ดอยแสงน่าอยู่ วัฒธรรมประเพณีเด่นสง่า ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ วิถีไร่หมุนเวียน คู่ชุมชนเผ่ากะแยตาพราแล
"หลอย" หรือ "ดอย" ที่หมายถึง ภูเขา และคำว่า "แสง" ที่แปลว่า แสงสว่างของอัญมณี เพชรพลอยนิลจินดา และคำว่า "ตาพราแล" เป็นการนำคำสองคำมาประสมกัน "ตาพรา" หมายถึง ต้นไม้แดง "แล" หมายถึงลำห้วย ชุมชนจึงเรียกว่า "ตราพราแล" จึงมีความหมายว่า เป็นห้วยไม้แดง ตามความหมายของการเรียกที่ชุมชนมีความเชื่อว่า บริเวณหมู่บ้าน เคยเป็นป่าไม้แดงในอดีต
ดอยแสงน่าอยู่ วัฒธรรมประเพณีเด่นสง่า ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ วิถีไร่หมุนเวียน คู่ชุมชนเผ่ากะแยตาพราแล
ชุมชนบ้านดอยแสง ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์กะแย เป็นชุมชนอาศัยอยู่ดั้งเดิม
จากหลักฐานการตั้งถิ่นฐานในอดีตและยังปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน คือ ต้นธี เริ่มมีการเกาะกลุ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 ปัจจุบันเรียกห้วยน้ำกัดและอาศัยอยู่ในชุมชนนั้นเป็นเวลา 5 ปี มีจำนวนผู้อาศัยประมาณ 25 ครัวเรือน จากนั้นได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในชุมชน (ดอโซโลแล) ซึ่งเรียกชื่อตามธงชาติที่ปักขึ้นตามแนวเขตชายแดนไทยพม่า
นายลี กุนณัชชา ปราชญ์ชุมชน ได้กล่าวว่า ดอโซโล๊ เกิดจากคำเรียกของคนในชุมชนที่ยังไม่มีการศึกษายังไม่รู้จักธงชาติจึงเรียกตามภาษาชาวบ้านว่า (โซโล๊ะ) ซึ่งแปลว่า ธง จึงเป็นที่มาของหมู่บ้านโซโล๊ะแลโดยบุคคลภายนอกได้เรียกว่า บ้านสนามเพาะ และได้อยู่อาศัยในชุมชนโซโล๊ะแลเป็นระยะเวลา 7 ปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521-2527
สาเหตุที่ย้ายถิ่นฐานเพราะย้ายตามพื้นที่ทำกิน จากนั้นได้ย้ายลงมาอยู่ชุมชนตาพราแลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ซึ่งคำว่า ตาพราแล เป็นคำเรียกตามพื้นที่ป่าซึ่งเป็นป่าไม้แดง ส่วนใหญ่ปัจจุบันเรียกว่า บ้านดอยแสง สาเหตุที่ย้ายมาเนื่องจากถิ่นฐานเดิมเป็นพื้นที่สูงและห่างไกลระบบอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอลำบากในการดำเนินชีวิตและไร้การพัฒนา ทั้งการศึกษา การคมนคม การเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ขาดแคลนด้านปัจจัยสี่จึงได้อพยพมาอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2529 ได้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้จากโครงการพระราชดำริ โดยนายณรงค์ ขยันงาน โดยตั้งชื่อว่าโรงเรียนนันทโพธิ์เดช 1 และเริ่มมีถนนหนทางซึ่งเกิดจากสัมปทานขนไม้ของกลุ่มนายทุน (เอกชน) และสัมปทานช้างลากไม้ของปกาเกอะญอ ในการขนและลากไม้มาจากฝั่งสาละวินมายังจังหวัดแม่ฮ่องสอนโดยผ่านบ้านดอยแสงและได้แต่งตั้งหมู่บ้านเป็นทางการโดยนายแซ ใฝ่รักสงบ เป็นผู้ใหญ่บ้านในปี พ.ศ. 2536 มีจำนวน 30 หลังคาเรือน
ในปี พ.ศ. 2536 มีกลุ่มนักท่องเที่ยวได้เข้ามาเที่ยวในชุมชนและได้ออกเดินป่าไปยังพื้นที่เขตแดนไทย-พม่า ส่งผลให้โดนจับกุมและพูดคุยไกล่เกลี่ยว่า เป็นนักท่องเที่ยวมาดูพื้นที่บ้านดอยแสง และได้แจ้งให้พม่าทราบว่ามีชุมชนใกล้เคียงบริเวณไทย-พม่า จึงได้นำตัวนักท่องเที่ยวมายังชุมชน เพื่อยืนยันว่านักท่องเที่ยวเป็นคนในชุมชน
ในขณะเดียวกันเมื่อกำลังเข้ามาในชุมชน พบกับกองกำลัง KNU ได้แวะมาเที่ยวด้วยจึงเกิดการยิงขู่กราดทำให้โดนต้นธี พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน จึงได้ระดมกันขับไล่พม่าออกจากพื้นที่ ในครึ่งปีหลังถัดมาเกิดโรคแพร่ระบาดในชุมชนโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ชุมชนเริ่มมีคนล้มตายมากขึ้น ชาวบ้านเห็นว่า โรคดังกล่าวเกิดจากการยิงกราดของพม่าโดนต้นธี จึงได้ทำพิธีเลี้ยงผี ขอขมาต้นธี หลังจากนั้นชุมชนกลับมามีชีวิตตามปกติไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นในชุมชนอีกเลย
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านไม่สะเป่
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านในสอย
- ทิศใต้ ติดกับ ศูนย์พักพิงพื้นที่ชั่วคราวบ้านใหม่ในสอย
- ทิศตะวันตก ติดกับ พม่า
ขนาดพื้นที่ชุมชน 140 ไร่
พื้นที่สาธารณะ และสาธารณูปโภคในชุมชน บ้านดอยแสงมีศาลาอเนกประสงค์ในการประชาชนหรือจัดกิจกรรมต่าง ๆ มีแหล่งน้ำที่เพียงต่อการทำการเกษตรและบริโภคในชุมชน มีไฟฟ้าทุกหลังคาเรือน
สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ บ้านดอยแสงตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาแนวชายแดนพม่าโดยรอบมีภูเขาที่สลับซับซ้อนอยู่ในเขตป่าสงวนและเขตพื้นที่ป่าทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การการตั้งถิ่นฐานและทำเกษตร
สถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม
บ้านดอยแสงมีสภาพพื้นที่ชุมชนส่วนมากเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ประชาชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตรทำไร่ทำนาทำสวนเพื่อเลี้ยงชีพหากเหลือใช้จะมีการแบ่งปันหรือทำการค้าขายรายรับส่วนใหญ่มาจากการรับจ้างทั่วไปและการค้าขาย เช่น เปิดร้านค้าของชำเล็ก ๆ เลี้ยงไก่ หมู กระบือขายและหาของป่า เป็นต้น
ทรัพยากรทางธรรมชาติ บ้านดอยแสงเขตป่าไม้ที่สงวนมีแหล่งน้ำที่เพียงพอและมีพืชทั้งสัตว์ต่าง ๆ ที่อุดมสมบูรณ์
พื้นที่ที่มีกิจกรรมทางสังคม ประเพณี และเทศกาลต่าง ๆ
บ้านดอยแสงมีประเพณีประจำปี เช่น ปอยต้นธี ในช่วงเดือนเมษายน ปอยข้าวต้มในช่วงเดือนกันยายน และมีการจัดเทศกาลต่าง ๆ ตามสากลจัดขึ้น
- บ้านดอยแสงมีประชากรทั้งหมด จำนวน 413 คน แบ่งเป็น ชาย 208 คน และหญิง 105 คน
- บ้านดอยแสง ประกอบด้วย 98 ครัวเรือนตามหลังคาบ้าน มี 78 ครัวเรือนตามทะเบียนบ้านที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ประชากรในชุมชนเป็นชนเผ่ากะแย หรือ กะเหรี่ยงแดง
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง
- กลุ่มอาชีพทอผ้ากะเหรี่ยงแดง
อาชีพและการรวมกลุ่มประกอบอาชีพในชุมชน
- อาชีพหลัก ปลูกข้าว อาชีพรองรับจ้างทั่วไป เช่น ปลูกกระเทียม ปลูกงา
เครือข่ายการค้าขาย/แลกเปลี่ยนภายใน-ภายนอกชุมชน
- มีร้านค้าในชุมชน 2 ร้าน
การออกไปทำงานนอกชุมชน การเข้ามาทำงานในชุมชนของคนต่างถิ่น
- กลุ่มคนที่ออกไปทำงานนอกชุมชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น คนกลุ่มวัยทำงาน ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุจะอยู่บ้านทำอาชีพเกษตร
องค์กรภายนอกที่เข้ามาทำงานในชุมชน
- ชุมชนดอยแสงมีโรงเรียนศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดน มีคณะครู 9 คน และมีครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 3 คน
ปฏิทินการเพาะปลูก
- มกราคม เตรียมพื้นที่เพาะปลูก
- กุมภาพันธ์ เตรียมพื้นที่เพาะปลูก
- มีนาคม เตรียมพื้นที่เพาะปลูก
- เมษายน เผาพื้นที่เกษตร/เก็บเกี่ยวกระเทียม
- พฤษภาคม เตรียมพื้นที่เพาะปลูก หว่านงา
- มิถุนายน ปลูกข้าวพื้นที่เกษตร/ดำนา
- กรกฎาคม กำจัดวัชพืช
- สิงหาคม กำจัดวัชพืช
- กันยายน เก็บเกี่ยวงา
- ตุลาคม เกี่ยวข้าว/เกี่ยวข้าวนา
- พฤศจิกายน ขนถ่ายผลผลิตเกษตรข้าว/ปลูกกระเทียม
กิจกรรมทางสังคม วัฒนธรรม และศาสนาของกลุ่มต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
- มกราคม ปลูกป่าต้นน้ำ
- เมษายน ปอยต้นที
- กันยายน ข้าวต้มมัด
การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและภัยพิบัติในรอบปี
พายุฤดูร้อน/น้ำไม่พอใช้ในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม
บวชป่าต้นน้ำ (เก่เกเร๊ดา)
ประกอบพิธี ณ ลานต้นทีเหนือหมู่บ้าน
ประกอบพิธีประมาณเดือนมกราคม เพื่อขอน้ำ ขอขมาเรื่องที่ดินทำกิน โดยใช้หมู 1 ตัว ไก่ 7 ตัว เมื่อทำพิธีเสร็จจึงจะสามารถทำการแผ้วถางในพื้นที่เกษตรได้
พิธีกรรมนี้มีผลต่อชีวิตของคนในชุมชนในเรื่องผลผลิตการทำเกษตร ความเชื่อเรื่องชีวิตของคนในชุมชนจะประสบปัญหาในเรื่องที่ดินทำกิน เรื่องการล่าสัตว์ จำเป็นต้องทำพิธีกรรมขอขมาก่อนการทำเกษตรในแต่ละปี รวมไปถึงการให้ความเคารพหรือการเชื่อฟังของคนแต่ละคนถ้าให้ความเคารพจะพบสันติสุขในชีวิต แต่คนที่ไม่เชื่อฟังจะประสบปัญหาไม่ดีตามมา
พิธีต้นธีรวงข้าว (อิลูโบ๊แปล)
ประกอบพิธี ณ ลานต้นที เริ่มโดยตัดแต่งต้นธีต้นเล็ก 1 ต้น โดยใช้รวงข้าวที่กำลังออกรวงบูชาบนต้นธีเล็ก ลักษณะการใช้เป็นตัวอย่างในการขอขมามีส่วนประกอบด้วยหมู 2 ตัว ไก่ 1 ตัว พิธีนี้เป็นสื่อในการสอบถามการปลูกข้าวปีนี้จะมีความอุดมสมบูรณ์หรือประสบปัญหาในการเพาะปลูกหรือไม่
ปอยข้าวต้มหัวแหลม
เริ่มโดยการเชิญให้ผีปู่เข้าบ้าน ปราชญ์ชุมชนจะทำการเสี่ยงทายกระดูกไก่เพื่อหาวันเวลาในการจัดกิจกรรมจากนั้นจะแจ้งให้ชุมชนทราบว่าจะเริ่มงานเมื่อไร เพื่อจะได้ไปเอาใบห่อข้าวต้มหัวแหลม ต้มเหล้าตามภูมิปัญญาพื้นบ้าน เมื่อชุมชนได้เตรียมใบห่อข้าวต้มหัวแหลมพร้อมกับการทำหุ่นผีปู่ (โพดี๊ขริ) เพื่อเชิญผัปู่เข้าบ้านตามที่ผีปู่อยากขึ้นบ้านจะต้องประกอบด้วยสองคนที่ถือผีปู่จะสั่นไปมาซ้าย-ขวา
ผีปู่จะเลือกขึ้นบ้านเอง ผีปู่จะมาอาศัยอยู่ในชุมชนเป็นเวลาสามวัน ในช่วงเวลาสามวัน วันที่สองจะมีปราชญ์ที่เป็นตัวแทนของชุมชนในการสอบถามความเป็นอยู่ของชุมชน รวมไปถึงความเจ็บไข้ได้ป่วย หน้าที่การงาน ปัญหาต่าง ๆทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ในขณะที่ทำพิธีสอบถามผีปู่ สามารถสอบถามด้วยภาษาอื่น ๆ นอกเหนือจากภาษากะแยได้
เมื่อผีปู่ตอบตกลงจะทำการโขกลงพื้นสามครั้งเพื่อยืนยันคำตอบให้แก่ผู้ถาม วันที่สามก็จะเล่นดนตรีเชิญผีปู่ออกจากชุมชนกัลป์ไปอยู่ในป่าดังเดิม
พิธีกรรมนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีของกลุ่มชาติพันธ์ในอดีตที่เคยร่วมสู้รบด้วยกันมา ทำให้ชุมชนได้ห่อใบข้าวต้มหัวแหลมเพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต และภาคความเป็นพี่น้องร่วมสาบานในการช่วยเหลือกัน
ปอยต้นธี
ประกอบพิธี ณ ลานต้นธี ใช้เวลา 3 วัน
วันแรกจะไปตัดต้นธี ซึ่งชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจไปตัดต้นไม่สะเป่ ยาวประมาณ 8 เมตร แล้วช่วยกันแบกเข้าหมู่บ้าน ปราชญ์ชุมชนจะทำการตกแต่งประดาต้นธี ในวันที่ 2 และช่วยกันสร้างสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนสื่อความอุดมสมบูรณ์และการให้ความเคารพต่อธรรมชาติ ทาต้นธีด้วยปูนขาว ตกแต่งให้สวยงาม และร่วมต้อนรับแขกต่างหมู่บ้านที่มาพบปะเยี่ยมเยียนเที่ยวงานปอยต้นธี
พิธีนี้เป็นการบูชาและอธิษฐานต่อขอให้ปีนี้ได้ข้าวดี มีฝนฟ้าอากาศตกตามฤดูกาล ช่วยดูแลชุมชนไม่ให้เกิดปัญหาทั้งสุขภาพกายและใจ การใช้ชีวิตอย่างสงบสุข ขอการคุ้มครองให้เจอแต่เรื่องดีในตนเองและในชุมชน
1.นายลี กุนณัชชา อายุ 58 ปี
ที่อยู่ หมู่ 13 ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58000
บทบาทและความสำคัญในชุมชน ผู้ประกอบพิธีกิจกรรมปอยข้าวต้ม กิจกรรมบวชป่า การใช้สมุนไพร หมอดู/เสี่ยงทาย
นายลีมีอาชีพหลักทำไร่ทำสวน มีภรรยา นางแทโหม่ พนาศรีเจิดจ้า มีอาชีพทำไร่ทำสวน ได้มีบุตรด้วยทั้งหมด 5 คน มีชาย 1 คน หญิง 3 คน นายลีเป็นปราชญ์ด้านประเพณีปอยข้าวต้มหรือปอหมี่ (ดีกุ) และประเพณีเกะเก๊เรดามีการดูกระดูกไก่เสี่ยงทายหรือเรียกขวัญ
2.นายโซ ทรัพย์พญาไท อายุ 58 ปี
ที่อยู่ หมู่ 13 ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58000
บทบาทและความสำคัญในชุมชน ผู้ประกอบพิธีกิจกรรมดูกระดูกไก่ ปอย ข้าวต้ม เกะเก๊เรดา เรียกขวัญ
นายโซมีอาชีพทำเกษตรทำไร่ทำสวนเลี้ยงกระบือ เป็นปราชญ์ด้านดูกระดูกไก่ ปอยข้าวต้ม เกะเก๊เรดา เรียกขวัญ มีภรรยาชื่อนางแมะแหมะ แสงคีรีสุข อายุ 62 ปี ภรรยาทำอาชีพทำไร่ทำสวน ทั้งสองไม่มีบุตร อาศัยอยู่กันแค่สองคน
ทุนกายภาพ
แม่น้ำห้วยไม้แดง ห้วยเสือแห้ง ป่าเต็งรังรอบหมู่บ้าน มีกล้วยไม้ หมูป่า เก้ง กวาง กระรอก แลน นกเขา นกกระยาง
ทุนมนุษย์
- อสม. 8 คน
- อพม. 2 คน
- อปพร. 25 คน
- อถล. 4 คน
- อกม. 1 คน
- ชรบ. 10 คน
ทุนวัฒนธรรม
- วัด จำนวน 1 แห่ง
- โบสถ์คริสต์คาทอลิก จำนวน 1 แห่ง
- โบสถ์คริสต์โปรเตสแตนท์ จำนวน 1 แห่ง
ทุนเศรษฐกิจ
- แหล่งกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน จำนวน 1 แห่ง
- กองทุนแม่ของแผ่นดิน จำนวน 1 แห่ง
- กองทุนแก้ไขความยากจน จำนวน 1 แห่ง
ทุนสังคม/การเมือง
- เครือข่ายการฟื้นฟูลุ่มน้ำสาละวิน
ภายในชุมชนใช้ภาษากะแยในการสื่อสารประมาณ 80% อีก 20% ใช้ภาษาอื่น ๆ ไม่มีตัวอักษรหรือภาษาเขียน
การใช้ภาษาของชุมชน เดิมใช้ภาษาในการพูดคุยกันในชุมชนกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว แต่มีกิจกรรมในการนำชุมชนอื่นมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ การกระตุ้นให้เกิดการใช้ภาษามากขึ้นคือ งานประเพณีแต่ละปี เช่นงานปอยต้นที งานปอยข้าวต้มหัวแหลม งานศพ งานแต่ง งานทำบุญแก่ผู้ล่วงลับ เป็นต้น
เศรษฐกิจของคนในชุมชนส่วนใหญเป็นการใช้แรงงานในครอบครัวในการผลิต ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพึ่งพาตนเอง ความอยู่รอดของคนในครัวเรือน มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ถือว่าทุคนในชุมชนล้วนเป็นปัจจัยการผลิตที่แบ่งปันต่อกันและกันในชุมชน
สังคมในชุมชนอยู่เป็นพี่น้องร่วมกัน เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ประชากรอาศัยอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ ไม่กระจายคนในชุมชนออกไปอยู่พื้นที่อื่น ๆ ยกเว้นการออกไปทำงานต่างจังหวัดหรือออกไปอยู่กับครอบครัวใหม่เท่านั้น
สิทธิการเข้าถึงระบบรัฐยังไม่ทั่วถึงเนื่องจากยังมีกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มต่างด้าวอาศัยอยู่ประเทศไทยชั่วคราว และกลุ่มไม่มีสถานะทางทะเบียนทำให้ชุมชนขาดโอกาสการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในด้านการจำกัดสิทธิของชุมชนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขและช่วยเหลือ
ชุมชนมีระบบประปาภูเขา มีร่องระบายน้ำ การคมนาคมสะดวกด้วยถนนคอนกรีตในชุมชนสามารถเข้าถึงในตัวเมืองได้ง่ายขึ้น มีไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีโรงเรียนของรัฐอยู่ในพื้นที่ เช่น ศูนย์เรียนรู้ตระเวนชายแดนบ้านดอยแสง การบำบัดขยะในชุมชน มีพื้นที่สุสาน พื้นที่จิตวิญญาณ
ชุมชนมีระบบด้านสาธารณสุขจาก รพ.สต พื้นที่ใกล้เคียง เช่น รพสต.บ้านในสอย และอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน ในชุมชนประมาณ 8 คน ที่เป็นจิตอาสาดูแลการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การป้องกันโรคไข้เลือดออก มาลาเรีย ที่เป็นกำลังสำคัญของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพในตำบล
ชุมชนมีโรงเรียนของรัฐที่เปิดการสอนโดยเป็นพื้นที่โครงการพระราชดำริของสมเด็จพระเทพ ดำเนินการโดยตำรวจตระเวนชายแดนเปิดการเรียนการสอนชั้นประถมศึกษามีครูข้าราชการ ครูพี่เลี้ยงในชุมชน
ชุมชนมีการจัดกิจกรรมประเพณีเป็นประจำทุก ๆ ปี ที่ยังคงสืบสานอัตลักษณ์ความเป็นชนเผ่าด้านความเชื่อที่ปฎิบัติต่อกันมาเช่น ปอยต้นธี ปอยข้าวต้มหัวแหลม กิจกรรมเรียกขวัญ กิจกรรมทำบุญหมู่บ้าน เป็นต้น
ชุมชนมีการบริหารจัดการในพื้นที่ป่าชุมชน พื้นที่หวงแหน ในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ โดยการทำแนวกันกันรอบชุมชน รอบพื้นที่ป่าชุมชน มีการออกกฎระเบียบในการใช้พื้นที่ป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์
น้ำตกผาเสื่อ
ป่าชุมชน
ศกร. ตำรวจตระเวนชายแดน
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์กะแย ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.