Advance search

ชุมชนไทดำ ที่มีอาณาเขตติดถนนทางหลวง อีกทั้งมีประเพณีวัฒนธรรม หัตถกรรมเสื้อผ้า และเครื่องจักสานของกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ

หมู่ที่ 2
บ้านบ่อทอง
บ่อทอง
บางระกำ
พิษณุโลก
นายวิรัช ทองดอนยอด (ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน) โทร. 09-5561-8259
ธนพร ศรีสุขใส, บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
30 พ.ย. 2024
บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
28 ก.พ. 2025
บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
27 ธ.ค. 2024
บ้านบ่อทอง 

ก่อนจะมีการก่อตั้งหมู่บ้าน ได้มีชาวบ้านคนหนึ่งฝันว่ามีชายคนหนึ่งแต่งตัวเหมือนคนสมัยโบราณ บอกให้ไปขุดเอาสมบัติบริเวณต้นก้ามปูทอง ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกับที่ตั้งบ้านบ่อทองในปัจจุบัน พอรุ่งเช้า ชาวบ้านคนนั้นได้ไปขุดเอาสมบัติตามที่ฝันไว้ พอขุดหลุมลึกประมาณ 3 เมตร ก็เจอสมบัติมากมายซึ่งเป็นเงินทองสมัยโบราณ ในปัจจุบัน บ่อและต้นก้ามปูทองดังกล่าวได้ถูกถมและตัดทิ้งไปหมดแล้ว และเมื่อปี พ.ศ. 2470 คนกลุ่มแรกที่เริ่มก่อตั้งหมู่บ้าน ได้หารือกันเรื่องการตั้งชื่อของหมู่บ้าน จึงได้นำเรื่องที่ชาวบ้านคนนี้เล่ามาตั้งเป็นชื่อของหมู่บ้านว่า "บ้านบ่อทอง"   

ชาวบ้านที่มีอายุตั้งแต่ 50-70 ปี จำได้ถึงต้นก้ามปูทองที่อยู่ในเรื่องเล่าดังกล่าว แม่เฮียง ชาวบ้านบ่อทอง (สัมภาษณ์, 18 กรกฎาคม 2567) บรรยายถึงต้นก้ามปูทองว่าเป็นต้นไม้ใหญ่มาก ตั้งอยู่บริเวณบ้านของเธอ ต้นก้ามปูทองมีอายุยืนยาว แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาร่มรื่นแก่คนในหมู่บ้านมาหลายชั่วอายุคน แต่เมื่อประมาณปีพ.ศ. 2521-2522 ซึ่งแม่เฮียงอายุประมาณ 12 ขวบ ทางการได้เริ่มโครงการสร้างถนนสายเอเชีย พิษณุโลก-นครสวรรค์ ทำให้มีการปรับพื้นที่ทำถนน ต้นก้ามปูที่ตั้งอยู่ในบริเวณก่อสร้างถนนจึงถูกตัดและรื้อถอนออกไป เป็นที่เศร้าและเสียดายของชาวบ้านบ่อทองเป็นอย่างมาก   


ชุมชนไทดำ ที่มีอาณาเขตติดถนนทางหลวง อีกทั้งมีประเพณีวัฒนธรรม หัตถกรรมเสื้อผ้า และเครื่องจักสานของกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ

บ้านบ่อทอง
หมู่ที่ 2
บ่อทอง
บางระกำ
พิษณุโลก
65140
16.6365555241247
100.14841273427
องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อทอง

บ้านบ่อทองตั้งขึ้นโดยคนกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำที่อพยพมาจากหลายจังหวัดทางภาคกลางตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร สุพรรณบุรี นครสวรรค์ จากการบอกเล่าต่อกันมาจนถึงรุ่นลูกหลานทำให้คนบ้านบ่อทองรู้ถึงรากเหง้าของตัวเอง สาเหตุการอพยพของคนรุ่นปู่ย่าตายายของคนบ้านบ่อทอง คือการหาพื้นที่ทำกิน หลังจากสงครามสิ้นสุดลง และมีการเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวไทดำในเมืองเพชรบุรีเริ่มมีการขยายครอบครัว จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้พื้นที่ทำกินที่มีอยู่เดิมไม่เพียงพอ ประกอบกับหลายพื้นที่มีปัญหาภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง ทำให้คนรุ่นหนุ่มสาวที่มีกำลังวังชาสามารถเดินทางในระยะเวลายาวนานตัดสินใจนำพาลูกหลานและขนข้าวของเครื่องใช้อพยพกันมายังแหล่งที่ใหม่

รายชื่อผู้ที่มาเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านบ่อทอง ได้แก่ นายแพร สิงห์กวาง นายคง สิงห์ลอ นายแสน สิงห์คา นายสบง สิงห์คา นายนนท์ สิงห์คา นางจันทร์ ทองดอนกระเดื่อง นางสิน สิงห์กวาง นางแดง สิงห์กวาง นางบิน สิงห์กวาง นายบุญ สิงห์กวาง นายผิว สิงห์ลอ และนางมา สิงห์ลอ โดยก่อนที่จะเริ่มก่อตั้งหมู่บ้าน สภาพภูมิศาสตร์บริเวณนี้ยังเป็นป่าดงดิบ มีสัตว์ป่าน้อยใหญ่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ช้าง เสือ หมี เก้ง กวาง ฯลฯ และมีโจรผู้ร้ายปล้นจี้เป็นประจำ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีถนนหนทาง ชาวบ้านต้องใช้ทางเกวียนในการสัญจรไปมา

พ่อประสิทธิ์ สิงห์ลอ อายุ 87 ปี ลูกคนที่ 9 ของพ่อคง สิงห์ลอ ผู้บุกเบิกตั้งบ้านบ่อทอง เล่าถึงสาเหตุการอพยพโยกย้ายจาก "เมืองล่าง" ซึ่งหมายถึงถิ่นที่อยู่เดิมในเมืองเพชรบุรี มายัง "เมืองเหนือ" ซึ่งหมายถึงพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศไทย เนื่องจากประชากรในชุมชนเดิมซึ่งอยู่ในอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี มีจำนวนเพิ่มขึ้นจนทำให้ที่ดินทำกินไม่เพียงพอต่อความต้องการ พ่อคงซึ่งเป็นลูกชายคนโตของปู่กับย่าจึงได้ชักชวนคนในครอบครัวออกเดินทางเพื่อค้นหาแหล่งที่อยู่ใหม่ที่กว้างขวางเพียงพอต่อการเลี้ยงปากท้องของทุกคน พ่อคงในตอนนั้นแต่งงานกับแม่สายซึ่งเป็นภรรยาตั้งแต่ยังอยู่ที่เพชรบุรีและมีลูกด้วยกัน 2 คนแล้ว พ่อคงและพี่น้องของพ่อคงเป็นเรี่ยวแรงหลักในการนำพาพ่อแม่และครอบครัวของตนเองซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 20 ชีวิต เดินทางข้ามน้ำข้ามเขาโดยการขึ้นแพและต่อเกวียนมาจนมาเจอพื้นที่ที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่มาก่อน ห้อมล้อมด้วยป่าดงอุดมสมบูรณ์ มีหนอง คลอง บึง ไหลผ่าน และอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากแม่น้ำยมซึ่งเป็นแหล่งน้ำสายหลักมากนัก ทำให้ครอบครัวมีแหล่งอาหารจากธรรมชาติและมีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเพาะปลูกได้ พ่อคงและปู่จึงปักหลักใช้ชีวิตอยู่ ณ ที่แห่งนี้ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่าหมู่บ้านบ่อทอง โดยหากเทียบกับอายุลูกคนแรกของพ่อคง ซึ่งเป็นพี่ชายคนโตของพ่อประสิทธิ์ที่มาเกิดที่บ้านบ่อทอง อายุประมาณ 100 ปีในปัจจุบัน ดังนั้นบ้านบ่อทองน่าจะมีระยะเวลาการก่อตั้งบ้านไม่ต่ำกว่า 100 ปี

"ผมรู้ว่าเรามาจากเพชรบุรี อพยพมาอยู่ที่ อำเภอบ้านแหลม เพชรบุรี น้ำทะเลท่วมถึงทุกปี คนลาวโซ่งเขากลัวลูกจมน้ำ เลยอพยพขึ้นไปอยู่ที่เขาย้อย ตอนนั้นมีไม่ถึง 100 ครอบครัวนะ มีแค่ 9-10 ครอบครัว แต่ตอนนี้แตกลูกแตกหลานออกไป และก็มากันเรื่อย ๆ มากันเยอะขึ้น อย่างพ่อผมก็มาจากเพชรบุรีเหมือนกัน อพยพกันเรื่อย ๆ มา แล้วมาปักหลักที่บ่อทองนี่แหละ เมื่อก่อนป่าดงทั้งนั้นแถวนี้ หน่อไม้นี้ไม่ต้องซื้อเขาเลย ไก่ป่าก็เยอะ มันชอบอยู่ตามป่าไผ่ ใครจะอยู่ตรงไหนก็จับจองเอา ทำไร่ทำนา หาปูหาปลากิน"

แต่เดิมบ้านบ่อทองขึ้นกับตำบลพันเสา ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ตำบลพันเสา เนื่องจากตำบลพันเสาในขณะนั้นมีจำนวนหมู่บ้านมากถึง 19 หมู่บ้าน และมีเนื้อที่ขนาดใหญ่ เป็นอุปสรรคต่อการปกครองของทางราชการ ทางการจึงลดพื้นที่ตำบลพันเสาให้เหลือให้เพียง 11 หมู่บ้าน และอีก 8 หมู่บ้านให้แยกเป็นตำบลบ่อทอง ปัจจุบันตำบลมีหมู่บ้านเพิ่มเป็น 10 หมู่บ้าน เนื่องจากมีการขยายตัวของประชากรอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การพัฒนาหมู่บ้านก็เป็นไปอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการสาธารณูปโภคต่าง ๆ ปัจจุบันทุกครัวเรือนต่างเข้าถึงไฟฟ้า ประปาหมู่บ้าน บ่อบาดาลสาธารณะ และมีถนนทางหลวงแผ่นดิน 117 (สายพิษณุโลก-นครสวรรค์) ตัดผ่านในปี พ.ศ. 2521 หลังจากนั้นไม่นานก็มีการสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1281 (สายบางระกำ-บ่อทอง) และทางหลวงชนบท หมายเลข 3012 (แยกทางหลวงหมายเลข 117-บ้านหนองบัว) ทำให้การสัญจรสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรจากแหล่งผลิตสู่แหล่งรวบรวมผลผลิตและแปรรูป ไม่ว่าจะเป็น โรงสีข้าว ท่าข้าว โรงงานน้ำตาล ลานมันสำปะหลัง เป็นต้น 

บ้านบ่อทองตั้งอยู่ในตำบลบ่อทอง อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอบางระกำไปทางทิศตะวันตก 17 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดพิษณุโลก ทางทิศเหนือ 25 กิโลเมตร บ้านเรือนของคนบ่อทองตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งของถนนทางหลวงแผ่นดิน 117 (สายพิษณุโลก-นครสวรรค์) ฝั่งด้านตะวันออกมีทางหลวงชนบท พล. 3012 วังอิทก-บางระกำ ก่อนถนนจะพาเข้าสู่เขตหมู่บ้านหนองบัว บริเวณศาลเจ้าพ่อบ้านหนองบัว ส่วนฝั่งด้านตะวันตกมีทางหลวงหมายเลข 1281 บ่อทอง-บางระกำ ตัดผ่านประมาณ 1 กิโลเมตร ก่อนถนนจะพาเข้าสู่เขตหมู่บ้านหนองตาเขียว และยาวไปจนถึงตัวอำเภอบางระกำ  

สภาพชุมชนทั้งสองฝั่งถนนสายพิษณุโลก-นครสวรรค์ 117 มีบ้านเรือนเรียงรายสองฝั่งถนน และมีกลุ่มบ้านที่ตั้งห่างจากถนนเข้าไปในซอยหรือใกล้กับไร่นา บ้านเรือนส่วนใหญ่ทำด้วยอิฐและปูน น้อยมากที่ทำด้วยไม้ บริเวณหลังบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา มีสวนหัวไร่ปลายนาปะปนเล็กน้อย ตลอดเส้นทางเข้าหมู่บ้าน หากเป็นวันที่ไม่มีงานศพ งานแต่ง หรือการรวมตัวของผู้คน นับว่ายากที่จะได้พบเห็นผู้คน นอกเสียจากการแวะร้านค้าซึ่งมีผู้ขายออกมาต้อนรับผู้มาเยือน และหากได้มีโอกาสเดินเข้าไปในบ้านเรือนจะพบสมาชิกผู้สูงวัยและเด็ก มากกว่าจะเจอคนหนุ่มสาวซึ่งส่วนใหญ่ออกไปทำงานรับจ้างในเมืองหรือต่างจังหวัด 

ชุมชนแห่งนี้มีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง ฝั่งตะวันตกจะมีพื้นที่สูงกว่าและพื้นที่ลาดเทลงไปทางฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้แม่น้ำยมมากกว่า ในชุมชนไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ชลประทาน แต่ก็มีลำคลองธรรมชาติไหลผ่านเชื่อมต่อกันหลายหมู่บ้าน สามารถนำมาใช้เพื่อการ อุปโภค บริโภค และการเกษตรได้ นอกจากนี้ยังมีสระเก็บน้ำทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่ขุดด้วยเครื่องจักร และยังมีแหล่งน้ำใต้ดินเพียงพอต่อการขุดบ่อสูบน้ำบาดาลขึ้นมาทำนาปรัง ซึ่งเป็นการทำนาปีละ 2-3 ครั้ง สำหรับพื้นที่ที่มีน้ำเพียงพอ อย่างไรก็ตาม สภาพดินส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นดินเหนียวและดินทราย ขาดความอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากพื้นที่ผ่านการเพาะปลูกอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ทำให้มีการใช้ปุ๋ยเคมีและยากำจัดวัชพืชอย่างเข้มข้นมากขึ้น

จากการสำรวจจำนวนประชากรของผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน (นายทัน สิงห์ลอ) พบว่าในปี 2567 หมู่บ้านประกอบด้วยประชากร 286 คน แบ่งเป็น 114 ครัวเรือน ภายใต้ค่านิยมและความเชื่อที่ปลูกฝังกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ กลุ่มคนไทดำมักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน และนิยมแต่งงานกับคนไทดำด้วยกัน ทั้ง 114 ครัวเรือน ดังกล่าวจึงเป็นครัวเรือนไทดำทั้งหมด นอกจากนี้คนไทดำบ้านบ่อทองยังมีเครือญาติที่อพยพมาในเวลาไล่เลี่ยกันอาศัยอยู่ตามหมู่บ้านข้างเคียง เช่น บ้านหนองบัว บ้านพันต่าง บ้านหนองตาเขียว บ้านแหลมมะค่า เป็นต้น รวมถึงเครือข่ายคนไทดำตั้งแต่ระดับตำบลไปจนถึงระดับประเทศ ดังจะเห็นได้จากการพบปะรวมตัวกันในงานรวมญาติชาติพันธุ์ไทดำ ที่จะมีการจัดงานแบบหมุนเวียนไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีคนไทดำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากทั่วประเทศ จากการสัมภาษณ์ป้าดอกรัก วันทัด ปราชญ์ชาวไทดำ (สัมภาษณ์, 15 กรกฎาคม 2567) อธิบายว่าการจัดงานรวมญาตินี้จะเริ่มตั้งแต่ต้นปีไปจนถึงก่อนเข้าพรรษา สำหรับบ้านบ่อทองจะร่วมจัดงานที่ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ วัดดอนอภัย หมู่บ้านต่าง ๆ ในตำบลบ่อทองและตำบลใกล้เคียงจะร่วมกันจัดงานนี้ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อทองเป็นประจำทุกปี ตัวแทนคนไทดำจากพื้นที่ต่าง ๆ จะมาร่วมงานกันอย่างคึกคัก ไม่เว้นแม้แต่ไทดำที่อยู่ต่างภูมิภาค เช่น ไทดำจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดราชบุรี และจังหวัดนครปฐม แม้แต่ไทดำที่อยู่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และชุมพรก็ยังมาร่วม เนื่องจากทุกที่เห็นความสำคัญในการรวมตัวกันของเครือข่ายเพื่อการขับเคลื่อนกิจกรรมที่ประโยชน์ร่วมกันต่อไป

จากการสังเกตการณ์ในงานประเพณีต่าง ๆ ของชาวไทดำ เช่น งานเสนเฮือนของชาวไทดำ งานแต่งงาน งานศพ ผู้เก็บข้อมูลพบว่าคนรุ่นใหม่หรือวัยทำงานที่ออกไปทำงานในเมืองหรือต่างจังหวัดนิยมแต่งงานกับคนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนไทยภาคกลาง คนไทยอีสาน คนไทยภาคใต้ ลาวเวียง เป็นต้น ดังที่ผู้เก็บข้อมูลได้สังเกตเห็นในงานเสนเฮือนหรืองานทำบุญบ้านของชาวไทดำ ถือเป็นงานใหญ่ที่จะจัดขึ้น 3-4 ปี ต่อ 1 ครั้ง ลูกหลานทุกคนต้องมาช่วยจัดงาน ซึ่งในงานนี้ผู้เก็บข้อมูลสังเกตเห็นว่าลูกสาว 4 คน และลูกชาย 2 คน ที่ออกไปทำงานที่กรุงเทพฯ และระยอง เดินทางมาพร้อมกับสามีและภรรยาที่ไม่ใช่คนไทดำ แต่เป็นคนภาคกลาง ภาคอีสาน และคนลาวเวียง ถึงกระนั้น ทุกคนก็ต่างร่วมงานกันอย่างชื่นมื่น พ่อแม่พี่น้องและญาติใกล้เรือนเคียงต่างให้การต้อนรับอย่างดี เต็มไปด้วยความสนุกสนาน พี่ขวัญ (อายุ 49 ปี) ทำงานและตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดระยองกับสามีซึ่งเป็นคนจังหวัดฉะเชิงเทรา เล่าว่าสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ยังทำไร่ทำนาอยู่กับบ้านจะห้ามไม่ให้ลูกหลานแต่งงานกับคนกลุ่มอื่น ทำให้คนรุ่นนั้นมีสามีหรือภรรยาที่เป็นคนไทดำเท่านั้น รุ่นของพี่ขวัญจึงเป็นสายเลือดไทดำแท้ ๆ แต่เมื่อมาถึงรุ่นตัวเอง ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่นิยมออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น จึงมีโอกาสได้พบเจอและสัมพันธ์กับผู้คนที่ไม่ใช่คนไทดำมากกว่าคนรุ่นก่อน การแต่งงานกับคนกลุ่มอื่นจึงมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ยอมรับกันได้มากขึ้นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การยอมรับเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นกับลูกหลานไทดำที่เป็นผู้หญิงง่ายกว่าลูกหลานไทดำที่เป็นผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงไม่ใช่ผู้ที่ถูกกำหนดให้สืบต่อการเลี้ยงผีบรรพบุรุษเหมือนลูกหลานที่เป็นผู้ชาย ขณะที่ผู้ชายจะถูกคาดหวังให้แต่งงานสร้างครอบครัวกับผู้หญิงที่เป็นกลุ่มไทดำเหมือนกัน เนื่องจากสะใภ้ที่ไม่ใช่คนไทดำมักจะถูกมองว่าเป็นคนนอก ไม่ได้รับการปลูกฝังประเพณีวัฒนธรรม ไม่มีความรู้ความเข้าใจหรือมีข้อจำกัดในดูแลและช่วยเหลือสามีในการสืบต่อเลี้ยงผีบรรพบุรุษให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักประเพณี

ไทดำ

บ้านบ่อทองประกอบด้วยองค์กรชุมชน 2 ประเภท คือ องค์กรชุมชนตามประเพณีวัฒนธรรมไทดำ และกลุ่มอาชีพที่ถือเป็นองค์กรชุมชนอีกประเภทหนึ่ง สำหรับองค์กรชุมชนประเภทแรกนั้นถือเป็นสิ่งที่ติดตัวผู้คนตั้งแต่กำเนิดจนกระทั่งสิ้นลมหายใจ ความเป็นครอบครัว การเป็นพ่อเป็นแม่ การเป็นลูกผู้หญิง ลูกผู้ชาย และความเป็นเครือญาติพี่น้อง ทุกคนในที่นี้ต่างเป็นส่วนประกอบสำคัญในองค์กรชุมชนที่กำลังขับเคลื่อนประเพณีวัฒนธรรมไทดำ โดยสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวต่างมีภาระหน้าที่ที่ต้องทำและสืบทอดพิธีกรรมต่าง ๆ ของบรรพบุรุษ โดยมีผู้เฒ่าผู้แก่ในครัวเรือนหรือชุมชน และ "หมอเสน" หรือหมอทำพิธีกรรมเป็นผู้แนะนำหรือผู้ช่วยอำนวยความสะดวก เพื่อให้ลูกหลานสามารถดำรงรักษาและสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมซึ่งเปรียบเสมือนสายใยของชีวิตให้คงอยู่ต่อไป งานพิธีกรรมต่าง ๆ ถือเป็นกลไกสำคัญที่ถักทอเส้นใยสัมพันธ์ของทุกครอบครัวที่ต่างเป็นญาติพี่น้องกันให้แน่นแฟ้น นอกเหนือจากพิธีกรรมในระดับครัวเรือน ชาวไทดำบ้านบ่อทองยังมีการขับเคลื่อนงานประเพณีไทดำในระดับตำบลและระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีกลุ่มผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน และผู้บริหารท้องถิ่น เป็นแกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนงาน และครอบครัวส่วนใหญ่ในชุมชนจะมาร่วมกันช่วยงานคนละไม้คนละมือ การเกาะเกี่ยวกันของคนไทดำตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับชุมชนเช่นนี้ นับได้ว่าเป็นองค์กรชุมชนที่ยังเข้มแข็งอยู่มาก  

นอกจากนี้ บ้านบ่อทองยังประกอบด้วยกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากความรู้ภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมา โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กลุ่มทอผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้าทอไทยดำ กลุ่มจักสาน กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับกลุ่มทอผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้าทอไทยทรงดำ เกิดจากความสนใจของป้าดอกรัก วันทัด และกลุ่มเพื่อนบ้านญาติพี่น้อง ที่มีความต้องการฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมไทดำ จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นเพื่อทำกิจกรรมผลิตผ้าทอมือและเสื้อผ้าที่ตัดเย็บด้วยมืออย่างประณีต และนำไปใช้ในงานสำคัญต่าง ๆ ของชาวไทดำ เช่น งานรวมญาติชาติพันธุ์ไทดำประจำปี งานแสดงศิลปวัฒนธรรมไทดำของหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้คนภายนอกได้รู้จักชาวไทดำผ่านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่มีลักษณะเฉพาะมากขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มของป้าดอกรักยังมีการพัฒนารูปแบบเสื้อผ้าให้มีความทันสมัยมากขึ้น กระทั่งได้มีการนำเสื้อผ้าที่ผลิตได้ไปขายตามงานต่าง ๆ จนทำให้มีผู้คนที่ไม่ใช่ชาวไทดำให้ความสนใจและอุดหนุนสินค้าเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ลูกค้าที่มีความเหนียวแน่นและอุดหนุนสินค้าของกลุ่มฯ อย่างต่อเนื่อง คือคนในชุมชนที่จะคอยถามหาซื้อ "เสื้อฮี" อยู่เป็นประจำ เนื่องจากเป็นเสื้อที่ชาวไทดำต้องใส่ในงานพิธีกรรมต่าง ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นงานเสนเฮือน งานแต่ง งานศพ งานเสนกวัดไกว เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ บ้านของป้าดอกรักซึ่งตั้งอยู่บริเวณสามแยกบ่อทองจึงกลายเป็นที่ทำการของกลุ่มฯ ซึ่งมารวมตัวกันทอผ้าและตัดเย็บเสื้อผ้า และยังเป็นร้านขายเสื้อผ้าไทดำไปโดยปริยาย สร้างรายได้อย่างต่อเนื่องให้กับคนในกลุ่มฯ ที่เป็นทั้งผู้ทอผ้าและเย็บผ้า 

กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง มีผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็นแกนนำสำคัญในการพัฒนากิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่สมาชิกชุมชน ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป โดยกิจกรรมของกลุ่มได้มีการทำเกษตรผสมผสานด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ที่หลากหลายบนพื้นที่ที่อาศัยอยู่กว่าหนึ่งไร่ ได้แก่ การปลูกมะนาว พืชผักสวนครัวต่าง ๆ การเพาะเห็ด เลี้ยงกบ เลี้ยงเป็ด ไก่ นกกระทา เพื่อนำมาขายพันธุ์และส่งขายตามร้านอาหาร จากการลงมือทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทำให้ในปี 2559 กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานเกษตรจังหวัดพิษณุโลกให้เป็น Smart Farmer จากนั้นได้มีการพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นเกษตรกรคนรุ่นใหม่ที่มีการนำแนวคิดการตลาดมาปรับใช้กับผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มมูลค่าการจำหน่ายด้วยการปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ และการจำหน่ายผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่รู้จัก และสามารถจำหน่ายสินค้าของกลุ่มได้อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

ข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้านและข้อมูลจากการสัมภาษณ์คนในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัยกลางคนขึ้นไป เกี่ยวกับวิถีการดำรงชีพของคนบ้านบ่อทอง สามารถจำแนกได้ตามการประกอบอาชีพของคนบ้านบ่อทอง ได้แก่ เกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน และเลี้ยงสัตว์ รวมกันประมาณร้อยละ 11 ต่อมาคืออาชีพค้าขายร้อยละ 20 ธุรกิจส่วนตัวร้อยละ 13 รับจ้างทั่วไปร้อยละ 18 พนักงานบริษัทร้อยละ 7 รับราชการร้อยละ 2 อาชีพอื่น ๆ ร้อยละ 7 และกำลังศึกษาร้อยละ 22

จากจำนวนดังกล่าวทำให้เห็นว่าคนบ้านบ่อทองประกอบอาชีพเกษตรกรรมน้อยลง จากที่เมื่อก่อนเกษตรกรรมถือเป็นอาชีพหลักของทุกครัวเรือน เพราะต่างต้องผลิตอาหารเอง พืชที่ปลูกเป็นหลักคือข้าวเจ้าและพืชผักที่ใช้เป็นอาหาร การปลูกเป็นแบบนาปีที่อาศัยน้ำฝนตามฤดูกาลปีละครั้ง ข้าวที่ใช้เป็นพันธุ์ข้าวหนักหรือข้าวอายุมาก และเป็นพันธุ์พื้นบ้านที่แทบทุกบ้านจะเก็บพันธุ์ข้าวเองเพื่อปลูกในปีถัดไป การปลูกแบบนาปีถูกแทนที่ด้วยนาปรังเมื่อประมาณ 20-30 ปีที่ผ่านมา เมื่อมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ได้รับการปรับปรุงพันธุกรรมทำให้อายุข้าวสั้นลง สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ไวกว่าข้าวพื้นเมือง รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรเครื่องทุ่นแรงหลายอย่าง และการใช้น้ำสระและน้ำบาดาลทดแทนน้ำฝนตามฤดูกาล สิ่งเหล่านี้ย่นย่อระยะเวลาการทำนาจากครั้งละ 6 เดือนเหลือเพียงครั้งละ 3 เดือนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการทำนาได้บ่อยขึ้นจะทำให้ชาวนามีรายได้มากขึ้น แต่ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่า ขณะที่ราคาข้าวไม่ได้สูงมากนัก ทำให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงจนกระทั่งหลายครัวเรือนตัดสินใจขายที่นาพร้อมกับวัวควายเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ ครัวเรือนทยอยขายที่ดินมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงหลังการสร้างทางหลวงแผ่นดินสาย 117 และทางหลวงชนบทตัดผ่านหมู่บ้าน หลายครัวเรือนล้มเลิกการทำนาด้วยตนเองแล้วปล่อยที่ดินให้ผู้อื่นเช่า จนเมื่อประมาณกลางทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา ครัวเรือนส่วนใหญ่เลิกฝากความหวังไว้กับการทำนา แล้วเปลี่ยนไปทำงานอื่นที่มีรายได้สูงกว่าและแน่นอนกว่า ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนจำนวนผู้ประกอบอาชีพต่าง ๆ ผู้คนเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นที่ไม่ต้องใช้ที่ดินมากขึ้น เช่น การค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบแทบไม่ได้กลับมาอยู่บ้าน พวกเขาตามรอยคนรุ่นวัยกลางคนออกไปทำงานนอกชุมชน เป็นงานรับจ้างรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ พนักงานบริษัทเอกชน งานโรงงาน งานราชการ เป็นต้น การประกอบอาชีพของคนรุ่นใหม่ในต่างถิ่นทำให้ในชุมชนเงียบเหงาลง คงเหลือแค่เด็กกับผู้เฒ่าผู้แก่ จะเห็นได้จากงานประเพณีต่าง ๆ ที่ไม่ครึกครื้นเหมือนเดิม ลูกหลานที่ไปทำงานต่างจังหวัดไม่ค่อยกลับบ้านเพราะค่าใช้จ่ายสูง ไม่ต้องพูดถึงลูกหลานไปทำงานต่างประเทศที่แทบไม่ได้กลับบ้านเลย การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีพเช่นนี้ส่งผลทำให้วัฒนธรรมความเชื่อเปลี่ยนแปลงไปดังที่จะกล่าวถึงต่อไป

นอกจากงานแห่งการเลี้ยงชีพแล้ว คนไทดำบ้านบ่อทองยังไม่ละทิ้งงานประเพณีวัฒนธรรมทั้งงานในระดับครัวเรือนและงานของชุมชน ดังจะเห็นได้จากตารางที่ 1 เริ่มจากเดือนมกราคม คนไทดำรุ่นใหม่มีการจัดงานขึ้นปีใหม่ตามประเพณีสากลแล้วตามด้วยการทำบุญกลางบ้านซึ่งจะมีพิธีกรรมของคนไทดำบอกกล่าวเจ้าปู่สร้อยทองและผีบรรพบุรุษให้ช่วยปกปักรักษาคุ้มครองลูกหลานในชุมชนให้อยู่รอดปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง ว่างเว้นไปจนถึงเดือนเมษายน มีการเลี้ยงศาลเจ้าปู่สร้อยทองซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิที่คนบ้านบ่อทองให้ความเคารพนับถือ และเมื่อถึงวันสงกรานต์หมู่บ้านร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อทอง จะมีการจัดงานรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ตามประเพณีไทย ปิดท้ายด้วยงานประเพณีสืบสานวัฒนธรรมไททรงดำตำบลบ่อทอง ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ประจำปีระดับตำบลที่คนบ้านบ่อทองร่วมมือกับคนหมู่บ้านอื่น ๆ จัดเตรียมงานรื่นเริงต้อนรับญาติมิตรที่เป็นเครือข่ายคนไททรงดำจากทั่วประเทศที่จะมาร่วมงานทุกปี

สำหรับเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม หรือช่วงก่อนเข้าพรรษาจะจัดงานเสนเรือน (หรือเสนเฮือน) สำหรับครัวเรือนที่ยังไม่ได้จัดงานมา 3-4 ปี ซึ่งบางครัวเรือนอาจเว้นมานานกว่านั้น งานเสนเรือนเป็นการเลี้ยงผีบรรพบุรุษของครัวเรือนนั้น ๆ โดยงานจะจัดในบ้าน โดยเฉพาะในห้องกะล้อห่องซึ่งเป็นห้องที่คนไทดำจะทำไว้ทุกบ้าน เพื่อการเซ่นไหว้บูชาบรรพบุรุษ งานเสนเรือนเป็นงานที่อุ่นหนาฝาคั่งด้วยลูกหลานที่มากันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา งานเสนเรือนมีข้อบังคับให้ลูกหลานทุกคนต้องกลับบ้านเพื่อทำพิธีในห้องกะล้อห่อง คล้ายกับการแสดงตัวให้ผีบรรพบุรุษได้เห็นหน้าเห็นตา โดยเชื่อว่าลูกหลานที่มาจะได้รับการคุ้มครองและมีโชคมีลาภจากการทำบุญให้แก่บรรพบุรุษ 

นอกจากงานประจำปีในปฏิทินแล้ว คนไทดำบ้านบ่อทองยังมีงานที่ยังคงไว้ซึ่งพิธีกรรมดั้งเดิมที่มีลักษณะเฉพาะของชาวไทดำ เช่น งานแต่งงาน งานศพ และพิธีกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับความเชื่อดั้งเดิม เช่น งานเลี้ยงปาดตง เสนกวัดกว้าย พิธีเรียกขวัญ พิธีแก้บน แม้ว่าหลายครัวเรือนจะยกเลิกการทำพิธีกรรมตามแบบฉบับของคนไทดำไปแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายครัวเรือนที่ยังคงไว้ซึ่งพิธีกรรมดั้งเดิม แต่อาจจะไม่ครบถ้วนกระบวนความเหมือนในอดีต หรืออาจจะมีบางขั้นตอนที่ถูกตัดทอนหรือถูกแทนที่ด้วยพิธีกรรมทางพุทธศาสนา เช่น งานแต่งงานที่มีการทำบุญเลี้ยงพระและการรดน้ำสังข์ซึ่งไม่ใช่พิธีดั้งเดิมของคนไทดำ เช่นเดียวกับงานศพที่บางครอบครัวจะจัดพิธีไทดำเต็มรูปแบบ โดยการให้หมอเสนมาทำพิธีตามขั้นตอนแบบโบราณ เพื่อนำทางคนตายกลับเมืองแถง ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของบรรพบุรุษคนไทดำ และยังเชื่อว่าสถานที่นี้มีทางเดินขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ขณะที่บางครอบครัวจัดแบบไทยพุทธโดยการเชิญพระมาสวด เผาศพ และทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ผู้เก็บข้อมูลได้มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์งานศพของไทดำบ้านบ่อทอง ซึ่งยังเป็นการจัดพิธีแบบดั้งเดิม แต่ก็มีการผสมผสานพิธีแบบไทยพุทธด้วยการเชิญพระมาสวดและทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระในเช้าวันถัดมา

ตารางที่ 1 กิจกรรมในแต่ละเดือนของคนบ้านบ่อทอง

เดือน กิจกรรม
มกราคม ทำบุญวันขึ้นปีใหม่, ทำบุญกลางบ้าน 
เมษายน เลี้ยงศาลเจ้าปู่สร้อยทอง, รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ, งานประเพณีสืบสานวัฒนธรรมไททรงดำตำบลบ่อทอง
มิถุนายน-สิงหาคม พิธีกรรมเสนเฮือนของแต่ละครัวเรือน
กรกฎาคม วันเข้าพรรษา
ตุลาคม วันออกพรรษา
พฤศจิกายน วันลอยกระทง
 

ที่มา : ข้อมูลสัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้านบ่อทอง, 15 กรกฎาคม 2567

พ่อสุเทพ สิงห์ลอ และ พ่อประสิทธิ์ สิงห์ลอ สองท่านนี้เป็นลูกชายของพ่อคงและแม่สาย สิงห์ลอ หนึ่งในครอบครัวผู้บุกเบิกตั้งบ้านบ่อทอง ในยุคสมัยที่ยังไม่มีไฟฟ้า ถนนหนทางสะดวกสบาย และยังไม่มีเครื่องจักรกลทุ่นแรง พวกเขาต้องใช้ความอดทนพยายามอย่างมากในการเดินทางลัดเลาะป่าดงพงไพรจนมาถึงบ้านบ่อทอง รวมถึงการสร้างบ้านและสร้างฐานให้แก่คนในครอบครัวและคนรุ่นต่อไป พ่อคง สิงห์ลอ เป็นตัวอย่างที่ดีของความกล้าหาญและความแข็งแกร่งให้แก่ลูกชายของเขา พ่อสุเทพและพ่อประสิทธิ์ได้เรียนรู้การเป็นผู้นำจากพ่อคง ทั้งสองเติบโตมาพร้อมกับการขยายการพัฒนาที่พวกเขามีส่วนในการผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง พ่อสุเทพเป็นผู้ใหญ่บ้านบ่อทองตั้งแต่ก่อนปี 2500 ท่านได้ดูแลทุกข์สุขของลูกบ้านอย่างใกล้ชิด รวมถึงการติดต่อประสานงานกับทางราชการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้หมู่บ้านบ่อทองได้รับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า ถนน น้ำประปา ขณะที่พ่อประสิทธิ์ผู้ซึ่งเป็นน้องชายได้ทำหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขดูแลผู้เจ็บป่วยในหมู่บ้านจนกระทั่งสามารถเรียกร้องให้มีการตั้งสถานีอนามัยในบ้านบ่อทองได้สำเร็จ พ่อประสิทธิ์เล่าถึงการทำงานเป็นอาสามาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในสมัยนั้นว่า  

"ประมาณ 30 กว่าปีแล้ว เริ่มมี อสม. (ประเทศไทยมี อสม.ครั้งแรกเมื่อปี 2520) ผมเป็น อสม. ก็ต้องไปประชุม เดินทางลำบาก ผมก็ไปประชุมไปเล่าให้หมอฟังว่าเราอยากให้มีหมอในหมู่บ้าน ผมก็จะยกที่ให้ทำอนามัย แต่ขอให้หมอมาอยู่สักคนก็ยังดี หมอใหญ่ที่อยู่อุดมเวช ที่พิษณุโลก เขาก็มาถามว่าจะให้จริงเหรอ เราก็บอกว่าให้จริง ผมจะเซ็นให้เลย เขาก็เลยสร้างอนามัย แล้วเอาหมอมาอยู่คนหนึ่ง เป็นหมอผดุงครรภ์ เขาก็ช่วยชาวบ้านได้เยอะ มันก็เบาขึ้น อนามัยนี้เคยประกวดได้ที่ 1 มาด้วยนะ"

ในเวลาต่อมา เมื่อปี 2527 พ่อสุเทพเกษียณจากการเป็นผู้ใหญ่บ้าน พ่อประสิทธิ์ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านต่อจากพ่อสุเทพ เนื่องจากชาวบ้านได้เห็นถึงผลงานของพ่อประสิทธิ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยเป็น อสม. และเนื่องจากพ่อประสิทธิ์ได้รับการถ่ายทอดความรู้และลักษณะที่ดีของการเป็นผู้ใหญ่บ้านจากพ่อสุเทพอย่างใกล้ชิด ทำให้พ่อประสิทธิ์ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านให้ดูแลทุกข์สุขและพัฒนาความเจริญก้าวหน้าให้กับหมู่บ้านอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2527-2546 ขณะที่พ่อ  สุเทพได้ทำงานสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมไททรงดำสู่คนรุ่นหลัง โดยการเป็นอาจารย์ถ่ายทอดความรู้ด้านประเพณีวัฒนธรรม ตลอดจนการเขียนอ่านภาษาไททรงดำให้แก่นักเรียนและนักศึกษา ถือเป็นภารกิจสุดท้ายของชีวิตในวัย 73 ปี ก่อนที่ท่านจะประสบอุบัติเหตุทางรถหน้ามหาวิทยาลัยนเรศวรขณะเดินทางจากบ้านบ่อทองเพื่อมาสอนภาษาไททรงดำให้แก่นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรเมื่อ 20 ปีก่อน ทำให้วงการวัฒนธรรมไททรงดำสูญสิ้นบุคลากรคนสำคัญอย่างน่าเสียดาย     

พ่อประสิทธิ์เล่าถึงพ่อสุเทพด้วยความภาคภูมิใจอย่างไม่รู้ลืม พ่อประสิทธิ์รับสืบต่องานที่พ่อสุเทพทำไว้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันกิจกรรมของชมรมไททรงดำตำบลบ่อทอง การทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพงานรวมญาติชาติพันธุ์ไททรงดำซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการร่วมดูแลและขับเคลื่อนศูนย์วัฒนธรรมไททรงดำที่ตั้งอยู่ ณ วัดดอนอภัย ให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้วิถีความเป็นอยู่ของชาวไททรงดำ โดยมีพระครูพิสุทธิ์ปุญโญภาส(พระอาจารย์อ่อน)เจ้าอาวาสวัดดอนอภัย คอยเป็นคู่คิดที่ให้คำปรึกษาแนะนำและยังร่วมเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อร่วมกับเครือข่ายไททรงดำสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไททรงดำให้ดำรงอยู่ชั่วลูกชั่วหลานต่อไป

ป้าดอกรัก วันทัด อายุ 66 ปี ผันตัวจากการเป็นผู้ใหญ่บ้านมาสู่แวดวงประเพณีวัฒนธรรมไททรงดำ เนื่องจากได้คลุกคลีกับงานประเพณีไทดำต่าง ๆ ในฐานะผู้ใหญ่บ้าน และการเติบโตมาในบรรยากาศเก่า ๆ ที่ประเพณีไทดำยังมีความดั้งเดิมอยู่มาก การมีโอกาสได้ฟังเรื่องราวความเป็นมาชาวไทดำที่พ่อและแม่ของป้าดอกรักมักจะเล่าให้ฟังอยู่เป็นประจำ บวกกับความสนใจใคร่รู้และต้องการพัฒนาต่อยอด ป้าดอกรักจึงได้หยิบเอาความรู้ความสามารถของแม่ที่เก่งด้านการทอผ้า และพ่อที่เก่งด้านการตัดเย็บเสื้อฮีของคนไทดำ มาสืบสานต่อยอดฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ของชาวไทดำ หลังจากหมดวาระที่ 2 ของการเป็นผู้ใหญ่บ้านที่บ้านมะค่างาม ตำบลพันเสา อำเภอบางระกำ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ เธอจึงได้ทุ่มเทเวลาให้กับการทอผ้าและตัดเย็บเสื้อผ้าไทดำ และได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านบ่อทองช่วงหลังปี 2551   

ป้าดอกรัก วันทัด ได้สละเวลาส่วนตัวเพื่อร่วมทำงานสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไททรงดำ และได้รับตำแหน่งหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ เริ่มจากการเป็นประธานชมรมไททรงดำตำบลบ่อทอง เป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของศูนย์วัฒนธรรมไททรงดำ วัดดอนอภัย เช่น การจัดงานประจำปีไททรงดำทุกวันที่ 25 เมษายน ของทุกปี หรือตามวันเวลาที่สะดวก การถ่ายทอดประเพณีการร่ายรำและการร้องเพลงของชาวไททรงดำ การผลิตเสื้อผ้าไททรงดำออกจำหน่ายโดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาธุรกิจ SML ของรัฐบาล รวมถึงการประสานงานเครือข่ายไททรงดำทั้งในระดับชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ กระทั่งได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเขตของจังหวัดพิษณุโลกในสมาคมไทยทรงดำแห่งประเทศไทยในเวลาต่อมา ป้าดอกรักเล่าถึงความเป็นมาของการสืบสานงานไททรงดำด้วยความภาคภูมิใจว่า   

“มาเห็นเค้ารำเค้าฟ้อนใส่ชุดไททรงดำ ก็สนใจ เลยมาดู มาศึกษาเกี่ยวกับเสื้อผ้า ก็เลยได้ร่วมกิจกรรมไททรงดำ พอดีหมดวาระผู้ใหญ่บ้านด้วย เราเป็นอยู่ 2 วาระ เกือบ 11 ปี (วาระ 5 ปี) ก็เลยมาทำงานอนุรักษ์ไททรงดำ อีกอย่างคือพ่อกับแม่เค้าชอบเล่าประวัติต่าง ๆ เราก็เลยมีความรู้เกี่ยวกับไททรงดำ แล้วพ่อกับแม่ก็เย็บเสื้อฮีได้ แม่ก็ทอผ้าได้ด้วย เก่งด้วย เราก็ได้ความรู้มาพอสมควร ป้าร่วมงานจนถึงระดับเขต ระดับประเทศ เดินทางบ่อยมาก เราเป็นคณะกรรมการเขตของจังหวัดพิษณุโลกไปแล้ว ส่วนของชมรม เราก็เป็นตัวแทนไททรงดำ ไปที่ไหน ๆ เราก็เป็นตัวแทนไททรงดำ”  

บ้านบ่อทองประกอบด้วยทุนชุมชนหลายประการ ทั้งที่เป็นทุนทางกายภาพ ทุนทางวัฒนธรรม และทุนทางเศรษฐกิจ ประการแรกจะกล่าวถึงทุนทางกายภาพของบ้านบ่อทอง ได้แก่ การมีทำเลที่ตั้งหมู่บ้านที่เหมาะสมทั้งในทางภูมินิเวศและทางภูมิรัฐศาสตร์ กล่าวคือ ในทางภูมินิเวศ บ้านบ่อทองเป็นพื้นที่ราบลุ่มที่ไม่ต่ำจนเกินไปและห่างไกลจากแม่น้ำยมซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่ ทำให้ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมไม่มากนัก ขณะที่การเผชิญกับภัยแล้งก็สามารถบรรเทาได้ด้วยการขุดสระและการขุดบ่อบาดาล ทำให้หลายครัวเรือนสามารถปรับเปลี่ยนจากการทำนาปีที่ต้องพึ่งพาน้ำฝนอย่างเดียวมาเป็นนาปรังหรือการทำนามากกว่า 1 ครั้งในรอบปี ทำให้ครัวเรือนมีรายได้มากขึ้นหลังจากเปลี่ยนมาทำนาปรัง   

สำหรับความเหมาะสมในทางภูมิรัฐศาสตร์ บ้านบ่อทองตั้งอยู่ริมถนนทางหลวงแผ่นดิน 117 สายพิษณุโลก-นครสวรรค์ หากเดินทางไปทางเหนือจะเข้าสู่อำเภอเมืองพิษณุโลก โดยใช้เวลาเพียงแค่ 30 นาที แต่หากไปทางใต้จะเข้าสู่อำเภอหนองหลุมและวังโมกข์ของจังหวัดพิจิตร โดยใช้เวลาเพียงแค่ 10-15 นาที เท่านั้น ขณะที่ชุมชนฝั่งตะวันออกมีทางหลวงชนบท พล. 3012 วังอิทก-บางระกำ และชุมชนฝั่งตะวันตกมีทางหลวงหมายเลข 1281 บ่อทอง-บางระกำ ถนนทั้งสามเส้นนี้ทำให้บ้านบ่อทองได้เปรียบด้านการเดินทาง การขนส่งสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ มีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ถนนทั้งสามสายนี้ถือเป็นทุนทางเศรษฐกิจประการหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านบ่อทองมากขึ้น นอกจากกลุ่มที่ทำเกษตร ยังมีกลุ่มชาวบ้านที่ทำอาชีพค้าขายได้อาศัยถนนเส้นนี้เป็นทำเลการค้าและการขนส่งสินค้า ไม่ว่าจะเป็น การขายอาหาร ขายสินค้าเบ็ดเตล็ด ขายวัสดุก่อสร้าง รวมถึงการขายสินค้าทางวัฒนธรรม เช่น เสื้อผ้าไททรงดำของป้าดอกรัก งานสานไม้ไผ่ของกลุ่มจักสาน รวมถึงสินค้าแปรรูปของกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง  

ทุนสำคัญอีกประการที่ขับเคลื่อนวิถีชีวิตคนบ้านบ่อทองคือทุนทางวัฒนธรรม อันได้แก่พิธีกรรมความเชื่อและประเพณีต่างๆ ที่มีเอกลักษณะเฉพาะของชาวไททรงดำที่คงอยู่จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากคนรุ่นหลังได้ดำรงรักษาและสืบต่อไว้ เพื่อให้พิธีกรรมความเชื่อและประเพณีต่าง ๆ ยังคงทำหน้าที่ต่าง ๆ ของมันสืบไป ได้แก่ การเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนกลุ่มต่างๆ ในหมู่บ้าน โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่และเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนจำนวนมาก การเป็นเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพราะแต่ละครอบครัวต่างเชื่อมร้อยกันด้วยพิธีกรรมที่ทุกคนต้องพึ่งพาอาศัยกัน และที่สำคัญคือการเป็นทุนทางเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้แก่ผู้คนที่สามารถปรับใช้ประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ ของชาวไทดำมาผลิตเป็นสินค้าต่าง ๆ ให้กับทั้งคนในและนอกชุมชน เช่น การทอผ้าและตัดเย็บเสื้อผ้าไททรงดำที่คนไททรงดำต้องมีไว้ใส่เมื่อมีพิธีกรรมสำคัญของครอบครัว หรือการผลิตจักสานสิ่งของเครื่องใช้ที่คนไททรงดำจะซื้อไว้ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ปานเผือน ภาชนะจักสานแบบโบราณเอาไว้ใส่ของเซ่นไหว้ในพิธี เป็นต้น นอกจากนี้ การจัดรวมญาติชาติพันธุ์ไททรงดำซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของชาวไททรงดำบ้านบ่อทองทุกเดือนเมษายนหลังช่วงสงกรานต์ยังเป็นงานที่สร้างเม็ดเงินให้แก่พ่อค้าแม่ขายที่มาร่วมงานกันอย่างคึกคัก 

วันเวลาที่ผันเวียนเปลี่ยนไปของชาวไทดำในประเทศซึ่งใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักในการติดต่อสื่อสารทุกระดับ ทำให้การใช้ภาษาไทดำในแทบทุกชุมชนของชาวไทดำจำกัดในระดับครัวเรือนและญาติพี่น้อง ขณะที่โรงเรียนซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับสูงต่างใช้ภาษาไทยกลางเป็นภาษาหลัก ทำให้เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มคนที่ใช้ภาษาไทดำน้อยลงกระทั่งไม่สามารถใช้สื่อสารได้อีกเลยในหลายครอบครัว แม้ว่าในครอบครัวของเด็กจะยังใช้ภาษาไทดำ หรือแม้ว่าเด็กจะมีพ่อและแม่เป็นไทดำทั้งสองคนก็ตาม  

ผู้เก็บข้อมูลได้มีโอกาสพูดคุยกับปุ๊ ผู้หญิงไททรงดำบ้านบ่อทอง อายุ 38 ปี ทำงานในโรงงานจังหวัดระยอง กลับมาเฝ้าไข้แม่ที่กำลังป่วย เธออธิบายว่าตัวเธอเองยังพูดและฟังภาษาไทดำได้คล่องแคล่วเนื่องจากแม่และป้าๆ พูดภาษาไทดำกับเธอตลอดเวลา และในช่วงเวลาหนึ่งตอนที่เธอยังเรียนชั้นมัธยม เธอและเพื่อน ๆ ได้มีโอกาสเรียนภาษาไทดำที่ศูนย์วัฒนธรรมไททรงดำ วัดดอนอภัย ซึ่งเป็นกิจกรรมชุมชนที่แม่ของเธอและแกนนำในชุมชนช่วยกันผลักดันเพื่อให้คนรุ่นใหม่ไม่ลืมภาษาไทดำอันเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม ปุ๊เล่าว่าตัวเองไม่สามารถพูดหรือฟังภาษาไทดำโบราณได้ เนื่องจากภาษาไทดำในยุคสมัยของปุ๊จะมีคำไทยปนและผสมกับคำไทดำอยู่มาก สิ่งเดียวที่ไม่เปลี่ยนคือสำเนียงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนใคร     

"รุ่นปุ๊เป็นรอยต่อ โตมาพร้อมรอยต่อ ปุ๊ยังได้เห็นตาเลี้ยงควาย ปั่นจักรยานไปนา แต่รุ่นน้องปุ๊จะไม่เห็นแบบนี้แล้วปุ๊ยังได้เห็นคนเก่า ๆ ที่ตอนนี้ตายหมดแล้ว เราอยู่กับคนแก่ ป้าเลี้ยง ยายเลี้ยง ..เมื่อ 10 ปีก่อนปุ๊ยังได้เรียนอ่านเขียนภาษาไทดำนะที่ศูนย์วัฒนธรรม (วัดดอนอภัย) ตอนนี้ลืมหมดแล้ว แต่ถ้าเห็นก็อ่านได้ แต่ไม่คล่อง ภาษาไทดำมันยากนะ แล้วก็ไม่ได้ใช้เหมือนภาษาไทยด้วย ...แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนเค้าจะพูดอีกอย่างนะ ปุ๊เคยไปขายผ้ากับแม่ เจอคนนึง พ่อเป็นฝรั่ง แม่เป็นไทดำ พูดภาษาแต่ก่อนเลย ปุ๊ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ภาษาที่เค้าพูดมันเป็นเหมือนเป็นคำกลอน เค้าวิดีโอคอลมาสั่งชุดไทดำกับแม่ ให้เราส่งไปที่ฝรั่งเศส แม่กับป้ารอนพูดกับเค้ารู้เรื่อง เค้าคุยกันได้ แต่เราฟังไม่รู้เรื่องเลย"

ปุ๊ยังได้อธิบายสถานการณ์ปัจจุบันของการใช้ภาษาไททรงดำของคนบ้านบ่อทองพร้อมกับความรู้สึกกังวลเล็กน้อย เธออธิบายว่าคนที่มีอายุน้อยกว่าเธอหรือคนที่เกิดรุ่นหลังจากเธอใช้ภาษาไทดำน้อยลง เนื่องจากครึ่งหนึ่งของชีวิตประจำวันอยู่ในโรงเรียน สถานที่ที่ไม่ได้มีการสื่อสารด้วยภาษาไทดำ นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ใช้ภาษาไทดำแม้ว่าเพื่อนส่วนใหญ่จะเป็นคนไทดำเหมือนกัน เนื่องจากครูพูดภาษาไทยกลางและไม่สนับสนุนการใช้ภาษาไทดำในโรงเรียน เมื่อกลับมาบ้าน ผู้ปกครองบางส่วนไม่ใช้ภาษาไทดำกับลูกหลาน เนื่องจากเชื่อว่าการสื่อสารด้วยภาษาไทยกลางจะทำให้ลูกหลานของตนสามารถปรับตัวหรือเข้ากับสังคมภายนอกได้ง่ายกว่า 

"รุ่นน้องปุ๊เป็นไทดำเต็มตัว (ทั้งพ่อและแม่เป็นไทดำ) เค้าไปโรงเรียน เค้าจะพูดไทยคล่องกว่าลาว เวลาปุ๊พูดลาว (หรือภาษาไทดำ) ใส่เค้า เค้าจะงง ๆ เค้าจะถามว่าคำนั้นคืออะไร เด็กรุ่นใหม่เค้าจะพูดติดไทยเยอะ พ่อแม่เค้าพูดไทยกับลูกบ่อย บางบ้านไม่มีสำเนียงลาวเลยนะ ไม่มีสำเนียงไทดำเลย บางคนเค้าฟังรู้เรื่องแต่เค้าไม่พูด ทั้ง ๆ ที่พ่อก็ลาวแม่ก็ลาว อย่างหลานปุ๊พูดไทยปร๋อเลยนะ แต่ก็ยังฟังลาวรู้เรื่อง เพราะปุ๊ไม่เคยพูดไทยกับหลาน พูดลาวตลอด ขนาดไปที่อื่นยังพูดลาวเลย อยู่ที่ระยอง น้าโทรไป น้องโทรไป เราก็พูดลาว หัวหน้าเค้าก็แซว สำเนียงปุ๊จะออกเลยนะว่าปุ๊พูดไทยไม่ชัด มันจะออกเลยนะว่าเป็นไทดำ ที่ทำงานเค้ายังถามว่าเป็นคนไทยป่าวเนี่ย เราก็บอกว่าไม่ใช่คนไทย เราเป็นลาว ก็ลาวจริง ๆ ลาวโซ่ง"


การเปลี่ยนผ่านของชุมชนจากยุคสมัยเก่าสู่ยุคสมัยใหม่เห็นได้ชัดหลังปี 2522 เมื่อมีการสร้างถนนสายสำคัญตัดผ่านหมู่บ้าน ได้แก่ ทางหลวงสาย 117 พิษณุโลก-นครสวรรค์ (ชาวบ้านเรียกสั้น ๆ ว่าสายเอเชีย) รวมถึงถนนทางหลวงชนบทอีก 2 สายที่ตัดผ่ากลางหมู่บ้าน ป้าเฮียง ชาวบ้านบ่อทองอายุ 65 ปี เล่าว่าหลังจากมีถนนตัดผ่านหมู่บ้าน ราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้นทุกปีตั้งแต่ยังไม่มีโฉนดที่ดิน เท่าที่ป้าเฮียงจำความได้ จากที่เคยซื้อขายกันไร่ละ 100-200 บาท เพิ่มเป็นหลักพัน ต่อมาไม่นานเพิ่มเป็นหลักหมื่น 20,000 บาท 40,000 บาท 60,000 บาท หลังจากที่ดินมีโฉนดราคาก็เพิ่มเป็นหลักแสน ณ ปัจจุบันซื้อขายกันที่ราคาสูงสุดไร่ละ 5,000,000 บาท โดยเฉพาะที่ดินติดถนนใหญ่  

ที่ดินส่วนใหญ่ในบ้านบ่อทองเป็นท้องทุ่งนา ป้าลำดวนเล่าว่าสมัยปู่ย่ามีการบุกเบิกจับจองที่ดินขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ต่อครอบครัว บางครอบครัวที่มีสมาชิกจำนวนมากสามารถบุกเบิกที่ดินได้มาก อย่างไรก็ตาม การบุกเบิกที่ดินทำได้เพียงช่วงแรกที่มีการตั้งหมู่บ้าน แต่เมื่อมีคนอพยพมาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านมากขึ้น ทำให้ที่ดินเหลือน้อยลง จนครัวเรือนไม่สามารถบุกเบิกหรือขยายที่ดินได้อีกต่อไป รุ่นลูกรุ่นหลานจึงเป็นรุ่นที่อาศัยการรับมรดกตกทอดจากคนรุ่นก่อน ที่ดินผืนใหญ่ถูกซอยย่อยให้กับลูกหลาน ทำให้การถือครองที่ดินมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ บางครอบครัวได้รับแบ่งที่ดินเฉลี่ยคนละ 5-10 ไร่ ขณะที่บางครอบครัวได้รับแบ่งที่ดินเพียงคนละ 1-2 ไร่ เท่านั้น ท่ามกลางสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นราคาที่ดินที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการทำนาที่มีต้นทุนสูงเกินไป ทำให้การตัดสินใจขายที่ดินเป็นไปอย่างง่ายดายมากขึ้น จากการสอบถามคนบ้านบ่อทองจำนวนหนึ่งพบว่าคนจำนวนมากตัดสินใจหยุดทำนาแล้วขายที่ดินด้วยสาเหตุสำคัญหลายประการ ได้แก่ ความต้องการเงินสดไปใช้ลงทุนซื้อเครื่องจักรการเกษตรเพื่อการรับจ้าง บางคนนำเงินไปลงทุนประกอบธุรกิจเพราะเห็นลู่ทางหลังจากมีถนนตัดผ่าน ขณะที่หลายครอบครัวต้องการนำเงินส่งลูกเรียนระดับสูงเพื่อให้ลูกได้ทำงานมีเงินเดือนไม่ต้องทำนาเหมือนพ่อแม่ เหตุผลเหล่านี้ทำให้จำนวนครัวเรือนที่ยังทำอาชีพเกษตรเหลือเพียงร้อยละ 11 ตามที่กล่าวไปข้างต้น  

การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีพดังกล่าวนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบต่าง ๆ ภายในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ภายในครัวเรือน เครือญาติ จนถึงความสัมพันธ์ระดับชุมชน ที่ไม่ได้เชื่อมร้อยกันด้วยวิถีการเกษตรอีกต่อไป การออกไปทำงานภายนอกชุมชนของคนรุ่นใหม่ทำให้การขับเคลื่อนการพัฒนาตกอยู่ในมือของคนบางกลุ่มบางพวก ขาดการถ่วงดุลอำนาจและการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนจากคนกลุ่มอื่นที่มีความรู้และประสบการณ์รอบด้านมากกว่า การพัฒนาหมู่บ้านจึงวนเวียนอยู่ในวงจรเดิม ซึ่งก็คือการดำเนินการตามนโยบายหรือโครงการภายใต้เงินทุนและระยะเวลาที่จำกัด ทำให้ขาดการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เช่นโครงการนวัตวิถี โครงการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงของหน่วยงานต่าง ๆ เป็นต้น วงจรการพัฒนาเช่นนี้ส่งผลให้ปัญหาสำคัญ ๆ ของหมู่บ้านไม่ได้รับการพิจารณาและการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เช่น ปัญหาที่ดินหลุดมือของเกษตรกรรายย่อย ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ปัญหาความสัมพันธ์ในครัวเรือนและชุมชนที่ส่งผลกระทบต่อการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมไททรงดำอย่างลึกซึ้ง 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทัน สิงห์ลอ ผู้ใหญ่บ้านบ่อทอง. สัมภาษณ์, 15 กรกฎาคม 2567.

พ่อประสิทธิ์ สิงห์ลอ. สัมภาษณ์, 18 กรกฎาคม 2567.

ป้าดอกรัก วันทัด. สัมภาษณ์, 15 กรกฎาคม 2567.

แม่เฮียง. สัมภาษณ์, 18 กรกฎาคม 2567.

องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อทอง. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไป. https://www.bothong-pitlok.go.th/condition

นายวิรัช ทองดอนยอด (ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน) โทร. 09-5561-8259