
เป็นชุมชน OTOP นวัตวิถีโดดเด่น เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้ทางด้านศิลปะวัฒนธรรม ภูมิปัญญาพื้นถิ่น ทั้งอาหาร ศิลปะหัตถกรรมต่างๆ
ชื่อบ้านเจ้าจันทร์ หรือ ชุมชนวัดจันทร์ ของตำบลวัดจันทร์ มาจากชื่อวัดจันทร์ตะวันออก และวัดจันทร์ตะวันตกที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ที่มาของชื่อวัดจันทร์ มาจากการที่สมัยโบราณบริเวณนี้มีต้นจันเป็นจำนวนมาก
เป็นชุมชน OTOP นวัตวิถีโดดเด่น เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้ทางด้านศิลปะวัฒนธรรม ภูมิปัญญาพื้นถิ่น ทั้งอาหาร ศิลปะหัตถกรรมต่างๆ
เดิมพื้นที่บริเวณบ้านเจ้าจันทร์ เป็นที่พักทัพช้างศึกม้าศึกตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำน่านที่อุดมสมบูรณ์ มีทุ่งหนองฝา ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่มีบึงขนาดใหญ่เต็มไปด้วยสัตว์น้ำน้อยใหญ่ สามารถจับเป็นอาหารเพื่อใช้เลี้ยงดูกองทัพยามพักศึกได้ บริเวณตำบลวัดจันทร์จะมีวัดโรงวัว โรงม้า และโรงช้าง รวมทั้งเป็นที่พักของเหล่าทหาร และเชลยศึก ซึ่งมีทั้งคนลาว ขอม มอญ และญวน เมื่อมีการเคลื่อนทัพ มีเชลยศึกบางส่วนที่ไม่ได้ตามทัพไป ยังคงอยู่ในพื้นที่จึงทำให้คนที่อยู่ในบริเวณนี้มีชาติพันธุ์ที่หลากหลาย
อัตลักษณ์อันโดดเด่นประการหนึ่งของชุมชนวัดจันทร์ คือการมีอาหารพื้นถิ่นจากกลุ่มคนหลายชาติพันธุ์ รวมทั้งอาหารชาววังสำหรับชนชั้นสูง เนื่องจากพิษณุโลกเป็นหัวเมืองหน้าด่านที่มีข้าหลวงหรือขุนนางชั้นสูงพักอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้มีนางห้องเครื่องที่ปรุงอาหารให้กับเจ้าพระยา และข้าราชการชั้นสูงทั้งหลาย รวมถึงข้าหลวงเย็นที่เป็นภรรยาขุนนางที่มีนางห้องเครื่องซึ่งมีฝีมือในการปรุงอาหารอาศัยอยู่ที่ชุมชนวัดจันทร์ สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เคยบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดตะไกร ที่ตำบลวัดจันทร์แห่งนี้ ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดราชมณฑป แต่ชาวบ้านจะเรียกขานกันว่า วัดหลวงพ่อโต จากประวัติของสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ในบันทึกของมหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันทน์) หลวงพ่อโตเป็นบุตรของนางงุด กับเจ้าพระยา ซึ่งออกศึกและมาขอน้ำจากนางงุดดื่ม นางงุดได้ใช้เกสรดอกบัวลอยน้ำให้เจ้าพระยาดื่ม ซึ่งเกสรดอกบัวนอกจากจะมีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจแล้ว ยังเป็นอุบายของนางงุดในการที่จะให้เจ้าพระยาค่อยๆ ดื่มน้ำ ไม่ให้เกิดสำลักจากการดื่มน้ำอึกใหญ่ในคราวเดียว ในภายหลังบ้านเจ้าจันทร์ ได้นำน้ำลอยเกสรดอกบัวนี้มาประยุกต์ผลิตเป็นเมนูเครื่องดื่มของศูนย์การเรียนรู้บ้านเจ้าจัน จันทร์เจ้า ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี โดยให้ชื่อว่า น้ำแม่งุด
อาชีพดั้งเดิมของคนในชุมชนวัดจันทร์คือการทำเตาอั้งโล่ บริเวณวัดจันทร์มีโรงเตาที่ปั้นและเผาเตาอยู่ริมแม่น้ำน่านจำนวนหลายโรง ท่าน้ำบริเวณวัดจันทร์เป็นแหล่งสัญจรค้าขายที่สำคัญ มีเรือเมล์แดงและเรือเมล์เขียวพายผ่านไปมากันขวักไขว่เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี พื้นที่ริมน้ำที่เคยเป็นที่ตั้งของเตาทุเรียงไม่หลงเหลือร่องรอยของเตาเผาแต่อย่างใด เนื่องจากกระแสน้ำพัดเซาะซากเตาเดิม และการเติบโตของเมืองและที่อยู่อาศัย ทำให้โรงเตาต้องปิดตัวลง เหลืออยู่เพียงโรงเดียวเท่านั้น ซึ่งย้ายจากพื้นที่ริมแม่น้ำมาตั้งอยู่ที่ถนนใกล้กับวัดจันทร์ตะวันออก
พื้นที่ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 60 ยังคงเป็นพื้นที่ในการทำการเกษตร ส่วนที่เหลือเป็นที่พักอาศัย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบเหมาะแก่การเพาะปลูก
สถิติบ้านจากทะเบียนบ้าน จากข้อมูลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 บ้านเจ้าจันทร์มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 665 หลัง มีประชากรราว 1,560 คน กลุ่มชาติพันธุ์ที่พบมีชาวบ้านที่สืบเชื้อสายมาจากญวน มอญ และลาวครั่ง แต่เป็นจำนวนน้อย
บ้านเจ้าจันทร์ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านวัดจันทร์หมู่ที่ 2 เป็นองค์กรชุมชนหลัก เดิมทีคนในพื้นที่ทำอาชีพทำนา แล้วมีการรวมกลุ่มพักผ่อนกินข้าวร่วมกัน ต่อมาเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ชาวบ้านหารือกันว่าต้องหาอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ จึงได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเซรามิกสองแคว เมื่อปี พ.ศ. 2544 ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เคยเป็นชุมชนปั้นเครื่องปั้นดินเผาบริเวณริมแม่น้ำมาต่อยอดทำเซรามิก โดยหาเอกลักษณ์จุดเด่นจากในท้องถิ่น ซึ่งก็คือตัวหงส์ที่วัดจุฬามณี ซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถมาผนวชเป็นพระ มีกำแพงหงษ์โบราณ ชาวบ้านได้ประยุกต์ทำเซรามิก รูปหงส์ กินรี นางเงือก และนางในวรรณคดี สินค้าของชุมชนเป็นงานปั้นมือทุกชิ้น และได้รับคัดเลือกเข้าเป็นสินค้า OTOP ระดับ 4 ดาว
จนกระทั่งเมื่อเกิดกระแสของการท่องเที่ยวชุมชน ชาวบ้านมองว่าที่ชุมชนน่าจะเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ ประกอบกับเซรามิก เริ่มลดความนิยมลง เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์จากเมลามีน และเรซินเข้ามาแทนที่เซรามิกซึ่งมีน้ำหนักมาก แตกหักง่าย และราคาสูง ชาวบ้านจึงได้หารือกันและเห็นควรที่จะพัฒนาให้ชุมชนเป็นสถานที่ท่องเที่ยว โดยคุณกัณฐ์มณี พูลธนทวีกิจหรือคุณติ๊ก ซึ่งเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเซรามิกสองแคว ได้ยกที่ดินของตนเองให้กับทางอำเภอเพื่อใช้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการรวมกลุ่มของชุมชน เป็นระยะเวลา 40 ปี จึงได้เริ่มก่อสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้บ้านเจ้าจัน จันทร์เจ้า เมื่อปี พ.ศ. 2560 และเริ่มดำเนินงานชุมชนท่องเที่ยวในปี 2561 โดยชื่อของศูนย์การเรียนรู้ได้มาจากการที่พื้นที่ในตำบลวัดจันทร์นี้มีต้นจันเป็นจำนวนมาก ซึ่งลูกจันจะมีสองลักษณะคือจันอินกับจันโอ ทางชุมชนจึงตั้งชื่อศูนย์การเรียนรู้ให้พ้องกับลักษณะผลจันเป็น “เจ้าจัน” กับ “จันทร์เจ้า”
ในการดำเนินงานศูนย์การเรียนรู้ และพัฒนาเป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ทางชุมชนได้ค้นหาภูมิปัญญาในหมู่บ้านเพิ่มเติม ด้วยการสอบถามจากผู้สูงอายุในหมู่บ้านและจดบันทึก นอกเหนือจากการทำเซรามิกแล้ว ยังมีภูมิปัญญาในการทำอาหารพื้นถิ่นโบราณ เช่น อาหารคาว ได้แก่ ไก่ต้มน้ำอ้อยสูตรโบราณ 200 ปี มัจฉาเย้ยจันทร์ วารีทอดกรอบ ราหูอมจันทน์ นารีจันทร์เจ้า และอาหารหวาน ได้แก่ ขนมสัมปันนี ขนมทองโปร่ง ขนมทองพลุ ขนมพระพาย ขนมบุหลันดันเมฆ ขนมเสน่ห์จันทร์ ขนมตะลุ่ม ขนมสำปันนี ขนมตะลุ่ม ขนมช่อผกากรอง ฯลฯ งานหัตถกรรมสานใยแมงมุมตามความเชื่อของคนพื้นที่สูงของคนเชื้อสายลาวครั่ง ที่เชื่อว่าการพบใยแมงมุมในป่าจะเป็นสิริมงคล จึงมีการถักใยแมงมุมแขวนไว้ในบ้านเรือนและงานมงคลต่างๆ
ปัจจุบันมีสมาชิกศูนย์การเรียนรู้บ้านเจ้าจัน จันทร์เจ้าที่เป็นหลักประจำอยู่ 15 คน และมีภาคีเครือข่ายเป็นหมู่อื่นๆ ในตำบลวัดจันทร์ที่จะมาช่วยสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น การนวด ได้รับการสนับสนุนจากบ้านดอนหมู่ 7 สปาสมุนไพร แช่เท้า ลูกประคบ ได้รับการสนับสนุนจากบ้านวัดจันทร์ หมู่ 4
ช่วงเดือนเมษายน ประมาณวันที่ 16 เมษายนของทุกปี จะมีการจัดงานทำบุญกลางบ้าน เลี้ยงพระ โดยชาวชุมชนทำกับข้าวมาถวายพระ จัดกิจกรรมที่บริเวณกลางหมู่บ้าน
คุณกัณฐ์มณี พูลธนทวีกิจ หรือคุณติ๊ก ประธานชุมชนเป็นผู้นำที่สามารถดึงเอาทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม และความร่วมมือกับองค์กรภายนอก มาช่วยสร้างอาชีพเสริม สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน การรวมตัวกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเซรามิกสองแคว การพัฒนาผลิตภัณฑ์เซรามิก สินค้า OTOP 4 ดาว รวมถึงการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ล้วนมีคุณกัณฐ์มณีเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ และนำพาองค์กรชุมชนหมู่ 2 บ้านเจ้าจันทร์ ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนถึงปัจจุบัน
ป้าไก่ มะรำ พลอยแหวน เชี่ยวชาญด้านการทำตุงใยแมงมุม
ป้าโย บุปผา แก้ววิเศษ เชี่ยวชาญด้านการถักกระเป๋า การทำขนมไทย
ป้านี ศศิภัทร เชี่ยวชาญด้านการทำอาหารพื้นถิ่น ทำเซรามิก เครื่องปั้นดินเผา
ครูเอ สิทธิเดช พูนทวี เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งการออกแบบอาหาร การออกแบบผลิตภัณฑ์เซรามิก
ลุงสุทิน เชี่ยวชาญด้านการทำผ้ามัดย้อม
ลุงสุภาพ เป็นวิทยากรลูกเสือ เชี่ยวชาญด้านการใช้ชีวิต การเอาตัวรอดในป่า
ป้าสาว เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรไทย
คุณเต้ เชี่ยวชาญด้านการเกษตร การทำบ้านดิน
พี่ตุ๊กตา เชี่ยวชาญด้นการนวดสมุนไพรไทย
ป้าซ้อ เชี่ยวชาญด้านอาหาร
พี่หน่อย เชี่ยวชาญด้านอาหาร
ป้าติ๋ม เชี่ยวชาญด้านอาหาร
ทุนทางสังคมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บ้านเจ้าจันทร์สามารถรวมกลุ่มกันได้อย่างเหนียวแน่น และช่วยกันพัฒนาชุมชนผ่านร้อนผ่านหนาวมาได้ ตั้งแต่การรวมกลุ่มเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเซรามิกสองแคว มาจนเป็นชุมชนบ้านเจ้าจัน จันทร์เจ้า ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีในปัจจุบัน ภายใต้การนำของประธานชุมชนที่มีความสามารถและมีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับคนทั้งภายในและภายนอกชุมชนทำให้สามารถดึงเอาทรัพยากรจากภายนอกไม่ว่าจะเป็นเงินทุน การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ บุคคลภายนอกที่จะเข้ามาเป็นฐานลูกค้าของชุมชนและให้การสนับสนุนด้านต่างๆ ขณะเดียวกันก็สามารถดึงศักยภาพของคนในชุมชน ให้นำภูมิปัญญาที่ติดตัวมาของแต่ละบ้าน แต่ละคนมาพัฒนาเป็นสินค้าและบริการที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน
ภูมิปัญญาของคนในหมู่บ้านเป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีของบ้านเจ้าจันประสบความสำเร็จ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมดูงาน ในช่วงของการพัฒนาบ้านเจ้าจันเป็นชุมชนท่องเที่ยว ชาวบ้านได้มีการสืบเสาะค้นหาภูมิปัญญาที่อยู่ในบ้าน ในครัวเรือน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเจ้าของภูมิปัญญามองว่าเป็นการใช้ชีวิตปกติ ไม่ได้มีอะไรพิเศษนั้นมารังสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่สร้างมูลค่าให้กับชุมชน หนึ่งในภูมิปัญญาหลักที่ถูกนำมาพัฒนาสร้างสรรค์คือฝีมือด้านการทำอาหารคาว-หวาน ชาวชุมชนบางส่วนเคยทำงานในครัวหลวง มีความรู้ด้านสูตรอาหารโบราณ และสูตรอาหารชาววัง อาหารคาว-หวานรสเลิศจึงเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาที่ศูนย์การเรียนรู้ บ้านเจ้าจัน จันทร์เจ้า นอกจากนี้ ภูมิปัญญาด้านหัตถกรรมและงานฝีมือของชาวบ้านที่หลากหลาย ทั้งด้านเกษตรกรรม การทำเซรามิก การปั้นดิน ทำผ้ามัดย้อม ผ้าบาติก การทำใยแมงมุม ถูกรังสรรค์เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เข้ามาเยี่ยมชมชุมชนได้ทดลองทำ และสัมผัสกับวิถีการใช้ชีวิต วิถีการกินอยู่ การผลิต การทำงานศิลปะที่เป็นภูมิปัญญาสืบทอดมาแต่ดั้งเดิม
การเข้าถึงงบประมาณจากส่วนกลาง รวมไปถึงปัญหาเรื่องเงื่อนไขในการใช้งบประมาณที่ไม่ครอบคลุมต่อการพัฒนาของชุมชน
หลังจากการพัฒนาบ้านเจ้าจันทร์ เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีเมื่อปี พ.ศ. 2561 ดำเนินงานได้เพียงไม่นานก็เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อ พ.ศ. 2563 จนกระทั่ง พ.ศ. 2565 ทางชุมชนต้องยุติการรับนักท่องเที่ยวลงชั่วคราว อย่างไรก็ดีในระหว่างที่ทางชุมชนไม่ได้เปิดรับนักท่องเที่ยวนั้น ยังมีการขายอาหารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้ในระดับหนึ่ง
เนื่องจากน้ำประปายังไม่ทั่วถึงทั้งหมู่ 2 บ้านเจ้าจันทร์ จึงทำให้บางครัวเรือนใช้น้ำบาดาล บางครัวเรือนใช้น้ำประปาของเทศบาล และการกำจัดขยะของทางเทศบาลยังไม่ทั่วถึงและไม่สม่ำเสมอ ทำให้ต้องกำจัดขยะเอง ด้วยการขุดหลุมฝังขยะ
กลุ่มชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านวัดจันทร์ หมู่ที่ 2 พยายามพัฒนาศักยภาพของสมาชิกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเชิญผู้เชี่ยวชาญจาก กศน. มาให้ความรู้ และมีมหาวิทยาลัยเข้ามาอบรม หรือทำโครงการร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี พยายามจะนำภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในชุมชนมาเป็นจุดขายในการดำเนินงาน OTOP นวัตวิถี เช่น กิจกรรมการถักตุงใยแมงมุม เป็นภูมิปัญญาของคนในพื้นที่ซึ่งเป็นคนลาวครั่ง
มีพื้นที่บางส่วนทับซ้อนกับกรมชลประทาน ซึ่งทางกรมชลประทานอนุญาตให้เจ้าของเดิมสามารถประกอบอาชีพในพื้นที่ดังกล่าวได้ ทางชุมชนพยายามทำเรื่องขอเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ แต่ยังไม่ได้รับการอนุญาต
อาหารที่เป็นเมนูชูโรงของบ้านเจ้าจัน คือไก่ต้มน้ำอ้อย หรือไก่จันทร์เจ้า เมนูนี้ถูกจัดอยู่ใน 10 เมนูอาหารพื้นถิ่นเมืองพิษณุโลก และได้รับรางวัลของดีเมืองพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ. 2566 ไก่จันทร์เจ้า เป็นเมนูอาหารโบราณที่สืบทอดกันมากว่า 200 ปี โดยเดิมบ้านวัดจันทร์เป็นที่พักทัพช้างศึกและม้าศึกของเจ้าพระยาต่างๆ เนื่องจากพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีบึงน้ำขนาดใหญ่ โรงครัวที่ทำอาหารสำหรับเลี้ยงกองทัพได้ทำไก่ต้มน้ำอ้อย โดยใช้อ้อยและสับปะรดที่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ทำอาหารที่มีโปรตีนเพื่อซ่อมแซมร่างกายและให้พลังงานแก่กองทัพ เมนูนี้ได้มีผู้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดยคุณทวดทอง พุดเดี๊ยม เป็นผู้นำสูตรมาทำแล้วนำไปขายบริเวณตลาดสถานีรถไฟ อย่างไรก็ดี ลูกหลานของคุณทวดทองได้เปลี่ยนอาชีพไปรับจ้างเย็บผ้า จึงไม่ได้ทำไก่ต้มน้ำอ้อยไปขายที่ตลาดอีก จนกระทั่งนางลม พูลทวี ลูกสาวทวดทอง พุดเดี๊ยม ได้นำไก่ต้มน้ำอ้อยมาทำให้ลูกหลานรุ่นต่อไปได้กิน สูตรไก่ต้มน้ำอ้อยจึงได้สืบทอดมาสู่ตระกูลพูลทวี ซึ่งได้สืบทอดรสชาติดั้งเดิมตามต้นฉบับ ที่มีรสชาติหอมหวานของอ้อย ผสมกับความเปรี้ยวหวานของสับปะรด และความนุ่มละมุนของเนื้อไก่ที่ต้มจนเปื่อย รสสัมผัสกลมกล่อมและหอมหวล
บ้านเจ้าจัน จันทร์เจ้า. (2 กันยายน 2566). 10 เมนูอาหารพื้นถิ่น จังหวัดพิษณุโลก. บ้านเจ้าจัน จันทร์เจ้า.ไก่จันทร์เจ้า (ไก่ต้มน้ำอ้อย) ต้นตำรับ. YouTube. เข้าถึงข้อมูลจาก https://www.youtube.com/watch?v=fY92lenZLj0&t=83s&ab_channel=บ้านเจ้าจันจันทร์เจ้า
บ้านเจ้าจัน จันทร์เจ้า. (29 กันยายน 2566). บ้านเจ้าจัน จันทร์เจ้า แหล่งความรู้ภูมิปัญญาชุมชน. YouTube. เข้าถึงข้อมูลจาก https://www.youtube.com/watch?v=gQ377rBMEAY&ab_channel=เรื่องเล่าจากชุมชน
บ้านเจ้าจัน จันทร์เจ้า. (5 กุมภาพันธ์ 2567). ไก่จันทร์เจ้า. Facebook. เข้าถึงข้อมูลจาก https://www.facebook.com/watch/?v=1722017214991790
พิดโลกนิวส์. (5 พฤศจิกายน 2562). ไก่ต้มน้ำอ้อยอาหารพื้นถิ่นเมืองสองแคว อายุกว่า 200 ปี. Facebook.เข้าถึงข้อมูลจาก https://www.facebook.com/pitloknews/posts/
โรม บุนนาค. (22 กรกฎาคม 2563). รำลึกถึงสมเด็จโตวัดระฆัง ผู้มีเรื่องให้เล่ามากมาย! คู่ปะทะคารมของ ร.๔ เจ้าเขมรติดกัณฑ์เทศน์ด้วยลูกสาว!! MGR Online. เข้าถึงข้อมูลจาก https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000074999
สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดพิษณุโลก. (2566). บ้านเจ้าจัน จันทร์เจ้า. YouTube. เข้าถึงข้อมูลจาก https://www.youtube.com/watch?v=ZdtAcIJdsnk&ab_channel=TESLA%5BUS%5D
สุทน รุ่งธัญรัตน์. (21 ธันวาคม 2564). เที่ยวทั่วไทยไปกับพี่หนุ่ม’สุทน รุ่งธัญรัตน์ : พาไปรู้จักชุมชนบ้านวัดจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ชุมชนบ้านวัดจันทร์ท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้และชิมอาหารท้องถิ่น. Newskypost168.com. เข้าถึงข้อมูลจาก https://newskypost168.com/2021/12/21/เที่ยวทั่วไทยไปกับพี่-80/
สำนักข่าวเอดีดี นิวส์. (11 เมษายน 2562). “บ้านเจ้าจัน จันทร์เจ้า” พัฒนาอาหารพื้นถิ่น และรวบรวมแหล่งความรู้ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนบ้านวัดจันทร์. เข้าถึงข้อมูลจาก http://addnewsphitsanulok.com/add2019/?p=7783
องค์การบริหารส่วนตำบลวัดจันทร์. (18 มกราคม 2562). สถานที่สำคัญ: ทุ่งหนองฝา (จังหวัด พิษณุโลก). เข้าถึงข้อมูลจาก https://www.wadchan.go.th/tambon/travel/content/
องค์การบริหารส่วนตำบลวัดจันทร์. (18 มกราคม 2562). สถานที่สำคัญ: วัดราชมณฑป (จังหวัด พิษณุโลก). เข้าถึงข้อมูลจาก https://www.wadchan.go.th/tambon/travel/content/6
องค์การบริหารส่วนตำบลวัดจันทร์. (2566). ประวัติ/สภาพทั่วไป. เข้าถึงข้อมูลจาก https://www.wadchan.go.th/tambon/general
New Delight. (4 พฤศจิกายน 2562). บ้านเจ้าจัน จันทร์เจ้า OTOP นววิถี รวบรวมแหล่งความรู้ชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน จังหวัดพิษณุโลก. เข้าถึงข้อมูลจาก https://board.postjung.com/1175249