การตั้งถิ่นฐานอยู้ริมแม่น้าลำคลอง ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม อยู่รวมกันเป็นกลุ่มที่ตำบลป่าตาลแห่งนี้จากการที่บรรพบุรุษได้อพยพมาจากเวียงจันทน์จึงได้นำวัฒนธรรมของชาวเวียงจันทน์มาใช้ในการดำรงวิถีชีวิต
จากคำบอกเล่าของผู้เต่าผู้แก่เล่าขานสืบต่อกันมาว่าพื้นที่แห่งนี้มี "ต้นตาลโตนด" ขึ้นอยู่เป็นป่าทึบอย่างหน้ำแน่นโดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่บ้านป่าตาลหมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 5 ในปัจจุบัน แต่บางกระแสก็เล่าขาน สืบต่อกันมาว่าในอดีตและกระทั่งปัจจุบันนี้คนส่วนใหญ่จะรู้จักและเรียกขาน พื้นที่ตำบลป่าตาลว่า "บ้านป่าหวาย" เนื่องจากในพื้นที่ตำบลป่าตาลก็มีต้นหวายขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นเช่นเดียวกันโดยเฉพาะบริเวณวัดป่าหวายทุ่ง และ บ้านป่าหวายเก่า หมู่ที่ 6 บ้านป่าหว่ายทุ่ง หมู่ที่ 7 ในปัจจุบัน ประกอบกับเป็น ที่ตั้งของค่ายวชิราลงกรณ์หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ค่ายป่าหวาย" เพราะเรียกตามชื่อบ้านป่าหวายเก่า หมู่ที่ 6 โดยผู้เฒ่าผู้แก่บางส่วนเล่าว่าการที่ได้ชื่อว่า
"ตำบลป่าตาล" นั้น เพราะในพื้นที่นี้มีต้นตาลโตนดขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น หรืออาจเกิดจากในขณะที่ทางราชการได้ให้มีการจัดตั้งชื่อตำบลขึ้นนั้นกำนันตำบลป่าตาลคนแรกในขณะนั้น ชื่อกำนันมา เป็นคนหมู่บ้านป่าหวายเก่าแต่ไปแต่งงานมีครอบครัวอยู่ที่หมู่บ้านป่าตาล ซึ่งในขณะนั้นหมู่บ้านป่าตาลมีความเจริญมากกว่าหมู่บ้านอื่น ๆ อาจเป็นสาเหตุในการตั้งชื่อตำบลป่าตาลตามสภาพพื้นที่อยู่อาศัยของผู้นำในขณะนั้นก็อาจเป็นได้เช่นกัน
การตั้งถิ่นฐานอยู้ริมแม่น้าลำคลอง ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม อยู่รวมกันเป็นกลุ่มที่ตำบลป่าตาลแห่งนี้จากการที่บรรพบุรุษได้อพยพมาจากเวียงจันทน์จึงได้นำวัฒนธรรมของชาวเวียงจันทน์มาใช้ในการดำรงวิถีชีวิต
จากข้อมูลเอกสารหลักฐานทำงประวัติศาสตร์ต่าง ๆพอสรุปได้ว่าลาวเวียง คือกลุ่มชนชาติพันธุ์ลาว ที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ จังหวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย ทั้งอพยพเข้ามาโดยสมัครใจเพื่อเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์แห่งเมืองสยาม
ครั้งเมื่อเวียงจันทน์ถูกรุกรานจากพม่า และการถูกกวาดต้อนเข้ามาในประเทศ สยามในสมัยกรุงธนบุรีและในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งการอพยพของชาวลาวเวียงจันทน์ในแต่ละครั้งก็จะเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ของไทยในจังหวัดลพบุรี มีลาวเวียงตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยกระจัดกระจายใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองลพบุรี อำเภอบ้านหมี่ และอำเภอโคกสำโรง อำเภอบ้านหมี่ ได้แก่ ลาวเวียงบ้านหนองทรายขาว บ้านลาด บ้านโคกสุข บ้านโคก บ้านสระตอแวว บ้านคลอง บ้านหนองเมือง บ้านห้วยกรวด และบ้านนาจาน อำเภอโคกสำโรง ได้แก่ ลาวเวียงบ้านวังจั่น บ้านห้วยวัวตาย บ้านสระพรานนาค บ้านสระพรานจันทร์ บ้านสระพานขาว บ้านห้วยโป่ง บ้านหนองจับเขียด บ้านหนองงิ้ว และบ้านหนองแขม อำเภอเมืองลพบุรี ได้แก่ ลาวเวียงบ้านท่าแคบ้านหนองแขม บ้านหนองบัวขาว บ้านโนนหัวช้าง บ้านดอนประดู่ บ้านเขาพระงาม บ้านดงสวอง บ้านหนอง บัวขาว บ้านสระมะเกลือ และบ้านโคกลำพาน (จากการเทียบเคียงสำเนียงภาษาท้องถิ่นลาวเวียงบ้านโคกลำพานมีสำเนียงภาษาเดียวกับลาวเวียงบ้านป่าตาล ดังนั้นจึงคาดการณ์ได้ว่าลาวบ้านป่าตาล ก็เป็นลาวเวียงเช่นเดียวกับลาวบ้านโคกลำพาน)
จากการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ถึงการมาตั้งถิ่นฐานว่าชาวบ้านดั้งเดิมในพื้นที่ตำบลป่าตาลได้อพยพมาจากเวียงจันทน์เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบันนี้ซึ่งอาจอพยพเข้ามาเมื่อครั้งสมัยที่เวียงจันทน์ถูกรุกรานจากพม่าเข้าปกครองและอาจเป็นช่วงสมัยกรุงธนบุรีชาวบ้านบางส่วนได้หลบหนีมาตามแม่น้ำโขงและเข้ามาฝั่งประเทศไทย บางส่วนก็ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดเลย จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดราชบุรีบางส่วนก็เดินทางมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา มาอยู่ยังจังหวัดชัยนาท และบางส่วนก็เดินทางมาอยู่ยังจังหวัดสระบุรี และจังหวัดลพบุรีหรือหากศึกษาจากเอกสารหลักฐานอาจถูกกวาดต้อนเข้ามาในสมัยกรุงธนบุรีเมื่อครั้งที่สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปตีเวียงจันทน์ในปลาย พ.ศ. 2321 กองทัพกรุงธนบุรีสามารถยึดเวียงจันทน์ได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2322 และทำการกวาดต้อนชาวลาวลงมายังกรุงธนบุรี โดยพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้นำชาวลาวไปตั้งบ้านเรือนอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ที่มีพลเมืองอยู่น้อย ได้แก่ เมืองสระบุรี เมืองลพบุรี นครนายก และเมืองฉะเชิงเทรา เป็นต้น หรืออาจอพยพเข้ามาในสมัยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อครั้งเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ ช่วงปี พ.ศ. 2361-2370 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.3) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ และหัวเมืองใกล้เคียง พร้อมกับกวาดต้อนชาวลาวลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่หัวเมืองชั้นในเป็นจำนวนมาก
ซึ่งการชนะสงครามในครั้งนั้นเป็นการเคลื่อนย้ายชาวลาวครั้งใหญ่ โดยให้ชาวลาวเวียงที่ถูกกวาดต้อนมาอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทยหลายจังหวัด ได้แก่ สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท และนครสวรรค์ซึ่งจากการอพยพชาวลาวเวียงกลุ่มหนึ่งได้มาตั้งถิ่นฐาน อยู่ริมแม่น้ำลำคลองซึ่งเป็นที่ราบลุ่มเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม อยู่รวมกันเป็นกลุ่มที่ตำบลป่าตาล อำเภอเมืองลพบุรีจังหวัดลพบุรีแห่งนี้จากการที่บรรพบุรุษได้อพยพมาจากเวียงจันทน์จึงได้นำวัฒนธรรมของชาวเวียงจันทน์มาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งวัฒนธรรมทางด้านศาสนา การประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรมประเพณีการละเล่น อาหาร การประกอบอาชีพ รวมถึงวัฒนธรรมทางด้านภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวลาว
แผนที่และสภาพแวดล้อมชุมชน ตำบลป่าตาล เป็นตำบลหนึ่งในจำนวน 24 ตำบลของอำเภอเมืองลพบุรีจังหวัดลพบุรีตั้งอยู่ห่างจาก อำเภอเมืองลพบุรีประมาณ 5 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 14.60 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 9,125 ไร่ เป็นที่ราบลุ่มมีลักษณะคล้ายแอ่งกระทะ มีคลองชลประทานชัยนาท-ป่าสักไหลผ่าน ประชาชนประกอบ อาชีพเกษตรกรรม รับจ้างทั่วไป ค้าขาย และอาชีพรับราชการ การขนส่งและการคมนาคมทางบกมีเส้นทางสายหลักเชื่อมต่อกับพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลทะเลชุบศร เทศบาลเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลกกโก ตำบลโคกลำพาน อำเภอเมืองลพบุรี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลท่าศาลา ตำบลกกโก อำเภอเมืองลพบุรี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลโพธิ์เก้าต้น อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
แบ่งการปกครองออกเป็น 8 หมู่บ้าน โดยมีชื่อหมู่บ้าน จำนวนประชากร และจำนวนครัวเรือน ดังนี้
หมู่ที่ | ชื่อบ้าน | จำนวนประชากร (คน) | จำนวนครัวเรือน |
1 | บ้านห้วยเปี่ยม | 3,167 | 1,490 |
2 | บ้านห้วยเปี่ยม | 2,119 | 1,235 |
3 | บ้านกกมะเกลือ | 3,008 | 1,697 |
4 | บ้านป่าตาล | 409 | 162 |
5 | บ้านป่าตาล | 480 | 145 |
6 | บ้านป่าหวายเก่า | 2,123 | 1,281 |
7 | บ้านป่าหวายทุ่ง | 445 | 156 |
8 | บ้านพรมน้ำอบ | 1,221 | 529 |
รวม | 12,972 | 529 |
ลาวเวียง
ตำบลป่าตาลอำเภอเมืองลพบุรีจังหวัดลพบุรีเป็นอีกชุมชนหนึ่งของจังหวัดลพบุรีที่มีสถานที่สำคัญที่น่าสนใจหลายแห่ง ดังนี้
- ศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมลาวเวียงบ้านป่าตาล ที่ตั้ง 12/3 หมู่ 7 ตำบลป่าตาล อำเภอเมืองลพบุรีจังหวัดลพบุรี โทร 06-1761-8530 ศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมลาวเวียงบ้านป่าตาลจัดตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูสืบสาน วัฒนธรรม ประเพณีของชาวลาวเวียงป่าตาลให้คงอยู่และให้เป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไป
ชาวลาวเวียงตำบลป่าตาลอำเภอเมืองลพบุรีจังหวัดลพบุรีเป็นอีกชุมชนหนึ่งของจังหวัดลพบุรีที่ยังคงมีการธำรงอัตลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรมของตนเองไว้อย่างเข้มแข็ง ได้แก่ 1) ความเชื่อและประเพณี 2) อาหาร 3) ความสัมพันธ์ในชุมชน 4) ภาษา 5) การแต่งกาย โดยมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดของวิถีการดำเนินชีวิต และประยุกต์วัฒนธรรมบางอย่างเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับยุคสมัย ดังนี้
1.ความเชื่อและประเพณี
ชาวลาวเวียงตำบลป่าตาล อำเภอเมืองลพบุรีจังหวัดลพบุรีเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเชื่อในรูปของศาสนาและอำนาจเร้นลับเหนือธรรมชาติหรือภูตผีวิญญาณต่าง ๆ ผ่านพิธีกรรมและประเพณีที่สืบทอดต่อกันมา ซึ่งพิธีกรรมเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานความเชื่อทั้งพุทธศาสนา พราหมณ์และผี เป็นพิธีกรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ความเชื่อและแนวทางปฏิบัติในวิถีการดำเนินชีวิตไม่ได้แยกอย่างชัดเจนว่าพิธีใดเป็นพุทธศาสนา พราหมณ์หรือผี ประเพณีและพิธีกรรมที่เกิดขึ้นล้วนมีวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายสำคัญก็คือเป็นการปฏิบัติเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติมีความสุข เช่น
พิธีใต้หางประทีปเป็นพิธีที่ชาวลาวเวียงทำกันในวันออกพรรษา ชาวบ้านจะร่วมกับวัดจัดพิธีก่อพระทราย คือการบูชาพระทรายในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งในพิธีนี้จะเริ่มจากการสรงน้ำพระและแห่ดอกไม้รอบหมู่บ้านในช่วงเย็นของแต่ละวันเป็นเวลา 3 วัน หลังจากการแห่ดอกไม้แล้วชาวลาวเวียงจะช่วยกันขนทรายเข้ามาก่อกองทรายหลาย ๆ กองไว้ในบริเวณวัด มีไม้ไผ่ปักไว้เป็นเสากลางนำดอกไม้ธูปเทียนมามาปักไว้รอบกองทรายที่ก่อไว้ จากนั้นพระสงฆ์จะทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์และตามด้วยกิจกรรมรื่นเริงรำวงลำแคน ด้วยความสนุกสนานหรือการบายศรีสู่ขวัญก็เป็นอีกพิธีที่จัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคล เรียกขวัญให้กลับมาอยู่กับตัว อวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข อายุมั่นขวัญยืน เจริญก้าวหน้าประสบโชคชัย ปลอบประโลมจิตใจให้เข้มแข็ง มั่นคงปราศจากความกลัว หากเดินทางก็ให้ปลอดภัย นิยมทำพิธีในโอกาสอันเป็นมงคลต่าง ๆ เช่น การสู่ขวัญนาค การสู่ขวัญแต่งงาน การสู่ขวัญขึ้นบ้านใหม่ การสู่ขวัญโชคชัย นอกจากนี้ยังมีประเพณีสำคัญอื่น ๆ เช่น สารทลาว ตักบาตรเทโว ซึ่งเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่สะท้อนอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวลาวเวียง
2.อาหาร
อาหารเป็นตัวอย่างที่สะท้อนอัตลักษณ์และการปรับเปลี่ยนรายละเอียดในวิถีการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี เนื่องจากชาวลาวเวียงในตำบลป่าตาล อำเภอเมืองลพบุรี กินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลักในปัจจุบัน ซึ่งเดิมกินข้าวเหนียวเหมือนชาวลาวโดยทั่วไปที่กินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก สันนิษฐานว่าเป็นการปรับตัวให้สอดคล้องกับความเหมาะสมของภูมิประเทศที่เหมาะในการปลูกข้าวเจ้ามากกว่าข้าวเหนียว ข้าวเหนียวจึงเป็นข้าวที่ชาวลาวเวียงใช้ทำเป็นขนมหรืออาหารที่ไม่ใช่อาหารหลัก อย่างไรก็ตามจากการสัมภาษณ์ชาวลาวเวียงถึงอาหารที่มีลักษณะเฉพาะของชุมชน พบว่า มีอาหารหลายชนิดที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ และที่สำคัญคือใช้ปลาร้าเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับอาหารคาวแทบทุกชนิดรวมทั้งอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากชุมชนอื่น เช่น แกงลาวหรือแกงเปรอะ ป่นปลาย่างแจ่วห่อหมกปลาซิว ห่อหมกหน่อไม้ ส่วนอาหารหวานของชาวลาวเวียง เช่น ข้าวต้มหัวหงอก ขนมก้นกระทะ แป้งจี่ข้าวจี่ เป็นต้น
3.ความสัมพันธ์ในชุมชน
ชุมชนในตำบลป่าตาลยังคงอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มในหมู่ญาติพี่น้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้าน มีการพึ่งพาอาศัยกัน มีการจัดงานประเพณีร่วมกัน ลักษณะที่อยู่อาศัยเป็นรูปแบบคล้าย ๆ กัน คือ เป็นบ้านมีใต้ถุนสูง
4.ภาษา
ชาวลาวเวียงบ้านป่าตาลอำเภอเมืองลพบุรีมีภาษาพูดเป็นของตนเอง แต่ไม่พบหลักฐานด้านภาษาเขียน สันนิษฐานว่า เมื่ออพยพมาอยู่ในประเทศไทย ชาวลาวเวียงใช้การสื่อสารด้วยการพูดเป็นหลักจึงทำให้ไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรหลงเหลืออยู่ จากข้อมูลการสัมภาษณ์พบว่า ชุมชนตำบลป่าตาล ส่วนใหญ่ยังคงใช้ภาษาลาวเวียงในการสื่อสารกันในชุมชนโดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ แต่มีการออกเสียงบางคำที่มีความแตกต่างจากลาวเวียงในท้องถิ่นอื่น สะท้อนให้เห็นว่าแม้ว่าสังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ แต่ในด้านภาษานั้นชาวลาวเวียงยังคงพยายามรักษาภาษาของตนเองซึ่งเป็นอัตลักษณ์เด่นอีกหนึ่งประการของชาวลาวเวียงไว้ได้อย่างเข้มแข็ง
5.การแต่งกาย
เสื้อผ้าและการแต่งกาย ถือเป็นวัฒนธรรมทางวัตถุที่สำคัญในการสื่อความหมายของปัจเจกบุคคลและกลุ่มคน อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต แต่ก่อนทุกครอบครัวจะมีการทอผ้าเพื่อใช้สอย และถ่ายทอดวิธีการทอผ้าให้แก่สมาชิกโดยเฉพาะสมาชิกที่เป็นเพศหญิง โดยแม่หรือยายเป็นผู้ถ่ายทอด ใช้เวลาที่ว่างจากการทำไร่ไถนา จนสั่งสมเป็นภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น การทอผ้าเป็นการสืบสานวัฒนธรรมที่ผู้หญิงต้องเรียนรู้ตลอดช่วงอายุ ตั้งแต่วัยเด็ก ผู้หญิงจะได้รับการสั่งสอนเพื่อให้เรียนรู้ถึงทุกขั้นตอนของการทอผ้า ครั้นเมื่อถึงวัยสาว การทอผ้าเป็นเครื่องแสดงถึงความพร้อมของวัยที่จะเริ่มต้นชีวิตครอบครัว ผู้หญิงต้องเตรียมผ้าไว้ใช้สำหรับพิธีแต่งงานของตน เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ต้องทอผ้าเพื่อใช้ในการนุ่งห่มของครอบครัว สำหรับพิธีกรรมต่าง ๆ และแลกเปลี่ยนผลิตผลอื่นที่จำเป็น และมีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการทอผ้าในขั้นตอนต่าง ๆ ให้กับลูกหลานของตนเอง สำหรับชาวลาวเวียงผ้าทอถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งประเภท "นุ่ง" ที่ต้องสวม ใส่ พัน โพก และประเภท "ห่ม" ที่เกี่ยวกับนั่ง หนุน อิง และนอน รวมถึงใช้ในงานบุญประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ผ้าทอในอดีตจึงแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามโอกาสการใช้สอย เช่น ผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ผ้าทอที่ใช้ในโอกาสพิเศษ และผ้าทอที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา
ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านหัตถกรรม
1.นางขันทอง วงษ์คำภา
เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2484 เป็นบุตรของ นายแม้น ท่านที และนางนาค ท่านที
ที่อยู่ หมู่ที่ 3 ต.ป่าตาล อ.เมือง จ.ลพบุรี
จบการศึกษา ป.4 จากโรงเรียนวัดนาค จ.พระนครศรีอยุธยา
นางขันทอง วงษ์คำภา เป็นผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ซึ่งหลังจากประกอบอาชีพขายไข่มาแล้ว 15 ปี เมื่ออยู่บ้านเฉย ๆ เกิดความคิดต้องการหางานอดิเรกทำ จึงคิดสานพัด และทำเป็นอาชีพมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการสานพัดเป็นอาชีพที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ประกอบอาชีพสานพัดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ตายาย ทำใช้เองในครัวเรือนและทำเพื่อแจกจ่ายเพื่อนบ้าน ซึ่งในปัจจุบัน การสานพัดมีการย้อมสีมีหลายลาย หลายรูปทรง มีด้ามถือเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน ปัจจุบันนางขันทอง รับสานพัดเพื่อส่งจำหน่ายที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาภาพการสานพัด
2.นายแสวง วงษ์คำภา
เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2475 เป็นบุตรของ นายยา วงษ์คำภาและนางศรีวงษ์คำภา
ที่อยู่ หมู่ที่ 3 ต.ป่าตาล อ.เมือง จ.ลพบุรี
จบการศึกษา ป.4 จากโรงเรียนวัดป่าหวายทุ่ง
นายแสวง วงษ์คำภา เป็นผู้สูงอายุที่เกิดในตำบลป่าตาล ซึ่งหลังจากประกอบอาชีพทำนา ได้เรียนรู้การจักสานเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ มาตั้งแต่เด็กในสมัยนั้น มีการจักสานอุปกรณ์เพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น กระด้ง ตะกร้า กระบุง ไม้กวาด ไซดักปลา เป็นต้น โดยปัจจุบันมีการประยุกต์การจักสานให้เหมาะกับการใช้งานเพิ่มขึ้นและสามารถจักสานผลิตภัณฑ์เพื่อนำส่งออกจำหน่ายในสถานที่ต่าง ๆ และเพิ่มรายได้ครัวเรือนได้อีกด้วย
ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสมุนไพรและยาพื้นบ้าน
1.นายยอด เมืองสุวรรณ์
เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2511 เป็นบุตรของ นายอรุณ และ นางทองสุข เมืองสุวรรณ์
ที่อยู่ หมู่ที่ 7 ต.ป่าตาล อ.เมือง จ.ลพบุรี
จบการศึกษา ม.6 จากการศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดลพบุรี
ในสมัยโบราณยาแผนปัจจุบันนั้นหายาก และการไปรักษาตามโรงพยาบาลเป็นไปอย่างยากลำบากเนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องการเดินทาง การคมนาคม ยาสมุนไพรจึงมีความสำคัญมากเมื่อเวลามีผู้เกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ขึ้นในหมู่บ้านและในปัจจุบันการใช้ยาปฏิชีวนะบางอย่างก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับร่างกายสรรพคุณ/การรักษา นายยอด เมืองสุวรรณ์ เป็นผู้หนึ่งที่มีความรู้เรื่องการใช้ยาสมุนไพรพื้นบ้านโดยได้รับใบประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยสาขาเภสัชกรรมไทยและจบหลักสูตรการนวดแผนไทยจากกระทรวงสาธารณสุข โดยนำพืชสมุนไพรพื้นบ้านมาเป็นยารักษาโรคต่าง ๆ และใช้ในการนวดประคบเพื่อรักษาอาการปวดเมื่อย ซึ่งได้ปลูกและนำสมุนไพรต่าง ๆ เช่น รางจืด บอระเพ็ด แห้วหมู ไพร ขมิ้น ดีปรี ทองพันชั่ง ว่านเฒ่าหนังแห้ง ฟ้าทะลายโจร มาใช้ในการรักษาแพทย์แผนไทยและได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่เด็ก เยาวชนและประชาชนที่สนใจ นอกจากนั้นนายยอด เมืองสุวรรณ์ ยังได้ประกอบอาชีพเลี้ยงปูนา เพื่อสร้างรายได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2.นางประดิษฐ์ ภู่ปรางค์
เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2492 เป็นบุตรของ นายหวด และนางพัน ทาบุตร
ที่อยู่ หมู่ที่ 3 ต.ป่าตาล อ.เมือง จ.ลพบุรี
จบการศึกษา ป.4 จากโรงเรียนวัดป่าหวายทุ่ง
นางประดิษฐ์ ภู่ปรางค์ เป็นผู้สูงอายุที่เกิดในตำบลป่าตาล ซึ่งหลังจากประกอบอาชีพทำนาก็ได้เรียนรู้การประกอบอาหารคาวหวานต่าง ๆ จากบรรพบุรุษ มาตั้งแต่เด็ก ในสมัยนั้นได้มีการทำขนมหวานแบบพื้นบ้านเพื่อรับประทานและนิยมนำไปทำบุญใจงานบุญต่าง ๆ เช่น ขนมบัวลอยสมุนไพร ถั่วแปบ ตะโก้ข้าวเหนียวเปียก ขนมตาล ขนมต้ม เป็นต้น และได้อนุรักษ์ไว้จนถึงปัจจุบันและได้ถ่ายทอดเป็นภูมิปัญญาด้านการทำขนมไทยสู่คนรุ่นหลังสืบไป
3.นางพัด หอลัดดา
เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2484 เป็นบุตรของ นายสุ่ม อ้วนศรี และนางมะลิอ้วนศรี
ที่อยู่ หมู่ที่ 1 ต.ป่าตาล อ.เมือง จ.ลพบุรี
จบการศึกษา ป.4 จากโรงเรียนวัดห้วยเปี่ยม ตำบลป่าตาล อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
นางพัด หอลัดดา เป็นผู้สูงอายุในพื้นที่ตำบลป่าตาล ได้เรียนรู้การประกอบอาหารคาวหวานต่าง ๆ จากบรรพบุรุษมาตั้งแต่เด็ก ในสมัยนั้นได้มีการทำอาหารคาวแบบพื้นบ้านเพื่อรับประทานและนิยมนำไปทำบุญในงานบุญต่าง ๆ คือ ห่อหมกหน่อไม้ซึ่งเป็นพืชผักที่ขึ้นอยู่ทั่วไปในพื้นที่ หากินง่ายในสมัยนั้นในอดีตห่อหมกหน่อไม้จะไม่ใช้ใบตองจะปรุงส่วนผสมต่าง ๆ ลงในหม้อ เรียกว่า "หมกหม้อหน่อไม้" ส่วนผสมก็ไม่มีกะทิและหมู ต่อมาได้มีการดัดแปลงสูตรและรูปแบบให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น โดยการนำใบตองมาห่อเพื่อความสวยงาม และมีกลิ่นหอมของใบตอง และสะดวกในการรับประทานหรือนำไปทำบุญหรือเป็นของฝาก โดยมีส่วนผสมคือ หน่อไม้รวกดิบเผาไฟแล้วนำมาขูดเป็นเส้นแล้วนำไปต้นกะทิข้าวเบือ ปลาร้า พริกแกงเผ็ด น้ำใบย่านาง เนื้อหมูสามชั้น ใบยอ ใบแมงลักและเรียกว่า "ห่อหมกหน่อไม้" และยังเป็นอาหารพื้นบ้านที่นิยมรับประทานกันมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้
ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านพิธีกรรม บายศรีสู่ขวัญ
1.นายจำลอง สนามทอง
เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2481 เป็นบุตรของ นายเปีย และนางนอง สนามทอง
ที่อยู่ หมู่ที่ 7 ต.ป่าตาล อ.เมือง จ.ลพบุรี
จบการศึกษา ป.4 จากโรงเรียนวัดป่าหวายทุ่ง ตำบลป่าตาล อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
นายจำลอง สนามทอง เป็นผู้สูงอายุในพื้นที่ตำบลป่าตาล ได้เรียนรู้การบายศรีสู่ขวัญจากบรรพบุรุษ โดยมีความเชื่อว่าเป็นการเรียกขวัญและกำลังใจให้กับชาวบ้านให้หายจากอาการเจ็บป่วย หรือการเดินทางมาจากที่อื่นก็มีการเรียกขวัญให้มาอยู่กับตัว และเพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับผู้ที่ได้รับการสู่ขวัญโดยมีพิธีกรรมประกอบด้วยการจัดทำบายศรีที่ทำจากใบตอง ไข่ไก่ต้ม ถั่ว งา ข้าวต้มมัด ด้ายสายสิญจน์สำหรับให้ผู้เฒ่าผู้แก่ผูกข้อมือเพื่อทำพิธีเรียกขวัญให้กับชาวบ้าน ลูกหลาน หรือผู้ที่เดินทางมาเยี่ยมเยือน
ชาวลาวเวียงในชุมชนบ้านป่าตาลยังคงอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ในหมู่ญาติพี่น้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้าน มีการพึ่งพาอาศัยกัน มีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวลาวเวียงที่สืบทอดมาแต่โบราณเป็นทุนเดิม มีการจัดงานประเพณีร่วมกัน มีความรักความสามัคคี
ชาวลาวเวียงบ้านป่าตาลอำเภอเมืองลพบุรีมีภาษาพูดเป็นของตนเองแต่ไม่พบหลักฐานด้านภาษาเขียน สันนิษฐานว่า เมื่ออพยพมาอยู่ในประเทศไทยชาวลาวเวียงใช้การสื่อสารด้วยการพูดเป็นหลักจึงทำให้ไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรหลงเหลืออยู่
จากข้อมูลการสัมภาษณ์พบว่า ชุมชนตำบลป่าตาลส่วนใหญ่ยังคงใช้ภาษาลาวเวียงในการสื่อสารกันในชุมชน โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่แต่มีการออกเสียงบางคำที่มีความแตกต่างจากลาวเวียงในท้องถิ่นอื่น สะท้อนให้เห็นว่าแม้ว่าสังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามอิทธิพลของโลกาภิวัตน์แต่ในด้านภาษานั้นชาวลาวเวียงยังคงพยายามรักษาภาษาของตนเองซึ่งเป็นอัตลักษณ์เด่นอีกหนึ่งประการของชาวลาวเวียงไว้ได้อย่างเข้มแข็งและมีความภาคภูมิใจในภาษาของตนเอง
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2567). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง ปีงบประมาณ 2567. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.