
ส่วนมากชาวบ้านมีเชื้อสายชาวไทยทรงดำอาศัยอยู่ในชุมชน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่พูดภาษาตระกูลไท
บริเวณนั้นได้มีปลาอิทก อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จนชาวบ้านขนกันไม่ไหวได้แต่จับไปแค่พอไปกิน ดังนั้นจึงได้เรียกชื่อตำบล และหมู่บ้านว่าวังอิทก บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนมากชาวบ้านมีเชื้อสายชาวไทยทรงดำอาศัยอยู่ในชุมชน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่พูดภาษาตระกูลไท
บ้านวังอิทก เริ่มแรกเดิมทีบริเวณเหล่านี้เป็นป่าดงดิบและเป็นที่ราบลุ่ม เป็นบริเวณที่อยู่ติดกับริมแม่น้ำยม ซึ่งแต่ก่อนเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ มีบ้านอยู่ประมาณ 30 หลังคาเรือน ดังนั้นจึงได้มีนายอำเภอขุนใน ได้มีความคิดเห็นว่าน่าจะมีการเลือกหรือตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาพัฒนาดูแลหมู่บ้าน ดังนั้นจึงได้มีการคัดเลือกให้คนในกลุ่มแรกที่เข้ามาบุกเบิกเป็นผู้ใหญ่บ้าน ของแต่ละหมู่บ้าน ต่อมาหลังจากที่ได้ผู้ใหญ่บ้านของแต่ละหมู่บ้าน ทั้ง 9 หมู่บ้าน ก็ได้มีการคัดเลือกให้มีกำนันขึ้นมาเป็นตัวแทนในหมู่บ้านอีก เมื่อได้มีการเกาะกลุ่มกันเป็นหมู่บ้าน พร้อมทั้งแต่งตั้งกำนันขึ้นมา เมื่อหมู่บ้านมีกำนันขึ้นมาแล้ว ชุมชนกลุ่มเหล่านั้นก็เกิดเป็นตำบล เมื่อมีการก่อตั้งเป็นตำบลขึ้นมาแล้ว แต่ยังขาดชื่อเรียกของตำบลนั้น กลุ่มคนที่อพยพเข้ามากลุ่มแรกก็ได้สังเกตเห็นว่าในพื้นที่บริเวณที่พวกคนกลุ่มแรกเข้ามาอยู่นั้นเป็นวังลึก ซึ่งบริเวณนั้นได้มีปลาอิทกอาศัยอยู่มากมายจนขนกันไม่ไหวได้แต่จับไปแค่พอไปกิน ดังนั้นจึงได้เรียกชื่อตำบล และหมู่บ้านว่าวังอิทก บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
เหตุที่แต่ละกลุ่มอพยพมาจากบ้านเดิม ก็เนื่องจากถิ่นฐานเดิมเป็นชุมชนแออัดและไม่มีพื้นที่ทำมาหากินเป็นของตัวเอง คนกลุ่มนี้จึงออกเดินทางเพื่อหาที่ทำมาหากิน จนกระทั่งมาพบบริเวณหมู่บ้านนี้ ดังนั้นบุคคลกลุ่มนี้ได้เข้ามาบุกเบิกถิ่นฐานใหม่ เพื่อทำการเกษตร ทำนา ต่อมาจึงเกิดการก่อตั้งชุมชนใหม่ขึ้นมา แต่เดิมก่อนที่จะตั้งหมู่บ้าน เริ่มแรกเดิมทีบริเวณนั้นเป็นป่าดงดิบ ป่าหนอง ป่าทุ่ง และเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลำธารถึงแม่น้ำยม ปัจจุบันป่าและหนองน้ำที่เคยมีในอดีตยังคงมีอยู่ คือ แม่น้ำยมและห้วยก็ยังคงมีอยู่ดังเดิม อาชีพครั้งแรกของราษฎรที่อพยพมาอยู่ในหมู่บ้านนี้ คือ การประมง ทำนา ค้าขาย และทำไร่
ลักษณะที่ตั้ง
องค์การบริหารส่วนตำบลวังอิทก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดพิษณุโลก ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำยม ระยะทางจากจังหวัดพิษณุโลกถึงที่ทำการตำบลวังอิทกประมาณ 20 กิโลเมตร และห่างจากที่ว่าการอำเภอบางระกำ ประมาณ 11 กิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลบางระกำ
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลบ่อท่อง และตำบลกำแพงดิน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลวัดพริก และตำบลงิ้วงาม อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลปลักแรด และตำบลบางระกำ
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำยมไหลผ่าน มีหมู่บ้านตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม จำนวน 7 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1, 2, 3, 7, 9, 10 และ 11 สภาพดินเป็นดินเหนียว, ดินร่วนปนทราย มีคลอง ห้วย หนอง บึง จำนวนมาก แต่มีสภาพตื้นเขิน เนื่องจากการชะล้างพังทลายของดิน และการบุกรุกพื้นที่ของราษฎรบางส่วน แม่น้ำยมบางช่วงมีสภาพคดเลี้ยว มีการชะล้างตลิ่งพังทลาย เมื่อถึงฤดู น้ำหลากจะมีพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม ผลผลิตในไร่นาเสียหาย และเส้นทางคมนาคมชำรุด
สภาพภูมิอากาศ มี 3 ฤดู คือ
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-เดือนมิถุนายน
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-เดือนกันยายน
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม-เดือนกุมภาพันธ์
สภาพทางเศรษฐกิจ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา รับจ้าง และค้าขาย ตามลำดับ
สถิติของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในเดือนธันวาคม 2567 ระบุว่า บ้านวังอิทกมีประชากร แบ่งเป็นชายจำนวน 89 คน หญิงจำนวน 90 คน รวมประชากร 179 คน และครัวเรือนจำนวน 78 หลัง
ไทดำชาวไทดำส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาปลูกข้าวเจ้าและข้าวเหนียว อาศัยที่มีคลอง เป็นแหล่งน้ำในการทำนาของหมู่บ้าน บ้านเรือนในหมู่บ้านนี้จะตั้งเรียงรายอยู่ริมคลอง ระยะห่าง แต่ละบ้านไม่ห่างกันนัก พอที่จะตะโกนเรียกกันได้ยิน บ้านส่วนใหญ่จะตั้งอยู่แถบคลองด้านทิศใต้มากกว่าอีกฝั่งหนึ่ง เรียงรายกันไปยาวประมาณ 2 กิโลเมตร มีจำนวนประมาณ 200 กว่าหลังคาเรือน พื้นที่ทำนาจะกระจายห่างออกไปจากลำคลองทั้งสองแถบ รวมเป็นเนื้อที่หลายพันไร่ บางบ้านมีที่ทำนาห่างจากบ้านมาก เวลาทำนาต้องเดินทางออกไปตั้งแต่เช้าตรู่ ต้องนำข้าวปลาอาหารใส่ แอ๊บข้าวที่สานขึ้นบ้าง ขุดด้วยต้นไม้ทั้งต้นบ้าง เพื่อรักษาความร้อนของข้าวเหนียวให้นิ่มอยู่ได้ ถึงกลางวันติดตัวไปกิน
ปัจจัยสำคัญในการทำนาคือแหล่งน้ำ ชาวนาอาศัยน้ำทำนาได้เกือบตลอดปี การจะทำให้น้ำไหลเข้าผืนนาได้นั้น ดั้งเดิมต้องใช้ระหัดชกมวยบ้าง ระหัดตีนถีบบ้าง ระหัดนี้ เป็นกลไกที่จะชักน้ำจากที่ต่ำให้ขึ้นไปที่ระดับสูงได้ ทำด้วยไม้เป็นราง มีใบผูกติดกับสายพาน ให้หมุนตักน้ำลำเลียงขึ้นมาจากรางนั้น คล้ายบันไดเลื่อนในปัจจุบัน แต่ใช้แรงคนทำให้สายพานเคลื่อนที่ ต่อมาระหัดวิดน้ำนี้ทำให้หมุนด้วยเครื่องยนต์ และปัจจุบันไม่ใช้ระหัดวิดน้ำแล้ว แต่จะใช้ท่อดูดน้ำด้วยเครื่องยนต์ซึ่งสะดวกมากกว่า และเครื่องยนต์นี้สามารถถอดออกจากท่อแล้วนำมาใช้กับงานอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น นำไปติดกับรถไถนา คาดนา และนวดข้าวได้ด้วย นอกจากนี้หมู่บ้านยังมีคลองชลประทานไหลผ่านอีกด้วย ทำให้มีแหล่งน้ำในการทำนาได้ตลอดทั้งปี
การไถนาแต่ก่อนใช้แรงควายและวัว ปัจจุบันใช้เครื่องยนต์ที่คนไทยประดิษฐ์ขึ้นจำหน่าย ทำให้การทำนาแต่ละบ้านสามารถทำนาได้พื้นที่จำนวนมาก และทำนาได้ตลอดทั้งปี ๆ ละ 2-3 ครั้ง เรียกว่า นาปีและนาปรัง นาปีคือทำนาช่วงมีน้ำฝน นาปรัง คือ การทำนาในฤดูแล้ง ต้องอาศัยน้ำในลำคลอง ซึ่งต้องใช้เครื่องยนต์ดูดน้ำขึ้นมา
ถึงแม้จะทำนาได้ปีละหลายครั้งก็ตาม ฐานะของชาวบ้านก็มิได้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งนี้เพราะการลงทุนสูงมาก แต่ราคาขายไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับพ่อค้าที่ซื้อข้าว ชาวนาไม่สามารถกำหนดราคาขายเองได้ จึงทำให้ชาวนาบางรายต้องทนทำไปเช่นนั้น ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ครอบครัวใดที่มีลูกหลานหลายคนมักจะหาทางส่งเสริมให้ลูกได้เปลี่ยนอาชีพเป็นอย่างอื่น เช่น ส่งให้เรียนหนังสือจบมัธยมต้นและปลายแล้วหาอาชีพอื่นทำ ส่วนอาชีพการทำนานั้นผู้เป็นพ่อแม่ยังต้องดำเนินการต่อไป บางรายก็ดัดแปลงท้องนาให้เป็นสวนผัก ผลไม้ เมื่อเห็นว่ามีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์พอที่จะปลูกพืชผักได้ตลอดทั้งปี แต่ก็มีจำนวนน้อยราย
เครื่องมือในการทำนาในอดีตจึงหมดความสำคัญลง กลายเป็นของเก่าที่ควรจะเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ได้ เช่น คันไถที่ทำด้วยไม้ คราด เกวียน ระหัดวิดน้ำ สีข้าว ครกกระเดื่อง พลั่วแทงดิน และยุ้งข้าว สิ่งเหล่านี้นับวันจะเป็นอดีต เจ้าของบางรายก็เก็บรักษาไว้ บางรายก็ดัดแปลงรื้อทำลายไปก็มาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันชาวไทดำในหมู่บ้านก็ยังยึดอาชีพในการทำนามากกว่าอย่างอื่น
ลักษณะบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
บ้านของชาวไทยโซ่ง หรือไทดำ จะสร้างด้วยวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นเป็นสำคัญ เช่น ไม้ไผ่ ต้นไม้ต่าง ๆ หญ้า กล่าวคือ เสาทำด้วยต้นไม้ทั้งต้น ซึ่งมักจะเป็นไม้เนื้อแข็ง เลือกเอาต้นไม้ที่มีง่ามไว้สำหรับวางคานนำมาถากด้วยขวานให้ได้ลักษณะเป็นต้นเสามีง่ามรองรับคาน พื้นบ้านจะเป็นฟากสับที่ทำด้วยไม่ไผ่ทุบให้แบนเป็นชิ้น ๆ แผ่ออกเป็นแผ่นติดกัน หรือไม่ก็เป็นกระดานไม้จริงซึ่งเลื่อยและถากให้เป็นแผ่น หลังคาและปีกนกหัวท้ายบ้านลากลงมายาวเสมอ กับชายคาบ้าน และมีลักษณะโค้งเป็นกระโจมมุงด้วยแฝก และมีลักษณะยาวคลุมลงมาเสมอ พื้นเรือนคลุมผนังบ้านรอบทุกด้าน มีคุณสมบัติในการป้องกันลมหนาวที่พัดแรงได้ด้วย ทั้งนี้ เพราะถิ่นดั้งเดิมของชาวโซ่งนั้นอยู่ในเขตอากาศค่อนข้างหนาวมาก่อน ที่ยอดจั่วมีการประดับด้วยไม้แกะสลักเป็นกิ่งคล้ายเขากวางไขว้กัน เรียกว่า ขอกุด เป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่เด่นชัดของชาวไทดำ โดยเฉพาะใต้ถุนบ้านเปิดโล่งและมีความสูง เดินลอดได้อย่างสบาย สำหรับเป็นที่ ทอผ้า ตำข้าว สีข้าว เลี้ยงหมู และเก็บรักษาเครื่องใช้ในการทำนา บันไดบ้านทอดขึ้นทางชาน หน้าบ้านและหลังบ้าน ภายในตัวบ้านกั้นฝาสกัดหัวท้ายบ้าน ฝาด้านข้างเอนออกจากแนวต้นเสา และมีความสูงไม่ถึงหลังคา ปลายบนฝาด้านข้างนี้จะทำเป็นหิ้งสำหรับไว้ของใช้ในการครัว และวางเตาไฟไว้ใต้หิ้งนี้ ภายในบ้านไม่มีการกั้นห้อง จึงเป็นพื้นที่โล่งกว้างตามขนาดของตัวบ้าน ใช้เป็น ที่นอน รับประทานอาหารเบ็ดเสร็จอยู่ในบ้าน มุมหนึ่งของเสาบ้านจะเป็นที่เซ่นไหว้ผีเรือนทุก ๆ 5และ 10 วัน เรียกว่า "ปาดตง" โดยมีขันน้ำและชามข้าววางอยู่เป็นประจำ
ด้านประเพณี-พิธีกรรมของไทดำ
การเสนเรือน (ผู้น้อย)
การเสนเรือน คือพิธีเซ่นผีเรือน ผีเรือนคือผีพ่อแม่ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ล่วงลับไปแล้ว และได้ทำพิธีอัญเชิญมาไว้บนเรือน โดยจัดให้อยู่มุมห้อง ๆ หนึ่งทางหัวสะกัดของบ้าน เป็นการสมมติไม่มีกระดูกและสัญลักษณ์ใด ๆ ว่าเป็นผีตนใด เป็นที่ว่างเปล่า ตรงนั้นจะเรียกว่า "กะล้อห่อง" ซึ่งแปลว่ามุมห้อง ตามปกติที่ตรงนั้นจะมีถ้วยชามและแก้วน้ำตั้งอยู่ และข้างฝาบริเวณนั้นจะเจาะเป็นรูกลมเท่าไข่เป็ดลอดได้ไว้ด้วย ถ้วยชามที่วางไว้นั้นเป็นภาชนะสำหรับใส่อาหารที่นำมา เซ่นไหว้ทุก ๆ 10 วัน
พิธีเสนเรือนนิยมทำกันเป็นประจำแต่ละบ้านทุกปี หรือ 2-3 ปีครั้งก็ได้ เพื่อให้ ผีเรือนของตนได้มารับเครื่องเซ่นไหว้จากลูกหลาน เป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว เชื่อกันว่าเมื่อได้จัดพิธีเซ่นไหว้ผีเรือนแล้ว ผีเรือน จะปกป้องคุ้มครองรักษาตนและครอบครัวให้มีความสุข เจริญก้าวหน้า ทำมาค้าขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า "เฮ็ดนาก็มีข้าขาย เฮ็ดไฮ่ก็มีหมากไม้เต็มกอ" พิธีเสนเรือนกระทำในเดือนใดก็ได้ ยกเว้นเดือนเก้า เดือนสิบ สองเดือนนี้ถือกันว่าผีเรือนไม่อยู่บ้าน เพราะไปเฝ้าเทวดา ดังคำกล่าว "เดือนสิบเดือนเก้าผีเฮือนไปเฝ้าแถน" ดังนั้น การทำพิธีเสนเรือนในระยะ 2 เดือนนี้จึงไม่บังเกิดผลใด ๆ โดยปกติแล้วมักทำกันในระยะที่ว่าง จากงานทำนา แต่ในเดือน 5 ก็ไม่นิยมทำ เพราะช่วงดังกล่าวนี้เป็นหน้าแล้ง ไม่ค่อยมีความ อุดมสมบูรณ์ในเรื่องข้าวปลาอาหารและผลไม้
การงดเว้นไม่จัดทำพิธีเสนเรือนนั้น อาจทำให้ผีเรือนของตนอดอยาก และในที่สุด ผีเรือนอาจก่อความเดือดร้อนให้แก่ตนและคนที่อยู่ในครอบครัวได้ ดังนั้นทางที่ดีจึงควรทำพิธีเสนเรือนเสียครั้งหนึ่งในรอบปีหรือรอบ 2 ปี ผีในตระกูลเดียวกันเรียกว่า "สึ่ง" เดียวกัน ผีเรือนคือ ผีที่ตายในบ้าน เช่น แก่ตาย และตายดีมิใช่ตายโหง ผีตายเพราะอุบัติเหตุเรียกว่าตายโหงจะไม่นำมาเป็นผีเรือน ผีที่ตายในบ้านหลังจากเผาศพแล้ว จะมีการทำพิธีอัญเชิญวิญญาณให้มาอยู่บนบ้าน เรียกว่าพิธีเรียกผีขึ้นเรือน ทุกบ้านจะมีรายชื่อของผู้ตายหรือบัญชีของผีประจำเรือนไว้เรียกว่า "ปับผีเฮือน" ในวันเสนเรือนหมอเสนจะนำปับผีเรือนมาอ่านรายชื่อผีเรือนเพื่อเชิญมาให้รับของเซ่นทีละ 1 ตน ห้องผีเรือนนี้ ปกติเจ้าของบ้านมักจะระวังมิให้บุคคลภายนอกซึ่งไม่ได้รับอนุญาตเข้าไป ถ้าเผลอเข้าไปโดยเจ้าของบ้านมิได้บอกกล่าวผีเรือนก่อน ถือว่าเป็นการผิดผี เจ้าของบ้านอาจจะได้รับเคราะห์เอง และจะต้องทำพิธีเสียผีหรือทำพิธีขอขมาด้วยเงิน 2.50 บาท เหล้า 1 ขวด ไก่ 1 ตัว หรือหัวหมู ฯลฯ
ผีเรือนนั้นมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของลูกหลานมากดังกล่าวแล้ว จึงมีประเพณีการ "สืบผี" ชาวไทดำถือว่าเป็นการสืบสกุล ซึ่งมีธรรมเนียมดังนี้
ในบ้านหนึ่ง ๆ ผู้สืบผีจากบรรพบุรุษคือพ่อบ้าน การทำพิธีต่าง ๆ พ่อบ้าน จะเป็นหลักหรือเป็นผู้ประกอบพิธี เมื่อใดที่พ่อบ้านเสียชีวิตลง บ้านนั้นจะขาดการสืบสกุล ลงชั่วคราว จะต้องหาผู้สืบสกุลต่อ ผู้สืบสกุลจะต้องเป็นลูกชายคนใดคนหนึ่ง ลูกสาวและแม่ ซึ่งเป็นเพศหญิงไม่ใช่ผู้สืบสกุล
ในกรณีที่ไม่มีลูกชาย อาจใช้หลานชายมาเป็นผู้ทำพิธีสืบสกุลได้ ถ้ามีลูกชาย หลายคนจะต้องดูว่าคนใดเหมาะสมจะเป็นผู้สืบพิธีนี้ ลูกชายคนโตโดยปกติแต่งงานแยกครอบครัวไปมีเรือนต่างหาก ใช้นามสกุลเดิมก็จะเป็นผู้ประกอบพิธีของบ้านตน ลูกสาวเมื่อแต่งงานไปก็จะไปเข้าในสกุลของสามี ไปถือผีทางสามี จึงใช้ลูกชายคนสุดท้องหรือคนใดก็ตามที่ยังอยู่ในบ้านนั้น เป็นผู้สืบพิธีแทนต่อไป
พิธีเสนเรือนแบ่งออกเป็นขั้นตอนดังนี้
ขั้นเตรียมงาน
ปกติชาวไทดำมักจะนำลูกหมู 2-3 ตัว มาเลี้ยงไว้เพื่อใช้เซ่นผีเรือนในวันที่ทำพิธีเสนเรือน โดยอธิฐานว่า ถ้าหากตนทำมาหากินเจริญรุ่งเรืองและเลี้ยงหมูอ้วนท้วนตลอดรอดฝั่งก็จะทำพิธีเสนให้หมูที่อธิษฐานไว้นั้นจะนำไปทำอย่างอื่นไม่ได้ เช่น นำไปฆ่ากินเองหรือนำไปขายไม่ได้ เขาถือว่าทำเช่นนั้นจะเกิดเรื่องร้ายแก่ครอบครัว แต่ถ้าหมูนั้นตายเองก็ต้องหามาเลี้ยงใหม่ หมูที่เลี้ยงไว้ทำพิธีนี้จะต้องเลือกตัวที่แข็งแรง ลักษณะดี และเป็นตัวผู้เท่านั้น หมูเป็นเครื่องเซ่นผี อันสำคัญดังกล่าวแล้ว ดังนั้น ทุกบ้านจึงมีการเลี้ยงหมูกัน อาจมีบางบ้านที่ไม่ได้เลี้ยงในคราวทำพิธีเสนเรือนก็ต้องหาซื้อเอาจากตลาดก็ได้ อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงไว้เองนับว่าเป็นการประหยัดได้มาก เพราะการทำพิธีจะมีญาติมาร่วมงานมาก ต้องใช้เนื้อหมูประกอบอาหารเลี้ยงกัน การไม่ซื้อ จึงประหยัดกว่า
นอกจากนี้ เจ้าภาพจะต้องทำเหล้าหมักไว้เพื่อใช้ในพิธีด้วย ปัจจุบันไม่ทำเอง เพราะผิดกฎหมาย จึงซื้อเหล้าขาว 35 ดีกรีแทน จากนั้นเจ้าภาพจะต้องไปปรึกษาหมอเสนเพื่อหาวันดีที่จะประกอบพิธี หมอเสนจะเลือกวันที่เป็นมงคลสำหรับบ้านนั้น เช่น จะต้องไม่ตรงกับวันตาย วันเผา วันเก็บกระดูกของบรรพบุรุษ จากนั้นเจ้าภาพจะต้องจัดหมากพลูและเครื่องบูชาครูให้หมอเสนนำไปบูชาครู ของหมอเสนเสียก่อนในระยะใกล้ ๆ วันพิธี
แขกผู้มาร่วมงาน
เจ้าภาพจะต้องบอกเชิญแขกในละแวกบ้านให้มาร่วมงาน เช่น
- ญาติสายโลหิตเดียวกัน อันได้แก่ พี่น้องที่เป็นลูกของพ่อและแม่เดียวกัน การแต่งกายใช้ชุดแต่งอยู่กับบ้านธรรมดา
- ญาติจากการแต่งงาน ได้แก่ บรรดาเขยและสะใภ้
- เพื่อนบ้านใกล้เคียงที่ได้รับเชิญจากเจ้าภาพ
การจัดพิธีเสนเรือน
พิธีเริ่มเมื่อ 01.00 น. ของวันใหม่ มีการนำหมูที่เลี้ยงไว้ทำพิธีนี้มาฆ่า หมูที่นำมาฆ่านี้ต้องเป็นหมูตัวผู้ หมูตัวเมียคงเลี้ยงไว้ทำพันธุ์ต่อไป บรรดาศักดิ์ของไทดำนั้น มี 2 อย่าง คือ ผู้น้อยกับผู้ท้าว ผู้น้อยคือคนไทดำที่มิได้เคยมีบรรพบุรุษเป็นเจ้าเมืองมาก่อน อย่างเช่นสามัญชนทั่ว ๆ ไป เรียกว่า ผู้น้อย เมื่อตายลงเป็นผีเรียกว่าผีผู้น้อย ส่วนผู้ท้าว คือผู้ที่มีบรรพบุรุษหรือตัวเองเป็นผู้มีเชื้อสายมาจากเจ้าครองเมืองสืบ ๆ กันมา เมื่อตายลงเป็นผีเรียกผีนั้นว่าผีผู้ท้าว ทั้งสองอย่างมีธรรมเนียมการเซ่นไหว้ต่างกัน เช่น การเซ่นผีเรือนผู้ท้าวจะต้องเซ่นด้วยการฆ่าควายเวลาเลี้ยงอาหารจะต้องเลี้ยงเหล้าก่อนเลี้ยงข้าว ส่วนการเซ่นผีผู้น้อย จะเซ่นด้วยการฆ่าหมู และเลี้ยงข้าวก่อนแล้วจึงเลี้ยงเหล้าภายหลัง
เมื่อฆ่าเสร็จจะจัดทำเป็นอันดีแล้วก็จะนำหมูหรือควายทั้งตัวไปห้องผีเรือนตรงมุมห้อง ซึ่งเรียกว่ากะล้อห่อง ทำความเคารพพร้อมกล่าวกับผีเรือนความว่า เอาหมูมาให้กิน ตามประเพณี เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข จากนั้นจึงจัดการชำแหละออกเป็นส่วน ๆ เช่น หัว ขา ซี่โครง หาง อย่างละพอเหมาะที่จะประกอบเป็นหมูทั้งตัว โดยสมมุติเพื่อใช้สำหรับใส่ "ปานเผือน" เมื่อทำพิธีเซ่นไหว้ นำเนื้อหมูทั้งหมดไปต้มให้สุกเสียก่อนจึงนำไปเซ่นไหว้ได้ การเซ่นครั้งแรกนั้นใช้เนื้อหมูทั้งตัวกับเหล้า 1 ขวด
ในตอนเช้า เวลาประมาณ 07.00-09.00 น. ซึ่งเป็นวันทำพิธีเสนเรือน เจ้าของบ้านจะต้องนำสิ่งของที่เซ่นไหว้บรรจุลงในพานหรือปานเผือนทั้งหมด อันได้แก่สิ่งต่อไปนี้
ข้าวต้มมัด ข้าวเหนียวเปียก ขนมต้มแดงต้มขาว เผือกต้มมันต้ม ขนมถั่วตัด งาตัดหรือเรียกว่าขนมจันอับ และผลไม้ตามฤดูกาล 2-3 ชนิด เช่น มะม่วง ขนุน ทุเรียน กล้วย อ้อย แล้วแต่จะมี ถ้วยน้ำเย็นเป็นของหวาน
ส่วนของคาว ได้แก่ เนื้อหมูยำ อันประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ของหมูทั้งตัว เช่น เนื้อส่วนต่าง ๆ และเครื่องในหมู ผสมกับผักเครื่องเทศที่มีกลิ่นดับคาว เช่น ผักชีฝรั่ง ต้นหอม หอมกระเทียม หน่อไม้ พริกไทย ฯลฯ ปลาร้า น้ำปลา มะนาว พริกสด ใส่บรรจุในใบตองสดวางไว้ ตรงกลางพาน นอกจากนี้ยังมีไส้หมูต้ม เนื้อหมูต้ม เนื้อไก่ต้ม อย่างละ 7 ห่อ ตะเกียบ 7 คู่ ข้าวเหนียว 7 ห่อ หมูยำดังกล่าวนี้ ชาวไทดำเรียกว่า "จุ๊บหน่อไม้" จัดบรรจุไว้ในปานเผือน นอกพานจะมีเหล้า 1 ขวด หมากพลู บุหรี่ น้ำร้อน น้ำเย็น และข้าวเหนียวนึ่งอีก 1 กระติ๊บ และเสื้อฮี 1 ตัว ปานเผือนที่บรรจุเครื่องเซ่นนี้จะตั้งอยู่ในห้องตรงกับมุมห้องด้านหนึ่งของบ้าน ที่ฝาบ้านมุมนี้จะมีการเจาะรูฝาผนังบ้านไว้ขาดไข่เป็ดรอดได้ไว้ 1 รู เพื่อเป็นช่องสำหรับให้หมอเสนส่งอาหารให้กับผีเรือน นอกจากนั้น เจ้าของบ้านจะต้องเตรียม "ปับผีเรือน" คือ สมุดรายชื่อบรรพบุรุษ ของบ้านนี้ที่เสียชีวิตไปแล้ววางไว้ด้วย รายชื่อบรรพบุรุษนี้บางบ้านมีถึง 100 ชื่อก็มี
หมอเสนซึ่งเป็นผู้รู้ขั้นตอนของประเพณีจะเป็นผู้ประกอบพิธี หมอเสนจะแต่งตัวด้วยชุดเสื้อฮีชาย ถือพัดอยู่ในมือ พัดนี้ชาวไทดำเรียกว่า “วี” เป็นพัดที่สานด้วยไม้ไผ่มีด้ามสำหรับถือ ใบพัดเป็นรูปคล้ายใบโพธิ์ ขอบพัดตกแต่งด้วยผ้าสีเป็นลวดลายดูประณีตงดงาม นั่งอยู่ข้าง ๆ ปานเผือน ก่อนทำพิธี เจ้าของบ้านจะต้องทำการเลี้ยงอาหารหมอเสนก่อน เช่น อาหารคาวหวานและเหล้า เช่น แอ๊บข้าวเหนียว ไก่ต้ม 3 ตัว ขันน้ำ เหล้า 7 ขวด เชี่ยนหมาก ก่อนที่หมอเสน จะรับประทานอาหาร หมอเสนจะต้องนำอาหารดังกล่าวเซ่นไหว้ครูของหมอเสนก่อนเสมอ โดยเฉพาะ "บาอาน" และ "บาเอน" มีตำนานกล่าวเล่ามาว่า ในกาลก่อนนั้นมีผู้จัดทำพิธีเสนเรือน เมื่อฆ่าหมูแล้วนำไปล้างที่ลำธาร บังเอิญหัวหมูพลัดหายไปในน้ำ ไม่มีหัวหมูจะทำพิธีได้ บังเอิญนายอานกับนายเอนไปทอดแห และทอดได้หัวหมูที่หายไปนั้นได้ เจ้าของขอคืน นายอานกับ นายเอนจึงตั้งข้อแม้ว่าจะยอมคืนหัวหมูให้ แต่ต้องให้ผู้ทำพิธีนั้นกล่าวถึงชื่อของตนทุกครั้งไปให้ตนได้รับทราบด้วย เจ้าของหัวหมูยอมรับคำแล้วจึงคืนหัวหมูให้ไปทำพิธีเสนได้
หมอเสนจะกล่าวถึงประวัติและประเพณีเสนเรือนที่กระทำสืบ ๆ กันมา พร้อมทั้งไม่ลืมกล่าวถึงบาอาน บาเอนด้วย จากนั้นจึงจะบอกกล่าวแก่ผีเรือนถึงความประสงค์ ของ เจ้าของบ้านนั้นที่จัดพิธีนี้ขึ้น เช่น กล่าวระลึกถึงบุญคุณของบรรพบุรุษที่มีต่อตน เป็นต้น
เริ่มพิธีเจ้าภาพและญาติผีเดียวกันเข้าไปในห้องผีเรือนแล้วช่วยกันยกปานเผือน ที่บรรจุเครื่องเซ่นให้สูงขึ้น 3 ครั้ง ต่อหน้าหมอเสน
- ครั้งที่ 1 ยกให้สูงเสมอเอว แล้วถามหมอเสนว่าแค่นี้พอไหม หมอเสนจะต้องว่า ดีแล้ว แต่ควรให้สูงกว่านี้อีก แล้ววางลง
- ครั้งที่ 2 ยกให้สูงเสมอหน้าอกหรือคอ แล้วถามว่าแค่นี้ดีหรือยัง หมอเสนจะตอบว่าดีเหมือนกัน แต่ยังไม่มาก ถ้าท่วมหัวละก็ดี แล้วก็วางลงกับพื้น
- ครั้งที่ 3 ยกให้สูงเหนือศีรษะ แล้วถามหมอเสนว่าสูงแค่นี้ดีหรือยัง หมอเสน จะตอบว่าสูงแค่นี้ดีที่สุดแล้ว แล้วก็วางลง
การเสนเรือน (ผู้ท้าว)
"ผู้ท้าว" คือชื่อเรียกสำหรับตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าของไทดำในอดีต "ผู้น้อย" คือชื่อเรียกสำหรับตระกูลสามัญชนธรรมดา การประกอบพิธีเสนเรือนและพิธีกรรมอื่น ๆ มีความแตกต่างกันเล็กน้อย สำหรับพิธีเสนเรือนผู้ท้าวมีลักษณะแตกต่างไปจากการเสนเรือน สามัญชนธรรมดา
เริ่มด้วยการฆ่าควายเพื่อเป็นเครื่องเซ่น ปัจจุบันหาควายได้ยาก อาจใช้หมูแทนได้ในราวตอน 01.00 น. ของวันพิธีหลังจากฆ่าหมูหรือควายเสร็จแล้ว จะชำแหละเป็นชิ้น ๆ ให้ครบทั้งตัว แล้วจัดแต่งประกอบให้เป็นตัวใหม่นำขึ้นไปยังกะล้อห่อง หรือห้องผีเรือนในคืนนั้น เพื่อทำการเซ่นให้ผีเรือนได้กิน ในตอนเช้าจึงทำพิธีใหญ่สำหรับให้ลูกหลานได้เซ่นไหว้
เครื่องเซ่นในตอนเช้าประกอบด้วยพานหรือปานเผือนใส่หมู่ซึ่งแต่งไว้ทั้งตัว 1 ปานใหญ่ ข้าวต้มมัด ขนมเทียน กล้วยน้ำว้าสุก อ้อย และผลไม้ชนิดต่าง ๆ เท่าที่จะหาได้ในฤดูขนมจันอับ หรือขนมหวานแห้ง ๆ อย่างละ 1 ถาด นำขนมและผลไม้ทั้งหมดนั้นใส่ลงไปใน ปานเผือนทับเนื้อสดที่แต่งไว้เป็นตัวในตอนแรกจนสุ่มพูนขึ้นมาจากปานเผือน ส่วนขนมที่เหลือ จะจัดใส่กะปะไม้อีก 2 กระบะ บนเหนือปานเผือนนั้นยังมีห่อเครื่องเซ่นของญิงสาว (หญิงสาว) คือ ลูกสาวของผีผู้ท้าวนั้นที่แต่งงานออกไปอยู่กับสามีที่อื่น เมื่อระลึกถึงบรรพบุรุษจึงนำของมาเซ่น เครื่องเซ่นที่นำมามีหมูและผลไม้เช่นเดียวกับปานใหญ่ ห่อด้วยใบตองกล้วยมัดด้วยใบลาน คล้ายถุงผ้า อาหารห่อนี้ถึงแม้ญิงสาวไม่นำมาเซ่นเจ้าของบ้านผู้ทำพิธีก็ต้องเตรียมขึ้น ทั้งนี้เพราะเวลาเซ่นช่วงหนึ่งจะนำห่อเครื่องเซ่นนั้นทิ้งลงไปใต้ถุนบ้านทั้งห่อ ไม่ป้อนทีละคำเหมือนอย่าง การเสนผู้น้อย
ขั้นที่ 1 หมอผู้ทำพิธีเสนผู้ท้าวนี้จะต้องมีเชื้อสายเป็นผู้ท้าวมาก่อนด้วย เจ้าของบ้านจะต้องไปรับหมอพิธีมา และจะต้องเชิญขึ้นบ้านก่อนขึ้นบ้านจะต้องล้างเท้าให้ด้วย หมอพิธี จะสวมเสื้อฮีและนั่งบนม้านั่งหรือ "ตั่ง" หันหน้าเข้าหาฝาผนังห้องผีเรือน ขั้นแรกเจ้าของบ้าน ผู้จะทำพิธีเสนจะนำเสื้อฮีประจำตัวของตนใส่กระจาดหรือถาดมามอบให้หมอพิธี ผู้ใหญ่ซึ่งเป็น ผู้รู้พิธีท่านหนึ่งจะกล่าวคำเป็นภาษาไทดำ บอกให้หมอพิธีเสนผีเรือนครั้งนี้ให้ พิธีตอนนี้เรียกว่า "ฟายจาง" หมอพิธีรับคำและทำพิธีให้
หมอพิธีเริ่มกล่าวบอกผีเรือนให้ทราบว่า วันนี้ลูกหลานจะนำอาหารมาให้กิน จงมารับการเซ่นไหว้ครั้งนี้ด้วย หมอพิธีเริ่มด้วยการรินเหล้าใส่ชาม และรินลงไปในร่องพื้นกระดานบ้านที่เจาะไว้ เรียกชื่อผีเรือนให้มากินเหล้าทีละชื่อ แล้วก็รินเหล้าลงไป ทำเช่นนั้นจดหมดรายชื่อ ในปับผีเรือน เป็นการเซ่นเหล้าหรือเลี้ยงเหล้าก่อนกินข้าว
หลังจากนั้นจึงมีการเซ่นอาหารให้ผีเรือน เริ่มด้วยบรรดาลูกหลานโดยเฉพาะเจ้าของบ้านผู้ประกอบพิธีเซ่น (ลูกชายผู้สืบผี) ช่วยกันยกปานเผือนขึ้นเหนือหัว 3 ครั้ง เป็นการมอบให้ผีเรือนได้รับเครื่องเซ่นนั้น เมื่อวางลงบนพื้นบ้านตามเดิมตรงร่องกระดานซึ่งเจาะไว้ หมอพิธีเรียกชื่อผีเรือนชื่อหนึ่งก็ยกปานเผือนขยับขึ้นครั้งหนึ่ง เป็นทำนองสมมติว่ามอบอาหาร ให้รับประทาน หมอเรียกชื่อผีเรือนจนหมดทุกชื่อเสร็จแล้ว จึงหยิบห่ออาหารเครื่องเซ่นนั้น ห่อหย่อนลงไปใต้ถุนบ้าน ถ้าร่องกระดานเล็กเกินไป หมอจะแก้ห่อแล้วหยิบเครื่องเซ่นทีละน้อยหย่อนลงไปจนกว่าจะหมดห่อก็ได้ ที่ใต้ถุนบ้านจะมีผู้นำกระจาดมารอรับอาหารที่ทิ้งลงมา เพื่อนำไปรับประทาน
ขั้นที่ 2 หมอพิธีจะนำเหล้าและขนมอีกชุดหนึ่งมาถวายเทวดา เรียกว่า "ฟายเทวดา" ในการฟายเทวดานี้ จะใช้หมออีกคนหนึ่งเป็นผู้กล่าวถวาย เทวดานี้ คือ เทวดา ประจำหมู่บ้าน เช่น เจ้าพ่ออุมลุม เจ้าพ่อบุญน้อย เจ้าพ่อแก่นจันทร์ เจ้าพ่อสร้อยสุวรรณ เครื่องเซ่นเทวดามีน้ำ 1 ขัน หมากพลู 1 ที่ เหล้า 1 ขวด และขนมแห้ง ๆ หมอพิธีจะบอกให้เทวดาช่วยปกป้องรักษาคนในบ้าน ซึ่งเรียกว่า ลูกช้าง ลูกม้า จงอยู่เย็นเป็นสุข
ขั้นที่ 3 เป็นการเซ่นผีไม่มีญาติหรือผีที่มิได้เป็นผีเรือน เป็นการทิ้งทาน เครื่องเซ่นมี เสื้อผ้าทอสีขาว สีดำ ผ้าห่ม แป้ง หวี กระจก น้ำหอม น้ำมัน กำไล ผม สร้อย ใส่กระจาดหาบ 2 ที่ เครื่องกินมี เนื้อหมูต้ม ไก่ต้ม ขนม ผลไม้ ห่อใบตองมัดด้วยใบลาน 1 ห่อใหญ่ เหล้า 1 ขวด หมากพลู บุหรี่ ข้าวสุก ข้าวสาร และดุ้นฟืน ฯลฯ หมอพิธีจะเป็นผู้กล่าวอุทิศให้ โดยย้ายที่นั่ง จากเดิมมาอยู่อีกที่หนึ่งใกล้ ๆ กันนั้น
ขั้นที่ 4 เป็นพิธีแปงไต้ ให้เจ้าของบ้านผู้ประกอบพิธี (เจ้าเสื้อ) มานั่งอีกห้องหนึ่ง หมอหยิบไต้ซึ่งเป็นไม้ไผ่สานเป็นรูปตะกร้า ธนู พัด ขนาดจิ๋ว เป็นสัญลักษณ์ของขวัญของแต่ละคนตั้งแต่ตอนแรกเกิด มักจะเหน็บไว้ที่ข้างฝาบ้านวางไว้ในบริเวณพิธี นอกจากนี้ก็มีเหล้า เสื้อฮี ข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวสุก ไก่ต้ม 2 ตัว วางไว้ในถาด ต่อมาหมอพิธีจะกล่าวคำเซ่นไหว้ขวัญ ในขณะเดียวกันหมอจะหยิบเนื้อไก่ ข้าวเหนียว ขนม อย่างละเล็กน้อยใส่ลงไปในไต้ของแต่ละคน เพื่อเป็นการสมมติว่าให้ขวัญได้รับเครื่องเซ่นนั้น เพื่อขอให้ขวัญหรือแม่ซื้อของแต่ละคน ช่วยคุ้มครองมิให้เจ้าของขวัญเป็นอันตราย อยู่ดีมีสุข เป็นอันจบพิธี
เมื่อหมอทำพิธีเสร็จ จะกลับลงทางบันไดบ้าน เจ้าของบ้านจะต้องเดินไปส่งด้วย เมื่อหมอพิธีออกไปพ้นบ้านแล้ว ถ้าหมอพิธีผู้นั้นเป็นญาติหรือคนสนิทกัน อยากจะกลับมาคุย กับญาติมิตรในบ้านนั้น ก็จะต้องถอดเสื้อฮีออกเสียก่อน จึงจะเข้ามาในบ้านได้ ซึ่งคราวนี้หมอพิธี จะมาในฐานะคนธรรมดา
การแต่งงาน
ชายหนุ่มหญิงสาวเมื่อมีความรักใคร่ชอบพอกันถึงขั้นจะแต่งงานกันแล้ว ฝ่ายชายจะส่งผู้ใหญ่ไปเจรจา เรียกว่า "โอ้โลม" สู่ขอต่อพ่อแม่ฝ่ายหญิง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าไป "ส่อง" ในการไปเจรจานี้ถ้าตกลงกันได้ก็จะกำหนดวันหมั้น ในวันหมั้นนั้นฝ่ายผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะต้องเตรียมห่อหมากพลู บุหรี่ 2 ชุด ให้หญิงสาว 2 คน ถือไปพร้อมกับการแต่งกายชุดประเพณีด้วย
ระหว่างการหมั้นนี้ ฝ่ายชายจะไปเยี่ยมฝ่ายหญิงเป็นครั้งคราวก็ได้ หรือ ไป ๆ มา ๆ เรียกว่า "ไปหยามห่อมะปู" หมายความว่า ไปเยี่ยม ห่อหมากพลูคือของหมั้นที่ฝากไว้ เรียกว่า "สู่" หรือการไปมาหาสู่ การไปสู่เช่นนี้บางทีพ่อแม่ฝ่ายหญิงยอมให้ฝ่ายชายเข้าห้องหอหลับนอน กับฝ่ายหญิงเลยก็ได้ บางรายก็มีท้องก่อนพิธีแต่ง เรื่องเช่นนี้ประเพณีชาวไทดำไม่ว่าและไม่ถือกัน
ตอนวันแต่งงานคือวันทำพิธีส่งตัวเจ้าสาวไปอยู่บ้านเจ้าบ่าว เรียกว่า "ส่ง" หรือ "นัดมื้อส่ง" หรือ "กินดอง" เมื่อวันแต่งงานกันแล้ว ถ้ายังไม่ส่งตัวเจ้าสาว เนื่องจากเจ้าบ่าวบางรายจะต้องอยู่กับบ้านฝ่ายหญิงเป็นเวลา 1-5 ปีก็ได้ เช่น ทางบ้านฝ่ายหญิงไม่มีผู้ชายช่วยทำนา หรือฝ่ายชาย ไม่มีเงินสินสอดทองหมั้นจะให้กับฝ่ายหญิง ชายคนนั้นต้องอยู่รับใช้หรือรับอาสาทำงานให้ เรียกว่า "สา" หรืออาสา การอาสานี้ พระมหามนตรี เพชรศาสตร์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ได้พบเห็นมานั้น การอาสามีสาเหตุอยู่ 3 กรณี คือ
1.ในกรณีฝ่ายหญิงมีลูกคนเดียว ก็จำเป็นต้องให้ฝ่าชายมาอยู่อาสาจนตลอดชีวิต เพื่อรับภาระเลี้ยงดูพ่อแม่ฝ่ายหญิง และเมื่อเกิดมีบุตรชาย ประเพณีไทดำจะให้หลานผู้นี้เป็น ผู้สืบสกุล หรือเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการเซ่นผีเรือนของบ้านนั้น
2.ในกรณีที่ลูกสาวคนหัวปีแต่งงาน ฝ่ายหญิงมักให้ฝ่ายชายอาสา ทั้งนี้เพราะน้อง ๆ ยังเล็กอยู่ จะอาสากี่ปีแล้วแต่ตกลงกัน หรืออาสาจนกว่าน้องชายจะแต่งงานได้ลูกสะใภ้ เข้าบ้านมาช่วยงานบ้านได้ เมื่อนั้นฝ่ายพ่อแม่ของหญิงจะต้องรับภาระในการสร้างบ้านเรือน ให้ลูกเขยที่มาอาสา บางรายมีการอาสาถึง 10 ปี ก็มี
3.ในกรณีพ่อแม่ฝ่ายหญิงปรารถนาจะให้ฝ่ายชายได้ทดแทนคุณ "ค่าป้อนข้าวป้อนน้ำ" ร่วมกับลูกสาวของตนแทนค่าสินสอดทองหมั้นก็ได้ แต่บางรายฝ่ายชาย ยอมเสียค่าตอบแทนเป็นจำนวนเงินโดยไม่ต้องอาสาก็มีการส่งตัวเจ้าสาว ในตอนบ่ายหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว จึงเริ่มพิธี ส่งตัวเจ้าสาวไปอยู่บ้านเจ้าบ่าว พิธีรับขวัญ การรับขวัญเรียกว่าการนั่งพานเทียนสู่ขวัญ การแต่งงาน หมายถึง ชายและหญิงซึ่งอยู่คนละบ้าน จะต้องมาอยู่ร่วมกันใช้ชีวิตร่วมกัน ผู้ใหญ่จะต้องสั่งสอนให้เข้าใจ ในการครองเรือน หมอขวัญเป็นผู้ให้การอบรมตั้งแต่ให้ระลึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ของตน การปฏิบัติตนต่อสามี และการปฏิบัติต่อพ่อแม่ ญาติพี่น้องของฝ่ายชายด้วยการทำพิธีทำขวัญแต่งงาน
การทำศพ
ชาวไทดำถือว่าการตายเป็นเรื่องสำคัญมาก เมื่อมีการตายคนทั้งหมู่บ้านจะหยุด การทำงานทุกอย่างเป็นการไว้ทุกข์ และช่วยกันจัดการเกี่ยวกับประเพณีงานศพนั้น เรียกว่า "กำบ้าน กำเมือง" จะหยุดทอผ้า หยุดทำไร่ไถนา และถือเป็นความโศกเศร้าจนกว่าจะนำศพไปเผาเสร็จแล้วจึงจะทำงานตามปกติได้
ชาวไทดำนับถือผีบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว มีความเชื่อว่าคนตายไปเป็นผีแล้วสามารถให้โทษให้คุณแก่คนเป็นได้ โดยเฉพาะถ้าพ่อแม่ตายลง พ่อแม่นั้นจะต้องเป็นผีเฝ้าเรือน หรือ "ผีเรือน" ประจำบ้านต่อไป มีการอัญเชิญให้เป็น "ผีเฮือน" จดชื่อใส่ในบัญชีผีประจำบ้าน เรียกว่า "ปับผีเรือน" แต่ละครั้งที่มีการเซ่นอาหารเพื่อเลี้ยงผีเรือน ก็จะนำปับผีเรือนนั้นมาอ่านชื่อ แล้วเรียกให้มารับเครื่องเซ่นทีละคนในพิธีเสนเรือน ผีที่จะเชิญเป็นผีเรือนได้จะต้องเป็นผีที่ตายดี คือ เจ็บป่วยตาย แก่หมดอายุ และตายในบ้าน ส่วนผีที่ตายนอกบ้าน ตายโหง และอายุน้อย จะไม่เชิญ ให้เป็นผีเรือน
เมื่อคนตายใหม่ ๆ บรรดาญาติพี่น้องจะช่วยกันอาบน้ำศพให้สะอาด จัดแจงแต่งตัวสวมเสื้อใหม่ จะนำเสื้อฮีประจำตัวของผู้ตายกลับเอาข้างในออกแล้วใส่ให้กับศพ ยกศพซึ่งชาวไทดำเรียกว่า "ขอน" วางบนแคร่ทำด้วยไม้ไผ่ เรียกว่า "จอง" จองนี้จะต้องทำขึ้นในทันทีที่รู้ว่ามีการตาย ต้องตัดไม้มาทำ ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืนก็ตาม เสร็จแล้วนำศพมาวางไว้ใต้ขื่อบ้านตามยาวของขื่อ ไม่วางขวางขื่อ ซึ่งมีผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายสีขาวหรือสีแดงปูรองยาวไปทางปลายเท้าของศพ แล้วทบผ้าที่เหลือนั้นมาคลุมตัวศพจากปลายเท้าถึงคอศพ และผ้าอีกด้านหนึ่งคลุมทับศีรษะให้มิด แล้วใช้ไม้กลัดทำด้วยไม้ไผ่กลัดชายผ้าชั้นบนและชั้นล่างให้ติดกัน แล้วสร้าง "เรือนแส" ครอบ เรือนแสมีลักษณะคล้ายมุ้งใหญ่ทำด้วยผ้าขาว หรือทำเป็นม่านล้อมให้รอบก็ได้
พิธีเริ่มด้วยชาวบ้านจะช่วยกันสร้างสิ่งของต่าง ๆ เพื่ออุทิศให้ศพ ดังนี้
- ธง ทำด้วยผ้าทอสีขาวและสีแดง เป็นผ้าไหมและผ้าฝ้ายทั้งผืน ผูกติดกับ ปลายไม้ไผ่ซึ่งผ่าปลายและใช้คีบผืนธงไว้ ปลายธงตกแต่งด้วยริ้วเศษผ้าสีต่าง ๆ คันธงยาวประมาณ 2.5 เมตร และ 1.50 เมตร มีจำนวนไม่น้อยกว่า 4-5 อัน ธงผ้านี้ถ้าศพเป็นผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผ้าธงจะยาวมาก บางผืนยาวถึง 10 เมตร ก็มี ธงนี้มีไว้ให้ผู้ตายเกาะชายธงไปเมืองฟ้า
- เสาหลวง เป็นต้นเสาขนาดเท่าน่อง ยาวประมาณ 2 เมตร ที่ปลายเสาจะทำเป็นตัวหงส์ แกะสลักด้วยไม้และตกแต่งด้วยเศษผ้าสี เพื่อใช้เป็นพาหนะให้ศพที่เป็นเพศชายขี่ ไปเมืองฟ้า แต่ถ้าเป็นศพหญิงปลายเสาหลวงนี้จะทำเป็นปลีมีลักษณะเป็นท่อนไม้ยาว 1 ศอก ทรงกระบอก ที่ปลายมีห่อหมากพลูและเงินบาทห่อใบตองผูกติดไว้รอบ ๆ ปลี ตกแต่งด้วยเศษผ้า สีแดงเหลือง และขาว เป็นริ้ว ๆ รอบ ๆ ปลายเสา ทำเป็นกลีบด้วยไม้ไผ่ผ่าซีกประมาณ 6-8 แฉก ถ่างให้กางออกคล้ายดอกไม้บาน
- เรือนแก้ว ทำด้วยกระดาษและเศษผ้าไหม เป็นลักษณะของบ้านเรือนไทยคล้ายศาลพระภูมิวางอยู่บนพื้นกระดานและมีรั้วรอบ 4 ด้าน ตกแต่งด้วยเศษผ้าริ้วสีต่าง ๆ เช่นเดียวกัน สำหรับเป็นบ้านเรือนให้ผู้ตายได้อยู่ในเมืองฟ้า
- ร่ม ทำด้วยไม้ไผ่ กระดาษและผ้าสีต่าง ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ไม่ต่ำกว่า 1 ฟุต มีลักษณะคล้ายกลดผูกติดกับปลายเสาหลวง
- บ้าน บ้านที่สร้างอุทิศให้กับผู้ตายนี้จะสร้างขึ้นเป็นบ้าน 4 เสา ขนาดกว้าง 1 ศอก ยาวศอกคืบ หรือประมาณ 45×60 ซ.ม. โครงสร้างทำด้วยไม้ไผ่ มุงด้วยจาก อย่างไม่ประณีต เสาบ้านสูง 1 เมตร มีรั้วรอบบ้าน เจ้าของบ้านจะต้องเตรียมส่วนต่าง ๆ ของบ้าน ให้พร้อมแล้วไปสร้างที่ป่าแฮว
สิ่งของที่เตรียมไว้ทั้ง 5 อย่างนี้ จะนำมาวางแทนที่โลงศพเพื่อเตรียมที่จะนำไปอุทิศให้แก่ผู้ตายต่อไป
พิธีส่งผี (ส่งของให้ผี) เริ่มด้วยบรรดาญาติพี่น้องและผู้เป็นลูกของผู้ตายช่วยกัน ขนของที่จะมอบให้กับผีเดือนทางไปยังป่าแฮว นำด้วยธง เสาหลวง เสื้อผ้า และส่วนประกอบ ของบ้าน เมื่อไปถึงป่าแฮวหมอพิธีจะเสี่ยงทายหาที่สร้างบ้านก่อน โดยใช้ไม้ปักลงไปบนพื้นดิน แล้วทอดไม้คว่ำหงายถามเจ้าของที่ ถ้าเจ้าของที่อนุญาตก็จะช่วยกันถากหญ้าให้เป็นบริเวณกว้างประมาณ 1 ตารางเมตร จะสร้างบ้านก่อนโดยปักเสา 4 เสา แล้วนำส่วนประกอบต่าง ๆ ของบ้าน ที่เตรียมมาประกอบกันขึ้นเป็นบ้าน เช่น คาน พื้น จั่ว หลังคา การสร้างบ้านนี้มีเคล็ดว่าจะต้องทำ ให้ต่างไปจากการสร้างบ้านให้คน เช่น จากที่มุงหลังคาก็จะต้องหงายจากออก จะไม่ทำทุกอย่าง ให้ดีนัก ใต้ถุนบ้านจะขุดหลุมไว้เพื่อฝังไหกระดูก รอบ ๆ บ้านจะทำรั้วไม่ไผ่สานหยาบ ๆ
ปลูกต้นดอกไม้และผักสวนครัวพอเป็นพิธี พวกญาติผู้หญิงจะนำดอกไม้ไผ่มาขดเป็นวงกลมโต เท่าผลส้มทุกวงเกี่ยวกันไว้คล้ายโซ่ สมมติว่าเป็นเหรียญเงินที่จะให้กับผู้ตายเตรียมไว้ที่หน้าบ้านผีประมาณ 1 เมตร จะปักเสาหลวงที่เตรียมมา ธงที่เตรียมมาจะผูกติดกับเสาหลวงให้ห้อยลงมา หงส์ ร่ม จะผูกติดไว้ที่ปลายเสาหลวง เสื้อผ้า เช่น เสื้อฮี ผ้าซิ่น ฯลฯ จะแขวนไว้กับเสาหลวง หอแก้วจะพาดไว้ระหว่างหน้าบ้านผีกับเสาหลวง
หมอพิธีจะนำกระดูกทั้งหมดห่อผ้าขาวแล้วบรรจุลงในไหที่เตรียมมา นำไหนั้น ใส่ลงไปในหลุมใต้ถุนบ้านผี มีเส้นไหมสีเหลืองโยงติดระหว่างปากไหกับบนบ้านผี ปากไห ปิดด้วยชามซึ่งทุบให้ปากบิ่น จากนั้นจึงทำพิธีบอกกล่าวถึงการที่จะอุทิศสิ่งของเหล่านี้ให้แก่ผู้ตาย บรรดาญาติจะนำเหรียญเงินที่ทำด้วยตอกไม้ไผ่ไปให้กับผู้ตาย โดยแขวนไว้รอบ ๆ บ้านผี บางคนเอาเศษสตางค์ใส่ลงไปในไหก่อนที่หมอพิธีจะกลบดิน เมื่อหมอพิธีนำเครื่องเซ่นมาเซ่นครั้งสุดท้ายแล้ว จะบอกทางให้กับผีได้ไปเมืองฟ้า แล้วจึงกลบดินให้มิดไหกระดูก บรรดาลูกหลานและญาติ จะยืนเข้าแถวแล้วทำความเคารพผู้ตายเป็นเสร็จพิธีส่งผีถัดจากวันส่งผีอีก 1-2 วัน แล้วแต่หมอพิธีจะกำหนดว่าวันใดจึงสมควรจะเป็นวัน "แผ้วเรือน" ตลอดระยะเวลาที่มีการตายเกิดขึ้นในบ้านนั้น ชาวไทดำถือว่าเรือนั้นยังเป็นเรือนร้ายไม่สะอาดบริสุทธิ์ จะต้องทำพิธีล้างเรือนให้สะอาดเสียก่อน ที่จะอยู่อาศัยกันต่อไป เพื่อคนที่อยู่ต่อไปจะได้มีความรู้สึกว่าบ้านปราศจากความทุกข์โศก และ จะได้อยู่อาศัยอย่างมีความสุขต่อไป
พิธีแผ้วเรือน เริ่มด้วย "มด" หรือแม่มด คือหมอพิธีผู้หญิงที่มีความสามารถในการทำพิธีเกี่ยวกับผีเป็นผู้ประกอบพิธี คือเรียกขวัญคนในบ้าน ทำการเสี่ยงทายโชคเคราะห์ของบ้าน และทำความสะอาดบ้านสิ่งของเครื่องใช้ในพิธีมีดังนี้
- ผ้าขาวยาวผืนละ 2 เมตร 6 ผืน
- เสื้อผ้าของคนในบ้านที่ยังมีชีวิตอยู่ 1 ห่อใหญ่ ใส่กระจาดหาบ 2 ใบ
- ไม้คาน 1 อัน กับผ้าขาว 1 ผืน ยาวประมาณ 4 เมตร
- กระบุงข้าวม้า
- ไม้กวาด 2 กำ
- เข่งใส่ลูกไก่ 2 คู่
- กระด้งขี้เถ้าป่น
- ขันน้ำมนต์
ในตอนเช้าของพิธีแผ้วเรือน แม่มด 2 คน คือหัวหน้าและผู้ช่วย ทั้งสองคน แต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดสีดำแบบไทดำทั่วไป โพกศีรษะด้วยผ้าสีดำ มีมีดเล่มเล็กถือติดมือมา ประดับเครื่องรางของขลังเป็นสร้อยทำด้วยงาช้างแกะสลักคล้องคอไว้
แม่มดหัวหน้าจะนั่งบนม้านั่งทำด้วยไม้ หันหน้าเข้าข้างฝาบ้านในห้องไว้ศพซ้ายมือของแม่มดเป็นไม้คานห่อผ้าที่ทำขึ้นแทนศพ ผู้ช่วยจะนั่งอยู่ข้างหลังถัดออกมา
แม่มดนำเครื่องไหว้ครูคือกระบุงข้าวเปลือกที่เตรียมไว้มาตั้งอยู่ตรงหน้า แล้วกล่าวคำเซ่นหรือบูชาครู เสร็จแล้วจึงนำเครื่องเซ่นผีเรือนพร้อมกับบอกกล่าวให้ผีเรือนทราบว่า วันนี้ จะทำการล้างบ้าน ล้างเรือน ขับไล่ความอัปมงคลที่เป็นเหตุทำให้เกิดความทุกข์โศกขึ้นในบ้าน ครั้งนี้ให้พ้นไปจากบ้าน เพื่อจะได้ทำให้บ้านมีความสะอาด พ้นจากความทุกข์ยาก เศร้าโศก สักพักผู้ช่วยแม่มดจะใช้ไม้กวาดที่ทำด้วยก้านมะพร้าวและใบหนาด ใบพุดทรา กวาดบ้านตั้งแต่ในบ้าน ทุกซอกมุม จนถึงบันไดบ้าน แล้วโยนไม้กวาดลงไปใต้ถุนบ้านเพื่อกวาดใต้ถุนบ้านให้สะอาด หัวหน้าแม่มดจะใช้ใบมะยมชุบน้ำมนต์จากขันซึ่งแม่มดทำขึ้นพรมไปทั่วบ้าน พรมทั้งกองเสื้อผ้าของคนในบ้านซึ่งนำมากองไว้ เพื่อทำให้บ้านมีความสะอาดปราศจากทุกข์โศก แล้วใช้ใบหนาดกวาดบ้านอีกครั้ง ผู้ช่วยแม่มดจะขึ้นมาบนบ้านตรงไปคว่ำโอ่งน้ำทุกใบเพื่อเป็นการล้างบ้านด้วยน้ำ ผ้าขาวที่แขวนไว้ตามที่ต่าง ๆ ของบ้าน 6 ผืน จะถูกหยิบมากองรวมกันที่หน้าแม่มด ผ้านี้แม่มด จะเอาไปใช้เอง จากนั้นแม่มดจึงตรวจดูที่กระด้งขี้เถ้าว่ามีรอยตีนอะไรหรือไม่ ถ้าไม่มีหมายความว่าบ้านนี้ไม่มีผีร้ายเข้ามาแทรก แล้วแก้ห่อผ้าซึ่งมัดเม็ดข้าวเหนียวออกดู เมื่อมีมีรอยแหว่งแสดงว่า โชคดี บ้านสะอาดแล้ว แม่มดจะเดินลงบันไดบ้านแล้วพูดว่าไล่ผีร้ายไปหมดแล้ว
การขึ้นบ้านใหม่
เมื่อมีการสร้างบ้านขึ้นใหม่ ก่อนที่เจ้าขอบ้านจะเข้าไปอยู่อาศัยจะต้อง มีการประกอบพิธีกรรมขึ้นเสียก่อน พิธีขึ้นบ้านใหม่ของชาวไทดำนี้เป็นพิธีที่ทำขึ้นโดยเฉพาะ แต่ละบ้านที่มีกำหนดจัดพิธีขึ้นบ้านใหม่ เมื่อปลูกบ้านสำเร็จแล้วก็จะจัดพิธีขึ้นบ้านใหม่ ตามความเชื่อของชาวไทดำทั่ว ๆ ไป พอจะกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้
เมื่อกำหนดวันที่จะทำพิธีได้แล้ว ในตอนบ่ายของวันนั้น ตั้งแต่เวลา 16.00-19.00 น. เป็นช่วงเวลาที่จะประกอบพิธีขึ้นบ้านใหม่ เริ่มด้วยหมอพิธีจะทำน้ำมนต์ด้วยคาถา 1 ขัน เพื่อใช้สำหรับพรมไล่ผีปัดรังควาญสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ที่ไม่เป็นมงคล ซึ่งอาจจะแอบแฝงอยู่ในบริเวณบ้านให้ออกไป ในการพรมน้ำมนต์จะพรมไปจนทั่วบริเวณบ้าน นอกจากนี้ยังมีข้าวสาร เกลือ ทราย และถั่ว งา โปรยซัดไปจนทั่วบริเวณบ้านด้วยพ่อบ้านจะแต่งชุดประเพณีไทดำ คือ สวมเสื้อฮี สะพายย่าม สวมงอบสาน และเหน็บมีดโต้มีฝักไว้ที่เอว แม่บ้านแต่งชุดประเพณีสำหรับหญิง เช่น สวมเสื้อฮี นุ่งผ้าซิ่น สะพายแอ๊บข้าวเหนียว
บรรดาญาติของเจ้าของบ้านจะช่วยกันหาบและถือสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้าน และของใช้ในครัว ตลอดจนที่นอนหมอนมุ้ง และสิ่งของเครื่องใช้อื่น ๆ ที่มีความจำเป็นในการดำรงชีพทุกชนิด
บุคคลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะมารวมกันนอกบ้าน จัดเป็นขบวน นำด้วยหมอพิธี ตามด้วยพ่อบ้านและแม่บ้าน พากันเดินวนรอบบ้านใหม่ 3 รอบ ลักษณะทักษิรษวรรต ก่อนจะก้าวขึ้นบันไดบ้าน หมอพิธีจะใช้มีดดาบที่นำติดตัวมาฟันหัวบันได 1 ครั้ง พร้อมทั้งเสกคาถาพักหนึ่งเป็นการข่มขวง หรือไล่ผีสางนางไม้ให้ออกไป เสร็จแล้วจึงก้าวขึ้นบ้านนำขบวนให้พ่อบ้านแม่บ้านตามขึ้นมา บนบ้านจะมีหญิงสองคนคอยดึงมือเจ้าของบ้านทั้งสอง พร้อมกับถามว่า "ไปค้าไปขายได้อะไรมาบ้าง" พ่อบ้านและแม่บ้านจะตอบว่า "ได้เงินได้ทอง ข้าวของมากมาย จะมาขออยู่อาศัยในบ้านใหม่นี้" จากนั้นหมอพิธีจะสาดข้าวสาร เกลือ ทราย ถั่วงา เป็นการไล่ผีร้ายทั่วบ้าน แล้วปะพรมน้ำมนต์ไปรอบบริเวณบ้าน พ่อบ้านจะเอาสิ่วมาตอกลงไป บนเสาเอก 1 ครั้ง ให้สิ่วปักคาติดต้นเสานั้นไว้ แล้วจึงเอาย่ามที่สะพายมาคล้องแขวนไว้ ต่อมาจึงให้ลุงตาและหญิงสาว (พี่น้องข้างบ้าน) เอาก้อนดินหรือก้อนหิน 4 ก้อน มาวางไว้ตรงกลางบ้าน บนกระบะดิน แล้วให้ลุงตาเลือกหยิบออกเสีย 1 ก้อน ให้เหลือเพียง 3 ก้อน เพื่อเป็นแม่เตาไฟ ก้อนเส้าสำหรับหุงข้าว จากนั้นจึงเอาเชื้อไฟมาวางไว้ในเตาแล้วจุดไฟให้ติดสักพักหนึ่งแล้วจึงดับ หญิงสาวจะนำที่นอนหมอนและมุ้งกางไว้มุมห้องหนึ่งที่จะเป็นที่สำหรับนอน เสร็จแล้วให้ลุงตา ลงไปใต้ถุนบ้านเพื่อเลือกทำเลสำหรับทำเล้าหมูและเล้าไก่ เพื่อเลี้ยงไว้ทำพิธีเซ่นผีเรือน โดยปักหลักไม้ 4 หลัก ตรงบริเวณที่คิดว่าเหมาะสมและเป็นมงคล
การเสนเรียกขวัญ
ชาวไทดำมีความเชื่อกันว่า ขวัญนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่มีประจำอยู่ในตัวคนทุกคน เปรียบเสมือนเทวดาประจำตัว บางครั้งหนีออกจากตัวไปได้ อย่างที่เคยได้ยินคนทั่วไป พูดกันว่า “ขวัญหนี” “ขวัญกระเจิง” เมื่อใดที่ขวัญไม่อยู่กับตัวจะเป็นเหตุให้เจ็บป่วยได้ จึงต้องมีการทำพิธีเรียกขวัญกลับคืนมา โดยการทำพิธีอ้อนวอนแถนหรือผู้เป็นใหญ่ในเมืองฟ้าให้ปล่อยขวัญกลับคืนมา มีการไถ่ขวัญด้วยสิ่งของเป็นการแลกเปลี่ยน มีการขับกล่อมเทวดาด้วยเครื่องดนตรี และมีการไต่ถามเทวดาด้วยการนับเมล็ดข้าวสารหรือทอดไม้คว่ำหงาย พิธีนี้ชาวบ้านมักจะเรียกกันว่า "เสนตัว" การประกอบพิธีแต่ละครั้งต้องใช้เวลา 1 วัน 1 คืน และถ้าขวัญกลับมาไม่ได้ นั่นก็หมายความว่าผู้ป่วยคงจะต้องเสียชีวิตรายละเอียดในการประกอบพิธีเรียกขวัญ
ขั้นที่ 1 หมอขวัญประกอบด้วยชาย 6 คน มีหัวหน้าหมอขวัญ 1 คน หมอเป่าปี่ 2 คน หมอเสี่ยงทาย (หมอล่ะ) 1 คน และสำรองอีก 2 คน ไว้ผลัดเปลี่ยนในการเป่าปี่ หัวหน้า หมอขวัญจะนั่งในห้องโถงของบ้าน ซึ่งใช้เป็นห้องผีเรือนเวลาทำพิธีเสนเรือน หันหน้าเข้าหา ข้างฝาบ้านพร้อมทั้งหมอผู้ช่วยอีก 3 คน บริเวณรอบ ๆ สถานที่นั้นเต็มไปด้วยเครื่องเซ่น เครื่องประกอบพิธีต่าง ๆ บริเวณที่นั่งจะปูด้วยเสื่อก่อนจะเริ่มพิธี เจ้าภาพจะต้องนำเครื่องบูชาครูของหมอมาให้บูชาครูก่อน เช่น กระบุงข้าวเปลือก ข้าวสาร 1 ชาม ไข่ดิบ ด้ายดิบสีขาว เทียน เหล้า 1 ขวด และเงิน 12 บาท หัวหน้าหมอขวัญจะกล่าวคำบูชาครู เสร็จแล้วจึงเริ่มพิธีอ้อนวอนเทวดา
ขั้นที่ 2 เริ่มด้วยหมอขวัญหัวหน้าจะนั่งหันหน้าเข้าฝาผนังเป็นคนแรก ถัดมาเป็นหมอปี่ คนที่ 1 มีปี่ทำด้วยไม้ไผ่ยาว 1 เมตร วางพาดอยู่บนบ่าของหัวหน้าหมอขวัญกับหมอปี่คนที่ 1 หมอปี่คนที่ 1 เป็นคนเป่า หัวหน้าหมอขวัญเป็นคนใช้นิ้วอุดรูปี่ทำให้เป็นเสียงสูงต่ำ เมื่อถึงเวลาที่หมอขวัญจะกล่าวคำร่ายขวัญต่าง ๆ ก็จะหยุดเสียงปี่ เมื่อกล่าวเสร็จแต่ละตอน จึงจะทำการเป่าปี่ และใช้นิ้วอุดรูให้เป็นทำนอง ผู้เป่าปี่มีอีก 2 คน จะใช้ปี่ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าปี่อันแรกเป่าคนละอันคลอเสียงปี่อันแรกนั่งอยู่ใกล้เคียงกัน มีหมอสะอีกคนหนึ่งทำหน้าที่เสี่ยงทายด้วยการนับข้าวสาร ที่หยิบมาใส่ในฝ่ามือตามที่หมอขวัญสั่งให้ทำการเสี่ยงทาย หมอสะจะบอกว่านับได้เลขคู่หรือเลขคี่ตามที่หมอขวัญเสี่ยงไว้ เช่น ถ้าหมอขวัญถามแถนว่า ขวัญของผู้ป่วยนี้ตกไปอยู่ในห้วยในหนอง เมื่อหมอขวัญอ้อนวอนขอไถ่ขวัญคืนมาด้วยเครื่องเซ่น ผีประจำห้วยประจำหนองนั้นจะยอมคืนให้หรือไม่ ถ้าคืนให้ขอให้นับข้าวสารได้เลขคู่ เป็นต้น และถ้าหมอขวัญเสี่ยงถามแล้วไม่ยอม หมอขวัญก็จะต้องสวดอ้อนวอนต่อไปเป็นคำกลอนภาษาไทดำที่ยืดยาว พร้อมทั้งเป่าปี่ขับกล่อมเป็นทำนองเรื่อยไป พอจบตอนแล้วก็เสี่ยงถามอีกครั้ง หมอสะก็จะหยิบข้าวสานด้วยมือซ้ายมาใส่ในฝ่ามือขวาหยิบมือหนึ่งแล้วก็นับดู ถ้าหมอขวัญเสี่ยงไว้ให้เป็นเลขคี่ เมื่อนับดูแล้วตกเลขคู่ แสดงว่าอ้อนวอนแล้วไม่ยอม ก็ต้องหาเครื่องเซ่นมาถวายหรือสวดอ้อนวอนกันใหม่อีกครั้ง จะกระทำดังนี้เป็นการตามค้นหาขวัญตั้งแต่บนพื้นดินจนถึงเมืองฟ้า ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 1 วัน กับ 1 คืน แต่ถ้าเสี่ยงทายแล้วได้ง่าย ๆ พิธีก็จะเสร็จเร็วขึ้น (นุกูล ชมพูนิช, 2539)
การสานตะกร้า
บ้านวังอิทก หมู่ 3 มีการรวมกลุ่มทำผลิตภัณฑ์ชุมชน ได้แก่ การสานตะกร้า โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตัวบลวังอิทก ซึ่งสร้างอาชีพให้คนทุกวัยในชุมชน
การแต่งกายไทดำ
ชาวไทดำมีเครื่องแบบการแต่งกายของตนเองโดยเฉพาะ แตกต่างไปจากชาวลาวอยู่ในเมืองไทยทั่ว ๆ ไป มีลักษณะเด่นแปลกตา เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทดำมานาน ตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ คือเมื่ออาศัยอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทย เมื่ออพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทยเป็นเวลา นับร้อยปีแล้ว การแต่งกายก็คงเป็นแบบดั้งเดิมอยู่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ถึงแม้ว่าเขาเหล่านั้น เกิดในเมืองไทยนานแล้วก็ตาม รูปแบบการแต่งกายมีลักษณะ ดังนี้
การแต่งกายของชาย
1) กางเกงขาสั้นปลายขาแคบเรียวยาวแค่ปิดเข่า ขอบกางเกงส่วนเอวกว้าง แบบกางเกงจีน การตัดเย็บมีตะเข็บคล้ายกางเกงจีน เรียกว่า “ส้วงขาเต้น” หรือ “ส้วงก้อม” ใช้นุ่งทำงานทั่วไป กางเกงอีกแบบหนึ่งคือกางเกงขายาว มีลักษณะเช่นเดียวกับกางเกงขาสั้น แต่มีขายาวถึงตาตุ่ม เรียกว่า ส้วงฮี ใช้เป็นชุดในงานพิธีต่าง ๆ และเที่ยวเตร่ กางเกงทั้ง 2 แบบนี้ เป็นผ้าฝ้าย ทอด้วยมือและย้อมด้วยครามหรือฮ่อมให้เป็นสีดำ และเย็บด้วยมือ
2) เสื้อของชายเป็นเสื้อแขนยาวทรงกระบอกแคบ ผ่าหน้าตลอด ติดกระดุมเงินยอดแหลมมีลวดลาย เรียงกันถี่ ๆ ประมาณ 10-20 เม็ด ตัวเสื้อเย็บเข้ารูป คอตั้งไม่มีปกแบบ คอเสื้อจีน จ๊ำเอวและใช้ผ้าเสริมตะเข็บทั้งสองข้างใต้เอวให้ชายเสื้อถ่างออกตรงรอยผ่า สาบเสื้อด้านล่างแหวกออกให้ห่างกัน เรียกเสื้อแบบนี้ว่า “เสื้อซอน” เสื้อแขนยาวสำหรับชายนี้ใช้ในโอกาสต่าง ๆ ที่เป็นงานพิธี เดินทาง และทำการงานทั่วไป แต่ส่วนใหญ่มักใช้ในงานพิธีมากกว่าการทำงานอยู่กับบ้าน
3) กระเป๋าคาดเอว เป็นเครื่องแต่งกายของชายชิ้นหนึ่งที่มีเอกลักษณ์โดยเฉพาะ ใช้คาดทับนอกเสื้อตรงเอวไว้สำหรับใส่ของใช้ประจำตัวต่าง ๆ เช่น ยาสูบ ไฟจุดยาสูบ หมากพลู เงินสำหรับใช้จ่าย กระเป๋าคาดเอวทำด้วยผ้าสีดำสลับด้วยผ้าสีแดงและเหลือง ปลายสายเย็บกลึง ให้กลมเรียวเล็กตอนปลายมีภู่ทำด้วยด้ายสีต่าง ๆ ทั้งสองปลาย ตรงกลางสายเป็นผ้าตัดเย็บ เป็นที่ใส่ของคล้ายกระเป๋าหนังมีฝาปิด และมีผ้าสีเย็บติดประดับอย่างสวยงาม เมื่อคาดเอว แล้วกระเป๋าจะแนบชิดกับเอว เสมือนผ้าผูกเอวชิ้นหนึ่งที่มีกระเป๋าติดอยู่เช่นเดียวกับกระเป๋าคาดเอวสำหรับใส่แว่นตาของวัยรุ่นสมัยปัจจุบันนี้
4) เสื้อฮีชาย เป็นเสื้อชุดใหญ่หรือชุดพิเศษสำหรับงานพิธีในประเพณีโดยเฉพาะ เช่น ใช้ประกอบพิธีเซ่นผีเรือน แต่งงาน งานศพ ตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายสีดำประดับตกแต่งด้วยเศษผ้าไหมชิ้นเล็ก ๆ สีแดง ส้ม ขาว เขียว ตรงสาบ ชายเสื้อ ปลายแขน และใต้รักแร้ และเหนือรอยผ่าด้านข้างทั้งสองข้าง ลักษณะของเสื้อฮีชายเป็นเสื้อคลุมยาวถึงเข่า ผ่าหน้าป้ายทับไปทางซ้ายแล้วมีกระดุมติดที่หน้าอกและเอว คอตั้งกุ้นด้วยผ้าสีไม่มีปก แขนเสื้อยาวแคบตะเข็บเสื้อด้านข้าง
ทั้งสองข้างตั้งแต่รักแร้ลงมาถึงชายเสื้อด้านล่าง มีการตกแต่งด้วยเศษผ้าสีเป็นลวดลาย และปัก ด้วยไหมสีต่าง ๆ เป็นลวดลาย และมีกระจกประดับที่ลายด้วย ด้านในของเสื้อฮีชายเมื่อกลับออกมาจะเป็นด้านที่มีสีสันหลากสี เพราะมีการตกแต่งด้วยผ้าสีต่าง ๆ ในบริเวณสาบ ชายเสื้อและปลายแขนเสื้อด้านในของเสื้อนี้จะนำออกมาใช้ก็ต่อเมื่อตนเองตาย โดยการที่ญาติสวมใส่ให้เป็นการแต่งตัวศพผู้ตายเท่านั้น เสื้อฮีนี้เมื่อใช้แล้วมักจะไม่มีการซัก เพราะถ้าซักน้ำอาจทำให้สีตก ลวดลายอาจหม่นหมองไม่สวย เพียงแต่ผึ่งแดดเท่านั้น นอกจากนั้น ในการใช้ก็จะต้องมีเสื้อเชิ้ตหรือเสื้อ อื่น ๆ สวมใส่อยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น เสื้อฮีจึงเป็นเสมือนเสื้อนอกที่ใช้ในโอกาสสำคัญ ๆ เท่านั้น ผู้ชายทุกคนจะต้องมีเสื้อฮีประจำตัวอย่างน้อย 1 ตัว ซึ่งผู้เป็นมารดาหรือภรรยาเป็นผู้ตัดเย็บให้
5) เครื่องใช้อื่น ๆ ที่ผู้ชายใช้กับร่างกาย ได้แก่
- งอบสานด้วยไม้ไผ่ รูปทรงเหมือนงอบใบลานของไทย ใช้ในพิธีแต่งงาน ทำงานนอกบ้าน เดินทาง
- ย่ามผ้า ตัดเย็บด้วยผ้าสีลักษณะเช่นเดียวกับย่ามของไทย ใช้ในพิธีแต่งงานเท่านั้น
- มีดเหน็บมีฝัก เป็นมีดขนาดใหญ่เท่ามีดโต้ แต่ปลายแหลมมีฝัก และสายสะพายใช้ในพิธีแต่งงานและเดินทาง มีประโยชน์ในการตัดไม้ จักตอก ป้องกันตัว ฯลฯ
การแต่งกายของหญิง
1) ผ้าซิ่น
หญิงตามปกติจะนุ่งผ้าซิ่นแบบเดียวเท่านั้นตลอดไป ผ้าซิ่นของไทดำนี้ เป็นผ้าถุงสีดำ พื้นมีลายเป็นเส้นสีขาวขนาดเล็ก ๆ ยาวตามแนวตั้ง ทอด้วยเส้นด้ายสีดำสลับเส้นด้ายสีขาว หรือฟ้าอ่อนเป็นลาย ผ้าซิ่นผืนหนึ่งมีการตัดเย็บเป็นพิเศษไม่เหมือนกับผ้าถุงทั่ว ๆ ไป คือ ประกอบด้วยผ้า 3 ชิ้นต่อกัน ชิ้นที่ 1 อยู่ท่อนบนสุดของผ้าซิ่น เป็นผ้าสีดำล้วนไม่มีลวดลาย ยาวประมาณ 12 นิ้ว เย็บติดกับชิ้นที่ ๒ ซึ่งเป็นตัวซิ่น ตัวซิ่นนี้เป็นผ้าพื้นดำทอลายสีขาวเป็นทางลงกว้างประมาณ 0.1 ซม. ถึง 0.5 ซม. ลายเส้นสีขาวแต่ละเส้นห่างกันประมาณ 1-2 นิ้ว สลับกันระหว่างเส้นใหญ่และเส้นเล็ก ลายเส้นใหญ่คู่กัน หมายถึงชาวไทยและชาวลาวเคยเป็นพี่น้องกัน ลายเส้นเล็กและเส้นใหญ่เดี่ยว หมายถึง การแยกย้ายจากกัน ลายเป็นทางยาว ๆ นี้ มักจะเรียกว่า ลายแตง หรือแตงโม ส่วนชิ้นที่ 3 เป็นผ้าแถบมีความกว้าง 1 นิ้ว ยาวรอบตัวซิ่น เย็บติดอยู่ ตอนปลายสุดของตัวซิ่น เรียกว่า ตีนซิ่น ผ้าแถบส่วนนี้เป็นลวดลายที่ทอขึ้นทั้งชิ้น มีลายละเอียด เป็นทางสีขาว ๆ ยาวตลอดเส้น 2-3 ทาง สีดำ–ขาว ตีนซิ่นนี้ถ้าสามีตายจะต้องเลาะออกเป็นการไว้ทุกข์จนกว่าจะออกทุกข์จึงนำมาเย็บติดใหม่
วิธีนุ่งซิ่น จะหยิบขอบของซิ่นทั้งด้านซ้ายและขวาป้ายให้มาทับกันตรงกลางเอว แล้วพับขอบลงมาม้วนกับเข็มขัดเงิน ชายผ้าซิ่นจะคลี่ออกทำให้ชายซิ่นด้านหน้าเผยอสูงกว่าด้านหลัง สะดวกในการก้าวเดิน ผ้าซิ่นของไทดำนี้มีแบบเดียวเท่านั้น ไม่มีแบบอื่นหรือลายอื่นเลย และใช้ได้ทุกโอกาส
2) เสื้อก้อม
เสื้อก้อมหญิง เป็นเสื้อแขนยาวทรงกระบอก ตัวเสื้อเย็บเข้ารูป คอตั้งผ่าหน้าตลอดติดกระดุมเงินถี่ ๆ เรียงกัน 10 เม็ด เป็นฝ้ายทอด้วยมือแล้วย้อมสีดำ เสื้อก้อมนี้เป็นเสื้อใช้ใส่ในโอกาสต่าง ๆ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน เดินทาง งานรื่นเริง หรืองานพิธีต่าง ๆ และเป็นเสื้อประจำตัวของหญิง
3) เสื้อฮี (หญิง)
เป็นเสื้อคลุมยาวถึงเข่า แขนยาวกว้าง คอแหลม ไม่ผ่าไหล่ สวมศีรษะ เวลาใช้มีสาบเป็นผ้าแพรหรือไหมสีดำกว้าง 1 คืบ ตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายสีดำทั้งตัว เหนือขอบปลายแขนขึ้นมา 2 นิ้ว มีลวดลายรอบแขนทำด้วยเศษผ้าไหมสีต่าง ๆ ที่ด้านหน้าของตัวเสื้อจากไหล่ลงมาถึงหน้าอกประดับลายด้วยเศษผ้าไหมสีแดง เหลือง เขียว ขาว เป็นแถบลงมารูปสามเหลี่ยม ฐานกว้าง 1.5 นิ้ว สูง 8 นิ้ว ยอดแหลมจรดตะเข็บบ่า ด้านในของตัวเสื้อประดับลวดลายด้วยเศษผ้าสีต่าง ๆ ตรงบริเวณสาบหน้า ปลายแขน ตะเข็บ และชายล่างของเสื้อ เสื้อด้านในนี้จะใช้ต่อเมื่อตัวเองตายลงเท่านั้น เสื้อฮีนี้ใช้ใส่ในงานประเพณีสำคัญ ๆ เช่น ตัวเองแต่งงาน งานศพของญาติสามี เสนเรือนบ้านตนเอง และบ้านญาติ และใส่ไปเล่นคอน ฟ้อนแคน โยนลูกช่วงของหนุ่มสาว
4) ผ้าแถบคาดหน้าอกหรือผ้าฮ่างนม
เป็นผ้าแถบผืนยาวประมาณ 2 เมตร กว้าง 50 เซนติเมตร สีดำ ไม่มีลวดลาย ใช้สำหรับพันรอบหน้าอกสำหรับอยู่กับบ้าน คู่กับนุ่งผ้าซิ่น
5) ผ้าเปียว
เป็นผ้าแถบสีดำกว้าง 20-30 เซนติเมตร ยาวประมาณ 150 เซนติเมตร ที่ชายผ้าทั้งสองแถบปักลวดลายด้วยไหมเป็นลายเส้นสีแดง สีส้ม เขียว ใช้สำหรับห้อยคอพาดบ่าหญิงสาวไปงานรื่นเริง คนแก่ใช้ผ้าเปียวเป็นผ้าสไบเฉียงเวลาไปทำบุญ นอกจากนี้ยังมีผ้าเปียว สีอื่น ๆ หลากสี ทำด้วยแพรยาวประมาณ 2 เมตร ขนาดเดียวกัน ใช้พาดบ่าผูกคอหรือห้อย ปล่อยชายให้ยาวลงมาถึงเข่าคู่กับเสื้อผ้าชุดต่าง ๆ ของหญิงสาวในงานรื่นเริง
6) เสื้อชั้นในอยู่กับบ้าน
เป็นเสื้อไม่มีแขน คอกลมลึก ผ่าหน้า ติดกระดุม 5 เม็ด ยาวแค่เอว สีดำ เย็บตะเข็บเข้ารูป หญิงชราใช้ใส่อยู่กับบ้านและงานที่ไม่สำคัญนัก
7) เครื่องประดับของสตรีชาวไทดำ
มักจะเป็นเครื่องเงินมากกว่าทอง ได้แก่ เข็มขัด กำไลข้อเท้า กำไลข้อมือ ต่างหู และปิ่นปักผม
การตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของชาวไทดำนี้ สตรีเป็นผู้ทำ ตั้งแต่ปั่นฝ้าย ให้เป็นเส้นด้าย ย้อมสีครามหรือ “ฮ่อม” นำมาทอเป็นผืนตัดและเย็บด้วยมือทั้งสิ้น
สำหรับผ้าไหม ชาวไทดำมีการทอผ้าด้วยเส้นไหมเหมือนกันแต่น้อย ซึ่งจะทำไว้ใช้เฉพาะงานสำคัญ ๆ และนำผ้าไหมมาตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ประดับบนผ้าฝ้ายเท่านั้น ไม่นำผ้าไหมมาทำเสื้อผ้าเลย
การแต่งกายของเด็ก
เด็กเล็ก ๆ มักใช้ผ้าผืนหนึ่งปิดหน้าอกหน้าท้อง มีสายโยงไปข้างหลังผูกมัดกันไว้ ผ้าเช่นนี้คนจีนเรียกกันว่า ผ้าเอี๊ยม เด็กส่วนมากมักไม่นุ่งกางเกง เพราะเกรงว่าจะถ่ายอุจจาระเปื้อน
เด็กไทดำมีหมวกแปลกกว่าเด็กอื่น ๆ ทำด้วยผ้าสีดำ ลักษณะคล้ายถุงผ้า ไม่มี ปีกหมวกด้านหน้า หมวกปักเป็นลวดลายด้วยไหมหรือด้ายสีสวยงาม ไทดำเรียกหมวกนี้ว่า “มู”
นอกจากนี้ ยังมีสายสะพายสีดำ เรียกว่า “พลา” เป็นผ้าพันรอบตัวของเด็กแล้วไปคล้องไหล่ของแม่ ทำให้ปลอดภัยเวลาอุ้ม ที่สายสะพายตอนคล้องไหล่ของแม่เรียกว่า “หม้นงอ” มีพญานาค 5 ตัวห้อยอยู่ พญานาคนี้ทำด้วยไม้แล้วหุ้มด้วยผ้า แล้วปักอย่างสวยงาม เข้าใจว่าคงจะให้พิทักษ์รักษาเด็กให้ปลอดภัยจากอันตราย ที่ใกล้พญานาคมีกระเป๋าผ้าเล็ก ๆ เย็บติดเอว กระเป๋านี้เวลาพาเด็กไปไหว้ผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จะใส่สตางค์หรือเครื่องเงินทองในกระเป๋านี้ เป็นการรับขวัญ สายสะพายนี้น่าชมเชยคนริเริ่มทำใช้ เพราะช่วยให้ปลอดภัยในการเดินทาง และเบาแรงคนอุ้มด้วย
ปัจจุบันการแต่งกายของเด็กจะแต่งอย่างเดียวกับเด็กทั่ว ๆ ไป ทั้งนี้เพราะสินค้าด้านเสื้อผ้าของเด็กหาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง ประกอบกับต้องประกอบอาชีพอื่น ๆ ไม่มีเวลาทำเหมือนแต่ก่อน โดยเฉพาะเด็กโตขึ้น ต่างก็เข้าโรงเรียน ไม่มีโอกาสที่จะแต่งตัวแบบเดิมได้
ภาษาชาวของไทดำ
ไทดำมีอักษรและภาษาของตนใช้มาตั้งแต่ครั้งมีถิ่นฐานอยู่สิบสองปันนาแล้ว เมื่ออพยพมาอยู่ในประเทศไทย ก็ได้นำเอาอักษรและภาษาของตนเข้ามาใช้ด้วย เวลาผ่านมา ร้อยกว่าปีที่อยู่ในประเทศไทย ภาษาพูดยังคงใช้กันอยู่ในหมู่คนสูงอายุจนถึงปัจจุบัน ลูกหลานสมัยใหม่จะฟังภาษารู้เรื่องและพูดได้บ้าง ส่วนภาษาเขียนนั้นจะบันทึกไว้ในสมุดไทยต่อ ๆ กันมา โดยเฉพาะเรื่องประเพณีและพิธีต่าง ๆ ตามความเชื่อ ปัจจุบันมีผู้เขียนอักษรไทดำได้น้อยมาก ลักษณะตัวอักษรพอสรุปได้ดังนี้
ชาวไทดำมีสำเนียงพูดคล้ายคลึงกับสำเนียงทางภาคอีสาน และมีบางส่วนใกล้เคียงไปทางภาคเหนือ สำเนียงการออกเสียงสั้นกว่าภาษาไทยภาคกลางเล็กน้อย เช่น คำว่า ออกลูก ไทดำออกเสียงว่า "เอาะละ" คำว่ายาก ออกเสียงว่า "ยะ" รากไม้ออกเสียงว่า "ฮะไม้" คำว่า คอกควาย ออกเสียงว่า "เกาะกวาย" เป็นต้น
ตัวหนังสือคล้ายกับตัวหนังสือลาว และระเบียบของภาษาหรือไวยากรณ์ก็เป็นแบบเดียวกับภาษาไทย การเขียนนิยมเขียนในสมุดพับเป็นชั้น ๆ เช่นเดียวกับสมุดข่อย ภาษาโซ่งหรือภาษาไทดำเป็นภาษาอย่างเดียวกัน จัดอยู่ในตระกูลภาษาไทสาขาตะวันออกเฉียงใต้ หนังสือแบบเรียนภาษาไทยดำที่ใช้เรียนในเวียดนามและที่หมู่บ้านไทดำที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา มีศัพท์และความหมายที่เหมือนกับภาษาไทดำที่ใช้อยู่ในประเทศไทย เช่นคำว่า "บับสือแอบกวามใด" ซึ่งแปลว่าหนังสือหัดอ่านภาษาไทย
ฐานิดา บุญวรรโณ. (2565). เส้นแบ่งและรอยต่อของพื้นที่และเวลาระหว่างผีและคนไทดำในกะล้อห่อง. วารสารมานุษยวิทยา, 5(2), 131-160.
นุกูล ชมพูนิช. (2539). สืบสานวัฒนธรรมและประเพณีชาวไทยโส้งในประเทศไทย. ราชบุรี : เพชรเกษมการพิมพ์
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ. (2550). คู่มือพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
ศรายุธ ปิ่นประทีป. (2551). การศึกษาวิถีชีวิตไทดำ ตำบลวังอิทก อำเภอบางระกำ จังหวัด พิษณุโลก. รายงาน การวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก
องค์การบริหารส่วนตำบลวังอิทก. (2551). เอกสารข้อมูลพื้นฐานตำบลวังอิทก. พิษณุโลก : องค์การบริหารส่วนตำบลวังอิทก
อำนาจ กรมมา. (2550). ฅนราชบุรี. ราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์
กาญจนา จันทร์สิงห์. (13 มิถุนายน 2565). ความเชื่อที่ปรากฏจากอาหารในพิธีกรรมเสนเรือนของชาวไททรงดำ. ฐานข้อมูลท้องถิ่น จังหวัดกำแพงเพชร-ตาก. https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/
ของโปรด Episode ไทยดี. (6 พฤศจิกายน 2567). แอ๊บข้าว. Facebook. https://www.facebook.com/photo/