
ชุมชนปลอดขยะ ชุมชนบรมไตรโลกนารถ 21 ได้รับโล่รางวัลประกาศเกียรติคุณชุมชนปลอดขยะ Zero Waste ในระดับประเทศ เมื่อปี 2553 เป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านการจัดการขยะในครัวเรือน มีผู้เข้ามาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ไม่ปรากฏที่มาชัดเจน แต่เป็นชื่อของถนนเส้นหลักที่ชุมชนตั้งอยู่ คือ ถนนบรมไตรโลกนาถ ซึ่งเป็นชื่อของพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยอยุธยา ที่เคยเสด็จมาครองเมืองพิษณุโลก
ชุมชนปลอดขยะ ชุมชนบรมไตรโลกนารถ 21 ได้รับโล่รางวัลประกาศเกียรติคุณชุมชนปลอดขยะ Zero Waste ในระดับประเทศ เมื่อปี 2553 เป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านการจัดการขยะในครัวเรือน มีผู้เข้ามาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ชุมชนบรมไตรโลกนารถ 21 ตั้งอยู่บนถนนบรมไตรโลกนารถ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก มีชาวบ้านอาศัยอยู่แต่ดั้งเดิมมานานเท่าไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่เกิดชุมชนขึ้นมาตามการขยายตัวของเมือง เมื่อพิษณุโลกมีเทศบาลเมืองและเทศบาลนครในเวลาต่อมา จึงมีการแบ่งเขตชุมชนเมือง ชุมชนบรมไตรโลกนารถ 21 อยู่ในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก
และมีโครงการชุมชนปลอดขยะ ( Zero waste community) ขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2540 ในเวลานั้นชุมชนได้ประสบปัญหาเรื่องการจัดการขยะที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ผู้รับผิดชอบในการจัดการขยะคือเทศบาลนครพิษณุโลก โดยจะส่งรถขนขยะเข้ามาเก็บขยะในชุมชนทุกวัน ถึงกระนั้นก็ยังพบว่า ในบางวันขยะที่ชาวบ้านทิ้งไว้จะล้นออกมาจากตัวถัง จนส่งผลกระทบในหลายด้าน เช่น สุนัข คุ้ยเขี่ยขยะจนสกปรกไปทั่วชุมชน และอาจจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค เป็นต้น เหตุการณ์นี้ทำให้คณะกรรมการชุมชน ได้ประชุมกันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ได้ข้อสรุปว่า ต้องมีการจัดการขยะเองในชุมชน เพื่อทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนเรื่องความรู้ และงบประมาณในการจัดฝึกอบรมการจัดการขยะจากเทศบาลนครพิษณุโลกร่วมกับบริษัทวงษ์พาณิชย์ นอกจากนี้ชุมชนยังได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในการจัดการขยะจากประเทศเยอรมัน คือ Dr. Walter Schoell ที่ปรึกษาอาวุโสประจำ สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน เอคบอร์น ได้เข้ามาทำวิจัยในชุมชนเป็นเวลาหลายเดือน เพื่อศึกษาว่าภายในชุมชน มีขยะประเภทใดบ้าง และในแต่ละประเภทมีจำนวนเท่าใด ผลการศึกษา พบว่า ชุมชน ฯ มีขยะ อยู่ 4 ประเภท คือ ขยะย่อยสลายได้ 46% ขยะรีไซเคิล 42% ขยะทั่วไป 9% และขยะอันตราย 3%
จากนั้นชาวบ้านโดยการสนับสนุนจาก จากเทศบาลนครพิษณุโลกร่วมกับบริษัทวงษ์พาณิชย์ ได้เริ่มโครงการชุมชนปลอดขยะ มีการจัดการขยะแยกประเภท ตามการแบ่งประเภท 4 ประเภท ข้างต้น ทำให้พบว่า ขยะย่อยสลายได้ที่มีจำนวนมากที่สุดนั้น จะถูกนำไปทำเป็นปุ๋ยไว้ใช้ภายในชุมชน ขยะรีไซเคิลจะถูกคัดแยกออกมานำไปขายต่อ ส่วนของขยะอันตราย และขยะทั่วไปจะถูกเทศบาลมาดำเนินการเก็บไปฝังกลบ เมื่อดำเนินโครงการไปสักไม่นาน พบว่า ขยะของชุมชนฯ ได้ลดลงไปเป็นจำนวนมาก การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ จากการที่เทศบาลจะต้องมาเก็บขนขยะเป็นประจำทุกวัน ปัจจุบัน (2562) การเก็บขยะของเทศบาลกับชุมชนบรมไตรโลกนารถ 21 ลดจำนวนเหลือเพียง 3 วันต่อ 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังพบว่าการแยกขยะยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยในชุมชนจะมีทั้งธนาคารขยะ และมีผู้รับซื้อขยะในชุมชนจากชาวบ้านไปขาย หลังจากดำเนินโครงการครบ 1 ปี คือ ในปี พ.ศ. 2541 ชุมชน ฯ ประสบความสำเร็จอย่างมากในการเป็นชุมชนต้นแบบการจัดการขยะเป็น "ชุมชนปลอดขยะ" ทำให้ได้รับรางวัลในระดับท้องถิ่น เช่น ในการมีส่วนร่วมในการลดปัญหาขยะ ต่อมาได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณ ชุมชนปลอดขยะ Zero Waste ในระดับประเทศ ใน ปี 2553 จากกรมส่งเสริมสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
ชุมชนบรมไตรโลกนารถ 21 เป็นชุมชนที่มีผลงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม จนมีผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน ในด้านการจัดการขยะ เป็นจำนวนมาก ผู้มาดูงานเป็น คณะนักเรียน นิสิต นักศึกษา องค์กรส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั้งในและต่างประเทศ จนปัจจุบัน ( 2562) มีผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานจำนวนทั้งสิ้นแล้วมากกว่า 600 คณะ และยังมีการเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง
ที่ตั้งของชุมชน มีอาณาเขตอยู่บริเวณ ถนนบรมไตรโลกนารถ โดยมีอาณาเขตติดกับชุมชนอื่น ๆ ดังนี้
ลักษณะโดยทั่วไปของชุมชน เป็นพื้นที่ราบในลักษณะชุมชนเมือง มีการตั้งบ้านเรือนกันตามแนวถนน บ้านเรือนแต่ละหลังจะตั้งอยู่ติดกัน มีกำแพงกั้นตามลักษณะชุมชนเมืองทั่วไป ลักษณะการสร้างบ้านเรือนส่วนใหญ่จะเป็นบ้าน 2 ชั้นที่มีขนาดปานกลาง มีผู้อาศัยอยู่ได้ประมาณ 3-4 คน ต่อหลังคาเรือน
ชุมชนบรมไตรโลกนารถ 21 เป็นชุมชนในเขตเมือง มีขนาดปานกลาง มีครัวเรือน ประมาณ 130 ครัวเรือน ประชากร 527 คน ประธานชุมชน 1 คน คณะกรรมการชุมชน 9 คน คณะกรรมการสาธารณสุขประจาหมู่บ้าน (อสม.) 6 คน คณะกรรมการกองทุนชุมชน 9 คน คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ 9 คน โดยมีอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อมจะมาจากตัวแทนของแต่ละครัวเรือนในชุมชน
ด้วยความที่เป็นชุมชนในเขตเมืองจึงไม่มีระบบเครือญาตที่ชัดเจน มีคนที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมในพื้นที่พอ ๆ กับ คนที่ย้ายถิ่นมา คนที่ย้ายถิ่นมาจากหลายพื้นที่ในอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดใกล้เคียง เช่น พิจิตร ตลอดจนคนในพื้นที่เองก็มีการย้ายถิ่นไปอยู่ที่อื่น เช่น กรุงเทพมหานคร หรือ ชลบุรี เป็นต้น
อาชีพของคนในชุมชนมีหลากหลาย ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ค้าขาย เป็นพนักงานบริษัท รองลงมาคือ รับจ้างทั่วไป ธุรกิจส่วนตัว และ รับราชการ
องค์กรชุมชนที่มีบทบาทสำคัญคือคณะกรรมการชุมชน โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการอยู่เสมอ ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง ทุกวันที่ 2 ของเดือน
วิถีชีวิตของชุมชน คือ การไปทำงานเช้าและกลับในช่วงเย็น ดังนั้นในช่วงกลางวันจะค่อนข้างเงียบและไม่ค่อยมีคนอยู่ที่บ้าน ยกเว้นผู้สูงอายุและเด็ก
ชีวิตประจำวันของชาวบ้านจะมีการแยกขยะในแต่ละครัวเรือน ตามประเภทต่าง ๆ ในส่วนที่สามารถนำไปขายได้ เช่น ขวดพลาสติก กระดาษ ขวดแก้ว โลหะ ฯลฯ จะนำไปขาย ในสถานที่รับซื้อ เช่น ธนาคารขยะ ร้านรับซื้อขยะที่อยู่รอบชุมชน หรือขายให้กับผู้ที่มีอาชีพรับซื้อขยะในชุมชน
1.นายเชาวรัตน์ คล้ายสอน ข้าราชการบำนาญครู มีความชำนาญการทางด้านการจัดการขยะชุมชน และเป็นประธานชุมชนมาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปี 2565
การมีองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะในครัวเรือน และมีเครือข่ายทางสังคมกับองค์กรภายนอก ทั้งภาครัฐ คือเทศบาลนครพิษณุโลก และ บริษัทวงษ์พาณิชย์ ที่เป็นบริษัทเอกชน ทำให้มีการทำงานร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยบริษัทวงษ์พาณิชย์ มีบทบาทสำคัญ ในการส่งเสริมให้ชุมชนบรมไตรโลกนาถ21 ในด้านการให้ความรู้ในการแยกขยะ การฝึกเป็นวิทยากรสำหรับการเข้ามาศึกษาดูงานจากหน่วยงานภายนอก ตลอดจนมีการเปิดห้องเรียนชาวบ้านสอนการคัดแยกขยะ และแบ่งประเภทของขยะแต่ละชนิดด้วยการลงมือปฏิบัติจริง
ในการจัดการขยะในครัวเรือน ชาวบ้าน จะดำเนินการแยก ประเภท 4 ประเภทดังนี้
1.ขยะย่อยสลายได้ จะถูกนำไปทำเป็นปุ๋ย 3 ประเภทคือ ปุ๋ยแห้ง ปุ๋ยน้ำชีวภาพ และปุ๋ยมูลไส้เดือนแดง
ปุ๋ยแห้ง เป็นปุ๋ยที่ทำมาจากผลไม้หรือเศษอาหารภายในครัวเรือน โดยจะนำไปหมักในบ่อคอนกรีตแบบไม่มี ก้นบ่อ ทำให้น้ำในบ่อหรือจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของกลิ่นเน่าเหม็นนั้นไหลออกมาเมื่อได้ปุ๋ยแห้งมาแล้วชาวบ้านก็ จะนำไปใช้ในการเป็นปุ๋ยให้พืชผักสวนครัว
ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ชาวบ้านจะทำขึ้นโดยการนำเอาเปลือกผลไม้ไปหมักไว้ในถังหมัก ซึ่งในกระบวนการหมักจะผสมEM (Effective Microorganisms) หรือกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ 1 แก้ว ต่อ ถังหมัก1 ถัง และน้ำที่ใส่ในถังต้องมีการตรวจสอบคุณภาพว่าเป็นน้ำที่สะอาด หรือหากเป็นน้ำประปาจำเป็นต้องพักน้ำไว้ก่อนเพื่อลดความเข้มข้นของสารคลอรีนที่อยู่ในน้ำ เนื่องจากสารคลอรีนจะทำลายตัว EM ทำให้ปุ๋ยหมักชีวภาพไม่มีประสิทธิภาพ
ปุ๋ยมูลไส้เดือนแดง หรือไส้เดือนสายพันธุ์ฮอลแลนด์ เป็นไส้เดือนที่มีเนื้อเยอะกว่าไส้เดือนสายพันธุ์ในประเทศไทย โดยไส้เดือนแดงได้มาจากประเทศลาวเมื่อครั้งที่ไปดูงานและอบรมเรื่องสิ่งแวดล้อมเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา โดยไส้เดือนแดง 1 ตัว สามารถแพร่พันธ์ุ ได้ 60-70 ตัว ชาวบ้านจะเลี้ยงไส้เดือนไว้เพื่อย่อยสลายขยะ ส่วนใหญ่แล้วอาหารของไส้เดือนเหล่านี้จะเป็นเศษผักผลไม้ และมูลไส้เดือนแดงจะนำไปทำเป็นปุ๋ย นอกจากนี้มีการเพาะขยายพันธุ์ส่งออกไปยังไต้หวันด้วย เนื่องจากไส้เดือนแดงมีเนื้อเยอะ ชาวไต้หวันจะนำไปผ่านกระบวนการอบแห้งผสมกับตัวยาอื่น เพราะเชื่อว่ามีสรรพคุณในการเป็นยาอายุวัฒนะ
2.ขยะรีไซเคิล เช่น กระดาษ ขวดแก้ว พลาสติก โลหะ เป็นต้น ชาวบ้านในแต่ละครัวเรือน จะคัดแยกแบ่งออกตามประเภท หลังจากนั้นจะจำหน่ายให้กับธนาคารขยะรีไซเคิล หรือร้านรับซื้อของเก่า จนสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านในชุมชน ไปพร้อม ๆ กับการทำให้ชุมชนเป็นชุมชนปลอดขยะ
3.ขยะทั่วไป เช่น โฟม ถุงแกง ถุงพลาสติก เศษหิน เศษปูน เป็นต้น เป็นขยะที่ไม่มีราคา จึงถูกคัดแยกออกไว้ เพื่อให้ทางเทศบาลนำไปกำจัด
4.ขยะอันตราย/ขยะมีพิษ เช่น กระป๋องยาฆ่าแมลง หลอดไฟ แบตเตอรี่ เป็นต้น ขยะเหล่านี้จะถูกคัดแยกไว้และนำไปรวบรวมไว้ที่จุดเก็บขยะอันตรายของชุมชน เพื่อรอให้เทศบาลมานำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป
ภูมิปัญญาในด้านการจัดการขยะนี้ทำให้ ชุมชนและประธานชุมชน ได้รับรางวัลมากมาย โดยจะนำเสนอเฉพาะในด้านการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น
- รางวัล "ชุมชนดีเด่นผู้มีส่วนร่วมในการลดปัญหาขยะ" ประจำปี 2541 โดยใช้วิธีการคัดแยกขยะรีไซเคิล จาก พลเอก ดร.ศิริ ทิวะพันธุ์ ประธานสถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน
- รางวัล "ชุมชนชนะเลิศการประกวดการหมักขยะชีวภาพทำปุ๋ย" ประจำปี 2542 ประเภทโรงหมักปุ๋ยขนาดกลาง รับโล่รางวัลจากนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก
- รางวัลเกียรติยศ "สิ่งแวดล้อมดีเด่น ระดับชาติ" วันสิ่งแวดล้อมไทย ประจำปี 2544 จาก ฯพณฯ ศ.เดช บุญ-หลง รองนายกรัฐมนตรี ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
- รางวัลเกียรติยศ "บุคคลดีเด่น" (ประธานชุมชน) สาขาส่งเสริมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประจำปี 2544 จากพลเอก ดร.ศิริ ทิวะพันธุ์ ส.ว. พิษณุโลก
- รางวัล "ผู้มีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมยอดเยี่ยม" ประเภทผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมประจำปี 2544 (ประธานชุมชน) จาก ดร.เปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก
- โล่รางวัล "ผู้นำชุมชนเข้มแข็งดีเด่นด้านการมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม" ประจำปี 2544 จาก ดร.สมไทย วงษ์เจริญ นายกสโมสรไลออนส์พิษณุโลก
- ชุมชนชนะเลิศการประกวด "กระทงใหญ่รีไซเคิล" ประเพณีลอยกระทง จังหวัดพิษณุโลก ประจำปี 2548 และ 2549
- โรงเรียนดีเด่นระดับประถมศึกษา "โครงการประกวดธนาคารขยะรีไซเคิล" รับโล่รางวัลจากอธิบดี กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2549
- "นวัตกรรมดีเด่นระดับชาติ ประจำปี 2548" การพัฒนาทางเลือกในโรงเรียนให้เด็กไทยได้เรียนรู้อย่างแท้จริง (Alternative Education Development project ) หัวข้อ "สิ่งแวดล้อมศึกษา ภูมิปัญญาเด็กไทย" ธนาคารขยะรีไซเคิล/การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ / การเพาะเลี้ยงไส้เดือนแดงย่อยสลายขยะ
- โล่รางวัล "โครงการธนาคารวัสดุรีไซเคิลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 80 ชุมชนระดับประเทศ” สิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน2551
- ชุมชนดีเด่นการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม "โครงการ ZERO WASTE PROJECT" จากพลเอก ดร.ศิริ ทิวะพันธุ์ ประธานสถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน ประจำปี 2551
- เกียรติบัตรชุมชนดีเด่น "โครงการประกวดชุมชนปลอดขยะ Zero waste" จากอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2552
- โล่รางวัล "ชุมชนดีเด่น ระดับประเทศ" โครงการประกวดชุมชนปลอดขยะ Zero waste วันสิ่งแวดล้อมโลก จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2553 จากการได้รับรางวัลเป็นจำนวนมาก ทำให้ชุมชนเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน จวบจนถึงปัจจุบัน
ภาษาไทย
เนื่องด้วยชุมชนบรมไตรโลกนารถ 21 เป็นชุมชนในเขตเมือง การคมนาคมสะดวก มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีผู้คนต่างถิ่นย้ายเข้ามาทำงาน มาเช่าบ้าน หรือเช่าพื้นที่ในการประกอบกิจการมากขึ้น คนที่ย้ายมาเหล่านี้ไม่มีความรู้สึกเป็นคนในชุมชน และมีพฤติกรรมการบริโภคแบบสังคมเมือง โดยมักจะซื้ออาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคมาจากข้างนอก ทำให้ปริมาณขยะในชุมชนเพิ่มขึ้น เพราะไม่ได้มีการจัดการแยกขยะเหมือนคนในชุมชน นอกจากนี้ ยังพบว่าในบางครั้งจะนำขยะไปทิ้งในที่สาธารณะ ทำให้ต้องมีการติดป้าย ห้ามทิ้งขยะ ในบางครั้งกรรมการชุมชนต้องทำหน้าที่ไปเจรจาเพื่อทำความเข้าใจและขอความร่วมมือ
เพื่อสร้างความสัมพันธ์และความสามัคคีของคนในชุมชน กรรมการชุมชนจะมีการจัดงานและเชิญคนชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมชุมชน โดยเฉพาะในวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันสงกรานต์หรือปีใหม่ไทย จัดให้มีกิจกรรม รดน้ำดำหัว ผู้สูงอายุในชุมชน นอกจากนี้ยังมีการจัดงานวันเด็ก ในทุกปี อย่างไรก็ตามปัญหาที่พบคือ คนที่มาร่วมงานก็ยังมีเพียงคนในชุมชนที่อยู่มาแต่เดิม และเป็นความท้าทายในการเป็นชุมชนปลอดขยะในปัจจุบัน
ฐณิชา เสมือนโพธิ์ และ จิราวดี อยู่สบาย (2562). กระบวนการจัดการขยะสู่การเป็นชุมชนปลอดขยะ(Zero waste community): กรณีศึกษาชุมชนบรมไตรโลกนารถ21 อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก. วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก
ฟ้ารุ่ง มีอุดร, กวินธร เสถียร, ณัฐณิชา เสมือนโพธิ์ และ จิราวดี อยู่สบาย. (2564). ก้าวไปสู่ชุมชนปลอดขยะ : ชุมชนบรมไตรโลกนาถ 21 อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ใน อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ และ บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล (บ.ก.), สังคม < = ≠ ≈ > ความรู้ ? สังคมศาสตร์ในกระแสความท้าทาย. (หน้า 197-223). พิษณุโลก: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร.