เมืองหน้าด่าน อำเภอเวียงแก่น ดินแดนสองฝั่งโขง ดำรงวัฒนธรรมชนเผ่า เหล้าอุหวานบ้านห้วยเอียน
"อม" เป็นภาษาขมุ ที่แปลว่าน้ำ "เอียน" มาจากภาษาเหนือที่แปลว่า ปลาไหล ซึ่งในอดีตชุมชนบ้านห้วยเอียนจะมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยปลาไหล จึงตั้งชี่อหมู่บ้านตามเอกลักษณ์ของแหล่งน้ำนั้น ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า "บ้านห้วยเอียน"
เมืองหน้าด่าน อำเภอเวียงแก่น ดินแดนสองฝั่งโขง ดำรงวัฒนธรรมชนเผ่า เหล้าอุหวานบ้านห้วยเอียน
หมู่บ้านห้วยเอียนตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2499 ตรงกับปีขมุประมาณ 67 ปี โดยย้ายมาจากบ้านห้วยส้าน ตำบลท่าข้าม อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ประชากรของบ้านห้วยส้านนั้นย้ายมาจากประเทศลาวในปลายยุคของนายฮ้อย โดยติดตามนายฮ้อยมาเพื่อขอมาทำงาน หลังจากนั้นชาติพันธุ์ขมุที่ขอติดตามนายฮ้อยมาทำงานด้วย จึงได้ขออนุญาตพ่อกำนันกอง ตั้งรกรากปักฐานอยู่ที่บ้านห้วยส้าน เพราะไม่อยากกลับไปยังประเทศลาวจึงได้เกิดการตั้งหมู่บ้านห้วยส้านขึ้น หลังจากนั้นจำนวนประชากรได้เพิ่มขึ้น ที่ทำมาหากินและที่อยู่อาศัยเริ่มแออัด จึงมีการโยกย้ายตั้งถิ่นฐานเพิ่ม ณ บ้านห้วยเอียน ตำบลหล่าวงาว อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย
บ้านห้วยเอียนโอบล้อมด้วยภูเขา โดยทางทิศตะวันออกติดกับแม่น้ำโขง ทิศตะวันตกติดกับภูเขา ทิศเหนือติดกับอำเภอเชียงของ และทิศใต้ติดกับอำเภอเวียงแก่น โดยบ้านห้วยเอียนเป็นพื้นที่ป่าสงวนทั้งหมด และมีสาธารณูปโภคอยู่หลายแห่ง เช่น หอประชุมอเนกประสงค์ของหมู่บ้าน อาคารผู้สูงอายุ วัด โบสถ์ โรงเรียนบ้านห้วยเอียน อ่างเก็บน้ำ เมรุ และเป็นชุมชนที่มีอากาศที่บริสุทธิ์ดี ร่มรื่น เต็มไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ
- บ้านห้วยเอียนมีประชากรทั้งหมด แบ่งเป็น ชาย 217 คน และหญิง 240 คน รวมทั้งสิ้น 457 คน และทั้งหมด 180 หลังคาเรือน
- ภายในชุมชนอยู่ร่วมกับพี่น้องชาวชาติพันธุ์อื่น ๆ ได้แก่ ไทยวน ลาวเวียง อิ้วเมี่ยน และไทลื้อ
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ
- กลุ่มยางพารา
- กลุ่มจักสาน
- กลุ่มแม่บ้าน
- กลุ่มอสม.
- กลุ่มผู้สูงอายุ
- กลุ่มสินค้า OTOP
- กลุ่มส่งเสริมการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์และกลุ่มผู้ที่ปลูกพืชผักผลไม้ขาย
อย่างไรก็ตามยังมีประชากรบางกลุ่มในหมู่บ้านที่ออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน เช่น เป็นพนักงานบริษัท รับราชการ และรับจ้างทั่วไป
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
- มกราคม ประเพณีปรากซัรนาง
- มีนาคม ประเพณีเลี้ยงผีหมู่บ้าน
- กรกฎาคม เลี้ยงผีต้นไทร
ปฏิทินการนับวันที่แบบขมุ
วิธีนับ วัน-เดือน-ปี ของชนเผ่าเคอมุ จัดทำโดย นายบัณฑิต บุญเสริม | |||||
1 | กัด-เรา | 21 | กัด-เช่อ | 41 | กัด-เปล้า |
2 | กด-เช็ด | 22 | กด-สะง่า | 42 | กด-ยี |
3 | รวง-เกอ | 23 | รวง-หมด | 43 | รวง-เม่า |
4 | เต้า-เจ้อ | 24 | เต้า-สัน | 44 | เต้า-สี |
5 | กา-เปล้า | 25 | กา-เรา | 45 | กา-เช่อ |
6 | กาบ-ยี | 26 | กาย-เช็ด | 46 | กาบ-สะง่า |
7 | หรับ-เม่า | 27 | หรับ-เกอ | 47 | หรับ-หมด |
8 | รวาย-สี วันหยุด | 28 | รวาย-เจ้อ วันหยุด | 48 | รวาย-สัน วันหยุด |
9 | เหมิ่ง-เช่อ | 29 | เหมื่ง-เปล้า | 49 | เหมิ่ง-เรา |
10 | เปลิ้ค-สะง่า | 30 | เปลิ้ค-ยี | 50 | เปลิ้ค-เช็ด |
11 | กัด-หมด | 31 | กัด-เม่า | 51 | กัด-เกอ |
12 | กด-สัน | 32 | กด-สี | 52 | กด-เจ้อ |
13 | รวง-เรา | 33 | รวง-เซ่อ | 53 | รวง-เปล้า |
14 | เต้า-เช็ด | 34 | เต้า-สง่า | 54 | เต้า-ยี |
15 | กา-เกอ | 35 | กา-หมด | 55 | กา-เม่า |
16 | กาบ-เจ้อ | 36 | กาย-สัน | 56 | กาบ-สี |
17 | หรับ-เปล้า | 37 | หรับ-เรา | 57 | หรับ-เช่อ |
18 | รวาย-ยี วันหยุด | 38 | รวาย-เช็ด วันหยุด | 58 | รวาย-สง่า วันหยุด |
19 | เหมิ่ง-เม่า | 39 | เหมิ่ง-เกอ | 59 | เหมิ่ง-หมด |
20 | เปลิ้ค-สี | 40 | เปลิ้ค-เจ้อ | 60 | เปลิ้ค-สัน |
1.นายบัณฑิต บุญเสริม เกิดปี พ.ศ. 2503 อาศัยอยู่หมู่ 6 ตำบลหล่ายงาว อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นปราชญ์ประจำหมู่บ้านห้วยเอียน เมื่อปี พ.ศ. 2555 มีบทบาทและหน้าที่ เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับด้านภาษาขมุโดยตรง
ทุนกายภาพ บ้านห้วยเอี่ยนมีทิวทัศน์ที่สวยงาม มีแม่น้ำและภูเขาล้อมรอบชุมชน
ทุนมนุษย์ มีผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาขมุในชุมชนที่สามารถสืบสานและส่งต่อภูมิปัญญานี้ต่อไปได้
ทุนเศรษฐกิจ ภายในชุมชนมีกองทุนสำหรับคนในชุมชนให้กู้ยืมเพื่อจุดประสงค์ต่าง ๆ เช่น กองทุนเงินล้าน กองทุนแม่ของแผ่นดิน กองทุนบ้านมั่นคง เป็นต้น
ชุมชนบ้านห้วยเอียนใช้ภาษาขมุในการสื่อสารเป็นหลัก ส่วนภาษาเขียนใช้อักษรไทยแต่ออกเสียงเป็นภาษาขมุ
อย่างไรก็ตามมีการพัฒนาภาษาขมุภายใต้การดำเนินงานโครงวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นในโครงการ ฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ของศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และชุมชนเจ้าของภาษา ทำให้เจ้าของภาษาได้มีส่วนร่วมในการเลือกใช้ตัวอักษรด้วยตนเอง ทำให้ได้ระบบเขียนพยัญชนะภาษาขมุอักษรไทย ซึ่งมีตัวพยัญชนะ 22 ตัว พยัญชนะท้าย 14 ตัว สระเดี่ยว 20 ตัว และสระประสม 6 ตัว
บ้านห้วยเอียนในอดีตมีการปกครองแบบบ้านบริวาร โดยบ้านห้วยเอียนเป็นบ้านบริวารของหมู่บ้านแจ่มป๋อง ด้วยความเจริญก้าวหน้าทั้งในด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และการเพิ่มขึ้นของประชากร จึงทำให้ระบบการปกครองของบ้านห้วยเอียนเปลี่ยนจากการปกครองแบบบริวาร มาเป็นการปกครองแบบตนเอง
ในอดีตประชากรในชุมชนยังขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่ดี เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความยากจน ไม่มีโรงเรียนในชุมชน ความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ เพราะพื้นที่ทำกินในชุมชนส่วนใหญ่เป็นภูเขา จึงทำให้การทำมาหากินเป็นไปค่อนข้างลำบาก
ในปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ เริ่มเข้าสู่ชุมชน ทำให้ประชากรในชุมชนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ง่ายขึ้น จึงทำให้ประชากรในชุมชนได้มีโอกาสศึกษาในระดับที่สูงขึ้น มีหน้าที่การงานที่มั่นคง และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในชุมชน
หมู่บ้านห้วยเอียนตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้หมู่บ้านมีป่าชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชากรในชุมชนทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านความเป็นอยู่ และด้านการท่องเที่ยว เช่น การเก็บของป่าเพื่อนำมาประกอบอาหาร การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพร เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ประชากรในชุมชน
ในชุมชนบ้านห้วยเอียนยังมีบ้านต้นไม้ มีอากาศที่บริสุทธิ์สดชื่น วิวทิวทัศน์ที่สวยงาม มีจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นแม่น้ำโขงและประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างชัดเจน สามารถไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างสะดวก รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวอีกมากมาย เช่น ร้านอาหารสกายวอร์ค ขมุโฮมสเตย์ และเคียงโขงรีสอร์ท เป็นต้น
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ขมุ ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.