
ชุมชนไทยวน, ผ้าทอไทยวน, พิธีแห่นาคม้าไม้, งานแทงหยวก, ศิลปะการตัดกระดาษของคนไทยวน, ศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมไท-ยวน
มีเรื่องเล่าหรือตำนาน 2 เรื่อง ที่อธิบายถึงที่มาของชื่อหมู่บ้านดงประโดก ตำนานแรก คือ ตำนานเสือลากหาง ได้แก่ลักษณะเสือที่ตัวใหญ่จนต้องเดินลากหางถึงสระบัวขาวก็แวะกินน้ำ นายพรานมาเห็นก็ยิง ทำให้เสือวิ่งออกไปทางน้ำ น้ำก็กลายเป็นสีดำแดง หมู่บ้านในบริเวณนั้นจึงชื่อว่า หมู่บ้านน้ำดำ อยู่ในตำบลดอนทอง เสือเดินลากหางหนีมาด้วยอาการล่อแล่ หยุดกระอักเลือด บริเวณที่เสือกระอักเลือดจึงได้ชื่อว่า "หมู่บ้านสะอัก" เสือตัวใหญ่แข็งใจเดินกระโดกกระเดกมาเรื่อย ๆ บ้านที่มันเดินผ่านไปอย่างช้าด้วยอาการกระโดกกระเดก จึงได้ชื่อว่า "บ้านดงประโดก"
อีกตำนานหนึ่ง คือ ตำนานกวางทอง ซึ่งถูกนายพรานตามล่าเช่นกัน นายพรานตามกวางที่แอบอยู่บริเวณหมู่บ้านนี้ กวางตัวใหญ่หางชี้กระโดกอยู่จนนายพรานเห็น จนเป็นที่มาของการเรียกบริเวณที่นายพรานเจอกวางทองว่า "บ้านดงประโดก" (สิริพันธ์ เอี่ยมสาย, สัมภาษณ์, 20 สิงหาคม 2567)
ชุมชนไทยวน, ผ้าทอไทยวน, พิธีแห่นาคม้าไม้, งานแทงหยวก, ศิลปะการตัดกระดาษของคนไทยวน, ศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมไท-ยวน
นางสิริพันธ์ เอี่ยมสาย อายุ 60 ปี ลูกหลานชาวไทยวนผู้บุกเบิกก่อตั้งบ้านดงประโดกเล่าถึงประวัติความเป็นมาของชุมชนบ้านดงประโดก ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มชาวไทยวนมากกว่าร้อยละ 80 คนในชุมชนมีเชื้อสายรากเหง้าบรรพบุรุษมาจากเมืองเชียงแสน หรือที่เรียกว่า "อาณาจักรโยนก" จนเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2347 รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้กองทัพเมืองหลวงและหัวเมืองล้านนาช่วยกันขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงแสน ส่งผลให้ชาวไทยวนบางส่วนถูกเกณฑ์ออกจากเมืองเชียงแสน เดินทางมาพำนักในบริเวณบางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร ซึ่งต่อมามีปัญหาพื้นที่คับแคบสำหรับคนกลุ่มใหญ่ที่ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ต้องแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเดินทางไปสระบุรี และกลุ่มที่สอง เดินทางไปราชบุรีหลังจากนั้นในช่วงปี พ.ศ. 2463 ชุมชนชาวไทยวนที่อาศัยอยู่ในตำบลหนองปลาหมอ อำเภอบ้านโป่ง ตำบลอ่างทอง ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี และอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ประสบกับภาวะฝนแล้งติดต่อกันหลายปี กระทบกับการทำเกษตรและความเป็นอยู่ ชาวไทยวนบางกลุ่มจึงได้ชักชวนญาติพี่น้องอพยพเพื่อไปแสวงหาแหล่งทำมาหากินที่อุดมสมบูรณ์แหล่งใหม่ บางกลุ่มได้ไปตั้งหลักฐานที่จังหวัดนครปฐม จังหวัดพิจิตร จนถึงจังหวัดพิษณุโลก บางกลุ่มเดินทางข้ามเขตมาจากอำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร
จากการรวบรวมข้อมูลของกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร พบว่าการเดินทางสมัยนั้นของชาวไทยวนกลุ่มต่าง ๆ นี้จะใช้ควายเทียมเกวียนบรรทุกสัมภาระ ผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ เช่น บ้านดงหมี วัดตายม บ้านสะเดา บ้านกกไม้แดง บ้านดงดินทอง บ้านป่าหมาก และบ้านวังน้ำคู้ บางกลุ่มข้ามแม่น้ำวังทอง และบางกลุ่มก็ไปข้ามแม่น้ำน่านที่บริเวณสะพานนเรศวร ไปตั้งถิ่นฐานที่บริเวณโคกมะตูม (ตลาดโคกมะตูม) บ้านนาโพธิ์ บ้านเขื่อนขันแถวซอยแป้งนวล และบางกลุ่มได้มาพักที่บริเวณโคกโพธิ์หรือร้องโพธิ์ ปัจจุบันคือสี่แยกอินโดจีนหรือบริเวณตำบลสมอแขในปัจจุบัน ชาวไทยวนขยับขยายที่อยู่ที่ทำกินจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายหมู่บ้านตามแต่ละกลุ่มตระกูล ปัจจุบันมีชาวไทยวนอาศัยอยู่ใน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 2 บ้านลาดบัวขาว หมู่ที่ 3 บ้านดงประโดก หมู่ที่ 4 บ้านสมอแข และหมู่ที่ 8 บ้านกรมธรรม์ (กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2563)
บ้านดงประโดก หมู่ที่ 3 ตำบลสมอแข เป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบทของอำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ตั้งอยู่ห่างจากเทศบาลนครพิษณุโลกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 10 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะสำหรับทำการเกษตร และเป็นแหล่งรับน้ำจากเชิงเขาด้านทิศตะวันออก จึงมักมีปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูฝน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริเวณนี้เป็นพื้นที่ชานเมืองที่ไม่ไกลจากตัวเมืองใหญ่ของจังหวัดพิษณุโลก ประกอบกับการมีสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับเช่นเดียวกับในเมืองใหญ่ รวมถึงการมีถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 (พิษณุโลก-เด่นชัย) ซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงเอเชียสาย 13 และหมู่บ้านตั้งอยู่ไม่ไกลจากแยกอินโดจีนซึ่งถูกจัดให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาในภาพรวมของอำเภอเมืองพิษณุโลกและจังหวัดพิษณุโลก ทำให้พื้นที่นี้เป็นที่ต้องการของกลุ่มธุรกิจหลายอย่าง ท่ามกลางการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจและสังคมก็ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ของชุมชน จากที่เคยเป็นพื้นที่เกษตรครอบคลุมถึงร้อยละ 80 เกษตรกรเกือบทั้งหมดได้ขายกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่นายทุนเพื่อสร้างโรงงานต่าง ๆ และทำธุรกิจบ้านจัดสรร บริเวณโดยรอบชุมชนจึงประกอบด้วยโรงงาน ห้างร้าน และโครงการบ้านจัดสรรทั้งที่สร้างแล้วและกำลังจะสร้างในอนาคตอีกหลายแห่ง
ข้อมูลที่ตั้งและสภาพทั่วไปของหมู่บ้านที่รวบรวมไว้โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2567 ระบุข้อมูลจำนวนประชากรบ้านดงประโดกมีทั้งหมด 1,865 คน หรือ 543 ครัวเรือน แบ่งเป็น ชาย 922 คน หญิง 943 คน โดยประชากรร้อยละ 80 ของบ้านดงประโดกมีเชื้อสายไทยวนหรือลาวยวนแห่งเมืองเชียงแสน หรืออาณาจักรโยนกที่อพยพมาจากจังหวัดราชบุรีและจังหวัดนครปฐม ชุมชนประกอบด้วยสายตระกูลของชาวไทยวนที่อพยพมาตั้งบ้านในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ละตระกูลมีความเกี่ยวโยงเป็นเครือญาติและมีการแต่งงานกันระหว่างตระกูลทั้งภายในชุมชนเดียวกันและชุมชนใกล้เคียงที่ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านคนไทยวน ได้แก่ หมู่บ้านกรมธรรม์ หมู่บ้านลาดบัวขาว และหมู่บ้านสมอแข สายตระกูลที่เป็นที่รู้จักของชาวไทยวนในตำบลสมอแข ได้แก่ ตระกูลเอี่ยมสาย ตระกูลเพชรเอี่ยม ตระกูลสอนสิทธิ์ ตระกูลดอนตุ้มไพร ตระกูลดอนสอนเจียม และตระกูลดอนปัญญา ทั้งนี้มีข้อสังเกตเล็กน้อยเกี่ยวกับนามสกุลที่ไม่ได้ขึ้นต้นด้วยคำว่า "ดอน" ให้สันนิษฐานว่าอพยพมาจากจังหวัดราชบุรี แต่ถ้านามสกุลขึ้นต้นด้วยคำว่า "ดอน" ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นกลุ่มคนไทยวนที่อพยพมาจากจังหวัดนครปฐม
ไทยวนปัจจุบันกลุ่มองค์กรที่ปรากฎในหมู่บ้านดงประโดก ได้แก่ คณะกรรมการหมู่บ้าน กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และกลุ่มกองทุนต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง คณะกรรมการพัฒนาสตรีหมู่บ้าน กลุ่มชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น
สำหรับกลุ่มอาชีพ ชุมชนจัดตั้งกลุ่มทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มประดิษฐ์ดอกไม้จัน กลุ่มสานไม้ไผ่ กลุ่มทำอาหารท้องถิ่น เป็นต้น แต่กลุ่มเหล่านี้เป็นการจัดตั้งตามนโยบายรัฐ ไม่ได้เกิดจากหรือความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ดังนั้น จึงมีกลุ่มที่ตั้งขึ้นตามความสนใจและความต้องการของคนในชุมชน ได้แก่ "ชมรมไท-ยวน จ.พิษณุโลก" หรือ "ศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมไท-ยวน ต.สมอแข" ตั้งขึ้นโดยพี่น้องตระกูลเอี่ยมสาย 5 คน บริหารและดำเนินกิจกรรมโดยลุงสนั่น เอี่ยมสาย พี่ชายคนโต และคุณสิริพันธ์ เอี่ยมสาย น้องสาวคนเล็ก และความร่วมมือของพี่น้องชาวไท-ยวนในชุมชน ตลอดจนหน่วยงานท้องถิ่นและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลสมอแข สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิษณุโลก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพิษณุโลก และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และโรงเรียนระดับต่าง ๆ เป็นต้น
กิจกรรมของชมรมไท-ยวน จ.พิษณุโลก และศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมไท-ยวน ต.สมอแข มีเป้าหมายเพื่อสืบทอดประวัติชาวไทยวนบ้านสมอแข รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมของชาวไทยวน การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นในคงอยู่ในชุมชน ตลอดจนการปลูกจิตสำนึกเยาวชนและประชาชนเกิดความตระหนักและเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบสานภูมิปัญญาและคุณค่าทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของชาวไทยวน ได้แก่ การผลิตผ้าทอมือและออกแบบเสื้อผ้าที่มีลวดลายเฉพาะของชาวไทยวน งานฝีมือที่ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น งานแทงหยวก งานตัดพวงมโหตร เป็นต้น และการจัดพิธีกรรมและงานประเพณีดั้งเดิม ได้แก่ การแห่นาคม้าไม้ในงานบวช งานแจงรวมญาติ งานตานขันข้าว งานตานก๋วยสลาก การเลี้ยงผีบรรพบุรุษ เป็นต้น
จากการสัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้านดงประโดก (นางผุสดี มรพงษ์, สัมภาษณ์, 1 กันยายน 2567) พบว่าในอดีตหรือเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว คนในชุมชนทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยส่วนใหญ่จะทำนาปลูกข้าว และเลี้ยงวัวควาย แต่ในปัจจุบัน คนในชุมชนที่ยังทำเกษตรเหลือเพียงร้อยละ 8.05 นอกจากนั้นเป็นคนที่ประกอบอาชีพนอกภาคเกษตร ซึ่งแบ่งออกเป็นอาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 39.77 ค้าขาย ร้อยละ 11.71 พนักงาน-ราชการ ร้อยละ 8.13 พนักงาน-รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 0.52 พนักงานบริษัท ร้อยละ 1.40 ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 4.11 ไม่มีอาชีพ ร้อยละ 7.08 และกำลังศึกษา ร้อยละ 16.26
วิถีเคียงคู่กับการประกอบอาชีพทำมาหากินคือการจัดประเพณี พิธีกรรม และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวบ้านดงประโดก ได้แก่ ประเพณีแห่นาคด้วยม้าไม้ งานแจงรวมญาติ และการเลี้ยงผีบรรพบุรุษ สำหรับประเพณีแห่นาคด้วยม้าไม้ ถือเป็นประเพณีเก่าแก่สืบทอดต่อกันมามากกว่า 70 ปี นิยมจัดในเดือน 4 ซึ่งเป็นเดือนที่เสร็จภารกิจจากการทำนา ก่อนถึงวันงาน ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังมีความรู้ความชำนาญจะทำม้าไม้เพื่อใช้แห่นาคที่เป็นเอกลักษณ์งดงาม ใช้เวลาทำม้าไม้ไม่น้อยกว่า 3 วัน เพื่อใช้ในงานบวชซึ่งถือเป็นงานใหญ่มีระยะเวลาจัดงานนาน 3-4 วัน วันแรกเป็นการแห่นาค ผู้แบกคานหามจะพยายามเอียงหรือเทม้าแห่ไปข้างใดข้างหนึ่ง จนผู้ที่อยู่บนหลังม้าไม่สามารถทรงตัวได้บนหลังม้า ซึ่งเปรียบเหมือนมารผจญ ผู้บวชต้องทำสมาธิให้ทรงตัวอยู่ได้โดยไม่ตกลงมาจากหลังม้าไปตลอดเส้นทางทางจนถึงบ้านของนาค ในวันที่สอง ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านจะตั้งขบวนแห่พร้อมกับให้นาคขึ้นม้าไม้ เพื่อแห่นาคจากบ้านไปวัด เพื่อวนรอบโบสถ์จนครบ 3 รอบ ก่อนจะเข้าพิธีอุปสมบท บวชเป็นพระสงฆ์ในที่สุด (ปิยณัฐ ดอนตุ้มไพร, สัมภาษณ์, 21 สิงหาคม 2567)
อีกประเพณีที่คนบ้านดงประโดกให้ความสำคัญคืองานบุญแจงรวมญาติ นิยมจัดในช่วงเดือนพฤษภาคม หรือช่วงเทศกาลสงกรานต์เสร็จสิ้นแล้ว บุญแจงรวมญาติเป็นงานที่ชาวพุทธศาสนิกชนแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ เป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับและเป็นการสร้างจุดรวมจิตใจของชาวบ้านที่ล้วนเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกัน เมื่อถึงวันงาน แต่ละครอบครัวจะนํารูปบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้วมาแขวนรวมกันและเชิญพระสงฆ์มาทำพิธีอุทิศส่วนบุญกุศล รดน้ำและถวายสังฆทานเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้แก่พระภิกษุสงฆ์ เสร็จพิธีแล้วชาวบ้านก็อยู่รับประทานอาหารและพบปะพูดคุยร่วมกัน (สนั่น เอี่ยมสาย, สัมภาษณ์, 20 สิงหาคม 2567)
เดิมทีบ้านดงประโดกมีปราชญ์ชาวบ้านที่มีภูมิปัญญาความรู้ดั้งเดิมสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษหลากหลายด้าน แต่ในปัจจุบัน ปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้รู้หลายคนได้เสียชีวิตไปแล้ว บางคนอายุมากและร่างกายเสื่อมถอยจนไม่สามารถดำเนินงานหรือถ่ายทอดวิชาความรู้ได้อีก อย่างไรก็ตาม ในบ้านดงประโดกยังมีปราชญ์ชาวบ้านที่ต้องการฝากฝังและส่งต่อวิชาความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่อย่างจริงจัง เช่น ลุงสนั่น เอี่ยมสาย ปัจจุบันอายุ 75 ปี และนางสิริพันธ์ เอี่ยมสาย ปัจจุบันอายุ 60 ปี ทั้งสองท่านนี้เป็นพี่น้อง 2 ใน 5 คน ที่ได้ร่วมกันอุทิศพื้นที่ในบริเวณบ้านของตัวเองตั้งเป็น "ชมรมไท-ยวน จ.พิษณุโลก" หรือ "ศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมไท-ยวน ต.สมอแข" ในปี 2561 เพื่อทำกิจกรรมเกี่ยวกับการดำรงรักษาและสืบทอดวิชาความรู้ ตลอดจนวิถีประเพณีวัฒนธรรมของชาวไทยวน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและสภาพชุมชน
ลุงสนั่น เอี่ยมสาย ถือเป็นปราชญ์แห่งบ้านดงประโดกผู้สั่งสมความรู้ความชำนาญหลายด้านซึ่งได้เรียนรู้จากพ่อแม่และปู่ย่าตายายตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก ความรู้ความชำนาญของลุงสนั่น เอี่ยมสาย ได้แก่ การแทงหยวกเพื่อใช้ประดับประดาในพิธีกรรมต่าง ๆ การตัดกระดาษมโหตร งานจักสานไม้ไผ่ การทำงานไม้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการทำม้าไม้สำหรับใช้แห่นาคในงานบวชที่ยังคงเอกลักษณ์ สามารถสะท้อนความคิดความเชื่อและวิถีชีวิตของคนไทยวน และสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนไทยวนอย่างมาก ลุงสนั่นจึงเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเผยแพร่ประเพณีวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า เนื่องจากการสืบต่อความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อปิ่น เอี่ยมสาย ซึ่งเป็นพ่อของลุงสนั่น พ่อปิ่นเป็นช่างไม้และสามารถประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ ตั้งแต่อยู่ที่ราชบุรี เมื่อได้อพยพมาอยู่ที่พิษณุโลก พ่อปิ่นกลัวความรู้จะสูญหายจึงได้ถ่ายทอดให้แก่ลูกชายคนโต ซึ่งก็คือลุงสนั่น ลุงสนั่นเล่าว่าตนเองมีความสนใจเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก เห็นพ่อกับตาทำอะไรก็อยากทำด้วย ทำให้ได้เรียนรู้หลายอย่าง
ปัจจุบัน พ่อสนั่นยังคงทุ่มเทและเสียสละเวลาให้กับการถ่ายทอดภูมิปัญญาความรู้ให้แก่คนกลุ่มต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น นักเรียน นักศึกษา คนที่สนใจทั้งภายในและภายนอกชุมชน ปัจจุบัน มีคนรุ่นใหม่ในชุมชนให้ความสนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้การทำม้าไม้ ตั้งแต่วิธีทำ ไปจนถึงความคิดความเชื่อและวิธีปฏิบัติตามประเพณี เพื่อการรักษาและสืบต่อประเพณีแห่นาคม้าไม้ให้อยู่คู่ชุมชนไทยวนพิษณุโลกต่อไป
ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมของ "ชมรมไท-ยวน จ.พิษณุโลก" หรือ "ศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมไท-ยวน ต.สมอแข" คือ นางสิริพันธ์ เอี่ยมสาย หรือป้านี น้องสาวคนสุดท้องของลุงสนั่น เอี่ยมสาย ป้านีเล่าถึงความเป็นมาก่อนการจัดตั้งชมรมไท-ยวน ป้านี พี่ชาย และญาติ ๆ มีความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของตัวเอง ซึ่งมีสำเนียงภาษาไม่เหมือนคนท้องถิ่นทั่วไปตั้งแต่ยังตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดราชบุรีและนครปฐม กระทั่งย้ายมาอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก ด้วยความต่างทางวิถีวัฒนธรรมหลายอย่าง จึงทำให้มีการสืบสาวที่มาที่ไปของคนไทยวน กระทั่งได้รับรู้ประวัติความเป็นมาของพบรรพบุรุษตั้งแต่สมัยยังอยู่อาศัยในเมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เมื่อเอามาประติดประต่อเรื่องราวที่ปู่ย่าตายายเคยเล่าให้ฟังสมัยยังเด็กตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ รวมถึงความตั้งใจในการดำรงรักษาประเพณีวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนใครในจังหวัดพิษณุโลก จึงได้มีการจัดตั้งชมรมไท-ยวน ขึ้นมาเพื่อสืบสานสิ่งที่มีคุณค่าดังกล่าว
ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ป้านีเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการบริหารจัดการและดำเนินกิจกรรมทั้งหมดของชมรมไท-ยวน จ.พิษณุโลก และศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมไท-ยวน ต.สมอแข ไม่ว่าจะเป็น การบอกต่อเรื่องราวประวัติความเป็นมาของชาวไท-ยวน จ.พิษณุโลก และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสืบสานประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยวน นอกจากนี้ ป้านียังได้ทุ่มเทกำลังกายใจปลูกปั้นกลุ่มงานผ้าทอไทยวน โดยเริ่มตั้งแต่การรวมกลุ่มแม่บ้านที่สนใจเข้าร่วมฝึกฝนการทอผ้าจากครูเชื้อไท-ยวน จังหวัดราชบุรี จนกระทั่งมีทักษะและความชำนาญ จึงได้มีการซื้อกี่ทอผ้าเพิ่มเติมและดำเนินกิจกรรมผลิตผ้าทอไทยวนอย่างจริงจังและมีการพัฒนาการผลิตและการตลาดร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยป้านีเป็นผู้ดูแล ออกแบบ และควบคุมการผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด ทำให้ผ้าทอไทยวนของกลุ่มมีชื่อเสียง ได้รับความนิยมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง
หมู่บ้านดงประโดกประกอบด้วยทุนชุมชนมากมายที่คนรุ่นอพยพได้หอบเอามาด้วย ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรม ประเพณีวัฒนธรรม ความคิดความเชื่อ และข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้เริ่มเสื่อมสลายไป
พร้อมกับปราชญ์ผู้รู้ที่เสียชีวิตไปแล้วหลายท่าน อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงบ้านดงประโดก ยังมีมรดกทางวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงหลายประการ ได้แก่ ประเพณีแห่นาคม้าไม้ ประเพณีแจงรวมญาติ การเลี้ยงผีบรรพบุรุษฝั่งผู้หญิง พิธีขึ้นต้าวตั้งสี่, ท้าวทั้งสี่ ตลอดจนการประดิษฐ์ประดอยข้าวของเครื่องใช้หลายอย่าง เช่น การทำเครื่องใช้จักสาน การแทงหยวกและการตัดกระดาษมโหตรเพื่อใช้ในงานพิธีกรรม การปรุงยาสมุนไพร และการทอผ้าลวดลายเฉพาะของคนไทยวน
ผ้าทอไทยวนเป็นอัตลักษณ์สำคัญที่คนไทยวนบ้านดงประโดกได้อนุรักษ์ สืบทอด และพัฒนาต่อกันมา ปัจจุบันผ้าทอไทยวนได้กลายเป็นสิ่งสะท้อนอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และถิ่นกำเนิดย้อนไปตั้งแต่ครั้งยังเป็นอาณาจักรโยนกเชียงแสน จากการศึกษาของพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร (พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2563) อธิบายว่าการทอผ้าจกของชาวไทยวนถือเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมร่วมของกลุ่มชนที่มีเชื้อสายไทยวนโยนกที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน ผ้าจกนั้นถือกันว่ามีคุณค่ามาก ด้วยเทคนิคการทอจก ต้องใช้ความสามารถและความอุตสาหะของช่างทออย่างสูง ชาวไทยวนจึงนิยมใช้ผ้าในโอกาสพิเศษและพิธีกรรมต่าง ๆ ตามประเพณีวัฒนธรรมและความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมา ผ้าบางชนิดทอขึ้นเพื่อใช้เพียงครั้งเดียวในชีวิต บางชนิดก็เป็นผ้าที่ใช้ในพิธีสำคัญทางศาสนา บางชนิดก็ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าปรกหัวนาค เป็นผ้าที่ทอขึ้นใช้คลุมหัวนาคในขณะที่แห่นาคไปบวช ย่ามจกที่ทอขึ้นเป็นพิเศษมีลวดลายที่วิจิตรงดงามใช้ถวายพระภิกษุไว้ใช้ใส่สัมภาระต่าง ๆ หรือผ้าที่ทอไว้สำหรับคลุมศพในเวลาที่เสียชีวิต หรือคลุมโลงศพในงานศพ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผ้าทอของชมรมไท-ยวนเป็นซิ่นผ้าฝ้ายทอด้วยกี่ทอมือเป็นลายแบบโบราณ ที่มีการยกมุกเป็นลวดลายดอกและมีสีสันสวยงาม สีที่ใช้ คือ สีแดง สีดำ สีเขียว สีเหลือง ผ้าซิ่นมีลวดลายมี 4 ลาย ได้แก่ผ้าซิ่นตาหมู่จกดอก ผ้าซิ่นซิ่ว ผ้าซิ่นแล่ และผ้าซิ่นตีนจก นอกจากนี้ กลุ่มผ้าทอชมรมไท-ยวนยังได้นำผ้าซิ่นทอมาแปรรูป โดยออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างทันสมัย เช่น หมวก ย่าม กระเป๋าสตางค์ เสื้อไทยวน เสื้อคลุมไหล่บุรุษ เสื้อคลุมไหล่สตรี และสายห้อยกล้องถ่ายรูป เป็นต้น การพัฒนาคุณภาพผ้าทอและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้าทออย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป็นที่ยอมรับและหน่วยงานต่าง ๆ ก็ได้ให้ความร่วมมือในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ทั้งการออกแบบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และการตลาด ทำให้กลุ่มฯ สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่อง
ภาษาที่ใช้กันในหมู่บ้านดงประโดกและหมู่บ้านไทยวนใกล้เคียง คือ ภาษาไทยวน มีสำเนียงคล้ายภาษาเหนือ เช่น "กำอู้" แปลว่า คำพูด "ไปแอ่ว" แปลว่า ไปเที่ยว "เฮา" แปลว่า เรา "เปิ้น" แปลว่า เขา "ลำ" แปลว่า อร่อย "แต้ๆ" แปลว่า แท้ ๆ จริง ๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตเล็กน้อยถึงความต่างของภาษาที่พูดกันของไทยวนสมอแขจะไม่ค่อยอ่อนช้อยอ่อนหวาน และไม่มีคำว่า "เจ้า" ลงท้ายเหมือนบางจังหวัดในภาคเหนือ (สนั่น เอี่ยมสาย, 20 สิงหาคม 2567)
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร. (2563). ผ้าทอไท-ยวน. สืบค้น 31 กรกฎาคม 2567. https://www.nuac.nu.ac.th/ThaiYaun/
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2561). ศูนย์อนุรักษ์ไท-ยวน ตำบลสมอแข. สืบค้น 31 กรกฎาคม 2567. https://db.sac.or.th/museum/
ชมรม ไท-ยวน จ.พิษณุโลก. สืบค้น 30 กรกฎาคม 2567. https://www.facebook.com/
ชมรมคนรักษ์ม้า-แห่ แห่งประเทศไทย. สืบค้น 30 กรกฎาคม 2567. https://www.facebook.com/
ปิยณัฐ ดอนตุ้มไพร, สัมภาษณ์, 21 สิงหาคม 2567
ผุสดี มรพงษ์, สัมภาษณ์, 1 กันยายน 2567
สนั่น เอี่ยมสาย, สัมภาษณ์, 20 สิงหาคม 2567
สิริพันธ์ เอี่ยมสาย, สัมภาษณ์, 20 สิงหาคม 2567