บ้านหนองขามเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของชาวลาวเวียงที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของตนเองไว้อย่างแน่นแฟ้น
บ้านหนองขามเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของชาวลาวเวียงที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของตนเองไว้อย่างแน่นแฟ้น
ในศึกเจ้าอนุวงศ์ สมัยกรุงธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการกวาดต้อนชาวลาวเวียงจากประเทศลาวเข้ามาในเขตประเทศไทย ได้แก่ อำเภอโพธาราม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี หลังจากนั้นชาวลาวเวียงได้เดินทางอพยพเคลื่อนย้ายไปบุกเบิกที่ทำมาหากินในหมู่บ้านต่าง ๆ ของอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เช่น บ้านหนองขาม บ้านหนองปลาไหล บ้านสระพัง บ้านดอนสะอาด บ้านรางแขม บ้านหนองโพ บ้านบัวแดง บ้านทุ่งประดู่ ฯลฯ เนื่องจากพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม และอยู่รวมกันเป็นชุมชนคนลาวเวียงมาจนถึงปัจจุบัน โดยยังคงรักษาประเพณีดั้งเดิมของตนเองไว้ บ้านหนองขามเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ มีอายุกว่า 100 ปีแล้ว ดังนั้นคนหนองขามในปัจจุบันจึงมีบรรพบุรุษเป็นคนลาวเวียงจากที่ต่าง ๆ ได้แก่ บ้านหนองกบ บ้านหนองสาระนัง บ้านหนองตะแคง ในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
ชาวลาวเวียงในบ้านหนองขามนับถือพุทธศาสนา โดยมีวัดหนองขามเป็นวัดประจำชุมชน
วัดหนองขาม หรือวัดหนองขามพัฒนา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2526 ประกาศตั้งวัดเมื่อ 27 มกราคม พ.ศ. 2526 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 แต่เดิมนั้นเป็นป่ากอไผ่และไม้นานาชนิดและต่อมา คุณโยมซุยและคุณโยมสายได้มาจับจองเป็นเจ้าของ ต่อมาได้จัดแบ่งให้บุตรและธิดา คือ นายสมจิตร แก่นแก้ว นางทองฮ้อ แก่นแก้ว และนายสูน แก่นแก้ว ปลูกอ้อย แต่ก่อนนั้นชาวบ้านหนองขามใหญ่จะมาทำบุญที่วัดหนองปลาไหลในบ้านทุ่งกระพังโหมเป็นส่วนใหญ่ เมื่อหลวงพ่อปานมรณภาพ ชาวบ้านอยากมีวัดประจำหมู่บ้าน จึงซื้อที่ 5 ไร่ทำที่พักสงฆ์ ต่อมายกฐานะเป็นวัดหนองขามพัฒนา โดยมีพระครูสังฆรักษ์เขียน จนฺทโชโต เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกนับตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2526
พื้นที่ปัจจุบันเป็นที่ดอนผสมที่ราบลุ่ม ดินเป็นดินปนทรายเหมาะสำหรับทำไร่ ทำสวน ทำนา และเลี้ยงสัตว์ มีแหล่งน้ำเป็นคลองธรรมชาติและคลองชลประทาน
ประชากรในชุมชนบ้านหนองขามเป็นชาวลาวเวียงที่อพยพจากประเทศลาวและจังหวัดราชบุรี ตามลำดับ
ลาวเวียงประชาชนในปัจจุบันมีอาชีพทำนา ทำไร่กระชาย และพืชผักชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้เมื่อเว้นว่างจากการทำไร่สวน ชาวลาวเวียงในบ้านหนองขามยังทำงานหัตถกรรมต่าง ๆ เช่น เครื่องจักสาน การทอผ้า ได้แก่ ผ้าขาวม้า ผัาซิ่นมัดหมี่
งานบุญประเพณีของชาวลาวเวียงในบ้านหนองขามที่ยังสืบทอดต่อกันมาถึงทุกวันนี้ เช่น บุญเดือน 3 หรือบุญข้าวหลาม ประเพณีแห่ธงสงกรานต์ ประเพณีเลี้ยงปี ประเพณีทำบุญกลางบ้าน ประเพณีบุญกลางทุ่ง บุญเดือน 10 หรือสารทลาว นอกจากนี้ยังพยายามที่จะรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ที่แสดงถึงความเป็นมาและชาติพันธุ์ของตนเองไว้ให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักและภาคภูมิใจในบรรพบุรุษ และมีอัตลักษณ์ชาติพันธ์ุของตนเอง
ประเพณีแห่ธงสงกรานต์ มาจากการที่ชาวบ้านที่นับถือพุทธศาสนาเห็นว่าหลังจากสงกรานต์เป็นเวลาว่างจากการทำนาและทำบุญ ซึ่งในช่วงนั้นพระภิกษุอาจมีอาหารไม่เพียงพอ ประกอบกับเป็นฤดูแล้งไม่มีฝนตก เหมาะที่จะปรับปรุงพัฒนา รื้อ ถอน ซ่อมแซมกุฏิ ศาสนสถาน โบสถ์ และศาลาในวัดให้มีความสมบูรณ์สวยงาม เพื่อเตรียมไว้ใช้ในการประกอบกิจกรรมทางศาสนา ชาวบ้านจึงชักชวนกันสละทรัพย์สิ่งของนำไปมอบให้กับวัดใกล้บ้านของตน
กิจกรรมในวันประเพณีแห่ธงสงกรานต์เริ่มด้วยการบอกบุญเรี่ยไรไปตามหมู่บ้านด้วยขบวนกลองยาวหรือดนตรีพื้นบ้านล่วงหน้าวันงาน 1-2 วัน วันแห่ธงไม่ได้กำหนดวันแน่นอน ขึ้นอยู่กับความสะดวกของชาวบ้าน อาจจัดในวันเสาร์หรืออาทิตย์ เพราะชาวบ้านในหมู่บ้านหยุดงาน และกลับจากโรงงานมาเยี่ยมพ่อแม่
ธงสงกรานต์ทำด้วยไม้ไผ่ทั้งลำยาวประมาณ 10 เมตร ขึ้นไป ปลายธงมีกิ่งไผ่และที่สำหรับแขวนสิ่งของไว้ สิ่งที่จะนำมาแขวนที่ธง ได้แก่ ผืนธงชาติและสิ่งของเครื่องใช้ที่มีลักษณะเป็นผืนพอจะแขวนได้ เช่น เสื่อ พรม ผ้าม่าน ซึ่งของเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทางวัดจำเป็นต้องมีไว้ใช้ ชาวบ้านจะพับให้มีขนาดพอเหมาะที่จะแขวนกับปลายธงได้เพียง 1 ชิ้นเท่านั้น ตกแต่งให้สวยงามด้วยดอกไม้สดและดอกไม้แห้ง
การแห่ธงชาวบ้านจะแห่ออกจากหมู่บ้าน นำขบวนด้วยเสาธงซึ่งมีคนแบกมาหลายคน ตามด้วยกลองยาวซึ่งเป็นดนตรีพื้นบ้าน และสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่การพัฒนาวัด ที่ขาดเสียไม่ได้คือพุ่มผ้าป่าที่ประกอบด้วยผ้าไตรสำหรับภิกษุนุ่งห่ม บาตร และตาลปัตร โดยเฉพาะธนบัตรที่ใช้ไม้คีบแล้วเสียบไว้กับต้นกล้วยนั้นถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น สิ่งเหล่านี้เรียกว่า "หางธง" วัดแต่ละวัดจะมีขบวนแห่ธงที่แห่มายังวัดหลายธง เช่น รอบ ๆ วัด มี 5 หมู่บ้าน ในวันแห่ธงสงกรานต์จะแห่มาถึง 5 ธง หรือ 5 คณะพร้อม ๆ กัน
ความสนุกสนานที่ชาวบ้านชื่นชอบคือ ขบวนแห่ธง ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะคิดประดิษฐ์สร้างสรรค์แตกต่างกันไป เช่น การแต่งกาย การร่ายรำ การแบกธงที่มีลีลาต่าง ๆ กัน เช่น ให้ชายหนุ่มขึ้นไปที่บนเสาธงแล้วโยนคันเสาธงขึ้นไปให้สูง พร้อมกับคนขี่นั้นให้ตกลงมาแล้วคอยรับ เป็นที่หวาดเสียว แต่ก็ถือว่าแสดงความกล้าและเกิดความสนุกสนาน เมื่อถึงวัดแล้วจะวนรอบโบสถ์ 3 รอบ แล้วปักลงกับพื้นดิน ตกกลางคืนในงานจะมีมหรสพสมโภช รุ่งเช้าจึงทำพิธีถวายธงบนศาลาวัด เลี้ยงภัตตาหารพระ แล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้มีพระคุณ แล้วมีการสรงน้ำพระเป็นเสร็จพิธี
คนในชุมชนส่วนใหญ่ยังคงสื่อสารกันด้วยภาษาลาวเวียง
ที่หมู่บ้านหนองขามมีศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมลาวเวียงบ้านหนองขาม ตั้งอยู่ที่โรงเรียนบ้านหนองขาม ตำบลทุ่งขวาง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งภายในศูนย์ฯ จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ที่คนในชุมชนสมัยก่อนใช้ในชีวิตประจำวัน โดยคนในชุมชนร่วมกันบริจาคข้าวของเครื่องใช้ดังกล่าว
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (ม.ป.ป.). ลาวเวียง. https://province.mots.go.th/
ชาติพันธุ์ลาวเวียง บ้านหนองขาม. (2563, สิงหาคม 6). ประวัติความเป็นมาหมู่บ้านหนองขาม. https://www.facebook.com/photo
พระสังฆาธิการ. (ม.ป.ป.). วัดหนองขามพัฒนา. https://sangkhatikan.com/
องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งขวาง. (ม.ป.ป.). ข้อมูลสภาพทั่วไป. https://toongkwang.go.th/