บ้านข้าวเม่า ปลาเผาเขาขาด ธรรมชาติสวนหิน ถิ่นไทพวน
เนื่องจากที่ตั้งของหมู่บ้านอยู่กึ่งกลางระหว่างหมู่บ้านร้าง ทิศตะวันออกติดกับบ้านไซ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดกับบ้านเทือน ทิศเหนือติดกับบ้านเลา จึงเรียกกันว่า บ้านกลางใหญ่
บ้านข้าวเม่า ปลาเผาเขาขาด ธรรมชาติสวนหิน ถิ่นไทพวน
จากคำบอกเล่า พ่อตู้แสง เชื้อกลางใหญ่ บ้านกลางใหญ่ เป็นชุมชนลาวพวนถูกกวาดต้อนมาจากบ้านหนองแก้ว หาดเดือย เมืองเชียงขวางในสมัยเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ เป็นกบฏต่อกรุงเทพฯ กองทัพไทยได้กวาดต้อนเอาชาวลาวจากเวียงจันทน์ข้ามมาไทย และจะส่งลงไปกรุงเทพฯ
ต้นตระกูลของพ่อตู้แสง สองคนคือ จารย์อินผู้พี่ และจารย์รินผู้น้อง เป็นผู้มีความรู้ได้บวชเรียนจนได้เป็นจารย์ พ่อแม่พาหนีสงครามไทย-ลาว ไทย-ญวน จากเชียงขวางมาอยู่ในเวียงจันทน์ จารย์อิน จารย์รินและครัวพวน 11 ครัวถูกกวาดต้อนจากเวียงจันทน์จะให้ไปอยู่กรุงเทพฯ เดินทางข้ามแม่น้ำโขงมาถึงบ้านกลางใหญ่ซึ่งกลายเป็นบ้านร้างไปแล้วเพราะสงครามไทย-ลาว กบฎเจ้าอนุวงศ์ พวกไทย-ลาวที่อยู่บ้านเลาอยู่ห่างจากบ้านกลางใหญ่ทางทิศเหนือ 3 กิโลเมตร บ้านเทือนอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และบ้านไซอยู่ทางทิศตะวันออก ทั้งสามหมู่บ้านทางการกองทัพไทยกวาดต้อนไปอยู่กรุงเทพฯ เหลือแต่บ้านเรือนที่ทำกิน สิมและหลักจารึกไว้
จารย์อิน จารย์รินไม่ต้องการไปกรุงเทพฯ กับกองทัพไทย จึงใช้ความรู้ด้านสมุนไพรเอามาผสมอาหารให้ครัวพวนกินจนเกิดโรคท้องร่วง กองทัพไทยคิดว่าเป็นโรคห่าจึงไม่กล้ากวาดครัวพวนลงไปกรุงเทพฯ และมากไปกว่านั้น จารย์อิน จารย์ริน ได้ติดสินบนเจ้าพนักงานโดยมอบทรัพย์สินให้ ขอให้ครัวพวนได้อยู่กลางใหญ่ กองทัพไทยกลัวโรคห่าจึงให้อยู่ ครัวพวนทั้ง 11 ครัวเรือนและจารย์อิน จารย์ริน จึงตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านกลางใหญ่ตั้งแต่นั้นมา เพราะตั้งอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านร้าง 3 หมู่บ้านจึงเรียกชุมชนที่ตั้งขึ้นใหม่ว่า "บ้านกลางใหญ่"
ชาวบ้านที่หลบซ่อนตัวอยู่ตามป่าเขา เมื่อกองทัพไทยไปแล้วก็ออกจากที่ซ่อนมาสมทบกับครัวพวนของจารย์อินและจารย์ริน และเล่าประวัติของหมู่บ้านร้างทั้ง 3 ให้แก่จารย์อินและจารย์รินฟัง และจารย์รินได้เป็นหัวหน้าบ้าน
ต่อมาภรรยาจารย์รินเสียชีวิตลงจารย์รินไปบวชจนเสียชีวิตในผ้าเหลือง พวนเป็นพวกนับถือผี จารย์อินและจารย์ริน เมื่อตั้งชุมชนขึ้นก็ได้สร้างหอผีประจำชุมชนเพื่อขอความคุ้มครอง จารย์ทั้งสองได้ทำพิธีลงส่องหรือช่อง ลงเหยาเชิญผีบรรพบุรุษจากเมืองพวน แขวงเมืองซองมาตั้งหอผีที่บ้านกลางใหญ่ เป็นผีปู่ตาของบ้านกลางใหญ่และมีการเลี้ยงปู่ตาทุกปีเสมอมา
การเลี้ยงผีปู่ตาของบ้านกลางใหญ่เป็นพิธีสำคัญมีรายละเอียดของพิธีกรรมแตกต่างจากการเลี้ยงผีปู่ตาของไทพวนในหมู่บ้านอื่นของอำเภอบ้านผือ บ้านกลางใหญ่จะอยู่บนเส้นทางจากเวียงจันทน์อำเภอศรีเชียงใหม่ ไปบ้านผือหนองบัวลำภู เป็นเส้นทางการปฏิวัติรัฐประหารของลาวมาแต่โบราณกาล
เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาหลบหนีพม่า พ.ศ. 2112 ก็ได้ใช้เส้นทางนี้หลบหนีพม่ามาซ่อนตัวส่องสุมผู้คนอยู่ที่แถบสุวรรณคูหา และเมื่อพระวอพระตากบฎต่อพระเจ้าสิริบุญสารพระวอพระตาพ่ายแพ้จึงหลบหนีภัยมาอยู่ในประเทศไทยก็ใช้เส้นทางบ้านกลางใหญ่ออกบ้านผือไป หนองบัวลำภูและพระตาไปถูกฆ่าในที่รบที่หนองลำภู เมื่อกองทัพลาวเข้าโจมตีและพระวอพาไพร่พลหนีไปอยู่ดอนมดแดง
ตำบลกลางใหญ่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอบ้านผือ อยู่ห่างจากอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี 15 กิโลเมตร (เส้นทาง อุดรธานี-บ้านผือ-น้ำโสม)
- ทิศเหนือ จรด ตำบลคำด้วง
- ทิศใต้ จรด ตำบลเมืองพาน
- ทิศตะวันตก จรด อำเภอน้ำโสม
- ทิศตะวันออก จรด ตำบลบ้านค้อ
บ้านกลางมีพื้นที่โดยประมาณ 113.45 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ราบตามแนวภูพานอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติบางส่วน ประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งหมด ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทรายและดินเหนียวปนทรายภูเขา มีอยู่ทั่วไปทางทิศตะวันตก แม่น้ำ มีลำห้วยหลัก 2 สาย คือ ลำห้วยน้ำฟ้า และลำห้วยโมง
ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบมรสุมแบ่งออกเป็น 3 ฤดู
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม-มกราคม
ตำบลกกลางใหญ่มีประชากรทั้งสิ้น 8,739 คน แยกเป็นชาย 4,324 คน หญิง 4,415 คน จำนวนประชากร ตำบลกลางใหญ่ (จำนวนประชากร ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม พ.ศ. 2566)
ตระกูลดั้งเดิมในชุมชน
- สกุล เชื้อกลางใหญ่
- สกุล ใจซื่อ
- สกุล กองผ้าขาว
- สกุล ปราบพาล
- สกุล มีลา
กำนันสวน ใจซื่อ มีศักดิ์เป็นอา อดีตกำนันตำบลกลางใหญ่ ผู้นำศาสนพิธี/ผู้นำชุมชน
นายเกรียงศักดิ์ ใจซื่อ มีศักดิ์เป็นหลาน อดีตอาจารย์ใหญ่ ผู้นำศาสนพิธี/ผู้นำชุมชน
นายบัณฑิต ใจซื่อ บุตรนายเกรียงศักดิ์ อดีตครู ผู้นำศาสนพิธี ที่ปรึกษานายกเทศบาล
ไทยพวนชุมชนตำบลกลางใหญ่ อยู่กันแบบสังคมเครือญาติ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีกลุ่มผู้ผลิตข้าวเม่า กลุ่มผู้เลี้ยงโคและกระบือ กลุ่มปลูกยางพารา กลุ่มผู้ปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง ประชาชนวัยหนุ่มสาวส่วนหนึ่งไปทำงานนอกชุมชน ในเขตอุตสาหกรรมมีประชากรต่างถิ่นและต่างด้าว เข้ามาประกอบอาชีพรับจ้างตัดอ้อยและกรีดยางพารา
ชาวชุมชนกลางใหญ่มักประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาทิ ทำนาข้าว ไร่มันสำปะหลัง ไร่อ้อย และสวนยางพารา
ด้านเศรษฐกิจ
- การผลิตข้าวเม่าเพื่อจำหน่าย ถือได้ว่าเป็นอาชีพหลักเฉพาะกลุ่มที่ทำรายได้มากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงระหว่างเดือน กันยายน - ตุลาคม และ พฤศจิกายน (ช่วงฤดูกาลผลิตข้าวนาปี) นอกฤดูกาลนี้ กลุ่มยังสามารถผลิตข้าวเม่าจำหน่ายได้ตลอดทั้งปีจากข้าวนาปัง และกลุ่มนำข้าวจากต่างจังหวัดเข้ามาผลิตข้าวเม่า จำนวนครกข้าวเม่าในเขตเทศบาลมีทั้งหมด 31 ครก มีการจ้างแรงงานรายเฉลี่ยจากการผลิตข้าวเม่าต่อวันรวมประมาณ 800,000 - 900,000 บาท (ทุกครกรวมกัน)
- กลุ่มผู้ปลูกยางพารา
- กลุ่มผู้ปลูกอ้อย
- กลุ่มผู้ปลูกมันสำปะหลัง
- กลุ่มเลี้ยงโคและสุกร
กิจกรรมทางสังคม
ด้านวัฒนธรรม
- ประเพณีสงกรานต์
- ประเพณีบุญบั้งไฟ
- บุญเข้าพรรษา
- ประเพณีลอยกระทง
- ประเพณีไทพวน
- บุญทอดกฐินต่าง ๆ
- บุญทอดต้นเทียน
ด้านศาสนา
ชาวกลางใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งมีวัดอยู่ในเขตพื้นที่ทั้งหมด 14 วัด ซึ่งแบ่งเป็นวัดสังกัดมหานิกาย และสังกัดธรรมยุติ กิจกรรมด้านสังคมและวัฒนธรรมประเพณีในรอบปี
งานบุญรวมญาติ ที่ป่าช้าบ้านกลางใหญ่ จัดทุกวันที่ 2 มกราคม ของทุกปี
งานบุญมหาชาติ จัดขบวนแห่ตามประเพณี โดยหมู่บ้านที่มีวัดสังกัดมหานิกายจะจัดงานบุญมหาชาติ ดังนี้
- บ้านกลางใหญ่ จัดที่วัดสังฆคณาราม
- บ้านผักบุ้ง จัดที่วัดสว่าง
- บ้านโนนตาแสง จัดที่วัดแสงสว่าง
วันมาฆบูชา จัดสวดมนต์ บวชเนกขัมมะ ที่วัดสังฆคณาราม
วันสงกรานต์ (13 เมษายน ของทุกปี) จัดแห่พระรอบหมู่บ้านบ้านกลางใหญ่ (วัดสังฆคณาราม)
ประเพณีงานทอดเทียน (เทศกาลเข้าพรรษา) ประกวดขับร้องสรภัญญะ (วัดสังฆคณาราม)
งานครบรอบวันมรณภาพ หลวงปู่จันทร์โสม กิตติกาโร (ช่วงเดือนมีนาคมของทุกปีที่วัดป่านาสีดา)
วัดสำคัญในเขตพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
- วัดป่านิโรธรังสี เป็นวัดที่ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ก่อตั้งวัด
- วัดถ้ำพระ เป็นวัดที่ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ไปปฏิบัติบำเพ็ญภาวนา
- วัดป่านาสีดา เป็นวัดที่หลวงปู่จันทร์โสม กิติกาโร ซึ่งเป็นหลานของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี และเป็นวัดที่ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านนาสีดาซึ่งเป็นบ้านเกิดของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
- วัดสังฆคณาราม เป็นวัดที่เป็นจุดศูนย์รวมในการประกอบกิจกรรมทางสังคมของชุมชน ภายในวัดมีพระพุทธรูปเก่าแก่คือ หลวงพ่อพุทธมงคลคาถาสังฆนิมิต (ชาวบ้านเรียกว่าหลวงปู่ต้นโพธิ์) เป็นพระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่คนในชุมชนให้ความศรัทธา
1.นายบัณฑิต ใจซื่อ
เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2495 อาศัยอยู่หมู่ 11 บ้านโนนตาแสง ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
บทบาทหน้าที่สำคัญในชุมชน คือ เป็นผู้นำศาสนพิธี ดูฤกษ์ยาม และมีความรู้เกี่ยวกับฮีตคองประเพณีวัฒนธรรม ข้าราชการครูบำนาญ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีตำบลกลางใหญ่
ทุนมนุษย์
ตำบลกลางใหญ่ได้ถือว่าเป็นถิ่นพระเถระ คือมีหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นผู้อบรมหลักธรรมคำสอนให้คนในชุมชน มีความนอบน้อม อ่อนน้อม และรักสามัคคี มีผู้นำชุมชนที่มีความรู้ความสามารถ มีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลจนสามารถพัฒนาถนนหนทางและสาธารณูปโภคในชุมชนให้มีความสะดวกสบาย ผู้นำทั้งฝ่ายปกครองและท้องถิ่นมีความสามัคคี ไม่มีความขัดแย้ง ทำให้การบริหารงานบ้านเมืองเป็นไปอย่างเรียบร้อย ภาษาถิ่นที่ใช้ คือ ภาษาพวน
ทุนกายภาพ
สภาพภูมิศาสตร์พื้นที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มเชิงเขาภูพาน เหมาะกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและไม่มีภัยธรรมชาติที่รุนแรง มีแหล่งน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค
ทุนเศรษฐกิจ
เนื่องจากในเขตชุมชนมีการประกอบอาชีพเกษตรกร และมีงานทำ ทำให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในเขตเทศบาลมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ให้บริการประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้สะดวกและง่ายขึ้น
มีการค้นพบใบเสมาที่วัดป่าดอนบ้านเทือนที่ได้จารึกหลักฐานการบริจาคที่ดินถวายให้วัด ตัวอักษรที่ปรากฏเป็นภาษาไทยน้อย
ภาษาพูดของคนในชุมชนตำบลกลางใหญ่ ใช้ภาษาพวนและภาษาลาวอีสาน 70% ภาษาถิ่นอื่น ๆ 30% ตัวอักษรที่ใช้เป็นอักษรไทย
เนื่องจากตำบลกลางใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติแม้เกิดภัยทางธรรมชาติก็ไม่รุนแรงมาก รายได้ส่วนใหญ่ของชุมชนมาจากการเกษตร และการผลิตข้าวเม่าเพื่อส่งออกจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ข้าวเม่า เป็นผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นของชุมชนที่เกิดจากการนำข้าวที่ยังไม่แก่จัดมาแปรรูปเพื่อทำเป็นของกินแทนขนมซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันข้าวเม่าในตำบลกลางใหญ่ เป็นสินค้า OTOP ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและเป็นสินค้าที่ทำรายได้มากที่สุดถึงวันละ 800,000-900,000 บาท ในฤดูกาลผลิตข้าวนาปี เดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน ชาวบ้านสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกรวดเร็วเนื่องมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ตั้งอยู่ในพื้นที่
พืชเศรษฐกิจในพื้นที่ ประกอบด้วย อ้อย มันสำประหลัง ยางพารา เป็นต้น
ตำบลกลางใหญ่มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 1 แห่ง ให้บริการประชาชนครอบคลุมทั้ง 13 หมู่บ้าน โดยมีเทศบาลตำบลกลางใหญ่ ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายให้การสนับสนุนดูแลในด้านสุขภาพ และสุขภาวะของคนในชุมชน มีการเฝ้าระวังและป้องกันโรค มีระบบการดูแลรักษาคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยที่มีทีมหมอครอบครัวลงพื้นที่ตรวจรักษาคนไข้ทุกสัปดาห์ ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงการรักษาได้สะดวกมากขึ้น
ชุมชนมีการพัฒนาจนมีความสะดวกสบายจากสิ่งสาธารณูปโภคต่าง ๆ มีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง น้ำอุปโภคบริโภคมีน้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาค มีตลาดสดน่าซื้อระดับ 5 ดาว มีร้านสะดวกซื้อและร้านค้าต่าง ๆ มากมาย ด้านการศึกษามีโรงเรียนประถมในสังกัด 2 โรงเรียน ดังนี้
1.โรงเรียนกลางใหญ่นิโรธรังสีอุปถัมภ์ ตั้งอยู่ที่บ้านโนนตาแสง มีนักเรียนจาก 3 หมู่บ้าน จำนวนนักเรียนประมาณ 250 คน เปิดสอนระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 6
2.โรงเรียนบ้านผักบุ้ง ตั้งอยู่บ้านผักบุ้งนักเรียนจากชุมชนบ้านผักบุ้ง 4 หมู่ มีนักเรียนประมาณ 188 คน เปิดสอนระดับอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 3
3.มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน สังกัดเทศบาล 3 ศูนย์
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดสังฆคณาราม
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านนาสีดา
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดสว่าง
ชาวบ้านกลางใหญ่มีนิสัยรักความสงบอยู่แบบเรียบง่าย ยังคงมีการบริโภคอาหารพื้นบ้านแบบโบราณอยู่ในกลุ่มคนผู้สูงวัยและวัยกลางคนชุมชนไทพวนตำบลกลางใหญ่ ผู้หญิงจะแต่งตัวสวยงามใส่ผ้าถุงเวลาไปเข้าวัดทำบุญ ชอบความสนุกสนาน เช่น การฟ้อนรำ
จากความเจริญด้านเทคโนโลยีที่แพร่หลายเข้ามาในยุคปัจจุบัน ทำให้เกิดความมักง่ายกับเด็กและเยาวชนเนื่องจะนิยมทานอาหารจากร้านสะดวกซื้อ มีความเสี่ยงต่อการเลือนลางไปของวัฒนธรรมด้านอาหารพื้นบ้าน
อีกหนึ่งปัญหาที่มีในชุมชน คือ การแพร่ระบาดของยาเสพติดที่มีการนำมาใช้ในกลุ่มวัยทำงานและวัยรุ่นที่ทำให้สังคมที่เคยอยู่อย่างสงบเกิดความวุ่นวายจากปัญหาการลักขโมย
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2567). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน ปีงบประมาณ 2567. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
เทศบาลตำบลกลางใหญ่. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐาน. https://klangyai.go.th/
นายแสง เชื้อกลางใหญ่, สัมภาษณ์
นายสมคิด คะดุล, สัมภาษณ์