บ้านหนองหลัก ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงท่ามกลางพื้นที่ทางธรรมชาติทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ กับการจัดการพื้นที่ป่าชุมชน และวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์
บ้านหนองหลัก ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงท่ามกลางพื้นที่ทางธรรมชาติทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ กับการจัดการพื้นที่ป่าชุมชน และวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์
การก่อตัวเป็นชุมชนบ้านหนองหลักนั้นเดิมทีชาวบ้านอาศัยอยู่บริเวณทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของที่ตั้งชุมชนปัจจุบัน โดยสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยกันหลายครอบครัวในพื้นที่บ้านห้วยงูสิงห์ ต่อมาเกิดเหตุการณ์ผู้คนในชุมชนล้มป่วยและเสียชีวิตอย่างไม่รู้สาเหตุ ชาวบ้านจึงตัดสินใจพากับอพยพครัวเรือนแยกย้ายกันไปหาแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ด้วยเกรงว่าจะเกิดเรื่องไม่ดีกับครอบครัวของตน โดยชาวบ้านแยกย้ายกันแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม หลายครอบครัว ขังแค่ พร้อมกับชาวบ้านอีก 3 ครอบครัวได้ย้ายไปสร้างบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณใกล้กับลำห้วยแม่ลาโก พู่ย่าจี่นำชาวบ้านส่วนหนึ่งไปอยู่ที่ลำห้วยทิโตหล่า พ่อหน้อยตุ่นและชาวบ้านบางส่วนไปอยู่ที่ทิพูกู พ่อหลวงเสาร์แก้วนำชาวบ้านไปอยู่ที่ห้วยกะแหน่ ส่วนพู่ฟู่กงและชาวบ้านอีกสองครอบครัวคือ ครอบครัวนายดีแก้ว ปุ๊ดแค และนายลัย สุขใจ ได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยในบริเวณบ้านหนองหลักในปัจจุบัน
ส่วนชาวบ้านที่เหลือกลุ่มอื่นๆ ได้แยกย้ายไปอยู่กับญาติพี่น้องในชุมชนต่างๆ เช่น บ้านไม้สลี บ้านแม่แสม บ้านป่าก่อ บ้านห้วยงูสิงห์ หลังจากนั้นประมาณ 5 ปี ชาวบ้านที่แยกย้ายกันไปอยู่ตามลำห้วยและชุมชนในบริเวณโดยรอบก็เริ่มอพยพย้ายกลับมารวมตัวกันที่บริเวณบ้านหนองหลัก จนกลายเป็นชุมชนที่มีความหนาแน่น และมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และถูกแต่งตั้งให้เป็นหมู่บ้านหนองหลักอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2467 จนถึงปัจจุบัน
บ้านหนองหลัก ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของจังหวัดลำพูน มีระยะทางห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 120 กิโลเมตร ที่ตั้งชุมชนอยู่ในบริเวณที่ราบเชิงเขา ในระดับความสูงประมาณ 600-800 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง รายรอบไปด้วยพื้นที่ทางการเกษตร ที่ราบเชิงเขา และภูเขา มีพื้นที่ราบเพียงเล็กน้อย โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ พื้นที่ดอยผาเมืองหรือดอยแด่น อำเภอแม่ทา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านห้วยงูสิงห์ หมู่ที่ 4
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านป่าก่อ หมู่ที่ 10
บ้านหนองหลัก ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน เป็นชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (โปว์) มีสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 9 บ้านหนองหลัก ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 840 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 428 คน ประชากรหญิง 412 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 258 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
โพล่งบ้านหนองหลัก ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน เป็นชุมชนเกษตรกรรมมาตั้งแต่ดั้งเดิม ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพหลักด้านการทำการเกษตร โดยภูมิปัญญาที่ชาวบ้านได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษคือการทำเกษตรกรรมแบบไร่หมุนเวียน เป็นการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกหมุนเวียนไปในแต่ละรอบปี เพื่อพักฟื้นสภาพผืนดินในบริเวณที่ทำการเพาะปลูกแล้วให้มีการฟื้นตัว มีความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหาร และทรัพยากรที่เหมาะสมในการปลูกพืชจึงจะกลับมาทำการเกษตรในพื้นที่เดิมอีกครั้ง พืชที่ชาวบ้านปลูกส่วนใหญ่จะเป็นการทำนา ทำข้าวไร่ ซึ่งเป็นที่นิยมมากในอดีต แต่ปัจจุบันการทำข้าวไร่ในพื้นที่เริ่มมีปริมาณน้อยลงเนื่องจากประสบปัญหาทางสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของข้าวไร่ ทำให้ได้ผลผลิตไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ชาวบ้านจึงให้ไปทำไร่ข้าวโพด และปลูกพืชชนิดอื่นเพิ่มเติมแทนที่การทำข้าวไร่แบบเดิม และทำสวนพืชผักหลากชนิด นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีการทำปศุสัตว์ภายในชุมชน ทั้งการปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติในฤดูกาลต่าง ๆ และการเลี้ยงในโรงเรือน
บ้านหนองหลัก ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มีวิถีชีวิต ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม และระบบสังคมในการจัดระเบียบชุมชน และแนวทางปฏิบัติของสมาชิกในชุมชนที่ยึดถือสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ชาวบ้านจะให้ความสำคัญกับหัวหน้าหมู่บ้าน หรือตั้งเข้า เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชนที่ติดต่อสื่อสารกับอำนาจเหนือธรรมชาติตามความเชื่อท้องถิ่น ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าทุกสรรพสิ่งล้วนมีเจ้าของผู้ปกปักรักษาดูแลอยู่ และด้วยวิถีการดำรงชีวิตของประชากรในท้องถิ่นที่ผูกพันและพึ่งพาอาศัยทรัพยากรทางธรรมชาติในการดำเนินชีวิต ชาวบ้านจึงให้ความเคารพยำเกรงในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่าง ๆ เหล่านั้น และมีพิธีกรรมบอกกล่าวผู้ดูแลรักษาในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น เจ้าป่าเจ้าเขา (ปก่าเกอะจ่า) เจ้าดิน (ฮ่อโข่เกอะจ่า) เจ้าน้ำ (ทีเกอะจ่า) โดยมีการประกอบพิธีบอกกล่าวและเซ่นไว้ทุกครั้งตามการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตามช่วงเวลา และฤดูกาลในแต่ละรอบปี ตัวอย่างเช่น
พิธีไหว้ผีเจ้าที่เจ้าทาง พิธีนี้มีมาตั้งแต่การเริ่มก่อตั้งหมู่บ้าน และการเข้ามาตั้งบ้านเรือนพื้นที่เพื่อบอกกล่าวผู้ดูแลรักษาและขออนุญาตในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในบริเวณนี้ และมีพิธีกรรมเลี้ยงผีหมู่บ้านเป็นประจำปี (ลือ ต่า สะป่า) ซึ่งจะจัดขึ้นในทุก ๆ ปี ปีละ 2 ครั้ง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือเดือนห้า และช่วงปลายเดือนพฤษภาคมหรือเดือนเก้า
การเลี้ยงผีเรือน (ออแฆ่) เมื่อสมาชิกในครอบครัวมีอาการเจ็บป่วยโดยไม่รู้หาเหตุ หรือมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับบุคคล หรือสิ่งมีชีวิตสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงไว้ ชาวบ้านเชื่อว่าอาจมีสาเหตุมาจากผีเรือนผู้ดูแล จึงจำเป็นที่จะต้องรีบทำพิธีเลี้ยงผีเรือนในทันที โดยจะเป็นพิธีในระดับครัวเรือนและระบบเครือญาติสายตระกูลฝ่ายหญิงเป็นหลัก ก่อนทำพิธีในครัวเรือนนั้นจะต้องแจ้งเครือญาติสายตระกูลฝ่ายหญิงทั้งหมดให้มาร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน
การเลี้ยงผีขุนน้ำ (ต้นน้ำ) ชาวบ้านเชื่อว่าแหล่งน้ำทุกแหล่งมีผีที่ดูแลปกครองอยู่ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงลำน้ำสาขาต่าง ๆ ดังนั้นการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำจึงต้องทำพิธีเซ่นไหว้ โดยจะมีการเลี้ยงผีขุนน้ำเป็นประจำในทุก ๆ ปี ด้วยอาหารหวานคาว น้ำขมิ้นส้มป่อย และจะมีพิธีเลี้ยงใหญ่ 1 ครั้ง ในทุกรอบ 3 ปี โดยใช้หมูตัวผู้สีดำ 1 ตัว ไก่ 2 ตัว เหล้า 1 ขวด น้ำขมิ้นส้มป่อย และดอกไม้ธูปเทียน
การเลี้ยงผีเสื้อบ้าน หรือใจ๋บ้าน ซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษาชุมชนและทุกสรรพสิ่งภายในชุมชน ที่ทำกิน การสร้างบ้านเรือน การย้ายเข้าออกชุมชน จะต้องมีการบอกกล่าวโดยการนำของตั้งเข้า/ตั้งข้าว ผู้นำทางจิตวิญญาณชุมชน โดยมีพิธีเลี้ยงผีเสื้อบ้านปีละ 2 ครั้ง ในวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 (เดือนห้าออกห้าค่ำ) และขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 (เดือนเก้าออกเก้าค่ำ) ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา แต่หากตรงกับวันเสียก็จะเลื่อนออกไปโดยมีตั้งข้าวเป็นผู้กำหนดวันในการทำพิธี
ผีไร่ผีนา หรือผีข้าวแฮก จะเป็นผีที่อยู่ประจำสวนไร่นาทั่วไป เมื่อถึงฤดูกาลเพาะปลูกหรือชาวบ้านเริ่มทำนา ไม่ว่าจะใช้พื้นที่ใดในการทำนาก็จะมีการอธิษฐานบอกกล่าวผีไร่ผีนา ผู้ที่ดูแลรักษาพื้นที่เพื่อขอให้พืชผลเจริญงอกงามและมีผลผลิตที่ดี อุดมสมบูรณ์ตลอดฤดูกาล โดยจะทำการเซ่นไหว้ด้วยเหล้า ไก่ ก่อนที่จะเริ่มทำการเพาะปลูกในพื้นที่นั้น
นอกจากด้านความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรมแล้วด้านเกษตรกรรมก็มีความสัมพันธ์และเกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตของชาวบ้านบ้านหนองหลัก ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นชุมชนเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยมีการเพาะปลูกพืชพรรณต่าง ๆ ตามช่วงเวลาในแต่ละฤดูกาล โดยมีรายละเอียดตามปฏิทินชุมชนดังตารางต่อไปนี้
ปฏิทินการผลิตชุมชนเดือน | กิจกรรม |
มกราคม | เกี่ยวข้าวนาปี/ถางไร่เตรียมปลูกข้าวไร่-พืชไร่ |
กุมภาพันธ์ | ถางไร่เตรียมปลูกข้าวไร่-พืชไร่ |
มีนาคม | ถางไร่เตรียมปลูกข้าวไร่-พืชไร่ |
เมษายน | ถางไร่เตรียมปลูกข้าวไร่-พืชไร่ |
พฤษภาคม | ตีหลักฝาย/ไถนา-หว่านกล้านาดอ/เริ่มทำการเพาะปลูก |
มิถุนายน | ปลูกข้าวนาดอ/กำจัดวัชพืชข้าวไร่รอบแรก |
กรกฎาคม | กำจัดวัชพืชข้าวไร่รอบที่สอง |
สิงหาคม | กำจัดวัชพืชข้าวไร่รอบที่3 /ปลูกข้าวนาปี |
กันยายน | เกี่ยวข้าวนาดอ/ดูแลพืชผลในไร่ |
ตุลาคม | เกี่ยวข้าวนาดอ/ดูแลพืชผลในไร่ |
พฤศจิกายน | เก็บเกี่ยวข้าวไร่ |
ธันวาคม | เก็บเกี่ยวข้าวไร่-ข้าวนาปี |
ทรัพยากรธรรมชาติ
ป่าชุมชนบ้านหนองหลัก ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติที่มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และหลากหลาย ชาวบ้านมีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าบริเวณรอบชุมชน โดยเป็นแห่งอาหารตามธรรมชาติที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งที่นำมาประกอบอาหารในครัวเรือนเพื่อยังชีพ โดยเฉพาะในสมัยก่อนชาวบ้านจะเข้าป่าไปเก็บหาอาหารที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นเห็ดป่าหลากหลายชนิด ผักตามผืนป่า สันเขา หน่อไม้ ผักหวาน ผลไม้ป่า และพืชสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาโรค รวมไปถึงออกล่าสัตว์ป่าบางชนิดนำมารับประทานในครัวเรือน เช่น เก้ง หมูป่า กบ นก งู เขียด อึ่ง เป็นต้น
ทั้งนี้พื้นที่ป่าบริเวณชุมชนในอดีตชาวบ้านยังมีการนำไม้มาทำสิ่งปลูกสร้าง โดยใช้ไม้ที่มีประโยชน์ใช้สอยหลากหลาย ทั้งไม้เนื้อแข็งในการสร้างบ้าน บ้านเนื้ออ่อนเป็นส่วนประกอบอาคาร สร้างคอกสัตว์ หรือไม้ไผ่ที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ในหลายลักษณะ ชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันไปช่วยจัดหาไม้ในป่าและขนมาสร้างอาคารในพื้นที่ชุมชน หรือนำไม้มาทำฟืนเพื่อหุงต้มอาหาร และการตัดไม้มาเพื่อใช้ประโยชน์ของชาวบ้านนั้นจะไม่ตัดไม้ในเขตพื้นที่บริเวณขุนน้ำ หรือแหล่งต้นน้ำ/ตาน้ำ (ห้วยบ้านห่าง และห้วยต๋องแดง) เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ชุมชนใช้ประโยชน์
นอกจากนี้ชาวบ้านยังใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าตามธรรมชาติโดยรอบชุมชนสำหรับเป็นพื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งชาวบ้านจะนำวัว ควาย เข้าไปเลี้ยงในป่าเมื่อเริ่มปลูกข้าวไร่ ทำนา หรือเพาะปลูกพืชผักต่าง ๆ เนื่องจากเกรงว่าสัตว์เลี้ยงจะเข้าไปทำลายพืชผลทางการเกษตรที่ชาวบ้านเพาะปลูกไว้ ซึ่งในรอบปีชาวบ้านจะนำสัตว์เข้าไปเลี้ยงในป่าและปล่อยให้กินตามธรรมชาติประมาณ 8 เดือน โดยจะเข้าไปสอดส่องดูแลเป็นระยะ
จะเห็นได้ว่าชาวบ้านหนองหลัก ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน มีวิถีชีวิตที่ผูกพันและเกี่ยวเนื่องกันกับทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่ป่ามาตั้งแต่อดีต ชาวบ้านจึงให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ดูแลฟื้นฟูสภาพผืนป่าอยู่สม่ำเสมอ มีการทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่าชุมชน ฝายชะลอน้ำ การจัดการระบบนิเวศ สภาพแวดล้อม และทรัพยากรในพื้นที่เพื่อคงความอุดมสมบูรณ์และรักษาสภาพผืนป่าให้ยั่งยืนต่อไป
หทัยกานต์ ขังขชาติ. (2552). โครงการแนวทางการพัฒนากระบวนการจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านหนองหลัก ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน: รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
Thecitizen. (2564). บ้านหนองหลัก : การจัดการไฟป่าหมอกควันในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2567, จาก https://thecitizen.plus/