
ชุมชนบ้านนาเมืองมีแหล่งท่องที่สวยงามโดยเฉพาะธรรมชาติ มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ มีอาหารท้องถิ่นที่มีความโดดเด่น รวมถึงมีที่พักแบบโฮมสเตย์ ที่น่าอยู่ สะอาด และมีความปลอดภัยเป็นอย่างมาก
ชุมชนบ้านนาเมืองมีแหล่งท่องที่สวยงามโดยเฉพาะธรรมชาติ มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ มีอาหารท้องถิ่นที่มีความโดดเด่น รวมถึงมีที่พักแบบโฮมสเตย์ ที่น่าอยู่ สะอาด และมีความปลอดภัยเป็นอย่างมาก
ตำบลนครชุม เดิมเรียกว่าหมู่บ้านนี้ว่า นครซุ่ม นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาว่า ได้มีผู้คนจำนวนมากอพยพมาจากทางเหนือสู่นครชุม ในทางประวัติศาสตร์มีการกล่างถึงว่าเป็นเมืองหน้าด่านของ พ่อขุนบางกลางท่าว ปฐมกษัตริย์ ผู้คนที่มาอาศัยอยู่มีข้อสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นชาวลาวที่อพยพลงมาเพื่อหาที่อยู่ ที่ทำกิน ตำบลนครชุมสมัยนั้นไม่พบหลักฐานว่ามีชื่อเรียกว่าอะไร แต่ว่าหลังจากการอพยพของชาวลาวมานั้น ชาวบ้านที่อยู่บริเวณนี้มาก่อนไม่เคยเห็นคนจำนวนมากมายขนาดนี้มาก่อน จึงเรียกว่า เมืองคนชุม ซึ่งแปลได้ว่าเมืองที่มีคนชุกชุม การอพยพของชาวลาวในครั้งนี้ มีผู้นำสองคน ซึ่งเป็นพี่น้องกัน คนพี่ชื่อขุนกังหาว ส่วนคนน้องชื่อขุนหาญห้าว ได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านนาลานข้าวและบ้านนาเมือง (บ้านที่ทำการวิจัย) ต่อมาได้ช่วยกันสร้าง ที่ประทับสำหรับเจ้าเมืองขึ้น และได้ตั้งตนเองขึ้นเป็นเจ้าเมืองและได้พิจารณาเห็นว่าชื่อเมืองคนชุมนี้เป็นชื่อที่ ไม่มีความเหมาะสมกับเมือง จึงได้ตั้งชื่อเมืองขึ้นมาใหม่ว่า นครชุม ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกสถานที่แห่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน ในทุก ๆ วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี จะมีการปักธงปฐมฤกษ์บนยอดเขาโปกโล้น เพื่อระลึกถึงวีรกรรมของพ่อขุนบางกลางท่าว สถานที่สำคัญตามตำนานของนครชุม ได้แก่ 1.ศาลปู่หลวงนครชุม 2.หลวงพ่อหิน 3.หินรอยพระร่วง 4.รอยพระบาทหิน 5.หุบเขาย่าปุก 6.น้ำบ่อทอง 7.บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ (องค์การบริหารส่วนตำบลนครชุม, 2599)
สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน
องค์การบริหารส่วนตำบลนครชุม เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดกลาง ได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ตามพระราชบัญญัติสภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ตั้งอยู่เลขที่ 107 หมู่ที่ 3 ตำบลนครชุม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอนครไทยมาทางทิศเหนือเป็นระยะทาง 28 กิโลเมตร ตั้งอยู่ห่างจังหวัดพิษณุโลก 130 กิโลเมตร
พื้นที่ติดต่อของบ้านนาเมือง
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านนาลานข้าว
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านโนนนาซอน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านนาทุ่งใหญ่
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านนาขุมคัน
เนื้อที่
องค์การบริหารส่วนตำบลนครชุม มีพื้นที่ประมาณ 95,042 ไร่ หรือ 152 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ มีพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 73,491 ไร่
สภาพภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ โดยทั่วไปตำบลนครชุม มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่มห้อมล้อมด้วยภูเขารอบด้านทำให้ชุมชนมีทัศนียภาพที่สวยงาม เหมาะแก่การไปพักผ่อนหย่อนใจ เมื่อไปเที่ยวแล้วก็จะทำให้รู้สึกผ่อนคลายทั้งกายและใจ ทำให้อยากจะกลับไปเที่ยวอีกครั้งโดยด้านทิศตะวันตกภูเขาที่ล้อมรอบเป็นภูเขาที่มีลักษณะส่วนใหญ่เป็นหินโล่งเตียน ต้นไม้ขึ้นอยู่ประปราย ส่วนภูเขาด้านทิศตะวันออกมีลักษณะเป็นดินที่มีต้นไม้เหลืออยู่ค่อนข้างน้อยแล้ว เนื่องจากประชาชนบางส่วนใช้พื้นที่เป็นที่ทำไร่ข้าวโพด ลำน้ำสายหลักที่ไหลผ่านพื้นที่ของตำบล คือ ลำน้ำแควน้อย ซึ่งเป็นลำน้ำสายหลักที่ราษฎรใช้สำหรับอุปโภคบริโภค พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการและเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นป่าไม้เบญจพรรณและป่าเสื่อมโทรม สภาพดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง
สภาพภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศอยู่ในเขตร้อนมี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว
ฤดูร้อน อากาศไม่ร้อนมากเนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นหุบเขาที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้เป็นจำนวนมาก หากไปท่องเที่ยวในฤดูนี้ก็จะมีความสะดวกสบายเพราะจำนวนนักท่องเที่ยวไม่มากเหมือนในฤดูอื่น ๆ
ฤดูฝน จากการสังเกตแบบมีส่วนร่วมพบว่าในช่วงฤดูนี้ไม่เหมาะกับกิจกรรมกลางแจ้งมากนักอย่างเช่นกิจกรรมขึ้นเขา เนื่องจากช่วงหน้าฝนจะมีตัวทากดูดเลือดเป็นจำนวนมาก และเขาโปกโล้นที่มีลักษณะทางเดินเป็นเสียส่วนใหญ่และค่อนข้างมีความลาดชันทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการลื่นและอาจจะพลัดตกเขาได้ แต่ด้วยบรรยายอากาศของสภาพอากาศที่เย็นสบายอยู่เหมาะสำหรับไปพักผ่อนหย่อนใจ ในฤดูฝนสามารถชมหมอกได้ในยามเช้าตรู่
สำหรับชุมชนบ้านนาเมือง มีจำนวนประชากรทั้งหมด 362 คน แยกเป็น ชาย จำนวน 174 คน หญิง จำนวน 188 คน จำนวนครัวเรือนทั้งหมด 153 ครัวเรือน (องค์การบริหารส่วนตำบลนครชุม : ข้อมูล ณ วันที่ 1 กันยายน 2559, 2559)
อาชีพประชากร
ประชากรของตำบลนครชุม มีอาชีพหลักในการทำการเกษตรกรรม โดยเฉพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวเหนียว ถั่วต่าง ๆ และสวนผลไม้ อาชีพรอง หลังจากการหมดฤดูเก็บเกี่ยวจะทำอาชีพรับจ้างทั่วไป และมีการอพยพเข้า ไปหางานทำในเมืองเป็นจำนวนมาก ดังนี้
- อาชีพเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ประมาณ 91.04%
- อาชีพรับจ้างทั่วไป ประมาณ 2.94%
- ธุรกิจส่วนตัว ประมาณ 3.92%
- รับจ้างทั่วไป ประมาณ 0.4%
นอกจากนี้ยังมีอาชีพที่เกิดจากการร่วมมือกันของชุมชน ในการสร้างเครือข่ายโฮมสเตย์ ซึ่งการท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบโฮมสเตย์ของชุมชนบ้านนาเมือง ตำบลนครชุม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลกนั้นมีจุดเริ่มต้น ดังนี้
ปี พ.ศ. 2559-2560 ในการเกิดเป็นโฮมสเตย์เริ่มแรกเกิดจากผู้นำในชุมชน ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล ได้มีการออกไปศึกษาดูงานที่พัทยา จังหวัดชลบุรี ทำให้กลุ่มผู้นำชุมชนได้มีโอกาสไปพักโฮมสเตย์ที่พัทยา แล้วกลุ่มผู้นำชุมชนก็สังเกตว่าที่โฮมสเตย์ที่ได้ไปพักก็ดูไม่มีอะไรมากแต่เขาก็ยังทำท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ได้ เมื่อกลุ่มผู้นำชุมชนกลับมาที่ชุมชนของตน และในเวลาถัดมาทางหมู่บ้านก็ได้ทำกิจกรรมเนื่องในวันแม่แห่งชาติขึ้น และได้มีการนำชาวบ้านในชุมชนไปทำความสะอาดถนนของหมู่บ้าน จึงได้สังเกตว่าถนนบริเวณทางเข้าหมู่บ้านมีวิวทิวทัศน์ที่สวยเหมือนกัน จึงมีความคิดขึ้นว่าควรจะสร้างจุดชมวิวขึ้นไว้เพื่อพักผ่อนและเอาไว้ชมวิวทิวทัศน์ในหมู่บ้าน แล้วต่อมาก็ได้มีการสร้างจุดชมวิวตรงบริเวณทางเข้าหมู่บ้านขึ้น และประชาสัมพันธ์ โดยมีการเชิญนักข่าวให้มาทำข่าวเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในชุมชน จึงเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในหมู่บ้านมากขึ้น จนในที่สุดก็มีการจัดตั้งกลุ่มโฮมสเตย์ของชุมชนบ้านนาเมืองขึ้น แล้วหลังจากนั้นก็เกิดเป็นการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์อย่างเต็มตัว โดยเริ่มต้นมีโฮมสเตย์ทั้งหมด 12 หลัง
ปี 2561 ได้มีโครงการท่องเที่ยวนวัตวิถีเข้ามาในชุมชน จึงมีการไปศึกษาดูงานที่เชียงคาน จังหวัดเลย โดยการไปศึกษาดูงานในครั้งนี้มีทั้งกลุ่มผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่มีความสนใจในเรื่องการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ เพื่อนำความรู้ที่ได้จากการไปศึกษาดูงานมาประยุกต์ใช้ในชุมชน ซึ่งจากการไปศึกษาดูงานครั้งนี้ทำให้ชาวบ้านที่ได้ไปศึกษาดูงานได้รู้ว่า ชุมชนควรมีการรวมกลุ่มกันเพื่อทำของที่ระลึกที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนไว้ขาย หรืออาจจะเป็นของฝาก อย่างเช่น ข้าวเกรียบหรือกล้วยฉาบ เพื่อเป็นการหารายได้ให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่ง ในอดีตทางชุมชนก็เคยมีการรวมกลุ่มกันในการทอผ้านวม ผ้าขาวม้า จากกี่กระตุก แต่กลุ่มก็ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากชาวบ้านรวมตัวกันได้ยากเพราะต่างคนต่างมีงานของตนเอง แต่ปัจจุบันนี้ชาวบ้านเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญในการรวมกลุ่มอาชีพกันมากขึ้น จึงมีความคิดที่จะกลับมารวมกลุ่มกันอีกครั้ง เพื่อสร้างรายได้จากอาชีพเสริมให้กับคนในชุมชน ซึ่งความคิดที่ชาวบ้านจะกลับมารวมกลุ่มอาชีพกันอีกครั้งหนึ่งนั้น อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของชุมชนมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ นอกจากนี้จากการที่ชาวบ้านได้เล็งเห็นแนวโน้มความสำเร็จของการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์มากขึ้น ทำให้มีโฮมสเตย์ในชุมชนเพิ่มขึ้นอีก 3 หลัง จากเดิมมี 12 หลัง จึงเพิ่มเป็น 15 หลัง (ข้อมูล ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2561)
กิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชนบ้านนาเมือง (ข้อมูล ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2561)
กิจกรรมที่ 1 เมื่อมาถึงทางเข้าชุมชนก็จะพบกับจุดชมวิวที่สวยงาม สามารถมองเห็นภาพของหมู่บ้านที่อยู่ระหว่างร่องเขาแห่งนครชุมได้ทั้งหมด ซึ่งจะเห็นภาพของการผสมผสานระหว่างบ้านเรือนกับธรรมชาติของต้นไม้ และหุบเขาได้อย่างลงตัว โดยนักท่องเที่ยวสามารถถ่ายรูป เพื่อเก็บภาพบรรยากาศที่สวยงาม ถือเป็นจุดชมวิว ที่สำคัญอีกหนึ่งจุด เมื่อผ่านมาควรแวะมาชมมาถ่ายรูปเพื่อเก็บเป็นภาพแห่งความทรงจำว่าครั้งหนึ่งเคยมาเที่ยวที่ร่องเขาแห่งนครชุม
โฮมสเตย์ในหนึ่งหลังจะพักได้ประมาณ 10-15 คน โดยอัตราค่าบริการในปัจจุบัน คือ
- นอนพัก 1 คืน มีบริการอาหาร 2 มื้อ คือมื้อเช้าและมื้อเย็น มีค่าบริการอยู่ที่ 450 บาท/คน
- นอนพัก 1 คืน มีบริการอาหาร 1 มื้อ คือมื้อเช้า มีค่าบริการอยู่ที่ 350 บาท/คน
- นอนพัก 1 คืน ไม่มีบริการอาหาร มีค่าบริการอยู่ที่ 250 บาท/คน
- ถ้าเป็นเด็กอายุไม่เกิน 10 ขวบ ไม่มีค่าบริการ
- ค่าบริการรถอีแต๊กพาไปชมเขาโปกโล้น ชมทะเลหมอก จะเป็นราคาเหมา 200 บาท/คัน
กิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชนบ้านนาเมือง
กิจกรรมที่ 1 เมื่อมาถึงทางเข้าชุมชนก็จะพบกับจุดชมวิวที่สวยงาม สามารถมองเห็นภาพของหมู่บ้านที่อยู่ระหว่างร่องเขาแห่งนครชุมได้ทั้งหมด
ซึ่งจะเห็นภาพของการผสมผสานระหว่างบ้านเรือนกับธรรมชาติของต้นไม้ และหุบเขาได้อย่างลงตัว โดยนักท่องเที่ยวสามารถถ่ายรูป เพื่อเก็บภาพบรรยากาศที่สวยงาม ถือเป็นจุดชมวิว ที่สำคัญอีกหนึ่งจุด เมื่อผ่านมาควรแวะมาชมมาถ่ายรูปเพื่อเก็บเป็นภาพแห่งความทรงจำว่าครั้งหนึ่งเคยมาเที่ยวที่ร่องเขาแห่งนครชุม
จากภาพคือจุดถ่ายรูปที่เป็นเสมือนแลนด์มาร์คที่สำคัญอีกจุดหนึ่งที่อยู่บริเวณทางเข้าหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ถัดออกมาจากจุดชมวิวเล็กน้อย จุดถ่ายรูปนี้เสมือนเป็นการบ่งบอกว่านักท่องเที่ยวได้มาถึงยังร่องเขาแห่งนครชุมแล้ว
จากภาพจะเห็นได้ว่าเมื่อมองจากจุดชมวิวบริเวณทางเข้าหมู่บ้าน เมื่อมองลงไปก็จะเห็นภาพของหมู่บ้าน ที่ผสมผสานระหว่างบ้านเรือนกับธรรมชาติของต้นไม้ หุบเขา ได้อย่างลงตัวและสวยงาม ซึ่งในตอนที่ผู้วิจัยได้ไปถึงยังจุดชมวิวนั้นเป็นช่วงเวลาหลังฝนตกพอดี จึงทำให้ภาพของหมู่บ้านที่ถูกโอบอ้อมไปด้วยธรรมชาติสีเขียวขจี และหมอกสีขาว ซึ่งเป็นภาพที่เห็นแล้วสร้างความประทับใจให้กับผู้วิจัยตั้งแต่แรกเห็น
กิจกรรมที่ 2 นักท่องเที่ยวสามารถร่วมทำอาหารและขนมเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นร่วมกับเจ้าของโฮมสเตย์ โดยโฮมสเตย์ที่ผู้วิจัยได้ไปพักมีการทำอาหารท้องถิ่น คือ ไข่ป่าม หลามไก่ ไก่เขย่า และขนมตาล
ไข่ป่าม คือการนำไข่ไก่มาทอดในกระทะโดยไม่ใช้น้ำมันแต่จะใช้น้ำเปล่าแทน และรองด้วยใบตองจึงทำให้เวลาเมื่อไข่เริ่มสุกจะมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของใบตองอยู่ในเนื้อไข่ป่าม เมนูไข่ป่ามนี้เป็นอาหารที่สามารถทำได้ง่ายมาก เพราะใช้วัตถุดิบที่หาได้ทั่วไปและมีขั้นตอนการทำที่ไม่ยุ่งยาก และเหมาะสำหรับผู้ที่รักสุขภาพด้วย นอกจากนี้ไข่ป่ามยังมีความเกี่ยวข้องกับประเพณีในชุมชนและถือเป็นอาหารท้องถิ่นที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคน ในชุมชนมาอย่างยาวนาน เพราะเป็นอาหารคาวที่ไปใช้ในพิธีบวงสรวงศาลหลวงปู่นครชุมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเจ้าของโฮมสเตย์เล่าให้ฟังว่า “ที่ต้องใช้ไข่ป่ามในพิธีบวงสรวงนั้น เพราะพ่อปู่นครชุมท่านชอบเมนูไข่ป่ามนี้มาก”
หลามไก่เป็นเมนูที่สร้างความรู้สึกที่แปลกใหม่สำหรับผู้วิจัยเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเมนูอาหารคาวที่ทำ ในกระบอกไม้ไผ่ โดยการเตรียมวัตถุก็เหมือนกับการทำอาหารทั่วไปที่ประกอบไปด้วยเนื้อไก่สด เครื่องปรุง และผักที่หาได้ทั่วไปในท้องถิ่น นำมาคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วนำไปใส่ในกระบอกไม้ไผ่ ส่วนขั้นตอนการปรุงให้สุกก็จะก่อไฟแล้วนำกระบอกไม้ไผ่ไปวางเอียง 45 องศา บนกองไฟ โดยจะมีไม้ค้ำช่วยดังภาพ ส่วนรสชาติก็มีอร่อย เป็นเมนูที่มีน้ำซุปในตัวสามารถซดน้ำได้ เนื้อไก่มีความนุ่ม และมีความหอมกลิ่นไม้ไผ่อ่อน ๆ
ไก่เขย่าเป็นเมนูที่มีการคลุกเคล้าเครื่องปรุงให้เข้าไปยังเนื้อไก่ ที่มีความแปลกกว่าเมนูอื่นเพราะจะไม่ใช้ทัพพีในการคลุกเคล้า แต่จะใช้การเขย่าแทนเลยเรียกว่า ไก่เขย่า วัตถุดิบนั้นประกอบไปด้วย เนื้อไก่สด เครื่องปรุง เครื่องเทศ พริกแกง ส่วนรสชาตินั้นมีความอร่อยเฉพาะตัว เพราะเป็นเมนูที่เหมือนจะมีรสชาติจัดจ้าน แต่กลับมีความกลมกล่อมที่ลงตัว และมีความหอมของกลิ่นเครื่องเทศที่แทรกซึมอยู่ในเนื้อไก่
ขนมตาลของชุมชนบ้านนาเมืองก็มีวัตถุดิบและขั้นตอนการทำที่เหมือนขนมตาลทั่วไป แต่จะมีความแปลกใหม่ตรงที่จะไม่มีมะพร้าวขูดโรยหน้าขนม แต่จะใส่ลงไปในเนื้อขนมเลย เวลารับประทานก็จะให้รสสัมผัสของเนื้อขนมตาลที่ฟู และมีความกรุบของเนื้อมะพร้าวที่แทรกอยู่ในเนื้อขนม สำหรับเมนูนี้ผู้วิจัยได้มีส่วนร่วมตั้งแต่แรก คือ ไปหาใบตองเพื่อที่จะมาเย็บทำกระทงใส่ขนม และได้มีส่วนร่วมในการผสมวัตถุดิบทุกขั้นตอน ซึ่งเนื้อตาล ที่ใช้ในการทำขนมจะเป็นเนื้อตาลจากแก่ที่เก็บมาจากในชุมชน การทำขนมตาลนั้นจะต้องมีการจ่ายค่าวัตถุดิบเพิ่มซึ่งไม่รวมกับค่าที่พักประมาณ 100 บาท
ในอาหารมื้อเย็นจะเป็นเมนูที่ทางนักท่องเที่ยวร่วมกันทำกับเจ้าของโฮมสเตย์ นอกจากนี้ยังมีเมนูอาหารบางอย่างที่ทางเจ้าของโฮมสเตย์ทำเพิ่มให้ และมีผลไม้ในท้องถิ่น เช่น เงาะ ลำไย เป็นต้น ในการรับประทานอาหารสามารถรับประทานแบบส่วนตัวหรือแบบร่วมกับเจ้าของโฮมสเตย์ก็ได้ โดยการไปพักโฮมสเตย์ในครั้งนี้ผู้วิจัยได้ร่วมรับประทานอาหารกับเจ้าของโฮมสเตย์ด้วย ทำให้ได้มีโอกาสพูดคุยสอบถามในเรื่องต่าง ๆ เพิ่มเติม นอกจาก จะได้คุยเรื่องงานแล้วก็ยังได้คุยในเรื่องทั่ว ๆ ไป ทำให้ผู้วิจัยรู้สึกเป็นกันเอง อบอุ่น เสมือนมาพักบ้านญาติ
กิจกรรมที่ 3 ในช่วงเช้าประมาณ 05.30 น. จะมีกิจกรรมนั่งรถอีกแต๊กเพื่อไปขึ้นเขาโปกโล้น ในระหว่างทางก็จะเห็นภาพบรรยากาศของหมู่บ้านในยามเช้า เห็นบรรยากาศของไร่ข้าวโพดและนาข้าว รวมทั้งภาพวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชน เมื่อไปถึงจุดจอดรถบริเวณตีนเขา หลังจากนั้นก็เดินขึ้นเขาตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เพื่อไปยังบริเวณจุดชมวิวบนยอดเขาโปกโล้น ซึ่งสามารถมองเห็นภาพบรรยากาศของหมู่บ้านที่โอบล้อมด้วยหุบเขาและยังได้เห็นภาพของทะเลหมอก รวมทั้งได้สัมผัสกับหมอกอย่างใกล้ชิด ในการนำเที่ยวจะมีไกด์ของชุมชนที่เป็นคนขับรถอีแต๊กมารับที่โฮมสเตย์และในระหว่างทางไกด์ก็จะมีการบรรยายสถานที่สำคัญ ๆ ในแต่ละจุดรวมถึงบรรยายพื้นที่โดยรอบระหว่างทางที่ไปเขาโปกโล้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และเข้าใจวิถีชีวิตของคนในชุมชน รวมถึงความเป็นมาของสถานที่สำคัญนั้น ๆ ซึ่งไกด์นำเที่ยวเป็นคนในชุมชน จากการสัมภาษณ์ทำให้ได้ทราบว่า ไกด์นำเที่ยว ชื่อพี่ตั้ม เป็นคนที่เกิดและเติบโตมาในชุมชนบ้านนาเมือง ถึงแม้ว่าพี่เขาจะไม่ได้เรียนทางด้าน การท่องเที่ยวมาโดยตรงแต่ว่าด้วยความที่พี่เขาเป็นคนที่นี่ และมีใจรักในการทำงานให้กับชุมชน เลยทำให้ทำหน้าที่นี้ได้อย่างดีเยี่ยม พี่ตั้มได้เข้ามาทำงานในหน้าที่นี้ได้ประมาณ 2 ปี ก่อนหน้าที่พี่เขาจะเข้ามาทำงาน พี่ตั้มได้บวช เป็นพระมา 6 ปี ซึ่งในระหว่างที่บวชก็ได้เรียนรัฐศาสตร์ พอเรียนจบแล้วสึกออกมากก็ว่างงานอยู่ 1 ปี ก็กลับมา อยู่บ้านช่วยพ่อแม่ทำนาทำไร่ ต่อมาทางองค์การบริหารส่วนตำบลนครชุม ขาดคนงานเขาเลยจ้างพี่ตั้มมาทำงานทางด้านการสอนกีฬาให้กับเด็ก ๆ ในชุมชนตอนเย็น ในระหว่างที่พี่ตั้มได้ทำงานอยู่ที่องค์การบริหารส่วนตำบล นครชุมก็เป็นช่วงเวลาที่ชุมชนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ เนื่องจากที่พี่ตั้มเป็นคนบ้านนาเมืองโดยกำเนิด และมีความสามารถในการพูดที่น่าฟัง มีมารยาทดี มีความสุภาพ มีความน่าเชื่อถือ ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลนครชุมเล็งเห็นถึงความสามารถของพี่ตั้ม จึงให้รับผิดชอบในหน้าที่นี้
วัตถุประสงค์ของการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ที่ชุมชนบ้านนาเมือง
- เพื่อให้นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้ในความแตกต่างทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่ไม่เหมือนที่อื่น ๆ เช่น การเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมของอาหารท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น เป็นต้น
- เพื่อให้นักท่องเที่ยวจะได้ประสบการณ์ที่แปลกใหม่ในการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์
- เพื่อให้นักท่องเที่ยวจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมกับชุมชน เพื่อให้สามารถสัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนได้มากขึ้น เช่น การประกอบอาหารคาวหวานร่วมกับเจ้าของโฮมสเตย์
- เพื่อให้นักท่องเที่ยวจะได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นเสมือนไปพักผ่อนที่บ้านญาติ
ปฏิทินการท่องเที่ยวตำบลนครชุม อำเภอนครไทย
เดือน | กิจกรรมแต่ละเดือนของแหล่งท่องเที่ยวนครชุม |
มกราคม-มีนาคม |
ปั่นชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ชมพิพิธภัณฑ์คุณตาช่วง ชมต้นตะเคียนยักษ์ เรียนรู้วิถีการทำไม้กวาดดอกหญ้า เรียนรู้การทำอาหารพื้นบ้าน เช่น หลามไก่ ไข่ป่าม ตอนเช้าเดินขึ้นเขาไปชมทะเลหมอกที่เขาโปกโล้น ชมพระอาทิตย์ขึ้น ศึกษาระบบนิเวศและเส้นทางธรรมชาติ ชมพืชพรรณไม้ป่าและยืนต้น |
เมษายน |
ปั่นชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ชมพิพิธภัณฑ์คุณตาช่วง ชมต้นตะเคียนยักษ์ เรียนรู้วิถีการทำไม้กวาดดอกหญ้า ศึกษาการเรียนรู้ต้มเกลือสินเธาว์จากภูมิปัญญาชาวบ้าน เรียนรู้การทำอาหารพื้นบ้าน เช่น หลามไก่ ไข่ป่าม ตอนเช้าเดินขึ้นเขาไปชมทะเลหมอกที่เขาโปกโล้น ระหว่างทางจะมีต้นไม้เพื่อให้ศึกษาธรรมชาติ ทุกวันที่ 13 เมษายน ของทุกปีจะมีงานประเพณีปักธงปฐมฤกษ์ที่บนเขาโปกโล้นของทุกปี |
พฤษภาคม |
ปั่นชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ชมพิพิธภัณฑ์คุณตาช่วง ชมต้นตะเคียนยักษ์ เรียนรู่วิถีการทำไม้กวาดดอกหญ้า เริ่มเข้าสู่ฤดูการทำนานักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้การทำนาของคนชนบทได้ เรียนรู้การทำอาหารพื้นบ้าน เช่น หลามไก่ ไข่ป่าม ต้อนเช้าเดินขึ้นเขาไปชมวิวบนเขาโปกโล้นระหว่างทางจะมีต้นไม้เพื่อให้ศึกษาธรรมชาติ เดือนพฤษภาคมของทุกปีซึ่งคนในชุมชนถือฤกษ์ เดือน 6 ขึ้น 6 ค่ำ จะมีประเพณีเลี้ยงปู่นักท่องเที่ยวสามารถร่วมประเพณีได้ |
มิถุนายน-ธันวาคม |
ปั่นชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ชมพิพิธภัณฑ์คุณตาช่วง ชมต้นตะเคียนยักษ์ เรียนรู่วิถีการทำไม้กวาดดอกหญ้า เรียนรู้การทำนาของคนชนบท เรียนรู้การทำอาหารพื้นบ้าน เช่น หลามไก่ ไข่ป่ามต้อนเช้าเดินขึ้นเขาไปชมวิวบนเขาโปกโล้นระหว่างทางจะมีต้นไม้เพื่อให้ศึกษาธรรมชาติ |
(ข้อมูลจากบอร์ดประชาสัมพันธ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลนครชุม ข้อมูล ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2561)
คณะกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบโฮมสเตย์ของชุมชนบ้านนาเมือง ตำบลนครชุม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งนับว่าเป็นบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนและยกระดับของโฮมสเตย์ในชุมชนให้มีมาตรฐานมากขึ้น
ชื่อ – นามสกุล | ตำแหน่ง |
นายสถาพร พุ่มไสว | ประธานกลุ่มโฮมสเตย์ (หน้าที่รับจองโฮมสเตย์) |
นางพิมณิภา แสงสุข | รองประธานกลุ่มโฮมสเตย์ |
นางติ่ง สีหะวงษ์ | เลขานุการกลุ่มโฮมสเตย์ |
(ข้อมูล ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2561)
ขนบธรรมเนียม ประเพณี และศิลปวัฒนธรรม ที่สำคัญในเขตพื้นที่ตำบลนครชุม ได้แก่
- งานวันผู้สูงอายุ (รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ) และงานวันสงกรานต์ : เดือนเมษายน
- งานประเพณีปักธงปฐมฤกษ์ (เขาปกโล้น) : เดือนเมษายน
- งานประเพณีบวงสรวงปู่หลวงนครชุม : เดือนพฤษภาคม
- งานประเพณีแห่เทียนพรรษา : เดือนกรกฎาคม
- งานประเพณีบุญบั้งไฟ : เดือนตุลาคม
- งานประเพณีเทศน์มหาชาติ : เดือนตุลาคม
- งานลอยกระทง : เดือนพฤศจิกายน
ผลิตภัณฑ์และสินค้า OTOP จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้แก่
- เกลือสปา
- เครื่องจักรสาน
ภาษาในชุมชน ภาษาพูด ใช้ภาษาไทยที่ออกสำเนียงท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างปานกลาง การสังเกตแบบมีส่วนร่วม และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม พบว่าชุมชนแห่งนี้สถานการณ์ การเปลี่ยนแปลง ความท้าทาย และการมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชนที่น่าสนใจในประเด็นความพร้อมของชุมชนในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ซึ่งแบ่งเป็นองค์ประกอบภายนอกและองค์ประกอบภายใน โดยมีรายละเอียดดังนี้
องค์ประกอบภายใน
1.ด้านการบริหารจัดการ
การบริหารจัดการมีการจัดตั้งกลุ่มโฮมสเตย์ขึ้น เพื่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาสนับสนุน โดยหน่วยงานหลักคือ ททท. ที่เข้ามาสนับสนุนในเรื่องกิจกรรม และองค์การบริหารส่วนตำบลนครชุม ก็จะคอยทำหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ และจัดการความเรียบร้อยในชุมชนเป็นอย่างดี โดยการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนส่วนใหญ่มักจะได้รับความร่วมจากคนในชุมชนเป็นอย่างดี ตัวแทนเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลนครชุมเล่าว่า
"ที่ผ่านมาก็มีทุนสนับสนุนจาก สกว. มาให้ทำวิจัยในชุมชน เพื่อให้ทราบถึงความเป็นไปเป็นมาของชุมชน ส่วนเรื่องของการจัดการโฮมสเตย์ก็มีอุปนายกของ ททท. เข้ามาอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำโฮมสเตย์ รวมถึงการคิดอัตราค่าบริการต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสม"
โฮมสเตย์ในหนึ่งหลังจะพักได้ประมาณ 10-15 คน โดยอัตราค่าบริการในปัจจุบัน คือ
- นอนพัก 1 คืน มีบริการอาหาร 2 มื้อ คือมื้อเช้าและมื้อเย็น มีค่าบริการอยู่ที่ 450 บาท/คน
- นอนพัก 1 คืน มีบริการอาหาร 1 มื้อ คือมื้อเช้า มีค่าบริการอยู่ที่ 350 บาท/คน
- นอนพัก 1 คืน ไม่มีบริการอาหาร มีค่าบริการอยู่ที่ 250 บาท/คน
- ถ้าเป็นเด็กอายุไม่เกิน 10 ขวบ ไม่มีค่าบริการ
- ค่าบริการรถอีแต๊กพาไปชมเขาโปกโล้น ชมทะเลหมอก จะเป็นราคาเหมา 200 บาท/คัน
สำหรับการบริหารจัดการโฮมสเตย์จะใช้เป็นระบบหมุนเวียนตามลำดับ แต่นักท่องเที่ยวก็สามารถระบุโฮมสเตย์หลังที่ต้องการได้ แต่โฮมสเตย์หลังที่โดนระบุก็จะถูกตัดสิทธิ์ในระบบหมุนเวียนรอบนั้นไป ซึ่งการทำแบบนี้จะสามารถกระจายรายได้ไปสู่โฮมสเตย์ทุก ๆ หลัง เมื่อเดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมและจัดตั้งกลุ่มโฮมสเตย์ขึ้นแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนอย่างเป็นทางการ โดยมีประธานและฝ่ายต่าง ๆ ดังนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2561)
- นายสถาพร พุ่มไสว ประธานกลุ่มโฮมสเตย์ (หน้าที่รับจองโฮมสเตย์)
- นางพิมณิภา แสงสุข รองประธานกลุ่มโฮมสเตย์
- นางติ่ง สีหะวงษ์ เลขานุการกลุ่มโฮมสเตย์
2.ด้านแหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรม
ด้านแหล่งท่องเที่ยว ชุมชนมีต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่ดี เหมาะกับการไปพักผ่อนและชมธรรมชาติ โดยการท่องเที่ยวที่ชุมชนบ้านนาเมืองนั้นเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวทุกรูปแบบ ทั้งนักท่องเที่ยวที่ชอบศึกษาธรรมชาติ นักท่องเที่ยวที่ชอบแนวท้าทาย ปีนเขา นักท่องเที่ยวที่ชอบแนวเรียนรู้วิถีชีวิต โดยสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นจุดเด่นของบ้านนาเมืองคือ เขาโปกโล้นที่เหมาะกับนักท่องเที่ยวที่ชอบความท้าทายและนักท่องเที่ยวที่ชอบศึกษาธรรมชาติ เพราะบนเขาโปกโล้นมีธรรมชาติที่สวยงาม มีพืชพรรณธรรมชาติของท้องถิ่น
นอกจากนี้บนยอดเขาจะมีจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นหมู่บ้านที่ถูกโอบล้อมโดยภูเขา และในยามเช้าของช่วงปลายฝนต้นหนาว คือ ระหว่างเดือนตุลาคม ถึง มีนาคม ก็จะมีทะเลหมอกให้สัมผัส และยังสามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้าที่เขาโปกโล้นได้อีกด้วย และด้านวัฒนธรรม ชุมชนมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิถีชีวิตของคนในชุมชน ทั้งการมีส่วนร่วมในการดำนา ปลูกข้าว เรียนรู้วิถีการทำการเกษตร การเข้าไปมีส่วนร่วมในประเพณีของชุมชน และการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียนรู้การประกอบอาหารและขนมพื้นบ้าน เช่น หลามไก่ ไก่เขย่า ไข่ป่าม ยำถั่วแปลบใส่หอยขม ขนมตาล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมปั่นชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ปั่นไปชมพิพิธภัณฑ์คุณตาช่วง และไปชมต้นตะเคียนยักษ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธาตัวแทนชาวบ้านเล่าว่า
"ชุมชนของเรามีธรรมชาติที่สวยงาม บรรยากาศดี มีทะเลหมอก มันก็ถือว่าดีถ้าจะเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว"
"อาหารที่นี่ก็มีหลากหลาย มีความโดดเด่นที่ไม่เหมือนใคร อย่างไข่ป่าม ไก่เขย่า หลามไก่ อย่างเนี้ยก็คิดว่าที่อื่นก็ไม่น่าจะมี ถึงมีรสชาติก็คงไม่เหมือนกัน"
3.ด้านที่พักและอาหาร
ด้านที่พักมีความพร้อมเป็นอย่างมาก และเพียงพอต่อนักท่องเที่ยว ที่พักไม่ว่าจะเป็นบริเวณรอบที่พัก ห้องนอน ห้องน้ำ ที่รับประทานอาหาร มีความสะอาด และมีความปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้แก่นักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ น้ำดื่ม เครื่องดื่ม เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องนอน ที่บริการแก่นักท่องเที่ยว ถ้านักท่องเที่ยวต้องการสิ่งใดเพิ่มเติมก็สามารถขอทางเจ้าของโฮมสเตย์ได้ตลอด ทางโฮมสเตย์ยินดีที่จะคอยให้บริการ โดยตัวแทนผู้ประกอบธุรกิจโฮมสเตย์เล่าว่า
"โฮมสเตย์หลังนี้ นายช่างเป็นคนออกแบบให้ทุกอย่าง ซึ่งมันก็มีความเป็นมาตรฐานกว่าที่ชาวบ้านสร้างกันเองทั่วไป สามารถใช้ประโยชน์ในทุกพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอต่อนักเที่ยว"
ด้านอาหาร มีความพร้อมและมีหลากหลายให้ได้รับประทาน ถ้าขาดเหลือหรือต้องการสิ่งใดเพิ่มก็สามารถบอกกับเจ้าของโฮมสเตย์ได้ อาหารมีความสะอาด วัตถุดิบที่มาทำอาหารก็เป็นวัตถุดิบธรรมชาติที่หาได้จากชุมชน เมนูแต่ละเมนูก็เป็นอาหารในท้องถิ่นถิ่น ซึ่งอาหารที่รับประทานบางอย่างนั้นนักท่องเที่ยวจะมีส่วนร่วมในการประกอบอาหารด้วย อาหารประจำถิ่นอย่างหนึ่งที่นักท่องเที่ยวจะได้ร่วมทำ คือ ไข่ป่าม เป็นการนำไข่ที่ตีแล้วไปเจียวบนใบตองที่วางในกระทะโดยไม่ใช่น้ำมัน ไข่จะออกมาลักษณะที่นุ่ม หอม น่ารับประทานอย่างมาก ในช่วงที่ผู้วิจัยไปเก็บข้อมูลนั้นเป็นช่วงฤดูฝน ทำให้ได้รับประทานหน่อไม้หวานจากต้นไผ่ในชุมชนกับน้ำพริกกะปิ ซึ่งพวกเราพบว่าหน่อไม้มีรสชาติที่หวานกรอบอร่อยและสดมาก ตัวแทนผู้ประกอบธุรกิจโฮมสเตย์เล่าว่า
"อาหารที่นี่จะเน้นอาหารพื้นถิ่น ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นตามฤดูกาล ใส่ใจทุกขั้นตอน”
และตัวแทนเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลนครชุมเล่าว่า
“นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมปั่นชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ปั่นไปชมพิพิธภัณฑ์คุณตาช่วง และไปชมต้นตะเคียนยักษ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธา"
สิ่งอำนวยความสะดวกของชุมชนพบว่ายังไม่ค่อยพร้อมนัก เนื่องจากการเดินทางค่อนข้างลำบาก เพราะไม่มีรถประทำทางที่เข้ามาในชุมชนโดยตรงทำให้นักท่องเที่ยวที่ไม่มีรถส่วนตัวต้องโบกรถขึ้นมา และก็ไม่รู้เวลาว่าชาวบ้านจะเข้า-ออก จากหมู่บ้านในช่วงไหน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในหมู่บ้านก็ยังไม่ค่อยมีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของร้านอาหารตามสั่งในหมู่บ้านที่ค่อนข้างจะหายาก ทำให้นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้พักโฮมสเตย์ ไม่ได้รับความสะดวกสบายในด้านนี้ รวมทั้งเรื่องห้องน้ำสาธารณะในชุมชนก็ยังไม่มีบริการให้สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเช้าเย็นกลับ
4.ด้านความปลอดภัย
ชุมชนนาเมืองมีความพร้อมในเรื่องของความปลอดภัยเป็นอย่างมาก เพราะในชุมชนมีสถานีตำรวจอยู่ในตัวชุมชน ตัวแทนชาวบ้านเล่าว่า "ชุมชนนาเมืองก็ไม่เคยมีเหตุการณ์ในเรื่องของการลักทรัพย์ การทะเลาะวิวาท เป็นชุมชุมเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น"
5.ด้านประชาสัมพันธ์
การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวของชุมชน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน พบว่ายังไม่ค่อยพร้อมนัก เพราะการประชาสัมพันธ์เรื่องแผนที่บ้านนาเมืองที่แสดงถึงจุดที่ตั้งของโฮมสเตย์และแหล่งท่องเที่ยวว่าอยู่จุดใดของชุมชนยังไม่มีอยู่ในชุมชน ตัวแทนเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลนครชุมเล่าว่า
"แผนที่ชุมชนได้มีการทำขึ้นมาแล้วแต่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แต่ไม่ได้มีการนำมาไว้ตามเส้นทางในชุมชน เลยทำให้นักท่องเที่ยวไม่รู้"
แต่อย่างไรก็ตามก็มีการประชาสัมพันธ์ของ ททท. และการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างเช่น รายการทีวี เพจ Facebook website และการบอกต่อจากนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวนครชุม โดยตัวแทนอาสาสมัคร ททท. ในท้องถิ่นเล่าว่า
"การประชาสัมพันธ์ของเราก็มีความพร้อมพอสมควร ตอนนี้ก็มีรายการทีวีเริ่มเข้ามาถ่ายทำ อย่างรายการ อนุวัต จัดให้ และรายการเปรี้ยวปาก ที่เพิ่งมาถ่ายทำเมื่อต้นปี ส่วนเพจ Facebook และพวก website ก็มีรีวิวเกี่ยวกับที่นี่ค่อนข้างมีกระแสตอบรับที่ดี"
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. เข้ามาในปี 2559 โดยนายสุรินทร์โรจน์ ศรีสังข์ ปลัด อบต.นครชุม เป็นผู้ที่ติดต่อให้ ททท. เข้ามาให้การสนับสนุนในกิจกรรมปั่นพิชิตร่องเขา ชมทะเลหมอก พักโฮมสเตย์ สัมผัสพื้นเพนครชุม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2559 และกิจกรรมวิ่งทะลุหมอกร่องเขานครชุม เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2562 รวมถึงสนับสนุนในเรื่องการอบรมความรู้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจโฮมสเตย์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. เข้ามาเมื่อปี 2559 เข้ามาสนับสนุนโดยให้ทุนทำวิจัยชุมชน เพื่อเป็นการให้ชุมชนมีข้อมูลต่าง ๆ ของชุมชน เช่น ประวัติความเป็นมาของชุมชน อาหารท้องถิ่น วัฒนธรรมท้องถิ่น ทรัพยากรและแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการไปศึกษาดูงานในที่อื่น ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ สกว. เข้ามาสนับสนุนชุมชน เนื่องจากเห็นว่าชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลงชุมชนมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ทาง สกว. จึงอยากเข้ามาให้การสนับสนุน
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เข้ามาเมื่อปี 2561 โดยเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมวิ่งทะลุหมอกร่องเขานครชุม เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2562 และสนับสนุนการทำป้ายประชาสัมพันธ์ ป้ายบอกเส้นทาง ในกิจกรรมนี้
ส่วนสื่อต่าง ๆ ทั้งรายการทีวี สำนักข่าวต่าง ๆ ที่เข้ามาสนับสนุนในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวให้กับชุมชนด้วย
6.ข้อมูลที่น่าสนใจอื่น ๆ
ตำบลนครชุม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก นอกจากมีธรรมชาติที่สวยงาม มีการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ที่เป็นจุดเด่น ไม่เพียงแค่เท่านี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ควรแก่การศึกษาและเก็บข้อมูลเพื่อเป็นข้อมูลชุมชนต่อไป อย่างเช่น พิพิธภัณฑ์คุณตาช่วง ต้นตะเคียนยักษ์ วิธีการต้มเกลือสินเธาว์จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ประเพณีเลี้ยงปู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี (เดือน 6 ขึ้น 6 ค่ำ) และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศาสนาและความเชื่อของคนในชุมชน ได้แก่ หลวงพ่อหิน หินรอยพระร่วง รอยพระบาทหิน หุบเขาย่าปุก น้ำบ่อทอง บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น
กนกวรรณ เกิดพิน. (2556). การศึกษาการเปลี่ยนแปลงจากการใช้ต้นแบบการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนของชุมชนบ้านร่องกล้า อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก. วิทยานิพนธ์ ศศ.ม., มหาวิทยาลัยนเรศวร, พิษณุโลก
ฉัตรดนัย ใจเสงี่ยม. (2555). ศักยภาพการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา ชุมชนเกาะเกิด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. วิทยานิพนธ์ ศศ.ม., มหาวิทยาลัยนเรศวร, พิษณุโลก
มาศศุภา นิ่มบุญจาช. (2559). การศึกษาองค์ประกอบทางการท่องเที่ยวและการมีส่วนร่วมของชุมชน ที่มีผลต่อความยั่งยืนทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเขาสันหนอกงัง (อุทยานแห่งชาติเขาแหลม). วิทยานิพนธ์ บธ.ม., มหาวิทยาลัยศิลปากร, นครปฐม
วีระพล ทองมา. (2547). การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism : CBT) สำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในเขตที่ดินป่าไม้. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2560. https://www.dnp.go.th
องค์การบริหารส่วนตำบลนครชุม. (2559). ประวัติความเป็นมา. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2560. http://www.nakronchum.go.th/
องค์การบริหารส่วนตำบลนครชุม. (2559). สภาพทั่วไป/ข้อมูลพื้นฐาน. สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2560. http://www.nakronchum.go.th/
โฮมสเตย์ไทย. (ม.ป.ป.). มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย. สืบค้นเมื่อ 3 กันยายน 2560. http://www.homestaythai.net/
Dockaturk. (2559). 7 ข้อดี ชวนหนีเที่ยวโฮมสเตย์. สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2560. https://www.tripchiangmai.com/
Phitsanulokhotnews. (2559). ขึ้นผาโปกโล้น ชมทะเลหมอก ร่องเขาแห่งนครชุม อ.นครไทย จ.พิษณุโลก. สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2560, https://www.phitsanulokhotnews.com/
ครูเรข, สัมภาษณ์, 1 สิงหาคม 2561