บ้านไร่พัฒนามีการรวมกลุ่มกันของคน 3 วัย เพื่อร่วมกันจัดการท่องเที่ยว เก็บข้อมูลภูมิปัญญาจากปราชญ์ในชุมชน สร้างเครือข่ายกับหมู่บ้านใกล้เคียง และรักษาอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ญัฮกุร
เดิมชาวญัฮกุรเรียกชื่อว่า "ดงคะม่า" แปลว่า "บ้านไร่" จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านและอำเภอในปัจจุบัน
บ้านไร่พัฒนามีการรวมกลุ่มกันของคน 3 วัย เพื่อร่วมกันจัดการท่องเที่ยว เก็บข้อมูลภูมิปัญญาจากปราชญ์ในชุมชน สร้างเครือข่ายกับหมู่บ้านใกล้เคียง และรักษาอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ญัฮกุร
ประวัติการตั้งถิ่นฐาน
ชาวญัฮกุรหรือชาวบนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มักอาศัยอยู่ตามไหล่เขาหรือเนินเตี้ย ๆ แถบบริเวณด้านในของริมที่ราบสูงโคราช จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดเพชรบูรณ์ อาศัยอยู่มาแล้วอย่างน้อยสามชั่วอายุคน ปัจจุบันอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดที่บ้านน้ำลาด บ้านไร่ และบ้านไร่พัฒนา อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ นอกจากนี้ ยังมีชาวญัฮกุรกระจายตัวอยู่ที่บ้านวังกำแพง อำเภอบ้านเขว้า บ้านท่าโป่งและบ้านห้วยแย้ อำเภอหนองบัวระเหว บ้านสะพานหินและบ้านสะพานยาง อำเภอเทพสถิต บ้านกลาง บ้านพระบึง บ้านวังตะเคียน และบ้านตะขบ อำเภอปักธงชัย บ้านมาบกราดและบ้านตลิ่งชัน อำเภอครบุรี บ้านไทรย้อยพัฒนา อำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา บ้านน้ำเลาและบ้านห้วยไคร้ อำเภอเมือง และบ้านท่าด้วง จังหวัดเพชรบูรณ์
การอพยพย้ายถิ่น
ในอดีตมักมีการย้ายถิ่นที่อยู่ของญัฮกุรในป่าแถบเทือกเขาพังเหย เพื่อหาแหล่งหากินที่เหมาะสม และชาวญัฮกุรมักอพยพหนีโรคระบาดและภัยธรรมชาติในอาณาบริเวณคาบเกี่ยวต่อเนื่อง 3 จังหวัดคือ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดเพชรบูรณ์ ปัจจุบันชาวญัฮกุรตั้งหลักแหล่งที่อยู่อาศัยที่แน่นอน ลดการไปมาหาสู่ เยี่ยมเยียน และการนับเครือญาติในชุมชนต่าง ๆ ซึ่งแตกต่างจากในอดีต
เหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นในชุมชน
มีการสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์จากนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้องทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ สามารถลำดับความเป็นมาได้ ดังนี้
- พ.ศ. 2461 อีริค ไซเดนฟาเดนสำรวจพบชาวญัฮกุรในเขตนครราชสีมา ซึ่งเรียกตัวเองว่า “เนียะกุล” โดย “เนียะ” แปลว่าคน “กุล” แปลว่าภูเขา อีกทั้งอธิบายว่า ญัฮกุรมีวิถีชีวิตเป็นนายพรานเร่ร่อนในเขตป่าดงใกล้กับเชิงเขาพนมดงรัก ซึ่งอยู่ใกล้กับรอยต่อของจังหวัดนครราชสีมาในเขตอำเภอปักธงชัย และจังหวัดปราจีนบุรี คนภายนอกเรียกญัฮกุรว่า “ชาวบน”
- พ.ศ. 2462 อีริค ไซเดนฟาเดนสำรวจพบญัฮกุรในเขตจังหวัดชัยภูมิ ทางราชการเรียกกลุ่มนี้ว่า “ละวา” เมื่อศึกษาทางด้านภาษาแล้วพบว่าเป็น “ญัฮกุร” ที่อพยพมาจากเพชรบูรณ์
- พ.ศ. 2464 พระเพ็ชร์บูรณ์บุรี (ผู้ว่าราชการจังหวัดสมัยนั้น) ได้เรียกชาวญัฮกุรในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ว่า “ละวา” (ไม่มีไม้โท) อย่างไรก็ตาม คนภายนอกทั่วไปนิยมเรียกชาวญัฮกุรว่า “ชาวบน”
- พ.ศ. 2541 อภิญญา บัวสรวงได้จัดทำสารนุกรมญัฮกุร ในหนังสือเล่มนี้ได้ใส่ไม้โทเพื่อกำกับเสียงให้เป็นเสียงสูง นับเป็นหนังสือเล่มแรก ๆ ที่เรียกชื่อ “ญัฮกุ้ร” อย่างเป็นทางการ
- พ.ศ. 2549 มีการส่งเสริมให้ญัฮกุรทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ชาวญัฮกุรมีความภูมิใจในการเรียกชื่อตนเองว่า “ญัฮกุร” ในช่วงเวลาเดียวกัน คำว่า “มอญโบราณ” ได้เริ่มแพร่หลาย โดยสุวิไล เปรมศรีรัตน์ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ “ญัฮกุร" มอญโบราณแห่งเทพสถิต” เผยแพร่สาเหตุที่เรียกว่ามอญโบราณนั้นเป็นเพราะภาษาของญัฮกุรมีความใกล้เคียงกันมากกับภาษามอญโบราณในสมัยทวารวดี ซึ่งก่อนหน้านั้น นักภาษาศาสตร์ชื่อ เจอราร์ด ดิฟโฟลธได้ศึกษาไว้แล้วอย่างละเอียดในหนังสือเรื่อง “The Dvaravati Old Mon Language and Nyah Kur” ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1984
- พ.ศ. 2551 สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดประชุมวิชาการโดยชุมชนมีส่วนร่วม “มหกรรมฟื้นฟูภาษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เมื่อ 28-29 ตุลาคม พ.ศ. 2551 มีการนำเสนอกรณีศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ 12 กลุ่ม โดยญัฮกุรเป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้เข้าร่วมนำเสนอและแลกเปลี่ยนความรู้ด้วย
- พ.ศ. 2552-2555 มีการส่งเสริมการทำวิจัยเพื่อศึกษาแนวทางการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นภาษาญัฮกุรของโรงเรียนวังโพธิ์สว่างศิลป์ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลบ้านไร อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ และกระบวนการรวบรวมองค์ความรู้จากป่าชุมชนโคกคาวเปรียงด้วยภาษาญัฮกุร เพื่อหาแนวทางการอนุรักษ์และสืบทอดสู่ลูกหลานชาวญัฮกุร บ้านวังอ้ายโพธิ์ ตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ
- พ.ศ. 2559 ถึงปัจจุบัน ได้มีการตื่นตัวของชุมชนชาวญัฮกุรในการพัฒนาตนเองในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตตำบลบ้านไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม แหล่งท่องเที่ยวชมดอกกระเจียวช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายนของทุก ๆ ปี
ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์สังคม ประวัติศาสตร์ภัยพิบัติ หรือประวัติศาสตร์ด้านสาธารณสุข
เนื่องจากบ้านไร่พัฒนา หมู่ที่ 11 เป็นหมู่บ้านที่แยกตัวออกมาจากบ้านไร่ หมู่ที่ 1 ในตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ทำให้มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่คล้ายคลึงกัน พบว่าก่อนหน้า พ.ศ. 2491 ญัฮกุรที่บ้านไร่พัฒนาอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านตรงช่องตับเต่า (ไม่มีชื่อหมู่บ้าน) โดยอยู่ใกล้กับป่าหินงาม ลักษณะพื้นที่ของช่องตับเต่าเป็นที่ราบบนเนินเขาและอยู่ใกล้กับลำห้วยที่มีน้ำไหลตลอดปี เหมาะแก่การเพาะปลูกและตั้งบ้านเรือน แต่ญัฮกุรไม่ได้ใช้น้ำจากลำห้วยเพื่อมาเพาะปลูกข้าว เพราะระบบการเพาะปลูกและการทำนาของญัฮกุรเป็นการเกษตรไร่หมุนเวียน
เนื่องจากเกิดโรคฝีดาษระบาดราว พ.ศศ. 2480 คนในหมู่บ้านก็เริ่มล้มป่วยด้วยโรคฝีดาษ ขึ้นตุ่มพุพองเต็มตัว ในหมู่บ้านมีคนเสียชีวิตทุกวัน ทำให้ต้องย้ายหมู่บ้านหนีมาอยู่ที่บ้านไร่ (ก่อนจะแยกออกมาเป็นบ้านไร่พัฒนา) เมื่อแรกตั้งหมู่บ้านไร่นั้น มีครัวเรือนอยู่ราว 10-20 กว่าหลังคาเรือน และมีบางคนที่ไปตั้งบ้านอยู่ในพื้นที่รอบนอกของหมู่บ้าน ในสมัยนั้นชาวบ้านทำไร่ข้าว ปลูกเดือย และข้าวฟ่างหางกระรอก ชาวบ้านจากบ้านต่าง ๆ มารวมตัวกันที่บ้านไร่มากขึ้นเพราะพื้นที่บ้านไร่มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยบริเวณหมู่บ้านอยู่ใกล้กับห้วยซับหวาย บ่อน้ำพระและน้ำซับ และยังตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคม คือ ทางเกวียนและช่องเขาที่สามารถติดต่อไปยังเขตลพบุรีได้ง่ายอีกด้วย
จนเมื่อราว พ.ศ. 2510 มีชาวไทยอีสานและชาวไทยโคราชอพยพเข้ามามากขึ้นอีก ญัฮกุรบางคนขายที่ดินให้คนไทยอีสานและไทยโคราชในราคาถูก ชาวอีสานที่เข้ามาอยู่แรก ๆ นั้น จะอยู่ในพื้นที่รอบนอกของหมู่บ้านญัฮกุร แต่ไม่นาน เมื่อมีการแต่งงานกับญัฮกุรก็จะเริ่มขยับขยาย ในช่วง พ.ศ. 2510 นั้นเองได้มีการตั้งศาลเจ้าพ่อขุนหมื่นขุนพลเป็นศูนย์รวมจิตใจขึ้น ซึ่งคนไทยอีสาน คนไทยโคราช และญัฮกุรทั้งหมดให้การนับถือ นอกจากนี้ การเข้ามาของคนไทยทำให้ระบบเศรษฐกิจของญัฮกุรเปลี่ยนไปเป็นการปลูกพืชไร่พืชสวน และเข้าสู่เศรษฐกิจแบบเงินตรา
ชุมชนบ้านไร่พัฒนาตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตำบลบ้านไร่ มีอาณาเขตดังนี้
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านหนองหิน
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านไร่ หมู่ที่ 1
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านคลองสระแก้ว ตำบลห้วยยายจิ๋ว
- ทิศตะวันตก ติดกับ อุทยานป่าซับลังกา
มีสถานที่สำคัญตั้งอยู่ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไร่ ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอเทพสถิตไปทางทิศใต้ของอำเภอประมาณ 24 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดชัยภูมิประมาณ 100 กิโลเมตร
สภาพอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศโดยทั่วไปของบ้านไร่พัฒนา อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จากลักษณะของแนวเทือกเขาพังเหยที่กั้นอยู่ในแนวเหนือ–ใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดพาเอาความชุ่มชื้นจากทะเลมา ทำให้มีฝนตกในพื้นที่เป็นปริมาณมาก จากข้อมูลของสถานีตรวจอากาศอุทยานแห่งชาติป่าหินงามในระหว่าง พ.ศ. 2543–2546 พบว่ามีปริมาณน้ำฝนตลอดปีเฉลี่ย 1,782.6 มิลลิเมตร มีจำนวนวันที่ฝนตก 109 วัน/ปี โดยมีฝนตกชุกมากที่สุดในเดือนสิงหาคม วัดได้ 338.3 มิลลิเมตร ส่วนอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในเดือนเมษายน วัดได้ 33 องศาเซลเซียส และเฉลี่ยต่ำสุดในเดือนธันวาคม วัดได้ 18.3 องศาเซลเซียส โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี วัดได้ 24.8 องศาเซลเซียส สำหรับฤดูกาลเมื่อพิจารณาตามลักษณะอุณหภูมิ ประมาณน้ำฝน และความชื้นสัมพัทธ์แล้ว พบว่าเย็นสบายตลอดปี
ประชากร
จากรายงานโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2561 ที่ได้ทำการสำรวจจำนวนประชากรและการตั้งถิ่นฐานชาวญัฮกุรตั้งแต่ พ.ศ. 2559 ถึง 2560 พบว่า มีประชากรชาวญัฮกุรอยู่ในบ้านไร่พัฒนาจำนวน 115 คน จากประชากรทั้งหมดของหมู่บ้านจำนวน 1,222 คน
ระบบเครือญาติ
หากว่ากันตามประเพณี ชาวญัฮกุรจะนับถือผีฝ่ายหญิง ทำให้เมื่อแต่งงานแล้ว ฝ่ายชายจะต้องย้ายเข้าไปอยู่บ้านของพ่อแม่ฝ่ายหญิง นอกเหนือไปจากการนับผีฝ่ายหญิงแล้วนั้น ระบบเครือญาติของชาวญัฮกุรได้ให้น้ำหนักความสำคัญกับทั้งฝ่ายชายและหญิงอย่างเสมอ ๆ กัน ดังที่สะท้อนผ่านคำเรียกญาติ เช่น “โองอึนชีร พ่ะอึนชีร” หรือที่แปลว่า “แม่ยาย พ่อตา” เป็นต้น
ชาวญัฮกุรที่บ้านไร่พัฒนาจะมีนามสกุลที่คล้าย ๆ กัน อย่างนามสกุลที่จะมีคำว่า “จัตุรัส” เช่น ยิ้มจัตุรัส เย็นจัตุรัส หรือยี่จัตุรัส และอีกมากมาย
ญัฮกุร, ไทโคราช, ลาวเวียงอาชีพดั้งเดิม
สมัยก่อนด้วยวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับป่า ทำให้ญัฮกุรเป็นนายพรานผู้ชำนาญการล่าสัตว์อย่างมาก การล่าสัตว์ถือเป็นหน้าที่ของผู้ชายญัฮกุร มักล่ากันในช่วงหน้าแล้งที่ว่างเว้นจากการทำงาน สาเหตุที่ล่าสัตว์กันในช่วงหน้าแล้ง เพราะสามารถตามรอยสัตว์ได้ง่าย และยุงไม่ค่อยชุม นอนในป่าได้สบาย
ญัฮกุรไม่นิยมล่าสัตว์ในหน้าฝน เพราะเดินป่าลำบาก ยุงชุม และยังมีตะขาบ งู สัตว์มีพิษต่าง ๆ อีกด้วย ญัฮกุรมักไปล่าสัตว์และหาปลาในเขตป่าซับลังกา อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี เพราะเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์มีสัตว์ชุกชุม สัตว์มักไปกินลูกไทรและผลไม้ เหมาะแก่การซุ่มยิง โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งจะสามารถล่าสัตว์ได้ง่าย เพราะสัตว์จะมีแหล่งน้ำเหลือเพียงไม่กี่จุดทำให้ดักได้ง่ายขึ้น เวลาล่าสัตว์มาได้ นายพรานจะชำแหละเนื้อและชุมนุมกันบริเวณผาสุดแผ่นดินที่เขตป่าหินงาม ก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน เครื่องมือล่าสัตว์แบบดั้งเดิมที่ญัฮกุรใช้คือหน้าไม้ ปัจจุบันยังพอมีเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ชาวบ้านเล่าว่าเครื่องมือในการล่าสัตว์เปลี่ยนมาใช้ “ปืนเพลิง” เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ทำให้สามารถล่าสัตว์ใหญ่ได้ง่ายขึ้น
ในช่วงเดือนเมษายน ชาวบ้านมักจะลงไปที่ลำสนธิ เพื่อหาปลา แย้ และสะเดามาทาน เนื่องจากทางบ้านไร่พัฒนาไม่มีสิ่งเหล่านี้ แต่บริเวณลำสนธิเป็นป่าดงดิบ จึงอุดมสมบูรณ์มากกว่า ชาวบ้านจะพากันไปในตอนเช้าและกลับมาในตอนเย็น พร้อมทั้งมีการขุดหัวเผือกมันและกล้วยด้วย หลังจากช่วงเดือนเมษายน จะเป็นช่วงฤดูการทำไร่ (ข้าว)
ปัจจุบันชาวบ้านแทบไม่ได้ล่าสัตว์หรือไม่มีการล่าสัตว์กันอีก เพราะสัตว์ป่ามีจำนวนลดลง เนื่องจากเมื่อ 40-50 ปีที่แล้วมีีการทำสัมปทานป่าไม้ การบุกเบิกพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และมีการประกาศพื้นที่ป่าสงวน ทำให้ไม่สามารถล่าสัตว์ได้เหมือนแต่ก่อน ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้ชาวบ้านต้องหันไปซื้อเนื้อสัตว์ เช่น หมูและไก่มากินแทน โดยชาวบ้านมักซื้อเนื้อสัตว์จากร้านค้าในหมู่บ้าน นอกจากนี้ ชาวบ้านบางคนที่เดินทางเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ เมื่อได้รับค่านิยมจากในเมืองมา ทำให้เกิดความรู้สึกไม่อยากกินเนื้อสัตว์บางชนิด เช่น แย้
การเพาะปลูกแบบดั้งเดิม
เนื่องจากบริเวณที่ตั้งถิ่นฐานเป็นพื้นที่สูงทำให้การปลูกข้าวเป็นการปลูกข้าวไร่ ญัฮกุรปลูกข้าวไร่ด้วยวิธีการใช้ไม้แหลมสักลงดินเป็นหลุม แล้วหยอดเมล็ดข้าวลงไป และรอให้น้ำฝนตกลงมา ปลูกทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า สมัยก่อนครอบครัวหนึ่งจะปลูกประมาณ 3-5 ไร่ หรือบางครอบครัวจะปลูกข้าวมากกว่านี้ได้ถ้าขยัน ไร่หนึ่งได้ข้าวประมาณ 2 เกวียน ถ้าครอบครัวหนึ่งมีสมาชิกประมาณ 4-7 คน ข้าวจะเกือบพอกินตลอดทั้งปี ส่วนในแง่ของการปลูกข้าวนั้น หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ถ้าไม่มีการย้ายที่ ชาวบ้านจะเตรียมแปลงไร่ สับฟางข้าว จุดไฟ หอบกองฟางเป็นจุด ๆ เพื่อเตรียมไร่ไว้สำหรับปลูกข้าว แต่ถ้าต้องีย้ายที่การเพาะปลูก จะต้องทำแปลงไร่ใหม่
การเพาะปลูกสมัยใหม่
ผลจากนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจของรัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่สืบเนื่องมาจากในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้ภาคอีสานมีการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ พื้นที่เพาะปลูก และการเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกรจากการปลูกพืชหลายชนิดในไร่เดียวกันไปสู่การเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตปริมาณมากออกสู่ตลาด
เมื่อชาวไทยอีสานและชาวไทยโคราชอพยพเข้ามาในเขตของหมู่บ้านญัฮกุรเพื่อแสวงหาที่ทำกินและทำการเพาะปลูก ในเวลานั้นญัฮกุรยังไม่รู้จักการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว พืชอาหารหลัก ๆ ที่ปลูกกันจึงมีข้าวไร่และเดือย พืชอื่นเช่นอ้อยก็ปลูกแค่พอกินเท่านั้น แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้้ญัฮกุรเริ่มอยากมีเงินเหมือนกับชาวไทยอีสาน ญัฮกุรจึงเริ่มปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น การปลูกแบบไร่ผสมที่เคยทำกันตั้งแต่ดั้งเดิมก็ค่อย ๆ หายไป
ต่อมาตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2510 ชาวบ้านเริ่มบุกเบิกที่ดินกันมากขึ้นเพื่อเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าวโพด อ้อย พริก มะเขือ ปอ ยาสูบ และมันสำปะหลัง สำหรับมันสำปะหลังเริ่มปลูกกันอย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ. 2518 และเพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2530-32 เพราะเป็นช่วงที่มันสำปะหลังราคาดีมาก ความจริงแล้วแรงผลักดันส่วนหนึ่งคือความต้องการเงินมากขึ้นของชาวญัฮกุรมีความต้องการเงินมากขึ้น เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เช่น การส่งลูกเรียนหนังสือ ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือรถยนต์เพื่อขนพืชไร่ และยังมีแรงกระตุ้นจากการตั้งโรงแป้งมันสำปะหลังขึ้นที่จังหวัดชัยภูมิ ใน พ.ศ. 2541 ทำให้สามารถป้อนผลผลิตเข้าโรงงานได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้มีการขยายพื้นที่การเพาะปลูกมากขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจผ่านการเข้ามาของระบบเศรษฐกิจจากภายนอก ทำให้เกิดระบบการเกษตรเชิงเดี่ยว พืชเศรษฐกิจที่นิยมปลูก ได้แก่ ไร่มันและอ้อย และพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มาจากคนนอกชุมชน ได้แก่ สวนยาง สะตอ และทุเรียน และเนื่องจากบางพื้นที่ที่อยู่สูงมีอากาศหนาวเย็น จึงสามารถปลูกพืชเมืองหนาวได้บางชนิด เช่น อาโวคาโดและเสาวรส แต่เนื่องจากต้องลงทุนค่าแรงเครื่องจักร ส่วนใหญ่ชาวญัฮกุรบ้างก็เป็นหนี้สิน ต้องขายที่ดิน และเป็นเพียงลูกจ้างแรงงานทำเกษตร รับจ้างรายวัน หรือต้องทำงานต่างถิ่นจึงทำให้ครอบครัวไม่ค่อยมีเวลาอยู่ด้วยกัน ซึ่งนำมาสู่การขาดการสืบต่อทางภาษาและวัฒนธรรม
ปฏิทินชุมชนและชีวิตประจำวันในอดีต
เดือน 4 (มีนาคม) ญัฮกุรจะถางป่าดงดิบใหม่เพื่อเตรียมไว้ทำไร่ โดยมีการจองป่าด้วยการทำไม้เป็นรูปกากบาทไว้ที่ต้นไม้ ชาวญัฮกุรเชื่อว่าถ้านอนหลับแล้วฝันดี จึงจะเริ่มถางไร่ เวลาถางจะถางป่าเป็นรูปวงกลม ไม่ทำแปลงเป็นสี่เหลี่ยม แต่ละคนจะทำห่าง ๆ กัน จากนั้นจะย้ายไร่ประมาณ 3 ปีครั้ง ต้นไม้จะขึ้นและป่าจะกลับมาอีกครั้ง และจะกลายเป็นป่าดงดิบอีกเช่นเดิม นอกจากนี้ แนวปฏิบัติยังเชื่อว่าต้องรอให้ต้นไม้ใหญ่ขึ้นก่อนจึงจะเริ่มถางใหม่ เพราะสัตว์ป่าจะได้ไม่สูญหายไป
เดือน 5 (เมษายน) เป็นช่วงการเผาป่า คนเผาป่าต้องเป็นคนเดือนแข็งปีแข็ง หลักการโค่นต้นไม้คือให้ไม้ล้อมเข้ามาหาตรงกลางแล้วทำให้ไฟไหม้เฉพาะตรงกลาง จะมีการกล่าวบอกให้สัตว์ มด แมลง และงูให้ออกจากไร่ คนจุดไฟจะต้องบอกกล่าว ถ้าไร่ติดกันจะเผาพร้อมกัน ถ้าเผาคนเดียวอาจทำให้ไฟลามได้
เดือน 6 (พฤษภาคม) เป็นช่วงเริ่มต้นเพาะปลูกข้าว จะใช้ไม้สักลงดินแล้วหยอดเมล็ดข้าว ชาวบ้านจะขอแรงญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้านและเริ่มไปนอนไร่กัน ช่วงนี้เป็นช่วงหาอึ่งและเก็บผลไม้ป่าเพราะฝนเริ่มตก รวมทั้งมีผลของต้นลำดวนที่หนุ่มสาวนิยมไปเด็ดกันด้วย
เดือน 7 (มิถุนายน) เป็นช่วงดายหญ้าข้าวโดยใช้เสียมสับออกและเก็บออกไปเพื่อไม่ให้เมล็ดงอกได้อีก ชาวบ้านจะทิ้งสิ่งเหล่านี้ไว้ริมไร่ ส่วนริมไร่จะทำการปลูกพริก ถั่ว ฟักทอง มะเขือ แตงไทย แตงโม แตงกวา ข้าวฟ่าง และมีพืชอื่น ๆ ที่ปลูกแซมไปกับข้าว เช่น ใบแมงลัก โหระพา ข่า ตะไคร้ ผักชีโบราณ และแตงโม ซึ่งเมื่อเข้าปลายเดือน 7 ก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวได้แล้วเนื่องจากข้าวเริ่มออกเมล็ดและรวงหลังสุด
เดือน 8-9 (กรกฎาคม-สิงหาคม) ชาวบ้านจะไปหาเห็ดและดูแลต้นข้าว
เดือน 10 (กันยายน) ชาวบ้านเริ่มกินข้าวโพดไร่ รวมทั้งเผือกและมันเทศก็จะเริ่มกินได้
เดือน 11 (ตุลาคม) ชาวบ้านจะเริ่มประสบปัญหาข้าวไม่พอกิน ทำให้้ต้องเริ่มขุดกลอย
เดือน 12 (พฤศจิกายน) ชาวบ้านเริ่มเก็บเกี่ยว รูดข้าว (เฉพาะข้าวเหนียว) โดยการขอแรงจากญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้านมาช่วยกัน
ถ้าพิจารณาจากรอบวัฏจักรการเพาะปลูกแล้ว จะเห็นได้ว่าโดยปกติข้าวมักปลูกไม่พอกิน โดยเฉพาะในช่วงปลายหน้าฝนประมาณเดือนกันยายน ทำให้ชาวบ้านไร่พัฒนาต้องไปขุดหากลอยมากินผสมกับข้าว และไปเอาข้าวที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ ซึ่งใช้เวลาในการเดินเท้าประมาณ 1 วัน ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร บางครั้งชาวบ้านจะไปเอาข้าวที่อำเภอศรีเทพแต่จะมีข้าวน้อยมาก เพราะพื้นที่เพาะปลูกไม่ได้อยู่ห่างกันมากนัก นอกจากนี้ อีกสาเหตุที่ทำให้ข้าวไม่ค่อยพอกินเพราะในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวมักมีสัตว์ โดยเฉพาะลิง มาขโมยข้าวไปกินอยู่เสมอ เนื่องจากในสมัยก่อน ช่วงเวลาในการทำไร่ข้าวกินเวลาเกือบจะตลอดทั้งปี ในช่วงหน้าแล้งจึงเป็นช่วงเวลาของกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อเตรียมไว้สำหรับฤดูกาลเพาะปลูก เช่น การล่าสัตว์ การหีบน้ำอ้อย งานหัตถกรรมเครื่องจักสาน เป็นต้น
ปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นที่รู้จักและเคารพนับถือของชุมชนบ้านไร่พัฒนา คือ "นายยุ้ง สุขสำราญ" ผู้ซึ่งเป็นปราชญ์ด้านภาษา ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ภูมิปัญญาด้านอาหาร การละเล่น การปักเย็บเสื้อพ็อก และการตีโทน
ทุนกายภาพ
พื้นที่บ้านไร่พัฒนาประกอบด้วยป่าเขา แหล่งน้ำต้นน้ำลำคันฉู และต้นน้ำชี มีวิวทิวทัศน์สวยงาม อยู่ติดพื้นที่อุทยานแหล่งชาติป่าหินงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของจังหวัดชัยภูมิ ในช่วงฤดูฝนจะมีดอกกระเจียวออกดอกงามเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวยังคงไม่มีความเชื่อมโยงกับวิิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ญัฮกุรมากนัก ทำให้ชาวบ้านไม่เห็นถึงความเชื่อมโยงกับพื้นที่
ทุนมนุษย์
ปัจจุบันชุมชนบ้านไร่พัฒนาได้รวบรวมส่งเสริมปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำ บุคคลสำคัญของชุมชน และเยาวชนในชุมชนด้วยโครงการต่าง ๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลางทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรม
ทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น
บ้านไร่พัฒนามีการส่งเสริมรวบรวมข้อมูลมายาวนานกว่า 20 ปี ทำให้มีเอกสารข้อมูลเชิงลึก แม้จะตกหล่นและสูญหายไปบ้างในบางพื้นที่ ชาวบ้านบ้านไร่พัฒนาจึงเล็งเห็นว่าควรรวบรวมสำรวจสืบสาน และหาตัวแทนปราชญ์ชุมชนต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมต่อไป อย่างไรก็ตาม ยังคงขาดเงินทุนและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดำเนินการได้ช้าและวัฒนธรรมเสี่ยงสูญหายหรือบิดเบือนไปตามกาลเวลา หากเสริมด้วยทุนทางการศึกษาในสถานศึกษาชุมชน อาจทำให้มีโอกาสต่อยอดสืบสานทุนวัฒนธรรมให้ดำรงต่อไปได้
ทุนเศรษฐกิจ
การเงินส่วนใหญ่คนในชุมชนจะมีปัญหาเป็นหนี้สินจากต้นทุนทางอาชีพการเกษตร และพบว่ามีแหล่งกู้ยืมเงินนอกระบบ ซึ่งการกู้เงินเป็นกลุ่มนั้นทำให้ยากต่อการปลดหนี้ และแม้ว่ากองทุนชุมชนจะช่วยเหลือกันแต่ก็มีปัญญาเรื่องเงินทุนหมุนเวียน
“ภาษาญัฮกุร” ได้รับความสนใจตั้งแต่นักภาษาศาสตร์ต่างประเทศอย่าง Diffloth ผู้ที่เข้ามาศึกษาและพูดเป็นคนแรกว่าภาษาญัฮกุรมีความสัมพันธ์กับภาษามอญโบราณที่ใช้กันในรัฐทวารวดี ซึ่งก็เป็นข้อเสนอทางวิชาการที่ทำให้ “ญัฮกุร” เป็นที่รู้จักในแวดวงภาษาศาสตร์และมีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ (โดยเฉพาะงานศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับรัฐทวารวดี) จนในช่วง พ.ศ. 2540 ชาวญัฮกุรได้รับความสนใจอีกครั้งจากนักภาษาศาสตร์ชาวไทย ด้วยเหตุผลที่ญัฮกุรเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังเผชิญกับ “วิกฤติทางภาษา” ที่เสี่ยงต่อการสูญหายของภาษาและรากเหง้าทางวัฒนธรรม
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้มีโครงการเข้ามาศึกษาและเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรมเอาไว้ภายใต้ฐานคิด “มรดกของมนุษยชาติ” ซึ่งก็ได้ผลิตงานศึกษาเกี่ยวกับญัฮกุรออกมาหลายชิ้นด้วยกัน เช่น สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ญัฮกุ้ร เป็นงานที่อธิบายว่า ภาษาญัฮกุรเป็นภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก ในสาขามอญ-เขมร สาขาย่อยโมนิก และมีความใกล้เคียงกับภาษามอญที่อยู่ในสาขาย่อยเดียวกัน
อีกทั้ง ภาษาญัฮกุรมีลักษณะระบบเสียง ลักษณะทางไวยกรณ์ รวมถึงตัวเลขและจำนวนนับ แต่เนื่องจากภาษาญัฮกุรไม่มีภาษาเขียน จึงใช้อักษรแทนเสียงด้วยตัวอักษรภาษาไทย ซึ่งอธิบายได้ตามตารางด้านล่างนี้
muəj |
มวย |
หนึ่ง |
baːr |
บาร |
สอง |
piː? |
ปิ |
สาม |
pan |
ปัน |
สี่ |
chuːn |
ชูน |
ห้า |
traw |
เตรา |
หก |
mpɔh |
อึมป็อฮ |
เจ็ด |
ncaːm |
อึนจาม |
แปด |
nciːt |
อึนจีด |
เก้า |
cas |
จัซ |
สิบ |
cas muəj |
จัซ มวย |
สิบเอ็ด |
baːr chuəj |
บาร ช้วย |
ยี่สิบ |
muəj choːk |
มวย โชก |
หนึ่งร้อย |
ca̤s cho̤ːk |
จัซ โชก |
หนึ่งพัน |
ตัวเลขและจำนวนนับในภาษาญัฮกุร
การเกษตร
ส่วนใหญ่ประชากรจะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ทำไร่มันสำปะหลัง สวนผลไม้ เลี้ยงสัตว์ และทำไร่ทำนาเพื่อจำหน่ายและเพื่อการบริโภคเอง ทั้งนี้ การประกอบอาชีพเกษตรกรรมจะพึ่งพาจากทรัพยากรธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ สำหรับอาชีพนอกภาคเกษตรกรรม ได้แก่ การรับจ้างและการค้าขาย ซึ่งการรับจ้างเป็นการรับจ้างแรงงานภายในตำบลและตำบลใกล้เคียง สำหรับการค้าขายเป็นไปตามลักษณะการขายของเบ็ดเตล็ดภายในหมู่บ้าน หรือรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรภายในตำบลและตำบลใกล้เคียงมาจำหน่าย
การบริการและการท่องเที่ยว
มีชาวญัฮกุรบางคนที่รับจ้างเป็นแรงงานดูแลสวนและที่พัก เนื่องจากภายในตำบลบ้านไร่มีรีสอร์ทจำนวน 53 แห่ง ตลอดจนตำบลบ้านไร่มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีธรรมชาติสวยงามและมีชื่อเสียงระดับประเทศ เช่น อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ทุ่งดอกกระเจียว ผาสุดแผ่นดิน และป่าหินงาม ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาจำนวนมาก
มีการรวมกลุ่มกับเครือข่ายชาติพันธุ์และเครือข่ายสิทธิเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนด้านสิทธิต่าง ๆ ของชาวญัฮกุร โดยจัดตั้งเป็นเครือข่ายญัฮกุร เลขที่ 497 หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ นอกจากนี้ ชาวญัฮกุรที่บ้านไร่พัฒนายังทำงานร่วมกับเครือข่ายอื่น ๆ เช่น เครือข่ายสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เครือข่าย TKN (เครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง) และเข้าร่วมในกิจกรรมของสภาวัฒนธรรมอำเภอเทพสถิตและตำบลบ้านไร่
การคมนาคมการขนส่ง
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไร่ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2354 ระยะทางจากอำเภอเทพสถิตประมาณ 17 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนลาดยางระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไร่
การไฟฟ้า
ตำบลบ้านไร่ เป็นตำบลที่มีระบบการไฟฟ้าขยายทั่วถึงทั้งตำบล ประชากรมีไฟฟ้าใช้ครอบคลุมร้อยละ 99 สำหรับครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้มีเพียงแค่ร้อยละ 1 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนที่ออกไปสร้างบ้านอยู่ในพื้นที่ทำการเกษตร เช่น สวนยางพาราและสวนผลไม้ ทำให้ขาดไฟฟ้าใช้ในครัวเรือนและไฟฟ้าภาคการเกษตร
การประปา
ประชาชนในตำบลบ้านไร่ได้รับการบริการด้านการประปาจากกิจการประปาของหมู่บ้านครบทั้ง 16 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นประปาระบบผิวดิน โดยแหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตประปาส่วนมากใช้น้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำ มาผลิตน้ำประปาให้บริการประชาชน แต่เนื่องจากในฤดูฝน น้ำในอ่างเก็บน้ำจะขุ่นมาก ทำให้เกินศักยภาพของระบบกรองของประปาหมู่บ้าน น้ำประปาจึงไม่มีคุณภาพ บางหมู่บ้านจึงหันมาใช้น้ำบาดาลในการผลิตประปาแทน
แหล่งน้ำ (เพียงพอต่อการบริโภคและการเกษตร)
- จากธรรมชาติ
- น้ำตก จำนวน 3 แห่ง
- ลำน้ำ ลำห้วย จำนวน 8 สาย
- แหล่งน้ำที่สร้างขึ้น
- ฝาย จำนวน 14 แห่ง
- บ่อโยก จำนวน 20 แห่ง
- สระน้ำ จำนวน 16 แห่ง
เดิมชาวญัฮกุรหาอาหารจากธรรมชาติตามป่าและห้วยหนองคลองบึง แต่หลังจากการเข้ามาของชุมชนเมือง อาหารสำเร็จรูปและพืชต่างถิ่นที่นำเข้าจากตลาดพบการปนเปื้อนของสารเคมี ทำให้สุขภาพของคนในชุมชนเป็นโรคความดัน โรคอ้วน และโรคจากการทานอาหารไขมันสูง เกิดโรคประจำตัวที่เหมือนกับคนในเมืองจากที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การปนเปื้อนของสารเคมีจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่ต้นน้ำ ทำให้ห้วยหนองคลองบึงที่เคยสะอาดปลอดภัยสำหรับใช้อุปโภคบริโภคในอดีต จึงใช้ไม่ได้อีกต่อไป จนชาวบ้านต้องซื้อน้ำสะอาดบริโภค และเป็นปัญหาด้านสุขภาพในชุมชน
ปัจจุบันญัฮกุรทุกหมู่บ้านสามารถเข้าถึงการศึกษาได้เนื่องจากมีโรงเรียนอยู่ใกล้ ซึ่งเปิดสอนในระดับประถมศึกษาในทุกชุมชน หากชาวบ้านบ้านไร่พัฒนาต้องการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา ต้องเดินทางเข้าชุมชนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังขาดการส่งเสริมการศึกษาหลักสูตรท้องถิ่นญัฮกุร
ปัจจุบันมีความพยายามที่จะฟื้นฟู โดยเฉพาะทางด้านภาษา ทั้งนี้ เมื่อราว พ.ศ. 2548 สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าไปส่งเสริมเรื่องการศึกษาภาษาญัฮกุรโดยชุมชน และพัฒนาระบบตัวเขียนในภาษาญัฮกุร ซึ่งทำมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้สถานการณ์ด้านอัตลักษณ์และภูมิปัญญาต่าง ๆ ได้รับการอนุรักษ์และเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ความถดถอยของภาษาและวัฒนธรรมญัฮกุร โดยเฉพาะในชุมชนบ้านไร่พัฒนา อาจอธิบายในบริบทเชิงประวัติศาสตร์ได้ว่า เกิดจากแต่เดิมที่ชุมชนบ้านไร่พัฒนามีเพียงชาวญัฮกุรที่มาบุกเบิกพื้นที่เพื่ออยู่อาศัยและทำการเกษตร แต่เมื่อราว พ.ศ. 2520 ทิศทางเศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนการลงทุนจากภาคเกษตรกรรมมาสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว ทำให้เริ่มมีผู้คนจากภายนอกเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนมากขึ้น เช่น ชาวไทยอีสานที่เข้ามาบุกเบิกหรือจับจองพื้นที่บ้านไร่พัฒนา พร้อมกับเข้ามาปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น หัวมัน ข้าวโพด และมันสำปะหลัง แน่นอนว่า การเข้ามาของชาวไทยอีสานนำมาซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมกับชาวญัฮกุร เห็นได้จากการแต่งงานกับชาวญัฮกุร หรือการที่ชาวญัฮกุรพูดภาษาอีสาน เป็นต้น
ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในชุมชน ชาวญัฮกุรก็ได้บุกเบิกพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อตอบสนองการค้าแบบตลาดเช่นเดียวกับชาวไทยอีสาน รวมถึงบางคนก็เริ่มออกไปทำงานนอกชุมชนมากขึ้น เช่น ไปตัดอ้อยที่กาญจนบุรี ไปทำงานที่กรุงเทพฯ หรือไปเป็นแรงงานที่ต่างประเทศ ผลที่ตามมาคือภาษาญัฮกุรไม่สามารถใช้สื่อสารกับคนภายนอกได้ ทำให้ภาษาญัฮกุรถูกแทนที่ด้วยภาษามาตรฐานของรัฐไทยหรือผ่านการที่ชาวญัฮกุรเรียนรู้ที่จะพูดภาษาไทย ในอีกแง่หนึ่ง โรงเรียนบ้านไร่พัฒนา ที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2511 ก็มีบทบาทอย่างมากต่อการส่งเสริมให้ชาวญัฮกุรพูดภาษาไทย ผ่านการเรียนการสอนที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก จึงไม่แปลกนักที่ชาวญัฮกุรจะละทิ้งภาษาของตัวเองเพื่อแสวงหาโอกาสที่มากับภาษาอื่น ๆ
ท้ังนี้ การสืบต่อวัฒนธรรมของกลุ่มเยาวชนเพื่อรื้อฟื้นและธำรงอัตลักษณ์ญัฮกุรในชุมชนบ้านไร่พัฒนานั้น ยังคงมีให้เห็นอยู่บ้าง เริ่มจากการเข้าร่วมกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนโดยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดลในช่วง พ.ศ. 2540 รวมถึงการรวมตัวกับกลุ่มเพื่อนที่มีเชื้อสายญัฮกุรเพื่อจัดตั้งกลุ่มเยาวชนในโรงเรียนและสืบสานวัฒนธรรมประเพณีญัฮกุรร่วมกัน เช่น การเข้าร่วมงานประเพณีประจำปี การมีส่วนร่วมในงานบุญแห่หอดอกผึ้งที่ทำเป็นประจำทุกช่วงสงกรานต์ หรือการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับกลุ่มญัฮกุรที่เป็นผู้ใหญ่ในการฟ้อนรำตามพิธีกรรมสำคัญ
ในปัจจุบัน กลุ่มเยาวชนได้ขยับขยายพื้นที่กิจกรรมออกมานอกรั้วโรงเรียนมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการสนับสนุนของเครือข่ายปราชญ์ชาวญัฮกุรและเครือข่ายอาสาจากภายนอก ที่ได้เข้ามาสนับสนุนแรงกายเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเยาวชน และทำให้กลุ่มเยาวชนมีกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ที่สร้างสรรค์มากขึ้น เช่น กิจกรรมปลูกผักสมุนไพรตามภูมิปัญญาญัฮกุร กิจกรรมทำเสื้อผ้าชาติพันธุ์และกระเป๋า รวมถึงกลุ่มเยาวชนยังได้ผลิตสื่อสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรมที่ตนเองมี เช่น การบันทึกภาพและเสียงของคนในชุมชนที่กำลังสื่อสารด้วยภาษาญัฮกุรอยู่ สร้างเพจเฟซบุ๊กเพื่อสื่อสารเรื่องราวชุมชน ในชื่อ “ญัฮกุรชัยภูม” และ “ภูมิวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองญัฮกุร”
เนื่องด้วยวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับป่าของญัฮกุรในสมัยก่อน ทำให้ญัฮกุรเป็นนายพรานผู้ชำนาญการล่าสัตว์อย่างมาก การล่าสัตว์ถือเป็นหน้าที่ของผู้ชายญัฮกุร และมักล่ากันในช่วงหน้าแล้งที่ว่างเว้นจากการทำงาน สาเหตุที่ล่าสัตว์กันในช่วงหน้าแล้ง เพราะสามารถตามรอยสัตว์ได้ง่ายและพักผ่อนได้อย่างสบาย อย่างไรก็ตาม ญัฮกุรไม่นิยมล่าสัตว์ในช่วงหน้าฝนเนื่องจากมีสัตว์อันตราย พื้นที่ที่ญัฮกุรนิยมไปล่าสัตว์และหาปลาคือเขตป่าซับลังกา อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี เพราะเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์มีสัตว์ชุกชุม เหมาะแก่การซุ่มยิงและทำกับดัก เมื่อล่าสัตว์มาได้ นายพรานจะชำแหละเนื้อและชุมนุมกันบริเวณผาสุดแผ่นดินที่เขตป่าหินงามก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน
อย่างไรก็ตาม จำนวนสัตว์ป่าลดลงอย่างมากในปัจจุบันเนื่องจากการให้สัมปทานป่าไม้เมื่อช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการบุกเบิกพื้นที่ทำการของชาวบ้าน และการประกาศพื้นที่ป่าสงวนด้วย ด้วยเหตุนี้ ทำให้ชาวบ้านต้องพึ่งพาอาหารจากภายนอกมากขึ้น ซึ่งส่วนมากมักไปซื้อมาจากตลาดใกล้หมู่บ้าน สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อการสูญหายของภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับป่า การใช้ประโยชน์จากป่า และหาสมุนไพรในป่า และการสร้างบ้านจากวัสดุธรรมชาติ
ป่าหินงาม เช่น แหล่งน้ำตกหลังชุมชน ธารน้ำ ที่ชาวญัฮกุรมักใช้เป็นแหล่งอาหาร
ป่าชุมชน
เช่น แหล่งน้ำซับโบราณตามความเชื่อ และหนองน้ำที่ถูกขุดลอกจนสูญเสียแหล่งอาหารตามธรรมชาติ
ปัจจุบันชาวญัฮกุรกำลังถูกจับตามองจากนักพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมเนื่องจากมีประวัติศาตร์ที่เกี่ยวข้องกับชาวมอญโบราณ ทวารวดีศรีเทพ ด้วยภาษาและพื้นที่ตั้งชุมชน ทำให้เกิดแนวคิดในการนำทุนทางวัฒนธรรมเหล่านี้มาต่อยอด โดยใช้แนวคิดที่หลากหลายในระบบทุนภายนอกเพื่อสร้างจุดขายใหม่ให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่เชื่อมโยงกับศรีเทพ ทำให้อาจเกิดการสร้างสินค้าและบริการจากทุนทางวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม ยังขาดการเชื่อมโยงกับเจ้าของวัฒนธรรมทำให้เกิดการเข้าใจผิดในอัตลักษณ์ดั้งเดิม และเกิดการผิดเพี้ยนทางอัตลักษณ์วัฒนธรรมจากการเสริมเติมเรื่องราวให้สวยงามประดิษฐ์เกินจริง
โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย. (2561). ชนเผ่าพื้นเมืองญัฮกุร. https://iwgia.org/
ธิดา สาระยา. (2538). (ศรี) ทวารวดีประวัติศาสตร์ยุคต้นของสยามประเทศ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ และคณะ. (2557). จาก “มะนิ่ฮ ญัฮกุร” (ชาวญัฮกุร) สู่การเป็นมอญทวารวดี และกระบวนการคืนความรู้สู่ชุมชนบ้านไร่. วารสารอายธรรมศึกษา โขง-สาละวิน, 5(1), 76-87.
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. (2559). โบราณคดีและชาติพันธุ์ในเขตหมู่บ้านชาวญัฮกุรที่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ. ดำรงวิชาการ, 15(1), 11-39.
สุวิทย์ ธีรศาศวัต. (2546). เศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านอีสาน ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอีสานหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงปัจจุบัน (2488-2544). กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2567). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ญัฮกุร ปีงบประมาณ 2567. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไร่. (2560). ประวัติความเป็นมา. https://www.tambonbanrai.go.th/
อภิญญา บัวสรวง และสุวิไล เปรมศรีรัตน์. (2541). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ญัฮกุ้ร. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.
เฉลิมชาติ ยันจตุรัส, สัมภาษณ์, 22 เมษายน 2566.
ดำ จันทิม, สัมภาษณ์, 2556.
เติม โย้จัตุรัส, สัมภาษณ์, 2556.
แถ่ว น้อยเสลา, สัมภาษณ์, 2555.
ประยูร มองทองหลาง, สัมภาษณ์, 2555.
ยัง ยี่จัตุรัส, สัมภาษณ์, 2555.
วรรณชัย มูลมณี, สัมภาษณ์, 2556.
หนิ่ม แยกจัตุรัส, สัมภาษณ์, 2556.