ตลาดแห่งการค้าขาย สัตว์น้ำชุกชุม เกษตรดีเด่น
"บ้านยะต๊ะ" เป็นการตั้งชื่อตามลักษณะของพื้นที่ที่ทอดยาวโดยไม่มีขอบเขต และต่อมาได้มีการตัด แยกส่วนของพื้นที่ดังกล่าวเป็นช่วง ๆ และเรียกพื้นที่นี้ว่า "ยะต๊ะ" ซึ่งเป็นภาษามาลายู คือ “จือตะ” ซึ่งแปลว่าตัดเป็นช่วง ๆ ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น "ยะต๊ะ"
ตลาดแห่งการค้าขาย สัตว์น้ำชุกชุม เกษตรดีเด่น
"บ้านยะต๊ะ" เป็นการตั้งชื่อตามลักษณะของพื้นที่ที่ทอดยาวโดยไม่มีขอบเขต และต่อมาได้มีการตัด แยกส่วนของพื้นที่ดังกล่าวเป็นช่วง ๆ และเรียกพื้นที่นี้ว่า "ยะต๊ะ" ซึ่งเป็นภาษามาลายู คือ “จือตะ” ซึ่งแปลว่าตัดเป็นช่วง ๆ ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น "ยะต๊ะ" ปัจจุบันบ้านยะต๊ะ อยู่ในเขตหมู่ที่ 1 ต.ยะต๊ะ มีการเรียกชื่อตามกลุ่มบ้านที่ได้ตัดช่วง ๆ จำนวน 6 คุ้มบ้าน ซึ่งจะเรียกชื่อตามลักษณะของพื้นที่ ผู้นำหรือชื่อต้นไม้ที่มีมากในสมัยนั้น ๆ ดังนี้
- คุ้มที่ 1 บ้านกำปงปาแย เดิมที่เป็นบ้านเดียวกับบ้านยะต๊ะ เนื่องจากซึ่งมีพื้นที่กว้างมาก และในพื้นที่นี้มีอาชีพทำนาและพื้นที่การทำนาจะอยู่ตรงกลางหมู่บ้าน ต่อมาจึงแยกออกเป็นอีกบ้านใหม่ เรียกว่า "บ้านกำปงปาแย"
- คุ้มที่ 2 บ้านบาโงโด๊ะ แต่เดิมนั้นเรียก "บ้านอาเหอูโตะ" เป็นพื้นที่สูงและเกิดการพังทลายของน้ำจนเป็นที่ราบ (อาเห แปลว่า น้ำ อูโต๊ะ แปลว่า พังทลาย ซึ่งแปลรวมกันว่าพื้นที่ที่พังทลายจากน้ำ) หลังจากนั้นได้มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเข้าไปตั้งรกรากและอาศัยอยู่ เขาจึงเรียกชื่อใหม่ว่า "บ้านบาโงโด๊ะ" (บาโงแปลว่าที่สูง โด๊ะ แปลว่าอาศัยอยู่) จนถึงปัจจุบัน
- คุ้มที่ 3 บ้านบือแนซือมิ ตั้งชื่อตามผู้ที่ไปบุกเบิกและอาศัยอยู่ซึ่งพื้นที่นี้เป็นที่ราบและมาทำนาเป็นครั้งแรก (บือแน แปลว่า ที่นา ซือมิ เป็นชื่อของผู้บุกเบิก)
- คุ้มที่ 4 บ้านกามูติง เรียกชื่อตามพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่มีลักษณะลูกกลม ๆ ข้างในมีเมล็ด ถ้าสุกจะมีสีดำออกม่วงแต่ถ้าดิบจะมีสีเขียว สามารถกินได้รสชาติขมฟากและออกหวานนิด ๆ ลักษณะของต้นไม่สูงนักใบกลม ๆ เรียว ๆ ลักษณะคล้ายดอกไม้ (คล้าย ๆ ลูกขบ)ซึ่งจะขึ้นเต็มในพื้นที่นี้
- คุ้มที่ 5 บ้านปาแลฮีเล เนื่องจากว่า ปาแล นั้นเรียกตามชื่อของผู้นำการบุกเบิกและที่นับถือของชุมชน จะเรียกว่า "ปะแล" ต่อมาเพี้ยนเป็น "ปาแล ฮีเล" หมายถึงทางทิศใต้
- คุ้มที่ 6 บ้านบาโงตือมุ จะเรียกตามพื้นที่ที่เป็นพื้นที่สูง ต่อมามีการเดินทางไปมาหาสู่กันและใช้เส้นทางของพื้นที่สูงโดยการทะลุเพื่อการเดินทางสะดวกและเร็วขึ้นจึงเรียนว่า "บาโงตือมุ" (บาโง แปลว่าพื้นที่สูง ตือมุ แปลว่า ทะลุ)
ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีความอุมดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ จากการขยายตัวของจำนวนประชากร ทำให้มีการขยายตัวของบ้านเรื่อนเพิ่มมากขึ้น พื้นที่การเกษตรและทุ่งนา จึงถูกพัฒนาเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของคนในชุมชน สภาพโดยรวมทั่วไปยังพอมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ส่วนที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมส่วนมากจะอยู่ในพื้นที่ บ้านยะต๊ะห่างออกจากเทศบาลตำบลโกตาบารูประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองยะลา ประมาณ 20 กิโลเมตร การเดินทางสามารถเดินด้วยรถส่วนบุคคล รถโดยสาร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลกาลูปัง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 บ้านอูแบ ตำบลยะต๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลบือมัง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 บ้านตะโล๊ะ ตำบลยะต๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
ลักษณะภูมิประเทศ สภาพพื้นที่ทั่วไปของหมู่บ้านยะต๊ะ มีทั้งที่เป็นภูเขา ที่ราบสูง และที่ราบลุ่ม หมู่ที่ 1 ตำบลยะต๊ะ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม โดยเฉลี่ยเป็นที่ราบค่อนข้างสูง และภูเขาสลับซับซ้อน เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกยางพารา ไม้ผล และไม้ยืนต้น
จากข้อมูลที่สำรวจโดย จปฐ. ระบุจำนวนครัวเรือนมีทั้งหมด 262 ครัวเรือน (ข้อมูลปี 2565) จำนวนประชากร 1,239 คน (ข้อมูลปี 2565) ชาย 614 คน หญิง 625 คน ทั้งหมดเป็นอิสลามคนในชุมชนส่วนมากอยู่กับแบบครอบครัวในละแวกใกล้เคียง มีความหลากหลายในช่วงวัย คนในสังคมมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้คนในสังคมมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
มลายูอาชีพหลัก ทำเกษตรกรรมสวนยาง สวนผลไม้ผสม
อาชีพเสริม การเลี้ยงโค ทำขนม ปลูกผักริมรั้ว เลี้ยงปลาในกระชัง และเย็บผ้า
การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ผักสด ของใช้ในครัวเรือน ผ่านร้านขายของชำในชุมชน โดยมีร้านค้าภายในชุมชนจำนวน 7 ร้าน โดยนำสินค้าจากในพื้นที่และภายนอกมาจำหน่าย
การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก ส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้จากการทำเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลองกอง มังคุด หรือ ซื้อสินค้าจากรถกับข้าว (รถพุ่มพวง) ที่เข้ามาในชุมชนหรือตลาดนัดภายในชุมชนในช่วงเย็นและพื้นที่ตลาดนัดรอบนอก
การออกไปทำงานนอกชุมชน การออกไปทำงานนอกชุมชน คิดเป็น 38% ของคนในชุมชน ออกไปรับจ้างทำงานด้านอุตสาหกรรม พนักงานบริษัททั่วไป และรับราชการ แต่ยังกลับมาอาศัยอยู่ในพื้นที่
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นกลุ่มตามโซนพื้นที่ เป็นชุมชนที่มีพื้นว่างจากการปลูกสร้างที่พักอาศัยน้อยมาก และมีพื้นที่ทำทุ่งนา 40% หรือละแวกใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย ทำให้คนในชุมชนสามารถเข้ากันได้ทุกกลุ่ม โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติที่ตามมาอยู่ในชุมชน
โครงสร้างอำนาจภายในชุมชน ตามโครงสร้างการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ทำงานร่วมกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ส่วนภายในชุมชนมีการทำโครงการต่าง ๆ จากภายนอกและงานขับเคลื่อนชุมชน โดยมีนายอูเซ็ง สาและ เป็นแกนนำชุมชน
การรวมกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มกันตามครอบครัวและกลุ่มที่สนิทกันหรือมีช่วงวัยเดียวกัน เช่น กลุ่มแกนนำชุมชนที่ทำงานชุมชนด้านต่าง ๆ กลุ่มเด็กและเยาวชน รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมทางศาสนา และทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน
วัฒนธรรม ประเพณี ชาวบ้านยะต๊ะ นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 100 มีการประกอบศาสนกิจรวมกันทุกคืน ทำให้เกิดผลดีในด้านการปฎิบัติศาสนกิจแล้วยังเกิดผลดี คือการสร้างความสามัคคีและการแลกเปลี่ยนทัศนคติ ข่าวสาร กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา มีดังนี้
- เมาลิดินนบี เป็นวันคล้ายวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาแห่งมนุษยชาติ ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม จะมีการรำลึกถึงคุณงามความดี หรือประวัติของท่านในอดีตกาล ในบรรยากาศแห่งความรัก และรำลึกถึงท่านอย่างแท้จริง ซึ่งจะจัดในเดือน เราะบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นเดือนที่ 3 ในปฏิทินอิสลาม
- วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า "วันรายอปอซอ" เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือศีลอดมาตลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงามและมีการจ่าย "ซะกาตฟิตเราะฮ์"
- วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย จะมีการทำกุรบานหรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่างที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกายวาจาใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า “ละหมาดตะรอเวียะห์”
- การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิม ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา
- การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บางพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ โดยมีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
- การทำฮัจญ์ อัลลอฮ์ทรงบังคับให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้งชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไรต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน การทำฮัจย์จะจัดขึ้นในเดือน ซุลฮิจญะฮ์ซึ่งเป็นเดือน 12 ของอิสลาม
- ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมไว้ร่อยหรอลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลือเอามารวมกันแล้วกวนกิน จึงกลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ
คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมชน
1. นางซากีย๊ะ มูซอ มีความชำนาญ เลี้ยงปลากระชัง เน้นการเลี้ยงปลาในกระชังเพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับคนในหมู่บ้านและยังมีแปลงเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้เรียนรู้จากหน่วยงานต่างพื้นที่ที่มาลงให้ความรู้ในชุมชน
อาหาร ขนมกรวยโบราณหรือขนมหางจิ้งจก เป็นขนมไทยที่มีชื่อตามลักษณะของขนมที่ได้นำเอาขนมใส่ลงในกรวยใบตองแล้วนึ่งให้สุก หรืออาจจะเรียกตามส่วนผสมที่ใส่ในกรวยก็ได้ เช่น ขนมฟักทอง ขนมเผือก ขนมกล้วยและอีกอย่าง คือ ขนมถ้วยหน้ากะทิ ถึงแม้ว่าขนมถ้วยจะนำไปนึ่งใส่ในถ้วย แต่เมื่อใดที่ขนมถูกนำไปนึ่งใส่กรวยก็จะเรียกว่าขนมกรวยได้เช่นกัน
ขนมกรวย เป็นขนมไทยโบราณที่นิยมรับประทานกันมากในสมัยก่อน ส่วนในปัจจุบันขนมชนิดนี้เริ่มหารับประทานได้ยาก จะมีขายในเฉพาะวันอังคารที่ตลาดนัดบ้านยะต๊ะเท่านั้น คนรุ่นใหม่อาจจะไม่ค่อยรู้จักกันสักเท่าไรนัก รสชาติความหวานจากตัวขนม ตัดกับรสเค็มจากหน้าขนม แถมอร่อย หวาน มัน หอมกลิ่นกะทิ ถูกปากใครหลาย ๆ คนแน่นอนค่ะ ขนมกรวยจึงเป็นอีกหนึ่งขนมไทยโบราณที่ควรส่งเสริมมุ่งเน้นให้อนุรักษ์ไว้
ภาษาที่ใช้พูด : ภาษามลายูท้องถิ่น
ภาษาที่ใช้เขียน : ภาษาไทยกลาง
สถานการณ์การใช้ภาษาของผู้คนในชุมชนส่วนมากใช้ภาษามลายูท้องถิ่นและบางส่วนใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร
ประชากรบ้านยะต๊ะ ส่วนใหญ่มีการประกอบอาชีพ การเกษตรกรรม รองลงมาได้แก่อาชีพรับจ้างและค้าขาย ในวัยแรงงาน เป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในครัวเรือน แรงงานในการทำนา ทำสวนผลไม้ สวนยางพารา ส่วนแรงงานเป็นแรงงานประเภทต่าง ๆ เช่น รับจ้าง ค้าขาย รับราชการ เป็นต้น
ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมในหมู่บ้านทำให้แรงงานออกไปทำงานนอกพื้นที่และแรงงานบางส่วนไม่มีงานทำ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ
ประชากรบ้านยะต๊ะ ส่วนใหญ่มีการประกอบอาชีพ การเกษตรกรรม รองลงมาได้แก่อาชีพรับจ้างและค้าขาย ในวัยแรงงาน เป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในครัวเรือน แรงงานในการทำนา ทำสวนผลไม้ สวนยางพารา ส่วนแรงงานเป็นแรงงานประเภทต่าง ๆ เช่น รับจ้าง ค้าขาย รับราชการ เป็นต้น
ในชุมชนบ้านยะต๊ะ มีจุดเด่นด้านการค้าขาย แหล่งค้าขายที่ดีของชุมชนในละแวกใกล้เคียง
อูเซ็ง สาและ. (12 กุมภาพันธ์ 2566). ข้อมูลชุมชนบ้านยะต๊ะ. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
ซากีย๊ะ มูซอ. (12 กุมภาพันธ์ 2566). ภูมิปัญญา, ปราชญ์ชุมชน. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
อัสมะ มะดงแซ. (12 กุมภาพันธ์ 2566). สภาพแวดล้อม, ประชากร. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)
ซุรัยณา ละแมง. (12 กุมภาพันธ์ 2566). การประกอบอาชีพ. (โซเฟีย ลือแบปัตตานี, ผู้สัมภาษณ์)