
ชุมชนป่าแดงมีชาติพันธุ์ไทยพวน ทุกปีชุมชนจัดงานประเพณีพิธีกำฟ้า ที่นับถือฟ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่บนฟ้า ชุมชนมีกลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่สามกษัตริย์ ไหมมัดหมี่ทั้งตัว และไหมหมี่เปี้ยง ในหมู่บ้านมีการรวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านป่าแดง”
สมัยก่อนชุมชนแห่งนี้เต็มไปด้วยป่าและมีต้นแดงซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่จำนวนมาก จึงนิยมเรียกกันติดปากว่า “ชุมชนบ้านป่าแดง” ซึ่งเป็นชุมชนที่เรียกรวมกันทั้ง 3 หมู่บ้านที่มีคำว่า “ป่าแดง” โดยยึดโยงกับกลุ่มคนชาติพันธุ์ไทยพวนที่อาศัยอยู่ใน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านป่าแดงเหนือ, หมู่ 6 บ้านป่าแดงใต้ และหมู่ 7 บ้านป่าแดง
ชุมชนป่าแดงมีชาติพันธุ์ไทยพวน ทุกปีชุมชนจัดงานประเพณีพิธีกำฟ้า ที่นับถือฟ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่บนฟ้า ชุมชนมีกลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่สามกษัตริย์ ไหมมัดหมี่ทั้งตัว และไหมหมี่เปี้ยง ในหมู่บ้านมีการรวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านป่าแดง”
ชุมชนบ้านป่าแดงทั้ง 3 หมู่บ้านในปัจจุบัน ก่อตั้งครั้งแรกอย่างเป็นทางการในชื่อบ้านป่าแดงเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2457 จากการอพยพโยกย้ายของคนจำนวน 15 ครอบครัว และพระภิกษุ สามเณร ติดตามมาอีก 7 รูป ซึ่งเดินทางจากอำเภอบ้านหมี่และอำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ด้วยสาเหตุภาวะความแห้งแล้ง ทำเกษตรไม่ได้ผล ทำให้ต้องหาที่อยู่ที่กินแหล่งใหม่ที่อุดมสมบูรณ์กว่า ผู้อพยพกลุ่มแรกเดินทางขึ้นเหนือมาด้วยเกวียนจนมาเจอพื้นที่บ้านป่าแดงที่อุดมไปด้วยป่าไม้และแหล่งน้ำหลายแห่ง จึงตัดสินใจเลือกพื้นที่นี้เป็นที่ปักหลักของชีวิตต่อไป ต่อมาญาติพี่น้องของ 15 ครอบครัวดังกล่าวได้ย้ายตามมาอยู่รวมกันอีกเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งต่อมาทางการปกครองได้มีการแยกหมู่บ้านป่าแดงออกเป็น 3 หมู่ ได้แก่ หมู่ที่ 1 ชื่อหมู่บ้านป่าแดงใต้ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2457 และเมื่อ พ.ศ. 2527 ได้แยกออกเป็นหมู่ที่ 6 ชื่อหมู่บ้านป่าแดงเหนือ และเมื่อ พ.ศ. 2530 ได้แยกเป็นหมู่ที่ 7 ชื่อหมู่บ้านป่าแดง ปัจจุบันชุมชนบ้านป่าแดงทั้ง 3 หมู่นี้มีผู้อาศัยอยู่มากกว่า 2,000 คน จากการสัมภาษณ์ชาวไทยพวนในชุมชนบ้านป่าแดงที่อพยพมาจากบ้านหมี่ พบว่าช่วงแรกที่อยู่ในชุมชนบ้านป่าแดงยังไม่มีอาชีพ แต่ครอบครัวรุ่นแรกที่ย้ายมาได้นำเอาพลอยจากบ้านหมี่มาเจียระไน ทำให้เห็นว่าช่วงแรกที่อพยพเข้ามาใหม่ๆ ยังคงติดต่อกับชาวไทยพวนบ้านหมี่อยู่เป็นประจำ จนกระทั่งกิจการเจียระไนพลอยซบเซาลง ในขณะที่ข้าวมีราคาเพิ่มขึ้น คนในชุมชนจึงทุ่มเทให้กับการทำนาผลิตข้าวมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการทำงานรับจ้างที่เกิดขึ้นทั้งภายในและนอกชุมชน ตลอดจนการมีอาชีพเสริมต่างๆ ที่สามารถทำอยู่กับบ้าน เช่น การผลิตผ้าทอลายพื้นเมือง การจักสานเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้น
ชุมชนบ้านป่าแดง ตั้งอยู่ในตำบลหนองพยอม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เป็นชุมชนหนาแน่นขนาดใหญ่ มีประชากรคนพวนอาศัยจำนวนมาก จนแยกออกเป็น 3 หมู่ คือ หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 7 ทั้ง 3 หมู่บ้านนี้ล้อมรอบไปด้วยทุ่งนา ห่างออกไปประมาณ 3-10 กิโลเมตรจึงจะพบหมู่บ้านอื่นๆ และตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอตะพานหินประมาณ 5 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดพิจิตร ประมาณ 33 กิโลเมตร บ้านป่าแดงมีบริเวณล้อมรอบเป็นทุ่งนา
อาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลหัวดง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร
- ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลตะขบ อำเภอตะพานหิน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลวังหลุม อำเภอตะพานหิน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลงิ้วราย อำเภอตะพานหิน (องค์การบริหารส่วนตำบลหนองพยอม, 2549)
ชุมชนป่าแดงมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มและที่ดอนสลับกันไป บริเวณที่ตั้งบ้านเรือนจะเป็นที่ดอน และวงรอบถัดจากใจกลางหมู่บ้านออกไปจะเป็นพื้นที่ทำนา มีเนื้อที่ประมาณ 39,900 ไร่ การทำนาของชาวบ้านส่วนใหญ่อาศัยนํ้าจากแหล่งธรรมชาติ มีลำคลองห้วยเกตุ ลำคลองไดประดู่ และลำคลองไดหัวจ้อย ไหลผ่านพื้นที่นา และชาวบ้านป่าแดงส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนบริเวณริมลำคลองตลอดตามความยาวของลำคลองที่ไหลผ่านหมู่บ้าน
ในเดือนมิถุนายน 2567 ข้อมูลกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รายงานว่าชุมชนบ้านป่าแดงมีประชากรทั้ง 3 หมู่บ้าน รวมกันจำนวน 2,134 คน แบ่งเป็นหมู่ที่ 1 บ้านป่าแดงเหนือ จำนวน 705 คน หมู่ที่ 6 บ้านป่าแดงใต้ จำนวน 635 คน และหมู่ที่ 7 บ้านป่าแดง จำนวน 794 คน หมู่บ้านทั้ง 3 ประกอบด้วยคนไทพวนประมาณร้อยละ 80 ซึ่งเป็นเครือญาติกันโดยสายเลือดและโดยการแต่งงานกันระหว่างตระกูล ตระกูลใหญ่ๆ ในชุมชนป่าแดง ได้แก่ เรืองรุ่ง นันทวงษ์ บุระตะ และสิบปุด และอีกประมาณร้อยละ 20 เป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่เข้ามาแต่งงานกับคนในหมู่บ้านและคนที่เข้ามาอาศัยอยู่เพิ่มเติม กลุ่มที่พบมาก ได้แก่ กลุ่มคนไทยพิจิตร กลุ่มคนลาวสระบุรี อย่างไรก็ตาม ทุกคนในบ้านป่าแดงต่างพึ่งพาอาศัยและมีความร่วมมือร่วมใจในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันเสมอ ดังคำสัมภาษณ์ของขนิษฐา ค้ำชู ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 (สัมภาษณ์, ขนิษฐา ค่ำชู, 27 สิงหาคม 2567)
บ้านป่าแดงไม่ใช่คนพวน 100% แล้ว ตอนนี้มีไทยมีลาวเข้ามาอยู่ด้วยกัน แต่รวมๆ ก็คือบ้านป่าแดง เป็นบ้านใหญ่ เวลามีงานอะไรเค้าจะร่วมแรงร่วมใจกันดี ด้วยความที่เรามีวัดมีโรงเรียนอยู่ในหมู่บ้าน การที่เราจะทำอะไรมันก็ต้องใช้ความสามัคคีกันเนาะ อย่างหมู่ 1 กับหมู่ 7 อยู่คนละฝั่งคลองแต่ใช้วัดเดียวกัน คือวัดป่าแดงเหนือ แต่ป่าแดงใต้จะมีวัดอีกวัดหนึ่ง ที่นี่มี 2 วัด และ 1 โรงเรียน เราเป็นตำบลหนองพยอม เมื่อก่อนเป็น อบต. แล้วก็ขยับขยายเป็นเทศบาล มี 11 หมู่บ้าน โรงเรียนในหนองพะยอมก็มีแค่ 2 โรงเรียน คือโรงเรียนวัดป่าแดง กับโรงเรียนที่อยู่ที่เขาอีกโรงเรียนหนึ่ง แค่ ป.6 เด็กก็จะมาจากทางหมู่ 5 หมู่ 9 บ้านเขาพนมกาว ส่วนเด็กแถบนี้ก็จะเรียนอยู่ที่นี่แหละ ที่นี่เป็นโรงเรียนขยายโอกาสจนถึง ม.3
ไทยพวนชุมชนบ้านป่าแดงมีกลุ่มอาชีพที่เรียกว่า “กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านป่าแดง” มีความเป็นมาตั้งแต่สมัยที่ผู้หญิงในชุมชนยังทอผ้าเพื่อใช้ประโยชน์ภายในครัวเรือนเท่านั้น ต่อมาการทำนามีต้นทุนสูงขึ้น ราคาข้าวลดลงและไม่มีความแน่นอน ทำให้รายได้ครัวเรือนไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตประจำวัน กลุ่มผู้หญิงที่มีฝีมือด้านการทอผ้าจึงริเริ่มการทอผ้าเป็นอาชีพหารายได้เสริม ในสมัยแรกยังเป็นการทอผ้าที่ต่างคนต่างทอและต่างขาย ทำให้เกิดปัญหาการขายตัดราคาและปัญหาเรื่องราคาด้ายทอผ้าในตลาดสูงขึ้นมาก ทำให้มีการร่วมคิดร่วมกันแก้ปัญหาจนเกิดการรวมกลุ่มทอผ้าขึ้นมาเพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง รวมทั้งยังเป็นการช่วยกนฟื้นฟูและอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวไทพวนให้คงอยู่ต่อไป
กลุ่มทอผ้าได้รับการจัดตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอตะพานหิน และในปี พ.ศ. 2538 สำนักงานสหกรณ์อำเภอตะพานหินร่วมกับสหกรณ์การเกษตรตะพานหิน จำกัด ได้สนับสนุนให้จัดตั้งกลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านป่าแดง มีสมาชิกจำนวน 60 ราย ในการทอผ้าไหมขึ้นมา เป็นการทอผ้าที่เรียกว่า “ผ้าไหมมัดหมี่” และได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร จึงถือว่าเป็นอาชีพเสริมที่สามารถสร้างรายได้ได้เป็นอย่างดี ผ้าไหมมัดหมี่ทอมือบ้านป่าแดงถือว่าเป็นศิลปะเฉพาะตัวที่มีความเป็นเอกลักษณ์และมีคุณภาพอย่างมาก กระบวนการทอผ้ามัดหมี่ของชาวไทยพวนมักจะทำกันเฉพาะด้าน ได้แก่ การทอ การมัดหมี่ การเดินด้าย การเก็บเหา การหวีเครือ ไหมที่ใช้เป็นไหมประดิษฐ์จากกรุงเทพ ฯ ในปัจจุบันได้ใช้สีย้อมทางวิทยาศาสตร์แทนการย้อมโดยธรรมชาติ ผ้าไหมมัดหมี่ที่บ้านป่าแดงมีหลายชนิดด้วยกัน เช่น ผ้าไหมมัดหมี่สามกษัตริย์แบบทั้งใส่ดิ้นและไม่ใส่ดิ้น (แบบไม่ใส่ดิ้นมีลักษณะการสอดไหมหรือด้ายสลับกันไป) หมี่ใหญ่ หมี่เบี่ยง หมี่ทั้งตัว หมี่ถี่ หมี่ย้อย หมี่ซะ และหมี่สอด หมี่ทุกชนิดที่กล่าวมามีลวดลายเลียนแบบต้นไม้และดอกไม้ธรรมชาติ ลายเรขาคณิตและลายประยุกต์โดยนำลวดลายจากท้องถิ่นอื่นมาผสม อาทิเช่น ลายนาค ลายดอกมะตุ้ม ลายดอกพิกุล ลายดอกฉัตร เป็นต้น
ปัจจุบันชาวไทยพวนบ้านป่าแดงยังคงใช้ผ้าขิดสมัยโบราณที่สืบทอดต่อกันมายังรุ่นลูกรุ่นหลานในพิธีต่างๆ เช่น ผ้าคลุมหัวนาคใช้คลุมในพิธีบวชพระ ปลอกหมอนลายขิดใช้ในกองบวชหรือถวายพระในเทศกาลทอดกฐิน ผ้าม่วงเดิมเป็นผ้าที่เจ้าบ่าวใช้นุ่งในพิธีแต่งงาน แต่ปัจจุบันนำมาเป็นผ้าคลุมพานขันหมากเอก ในพิธีกำฟ้าหญิงชาว ไทยพวนจะคาดสไบแจ้มองซึ่งเป็นผ้าที่ใช้คาดหน้าอกและใช้ผ้าคล้องคอซึ่งเป็นผ้าสีต่างๆ ผ้าถุงใช้ผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ นอกจากที่กล่าวมาวัฒนธรรมและการทอผ้าของไทยพวน ยังสะท้อนให้เห็นในรูปของคำพังเพย การละเล่น และความเชื่อที่ว่าวันใดที่มีคนตายในหมู่บ้านหรือในช่วงพิธีกำฟ้า ชาวบ้านจะงดการทอผ้าในวันนั้นทันที มิฉะนั้นคนในบ้านอาจได้รับอันตราย แต่ในปัจจุบันความเชื่อนี้เริ่มลดน้อยลง เหลือเพียงแค่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังคงมีความเชื่อนี้อยู่
ในอดีต วิถีชีวิตของคนพวนบ้านป่าแดงไม่ต่างจากชุมชนชนบททั่วไป มีการหาอยู่หากินตามธรรมชาติ หาปูหาปลา เก็บผักในป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ และผักพื้นบ้านต่างๆ คนพวนบ้านป่าแดงมีอาหารประจำท้องถิ่นที่มีติดบ้านกินเป็นประจำ ได้แก่ ปลาร้า ปลาจ่อม ผ่อแจ๋ว (น้ำพริก) ห่อหมก ส่วนอาหารที่นิยมทำในงานเทศกาลงานบุญต่างๆ ได้แก่ ข้าวปุ้น ข้าวจี่ ข้าวหลาม ขนมกงแหน ข้าวโล้ง ดาดกระทะ ปัจจุบัน อาหารการกินของคนบ้านป่าแดงเปลี่ยนไป เนื่องจากพื้นที่ป่าถูกแทนที่ด้วยบ้านเรือนและไร่นา ทำให้แหล่งอาหารธรรมชาติลดลง ทำให้คนบ้านป่าแดงหาอาหารจากธรรมชาติน้อยลง และต้องซื้ออาหารจากตลาดและร้านค้ามากขึ้น
สำหรับด้านที่อยู่อาศัย สมัยก่อนบ้านคนไทยพวนจะปลูกเป็นเรือนสูง มีตั้งแต่ 3 ห้องขึ้นไปตามความเหมาะสมของครอบครัว ใต้ถุนเรือนใช้ทำประโยชน์ได้หลายอย่าง แต่เดิมการปลูกสร้างบ้านเรือนไม่นิยมจ้างกัน แต่จะขอแรงญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านมาช่วยปลูกสร้างเฉพาะส่วนสำคัญและเมื่อสร้างบ้านเสร็จก็จะต้องมีการขึ้นบ้านใหม่ การปลูกสร้างบ้านเรือนของชาวไทยพวนบ้านป่าแดงส่วนใหญ่เป็นรูปทรงบ้านไทยสมัยโบราณ โดยเป็นบ้านยกใต้ถุนสูง มีประตูหน้าต่าง มีนอกชานเพื่อรับลมในฤดูร้อน ใต้ถุนจะใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ วัว ควาย หมู หมา บริเวณรอบบ้านจะปลูกต้นไม้ผลและไม้ดอกเป็นร่มเงา รั้วบ้านจะใช้ไม้เสาหลักปักละปลูกต้นไม้เป็นรั้วรอบบริเวณบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไม้เลื้อยหรือไม้ล้มลุก ที่สามารถกินเป็นอาหารได้ เช่น กระถิน ชะอม มะขาม ตำลึง ผักปลัง เป็นต้น ในปัจจุบัน บ้านเรือนทรงโบราณที่เก่าทรุดโทรมได้รับซ่อมแซมหรือสร้างใหม่ด้วยปูนและเหล็ก โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบบ้านให้ง่ายหรือสะดวกต่อการสร้างมากขึ้น บ้านเรือนสมัยนี้จึงไม่นิยมยกพื้นและมีใต้ถุนบ้าน เนื่องจากไม่มีการเลี้ยงสัตว์ที่ใต้ถุนบ้านเหมือนในอดีต อย่างไรก็ตาม แต่ละบ้านยังคงมีการปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้เหมือนเดิม เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ และพืชผักพื้นบ้านบางชนิดไม่สามารถหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด
นอกจากนี้ คนบ้านป่าแดงมีการผลิตอาหารจากการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และทำนาปลูกข้าวโดยอาศัยน้ำฝนและน้ำตามธรรมชาติปีละ 1 ครั้ง สมัยที่ยังไม่มีเครื่องมือทันสมัย คนในชุมชนยังใช้วัวหรือควายไถนา ในการดำนา เกี่ยวข้าว นวดข้าว จะใช้วิธีการลงแขก โดยครัวเรือนต่างๆ จะรวมตัวกันไปช่วยทำนาของญาติมิตรและเพื่อนบ้าน เจ้าของนาจะเป็นผู้จัดทำข้าวปลาอาหาร ขนมหวาน และเครื่องดื่มมาคอยเลี้ยงแขกผู้มาช่วยงาน ในระหว่างการทำงานก็จะมีการร้องเพลง หยอกล้อกันเป็นที่สนุกสนานจนงานเสร็จ ทำเช่นนี้หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันจนกระทั่งทุกครัวเรือนทำนาเสร็จ
ปัจจุบันคนบ้านป่าแดงยังคงทำนาปีละครั้งเหมือนเคย เนื่องจากมีแหล่งน้ำไม่เพียงพอสำหรับการทำนาปรังซึ่งเป็นการทำนาปีละ 2-3 ครั้ง เหมือนเช่นในหมู่บ้านอื่นๆ อีกทั้งยังไม่มีระบบชลประทานเข้าถึงพื้นที่เกษตรของบ้านป่าแดง อย่างไรก็ตาม ภายใต้ยุคสมัยกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการการทำนาเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตข้าวซึ่งเป็นพืชที่ขายได้ราคามากขึ้น เห็นได้จาการนำเครื่องจักรเครื่องทุ่นแรง ได้แก่ รถไถนา รถเกี่ยวข้าว แทนที่แรงงานคนและวัวควาย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา ทำให้การใช้แรงงานคนโดยการลงแขกเริ่มจางหาย นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวจากพันธุ์พื้นบ้านเป็นพันธุ์สมัยใหม่ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ พิษณุโลก 80 กข.67 กข.97 เป็นต้น จากการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวทำให้มีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีต่างๆ มากขึ้นตามกำลังทุนของครัวเรือน หลังจากเสร็จสิ้นฤดูทำนา (ประมาณเดือนมกราคม – พฤษภาคม) ชาวพวนบ้านป่าแดงก็จะหาอาชีพเสริมรายได้ เช่น การทอผ้า เลี้ยงสัตว์ และการรับจ้างทั่วไป เป็นต้น
ในแต่ละรอบปี คนพวนบ้านป่าแดงยังมีการดำเนินชีวิตในด้านประเพณีและพิธีกรรมตามวัฒนธรรมไทพวนหลายอย่าง ได้แก่ พิธีกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การเกิด (ภาษาพวนเรียกว่า “เอาะลุ”) การแต่งงาน และการตาย พิธีกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมและการละเล่น เช่น ประเพณีบายศรีสู่ขวัญ จัดขึ้นเมื่อมีแขกมาเยือน พิธีกรรมทำบุญข้าวจี่ จัดขึ้นในเดือน 3 พิธีกรรมบุญข้าวหลาม จัดขึ้นเดือน 4 พิธีกรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อ ได้แก่ ประเพณีกำฟ้า ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 พิธีกรรมเลี้ยงผีจัดขึ้นในเดือน 6 พิธีกรรมทางศาสนา ได้แก่ บุญสารท บวชพระ บวชเณร นิยมจัดในช่วงเดือน 3, 4, 5 หลังฤดูเก็บเกี่ยว
ประเพณีของชาวไทพวนบ้านป่าแดงที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง คือ ประเพณีกำฟ้า เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวไทพวนตั้งแต่ก่อนจะอพยพมาอยู่ที่พิจิตร จัดขึ้นเพื่อขอพรจากเทพยดาผู้รักษาฟากฟ้า และบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล งานกำฟ้าจะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน คือ วันขึ้น 2 ค่ำ และ 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี โดยจะยึดถือปฏิทินตามจันทรคติ วันขึ้น 2 ค่ำ ถือเป็นวันกำต้อน ในวันนี้จะเตรียมการเผาข้าวหลามทิพย์ เตรียมอาหาร และมีกิจกรรมพาข้าวแลง ส่วนวันขึ้น 3 ค่ำ ถือเป็นวันกำฟ้า ในวันนี้จะมีการทำบุญตักบาตรตอนเช้า และร่วมเล่นสนุกกับกีฬาพื้นบ้าน การสาธิตการทำอาหารพื้นบ้านไทยพวน
ประเพณีของชาวไทพวนที่มีความโดดเด่นและน่าสนใจยังมีกลุ่มประเพณีที่จัดในช่วงเดือนเก้า ซึ่งมักจะตรงกับเดือนสิงหาคมหรือกันยายน หลายประเพณีเริ่มห่างหายและหาดูยาก ได้แก่ ประเพณีแห่ข้าวพันก้อน และประเพณีไขว่กระจาด (หรือ “เส่อกระจาด”) เป็นประเพณีของชาวไทยพวนซึ่งปฏิบัติกันตั้งแต่ยังอาศัยอยู่ที่อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี มักจัดขึ้นในงานบุญเทศน์มหาชาติ จะกำหนดในช่วงเทศกาลออกพรรษา ข้างแรมก่อนถึงวันใส่กระจาด 1 วัน ชาวบ้านจะช่วยกันทำขนมห่อข้าวต้ม ตำข้าวปุ้น รุ่งขึ้นจะเป็นวัน ใส่กระจาด ชาวบ้านและเด็กๆ จะนำขนม ผลไม้ และธูปเทียน มาใส่กระจาดตามบ้านของคนรู้จัก เจ้าของบ้านจะนำอาหารที่เตรียมไว้มาเลี้ยงรับรองแขกเมื่อแขกกลับ เจ้าของบ้านจะนำข้าวต้มมัดฝากไปให้ เรียกว่า “คืนกระจาด” ในวันรุ่งขึ้นเป็นวันเทศน์มหาชาติ จะนำของที่แขกมาใส่กระจาด ทำเป็นกัณฑ์ แล้วนำไปถวายพระที่วัด โดยถือว่าการทำบุญเทศมหาชาตินี้เป็นการทำบุญครั้งยิ่งใหญ่ประจำปี
ประเพณีและพิธีกรรมที่จัดในช่วงเวลาต่างๆ สามารถแบ่งตามลำดับดังนี้
เดือน |
กิจกรรม |
กุมภาพันธ์ |
ประเพณีกำฟ้า (ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3) |
เมษายน |
ประเพณีสงกรานต์ จัดงานสรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ทราย และงานรื่นเริง |
พฤษภาคม |
ทำบุญสลากภัต, เลี้ยงเจ้าพ่อบ้านเต้อ (ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6), บุญกลางบ้าน |
กรกฎาคม |
บุญเข้าพรรษา อาสาฬหบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 |
สิงหาคม - กันยายน |
ประเพณีกวนกระยาสารท เพื่องานสารทพวน สารทพวน (แรม 14 ค่ำเดือน 9) บุญเทศน์มหาชาติ แห่พระอุปคุต แห่ข้าวพันก้อน และประเพณีไขว่กระจาด |
ตุลาคม |
บุญตักบาตรเทโว ออกพรรษา และบุญกฐิน |
พฤศจิกายน |
ประเพณีกวนข้าวทิพย์ (ขึ้น 8 ค่ำเดือน 12), ประเพณีลอยกระทง |
บ้านป่าแดงมีปราชญ์ผู้รู้และผู้นำคนสำคัญของชุมชนหลายคน ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้านทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้หมู่บ้านได้รับการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและมีความสะดวกสบายและทันสมัย ในขณะที่ชุมชนยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของประเพณีและวัฒนธรรมของคนไทพวน เห็นได้ชัดจากการทำงานของผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันของหมู่ที่ 1 ผู้ใหญ่ขนิษฐา ค้ำชู อายุ 43 ปี ที่ทำงานบำบัดทุกข์บำรุงสุขของคนในชุมชนโดยเคียงคู่ขนานไปกับการขับเคลื่อนงานด้านประเพณีวัฒนธรรม เนื่องจากเธอโตมาพร้อมกับรอยต่อของยุคสมัย การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยที่ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมเก่ากับวัฒนธรรมสมัยใหม่ การได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ทำให้ผู้ใหญ่ขนิษฐาเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามของชุมชนไว้นานที่สุดเท่าที่ตัวเองสามารถทำได้ จึงทำให้เกิดการปลุกจิตสำนึกและระดมความร่วมมือของคนกลุ่มต่างๆ ในชุมชนให้ช่วยกันรักษาประเพณีที่ยังมีอยู่ให้คงอยู่ต่อไป รวมถึงการรื้อฟื้นประเพณีที่กำลังสูญหายให้กลับมาเป็นเครื่องมือสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอีกครั้ง เช่น ประเพณีไขว่กระจาด ประเพณีกวนกระยาสารท ประเพณีกวนข้าวทิพย์ เป็นต้น
ผู้ใหญ่ขนิษฐา ค้ำชู ถือเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่สามารถเป็นแกนกลางในการประสานคนกลุ่มต่างๆ ให้มารวมตัวและร่วมมือร่วมใจกันทำกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนอย่างพร้อมเพรียงเสมอมา โดยเธอจะมีทีมงานที่แข็งแกร่งคอยทำหน้าที่ประสานงานและจัดการงานฝ่ายต่างๆ พร้อมกับการสื่อสารด้วยทักษะและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ทำให้คนในชุมชนแม้ว่าจะประกอบไปด้วยคนหลายรุ่นหลายวัย แต่ทุกคนจะมารวมตัวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาและสามารถทำงานร่วมกันได้จนงานสำเร็จลุล่วงด้วยดี ไม่เพียงเท่านี้ ผู้ใหญ่ขนิษฐาและทีมงานยังสามารถเชื่อมประสานคนในชุมชนหมู่ที่ 6 และหมู่ 7 ซึ่งเป็นหมู่บ้านญาติพี่น้องไทยพวน ให้มาร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง พลังความร่วมแรงร่วมใจของหมู่บ้านทั้ง 3 นับเป็นภาพที่ได้ยากโดยเฉพาะในยุคสมัยปัจจุบันที่ชุมชนส่วนใหญ่มักจะร้างไร้การรวมตัวของผู้คนจำนวนมาก เนื่องจากคนในชุมชนต่างดิ้นรนหาเช้ากินค่ำ รวมถึงคนส่วนหนึ่งที่ออกไปเป็นแรงงานอพยพ ความเข้มแข็งของชุมชนทั้ง 3 หมู่นี้ทำให้หน่วยงานต่างๆ ต้องการเข้ามาทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนด้านต่างๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมและต่อยอดประเพณีวัฒนธรรมของชุมชน เป็นต้น
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าผู้ใหญ่ขนิษฐามีทีมงานที่แข็งแกร่งที่ช่วยผลักดันและขับเคลื่อนงานของชุมชนให้มีความก้าวหน้าและสำเร็จลุล่วงด้วยดี ทีมงานที่แข็งแกร่งดังกล่าวมีอยู่ด้วยกันหลายคน แต่ละคนมีความรู้ความสามารถที่หลากหลาย ได้แก่ นางสังวร เหลืองสนิท อายุ 62 ปี นางเบญจมาศ ผิวเพชร อายุ 62 ปี และนางยุพิน สมาการ ทั้ง 3 คนนี้เป็นแกนนำกลุ่มแม่บ้านที่มีความรู้ความชำนาญด้านการทอผ้าและการจัดเตรียมอาหารพื้นบ้านในพิธีต่างๆ โดยเฉพาะในพิธีกำฟ้าซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปี นายสมพวน แจ้งจันทร์ อายุ 77 ปี และนายวิลัย หงสาวดี อายุ 76 ปี ทั้งสองเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้ด้านพิธีกรรมความเชื่อของชาวไทพวน ทั้งสองคนมีหน้าที่สำคัญในงานใหญ่ประจำปีซึ่งก็คือการเป็นพราหมณ์ผู้ทำพิธีกำฟ้า นายอนันต์ ปุระปัญญา อายุ 68 ปี ปราชญ์ชาวบ้านผู้เผยแพร่ความรู้ด้านประเพณีวัฒนธรรม ไปจนถึงประวัติศาสตร์ชาวไทพวนและการอพยพแก่นักเรียนนักศึกษาและผู้สนใจ นายจำเนียร หงษาวดี ผู้ซึ่งมีความรู้ด้านศาสนาและคอยให้คำแนะนำด้านพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ นายสนิท อภัย ผู้มีความรู้ความชำนาญด้านการจักสานไม้ไผ่ และนางสาวรุ้งลาวัลย์ สุขไมตรี อายุ 34 ปี คนรุ่นใหม่ไฟแรงที่ทำหน้าที่ประสานงานและประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ของชุมชน
ปัจจุบันชุมชนไทยพวนบ้านป่าแดงมีผู้คนอาศัยมากกว่า 2,000 คน แม้ว่าจะพวกเขาต้องอพยพมาอยู่ในถิ่นฐานใหม่ แต่วัฒนธรรมประเพณีไทพวนยังคงติดตัวมาด้วยและไม่เสื่อมสลายหายไป เห็นได้จากประเพณีต่างๆ ในแต่ละรอบปีของบ้านป่าแดง ล้วนเป็นจุดเด่นและสามารถแสดงอัตลักษณ์ของคนพวนได้เป็นอย่างดีหนึ่งในนั้นคือ “พิธีกำฟ้า” ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าทางสังคมและท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ภายใต้ความเชื่ออันเฉพาะของกลุ่มชนซึ่งมีการยึดถือเอาศาสนาพุทธ พราหมณ์ ผี และธรรมชาติ ผสมผสานกันจนกลายเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนฟ้าที่เป็นบ่อเกิดของพิธีกรรมอันเกิดจากสภาพของสังคมและธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ความเชื่อและเจตคติของคนในสังคมนั้นต่อสิ่งที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ เช่น อำนาจสิ่งแวดล้อมที่ลี้ลับและสภาพของดินฟ้าอากาศ
ปัจจุบันได้มีการยกระดับพิธีกำฟ้าเป็นงานประจำปีท้องถิ่นของชุมชนบ้านป่าแดงอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือร่วมใจของคนพวนบ้านป่าแดงทั้ง 3 หมู่ ที่ได้มีการปฏิบัติสืบทอดกันมา ประกอบกับการส่งเสริมและสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้พิธีกำฟ้าของชาวไทยพวนได้ถูกนำเสนอให้ผู้คนในสังคมได้รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น กระทั่งกลายเป็นจุดท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทำให้ผู้คนได้ลิ้มลองอาหารการกิน และสัมผัสวิถีชีวิตของชาวไทยพวนในกระแสวัฒนธรรมร่วมสมัย ผ่านการแสดงบนเวทีทางวัฒนธรรม ผ่านเครื่องแต่งกาย การละเล่น ข้าวของเครื่องใช้ ภูมิปัญญาต่างๆ ซึ่งล้วนแต่มีคุณค่าและเต็มไปด้วยมูลค่าที่สามารถสร้างงานสร้างอาชีพหรือสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนได้อย่างดี
การผ้าทอพื้นเมืองบ้านป่าแดงเป็นการทอผ้าด้วยกี่กระตุก เน้นความประณีต สวยงาม มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ ลายนกกระจิบ ลายเครือเถา ลายดอกพิกุล ลายข้าวหลามตัด ลายดอกแก้ว และลายดอกบุนนาค อันเป็นลายผ้าประจำจังหวัดพิจิตร และยังมีลายขอพระราชทาน ผ้าลายสิริวชิราภรณ์ นอกจากนี้ผ้าทอบ้านป่าแดงยังมีความคงทน สีไม่ตก สวมใส่สบาย ไม่ระคายเคืองผิว เนื้อผ้าไม่หดตัว และตัวผ้าทอมีความยาวมากกว่าผ้าทอปกติ คือมีความกว้าง 0.90 เมตร และมีความยาว 4.00 เมตร สามารถนำไปตัดเป็นชุด เพื่อนำไปสวมใส่ในวาระสำคัญต่างๆ อีกทั้งยังมีราคาถูกกว่าผ้าทอด้วยมือของชุมชนอื่น ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้ผ้าทอด้วยมือของบ้านป่าแดง อำเภอตะพานหิน เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย มีชื่อเสียงขจรไกลทั้งในประเทศและต่างประเทศ และในปี พ.ศ. 2540 กลุ่มทอผ้าบ้านป่าแดง ตำบลหนองพยอม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นระดับประเทศ
การทอผ้ามัดหมี่บ้านป่าแดง จัดเป็นทุนชุมชนที่มีคุณค่าทั้งทางด้านวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นศิลปะพื้นบ้านที่งดงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเอง และคุณค่าทางเศรษฐกิจ ชาวบ้านป่าแดงตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพทอผ้าพื้นเมือง เพื่ออนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานคนรุ่นใหม่ได้สืบทอดต่อไป จึงได้มีการอนุรักษ์ สืบทอดให้กับบุตรหลาน ปัจจุบันโรงเรียนวัดป่าแดง ได้จัดหลักสูตรการทอผ้าซึ่งเป็นหลักสูตรท้องถิ่นให้แก่นักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย (ประถม 5-6) และมัธยมศึกษาตอนต้น เรียนวิชาการทอผ้า สอนโดยกลุ่มสตรีทอผ้า เมื่อทอเสร็จส่งจำหน่ายศูนย์ทอผ้าบ้านป่าแดง ทำให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน และคณะครู นักเรียนโรงเรียนวัดป่าแดงอนุรักษ์การใช้เสื้อผ้าทอในวันพุธ ทำให้นักเรียนและคนในชุมชนเกิดความภูมิใจในอัตลักษณ์ของตน
คนไทพวนบ้านป่าแดงใช้ทั้งภาษาไทพวนและภาษาไทยในการสื่อสาร โดยในชุมชนจะใช้ภาษาไทพวนเป็นหลัก และจะใช้ภาษาไทยภาคกลางในการสื่อสารกับคนภายนอกชุมชน ผู้ใหญ่บ้านขนิษฐาเล่าถึงสถานการณ์ภาษาไทพวนในปัจจุบัน คนที่ใช้ภาษาไทพวนจะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่และคนวัยกลางคน ส่วนเด็กและเยาวชน รวมถึงคนรุ่นหนุ่มสาวส่วนใหญ่จะไม่นิยมใช้ภาษาไทพวนในการใช้สื่อสาร เนื่องจากใช้ภาษาไทยกลางจนคุ้นชินและติดมาใช้กับคนที่บ้าน พ่อแม่ที่เป็นคนรุ่นใหม่ก็จะพูดไทยกลางกับลูกและหลาน จนทำให้เด็กๆ เข้าใจและสื่อสารภาษาไทยกลางมากกว่าไทพวนที่จะเข้าใจเป็นบางคำเท่านั้น อย่างไรก็ตาม บางครอบครัวมีความพยายามอนุรักษ์ภาษาไทพวนโดยการสื่อสารกันในครอบครัวด้วยภาษาไทพวนเป็นหลัก ทำให้เด็กๆ ในครอบครัวเข้าใจและสื่อสารด้วยภาษาไทพวนได้ แต่เมื่ออยู่ในกลุ่มเพื่อนหรืออยู่ในโรงเรียนก็จะกลับมาใช้ภาษาไทยกลางซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่มากกว่า (สัมภาษณ์, ผู้ใหญ่ขนิษฐา ค้ำชู, 29 สิงหาคม 2567) พ่ออนันต์ ปุระปัญญา ปราชญ์ผู้รอบรู้บ้านป่าแดงอธิบายรูปแบบภาษาไทพวนอย่างละเอียด เช่นเสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทพวนจะมี 6 เสียง คล้ายคลึงกับภาษาไทยเป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ในกรณีคำที่เป็นพยัญชนะ ก จ ด ต ป อ เป็นพยัญชนะต้นและใช้ไม้โท ภาษาไทยจะเป็นเสียงโท แต่คนพวนจะออกเสียงสูงขึ้น (คล้ายกับเสียงวรรณต์ยุกตรี) เสียงวรรณยุกต์จัตวาของภาษาไทย เมื่อปรากฏอยู่ในพยางค์หน้าของวลีหรือคำประสมของภาษาพวน จะออกเสียงเป็นต่ำคล้ายเสียงเอกภาษาไทพวนมีอักษร ได้แก่ อักษรตัวธรรม ใช้บันทึกเรื่องราวในศาสนาหรือคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ และอักษรไทยน้อย ใช้เขียนเรื่องราวทางโลก เช่น การะเกด สุริวงศ์ และชาวพวนจะนิยมนำเรื่องราวเหล่านี้ที่เขียนด้วยอักษรไทยน้อย ปัจจุบันอักษรตัวธรรมและอักษรไทยน้อยในหมู่ไทยพวนแทบจะหาไม่ได้แล้ว ภาษาพวนนับได้ว่าเป็นภาษาประจำถิ่นที่สำคัญภาษาหนึ่ง สิ่งน่าสนใจในภาษาของคนไทพวนบ้านป่าแดง เช่น คำลำดับญาติ ไทยพวน ใช้คำลำดับญาติที่แตกต่างไปจากภาษาไทยภาคกลางพอสมควร ทั้งรูปศัพท์ ความหมาย และเสียงวรรณยุกต์ เช่น อี๋พ่อ หมายถึง พ่อ อี๋แม่ หมายถึง แม่ คำสรรพนาม เป็นคำแทนชื่อหรือตัวผู้พูดตลอดจนผู้ที่พูดถึงเกี่ยวข้องในการพูดจากันมีทั้งคำแทนบุรุษที่หนึ่ง บุรุษที่สอง บุรุษที่สาม ไทยพวนมีคำสรรพนามใช้เฉพาะต่างไปจากภาษาไทยภาคกลาง เช่น เฮา, ข้าน้อย ข้อยน้อย, ข้อย, กัน หมายถึงตัวผู้พูด โต๊ว หมายถึง คำสรรพนามบุรุษที่สอง เพิ่น หมายถึง คำสรรพนามบุรุษที่สาม คำถามหรือคำลงท้ายประโยคคำถาม ไทยพวนจะใช้คำเฉพาะเหล่านี้ประกอบ เพื่อแสดงว่าเป็นคำถาม เช่น เอ็ดพีเลอ หมายถึง ทำไม, กะเลอ เลอ หมายถึง ที่ไหน ที่ใด ไหน, เผอ หมายถึง ใคร, ยังเลอ หมายถึง อย่างไร ยังไง หรือคำเรียกอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย ใช้คำเหมือนไทยอีสาน แต่แปลกไปจากภาษาไทยภาคกลาง ได้แก่ ดัง ฮูดัง หมายถึง จมูก แข้ว หมายถึง ฟัน เป็นต้น เช่นเดียวกับคำที่ใช้เรียกวันเวลา ไม่ต่างจากภาษาอีสาน โดยไทยพวนจะใช้คำว่า มื้อ แทนคำว่าวัน เวลา เช่น มื้อนี่ หมายถึง วันนี้ มื้อซ้าว หมายถึง เวลาเช้านอกจากนี้ ยังมีคำที่เป็นสำเนียงของคนไทพวนโดยเฉพาะ เช่น คำเรียกพืชผัก หม่ากุบกาม หมายถึง มะระ หม่าเด่น หมายถึง มะเขือเทศ ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่จะใกล้เคียงกับภาษาอีสาน เช่น หม่าเขียบ หมายถึง น้อยหน่า หม่าต๊อง หมายถึง กระท้อน ฯลฯ เข้าก่ำ หมายถึง ข้าวเหนียวดำ เข้าปุ้น หมายถึง ขนมจีน ฯลฯ รวมถึงคำขยายในภาษาไทยพวนจะมีคำประเภทหนึ่งที่นิยมเรียกซ้ำเสียงเพื่อให้ได้ความหมายแตกต่างออกไปหรือขยายคำที่อยู่ใกล้เคียง อาจจะเป็นการเน้นความหมายเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับคำอีสาน ได้แก่ กะด้อกะเดี้ย หมายถึง เหลือเกิน, จุ้นพู่น หมายถึง ล้นเหลือ ฯลฯ (สัมภาษณ์, อนันต์ ปุระปัญญา, 27 สิงหาคม 2567)
ผู้ใหญ่ขนิษฐาอธิบายถึงสถานการณ์ความท้าทาย โดยอิงจากแผนพัฒนาหมู่บ้านปี 2567 ที่ได้มีการร่วมกันวิเคราะห์สภาพชุมชนของคนในชุมชน จนกระทั่งรู้ได้ถึงจุดอ่อนหรือลักษณะข้อด้อยของหมู่บ้าน ซึ่งมีหลายด้านและมีสภาพไม่ต่างจากหมู่บ้านอื่นๆ มากนัก ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ประชาชนมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ชาวบ้านยังมีภาระหนี้สินจากการสร้างฐานะสร้างครอบครัว ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ เกษตรกรมีความเสี่ยงจากการลงทุนภาคเกษตร เนื่องจากต้นทุนสูง แต่ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นผลผลิตหลักของชุมชน ขณะที่ไม่มีการรวมกลุ่มต่อรองหรือการรวมกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้อง เกษตรกรยังขาดความรู้และทักษะในการจัดการเชิงธุรกิจการเกษตรและการตลาด
ปัญหาด้านเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อสังคม จนทำให้เกิดปัญหาด้านสังคมตามมา ได้แก่ ปัญหาเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้สูงอายุไม่ได้รับความเอาใจใส่เท่าที่ควร เนื่องจากวัยกลางคนซึ่งเป็นวัยทำงานที่แบกภาระหนักต้องอพยพไปเป็นแรงงานต่างพื้นที่ ทำให้กลายเป็นครอบครัวแหว่งกลาง ขาดผู้ปกครอง ขาดคนดูแล และการมีรายได้ไม่เพียงพอ ยังทำให้เด็กและผู้สูงอายุมีปัญหาด้านสุขภาพร่างกาย เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของโรคติดเชื้อต่างๆ ในเด็ก และการเพิ่มขึ้นของโรคเบาหวานและความดันในกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น
ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การขยายเขตน้ำประปายังไม่ครอบคลุม ไฟตามทางในหมู่บ้านยังไม่เพียงพอ รางระบายน้ำในถนนหลักยังขาดบางจุด ทำให้เกิดปัญหาน้ำระบายช้า
ชุมชนยังประสบปัญหาด้านอื่นๆ ทั้งปัญหาเล็กและปัญหาใหญ่ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการเผาหญ้าเผาขยะและการใช้สารเคมี
ในวันกำต้อนหลังจากการเผาข้าวหลามทิพย์แล้วหลามทิพย์แล้ว ช่วงเย็นเป็นกิจกรรมการพาข้าวแลงที่ให้ผู้คนเข้ามารับประทานอาหารไทยพวน โดยมีการจำหน่ายบัตรเพื่อจองพื้นที่ในการมานั่งทานข้าวแลง ผู้คนที่มาร่วมงานนิยมแต่งกายด้วยผ้าไทย ผ้าทอ นุ่งซิ่น แต่ก็มีคนร่วมงานแต่งกายตามปกติ เช่น สวมใส่เสื้อยืด เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาว การจำหน่ายพาหรือสำรับอาหารนั้นจำหน่ายในราคาพาละ 800 บาท ใน 1 พาสามารถนั่งทานกันได้ 5-6 คน ประกอบไปด้วย ผัดหมี่โบราณ น้ำพริกปลาย่าง ผักสด ลาบหมู ไก่ดง ไก่ทอด ข้าวเหนียว 4 ชุด ข้าวเจ้า 1 ชุด ข้าวหลาม 3-4 กระบอก น้ำเปล่า 1 ขวด น้ำอัดลม 1 ขวด น้ำแข็งถังเล็ก 1 ถัง ซึ่งอาหารในสำรับนั้นไม่ได้เป็นอาหารพวนทุกชนิด จะเป็นอาหารพวนและอาหารทั่วไปปนกันไป เพื่อเพิ่มความหลากหลายและให้คนนอกที่มาชมงานสามารถทานอาหารได้ อาหารไทยพวนในสำรับดังที่กล่าวข้างต้นบางชนิดถูกปรับเปลี่ยนวิธีการทำและรสชาติเล็กน้อยแต่ยังคงรสชาติของอาหารพวนไว้ ในแต่ละปีนั้นอาหารในพาก็จะสับเปลี่ยนกันไปเพื่อลดความจำเจ แต่หลักการคือประเภทของอาหารจะเป็นอาหารพวนและอาหารทั่วไปเพื่อให้คนนอกสามารถทานได้ โดยคงไว้ซึ่งอาหารพวนไว้ให้คนนอกได้ทราบว่าสิ่งนี่คืออาหารของกลุ่มชาติพันธุ์พวน และนั่งทานกับพื้นที่มีเสื่อปูรองนั่งเพื่อให้เข้าถึงวิถีชีวิตของคนพวนยิ่งขึ้นไม่ได้นั่งทานบนโต๊ะเหมือนอย่างโต๊ะจีนหรือขันโตก
ขนิษฐา ค้ำชู (ผู้ใหญ่บ้านป่าแดงเหนือ หมู่ 1). สัมภาษณ์ 27 สิงหาคม 2567.
บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล และจรรยา เทียมศร. (2565). อาหารชาติพันธุ์ไทยพวนในพิธีกำฟ้า: การสร้าง"
ประเพณีประดิษฐ์" ของชุมชนและรัฐไทยในกระแสโลกาภิวัตน์. ใน อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ และบุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล (บ.ก.), สังคม ความรู้ สังคมศาสตร์ในกระแสความท้าทาย (น. 99-136). พิษณุโลก: รัตนสุวรรณการพิมพ์
พิจิตร. (2563). ผ้าทอไทยพวน บ้านป่าแดง อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร. สืบค้น 10 กันยายน 2567, จาก https://shorturl.asia/7uRcj
เฟซบุ๊กเพจ “ฮักเด้อป่าแดง”. สืบค้น 3 กันยายน 2567, จาก https://www.facebook.com/profile.php?id=100057082285062
อรุณรุ่ง พวงระย้า. (2562). สภาพและข้อมูลพื้นฐาน. เทศบาลตำบลหนองพยอม. สืบค้น 10 กันยายน 2567, จาก https://www.npy.go.th/information-base.html
ศุภกิจ สุ่มสาย. (2547). การรวมกลุ่มของสตรีชาวไทพวนในการผลิตงานหัตถกรรมทอผ้าพื้นเมือง : กรณีศึกษา การจัดตั้งศูนย์ทอผ้าบ้านป่าแดง ตำบลหนองพยอม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร. เชียงใหม่: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.
สุพัตรา จิรนันทนาภรณ์. (2536). วงจรศัพท์ในวัฒนธรรมการทอผ้าของไทยพวน (รายงานการวิจัย). พิษณุโลก: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
อนันต์ ปุระปัญญา. สัมภาษณ์ 27 สิงหาคม 2567.