดกาฬสินธุ์ อีกทั้งยังมีการติดต่อกับคนในชุมชนเดิมอยู่จนถึงปัจจุบัน
กลุ่มอาชีพที่โดดเด่น กลุ่มทอผ้าบ้านน้ำเที่ยง "ธาราวารีของดีบ้านน้ำเที่ยง"
กลุ่มทอผ้าบ้านน้ำเที่ยง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2540 โดยการสนับสนุนของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมหาสารคาม ทั้งด้านงบประมาณและวัสดุต่าง ๆ ในการทอผ้า ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของกลุ่มทอผ้าคือ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าซิ่น ผ้าโสร่งและผ้าขาวม้า มีการทอผ้าลวดลายต่าง ๆ ทั้งลายดั้งเดิม เช่น ลายหมี่ขั้น ลายหมี่ขอ ลายดอกแก้ว และลายที่สร้างขึ้นใหม่และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ลายสร้อยดอกหมาก ลายขามดแดง ลายต้นสน เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทอผ้าบ้านน้ำเที่ยงได้รับรางวัลสินค้า OTOP ระดับ 4 ดาว และมีชื่อแบรนด์ว่า "ธาราวารี" นอกจากกลุ่มทอผ้าบ้านน้ำเที่ยงช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกในกลุ่มและสร้างรายได้ให้สมาชิกยังช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนในระดับท้องถิ่นอีกด้วย
ชุมชนรักษาฮีตคองตามรูปแบบของคนอีสานคือ มีประเพณีตามฮีตสิบสอง
- เดือนมกราคม การทำบุญสู่ขวัญข้าว การทำบุญปีใหม่
- เดือนกุมภาพันธ์ ข้าวจี่
- เดือนมีนาคม ประเพณีบุญผะเหวด
- เดือนเมษายน เทศกาลสงกรานต์
- เดือนพฤษภาคม บุญบั้งไฟ
- เดือนมิถุนายน บุญเลี้ยงบ้าน
- เดือนกรกฎาคม วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา
- เดือนสิงหาคม บุญข้าวประดับดิน
- เดือนกันยายน บุญข้าวสาก
- เดือนตุลาคม บุญออกพรรษา
- เดือนพฤศจิกายน บุญกฐิน บุญลอยกระทง
- เดือนธันวาคม เทศกาลปีใหม่
1.ตะกร้าไม้ไผ่ พ่อทองจันทร์ นามมูลตรี พ่อทองจันทร์ นามมูลตรี อายุ 84 ปี มีอาชีพเกษตรกรรมทั่วไปคือทำไร่ ทำนา การจักสานตะกร้าไม้ไผ่เป็นอาชีพเสริมรายได้ให้กับครอบครัว การจักสานนั้นพ่อทองจันทร์ทำสืบทอดกันมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ซึ่งจักสานขึ้นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งตะกร้า ข้อง ไซและอื่น ๆ วัสดุก็เป็นไม้ไผ่ที่หาได้ตามท้องถิ่น คนในชุมชนบ้านน้ำเที่ยงและบ้านจันทาซื้อตะกร้าจากพ่อทองจันทร์เกือบทุกครัวเรือน ถือได้ว่าผลิตภัณฑ์จักสานจากไม้ไผ่ของพ่อทองจันทร์เป็นรายเสริมของครอบครัวและเป็นสิ่งที่คนในชุมชนเป็นประจำในชีวิตประจำวัน
2.อ่างเก็บน้ำห้วยแอ่ง "พื้นที่เลี้ยงสัตว์สำคัญของชุมชน" อ่างเก็บน้ำห้วยแอ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ติดกับชุมชนบ้านน้ำเที่ยงซึ่งตั้งอยู่บริเวณทางทิศตะวันออกของชุมชน คนในชุมชนบ้านน้ำเที่ยงไม่ได้ใช้น้ำในห้วยแอ่งเท่าใดนัก เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่บริเวณที่น้ำห้วยแอ่งไม่ท่วมขังจึงใช้ทรัพยากรน้ำในห้วยได้เฉพาะช่วงน้ำมากเท่านั้น การใช้พื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยแอ่งจึงเป็นเพียงการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย และในช่วง พ.ศ. 2505 การใช้ห้วยแอ่งของผู้คนบ้านน้ำเที่ยงมากขึ้นเพราะใช้เป็นพื้นที่แช่ปอ ถึงแม้ว่าอ่างเก็บน้ำห้วยแอ่งจะไม่ได้มีผลกระทบต่อชุมชนบ้านน้ำเที่ยงเท่าใดนัก เพราะชุมชนมีแหล่งน้ำสำคัญในชุมชนคือหนองจันทาแต่ห้วยแอ่งยังคงเป็นพื้นที่สำคัญในการเลี้ยงสัตว์ของคนชุมชนในปัจจุบัน
3.หนองจันทา (หนองน้ำเที่ยง) "แหล่งที่อยู่ของปลาและแหล่งอาหารของคนในชุมชน" หนองจันทาหรือหนองน้ำเที่ยงเป็นหนองน้ำสำคัญของชุมชนบ้านน้ำเที่ยงและชุมชนบ้านจันทาซึ่งเป็นชุมชนเดียวกันที่แยกการปกครองในปี พ.ศ. 2535 หนองน้ำแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของชุมชน เป็นแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะการปลูกผักสวนครัวตามบริเวณริมหนองน้ำ หนองจันทามีลักษณะเด่นคือเป็นหนองน้ำที่มีปลาชุกชุมและเป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชนมาตั้งแต่อดีต คนในชุมชนมีข้อตกลงร่วมกันในการจับปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ ในหนองจันทา คือการจับปลาในหนองจันทานั้นต้องเป็นการจับมาใช้ในงานบุญของชุมชนเท่านั้น เช่น งานบุญพะเหวด งานบุญกฐินของชุมชน อีกทั้งในปี พ.ศ. 2564 มีการประมูลหนองน้ำเพื่อเปิดให้คนภายนอกเข้ามาหาปลาในหนองจันทาได้และนำเงินที่ได้จากการประมูลหนองและจับปลามาพัฒนาหมู่บ้านและทำบุญต่าง ๆ ในหมู่บ้าน หนองจันทาจึงเป็นหนองน้ำที่สำคัญของคนในชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
คนในชุมชนใช้ภาษาอีสานในการสื่อสารและใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. (2565). โครงการวิจัย จากต้นทุนแหล่งน้ำสู่กลุ่มศิลปวัฒนธรรมหนองแกดำ. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.).