Advance search

ชุมชนที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของผู้ที่ถูกกวาดต้อนมาจากไทรบุรี ปัตตานี ตั้งแต่คราวสมัยรัชกาลที่ 1

หมูที่ 4
บ้านคลองดิน
นาเคียน
เมืองนครศรีธรรมราช
นครศรีธรรมราช
อบต.นาเคียน โทร. 0-7535-5313
มะลิวัลย์ คำมานิตย์
30 ก.ค. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
ปวินนา เพ็ชรล้วน
31 ก.ค. 2024
บ้านคลองดิน


ชุมชนชนบท

ชุมชนที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของผู้ที่ถูกกวาดต้อนมาจากไทรบุรี ปัตตานี ตั้งแต่คราวสมัยรัชกาลที่ 1

บ้านคลองดิน
หมูที่ 4
นาเคียน
เมืองนครศรีธรรมราช
นครศรีธรรมราช
80000
8.444481595103044
99.90217912365905
องค์การบริหารส่วนตำบลนาเคียน

ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อปี พ.ศ. 2328 ทรงโปรดให้กรมพระราชวังบวรฯ ยกทัพไปปราบพม่าทางตอนใต้แล้วเลยไปตีเมืองปัตตานี เหตุการณ์นี้ได้ต้อนผู้คนจากเมืองดังกล่าวซึ่งเป็นมุสลิมมาไว้ในกรุงเทพฯ , ทะเลฝั่งตะวันออกเขตจังหวัดชลบุรี, ธนบุรี, ชานกรุงเทพฯ, บริเวณภาคกลางที่ เช่น จังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี อยุธยา และภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ตําบลท่าทอง และนครศรีธรรมราช เป็นต้น และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เกิดความไม่สงบอีก 2 ครั้ง คือ ในปี พ.ศ. 2374 และ พ.ศ. 2381 โดยสาเหตุเริ่มจากเมืองไทรบุรี และต่อไปยังหัวเมืองต่าง ๆ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มุสลิมบริเวณนี้คือ ไทรบุรี ปัตตานี ฯลฯ ถูกกวาดต้อนเข้ามายังบริเวณเมืองนครศรีธรรมราช กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงอีกครั้งหนึ่งทำให้บรรพบุรุษของชุมชนบ้านคลองดินจึงเป็นกลุ่มชนหนึ่งเช่นกันที่ถูกกวาดต้อนในฐานะเชลยศึกสงครามจากเมืองทางใต้ของประเทศไทยและทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซียในสมัยสงครามสมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 3 ซึ่งประมาณ 200 ปีเศษมาแล้ว ลักษณะความเชื่อทางศาสนาในอดีตยังปะปนกับความเชื่อระหว่างศาสนาอิสลามกับศาสนาอื่นอยู่ด้วย

ต่อมาความเชื่อทางศาสนาอิสลามเริ่มมีการฟื้นฟูขึ้นมาอีกระดับหนึ่งโดยท่านฮัจยีมะหมูด พร้อมคณะของท่านซึ่งอพยพมาจากหมู่บ้านอื่น และได้ริเริ่มสร้างมัสยิดขึ้นในสมัยเมื่อประมาณ 110 ปีมาแล้ว ในสมัยนั้นประเพณีและพิธีกรรมบางอย่างยังปะปนกับศาสนาพุทธอยู่มาก ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2470 ท่านครูอับดุลลอฮฺ อามีนี ซึ่งเป็นชาวอินโดนีเซียได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาอิสลามที่ถูกต้องตามบทบัญญัติอย่างจริงจัง ภายในเวลาต่อมาชาวบ้านได้ยกย่องให้ท่านเป็นผู้นำทางศาสนา ท่านได้สั่งห้ามพิธีกรรมบางอย่างที่ขัดกับหลักการทางศาสนา เช่น พิธีกรรมการทำบุญให้กับคนตาย ทำบุญท้องแรก เป็นต้น ซึ่งทำให้มุสลิมที่นี่เป็นแบบอย่างที่มักถูกกล่าวอ้างถึงของมุสลิมชุมชนหมู่บ้านอื่น ๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช และมีโรงเรียนอัล-มูวะห์ฮิดีน หรือปอเนาะเป็นโรงเรียนสอนศาสนาภายในชุมชน

ชุมชนบ้านคลองดินมีสภาพที่อยู่อาศัยคล้ายหมู่บ้านชุมชนชนบทของประเทศไทยโดยทั่วไป ในอดีตจะปลูกบ้านอยู่อาศัยโดยใช้ไม้เป็นหลัก แต่ปัจจุบันกาลเวลาทําให้บ้านหลายหลังผุพังไปหลายครอบครัวต้องรื้อบ้านหลังเก่ามาสร้างเป็นบ้านปูนเพื่อความสะดวกและค่าใช้จ่ายถูกกว่าบ้านไม้ ปัจจุบันที่สร้างใหม่จะสร้างแบบบ้านชั้นเดียวข้างหน้าแต่จะคงบ้านหลังเก่าที่เป็นเรือนไม้ไว้ข้างหลังบางบ้านก็ทําเป็นครัว หากเป็นบ้านเรือนสองชั้นจะสร้างลักษณะที่เป็นไม้ชั้นบน ชั้นล่างเป็นบ้านปูน ศิลปะของลักษณะบ้านเรือนยังไม่เป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัด นอกจากนี้สภาพที่อยู่อาศัยที่เป็นกระต๊อบก็ยังมีปรากฏให้เห็นหลายหลัง ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เป็นเจ้าของ คือ คู่สมรสที่เพิ่งแต่งงานและไม่สามารถจะสร้างบ้านถาวรหลังใหญ่ได้ อาณาเขตและบริเวณที่สร้างกระต๊อบก็จะอยู่ไม่ห่างจากบ้านพ่อแม่มากนัก มีเด็กวัยรุ่นผู้ชายในหมู่บ้านหลายคนที่แยกตัวเองมาสร้างกระต๊อบ (ขนำ) ข้างบ้านพ่อแม่อยู่เช่นกัน ทั้งนี้เพื่อความสะดวกเมื่อมีการพบปะเพื่อน วัยรุ่นผู้ชายด้วยกันและเวลากลางคืนก็จะนอนที่กระต๊อบด้วยกัน

ในอดีตบริเวณชุมชนมุสลิมบ้านคลองดินประกอบด้วยสมาชิกผู้นับถือศาสนาอิสลามทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัจจุบันมีผู้นับถือศาสนาพุทธ เข้ามาตั้งหลักแหล่งในช่วงที่มีการซื้อขายที่ดิน เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2532 ประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ และด้วยชุมชนมุสลิมบ้านคลองดินมีโรงเรียนสอน ศาสนาอิสลามอยู่ในหมู่บ้านด้วย จึงมีเด็กนักเรียนจากต่างอําเภอและต่างจังหวัดที่นับถือศาสนาอิสลามเข้ามาพักที่หอพัก (ปอเนาะ) ของโรงเรียนปีละหลายร้อยคน

มลายู

ทำนา

ในชุมชนมุสลิมบ้านคลองดินมีอาชีพการทํานา ทําสวนเป็นอาชีพหลัก เกือบทุกครอบครัวจะปลูกข้าวเพื่อบริโภคในครัวเรือน เป็นการทํานาแบบยังชีพแต่ผลจากการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทางเศรษฐกิจ การขยายเขตเมืองที่ดินทํากินมีการซื้อขายไปมาก การทํานาก็เริ่มลดลงชาวบ้านหลายคนเปลี่ยนสภาพตัวเองจากการปลูกข้าวบริโภคกลับกลายต้องมาซื้อข้าวกิน การทํานาในหมู่บ้าน คลองดินจะใช้วิธีการทำนาดำ แม้ว่าช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะมีระบบชลประทานเข้ามาในหมู่บ้านถึง 2 สาย แต่ชาวบ้านก็ยังคงทํานาปีละ 1 ครั้ง เหมือนเดิม แต่ระยะเวลาการทํานาของชาวบ้านจะมีอยู่ 2 ช่วง คือช่วงที่ทํานาปรัง หมายถึงนาที่อยู่ใกล้ทํานบหรือชลประทาน ซึ่งนาพวกนี้จะลงกล้าราวเดือน 5 และจะดํานาราวเดือน 7 และจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ก็ช่วง 10-11

ช่วงที่สอง ก็คือการทํานาปี ช่วงนี้ต้องอาศัยน้ำฝน ซึ่งก็จะเป็นไปตามฤดูจะเริ่มลงกล้าประมาณเดือน 8-9 และจะเก็บเกี่ยวได้ก็ราวเดือน 12 หรือเดือนอ้าย การทํานาทั้งสองลักษณะนี้บางปีก็มีปัญหาเพราะสภาพฝนทิ้งช่วงที่เกิดขึ้น โดยทั่วไปการทํานาปัจจุบันยังมีการใช้แรงงานสัตว์ในการไถนาอยู่ไม่กี่ครอบครัวแล้วเพราะมีระบบเทคโนโลยีรถไถนาเข้ามาแทนที่มากขึ้น

การผูกอวน

การทําอวนเป็นอาชีพที่ทํากันมา 10 กว่าปีแล้ว เป็นงานหนึ่งที่มีสตรีในหมู่บ้านทํากันเกือบทุกบ้าน โดยการทําอวนจะมีนายหน้ามาติดต่อสตรีให้หมู่บ้านเพื่อเป็นตัวแทนเอาอวนมาให้ลูกค้าทําเป็นอวนที่ทําจากโรงงานด้วยเครื่องจักรในขั้นตอนหนึ่งแล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อมาก็จะนํามาให้ผู้ที่รับทําผูกต่อซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ผูกสามชั้น ผูกทั้ง การผูกนั้นหัวหนึ่งจะใช้เวลาอย่างเร็วก็หนึ่งวันโดยการผูกอวนจะทํากันทุกวัยทั้งเด็ก, วัยรุ่นและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอม เด็กที่หยุดเรียนระดับประถมที่เป็นสตรี มักจะทํากันเพื่อหารายได้ให้ตัวเอง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

มัสยิดมุวะห์ฮิดีน (บ้านคลองดิน) 

เป็นมัสยิดประจำชุมชนที่ตัั้งอยู่ที่หมู่ที่ 4 ตำบลนาเคียน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นมัสยิดที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น การละหมาดทุกวันศุกร์ของมุสลลิมชาย และเป็นที่เรียนหนังสือเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม

ในชุมชนมุสลิมบ้านคลองดินใช้ภาษามลายูติดต่อสื่อสารกันมาแต่อดีต ส่วนภาษาเขียนเฉพาะคนสูงอายุบางคนเท่านั้น หมู่บ้านแห่งนี้ในปัจจุบันยังใช้ภาษาพูดเป็นภาษามาลายูพื้นเมืองกันอย่างหนาแน่เกือบทั้งหมู่บ้าน (ยกเว้นคนที่นับถือศาสนาพุทธที่พึ่งเข้ามาตั้งหลักแหล่ง)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

รัศมี มะห์มูดีย์. (2536). ผลกระทบของการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อสตรีมุสลิม : ศึกษากรณีชุมชนบ้านคลองดิน นครศรีธรรมราช. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร.

อบต.นาเคียน โทร. 0-7535-5313