
ผลิตภัณฑ์กล้วยตากของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะคู
"บ้านเกาะคู" เป็นชื่อรียกของชุมชนที่มีมาจากลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่ ที่ตั้งชุมชน เนื่องจากมีลำคลองห้วยแก้วซึ่งแยกสาขามาจากแคววังทอง ไหลเป็นวงล้อมรอบพื้นที่ มีลักษณะคล้ายเกาะ ชาวบ้านจึงใช้เรียกขานชุมชนนี้ว่า "บ้านเกาะคู"
ผลิตภัณฑ์กล้วยตากของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะคู
เดิมพื้นที่หมู่บ้านเกาะคูเป็นป่า ประชาชนได้บุกเบิกจับจองที่ทำกินบริเวณข้างคลองน้ำ โดยประมาณในราว ปี พ.ศ. 2445 ประชาชน ได้เดินทางมาจากทางภาคใต้ จากจังหวัด เพชรบุรี ราชบุรี ส่วนใหญ่เดินทางมาโดยรถไฟ และลงตั้งบ้านเรือนจับจองที่ทำกินตามริมคลอง โดยมีความยาวของบ้านเรือนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณ 6-7 กิโลเมตร มีการประกอบอาชีพปลูกอ้อย ปลูกมัน ต่อมาเริ่มมีการปลูกกล้วยและปลูกมากขึ้นเป็นลำดับ จนกลายเป็นอาชีพในปัจจุบัน
หมู่บ้านเกาะคูเป็นชุมชนที่ผลิตกล้วยตากและมีชื่อเสียงมากที่สุดของอำเภอบางกระทุ่ม เดิมหมู่บ้านเกาะคูเป็นหมู่บ้านเดียวกับ "บ้านคลองกะล่อน" เมื่อ พ.ศ. 2370 มีคนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกราก คือ กลุ่มของนายจันทร์ โคกทอง และกลุ่มนายทองหล่อ ศรีหอม ซึ่งทั้งสองกลุ่มได้อพยพมาจากบ้านท่านา ตำบลไผ่ล้อม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากต้องการหาที่ทำกินใหม่ที่อุดมสมบูรณ์กว่าเดิม และเห็นว่าบริเวณพื้นที่เกาะคูไม่มีผู้ใดอยู่อาศัย ปล่อยให้รกร้างเป็นป่าทึบ จึงได้ถางป่าจับจองเป็นที่ดินของตน และประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา และสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย ได้มีการติดต่อค้าขาย และไปมาหาสู่กับคนในหมู่บ้านอื่น ภายหลังได้มีคนเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันหมู่บ้านเกาะคูได้แยกหมู่บ้านออกมาจาก "บ้านคลองกะล่อน" เป็นหมู่ที่ 3 ของตำบลบางกระทุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก
เดิมพื้นที่ชุมชนบ้านเกาะคูเป็นป่า ไม่มีการปลูกพืช ผัก ผลไม้ใด ๆ ในปี พ.ศ. 2474 หลวงชิต และหลวงชัย ได้มาจับจองที่ดินเพื่อทำมาหากิน แล้วกลับไปรับนางโป๊ว แซ่ตัน และบุตรธิดาจำนวน 5 คน (นายเฮง นายเต็ก นายดำ นายปั้นหยี และนางวิยะดา) มาบุกเบิกที่ดินทำกิน โดยปลูกพืช ผลไม้หลายชนิด หลายปีต่อมา นายเฮงกลับไปเยี่ยมญาติที่แปดริ้ว เมื่อกลับมาบ้านเกาะคู ก็นำกล้วยพันธ์มะลิอ่อง มา 2 หน่อ ปลูกที่บ้านเกาะคู และได้ขยายพันธ์ไปที่หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ตำบลบางกระทุ่ม ได้ผลผลิตกล้วยน้ำว้าพันธ์มะลิอ่อง ตัดขายเป็นกล้วยดิบและกล้วยสุก ขนส่งไปขายโดยวิธีลงเรือมอญ และรถไฟ โดยจะคัดกล้วยต้นเครือ มีลูกกล้วย 12 ลูกขึ้นไปเรียกเป็น 1 หวี ส่วนปลายเครือ (เรียกว่ากล้วยตีนเต่า) มีลูกกล้วยไม่ถึง 12 ลูก นายปันหยี ซึ่งมีอาชีพเลี้ยงปลาและได้นำกล้วยไปเลี้ยงปลา แต่ก็ยังมีกล้วยเหลืออยู่ นางโป๊ว (คนส่วนใหญ่เรียกย่าโป๊ว) นึกเสียดายกล้วยที่เหลือทิ้ง ประกอบกับเป็นคนช่างสังเกต และเป็นคนขยัน ได้แนวความคิดที่ว่า "ทำไมหัวผักกาด" ยังนำตากแห้งเป็นหัวผักกาดเค็มเก็บไว้กินได้นาน ๆ จึงลองใช้วิธีทำหัวผักกาดเค็ม มารองตากกล้วยดู โดยการนำกล้วยสุกไปตากบนตะแกรงตากปลา สูงประมาณ 1 เมตร เมื่อตากแห้งแล้ว นำไปเก็บใส่ไหโรยเกลือเป็นชั้น ๆ เหมือนกับการทำหัวผักกาดเค็ม เก็บไว้กิน เมื่อแขกไปใครมา ก็นำมาแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านกิน ก็บอกกันว่าอร่อยดี กล้วยตากที่ทำกันครั้งแรก เป็น "กล้วยกลม" และต่อมาได้ทำ "กล้วยแบน" ซึ่งกลายเป็นอาชีพของประชาชนในหมู่บ้านในปัจจุบัน
กล้วยตากเป็นที่นิยม มีผู้ผลิตในเชิงการค้ามากขึ้น โดยบุคคลสำคัญที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาการผลิตกล้วยตากในเชิงการค้า คือ หมอหิรัญ วาทยานนท์ ซึ่งขณะนั้นรับราชการเป็นทหาร เสนารักษ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 การผลิตกล้วยตากเริ่มขยายตัวมากขึ้น โดยมีนายไถ่ และนางเปา ซึ่งอยู่ที่ตลาดบางกระทุ่ม เป็นพ่อค้าสำคัญในรุ่นแรก ๆ หลังจากนั้นมา การทำกล้วยตากได้ขยายตัวในลักษณะอุตสาหกรรมในครัวเรือน
เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2536 นายประภาส สิงหลักษณ์ อดีตกำนันตำบลบางกระทุ่ม และครอบครัว ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน 15 ไร่ 88 ตารางวา แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินแปลงดังกล่าว ให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อให้ดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่มีอาชีพผลิตกล้วยตากในพื้นที่อำเภอบางกระทุ่ม ต่อมาสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้เข้าพิจารณาการใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว โดยเห็นว่าพื้นที่เดิมมีการทำกล้วยตากบรรจุในบรรจุภัณฑ์และจัดจำหน่าย โดยดำเนินการจัดทำตามวัตถุประสงค์ของผู้น้อมเกล้าฯ ถวาย ในรูปแบบของกลุ่มย่อย โดยการจัดตั้งโครงการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตกล้วยตากบ้านเกาะคูขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพพันธุ์กล้วย ผลผลิตกล้วยเพื่อนำไปแปรรูป และพัฒนาตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อนำไปใช้ในการอบกล้วยตากเพื่อจำหน่ายต่อไป (กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเกาะคู, ม.ป.ป.)
ทั้งนี้ผลการดำเนินงานได้มีการรวมตัวกัน และได้ดำเนินการจัดทำอาคารและโรงแปรรูปกล้วยตากในพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนาจำนวนประมาณ 5 ไร่ โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างโรงอบกล้วยตากโดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ แต่ประสบปัญหาทำให้ไม่สามารถอบกล้วยตากได้ จึงได้ยกเลิก และหันมารวมกลุ่มการทำกล้วยตากด้วยวิธีเก่า คือการตากโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีนายประภาส สิงหลักษณ์ เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งได้ดำเนินการในที่ดินของมูลนิธิฯ ต่อมา การรวมกลุ่มประสบปัญหา ขาดความร่วมมือจากสมาชิกในชุมชน และไม่มีความก้าวหน้าตามที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งพื้นที่ที่เหลือจำนวนประมาณ 10 ไร่ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่มาตลอด ทำให้ไม่สามารถปลูกต้นไม้หรือใช้ประโยชน์ในด้านอื่นได้
การดำเนินการของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะคู เดิมยังไม่ได้รวมกลุ่มเป็นทางการ ยังทำกล้วยตากกันตามครัวเรือน เฉพาะผู้ที่มีความสนใจเท่านั้น แม้จะได้มีการปลูกกล้วยกันมานานแล้ว เริ่มมีการรวมกลุ่มกันได้อย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ. 2537 เพราะนายอำเภอคนใหม่ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งที่อำเภอบางกระทุ่ม และได้มีนโยบายส่งเสริมการทำกล้วยตากบางกระทุ่มให้มีชื่อเสียงอย่างจริงจัง การรวมกลุ่มแม่บ้านเริ่มจาก นางละเอียด สิงหลักษณ์ รวบรวมสมาชิก เมื่อแรกตั้งได้ 20 คน และได้ดำเนินการผลิตกล้วยตากกันอย่างครบวงจร โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทางราชการ ต่อมาได้จดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มอาชีพเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2544 ตั้งที่ทำการกลุ่มอยู่บ้านเลขที่ 137 หมู่ 3 บ้านเกาะคู ตำบลบางกระทุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก มีทุนดำเนินการเมื่อแรกตั้ง 1,000 บาท ปัจจุบัน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเกาะคู มีสมาชิก ประมาณ 60 คน มีทรัพย์สินของกลุ่ม ประกอบด้วยโรงงาน ตู้อบ เงินทุนหมุนเวียน ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,713,500 บาท
ประกอบกับภายหลังจากได้มีการสร้างเขื่อนแควน้อย ขึ้นในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ทำให้น้ำไม่ท่วมในบริเวณพื้นที่โครงการฯ และสามารถเพาะปลูกได้ดีขึ้น สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา จึงได้ร่วมกับคณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการสำรวจสภาพพื้นที่ของโครงการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตกล้วยตากบ้านเกาะคู อีกครั้ง เพื่อหาแนวทางการพัฒนาที่ดินแปลงดังกล่าว โดยจัดทำแปลงสาธิตการปลูกไม้ผลแบบผสมผสาน รวมทั้งดำเนินการทดสอบปลูกข้าวพันธุ์ดี เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือกเสริมมากขึ้น สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มในรูปแบบของสหกรณ์ เพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง โดยเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2552 มีหน่วยงานรับผิดชอบคือ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ดำเนินการโดย 1) ให้การสนับสนุนส่งเสริมกลุ่มชาวบ้าน ให้มีการดำเนินการที่เข้มแข็งมากขึ้น 2) ให้การสนับสนุนในด้านของวิชาการ และแนวทางการตลาด 3) ศึกษาหารูปแบบที่เหมาะสมในการจัดทำพัฒนาพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นแปลงสาธิตฯ
บ้านเกาะคู ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอบางกระทุ่ม ห่างจากที่ว่าการอำเภอบางกระทุ่มเพียง 1 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 บ้านคลองกะล่อน ตำบลบางกระทุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านบางกระทุ่ม ที่เป็นทั้งหมู่ที่ 4 และ หมู่ที่ 5 ตำบลบางกระทุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลนครป่าหมาก อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 บ้านแม่เทียบ ตำบลบางกระทุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก
สภาพพื้นที่หมู่บ้านเกาะคู เป็นที่ราบ เหมาะแก่การทำการเกษตร เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้ทั้งปี มีแหล่งทรัพยากรน้ำใต้ดิน และแหล่งน้ำที่สำคัญไหลผ่านหลายสายคือ คลองห้วยแก้ว คลองบางกระทุ่ม คลองบึงเวียน จึงมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งปี และมีบ่อบาดาลระดับตื้น(บ่อตอก)ในหมู่บ้าน จำนวน 118 บ่อ ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทรายแป้ง ลักษณะเป็นพื้นที่ราบเรียบถึงเป็นลูกคลื่นมีการระบายน้ำดีถึงปานกลาง มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง ซึ่งเหมาะสมต่อการปลูกกล้วยมะลิอ่องอันเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตกล้วยตากที่มีคุณภาพแตกต่างจากที่อื่น ๆ
ด้วยสภาพอากาศมีอุณหภูมิสูงในฤดูร้อนอากาศจะร้อนจัดมากกว่าพื้นที่อื่นของจังหวัดพิษณุโลก อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 23-40 องศาเซลเซียส ซึ่งเหมาะสมต่อการตากกล้วย
หมู่บ้านเกาะคูมีครัวเรือน 411 ครอบครัว มีประชากรทั้งสิ้น 947 คน เป็นชาย 458 คน เป็นหญิง 489 คน ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนเป็นเครือญาติกัน
- กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเกาะคู
- กลุ่มสตรีสหกรณ์กล้วยตากบางกระทุ่ม
- กองทุนหมู่บ้าน
- มูลนิธิชัยพัฒนาบ้านเกาะคู
1.นายประภาส สิงหลักษณ์ (เสียชีวิต) ประธานที่ริเรื่มจัดตั้งกลุ่มได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณ กรณีศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นขององค์การ UNESCO ในวันที่ 7 มิถุนายน 2542 นอกจากนี้หนังสือพิมพ์เส้นทางผู้นำมอบประกาศเกียรติคุณ ให้นายประภาส สิงหลักษณ์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ ผู้ทำคุณประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ประจำปี 2548 สาขาพัฒนาชุมชน
2.นางเอียด สิงหลักษณ์ ได้รับมอบรางวัลเกียรติบัตรแห่งภูมิปัญญาเกษตรกรไทย เป็นผู้อนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านแปรรูปดีเด่น รางวัลที่ 1 จังหวัดพิษณุโลก ในปี พ.ศ. 2547
3.นางศิลาพร สิงหลักษณ์ รองประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแม่บ้านเกาะคู และเป็นผู้สืบทอดการผลิตกล้วยตากรุ่นที่ 3 ของครอบครัวสิงหลักษณ์
การทำกล้วยตากเป็นภูมิปัญญาของชุมชนที่มีการทำมานานตั้งแต่บรรพบุรุษ มีการรักษา สืบทอดต่อกันมา มีการเรียนรู้ และพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่อง
ด้านการปกครอง แบ่งการปกครองออกเป็นคุ้มบ้าน จำนวน 7 คุ้ม โดยมีผู้นำในหมู่บ้าน 1) ผู้ใหญ่บ้าน 2) ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านคนที่หนึ่ง 3) ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านคนที่สอง 4) สมาชิก 5) ประธานกองทุนหมู่บ้านฯ 6) ประธาน กพสม. 7) ประธานกลุ่มกล้วย 8) ประธานมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านเกาะ 9) ประธานกลุ่มอาชีพกล้วยตากบ้านเกาะคู 10) ผู้ทรงคุณวุฒิ ในชุมชนมีโรงเรียนในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ที่ว่าการอำเภอบางกระทุ่ม สถานีตำรวจภูธรอำเภอบางกระทุ่ม สำนักงานสาธารณสุขอำเภอบางกระทุ่ม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอบางกระทุ่ม การประปาส่วนภูมิภาคอำเภอบางกระทุ่ม สถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งล้วนตั้งอยู่ในตำบลที่ตั้งของกลุ่ม อีกทั้งโรงพยาบาลบางกระทุ่มซึ่งห่างจากที่ตั้งกลุ่มประมาณ 1 กิโลเมตร เพื่อให้การรักษายามเจ็บป่วย รวมทั้งหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทำให้การประสานงานต่าง ๆ ทำได้สะดวกทันท่วงที ทั้งยังมีโครงการในพระราชดำริ เข้ามาสนับสนุน ส่งเสริมในการพัฒนา
ผู้ที่เคยเป็นผู้นำกลุ่ม ประธานกลุ่ม และผู้ประกอบการผลิตกล้วยตากในชุมชน ได้เข้าไปมีบทบาทเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ส่งผลให้การผลิตกล้วยตากได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชน สำนักงานเกษตร ได้ช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มผลิตกล้วยตากเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการขาย โดยการออกร้านจำหน่ายกล้วยตากในงานต่าง ๆ และร่วมมือกันในการจัดงานกล้วยตาก ซึ่งเป็นงานประจำปีของอำเภอบางกระทุ่ม
ประชาชนที่อพยพเข้ามาอยู่ครั้งแรกในพื้นที่หมู่บ้านเกาะคู ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ข้าวโพด ไร่ถั่วลิสง และทำสวนกล้วย ภายหลังประมาณ พ.ศ 2530 ประชาชนได้เปลี่ยนแปลงอาชีพ โดยเลิกอาชีพการทำไร่ถั่วลิสง เพราะไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว ราคาต่ำและเก็บเกี่ยวยาก แล้วหันมาประกอบอาชีพใหม่เพิ่มขึ้น คือ อาชีพตากกล้วย เริ่มปรากฏมีการทำอาชีพนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2530 อาชีพปลูกอ้อยเริ่ม พ.ศ. 2539 ประชาชนนิยมนำสินค้าไปขายที่ตลาดในตัวอำเภอบางกระทุ่ม ซึ่งตั้งอยู่เยื้องสถานีรถไฟ มีสินค้าขายตลอดวัน
ปัจจุบันประชาชนในชุมชนมีอาชีพหลักในการทำนา ปลูกอ้อย และมีอาชีพการทำกล้วยตากเป็นอาชีพเสริม และในบางครัวเรือนทำเป็นอาชีพหลัก
การดำเนินของงานของกลุ่มผู้ผลิตกล้วยตากบ้านเกาะคู ยังทำให้ชุมชนลดการอพยพแรงงานเข้าไปทำงานในตัวเมืองใหญ่ ๆ และกรุงเทพฯ เป็นการจ้างงานให้คนในชุมชนมีรายได้
อีกทั้งในพื้นที่ใกล้ ๆ กับชุมชนได้มีการสร้างโรงงานน้ำตาลขึ้น ประชาชนส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาวได้หันไปประกอบอาชีพรับจ้างในโรงงานน้ำตาลและประกอบอาชีพทำไร่อ้อย ทำให้สภาพเศรษฐกิจของชุมชนมีสภาพที่ดีขึ้น ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็มีปัญหาต่าง ๆ ตามมาเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาสังคม เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาอุบัติเหตุ ปัญหาสภาพแวดล้อมของชุมชน ถนนที่ชำรุด ควันพิษ และละอองเขม่าจากโรงงาน ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชน
ถนนในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตเลียบคลองห้วยแก้ว ทางด้านทิศตะวันออก ยาว 1,000 เมตร หมู่บ้านเกาะคูได้รับไฟฟ้าเข้าหมู่บ้านใช้ทุกครัวเรือน การติดต่อสื่อสารในหมู่บ้านเกาะคู ในระยะใกล้จะใช้หอกระจายข่าวที่ตั้งอยู่บ้านผู้ใหญ่บ้าน แจ้งข่าวสารคนในหมู่บ้าน หมู่บ้านเกาะคูได้ติดตั้งระบบประปาเพื่อใช้ในหมู่บ้าน และดำเนินการบริหารจัดการกันเองในรูปกองทุน ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2540 มีการต่อเชื่อมสำหรับอุปโภค บริโภคทุกครัวเรือน
แหล่งน้ำธรรมชาติ ลำคลอง จำนวน 2 แห่ง บึง จำนวน 1 แห่ง อ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง แหล่งน้ำที่สร้างขึ้นบ่อน้ำตื้น จำนวน 1 แห่ง ประปาหมู่บ้านจำนวน 1 แห่ง บ่อบาดาล จำนวน 50 แห่ง ชุมชนมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า ระบบชลประทาน การสื่อสาร และมีโครงข่ายการคมนาคมขนส่งที่ดี
การคมนาคมของชาวบ้านเกาะคู ในระหว่างหมู่บ้านกับที่ว่าการอำเภอบางกระทุ่มซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก ประมาณ 1 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตลาดสดอำเภอบางกระทุ่มและสถานีรถไฟ เพียง 1.5 กิโลเมตร จะใช้พาหนะส่วนตัวในการเดินทางเป็นส่วนใหญ่ ตัวหมู่บ้านมีรถโดยสารประจำทางวิ่งผ่าน คือ รถเมล์ และรถยนต์โดยสาร อีกทั้งการเดินทางไปกรุงเทพมหานครก็มีรถตู้โดยสาร รับ-ส่งถึงหมู่บ้าน
การศึกษา ในระดับประถมศึกษามีโรงเรียนศึกษาลัย เปิดสอนระดับประถมศึกษาปี่ที่ 1-6 ส่วนเด็กในวัยมัธยมศึกษาจะเข้าเรียนที่ โรงเรียนบางกระทุ่มพิทยาคม ซึ่งเปิดสอนในระดับมัธยมศึกษา ปีที่ 1-6 และบางครอบครัวมีฐานะก็จะเข้าไปเรียนในตัวเมืองจังหวัด เช่น โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม อีกทั้งในในพื้นที่ตำบลบางกระทุ่มยังมีศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนตั้งอยู่ด้วย
ลักษณะการตั้งบ้านเรือน ชาวบ้าน มักตั้งบ้านเรือนอยู่อย่างกระจายตามป่าสวนของตนเอง ส่วนใหญ่จะสร้างบ้านริมคลองห้วยแก้ว เมื่อมีถนนในหมู่บ้านดีขึ้น บ้านเรือนที่ก่อสร้างใหม่มักสร้างอยู่ริมถนน บ้านเรือนสร้างด้วยไม้สองชั้น ใต้ถุนโล่ง
การจัดงานตามประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชน มีงานกล้วยตากซึ่งเป็นงานประจำปีของอำเภอบางกระทุ่ม มีการประกวดธิดากล้วยตาก โดยจะจัดในช่วงเดือน มกราคม และงานศาลเจ้าจะจัดในช่วงเดือน ธันวาคม มีวัดที่ชาวบ้านไปทำบุญในงานประเพณีทางศาสนา คือ วัดห้วยแก้ว
ที่ตั้งของกลุ่มอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลบางกระทุ่ม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนของอำเภอบางกระทุ่ม ผลิตยาสมุนไพรเอง ทั้งเพื่อใช้รักษาในโรงพยาบาลและจำหน่ายไปตามโรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัยในเขตภาคเหนือที่สนใจ โดยการรับซื้อสมุนไพรจากชุมชน และให้บริการผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรและบริการหัตถบำบัด
เทศบาลตำบลบางกระทุ่ม. (ม.ป.ป.). ข้อมูลสภาพทั่วไป. https://www.bangkrathum.go.th/Pages/gci
เสาวลักณ์ ลิ้มศิริวงศ์. (2562). แนวทางการพัฒนาการผลิตกล้วยตากอย่างยั่งยืนพื้นที่อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก. Journal of Community Development Research, 11(1), 141-150.