ชุมชนพี่น้องชาติพันธุ์ปะโอ สืบสานวัฒนธรรมประเพณี ดำรงไว้ซึ่งภาษาปะโอเป็นตำรา
ตั้งชื่อตามแหล่งน้ำภายในชุมชน "ห้วยซลอบ" ที่มีต้นน้ำจากเขาซลอบ เป็นภาษาไทใหญ่ แปลว่า ศาลา ตามลักษณะรูปทรงของเขาซลอบ
ชุมชนพี่น้องชาติพันธุ์ปะโอ สืบสานวัฒนธรรมประเพณี ดำรงไว้ซึ่งภาษาปะโอเป็นตำรา
เป็นชุมชนที่โยกย้ายมาจากบ้านปุ่งมะโอ ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของบ้านห้วยซลอบปัจจุบัน แต่เดิมนั้นชาวบ้านทั้งหมดของชุมชนอาศัยอยู่ที่บ้านร่องแห้ง ตำบลห้วยผา อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นหมู่ชายแดน (ไทย-พม่า) เป็นหมู่บ้านสุดท้ายก่อนจะถึงชายแดน (ช่องด่านนามน)
ด้วยปัญหาความไม่สงบในอดีตที่กองกำลังชนกลุ่มน้อยเคลื่อนไหวอยู่แถบนั้น และมีการปะทะกันด้วยอาวุธสงครามบ่อย ๆ ชาวบ้านร่องแห้งจึงอพยพย้ายถิ่นฐานกัน โดยมีการกระจายไปพื้นที่ต่าง ๆ กัน ส่วนที่ย้ายไปบ้านคายหลวงก็จะมาอยู่ที่บ้านแม่สุยะกับบ้านน้ำกัดเป็นหลัก
อีกส่วนหนึ่งย้ายไปอยู่กับญาติพี่น้องที่บ้านกอง-ห้วยขาน แต่สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่ร่วมกันสร้างชุมชนใหม่ที่บ้านห้วยซลอบจนถึงปัจจุบัน จากเริ่มมีครัวเรือนประมาณยี่สิบกว่าหลังคาเรือนเท่านั้น ปัจจุบันมีมากกว่าเก้าสิบหลังคาเรือน
ปัจจุบันบ้านห้วยซลอบยังมีสถานะเพียงหย่อมบ้านของบ้านห้วยผา มีวัดเป็นของชุมชนเอง หมู่บ้านตั้งอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย
บ้านห้วยซลอบ เมื่อมาจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ตามถนนสาย 1095 ไปทางอำเภอปาย ประมาณ 26 กิโลเมตร ทางเข้าหมู่บ้านจะอยู่ทางขวามือ และมีตลาดขายของฝาก/ของป่าอยู่หน้าหมู่บ้าน
อาณาเขต
- ทิศใต้ ติดกับพื้นที่สวนป่าสักนวมินทรราชินี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย
- ทิศเหนือ ติดเขตบ้านทุ่งมะส้าน ต.ห้วยผา
- ทิศตะวันออก ติดบ้านลุกข้าวหลาม
- ทิศตะวันตก ติดกับบ้านห้วยผา
สาธารณูปโภค ในชุมชนมีระบบประปาชุมชน (ประปาภูเขา)
สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีที่ราบเชิงเขาเล็กน้อยและภูเขาที่สลับซับซ้อน มีป่าชุมชน ป่าสงวน และพื้นที่ป่าอุทยานโดยรอบชุมชน มีลำน้ำน้ำห้วยมะเขือส้ม และมีอ่างกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน
สถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ อยู่ใกล้และเป็นทางผ่านของนักท่องเที่ยวที่มาจากอำเภอปาย มีตลาดขายของป่าที่ขึ้นชื่อของนักเดินทาง
ทรัพยากรทางธรรมชาติ มีป่าไม้ที่สมบูรณ์ แบ่งเป็นป่าชุมชน ป่าสงวน เขตป่าอุทยาน แหล่งน้ำรอบชุมชนค่อนข้างมีน้อย จึงมีปัญหาช่วงหน้าแล้ง
พื้นที่ที่มีกิจกรรมทางสังคม ประเพณี และเทศกาลต่าง ๆ ชาวปะโอบ้านห้วยซลอบ บางส่วนยังสามารถสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดมาจากบรรพชนได้ดี เช่นงานขึ้นปีใหม่ (แด่น ห้า หล่า) หรือประเพณีสงกรานต์ที่ลูกหลานจะต้องกลับมาหาพ่อแม่ญาติพี่น้อง ประเพณีเข้าพรรษา (วา โช หล่า) และประเพณีแห่โคมไฟประทีป ในช่วงออกพรรษาเพื่อเป็นบูชาต้อนพระพุทธเจ้าที่เสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และงานสำคัญของชาวปะโอคืองาน ปอย แด่น ซี หล่า โบ่ย เป็นงานเพื่อรำลึกถึง ขุนสุริยะจันตา บรรพชนผู้รวบรวมชาวปะโอเป็นปึกแผ่น
บ้านห้วยซลอบ ประกอบด้วย 90 ครัวเรือน มีประชากร จำนวน 510 คน แบ่งเป็น ชาย 210 คน หญิง 300 คน
ระบบเครือญาติ
ระบบเครือญาติของชาวปะโอ เป็นลักษณะครอบครัวกึ่งขยาย คือปู่ ย่า หรือตา ยาย จะอยู่รวมกับกับลูกหลาน และเมื่อมีลูกที่พร้อมมีครอบครัวจะจัดให้มีการแต่งงานอยู่กับครอบครัวสักระยะแล้วจึงแยกครัวไปสร้างครอบครัวใหม่ ตามฤกษ์ที่ได้เลือกไว้แล้ว
การลำดับญาติ (ภาษาปะโอจะขึ้นต้นการเรียกพ่อแม่ โดยขึ้นด้วย แม่ก่อน พ่อตามที่หลัง เช่นคนไทยเรียกพ่อแม่ แต่ชาวปะโอจะเรียกกลับกัน เป็นแม่พ่อ หรือ แม่ ผ่า ในภาษาปะโอ ย่า และ ยาย (เม่อ พร่า) คือ แม่ ของพ่อหรือแม่ ปู่ และ ตา (ผ่า พร่า) คือ พ่อของแม่ หรือพ่อ ป้า (เม่อ ต่าน) พี่สาวของพ่อหรือพี่สาวของแม่
**เม่อ ต่าน หรือ ผ่า ต่าน ในภาษาปะโอนั้นในอีกความหมายคือการเรียกพี่เขย หรือพี่สะใภ้ ลุง (ผ่า ต่าน) พี่ชายของแม่ หรือพ่อ**
พ่อ แม่ (เม่อ ผ่า) น้า อา (ชาย) เม่อ หน่าง น้องสาวของพ่อ หรือแม่ ผ่า หน่าง) คือ น้องชายของพ่อหรือแม่ ลูก (โป่) หลาน (ลี) ลูกของลูก เหลน (ลัง) ลูกของหลาน
ปะโอไม่มีการรวมตัวทางเศรษฐกิจ/การเมือง มีเพียงการรวมตัวทางสังคมและวัฒนธรรมเพื่อการรักษาไว้ซึ่งแบบแผนประเพณีที่สืบสานกันมา โดยร่วมมือกับองค์กรเครือข่าย เช่น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงาน พม.จ.แม่ฮ่องสอน ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน
อาชีพหลักของชาวปะโอคือ เกษตรกร ทำไร่ ทำนา และสวน ผู้คนในชุมชนที่อายุไม่มากส่วนใหญ่ไปทำงานในต่างจังหวัด ในเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ กรุงเทพฯ
1.นายประเสริฐ กมลเดชา เกิดปี พ.ศ. 2485 อาศัยอยู่ หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นอดีตผู้นำชุมชน เป็นผู้รู้ในพิธีกรรมของชาวปะโอ รวมทั้งพิธีกรรมทางศาสนา และมีความรอบรู้ในเรื่องวัฒนธรรมประเพณีประวัติศาสตร์ของชาวปะโอ อีกทั้งเป็นผู้มีความรู้เรื่องการแสดงของชาวปะโอ
ทุนวัฒนธรรม
ชุมชนห้วยซลอบมีการปฏิบัติตามวัฒนธรรมประเพณีของชาวปะโอ รวมถึงศิลปะการแสดง การทำตำราภาษาปะโอ
ทุนมนุษย์
ชุมชนห้วยซลอบยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านพิธีกรรมที่สามารถสืบสานและส่งต่อประเพณีเหล่านี้สู่รุ่นต่อไปได้
ชาวปะโอในประเทศไทยยังใช้ภาษาปะโอในการสื่อสารได้ ภาษาปะโอเป็นกลุ่มภาษา จีน-ทิเบต กลุ่มภาษาย่อย ทิเบต-พม่า
ชาวปะโอรุ่นใหม่ในประเทศไทยจะใช้ภาษาไทยสำหรับการเขียนหรือสื่อสารด้วยปะโอไทย คนที่สามารถใช้ภาษาปะโอเพื่อการสื่อสารนั้นมีผู้สามารถเขียน อ่านเหลือจำนวนไม่มาก
กลุ่มเด็กรุ่นใหม่มีปัญหาการสื่อสารด้วยภาษาปะโอ โดยเฉพาะเด็กที่เกิดต่างจังหวัดแล้วกลับมาอยู่ในชุมชนร่วมกับปู่ย่าตายาย และกลุ่มเด็กรุ่นที่ยังสามารถสื่อสารีภาษาปะโอได้นั้นมีปัญหาเรื่องการเข้าใจความหมายของภาษาที่ไม่ชัดเจนทั้งหมด เลยใช้ภาษาไทยกลางปะปนในการสื่อสาร
ปัจจุบันมีหนังสือตำราเรียนภาษาปะโอ และนิตยสารที่เป็นภาษาปะโอรวมถึงตำรายาสมุนไพร และชาวปะโอจะมีการบันทึกการเกิดลงในใบลาน ภาษาปะโอเรียกว่า ชาตา หรือชาตะ ถ้าเปรียบเทียบยุคสมัยใหม่ก็เปรียบได้กับสูติบัตรนั่นเอง และยังมีตำราโบราณที่บันทึกในกระดาษสา (กระดาษทำมือ) ทาปกหรือขอบหนังสือตำราด้วยยางรักสีดำ เพื่อรักษาสภาพของกระดาษให้คงทนต่อความชื้นได้
ลุ่มน้ำปาย
ถ้ำปลา, น้ำตกผาเสื่อ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ปะโอ ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).