Advance search

วัฒนธรรมท้องถิ่น อาหารพื้นเมืองที่มีเอกลักษณ์ ธรรมชาติที่สวยงามสำหรับการล่องเรือ สินค้าชุมชนที่หลากหลาย และวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เรียบง่ายและอบอุ่น 

หมู่ที่ 2
คลองมานิง
คลองมานิง
เมืองปัตตานี
ปัตตานี
อบต.คลองมานิง โทร. 0-7346-1379
กัญญารัตน์ ประภัย
25 ก.ย. 2024
กมเลศ โพธิกนิษฐ
30 ก.ย. 2024
บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
21 ธ.ค. 2024
บ้านคลองมานิง

ที่มาของชื่อตำบลคลองมานิง เป็นคำที่เพี้ยนมาจากภาษามาลายู "ฆลองมานิง" (Gelong Mandi) มีความหมายว่า คลองที่สำหรับอาบน้ำ ของประชาชนในตำบลคลองมานิงและใกล้เคียง เดิมในตำบลคลองมานิง มีลำคลองที่ใช้เป็นเส้นทางสัญจรเดินเรือทางการเกษตร ต่อมาลำคลองดังกล่าวตื้นเขิน เรือจึงล้มและเกยตื้น และส่วนหนึ่งน้ำเป็นวังน้ำวน เมื่อเรือล่มทุกคนในเรือหันมาเล่นน้ำที่วังน้ำวนนั้น เมื่อผู้คนผ่านมาผ่านไปเห็นก็พูดกันต่อ ๆ มา จนเป็นที่มาของภาษามาลายูว่า "ฆลองมานิง" (Gelong Mandi) จนถึงปัจจุบัน 


วัฒนธรรมท้องถิ่น อาหารพื้นเมืองที่มีเอกลักษณ์ ธรรมชาติที่สวยงามสำหรับการล่องเรือ สินค้าชุมชนที่หลากหลาย และวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เรียบง่ายและอบอุ่น 

คลองมานิง
หมู่ที่ 2
คลองมานิง
เมืองปัตตานี
ปัตตานี
94000
6.854258644
101.3041511
องค์การบริหารส่วนตำบลคลองมานิง

ชุมชนตั้งอยู่ที่ตำบลคลองมานิง เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเมืองปัตตานีเป็นตำบลเก่าแก่ที่มีลำคลองคลองมานิง ไหลผ่านพื้นที่ตำบล ซึ่งประชาชนใช้อาศัยเป็นทางสัญจรทางน้ำ เมื่อครั้งกรุงลังกาสุกะ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านจาเละ ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เรื่อยมาจนถึงสมัยรัฐปัตตานีดารุสลาม ซึ่งมีเมืองกรือเซะ เป็นจุดศูนย์กลางการปกครอง โดยลำคลองดังกล่าวเป็นลำคลองที่แยกมาจากแม่น้ำปัตตานีโดยไหลผ่านตำบลยะรัง ตำบลประจัน ตำบลปูยุด ตำบลบาราเฮาะ บ้านตาเนาะบาตู บ้านนาแม ตำบลคลองมานิง บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลุโละและไหลลงสู่อ่าวไทย ด้วยเหตุนี้ทำให้มีการสร้างบ้านเรือนอยู่ตลอดริมฝั่งคลองมานิง ซึ่งสามารถพบเห็นชุมชนและสุสานของมุสลิม (กุโบร์) เก่า ณ บ้านสระมาลา หมู่ที่ 3 ตำบลคลองมานิง อำเภอเมืองปัตตานี ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า "กูโบร์เปิงลีมอ" หรือ "กูโบร์แม่ทัพหรือขุนศึก" หินกูโบร์นั้น นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าจะทำมาจากหินอาเจะห์ (batu aceh) มีลวดลายที่สวยงามและมีอายุเก่าแก่สันนิษฐานว่าน่าจะอายุเก่าแก่เทียบเท่ากับมัสยิดตะโละมาเนาะ จังหวัดนราธิวาส (องค์การบริหารส่วนตำบลคลองมานิง, 2559)

ที่มาของชื่อตำบลคลองมานิง เป็นคำที่เพี้ยนมาจากภาษามาลายู "ฆลองมานิง" (Gelong Mandi) มีความหมายว่า คลองที่สำหรับอาบน้ำ ของประชาชนในตำบลคลองมานิงและใกล้เคียง เดิมในตำบลคลองมานิง มีลำคลองที่ใช้เป็นเส้นทางสัญจรเดินเรือทางการเกษตร ต่อมาลำคลองดังกล่าวตื้นเขิน เรือจึงล้มและเกยตื้น และส่วนหนึ่งน้ำเป็นวังน้ำวน เมื่อเรือล่มทุกคนในเรือหันมาเล่นน้ำที่วังน้ำวนนั้น เมื่อผู้คนผ่านมาผ่านไปเห็นก็พูดกันต่อ ๆ มา จนเป็นที่มาของภาษามลายูว่า "ฆลองมานิง" (Gelong Mandi) จนถึงปัจจุบัน 

ชุมชนคลองมานิงเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษาที่ใช้การติดต่อสื่อสารซึ่งใช้ภาษาพื้นบ้าน ภาษามาลายูเป็นหลักในการใช้ชีวิตประจำวัน นับถือศาสนาอิสลามประพฤติยึดหลักคำสอนของศาสนาอิสลามเป็นบทบัญญัติและปฏิบัติของอิสลาม มีมัสยิดเป็นแหล่งปฏิบัติและประกอบศาสนกิจของศาสนา

ตำบลคลองมานิง เป็นตำบลหนึ่งในจำนวนเขตการปกครอง 10 ตำบล ของอำเภอเมืองจังหวัดปัตตานีตำบลคลองมานิง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองปัตตานีประมาณ 9 กิโลเมตร เส้นทางเข้าสู่ตำบลผ่านทางถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 42 และทางหลวงชนบท สายบ้านกรือเซะ-บ้านลือเมาะ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปของตำบลมีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะสำหรับทำการเกษตร โดยเฉพาะการทำนา ปลูกพืชไร่ เช่น ปลูกถั่วเขียว มันเทศ ปลูกแตงโม เป็นต้น พืชสวน เช่น ลองกอง เงาะ มะพร้าว เป็นต้น และมีเนื้อที่อำนวยต่อการเลี้ยงสัตว์ด้วย เช่น แพะ แกะ และวัว เป็นต้น

ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ ชุมชนคลองมานิง มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม สภาพภูมิอากาศในเขตพื้นที่ตำบลคลองมานิง เป็นพื้นที่อยู่ในเขตได้รับอิทธิพลลมมรสุมฝังอ่าวไทยมี 2 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อนและฤดูฝน มีน้ำลำคลองไหลผ่านทางด้านทิศทางตะวันออกของตำบลคลองมานิงทุกปี ซึ่งจะมีน้ำท่วมขังในบางแห่งและบางพื้นที่ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคมของทุกปี

มีถนนเส้นทางการคมนาคมสายหลัก จำนวน 1 สาย โดยเชื่อมต่อถนนชุมชนบ้านกรือเซะ-จรดถึงปลายทางลือเมาะห์บ้านปุยุด เป็นถนนชนิดลาดยาง (แอฟฟัลติก) มีระยะทางยาวโดยประมาณ 6,270 กิโลเมตร เชื่อมต่อถนนคอนกรีตในหมู่บ้าน ใช้ในการสัญจร คมนาคม ติดต่อ ขนส่งสินค้าทางการเกษตรและอื่น ๆ

จากการสำรวจในเดือนธันวาคม 2567 บ้านคลองมานิงมีจำนวนประชากร 1,351 คน ผู้ชาย 681 คน ผู้หญิง 670 คน และมีครัวเรือน 241 หลัง 

มลายู

ความเข้มแข็งของชุมชน 

จากการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตหมวกกะปิเยาะห์ในอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณค่าทางวัฒนธรรมมลายูท้องถิ่น รวมทั้งสามารถสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนคือ ชุมชนกะมิยอและคลองมานิง อําเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยเฉพาะในแง่การรวมกลุ่มผู้ผลิตหมวกกะปิเยาะห์รายย่อย พบว่าเป็นชุมชนที่มีการพึ่งพาตนเอง และมีองค์ประกอบของชุมชนเข้มแข็งกล่าวคือ ชุมชนนี้มีแนวทางในการพัฒนาชุมชนโดยมีเป้าหมายชัดเจน คือการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตจากการผลิตกันภายในครัวเรือน ในหมู่เครือญาติแต่ละคนต้องใช้ฝีมือสรรค์สร้างงานฝีมือกันเองในทุกขั้นตอน ได้ประสบภาวะขาดทุนและเสี่ยงต่อการขึ้นลงของราคา รวมทั้งมีผลกระทบต่อสุขภาพ ก็ได้กลายมาเป็นกลุ่มการผลิตที่แบ่งบทบาท แบบแยกส่วนตามความถนัดชัดเจนขึ้น แบบหัตถกรรมชุมชนกะมิยอและคลองมานิงมีองค์ประกอบพื้นฐาน 3 ประการ คือ 

1) ความรู้ที่ได้มาจากการฝึกอบรมทั้งความรู้ด้านการรวมกลุ่มและการผลิต ซึ่งได้แก่ทักษะในการประกอบอาชีพที่สำคัญคือการรวมกลุ่มจัดตั้ง “สหกรณ์ผู้ผลิตกะปิเยาะห์และเครื่องแต่งกายมุสลิมปัตตานีจำกัด” และการฝึกอบรมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิด สามารถหาทางออกแก้ไขปัญหาและอุปสรรค จนประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนระบบการผลิตและการตลาดได้ 

2) ทรัพยากรบุคคลซึ่งหมายถึงปัจจัยการผลิตที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต โดยบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการประกอบอาชีพผลิตกะปิเยาะห์ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย และยังมีความสามารถในการนำความรู้ที่ได้รับกลับมาประกอบอาชีพที่จังหวัดปัตตานีแม้ว่าอาจมีปัญหาในช่วงเริ่มต้นเกี่ยวกับวัสดุและปัญหาการตลาดไม่อำนวยสำหรับการผลิตหมวกกะปิเยาะห์ เมื่อมีการรวมกลุ่มผู้ผลิตหมวกกะปิเยาะห์เหตุผลที่สนับสนุนในส่วนนี้คือชาวบ้านได้มีแนวคิดเห็นคุณค่าของการรวมกลุ่มในการวางยุทธศาสตร์การตลาด เพื่อสามารถที่จะช่วยเหลือซึ่งกันในการผลิตหมวกกะปิเยาะห์ให้มีคุณภาพ 

3) ด้านสังคม เมื่อผู้ผลิตหมวกกะปิเยาะห์มีเป้าหมายชัดเจนแล้ว จึงร่วมมือกันแก้ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนของการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตที่ยั่งยืน จนสามารถหยุดยั้งปัญหาภาวะขาดทุน ความร่วมมือในชุมชน รวมถึงความสามัคคีและการดูแลกันแบบระบบเครือญาติมีการแบ่งปันช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนกันในด้านความรู้ด้านทรัพยากรบุคคลและด้านวัสดุอุปกรณ์จากพื้นฐานขององค์ประกอบชุมชนเข้มแข็งทั้ง 3 ประการ ที่กล่าวมาข้างต้นได้ชักนำให้เกิดกระบวนการขั้นต่อไป คือ ความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถอธิบายได้จากการที่ผู้ผลิตหมาวกกะปิเยาะห์รายย่อยสามารถใช้องค์ประกอบความเข้มแข็งพื้นฐาน 3 ประการนี้คือ ความรู้และแนวคิด ทรัพยากรบุคคล และสังคมให้เกิดประโยชน์จนสามารถผลิตหมวกกะปิเยาะห์ที่มีคุณภาพ เป็นระบบ การผลิตที่ยั่งยืนด้วยการรวมกลุ่มผู้ผลิตหมวกกะปิเยาะห์และสร้างตลาดจนสามารถสนองความต้องการของตลาดได้ตลอดปี และเมื่อเวลาผ่านไปผู้ผลิตหมวกกะปิเยาะห์ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นตามลำดับ ด้วยการศึกษาดูงานคิดค้นสิ่งใหม่ มีสหกรณ์เกิดขึ้น มีการประชาสัมพันธ์มีความเข้มแข็งมากขึ้น และขยายตลาดได้มากขึ้น ทำให้กลายเป็นชุมชนที่มีการผลิตหมวกกะปิเยาะห์ที่มีความเข้มแข็งได้

รูปแบบกระบวนการรวมกลุ่มของผู้ผลิตกะปิเยาะห์ของชุมชน 

จากการวิเคราะห์กระบวนการรวมกลุ่มของผู้ผลิตกะปิเยาะห์ของชุมชนชุมชนกะมิยอและคลองมานิง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานีพบว่า ชุมชนที่มีการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากการรวมกลุ่มเป็นระบบการผลิตที่หลากหลาย มีรูปแบบคล้ายคลึงกันโดยเริ่มจากการค้นหาปัญหาและสาเหตุการเปลี่ยนแนวคิด จนสู่ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตซึ่งมีรายละเอียดขั้นตอนในการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนโดยผู้ผลิตหมวกกะปิเยาะห์รายย่อยมีการปรับตัวเมื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตเป็นระยะแบบค่อยเป็นค่อยไปจนกระทั่งมีการยอมรับการรวมกลุ่มในการผลิตซึ่งเหตุผลในการยอมรับดังกล่าวได้มาจากการเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และเห็นว่าสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้เพื่อการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจากการประเมินปัญหา และสาเหตุขั้นต้น ต่อมามีผลผลิตที่มีคุณภาพ และสุดท้ายมีการรวมกลุ่มกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และมีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หมวกกะปิเยาะห์ กรณีการรวมกลุ่มของผู้ผลิตหมวกกะปิเยาะห์รายย่อยของชุมชนกะมิยอและคลองมานิงมีรูปแบบภาพรวมใกล้เคียงกับกรณีที่กล่าวมาข้างต้นและมีความเชื่อมโยงกัน

นอกจากนี้ผู้ผลิตหมวกกะปิเยาะห์ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งได้แก่ การประสบภาวะขาดทุนและการตลาด อันเนื่องมาจากการคุณภาพไม่ใช้มาตรฐานรวมกลุ่มในการผลิต แกนนำได้ร่วมกันคิดและตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางการประกอบอาชีพเป็นการรวมกลุ่มกันผลิต จึงได้มีการแสวงหาองค์ความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงอาชีพ บทบาทหน้าที่ของการรวมกลุ่มการผลิตหมวกกะปิเยาะห์จึงเข้ามาในขั้นตอนการฝึกอบรมเพื่อให้ผู้ผลิตหมวกกะปิเยาะห์ได้รับทักษะด้านการผลิต รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและจิตใจให้มีความมุ่งมั่นและเชื่อถือระบบการผลิตแบบยั่งยืน หลังจากนั้นมีการเผยแพร่ความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมโดยแกนนำที่เข้าไปฝึกอบรมไปสู่ผู้ผลิตอื่น ๆ ในชุมชน โดยการเผยแพร่ความรู้ผ่านระบบเครือญาติและชุมชนที่มีความใกล้ชิดกันซึ่งใช้วิธีการประชุมกลุ่มย่อย การแบ่งพื้นที่ให้ญาติพี่น้องเข้ามาร่วมกันทำเพื่อเกิดการเรียนรู้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ขั้นตอนต่อไปคือการส่งเสริมเทคโนโลยีที่ทันสมัย ด้วยการสนับสนุนปัจจัยการผลิตพื้นฐาน โดยเฉพาะปัจจัยเพื่อการพัฒนาการผลิตให้เห็นผล ขั้นตอนสุดท้ายของการรวมกลุ่มของผู้ผลิตหมวกกะปิเยาะห์การศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการรวมกลุ่มกันผลิตยั่งยืน ทั้งนี้เพื่อการเพิ่มพูนทักษะความรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำองค์ความรู้มาปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์หมวกกะปิเยาะห์ในชุมชนต่อไป 

บทบาทของกลุ่มผู้ผลิตกะปิเยาะห์ต่อการพัฒนาชุมชน 

กลุ่มผู้ผลิตกะปิเยาะห์อยู่เคียงข้างชาวปัตตานีมาช้านาน ทำให้ชาวบ้านในชุมชนไม่ต้องไปประกอบอาชีพที่อื่น ๆ แม่บ้านสามารถที่จะทํางานที่บ้านได้ ดังนั้นกลุ่มผู้ผลิตกะปิเยาะห์จึงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ดังนี้ 

1) กลุ่มผู้ผลิตกะปิเยาะห์รายย่อยในฐานะเป็นเครื่องมือเพื่อการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตระยะเริ่มต้นของการเปลี่ยนระบบการผลิตจากรวมกลุ่มปฏิบัติในการผลิตหมวกกะปิเยาะห์ของตนเองแล้ว ต่อมาได้เริ่มชักจูงให้พี่น้องเข้ามาเปลี่ยนแปลงการผลิตด้วย โดยรวมกลุ่มการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ เพราะจะได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรและเครื่องมือต้องอาศัยความรู้และทักษะเป็นพื้นฐานขั้นต้นนำการนำไปสู่กระบวนการพัฒนาขั้นต่อไป ความรู้และทักษะด้านการรวมกลุ่มการผลิตหมวกกะปิเยาะห์เป็นสิ่งสำคัญในการทดแทนการผลิตแบบคนเดียว 

2) กลุ่มผู้ผลิตกะปิเยาะห์รายย่อยมีผลต่อความสำเร็จของชุมชนจะปรากฏผลขึ้นมาเป็นระยะ ๆ ซึ่งอาจใช้ระยะเวลา 1-2 ปี ทั้งนี้ผลจากการรวมกลุ่มของผู้ผลิตหมวกกะปิเยาะห์จะชักนำให้ผู้ผลิตหมวกกะปิเยาะห์และชาวบ้านเกิดการพัฒนาต่อไปเมื่อผู้ผลิตหมวกกะปิเยาะห์เห็นผลจะทำให้เกิดความเชื่อมั่น และความเชื่อมั่นจะเพิ่มสูงขึ้นตามผลของการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่ปรากฏชัดขึ้นเช่นกัน ผู้ผลิตหมวกกะปิเยาะห์รายย่อยจะเห็นผลของการลดต้นทุนชัดเจน ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดทุน ทำให้ผู้ผลิตหมวกกะปิเยาะห์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อยู่ในสถานการณ์ที่ดีหมดสิ้นปัญหานี้ 

3) กลุ่มผู้ผลิตกะปิเยาะห์รายย่อยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ของสังคมเมื่อชาวบ้านได้เรียนรู้ทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม จากการฝึกอบรมและนำไปปฏิบัติได้จริง ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เกิดการค้นพบใหม่ ๆ และการปรับกระบวนการผลิตที่ได้จากการฝึกอบรมให้สามารถใช้ได้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้เหล่านั้นระหว่างผู้ผลิตหมวกกะปิเยาะห์ด้วยกันซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้สังคมเกิดบรรยากาศการเรียนรู้ตลอดจนขั้นตอนการศึกษาดูงานทำให้ผู้ผลิตหมวกกะปิเยาะห์กลายเป็นผู้ที่เรียนรู้วิทยาการใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นการพัฒนาตนเองและชุมชน

ปัจจัยภายในที่สนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง 

การรวมกลุ่มผู้ผลิตกะปิเยาะห์ควบคู่กับวิถีการผลิตกะปิเยาะห์ที่เปลี่ยนไป ด้วยปัจจัยภายในที่สนับสนุนเพื่อความอยู่รอด ดังนี้ 

1) ความสามัคคีและการมีส่วนร่วมภายในชุมชนผู้ผลิตกะปิเยาะห์ได้มีการเสนอตัวแทนซึ่งเป็นที่ไว้วางใจ 15 คน เป็นคนในชุมชนที่อยู่ในสายตาของชาวบ้านมาตลอด จึงใช้เวลาไม่นานนักในการคัดสรรผู้ที่เหมาะสมจะมาเป็นคณะกรรมการบริหาร และมอบหมายให้กรรมการทั้ง 15 คน ไปเลือกตำแหน่งสำคัญ ๆ กันเองที่จำเป็นกับการบริหารว่าใครจะมีบทบาทเช่นใด คณะกรรมการทั้ง 15 คน ได้นัดประชุมเพื่อเลือกตำแหน่งสำคัญเช่น ประธาน เหรัญญิก เลขานุการ ประธานฝ่ายต่าง ๆ ด้วยการใช้บัตรลงคะแนนโดยตรงและลับ เมื่อได้คณะกรรมการบริหารชัดเจนแล้ว จึงนัดหมายจัดเวทีเปิดตัวกับผู้ผลิตกะปิเยาะห์พร้อมเสนอกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย กลายเป็นแรงจูงใจให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น 

2) ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มในระบบสหกรณ์ได้การดำเนินกิจกรรมกองทุนของกลุ่มอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม การดำรงอยู่ของกลุ่มมีปัจจัยสำคัญ คือ กิจกรรมที่ทำแล้วได้ประโยชน์เป็นรูปธรรมต่อเนื่อง และเกิดเป็นแรงดึงดูดให้ชุมชนเข้ามาร่วมดำเนินงาน ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ผลิตกะปิเยาะห์ได้ดำเนินการดังนี้ 

  • เปิดรับสมาชิกกลุ่มและระดมทุนด้วยการถือหุ้น เพื่อจำหน่ายวัสดุการผลิตกะปิเยาะห์ในราคาประหยัด ทำให้ลดต้นทุนการผลิต ไม่ต้องเดินทางไปซื้อต่างพื้นที่ ทำให้ประหยัดเวลาและค่ายานพาหนะ รวมทั้งมีเงินปันผลตามจํานวนหุ้นที่ถือ และเงินเฉลี่ยคืนตามปริมาณการซื้อของแต่ละราย ๆ
  • รับฝากผลิตภัณฑ์กะปิเยาะห์ส่งออกไปยังประเทศซาอุดีอาระเบียโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางโดยการรวบรวมกะปิเยาะห์ส่งไปที่บริษัทส่งออกที่กรุงเทพฯ ก่อนล่องเรือข้ามมหาสมุทรไปส่งที่ท่าเรือของประเทศซาอุดีอาระเบียได้สำเร็จลุล่วง ได้ราคาสูงกว่าขายให้พ่อค้าคนกลาง กลุ่มผู้ผลิตกะปิเยาะห์ก็มีรายได้จากการค้า เพิ่มความมั่นใจให้สมาชิกกลุ่มมากขึ้น
  • จัดประชุมสรุปผลการดำเนินการเป็นประจำ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้กลุ่มผู้ผลิตกะปิเยาะห์ยังดำรงอยู่ได้เพราะในบางครั้งเมื่อเกิดข่าวลือ เกิดความไม่เข้าใจ ความล่าช้าจากข้อขัดข้องประการใดก็แล้วแต่ เวทีประชุมจะช่วยให้เกิดความเข้าใจกัน ข่าวสารที่สื่อออกไปตรงกัน ลดความสับสนและข่าวลือได้มาก

นอกจากนี้สามารถใช้โอกาสการประชุมเป็นประจำในการวางแผนกำหนดทิศทางการดำเนินงานของกลุ่มฯ ได้ด้วย กลุ่มผู้ผลิตกะปิเยาะห์จะแยกอยู่อย่างโดดเดี่ยว ความเป็นจริงต้องสัมพันธ์กับภายนอกตลอดเวลา บางครั้งลำพังชุมชนเองไม่สามารถข้ามผ่านปัญหาเองได้ ความรู้และการสนับสนุนจากภายนอกจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ช่วยให้เกิดการผสมผสานจนสำเร็จได้ 

ผู้สวมใส่กะปิเยาะห์

กะปิเยาะห์ในหน้าที่ทางศาสนกิจของชายไทยมุสลิม การปฏิบัติศาสนกิจที่มุสลิมต้องทำทุกวันจะละเว้นไม่ได้คือการละหมาด ขั้นตอนการทำละหมาดขั้นตอนหนึ่ง คือ การก้มกราบ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่หน้าผากจะต้องสัมผัสกับพื้น การที่มีเส้นผมมาปกหน้าผากแม้เพียงสามเส้นก็ทำให้การละหมาดครั้งนั้นโมฆะ ดังนั้นกะปิเยาะห์จะทำหน้าที่ในการรวบผมที่ปิดหน้าผากเอาไว้เพื่อทำให้การละหมาดนั้นสมบูรณ์กะปิเยาะห์ในปัจจุบัน นอกจากจะใช้ในระหว่างการละหมาดแล้ว กะปิเยาะห์ยังเป็นวัฒนธรรมในการแต่งกาย เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นมุสลิมและเวลาเดินมาไหนแล้วไปสัมผัสอะไร ก็จะมีกะปิเยาะห์รองรับไว้ชั้นหนึ่ง ที่ประเทศมาเลเซียมีกฎหมายการใช้หมวกกันน็อค อย่างเคร่งครัด แต่ถ้ามุสลิมคนใดก็ตามที่ใส่กะปิเยาะห์ก็จะได้รับการอนุโลม เนื่องจากเห็นความสำคัญในทางศาสนาเช่นเดียวกับกฎหมายไทย

สําหรับผู้การใช้กะปิเยาะห์ของผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม การใช้กะปิเยาะห์นั้นไม่ใช่หลักการศาสนาแต่เป็นวัฒนธรรมการแต่งกายและไม่ห้ามคนที่ต่างศาสนาจะสวมใส่ แต่ศาสนิกต่างศาสนาไม่ควรใช้เพราะกะปิเยาะห์เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่าเป็นสัญลักษณ์ของชายมุสลิมหากคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามถ้าสวมใส่แล้วไปทำเรื่องที่ผิดกับหลักศาสนาอิสลามแล้ว อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดกับคนทั่วไปได้ในหลักปฏิบัติอีกประการหนึ่งสำหรับการสวมใส่กะปิเยาะห์ คือ ห้ามมิให้ผู้หญิงสวมใส่แม้ผู้หญิงคนนั้นจะเป็นมุสลิมก็ตาม ทั้งนี้เพราะกะปิเยาะห์บ่งบอกถึงความเป็นชาย การที่หญิงแต่งเป็นชายและชายแต่งกายเป็นหญิง เช่น จะคลุมศีรษะด้วยผ้าคลุมอย่างผู้หญิงนั้นจะกระทำมิได้เพราะมุสลิมต้องมีการแยกแยะให้ได้ว่าเป็นชายหรือเป็นหญิงเท่านั้น (กรวิภา ขวัญเพ็ชร และคณะ, 2548: 24

ประวัติความเป็นมาของหมวกกะปิเยาะห์

การสวมหมวกกะปิเยาะห์เป็นวัฒนธรรมของชาวอาหรับมุสลิม สาเหตุที่ชาวมุสลิมใส่หมวกกะปิเยาะห์เนื่องจากความเชื่อที่ว่าใส่แล้วได้บุญเพราะเป็นการแต่งกายตามแบบอย่างของท่านนบีมูหัมหมัด เป็นจริยวัตรของท่านทุกอย่าง ถือเป็นแบบฉบับของชาวมุสลิมทั่วโลกที่ควรประพฤติปฏิบัติตาม แม้ท่านได้จากโลกนี้ไปแล้ว แต่หลักฐานที่เหลืออยู่คือ หมวกและผ้าโพกศีรษะ ที่ท่านเคยใช้ปรากฏหลักฐานที่เหลืออยู่ที่พิพิธภัณฑ์ในประเทศตุรกีโดยเริ่มแรกทำด้วยมือและใช้กันเองในครัวเรือน และเริ่มพัฒนามาเรื่อย ๆ จนเมื่อ 80 กว่าปีให้หลังจึงได้มีการนำจักรมาเย็บหมวกกะปิเยาะห์

ผ้าโพกศีรษะที่นับว่าเป็นวัฒนธรรมของชาวอาหรับที่ใช้ชีวิตอยู่กลางทะเลทรายนั้น นอกจากจะใช้ในระหว่างการประกอบศาสนกิจอย่างการละหมาดแล้ว ยังใช้ประโยชน์ได้อีกหลายอย่างเช่นเดียวกับผ้าขาวม้าของไทย คือ ใช้ปูนอน ใช้ปูละหมาด ใช้แทนเชือก กันหนาว กันแดดในทะเลทราย

หมวกกะปิเยาะห์เป็นหมวกสำหรับผู้ชายมุสลิมผู้นับถือศาสนาอิสลามทั่วโลก สวมใส่ขณะปฏิบัติศาสนกิจทั้งที่บ้านและที่มัสยิด สวมใส่ในงานพิธีทางศาสนา งานบุญ งานนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ เช่น เดือนฮัจญ์ วันฮารีรายอ หมวกกะปิเยาะห์แบบดั้งเดิมเป็นหมวกสีขาวสะอาด ปัจจุบันมีการประยุกต์เป็นเส้นลายหลากหลายสีรูปแบบของหมวกกะปิเยาะห์มีอยู่ประมาณ 21 รูปแบบที่นิยมมาก ได้แก่ รูปแบบซูดาน มีเอกลักษณ์ที่มีรูระบายลม สวมใส่ไม่ร้อน ตลาดของหมวกกะปิเยาะห์มีอยู่ทั่วไปหมวกกะปิเยาะห์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตั้งอยู่บนฐานทางศาสนาและวัฒนธรรม รวมทั้งสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและทำให้ครอบครัวอบอุ่น เพราะไม่ต้องออกไปหางานทำนอกพื้นที่ ที่สำคัญเป็นอาชีพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน หมวกกะปิเยาะห์เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของชาวมุสลิม ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อ ๆ กันมาตามการเผยแพร่ของศาสนาอิสลามที่เข้ามายังดินแดนราชอาณาจักรมลายูปัตตานีและการเพิ่มขึ้นของผู้คนที่นับถือศาสนาอิสลามมากขึ้นเรื่อย ๆ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การผลิตหมวกกะปิเยาะห์

หมวกกะปิเยาะห์เป็นหมวกที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงลักษณะของชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นหมวกที่ผู้ชายมุสลิมใช้สวมใส่ในการประกอบศาสนกิจ ตลอดจนสวมใส่ในชีวิตประจำวันซึ่งถือได้ว่าเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน หมวกกะปิเยาะห์เกิดจากการนำผ้าหลาย ๆ ชนิดมาตัดเย็บซ้อนกัน 3 ชั้น บนหมวกกะปิเยาะห์จะมีลวดลายหลายสีสันและฉลุตามแต่ผู้ประดิษฐ์งานฝีมือจะคิดทำรูปทรงของหมวกกะปิเยาะห์มีด้วยกันหลากหลาย อาทิเช่น ทรงดาดา ทรงจาบา ทรงเมกกะ ทรงสูง ทรงลายรุ้ง ทรงซอเกาะดำ ทรงมัสยิด และทรงตริดจอแดน แต่ละทรงมีความงดงามแตกต่างกันไป ทรงที่ขายดีราคาย่อมเยาเป็นที่นิยม คือ ทรงซูดาน

ในอดีตการผลิตหมวกกะปิเยาะห์เป็นการผลิตงานในครัวเรือนเท่านั้น มีจุดเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2517 ได้มีการเริ่มผลิตหมวกกะปิเยาะห์เป็นครั้งแรกในตำบลกะมิยอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานีโดยมีกลุ่มผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดีอารเบีย ได้ไปรับจ้างเย็บกะปิเยาะอยู่ประมาณ 2-3 ปีจนมีความชำนาญสามารถทำเองได้และได้ซื้อจักรเย็บผ้า ที่เรียกว่าจักร PAFFกลับมาเย็บกะปิเยาะห์ที่จังหวัดปัตตานีช่วงแรกกลุ่มลูกค้าคือชาวมุสลิมที่ไปประกอบพิธีฮัจญ์ณประเทศซาอุดีอารเบีย โดยการฝากผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์นำไปขาย ซึ่งได้ราคาสูง เป็นเหตุจูงใจให้ชาวบ้านหันมาประกอบอาชีพผลิตหมวกกะปิเยาะกันมากขึ้น การผลิตกะปิเยาะห์ได้กลายเป็นการผลิตที่แพร่หลาย จนเกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มผู้ผลิตรายย่อยขึ้นหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีผู้ประกอบการลงทุนในการจัดหาเครื่องตัดผ้า เครื่องฉลุลายและวัสดุ เช่น ผ้าและด้ายในการเย็บหมวกกะปิเยาะห์

หมวกกะปิเยาะห์จะแบ่งแยกระดับคุณภาพของหมวก โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับเอ จัดเป็นสินค้าโอท็อป (OTOP) 5 ดาว ที่ควรค่าแก่การครอบครอง ระดับบีและระดับซีแต่ละระดับจะมีความละเอียดแตกต่างกันไป จำหน่ายตามราคาที่พ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนด ในช่วงใกล้วันฮารีรายอจะเป็นช่วงที่สินค้าจำหน่ายได้ดีและมีราคาสูง

ปัจจุบันได้มีการขยายตลาดจนสามารถส่งขายต่างประเทศกว่าครึ่งของการผลิตจะถูกส่งไปที่ประเทศซาอุดีอารเบีย รองลงมาเป็นประเทศบรูไน ประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซียและเป็นการขายใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แก่ จังหวัดสตูล จังหวัดสงขลา จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส ส่วนราคานั้นหมวกกะปิเยาะห์รูปทรงที่มีการซื้อกันมากที่สุดอย่างซูดาน ราคาใบละประมาณ 280-300 บาท แต่ถ้าเป็นทรงมัสยิดอาจมีราคาสูงใบละประมาณ 1,700 บาทต่อใบ

มูลค่าการจำหน่ายกะปิเยาะห์จากการประมวลผลข้อมูล พบว่าตำบลกะมิยอ อำเภอเมืองจังหวัดปัตตานีมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 35,905,000 บาท โดยกะปิเยาะห์แบบซูดานมีมูลค่าการจำหน่ายมากที่สุดถึง 31,229,000 บาท ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณที่ผลิตได้รายละเอียดดังแผนภูมิด้านล่าง (กรวิภา ขวัญเพ็ชร และคณะ, 2548: 114)

ความแตกต่างของลวดลาย ความประณีตละเอียดอ่อนรวมไปถึงการอยู่ทรงไม่บิดเบี้ยวไปมาคือ ปัจจัยของการกำหนดราคาดังกล่าวและหมวกกะปิเยาะห์ของเด็กจะอยู่ที่ราคาประมาณใบละ 99 บาท หมวกกะปิเยาะห์จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจและจัดเป็นสินค้าเลื่องชื่ออีกอย่างหนึ่งที่สามารถส่งออกและนำเงินตราเข้าสู่ประเทศได้ (นันทวรรณ ประสานทรัพย์, 2551: 32-34)

แหล่งผลิตกะปิเยาะห์ที่สำคัญในปัจจุบัน

การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้คนที่นับถือศาสนาอิสลามที่มากขึ้นเรื่อย ๆ การหลั่งไหลของมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์นับล้าน ๆ คนทุกปีความต้องการใช้กะปิเยาะห์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบศาสนกิจจึงมีอย่างมหาศาล ส่งผลให้ปริมาณความต้องการของกะปิเยาะห์จึงมีความสม่ำเสมอทุกปี

ด้วยแรงจูงใจในอุปสงค์หรือความต้องการกะปิเยาะห์จำนวนมากนี้เอง ทำให้บรรดาประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตกะปิเยาะห์ต่างพัฒนารูปแบบและผลิตเพื่อส่งออกมาวางขายให้ทันกับช่วงของการประกอบพิธีฮัจญ์ของทุกปีและนับวันจะมีการแข่งขันกันสูงขึ้น ประเทศที่มีกำลังการผลิตกะปิเยาะห์ในปัจจุบัน ได้แก่

  • ประเทศอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • ประเทศบังคลาเทศ เป็นประเทศมุสลิมที่ไม่ใช่ผลิตขายเฉพาะซาอุดีอาระเบียเท่านั้น แต่ได้ข้ามฟากมาเจาะตลาดในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อย่างประเทศมาเลเซีย ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย
  • ประเทศจีน โดยเฉพาะทางด้านตะวันตกของประเทศแถบมณฑลซินเกียง ที่ผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เมื่อผลิตแล้วก็ส่งมาที่เซี่ยงไฮ เพื่อลงเรือสินค้าแล้วส่งไปขายยังกลุ่มประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง
  • ประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานีหรือที่ชาวมุสลิมในแถบตะวันออกกลางรู้จักกันดีในนามว่า ฟาฎอนี ซึ่งมีรากศัพท์จากภาษาอาหรับอันสื่อความหมายว่าความฉลาด นับเป็นแหล่งผลิตกะปิเยาะห์จำนวนมหาศาล มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 1 ใน 3 ของกะปิเยาะห์ที่ขายอยู่ในประเทศซาอุดีอาระเบีย

ปริมาณการผลิตกะปิเยาะห์อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานีมีประสบการณ์ยาวนานในการผลิตกะปิเยาะห์และด้วยประสบการณ์ดังกล่าวทําให้ตำบลกะมิยอมีความสามารถผลิตกะปิเยาะห์ได้หลากหลายถึง 21 รูปแบบ แต่รูปแบบที่ผลิตจำหน่าย มีทั้งสิ้น 7 รูปแบบ และจากข้อมูลที่สำรวจได้พบว่ากะปิเยาะห์แบบซูดานจะเป็นรูปแบบที่ตลาดนิยมมากที่สุด จึงมีกำลังการผลิตจากทุกหมู่บ้านรวมกันสูงถึง 2,051,400 ใบ จากทั้งหมด 2,255,000 ใบ

การผลิตหมวกกะปิเยาะห์ส่งเสริมและพัฒนาคุณค่าทางวัฒนธรรมมลายูท้องถิ่นด้านการแต่งกาย

กะปิเยาะห์เป็นหมวกที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงลักษณะตัวตนชายที่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นหมวกที่ผู้ชายมุสลิมจะใช้สวมใส่ในการประกอบศาสนกิจ ตลอดจนสวมใส่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน กะปิเยาะห์ในปัจจุบัน ยังเป็นวัฒนธรรมมลายูท้องถิ่นด้านการแต่งกาย การใช้กะปิเยาะห์นั้นไม่ใช่หลักการศาสนา เป็นเพียงวัฒนธรรมการแต่งกายที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่าเป็นสัญลักษณ์ของชายมุสลิม มุสลิมจะต้องสวมใส่ขณะปฏิบัติศาสนกิจ และสวมใส่ในงานพิธีทางศาสนา ทั้งที่เป็นงานบุญ งานนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ เช่น เดือนฮัจญ์วันฮารีรายอ เป็นต้น

กะปิเยาะห์แบบดั้งเดิมเป็นหมวกสีขาวสะอาด แต่ในปัจจุบันมีการประยุกต์ที่หลากหลาย ทั้งรูปทรง สีสันที่มีหลากหลายสีและลวดลายที่ปักหลากหลายรูปแบบ เช่น ลายเส้น ลายใบไม้ดอกไม้ลายเครือเถาว์ลายสถาปัตยกรรมที่สื่อถึงรูปมัสยิด เป็นต้น กะปิเยาะห์จึงเป็นวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงการแต่งกายของชาวมลายูที่ชัดเจนนับจากอดีตและยังคงยึดถือและปฏิบัติตลอดไป

การผลิตหมวกกะปิเยาะห์ในชุมชนกะมิยอและคลองมานิง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานีโดยการรวมกลุ่มที่เกิดขึ้นทำให้สามารถจัดตั้งกลุ่มผู้ผลิตหมวกกะปิเยาะห์และเครื่องแต่งกายมุสลิมจังหวัดปัตตานีและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนปลูกฝังวัฒนธรรมมลายูท้องถิ่นด้านการแต่งกายและการทำงานแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณค่าทางวัฒนธรรมมลายูท้องถิ่น โดยการอนุรักษ์หมวกกะปิเยาะห์ให้คงอยู่ต่อไป

ภาษามลายู ภาษาไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรวิภา ขวัญเพช็ร และคณะ. (2548).โครงการศึกษากระบวนการรวมกลุ่มผู้ผลิตกะปิเยาะห์รายย่อยเพื่อสร้างความเข้มแข็งโดยการมีส่วนร่วมของผู้ผลิตรายย่อยในตำบลกะมิยอ อำเภอมือง จังหวัดปัตตานี. รายงาน การวิจัยสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค 

กรวิภา ขวัญเพช็ร และคณะ. (2552). ศึกษาการบริหารจัดการส่งออกกิเยาะห์เพื่อจำหน่ายในประเทศ ซาอุดิอาระเบียของกลุ่มผู้ผลิตกะปิเยาะห์และเครื่องแต่งกายมุสลิมปัตตานี ตำบลกะมิยอ อำเภอมือง จังหวัดปัตตานี. รายงานการวิจัยสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น 

องค์การบริหารส่วนตำบลคลองมานิง. (2559). ประวัติความเป็นมา. http://www.klongmaning.go.th/history.php

อบต.คลองมานิง โทร. 0-7346-1379