Advance search

ปาแตรายอ

น้ำตกปาแต ชุมชนริมเทือกเขาบูโด

หมู่ที่ 2
บ้านปาแตรายอ
เกะรอ
รามัน
ยะลา
อบต.เกะรอ โทร. 0-7329-9954
อับดุลเลาะ รือสะ
6 ก.พ. 2023
นิรัชรา ลิลละฮ์กุล
23 เม.ย. 2023
อับดุลเลาะ รือสะ
27 เม.ย. 2023
บ้านปาแตรายอ
ปาแตรายอ

กล่าวกันว่ามีสองสามีภรรยาเดินทางเข้าสู่พื้นที่หมู่บ้านแห่งนี้และได้พบว่าพื้นที่บริเวณนี้มีลำธารและหาดทรายขาวเหมือนชายหาด ซึ่งคำว่า "ปาตา" หมายถึง หาด และชายหาดนี้มีนางไม้มาเล่นน้ำเสมอ จึงทำให้ทั้งสองสามีภรรยาเรียกพื้นที่ดังกล่าวว่า "ปาตารายอ" ต่อมาได้เพี้ยนมาเป็น "ปาแตรายอ"


ชุมชนชนบท

น้ำตกปาแต ชุมชนริมเทือกเขาบูโด

บ้านปาแตรายอ
หมู่ที่ 2
เกะรอ
รามัน
ยะลา
95140
6.53058594386938
101.538830995559
องค์การบริหารส่วนตำบลเกะรอ

หมู่บ้านปาแตรายอเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณตำบลเกะรอโดยมีประวัติความเป็นมาของชุมชนตามคำบอกเล่าของคนในพื้นที่ว่า ในอดีตมีชาวบ้านคือ นายมะเย็ง สะอง และภรรยาเดินทางเข้าสู่พื้นที่หมู่บ้านแห่งนี้และได้พบว่าพื้นที่บริเวณนี้มีลำธารที่มีหาดทรายขาวเหมือนชายหาด คำว่า "ปาตา" หมายถึง หาด และชายหาดนี้มีนางไม้มาเล่นน้ำเสมอ จึงทำให้ทั้งสองสามีภรรยาเรียกพื้นที่ดังกล่าว "ปาตารายอ" ต่อมาได้เพี้ยนมาเป็น "ปาแตรายอ" จนถึงทุกวันนี้

ขณะเดียวกันมีเรื่องเล่าอีกสำนวนกล่าวว่า ณ บ้านปาแตรายอ ได้มีชาวบ้านผ่านมาที่ลำธารแห่งนี้มักจะได้ยินเสียงแปลก ๆ หรือเสียงหัวเราะ ในขณะที่ไม่มีคนอยู่ในบริเวณนั้น เคยมีชาวบ้านมาแอบดูเห็นภูตผีปิศาจกำลังเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานบริเวณต้นไม้แห่งหนึ่ง เรียกว่า ต้นไทร ผีเหล่านั้นมักออกมาเล่นกันทุก ๆ ตอนเย็น สมัยก่อนมีชาวบ้านพบเห็นบ่อยครั้ง จนร่ำลือไปทั่วจึงเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า "ปาตารายอ" 

บ้านปาแตรายออยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอรามัน ประมาณ 20 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 40 กิโลเมตร การเดินทางมายังชุมชนบ้านปาแตรายอ สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านปูลามอง หมู่ที่ 6 ตำบลเกะรอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านกำปงบือแน หมู่ที่ 6 ตำบลจะกว๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เขาบูโด อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านตาเน๊าะปูโย๊ะ หมู่ที่ 3 ตำบลเกะรอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา    

สภาพพื้นที่กายภาพ

สภาพทั่วไปของบ้านปาแตรายอ มีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขาขนาบข้างหมู่บ้าน บ้านเรือนส่วนใหญ่อยู่ขนาบกับเชิงเขา สภาพอากาศในพื้นที่ค่อนข้างเย็นเนื่องจากพื้นที่อยู่บริเวณเนินภูเขา ลักษณะภูมิอากาศเฉกเช่นเดียวกับภาคใต้ตอนล่างของพื้นที่อื่น กล่าวคือลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มี 2 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อนและฤดูฝน 

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือน และประชากรชุมชนบ้านปาแตรายอ จำนวน 299 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 1,241 คน แบ่งประชากรชาย 605 คน หญิง 636 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม 100 เปอร์เซนต์ คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวที่มีความหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผุ้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน

มลายู

ผู้คนในชุนชนบ้านปาแตรายอ มีการรวมกลุ่มที่เป็นทางการ

กลุ่มสตรี เป็นกลุ่มที่จัดขึ้นเพื่อหารายได้แก่สตรีในหมู่บ้านโดยมีการจัดทำขนมต่าง ๆ นำไปขายตามร้านค้าและมีการจัดตั้งกลุ่มเย็บปักผ้าคลุมโดยมีการจำหน่ายผ้าคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ด้านกลุ่มอาชีพ พื้นที่แห่งนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร ปลูกต้นยาง ทุเรียน ลองกอง รองลงมาประกอบอาชีพค้าขายและรับราชการ

การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ผักสด ของใช้ในครัวเรือน ผ่านร้านขายของชำในชุมชน โดยนำสินค้าจากในพื้นที่และภายนอกมากในพื้นที่มาจำหน่าย

ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีการช่วยเหลือกันในชุมชน ในกิจกรรมของชุมชน เช่น งานเมาลิด งานมัสยิด งานแต่งงาน เป็นต้น เป็นชุมชนที่มีพื้นที่ว่างจากการปลูกสร้างที่พักอาศัยน้อยมาก เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีพื้นที่แคบ จึงอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือละแวกใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย คนในชุมชนสามารถเข้าได้กันทุกกลุ่ม โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติที่ตามมาอยู่ในชุมชน

ในรอบปีของผู้คนบ้านปาแตรายอมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ดังต่อไปนี้

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

  • กิจกรรมฟื้นฟูค่ำคืนนิสฟูซะห์บาน ค่ำคืนนิสฟูซะห์บานจะตรงตามปฎิทินอิสลาม วันที่ 14 เดือน ซะบาน โดยมีลักษณะกิจกรรม คือ มีการละหมาดฟัรดู อ่านอัลกุรอาน ซูเราะห์ยาซีน 3 จบ ซึ่งแต่ละจบจะมีดุอาร์ ขอพรจากอัลลอฮ์ เมื่อเสร็จพิธีการ มีการกินเลี้ยงร่วมรับประทานอาหาร และอาหารบางส่วนจะนำแจกจ่ายให้ชาวบ้านในหมู่บ้าน ชุมชนปะแตรายอจะจัดกิจกรรมนี้ที่มัสยิดเป็นหลักโดยจะการเชิญผู้รู้ด้านศาสนามาบรรยายให้ความรู้ถึงความประเสริฐของของค่ำคืนนิสฟูซะห์บานหลังจากนั้นจะละหมาดพร้อมกัน ส่งท้ายด้วยร่วมรับประทานอาหารพร้อมกัน
  • ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมไว้ร่อยหรอลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลืออยาเอามารวมกันแล้วกวนกิน จึงกลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ

คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมชน

  • เมาลิดินนบี เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาแห่งมนุษยชาติ ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม จะมีการรำลึกถึงคุณงามความดี หรือประวัติของท่านในอดีตกาล ในบรรยากาศแห่งความรัก และรำลึกถึงท่านอย่างแท้จริง ซึ่งจะจัดในเดือน เราะบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นเดือนที่ 3 ในปฏิทินอิสลาม
  • วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า “วันรายอปอซอ” เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือศีลอดมาตลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้ามีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย “ซะกาตฟิตเราะฮ์”
  • วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย มีการทำกุรบาน หรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
  • การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอด ในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่างที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า “ละหมาดตะรอเวียะห์”
  • การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิม ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา
  • การทำฮัจญ์ อัลลอฮ์ทรงบังคับให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้งชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไร ต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน
  • การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บางพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ โดยมีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ 

การประกอบอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้แก่ สวนยางพารา สวนผลไม้ ค้าขาย บางส่วนเลือกไปทำงานต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย เป็นต้น

1. นายบัฮสาน สะอง  ผู้ใหญ่บ้านปาแตรายอ ท่านมีบทบาทในการช่วยเหลือคนในชุมชนจนได้รับความนับถือจากชาวบ้าน อีกทั้งเคยได้รับรางวัลผู้ใหญ่บ้านดีเด่นจากองค์กรต่าง ๆ

อาหาร ผู้คนในพื้นที่แห่งนี้มักจะเก็บยอดของพืชมาปรุงเป็นอาหาร ยอดที่ทำการปรุงอาหารชาวบ้านเรียกว่า ปูโจ๊ะปูต๊ะหรือยอดจิก เป็นต้นไม้ที่สามารถหาได้ง่ายจากป่า เมื่อเด็ดยอดแล้วจะนำมาเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหาร เช่น ต้มซุปเนื้อโดยจะนำยอดใส่เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารทำให้รสชาติมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นหรือนำยอดมาทำยำยอดจิก เป็นต้น

ภาษามลายู หรือภาษามาเลย์เป็นภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ซึ่งใช้ในดินแดนประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และภาคใต้ของประเทศไทย

ประเทศไทยมีจังหวัดที่มีประชากรพูดภาษามลายู คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและบางอำเภอของจังหวัดสงขลา ประชากรที่นี่ส่วนใหญ่เขียนและบันทึกโดยใช้อักษรยาวี ปัจจุบันคนในชุมชนยังคงรักษาไว้ซึ่งภาษาท้องถิ่นในพื้นที่อย่างเหนียวแน่น


ปัจจุบันพบว่ามีชาวบ้านบางส่วนเลือกไปประกอบอาชีพในพื้นที่อื่นมากขึ้น เช่น กรีดยางที่เชียงใหม่หรือเชียงราย เป็นต้น เนื่องจากมีการบอกปากต่อปากว่ารายได้ดีสามารถเลี้ยงครอบครัวได้


การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ การสร้างบ้านเรือนที่มีความทันสมัยมากขึ้น ประกอบกับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิม

ในชุมชนปาแตรายอ มีจุดสนใจที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ได้แก่ น้ำตกปาแตรายอ สะพานแม่น้ำสายบุรี

ซูไรดา เจะนิ. (2559). การศึกษาภูมินามของหมู่บ้านในอำเภอรามัน จังหวัดยะลา. ทุนอุดหนุนจากงบประมาณการศึกษาประจำปี 2559. มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา.

บัฮสาน สะอน. (2566). สัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้าน. เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 .

กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงได้จาก https://stat.bora.dopa.go.th/

อบต.เกะรอ โทร. 0-7329-9954