
บ้านทับยา ชุมชนติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นชุมชนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นด้านเศรษฐกิจเกษตรกรรม วัฒนธรรมประเพณีสำคัญ อย่างงานบุญตามฮีตสิบสอง เช่น บุญข้าวใหม่ งานบุญสารทไทย ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และความเข้มแข็งของชุมชน
"ทับยา" มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ดั้งเดิมชื่อ "ทัพหย่า" ซึ่งหมายถึงการหย่าทัพ หรือการเลิกทัพ ก่อนที่จะมีการเพี้ยนเสียง จนกลายเป็นทับยาในที่สุด ชื่อของทัพหย่า เป็นชื่อเรียกสถานที่ที่อ้างอิงถึงความเป็นมาของสถานที่ที่พม่าหย่าทัพ เป็นเหตุการณ์ในสมัยการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 และเรื่องราววีรกรรมชาวบ้านบางระจัน ทั้งนี้ก็เพราะตำบลทับยามีทำเลที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านบางระจัน
บ้านทับยา ชุมชนติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นชุมชนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นด้านเศรษฐกิจเกษตรกรรม วัฒนธรรมประเพณีสำคัญ อย่างงานบุญตามฮีตสิบสอง เช่น บุญข้าวใหม่ งานบุญสารทไทย ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และความเข้มแข็งของชุมชน
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของเมืองอินทร์บุรี สามารถอนุมานได้ว่าพื้นที่ทับยาอาจจะมีการตั้งรกรากมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากแหล่งโบราณคดีคูเมืองมากนัก การตั้งรกรากของชุมชนโบราณน่าจะอิงอยู่กับแม่น้ำ ประชาชนต้องพึ่งพาแม่น้ำในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการอุปโภคบริโภค การเกษตร การคมนาคม และอื่น ๆ ดังนั้น ในพื้นที่แห่งนี้จึงมีประชาชนอาศัยตลอดมา แม้ในบางช่วงเวลาอาจจะถูกกวาดต้อนเป็นเชลยสงครามไปบ้าง เนื่องจากเป็นเส้นทางการเดินทัพ เป็นพื้นที่เมืองหน้าด่าน ในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
การเริ่มตั้งชุมชนในพื้นที่ตำบลทับยาน่าจะมีมาโดยต่อเนื่องหลังจากเหตุการณ์การเสียกรุงฯ เมื่อบ้านเมืองสงบจากการศึก ชาวบ้านที่หนีภัยเข้าป่าก็เริ่มต้นกลับมาตั้งรกรากในพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง และพื้นที่ริมน้ำก็เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดในการตั้งชุมชน
เมื่อดูจากประวัติศาสตร์ของตำบลทับยา จะพบว่าแม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็นเงื่อนไขหลักในการเลือกทำเลที่ตั้งรกราก แม่น้ำมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชุมชนโบราณ แม่น้ำเจ้าพระยากับชาวทับยาก็เช่นเดียวกัน เจ้าพระยาเป็นเส้นทางคมนาคม ชาวบ้านจึงหันหน้าบ้านลงน้ำ วัดซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ท่าน้ำของวัดคือ ท่าหน้าวัด
การทำนา ในอดีตก็ได้พึ่งพา "บาง" หรือคลองที่ต่อเนื่องกับเจ้าพระยาที่จะนำน้ำกระจายออกสู่ท้องทุ่งในฤดูน้ำหลาก "ลำแม่ลา" เริ่มมีผู้คนตั้งถิ่นฐาน เมื่อบริเวณริมเจ้าพระยาเริ่มหนาแน่น พร้อม ๆ กับชื่อเสียงของปลาแม่ลา ผู้คนพึ่งพิงแม่ลาในทุกด้านเช่นกัน "คลองบรมธาตุ" จุดเปลี่ยนอันสำคัญยิ่งเริ่มต้นที่คลองชลประทานที่เข้ามาสู่ชุมชนในต้นทศวรรษ 2500
ชุมชนบ้านทับยาอยู่ห่างจากตัวอำเภออินทร์บุรีประมาณ 6 กิโลเมตร มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม เหมาะสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่มีรายได้จากการรับจ้าง โดยการทำเกษตรกรรมมีเพียงบางส่วนเท่านั้น สภาพความเป็นอยู่เรียบง่าย มีความพร้อมทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข สาธารณูปโภคต่าง ๆ รวมไปถึงด้านศาสนา ซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านในชุมชน
การไฟฟ้าภายในหมู่บ้าน มีไฟฟ้าใช้ครบทุกหลังคาเรือน โดยในหมู่ที่ 6 บ้านทับยา มีจำนวนไฟฟ้า 96 โคม ระบบประปาหมู่บ้านมีจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ บ้านนายไมตรี อิ่มแก้ว 1 แห้ง วัดยาง 3 แห่ง บ้านนางประมวล ยิ้มย่อง 1 แห่ง และที่วัดธรรมจักรสิทธิราม 1 แห่ง
ชุมชนบ้านทับยา หมู่ที่ 6 มีพื้นที่รวมทั้งหมด 1,718 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยจำนวน 135 ไร่ พื้นที่ทางการเกษตร 1,583 ไร่ และพื้นที่ทำนา 1,316 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปแบ่งเป็น 3 ฤดู คือ
- ฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน
- ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม
- ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มกราคม
ประชากรในชุมชนทับยาตามข้อมูลจากเทศบาลตำบลทับยาเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 350 ครัวเรือน เป็นเพศชาย 350 คน และเพศหญิง 291 คน ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนไทยภาคกลาง รองลงมาคือชาวไทยเชื้อสายลาวและมอญ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการตั้งถิ่นฐานในจังหวัดสิงห์บุรีมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะกลุ่มลาวเวียงและลาวพวนที่อพยพมาตั้งแต่สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ระบบเครือญาติของชุมชนทับยาเป็นแบบเครือญาติขยาย (Extended Family) ประกอบไปด้วย ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูก และญาติพี่น้อง ที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดกัน และมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือการแต่งงาน ทำให้เกิดความร่วมมือกันในชีวิตประจำวัน แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่คนหนุ่มสาวย้ายไปทำงานในเมือง ทำให้เกิดครอบครัวเดี่ยว (Nuclear Family) มากขึ้น รูปแบบการช่วยเหลือกันยังคงมีอยู่ แต่มีลักษณะเป็นการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย
ไทยพวน, มอญ, ลาวเวียงประชาชนในชุมชนทับยา ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง และอาชีพรองลงคือ เกษตรกรรม รับราชการ ค้าขาย พนักงานรัฐวิสาหกิจ และประกอบธุรกิจส่วนตัว โดยในชุมชนมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอย่างหลากหลายตามความถนัดของตน เช่น กลุ่มอาชีพการประดิษฐ์กะลาไม้แขวน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน
มกราคม-กุมภาพันธ์
- วันขึ้นปีใหม่ : ทำบุญตักบาตรเพื่อความเป็นสิริมงคล และจัดกิจกรรมรื่นเริงในชุมชน
- งานบุญประจำปีของวัน : งานปิดทองฝังลูกนิมิตร งานทอดผ้าป่า
- การเตรียมตัวทำนาปรัง : ชาวบ้านเตรียมแปลงนาเพื่อทำนาปรัง
มีนาคม-เมษายน
- งานบุญข้าวจี่ : นำข้าวจี่ถวายพระเป็นพุทธบูชา
- เทศกาลสงกรานต์ : ทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในหมู่บ้าน และเล่นน้ำสงกรานต์
พฤษภาคม-มิถุนายน
- วันวิสาขบูชา : ทำบุญ เวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
- ประเพณีบุญบั้งไฟ (จัดขึ้นในบางปี) : จุดบั้งไฟเพื่อขอฝนสำหรับการเพาะปลูก
- เริ่มต้นฤดูทำนา (นาแรก) : เริ่มมีการไถหว่าน เตรียมปลูกข้าว
กรกฎาคม-สิงหาคม
- ประเพณีเข้าพรรษา : ทำบุญถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนให้พระสงฆ์
- วันอาสาฬหบูชา : เวียนเทียนและฟังเทศน์ที่วัด
- การดูแลต้นข้าวในนา : เกษตรกรใส่ปุ๋ยและกำจัดศัตรูพืช
กันยายน-ตุลาคม
- งานบุญสารทไทย (บุญข้าวสาก) : เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ
- เทศกาลกินเจ : งดเว้นเนื้อสัตว์ รักษาศีล
- เทศกาลออกพรรษาและตักบาตรเทโว : พระสงฆ์ออกพรรษา ทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง
พฤศจิกายน-ธันวาคม
- ลอยกระทง : ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ชาวบ้านทำกระทงลอยแม่น้ำ เพื่อขอขมาและบูชาพระแม่คงคา
- ฤดูเก็บเกี่ยว : เริ่มลงแขกเกี่ยวข้าว โดยความร่วมมือกันในชุมชน
- งานกฐินและงานผ้าป่า : ทำบุญทอดกฐินที่วัดในหมู่บ้าน
- ฉลองปีใหม่ : ชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อสังสรรค์และร่วมกันทำบุญส่งท้ายปี
1.นายทวี สีตะโรโส เชี่ยวชาญด้านศิลปะการแทงหยวกกล้วย
2.นางอุทัย สกูลวิวัฒ เชี่ยวชาญด้านศิลปะการแกะสลักกะลามะพร้าวด้วยมือ
3.นายไมตรี อิ่มแก้ว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 บ้านทับยา
4.นายนิพนธ์ สีตะระโส นายกเทศมนตรีตำบลทับยา
5.พระอธิการนัฐพล สุนฺทโร เจ้าอาวาสวัดยาง หมู่ที่ 6 ตำบลทับยา
บ้านทับยา ตำบลทับยา อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี มีพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์มีแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีแหล่งน้ำใช้ในการเพาะปลูกและประมงพื้นบ้าน มีปลา กุ้ง และสัตว์น้ำจืดที่ช่วยเสริมอาชีพประมงพื้นบ้าน นอกจากนี้บ้านทับยายังมีภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางเศรษฐกิจของชุมชน เช่น ผลิตภัณฑ์ OTOP และสินค้าชุมชน ผลิตภัณฑ์เครื่องจักสาน ตลาดชุมชนและการค้าขายในท้องถิ่นที่เป็นศูนย์กลางของการค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้า
นอกจากนี้ยังมีศาสนสถานที่สำคัญอย่าง วัดยาง ที่ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 6 ตำบลทับยา อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี วัดถูกสร้างขึ้นราว พ.ศ. 2430 โดยภายในวัดมีทั้งปูชนียวัตถุ ถาวรวัตถุ และมีพระอุโบสถ สร้างในปี พ.ศ. 2511-2517 มีลักษณะทรงไทยพระพุทธรูปหลวงพ่อขาวปางมารวิชัย มีวิหาร หอระฆัง ธรรมาสน์ กุฏิสงฆ์ หอสวดมนต์ ศาลาบำเพ็ญกุศล
ประชากรในชุมชนทับยาส่วนใหญ่พูดภาษาไทยกลาง แต่บางครอบครัวยังมีการพูดภาษาลาวเวียงหรือลาวพวนในกลุ่มผู้สูงอายุ
เดิมทีบ้านทับยามีการปกครองเป็นรูปแบบของสภาตำบล และได้ถูกยกฐานะขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล โดยมีหลักเกณฑ์ในการยกฐานะดังนี้ สภาตำบลใดที่มีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกัน 3 ปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 150,000 บาท ให้ยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป และมีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ทั้งเป็นนิติบุคคล ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยนายเสนาะ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2539 โดยมีผลสมบูรณ์เมื่อครบกำหนด 60 วัน คือในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 และองค์การบริหารส่วนตำบลทับยาได้ถูกจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลชั้น 5 และได้เปลี่ยนแปลงเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดเล็ก องค์การบริหารส่วนตำบลทับยาได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาท้องถิ่นในด้านคุณภาพชีวิต พัฒนาศักยภาพการผลิต การจัดระบบสาธารณูปโภค การศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนในการดำเนินงานทุกด้านนั้นมาจากความต้องการของประชาชนทั้งสิ้น
โครงสร้างเศรษฐกิจดั้งเดิมของบ้านทับยามีการประกอบอาชีพด้านการเกษตรเป็นหลัก เนื่องจากพื้นที่อยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เหมาะแก่การปลูกข้าว และการประมงพื้นบ้าน มีการจับปลาตามแม่น้ำลำคลองในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีหัตถกรรมและอาชีพเสริม เช่น การทอผ้า จักสาน และทำขนมพื้นบ้านขาย ปัจจุบัน เทคโนโลยีการเกษตรเข้ามามีบทบาท มีการใช้เครื่องจักร เช่นรถไถ เครื่องสีข้าว ทำให้ลดแรงงาน มีการนำปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงมาใช้ในการทำเกษตรมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่บางครัวเรือนยังมีการใช้วิธีเกษตรแบบอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และด้วยความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยคนสมัยใหม่นิยมออกไปทำงานภายนอกพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานคร อยุธยา และจังหวัดอื่น ๆ เหลือแต่ผู้สูงอายุและเด็ก ทำให้แรงงานภาคการเกษตรลดลง มีร้านสะดวกซื้อและตลาดนัดเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงธุรกิจท้องถิ่นและการค้าขายมากขึ้น มีการเปิดร้านค้า ร้านอาหาร และธุรกิจขนาดเล็กในชุมชน การค้าขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการใช้จ่าย และสินค้าพื้นบ้านสามารถเข้าถึงตลาดกว้างขึ้น
แนวโน้มในอนาคตจะมีการพัฒนาชุมชนโดยเน้นไปที่เศรษฐกิจพอเพียง และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเกษตร เช่น Smart Farming อาจช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต แรงงานในท้องถิ่นอาจลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ธุรกิจภาคบริการและค้าขายมีแนวโน้มเติบโตชึ้น
ในอดีตชาวบ้านใช้น้ำจากแม่น้ำ คลอง บ่อน้ำบาดาลและน้ำฝนเป็นหลัก ถนนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็นทางดินและลูกรัง ในฤดูฝนเดินทางค่อนข้างลำบากและมีการเดินทางด้วยเรือเนื่องจากชุมชนอยู่ใกล้แม่น้ำ ด้านการสื่อสารยังไม่มีโทรศัพท์พื้นฐานใช้กันทุกหลังคาเรือน คนในชุมชนใช้วิธีฝากข่าวทางวิทยุชุมชนหรือเดินทางไปแจ้งข่าวสารด้วยตัวเอง ในปัจจุบันชุมชนบ้านทับยามีไฟฟ้าใช้ครบทุกหลังคาเรือน แต่ยังมีบางพื้นที่ยังมีปัญหาไฟฟ้าตกหรือไฟดับในบางช่วง มีระบบน้ำประปาหมู่บ้าน การคมนาคมสะดวกขึ้นเนื่องจากถนนหลักในหมู่บ้านถูกพัฒนาเป็นถนนลาดยางหรือถนนคอนกรีต มีรถโดยสารประจำทางและรถรับจ้างให้บริหาร ทำให้สามารถเดินทางไปยังตัวอำเภออินทร์บุรีหรือพื้นที่อื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตครอบคลุม ทำให้ชาวบ้านติดต่อสื่อสารกันได้สะดวกขึ้น และในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนออนไลน์และทำธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม เช่น ถนนคอนกรีต ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ และระบบระบายน้ำ มีการวางแผนจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม โดยการจัดโครงการรไซเคิลหรือการนำขยะมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์
ในอดีตชาวบ้านพึ่งพาสมุนไพรและหมอพื้นบ้านในการรักษาโรคเบื้องต้น เช่น ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน และพืชสมุนไพรในท้องถิ่น การเข้าถึงบริการทางการแพทย์จำกัด ชาวบ้านต้องเดินทางไปโรงพยาบาลในตัวอำเภอหรือตัวจังหวัดหากเจ็บป่วยรุนแรง พบโรคระบาดและภาวะขาดสารอาหาร เช่น ไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออก โรคบิด บ้านเรือนบางส่วนยังไม่มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะ และขยะมักถูกกำจัดด้วยการเผาหรือทิ้งลงแม่น้ำ อัตราการเกิดสูงเนื่องจากการวางแผนครอบครัวยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ในปัจจุบันมีการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ดีขึ้น มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือสถานีอนามัยที่ให้บริหาร มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ทำให้ชาวบ้านได้รับการรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก มีการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) คอยให้ความรู้ด้านสุขภาพ และดูแลผู้สูงอายุ เฝ้าระวังโรคติดต่อ มีโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคในเด็ก โครงการส่งเสริมสุขภาพอื่น ๆ เช่น การออกกำลังกาย การตรวจสุขภาพประจำปี และมีแนวโน้มในการพัฒนาโครงการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในอนาคต
โรงเรียนส่วนใหญ่ในชุมชนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนประถมศึกษา การเรียนการสอนเน้นการอ่านออกเขียนได้ และเกษตรพื้นบ้าน มีการใช้ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ถ่ายทอดความรู้ด้านหัตถกรรม ทำนา และวัฒนธรรมพื้นบ้าน ต่อมามีโครงการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น โครงการเรียนฟรี 15 ปี และกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เยาวชนมีโอกาสเรียนต่อระดับอุดมศึกษามากขึ้น ในยุคของเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาททางการศึกษา โรงเรียนในชุมชนมีการนำคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตใช้ในการเรียนการสอน นักเรียนสามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Youtube, Google, Classroom และ Zoom แต่ด้วยอัตราการเกิดลดลง ส่งผลให้จำนวนเด็กนักเรียนลดลงอย่างต่อเนื่อง ครอบครัวบางส่วนย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมือง ทำให้เด็กย้ายไปเรียนที่อื่น และในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงด้านหลักสูตรและแนวทางการเรียนรู้ โดยเน้น Stem Education (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) และมีการบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่น เข้ากับการเรียนรู้ เช่น การทำเครื่องจักสาน การปลูกข้าวแบบอินทรีย์
แนวโน้มในอนาคตเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการเรียนการสอน การเรียนรู้นอกห้องเรียนจะได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น การศึกษาผ่านโครงการฝึกงาน และการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในชุมชน รวมไปถึงทักษะด้านอาชีพและการประกอบธุรกิจจะได้รับการส่งเสริมมากขึ้น เพื่อลดอัตราการว่างงานของเยาวชน
ในอดีตวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ชาวบ้านเข้าวัดทำบุญ และร่วมกิจกรรมทางศาสนาเป็นประจำ ประเพณีท้องถิ่นเข้มแข็ง มีงานบุญประจำปี มีการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย มีการละเล่นพื้นบ้านและศิลปวัฒนธรรม เช่น ลิเก เพลงพื้นบ้าน และการละเล่นในงานบุญ แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่เข้าวัดน้อยลง เนื่องจากวิถีชีวิตเร่งรีบและการทำงานในเมือง บทบาทพระสงฆ์ยังคงมีอยู่ แต่ลดลงเมื่อเทียบกับอดีต งานบุญและเทศกาลสำคัญใหญ่ ๆ ยังคงมีอยู่แต่มีคนเข้าร่วมน้อยลง การทำบุญบางอย่างต้องปรับให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ เช่น การประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ วัฒนธรรมการทำบุญแบบดั้งเดิม เช่น การนำข้าวปลาไปถวายพระ เริ่มถูกทดแทนด้วยการทำบุญผ่านช่องทางออนไลน์ รวมไปถึงวัฒนธรรมด้านอาหารและการแต่งกายก็มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมภายนอกตามสมัยนิยม
แนวโน้มในอนาคต คาดว่ามีความพยายามจากวัด ผู้นำชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่นในการอนุรักษ์วัฒนธรรม เช่น การจัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมให้เยาวชนเข้าร่วม การผสมผสานวัฒนธรรมดั้งเดิมกับเทคโนโลยี เช่น การถ่ายทอดพิธีกรรมผ่านออนไลน์ หรือการใช้โซเชียลมีเดียเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่น
บ้านทับยาเคยเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำนา ทำให้ชาวบ้านสามารถทำเกษตรโดยวิถีดั้งเดิม เช่น การไถนาโดยใช้ควาย มีแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ลำคลองและแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สามารถใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรกรรมและอุปโภคบริโภค ต่อมาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติมีการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงมากขึ้น ส่งผลให้ดินเสื่อมสภาพและสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ พื้นที่เกษตรกรรมบางส่วนประสบปัญหาดินเค็มและดินแข็งตัว ทำให้ผลผลิตลดลง ชาวบ้านบางกลุ่มจึงหันมาใช้เกษตรอินทรีย์
แนวโน้มในอนาคตคาดว่าจะมีการส่งเสริมให้ใช้เกษตรอินทรีย์และลดการใช้สารเคมี วางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน อาจต้องพึ่งพาอ่างเก็บน้ำหรือขุดลอกคลองเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำสำรอง มีการรณรงค์ลดขยะและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยสนับสนุนให้มีการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และร่วมกันปลูกป่าไม้ริมคลองและพื้นที่ว่างเปล่าเพื่อความยั่งยืนในอนาคต
เนื่องจากชุมชนทับยามีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ทำให้ได้รับอิทธิพลจากลาวและมอญในด้านของวัฒนธรรมอาหาร เช่น ข้าวแรมฟืน (อาหารลาวพวน) แกงหน่อไม้ใส่ใบย่านาง, ข้าวปุ้น(ขนมจีนลาว) และในโอกาสพิเศษ เช่น งานบุญหรือเทศกาลสำคัญของชุมชน ชาวลาวเวียงและลาวพวนจะสวมผ้าซิ่นลายดั้งเดิม
คณะกรรมการประสานงานแผนฯระดับจังหวัด จังหวัดสิงห์บุรี. (2559). กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตจังหวัดสิงห์บุรี พ.ศ. 2559. สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2568, https://www.singburipao.go.th
ประทุมพร แก้วรอด. (2556). วัดพระนอน. สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2568, http://m-culture.in.th
เทศบาลตำบลทับยา. (2562). สภาพทั่วไป. สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม 2568, https://www.thapya.go.th
เทศบาลตำบลทับยา. (2562). สภาพสังคม. สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม 2568, https://www.thapya.go.th
สำนักงานจังหวัดสิงห์บุรี. (2558). ข้อมูลพื้นฐานอำเภออินทร์บุรี. สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม 2568, https://www.singburi.go.th
ฝ่ายเลขานุการ ก.บ.จ.สำนักงานสิงห์บุรี. (2563). แผนพัฒนาจังหวัด พ.ศ.2561-2565 จังหวัดสิงห์บุรี. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2568, https://www.singburi.go.th